Feature

เมื่อดอร์ทมุนด์ไล่ถล่ม "เจ้ายุโรป" : ย้อนปฏิบัติการพิชิตมาดริดของ "คล็อปป์" | Main Stand

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เตรียมลงเล่นกับ เรอัล มาดริด เจ้าของฉายา "ราชายุโรป" ในสุดสัปดาห์นี้ โดยมีถ้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นเดิมพัน ... แม้จะเป็นรอง แต่ใช่ว่าจะหมดหวัง

 

นี่คือเรื่องราวที่ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน วันที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ ทำให้ทั้งโลกได้เข้าใจว่า "บอลดอร์ทมุนด์" เป็นแบบไหน ด้วยการไล่โขยกราชันชุดขาวเละเทะแบบหมดทางสู้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนเกม คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยังบอกว่า "ใครคือ มาริโอ เกิตเซ่ ?" 

ก่อนเกม ระหว่างเกม และหลังเกมนั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ... นี่คือการเปิดปูมหลังเรื่องทั้งหมด ในวันที่ มาดริด หมดสภาพ 

ติดตามเรื่องราวกับ Main Stand ที่นี่เลย

 

ต้นตำรับสร้างทีมภายใต้งบจำกัด 

ก่อนจะถล่ม เรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2012-13 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือสโมสรที่ล้มลุกคุกคลานในช่วงยุค 2000s จากภาวะการลงทุนที่ล้มเหลวสุดขีด กับความพยายามสู้กับ บาเยิร์น มิวนิค มหาอำนาจของวงการฟุตบอลเยอรมัน 

จุดเริ่มต้นก้าวที่ผิดพลาด ต้องย้อนไปในปี 1995 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีแผนการครั้งใหญ่ คือการขยาย เวสต์ฟาเลนสตาดิโอน หรือ ซิกนัล อิดูนา ปาร์ค ในปัจจุบัน จาก 54,000 ที่นั่ง ให้เป็น 81,000 ที่นั่ง เพื่อให้สนามเหย้าของทีม เป็นสนามที่ทันสมัย และยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลทุกรูปแบบ

การขยายสนามครั้งนี้ ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องเสียเงินถึง 60 ล้านยูโร ในเวลานั้น ถ้าเทียบค่าเงินเป็นปัจจุบัน เท่ากับ 92 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,384 ล้านบาท ... การเสียเงินจำนวนมากขนาดนี้ เราคงเห็นในโลกฟุตบอลปัจจุบันแล้วว่า หากมีการปรับปรุงสนาม หรือสร้างสนามใหม่ สิ่งที่สโมสรฟุตบอลต้องทำ คือการรัดเข็มขัดทางการเงิน เพื่อลดรายจ่าย และนำเงินมาใช้หนี้ในเรื่องของสนาม ดังที่ อาร์เซนอล ได้ทำหลังจากสร้างสนามใหม่อย่าง เอมิเรตส์ สเตเดียม หรือ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ในปัจจุบัน หลังสร้าง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตอนนั้นเลือกทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือพยายามดึงนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีม เพื่อล่าความสำเร็จ ... ไฮโค แฮร์ลิช, เปาโล ซูซ่า, เยนส์ เลห์มันน์, เฟรดี้ โบบิช, คริสเตียน เวิร์นส์, เอวานิลสัน, วิคเตอร์ อิกเปบา, โธมัส โรซิคกี, ซันเดย์ โอลิเซ, มาร์โช อโมโรโซ, แยน โคลเลอร์, เอเวอร์ธอน, ทรอสเทน ฟริงค์ส ทั้งหมดคือนักฟุตบอลชั้นนำที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ดึงมาร่วมทีม 

นับตั้งแต่ปี 1995-2002 ทีมต้องสูญเงินมหาศาล ทั้งเรื่องเงินค่าตัว และค่าเหนื่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา หลังจากคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 1996-97 คือแชมป์บุนเดสลีกา แค่สมัยเดียว ในฤดูกาล 2001-02 และนักเตะที่ซื้อมาไม่สามารถเป็นขุมกำลังระยะยาวได้ ทำให้นานวันผ่านพ้นไป ทีมก็เริ่มขาดทุนเรื่อย ๆ จนกระทั่งจ่ออยู่ในสถานะ "ล้มละลาย" และมันหนักถึงขั้นที่ บาเยิร์น ทีมที่พวกเขาอยากก้าวข้าม ต้องเอาเงิน 2 ล้านยูโรให้ยืมเมื่อปี 2003

