Feature

คู่มือสำหรับ "สล็อต" : หาเหตุผลที่พรีเมียร์ลีกเป็นสุสานของ "กุนซือดัตช์" | Main Stand

ลิเวอร์พูล เปิดตัวกุนซือใหม่ในซีซั่นหน้าเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรพลิกโผ อาร์เน่อ สล็อต กุนซือชาวดัตช์จาก เฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม คือคนที่ได้รับโอกาสสานต่องานอันยิ่งใหญ่จาก เยอร์เก้น คล็อปป์ 

 

สล็อต ถือเป็นโค้ชจากเนเธอร์แลนด์ คนที่ 10 ที่ได้คุมทีมในพรีเมียร์ลีก ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่มีกุนซือดัตช์คนใดเคยทำทีมคว้าแชมป์ลีกได้เลยแม้แต่คนเดียว โดยมีแค่ 4 คนที่พาทีมคว้าโทรฟี่ในบอลถ้วยได้ ... อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่ง จบด้วยการโดนไล่ออก

ทั้ง ๆ ที่แบกโปรไฟล์ใหญ่โตมาจากบ้านเกิด ทำไมโค้ชดัตช์จึงไม่ประสบความสำเร็จที่นี่เหมือนกับโค้ชสเปน, อิตาลี หรือ เยอรมัน ... เรื่องนี้เราค้นจนกระทั่งมีคำตอบ และมันอาจจำเป็นสำหรับ อาร์เน่อ สล็อต กับงานใหม่ของเขา 

ติดตามกับ Main Stand 

 

ฟุตบอลดัตช์ เป็นอย่างไร ? 

ฟุตบอลดัตช์ มีสไตล์และลายเซ็นเป็นของตัวเอง กุนซือเกือบทั้งประเทศ เติบโตมากับปรัชญาที่ถูกสร้างขึ้นจนมีชื่อเสียงระดับโลก โดย ไรนุส มิเชลส์ เทรนเนอร์ทีมชาติฮอลแลนด์ชุดแชมป์ยูโร 1988 นอกจากนี้ยังมีผลงานการพาทีม อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ซิวแชมป์ลีกสูงสุดของฮอลแลนด์ 4 สมัย รวมถึงคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1971 ก่อนโยกมาคุม บาร์เซโลน่า และพาทีมคว้าแชมป์ลา ลีกา ในปี 1974 

ทางที่ ไรนุส มิเชลส์ สร้าง ถูกสานต่อโดย โยฮัน ครัฟฟ์ "นักเตะเทวดา" ที่ถูกเรียกว่า "โค้ชเทวดา" ในยุคต่อมา ซึ่งแนวทางการคุมทีมของทั้งคู่นั้นมีความคล้ายกัน นั่นคือการใช้ปรัชญา "โททัล ฟุตบอล" 

ขยายความให้กว้าง ๆ และเห็นภาพชัด คือฟุตบอลที่เน้นการครองบอล ใช้การผ่านบอลไปยังที่ว่าง และทุก ๆ พื้นที่ว่างจะต้องมีนักเตะคนที่ไม่มีบอลขยับขึ้นมารับบอล ดังนั้นจึงมีการหมุนตำแหน่งกันตลอดเวลา "ให้ แล้ว ไป" เหมือนที่ทางฝรั่งเขาชอบใช้คำว่า "Give and Go"

ผู้เล่นทุกคนในสนาม สามารถทดแทนตำแหน่งกันได้หมด เรียกได้ว่ามีความยืดหยุ่นในการเล่นสูง ดังนั้นนักเตะที่อันตรายที่สุดของปรัชญาโททัลฟุตบอลคือ "ผู้เล่นที่ไม่มีบอล" นี่คือคำอธิบายกว้าง ๆ ซึ่งภายใต้คำว่ากว้าง ๆ นี้ มีกฎยิบย่อยอีกมากมาย ที่ทั้ง มิเชลส์ และ ครัฟฟ์ ใช้ 

แนวทางดังกล่าวเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ทั้งระบบ และส่งต่อแนวคิดเช่นนี้กันมาเรื่อย ๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ในทัวร์นาเมนต์ทีมชาติรายการใหญ่ ๆ เราก็น่าจะได้เห็นว่า เนเธอร์แลนด์ เป็นทีมที่เน้นการครองบอลเป็นหลัก เข้าทำด้วยวิธีการเล่นเป็นทีม โดยจะมีฉีกวิธีไปบ้างตามความสามารถของนักเตะ และแท็คติกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่โดยโครงแล้ว พวกเขายังเป็นบอลคอนโทรลพันธุ์แท้ เหมือนกับ 40 ปีที่แล้วไม่เปลี่ยนแปลง 