นี่คือการตบหน้าพวกเขาอย่างชัดเจนว่า โมเดลการทุ่มเงินและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้การันตีความสำเร็จในระยะยาว ซ้ำร้ายถ้าลงทุนก็พังทลายได้แบบที่พวกเขาเป็น ทุกอย่างต้องกลับมาถูกรีเซ็ตกันใหม่ตั้งแต่โครงสร้าง

ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เก้ เข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2005 และเริ่มใช้โมเดลการทำทีมตามงบประมาณที่มี แต่เลือกคนให้ตรงกับงานที่มีที่สุด และพวกเขาก็ได้ เยอร์เก้น คล็อปป์ มาจาก ไมนซ์ 05 จากนั้นการสร้างทีมในแบบที่เร้าใจแฟนบอลดอร์ทมุนด์ที่สุดก็เกิดขึ้น 

 

ยุคสมัยของคล็อปป์ 

คล็อปป์ เข้ามาคุมทีม ดอร์ทมุนด์ ในปี 2008 และเริ่มวิธีการใช้งานให้ตรงระบบที่เขาสร้าง ว่าง่าย ๆ คือระบบมาก่อนนักเตะ นักเตะที่ คล็อปป์ เลือกมาจะเก่งหรือไม่ ตัดเรื่องนั้นออกไปก่อน ที่แน่ ๆ นักเตะเหล่านี้เด็ดขาดเรื่องวินัย ทัศนคติ และมีความกระหายอยากที่จะเอาชนะ

แม้คุณภาพจะไม่เทียบเท่านักเตะระดับโลก แต่อย่างน้อยถ้าทุกคนที่มีวิธีคิดแบบนี้มารวมกัน ไม่ว่าจะเจอกับทีมไหน ดอร์ทมุนด์ การันตีเรื่องความสู้ยิบตา ไม่เป็นหมูให้เชือดแน่นอน แต่กว่าที่จะได้วิธีการเล่นแบบนี้ คล็อปป์ ได้ทั้งเวลาและการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ปีแรกของเขาคือการเอาระบบการเล่น เกเก้น เพรสซิ่ง มาให้กับลูกทีม ซึ่งแน่นอนนอนว่าทีมชุดฤดูกาล 2008-09 ก็ตอบสนองได้ไม่มากขนาดนั้น ดอร์ทมุนด์ จบอันดับ 6 ของตาราง แต่การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นอย่างเงียบ ๆ แล้ว  

เขาประกาศก่อนซีซั่น 2009-10 จะเริ่มว่า "สิ่งที่ผมอยากจะเห็นจากนี้คือ ผมอยากจะพาลูกทีมไปเล่นฟุตบอลยุโรป ผมรอไม่ไหวแล้วที่จะเล่นในฟุตบอลยุโรปกลางสัปดาห์ แทนที่จะนั่งคุดคู้อยู่บนโซฟาตัวเดิม" 

หลังจากคำพูดนั้น ดอร์ทมุนด์ เวอร์ชั่น คล็อปป์ ก็เข้ารูปเข้ารอย เขาได้เห็นว่านักเตะคนไหนเล่นดี ไปต่อได้ เข้าใจระบบ และมีทัศนคติเพื่อทีม จากนั้นในปีต่อมากนักเตะหลายคนเก่งขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา มัทส์ ฮุมเมิ่ลส์, สเวน เบนเดอร์, นูริ ซาฮิน, เนเว่น ซูโบติช และ เควิน โกรสครอยซ์ โด่งดังขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ของตัวเอง จากนั้นชื่ออื่น ๆ ก็ตามมาในภายหลัง อิลคาย กุนโดกัน, มาริโอ เกิตเซ่, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, มาร์โก รอยส์ และอีกมากมาย 

และเมื่อเลือดใหม่รวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ดอร์ทมุนด์ ก็ก้าวไปถึงการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกัน ในฤดูกาล 2010-2011 และ 2011-2012 มันแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่ คล็อปป์ สร้างเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อย ถึงเวลาที่จะไปลุยระดับยุโรปแล้ว และถ้าหากจะวัดว่าทีมพวกเขามาได้ไกลแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น จะมีอะไรดีกว่าการได้วัดกับเจ้ายุโรปตัวจริงอย่าง เรอัล มาดริด 

พวกเขาไม่ต้องรอนาน ในฤดูกาล 2012-13 หลังจากที่กวาดแชมป์ในประเทศ 2 สมัยรวด ดอร์ทมุนด์ เจนจัดในบอลยุโรปแล้ว สิ่งยืนยันคือ พวกเขาถูกจับมาอยู่ใน กรุ๊ป ออฟ เดธ ร่วมกับ เรอัล มาดริด, อาแจ็กซ์ และ แมนฯ ซิตี้  ... แต่ ดอร์ทมุนด์ กลับเข้ารอบโดยไร้รอยขีดข่วน พวกเขาไม่แพ้ใครเลยใน 6 เกม เอาชนะทั้ง มาดริด และ ซิตี้ ในบ้าน และออกไปยันเสมอในตอนเป็นทีมเยือน 

ดอร์ทมุนด์ ถีบแมนฯ ซิตี้ ทีมที่ใช้งบประมาณทำทีมสูงกว่าพวกเขา 3 เท่า กระเด็นตกรอบ กอดคอ เรอัล มาดริด เข้าสู่รอบน็อกเอาต์ ... โดย ดอร์ทมุนด์ ผ่าน ชัคตาร์ โดเนสก์ (สกอร์รวม) 5-2 ในรอบ 16 ทีม และเก็บ มาลาก้า ด้วยสกอร์รวม 3-2 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย 

จะเห็นได้ว่าชื่อคู่แข่งพวกนี้ไม่ได้แข็งแกร่งเกินไปนัก ดอร์ทมุนด์ ชนะพวกเขาได้ ถือว่าไม่ใช่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นเต็ง 4 สำหรับรอบตัดเชือก เพราะมีทั้ง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และ บาเยิร์น มิวนิค เข้ามาด้วย

ดอร์ทมุนด์ จะต้องเจอกับ มาดริด อีกครั้ง และหนนี้ สื่อทุกสำนักมองว่าเมื่อถึงรอบน็อกเอาต์ในเกมระดับที่มีความคาดหวังและความกดดันสูงปรี๊ด เรอัล มาดริด จะแสดงคาแร็คเตอร์ที่แท้จริงออกมา ยิ่งพวกเขามีกุนซือที่ได้ชื่อว่าทำทีมแบบ "เกมต่อเกม" ได้ดีที่สุดอย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ พร้อมขุมกำลังระดับ 5 ดาวยกเซต ... ดอร์ทมุนด์ ทีมคนหนุ่มจะเอาอะไรมาต้าน 

"ราชาแห่งยุโรป เตรียมพร้อมรับมือและล้างแค้นเด็กหนุ่มจากเยอรมัน " ... นี่คือพาดหัวข่าวของนิตยสาร Marca ณ เวลานั้น 

เยอร์เก้น คล็อปป์  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น เกเก้น เพรสซิ่ง เป็นแนวทางที่เขาจะใช้ในเกมนี้ เพียงแต่เรื่องของรายละเอียดเบื้องลึก ... เขารู้ว่าต้องทำอย่างไรถ้าจะหยุดราชาแห่งยุโรปทีมนี้ 

 

ฟ้าผ่าที่เวสต์ฟาเลน

"ผมเชื่อในพลังพิเศษของฟุตบอล สิ่งนี้ผูกพวกเราทุกคนให้รวมกันเป็นหนึ่งได้ ในช่วงเวลาอันยาวนานมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก และขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือการอยู่ร่วมกันในฐานะทีม" คล็อปป์ ไม่ได้พูดถึงโอกาสในการชนะ มาดริด ก่อนเกม แต่เขาพยายามจะบอกให้ลูกทีมเขายึดเอาสิ่งที่ทำกันมาตลอดซีซั่นนั่นคือการรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ 