ฟุตบอลเป็นแบบไหน ก็จะสร้างบุคลากรแบบนั้นออกมา รวมถึงโค้ชฟุตบอลด้วย โค้ชชาวดัตช์ แทบจะเกือบทั้งหมดได้รับอิทธิพลจาก โททัล ฟุตบอล เป็นสารตั้งต้น ที่เหลือจะปรับเปลี่ยนกลิ่นเฉพาะให้เป็นของตัวเอง ซึ่งคนที่แตกต่างกว่าคนอื่น ๆ แบบเห็นภาพชัดที่สุดคือ หลุยส์ ฟาน กัล ที่ถือเป็นคู่กัดกับ ครัฟฟ์ มานานนม 

ทั้ง 2 คนไม่ถูกกัน จากเรื่องส่วนตัวและแนวทางฟุตบอลที่ต่างฝ่ายต่างออกมาบลัฟฟ์กัน บทความของ Daily Mail ที่เขียนถึงเรื่องของทั้งสองคน ใช้ประโยคที่อธิบายเรื่องนี้ได้เคลียร์สุด นั่นคือ… 

"เกมของ ครัฟฟ์ คือฟุตบอลที่เชื่อเรื่องจินตนาการ เล่นกันไปตามฟีลเหมือนกับบอลข้างถนน ขณะที่ของ ฟาน กัล เหมือนกับการเล่นฟุตบอลในค่ายทหาร ทุกคนต้องมีวินัย ยึดมั่นในแท็คติกมากกว่า" 

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ ฟุตบอลของโค้ชดัตช์ ต่อให้เป็นคนที่ไม่ถูกกันขนาดไหน ก็ยังเป็นบอลคอนโทรลเหมือนกัน แค่พวกเขาใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป จนมีความแตกต่างเล็กน้อย ๆ เกิดขึ้น แต่โดยองค์รวม DNA ของบอลดัตช์นั้นชัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณดูจากวิธีการเล่นของทีมในพรีเมียร์ลีก หรือในฟุตบอลอังกฤษที่มีโค้ชชาวดัตช์คุมทีม

เอริค เทน ฮาก มา แมนฯ ยูไนเต็ด พร้อมกับวิธีการที่พยายามเปลี่ยนให้ทีมเซตบอลจากหลังขึ้นไปหน้า (แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดก็ตาม), โรนัลด์ คูมัน เคยทำได้พอใช้กับการคุม เซาธ์แฮมป์ตัน ให้เป็นบอลบุกดูสนุก แต่ก็ไม่รอด เละเทะกับ เอฟเวอร์ตัน เพราะพยายามทำให้ทีมครองบอลและเซตบอลจากหลังไปหน้า, หลุยส์ ฟาน กัล ประกาศออกสื่อตอนคุม แมนฯ ยูไนเต็ด ว่า อยากจะหาเซ็นเตอร์แบ็กที่ถนัดเท้าซ้าย เพราะจะทำให้ทีมเซตบอลได้ดีกว่า 

หรือแม้กระทั่ง ฟิลิปป์ โคคู กุนซือระดับแชมป์ลีกดัตช์ 3 สมัยกับ พีเอสวี ที่มาคุม ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ใน แชมเปี้ยนชิพ ลีกที่เต็มไปด้วยฟุตบอลไดเร็กต์ อัดปะทะใส่กันไม่ยั้ง โคคู ก็ยังทำให้ทีมเป็นทีมที่ครองบอลได้มากที่สุดทีมหนึ่งของลีก ภายใต้ระยะเวลาการคุมทีม 1 ปีกว่า ๆ ของเขา 

ไม่ใช่แค่สไตล์คล้ายกัน แต่สิ่งที่กุนซือดัตช์หลายคนได้รับจากฟุตบอลอังกฤษก็ยังเหมือนกันด้วยนั่นคือ "การโดนปลด" ... ทั้ง ๆ ที่พวกเขาพาทีมคว้าแชมป์ลีก แชมป์บอลถ้วยในประเทศ บางคนคุมทีมชาติเนเธอร์แลนด์ชุดใหญ่มาแล้ว ทำไมมาอยู่ที่นี่ พวกเขาจึงกลายเป็นคนละคนขนาดนั้น ? 