เหตุผลก็เพราะ คล็อปป์ เป็นคนที่มีความเชื่อว่า ความสำเร็จไม่ใช่การเดินทางเป็นเส้นตรงเสมอไป เรื่องราวของการรับมือกับความท้าทายและความพ่ายแพ้ก็สำคัญ ดังนั้นเมื่อลงสนาม จงทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และเมื่อเพื่อนสร้างข้อผิดพลาด ต้องอย่าลืมที่จะเข้าไปช่วยเหลือกันในฐานะทีม 

ดอร์ทมุนด์ ลงสนามในเกมนั้นแบบที่ เลวานดอฟสกี้ ใช้คำว่า "พวกเราลงไปอาละวาด" นั่นแสดงให้เห็นว่ายิ่งมันเหนือกว่าแค่การเล่นตามแท็คติกของโค้ช แต่ใส่อารมณ์ร่วมเข้าไปอย่างเต็มที่ ซึ่ง คล็อปป์ ขยายความว่า การเจอกับ เรอัล มาดริด นอกจากแท็คติกจะต้องตอบโจทย์แล้ว หัวใจของนักเตะต้องห้าม "เล็กกว่าราชันชุดขาว" เด็ดขาด 

"ผมสั่งให้ลูกทีมถวายหัวในจังหวะตัวต่อตัว ผมสั่ง มาริโอ เกิตเซ่ ไล่บี้ ชาบี อลอนโซ่ ซึ่งมันไม่ใช่เคล็ดลับอะไรเลย ใครเล่นกับ มาดริด ก็ต้องทำแบบนั้นอยู่แล้ว" คล็อปป์ กล่าว

"ทุกคนรู้วิธีการของ มาดริด ... อลอนโซ่ ได้บอล วางบอล และ โรนัลโด้ ก็ติดเครื่องมอเตอร์ไซค์ ดังนั้นผมจึงสั่ง มาริโอ มาร์ก อลอนโซ่ แบบติดตัว มันคือวิธีดับห้องเครื่องที่ใครก็ทำกัน"

"แต่ความพิเศษที่ยากจะทำได้คือ ต่อให้คุณรู้จักพวกเขาดีแค่ไหน พวกเขาก็จะไม่สนใจคุณอยู่ พวกเขาคือ เรอัล มาดริด พวกเขาตั้งเป้าไปที่ชัยชนะทุกเกมไม่ว่าคุณจะเตรียมอะไรมา คุณเคยเห็นพวกเขาตื่นตระหนกไหม่ล่ะเวลาทีมมีทีมไหนเตรียมฟุตบอลมาแก้ทางของพวกเขา ? ... ไม่มีทางหรอก พวกเขาเยือกเย็นระดับนั้นเลย"

มันเป็นเรื่องของความกล้าแล้ว ในเมื่อ มาดริด ไม่กลัวคุณ คุณก็ต้องไม่กลัวพวกเขาเหมือนกัน หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง คล็อปป์ พยายามจะสื่อแบบนั้น และเมื่อลงสนาม นักเตะ ดอร์ทมุนด์ ก็เยือกเย็นสมราคาจริง ๆ 

"พวกเราเป็นทีมที่ดีมาก เรามั่นใจแบบนั้นเสมอ เราลงเล่นโดยไม่กลัว เรอัล มาดริด พวกเราตื่นตัวกันตั้งแต่นาทีแรก เพราะเรารู้ถึงความอันตรายของพวกเขาเป็นอย่างดี" เลวานดอฟสกี้ เผยถึงบรรยากาศในเกมนั้น 

นักเตะของ ดอร์ทมุนด์ เล่นแบบใส่เกินร้อย จังหวะ 50-50 ใส่ไม่ยั้ง พวกเขาไม่ต้องครองบอลมากนักตามแท็คติกที่วางไว้ แต่เมื่อบอลอยู่ในการครอบครอง นักเตะทุกคนจะขยับเคลื่อนที่แบบออโตเมติก คนที่ได้บอลจะมีทางเลือกในการจ่ายบอลมากมาย ยิ่งเมื่อใส่ความมั่นใจเข้าไปอีก ความเร็วในการเล่นแต่ละเพลย์จึงเพิ่มขึ้น และมีความแม่นยำที่มากกว่าเดิม 