 

น้ำกับน้ำมัน 

ฟุตบอลดัตช์เล่นสวย ดูสนุก คว้าแชมป์ในประเทศได้ทุกคน หนำซ้ำบางคนยังเคยไปถึงขั้นเป็นแชมป์ยุโรป หรือไม่ก็เป็นม้ามืดโค่นยักษ์ใหญ่ใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก มาแล้วทั้งนั้น แต่ใน พรีเมียร์ลีก ทำไมไม่มีโค้ชคนไหนที่พูดได้ว่าประสบความสำเร็จแบบเต็มปากเลยแม้แต่คนเดียว 

ไล่ตั้งแต่เข้ายุคพรีเมียร์ลีก มีโค้ชดัตช์คุมทีมในพรีเมียร์ลีกทั้งหมด 9 คน (สล็อต เป็นคนที่ 10) ได้แก่ รุด กุลลิต (เชลซี, นิวคาสเซิล), มาร์ติน โยล (สเปอร์ส,ฟูแล่ม), กุส ฮิดดิ้งก์ (เชลซี), เรเน่ มิวเลนสตีน (ฟูแล่ม), หลุยส์ ฟาน กัล (แมนฯ ยูไนเต็ด), โรนัลด์ คูมัน (เซาธ์แฮมป์ตัน, เอฟเวอร์ตัน), ดิก แอดโวคาท (ซันเดอร์แลนด์), แฟรงค์ เดอ บัวร์ (คริสตัล พาเลซ) และ เอริค เทน ฮาก (แมนฯ ยูไนเต็ด)

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ปรัชญาการครองบอล คือสิ่งที่พวกเขาพกมาทุกคน แต่แต่ความสวย ความใจเย็น และเล่นด้วยจินตนาการนั้น ดูเหมือนจะไม่เข้ากันกับฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือจะใช้คำว่า DNA ของนักเตะอังกฤษก็คงไม่ผิดหนัก ที่เน้นความหนักหน่วง รวดเร็ว คล่องแคล่ว มีความไดเร็กต์ ไม่มากมาย ไม่ละเมียดละไม แต่เน้นไปที่ผลลัพธ์มากกว่า  

ณ ตรงนี้ขอย้ำว่าไม่ได้บอกว่าฟุตบอลฝั่งไหนดีกว่ากัน แต่จะบอกว่ามันเป็นความต่างกันแบบคนละขั้ว เหมือนน้ำกับน้ำมัน กวนกันยังไงก็ยากจะเป็นหนึ่งเดียวกัน หลุยส์ ฟาน กัล ไปไม่รอดเพราะพยายามทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นฟุตบอลในระบบ 3-5-2 ไม่ว่าจะด้วยนักเตะคุณภาพไม่ถึง หรือแผนของเขาไม่ดี หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม อย่าว่าแต่ผลการแข่งขันตามเป้าเลย หากใครจำกันได้ ยูไนเต็ด ยุค ฟาน กัล ตีบตันสุด ๆ จ่ายบอลกันไปมา และสุดท้ายก็โดนฝั่งตรงข้ามตัดไปลงโทษเป็นประจำ 

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ฟาน กัล ก็รู้ว่าเขาเปลี่ยนทีมไม่ได้ เขาจึงยอมกลับไปเล่นในระบบ 4-3-3 ตามเดิม และฟุตบอลที่เคยเซตกับพื้นแบบที่หวังก็พังพินาศ กลายเป็นบอลที่คิดไม่ออกก็โยนบอลไปข้างหน้า ให้ปีกสองฝั่งใช้ความเร็ว และใช้นักเตะตัวใหญ่ ๆ อย่าง มารูยาน เฟลไลนี่ มาเป็นตัวพัก ตัวชนบอลจังหวะแรก … ถ้ายังจำกันได้ สโลแกนจากโฆษณาเบียร์สัญชาติไทย ที่สนับสนุนทีมปีศาจแดงเวลานั้น "แค่คุณเปิดโลกก็เปลี่ยน" ถูกนำมาใช้อำบอลสไตล์ ฟาน กัล ได้พอดีแบบเหลือจะเชื่อ

ไม่ใช่แค่ ฟาน กัล โค้ชชาวดัตช์ที่กล่าวมาแทบทั้งหมด แทบไม่สามารถทำให้ทีมของตัวเอง เล่นบอลเหมือนกับทีมเก่าตอนสมัยคุมในลีกดัตช์ได้เลย หนักที่สุดคือ แฟรงค์ เดอ บัวร์ ที่รับงานวันที่ 1 เดือน มิถุนายน 2019 ก่อนโดนไล่ออกในปลายเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน สิริรวมคุมทีมในลีกไปทั้งหมด 4 เกม ยิงใครไม่ได้แม้แต่ประตูเดียวและแพ้รวด (รวมทุกรายการ คุม 5 เกม ชนะเกมเดียวในฟุตบอลถ้วย) จน พาเลซ ต้องกลับไปเอา รอย ฮอดจ์สัน กลับมาคุมแทน ทีมจึงกลับมารอดตกชั้นได้ 

นักเตะของ พาเลซ หลายคนพูดถึงเรื่องตอนนั้นว่า พวกเขาไม่เก็ตกับวิธีการ และแนวทางฟุตบอลแบบดัตช์ (เดอ บัวร์) ซึ่งเป็นเหตุให้ทีมเละไม่เป็นท่า 

"เดอ บัวร์ พยายามจะทำให้ทีมเล่นฟุตบอลแบบดัตช์ เขาเอา ทิโมธี โฟซู เมนซา และ ไจโร รีเดวัลด์ เข้ามา แล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย … ผมจะเปรียบเทียบว่าบอลของ เดอ บัวร์ เป็นอะไรที่พวกเราไม่เข้าใจเขาเลย กลับกัน พอ ฮอดจ์สัน เข้ามา เขาเหมือนเป็นเครื่องช่วยหายใจเลย แค่เขาเข้ามา พวกเราก็กลับมาเล่นได้ และพวกเราก็กลับมาสนุกกับเกมฟุตบอลในบ่ายวันเสาร์อีกครั้ง" เดเมี่ยน เดลานี่ย์ ซีเนียร์ของทีมว่าเช่นนั้น 

และที่ เอฟเวอร์ตัน นั้นเห็นภาพชัดมากที่สุด พวกเขาคือทีมที่เล่นฟุตบอลอังกฤษขนานแท้ โดดเด่นเรื่องคาแร็คเตอร์ แม้คุณภาพจะไม่มากเท่าทีมหัวแถว แต่ใครเจอกับ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ก็เล่นยากทั้งนั้น ด้วยสไตล์ที่หนักหน่วง แข็งแรง ไดเร็กต์บอลจากหลังไปหน้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเข้ามาของ โรนัลด์ คูมัน ก็ติดหล่มกับแท็คติกที่ตรงข้ามกับนักเตะที่มี เขาพยายามแล้วที่จะเอาจอมทัพตรงกลางอย่าง ดาวี่ คลาสเซ่น โฮลดิ้งมิดฟิลด์จาก อาแจ็กซ์ มาเป็นคนคุมจังหวะการขึ้นเกมรุกของทีม แต่สุดท้าย คน ๆ เดียวเปลี่ยนนักเตะพันธุ์ (บอล) อังกฤษไม่ได้เลย เรียกได้ว่าล้มเหลวทั้งการซื้อตัว แท็คติก และผลการแข่งขัน จนสุดท้าย คูมัน ก็โดนไล่ออกในอีกไม่นานหลังจากนั้น 

"มันเป็นเรื่องยากเลยในการสัมภาษณ์เรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจ เพราะมันดูเหมือนกับว่าเขา (คูมัน) กำลังทุบระบบแบบเก่า ทั้งวิธีเล่นและธรรมชาติของนักเตะไปจนหมด ผมเข้าใจว่าผู้จัดการทีมทุกคนมีความแตกต่างกัน แต่บอลของ โรแบร์โต มาร์ติเนซ (โค้ชก่อนคูมัน) จะเล่นเกมไดเร็กต์ เอาชนะกันในพื้นที่ว่างมากขึ้น นี่ไม่ใช่ความลับเลย ผมว่าคุณก็น่าจะสังเกตได้" เชมัส โคลแมน ซีเนียร์ของทีม เอฟเวอร์ตัน ว่าไว้หลัง คูมัน โดนไล่ออก 

และเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงในอดีต สด ๆ ร้อน ๆ ไม่กี่เดือนก่อน เอริค เทน ฮาก ถึงกับพูดประเด็นนี้มาด้วยตัวเอง แบบที่ชัดที่สุด ถึงขั้นที่ว่าถ้าคุณได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเขา คุณจะรู้ได้ทันทีว่าปรัชญาฟุตบอลของโค้ชชาวดัตช์ แตกต่างธรรมชาติของนักฟุตบอลอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรอย่างสิ้นเชิง โดยกุนซือ แมนฯ ยูไนเต็ด เผยว่า 