8 นาที เลวานดอฟสกี้ เข้าชาร์จจากระยะเผาเขาปลุกคนดูทั้งซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ให้ ดอร์ทมุนด์ นำ 1-0 ... แต่อย่างที่ คล็อปป์ บอก มาดริด เยือกเย็นถึงขั้นที่ว่าเล่นอย่างไม่ตื่นตระหนก อยู่ในจังหวะของตัวเอง และตีเสมอได้จาก คริสเตียโน่ โรนัลโด้ จบครึ่งแรกเสมอกัน 1-1   

"ตอนจบครึ่งแรก เราได้เห็นความอันตรายของมาดริด เรารู้ว่าครึ่งหลังจะต้องยาก แต่ในขณะเดียวกันเรารู้ดีว่าโอกาสในการเข้ารอบของเราอยู่ทีมเกมนี้ เราต้องกดพวกเขาให้อยู่ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแบกชัยชนะ และประตูได้เสียที่เหนือกว่าเพื่อไปเล่นเกมเยือนที่ เบอร์นาเบว" มัตส์ ฮุมเมิลส์ รองกัปตันทีมกล่าว 

ครึ่งหลัง ดอร์ทมุนด์ ติดเครื่องเต็มสูบ พวกเขาไม่ได้ต่อบอลสู้ แต่ใช้วิธีผลักดันบอลไปข้างหน้า ใช้จังหวะให้น้อย ทำแต่ละโอกาสให้เร็ว และไม่กลัวที่เติมเกมรุกเข้าไปในกรอบเขตโทษ สัญชาตญาณของทุกคนตื่นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะ เลวานดอฟสกี้ ที่อยู่ถูกที่ ถูกเวลาตลอด ประตูที่ 2 และ 3 ที่เขายิงได้ในนาทีที่ 50 และ 55 คือจังหวะที่มาจากบอลแฉลบและบอลปลิ้นทั้งนั้น แต่เขาถึงบอลก่อนใคร และเปรี้ยง ! ใส่สกอร์เข้าไป ง้างเมื่อไหร่เข้าเมื่อนั้น 

"เราสร้างความโกลาหล มาดริด ปั่นป่วนในครึ่งหลังและไม่รู้ว่าจะจัดการกับพวกเราอย่างไร" เลวานดอฟสกี้ ว่าต่อ พวกเขาทำให้ มาดริด ที่เยือกเย็นสติแตกได้แล้ว ประตูที่ 2 และ 3 จนกระทั่งจุดโทษในนาทีที่ 66  ตอกฝาโลงอีกหนึ่ง เลวานดอฟสกี้ ยิง 4 ลูกในเกมนั้น โดยที่ช่วงหลังจาก 4-1 มาดริด มีโอกาสยิงเพิ่มแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะนักเตะ ดอร์ทมุนด์ ได้เปิดโหมดเล่นเกมรุกพร้อมกันทั้งทีมเรียบร้อยแล้ว

ก่อนที่ เนเวน ซูโบติช จะเสริมว่า "เรากดพวกเขาได้ ผมคิดว่าพวกเขาจะเล่นเกมบุกอย่างบ้าคลั่งหลังจากที่โดนนำ กลายเป็นว่าพวกเขาต้องถอยไปตั้งรับเมื่อเจอกับเรา พวกเขาผิดแปลกไปจากปกติ ... พวกเขาหวังว่าจะยิงเพิ่มได้ แต่เกมรับของเราคืออาวุธที่เราซักซ้อมมาเพื่อการนี้" 

จาก มาดริด จอมเยือกเย็น กลับกลายเป็น มาดริด ที่ต้องเปลี่ยนแนวทางไปเอง ลูกทีมของ คล็อปป์ สร้างคาแร็คเตอร์ที่แข็งแกร่งขึ้นมา พวกเขาข่มมาดริดได้สำเร็จ อย่างน้อยก็ในเกมนี้ เกมที่ใครต่อใครบอกว่าโอกาสจะเป็นของแชมป์จากสเปนมากกว่า 

"นี่คือเกมที่เราสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจ วิธีการเล่นของเรากล้าหาญ วัดกันที่นักเตะแบบตัวต่อตัว สิ่งที่ยืนยันว่าเพื่อนร่วมทีมของผมสุดยอดคือการตอบสนองของทุกคน จากจังหวะที่ผมทำผิดพลาดจน มาดริด ยิงตีเสมอได้ เป็นพวกเราเองที่เยือกเย็น เราจัดการรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ดีสุดยอด … เราอยู่ในตำแหน่งที่ยอดเยี่ยม และเกมต่อไปที่ เบอร์นาเบว จะเป็นเกมที่ยากที่สุดในอาชีพนักเตะของทุก ๆ คนแน่นอน" ฮุมเมิลส์ กล่าวเพื่อยืนยันสภาพจิตใจและความฟิตของ ดอร์ทมุนด์ ในเกมนั้น ซึ่งคู่หูแนวรับของเขาอย่าง ซูโบติช ก็เข้ามาให้สัมภาษณ์ต่อทันทีว่า 

"ก่อนที่ ฮุมเมิลส์ จะพลาด ผมเองก็ต้องรับผิดด้วย ผมแพ้การดวลตัวต่อตัวกับ โมดริช ผมเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบ ... แต่กฎของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ นั้นแตกต่าง กฎของที่นี่มีอยู่ว่า เมื่อมีใครสักคนทำผิดพลาด นั่นถือเป็นการทำผิดพลาดร่วมกันทั้งทีม ไม่มีใครคนเดียวที่ต้องรับผิด และไม่มีใครคนเดียวต้องรับชอบ 4 ประตูของ เลวานดอฟสกี้ คือประตูที่ 'ทีมของเรา' ทำได้" ซูโบติช ว่าแบบนั้น 

"โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เอาชนะ เรอัล มาดริด 4-1 ใช่ ! 4-1 คุณอ่านไม่ผิด" พาดหัวของ วอชิงตัน โพสต์ สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของผลการแข่งขันเกมนี้ได้เป็นอย่างดี 

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ถล่ม เรอัล มาดริด 4-1 แบบหักปากกาเซียน และเกมที่ 2 ก็ยากแบบที่พวกเขาคิด ดอร์ทมุนด์ แพ้ไป 0-2 … แต่ก็ยังเข้ารอบโดยสกอร์รวม 4-3 ต้องขอบคุณที่พวกเขาไม่หยุดเดินหน้าบุกหลังจากขึ้นนำ 2-1 … การตุนสกอร์เอาไว้ ส่งผลให้ ดอร์ทมุนด์ เข้าขิงชนะเลิศได้สำเร็จ

แน่นอนว่าทุกคนรู้กันดีว่าตอนจบของ ดอร์ทมุนด์ ไม่สวยนัก พวกเขาเข้าไปแพ้ให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ในนัดชิงที่เวมบลีย์ 1-2 ... แต่ก็อย่างที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ บอกและยิ้มหลังขึ้นไปรับเหรียญ

"ผมเชื่อในพลังพิเศษของฟุตบอล สิ่งนี้ผูกพวกเราทุกคนให้รวมกันเป็นหนึ่งได้ ในช่วงเวลาอันยาวนาน มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก และขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญ คือการอยู่ร่วมกันในฐานะทีม"  

นี่คือคาแร็คเตอร์ของทีมเสือเหลืองชุดที่ดีที่สุดแห่งยุค 2010s อย่างแท้จริง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.fourfourtwo.com/features/borussia-dortmund-4-1-real-madrid-story-stats-zone-screens
https://www.uefa.com/uefachampionsleague/match/2009608--dortmund-vs-real-madrid/
https://en.as.com/soccer/what-is-the-all-time-head-to-head-record-between-real-madrid-and-borussia-dortmund-n/
https://www.bundesliga.com/en/news/Bundesliga/jurgen-klopp-liverpool-manager-the-borussia-dortmund-years-474440.jsp
https://www.uefa.com/uefachampionsleague/news/0220-0e9024216f3a-7f4a01cf1ed6-1000--how-jurgen-klopp-worked-wonders-at-dortmund/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