"ไม่ เราจะไม่มีวันเล่นฟุตบอลแบบนั้น (สไตล์ที่ เอริค เทน ฮาก คุม อาแจ็กซ์) เพราะขุมกำลังนักเตะของทั้งสองทีมแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เหตุผลที่ผมมารับงานคุม แมนฯ ยูไนเต็ด"

"เรากำลังเล่นฟุตบอลในระบบที่แตกต่างจากอาแจ็กซ์ และไม่สามารถเล่นเหมือนกันได้ ผู้เล่นจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะวางระบบรวมถึงวิธีการเล่นอย่างไร ... ผมต้องทำ เพราะไม่สามารถเล่นในลักษณะเดียวกันได้จริง ๆ และนั่นไม่ได้อยู่ใน DNA ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลยด้วยซ้ำ"

"อาแจ็กซ์ มีสไตล์การเล่นเฉพาะตัวที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ส่วนกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผมจะแสดงสิ่งที่แตกต่างออกไปเสมอ ปีที่แล้วผมก็ทำเช่นนี้ เราเล่นฟุตบอลแบบไดเร็กต์มากขึ้น เนื่องจากผมมีผู้เล่นแดนหน้าที่เหมาะกับวิธีนี้"
 
เอาเป็นว่ากุนซือดัตช์แทบทุกคนที่ล้มเหลวกับการคุมทีมในอังกฤษส่วนใหญ่แล้ว ล้วนเกิดปัญหาจากความต่างด้านวัฒนธรรมฟุตบอล จะมีก็แต่ กุส ฮิดดิ้งก์ ที่จบสวย ๆ กับ เชลซี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ฮิดดิ้งก์ มาแบบมวยแทนทั้ง 2 หน ระยะเวลามันสั้นเกินไปกว่าจะมาถอดบทเรียนหรือเชิงแท็คติกที่เขาทำไว้ได้ 

 

เล่นตามที่สั่งไม่ได้ = ระเบิดเวลา 

เมื่อนักเตะเล่นตามที่โค้ชสั่งไม่ได้ มันก็เหมือนกับมีคนกดปุ่มระเบิดเวลา จะเร็วจะช้าไม่รู้ แต่ต้นตอของจุดจบได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งโดยธรรมชาติคนเป็นโค้ชนั้นจะได้สิทธิ์เหมือนกับเป็น "เจ้านาย" เหมือนที่นักเตะชอบเรียกโค้ขของพวกเขาว่า "บอส"

และเมื่อบอสไม่สามารถสั่งลูกน้องได้ ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากเชิงแท็คติกและผลการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องในสนามตามที่ได้กล่าวไปในพารากราฟที่แล้ว และมันยังไม่จบแค่นั้น ในเมื่อทำให้ทีมเล่นในวิธีการของตัวเองไม่ได้ คุณก็จะล้มเหลวในการสร้างผลการแข่งขัน และในโลกฟุตบอล เมื่อผลการแข่งขันไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ ! การแตกหักเกิดขึ้น และกุนซือดัตช์นั้นหักกับนักเตะซีเนียร์ในทีมของพวกเขามาแล้วหลายคน 

เหล่าโค้ชจะเริ่มใช้ไม้แข็ง ยืนกราน และแสดงตัวเป็นหัวหน้า ซึ่งเมื่อไรที่เขาทำแบบนั้น การแตกหักก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเหล่านักเตะซีเนียร์ ที่ไม่ง้อ และกล้าที่จะพูดในสิ่งที่พวกเขาคิด กล้าที่จะต่อต้านถ้าไม่ลงรอยกัน  

เอริค เทน ฮาก มีปัญหาเรื่องการปกครองทีมอย่างเห็นได้ชัด มีปัญหาเล็ดลอดให้เห็นตลอด ไล่เคสตั้งแต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เจดอน ซานโช่, มาร์คัส แรชฟอร์ด และ ล่าสุดอย่าง อเลฮานโดร การ์นาโช่ ล้วนแต่เคยมีปัญหานอกสนามกับ เทน ฮาก ทั้งนั้น  

แฟรงค์ เดอ บัวร์ ไล่ เดเมี่ยน เดลานี่ย์ ลงไปซ้อมกับทีมชุดยู 18 ของ คริสตัล พาเลซ เพียงเพราะอยากจะดัน ไจโร รีเดวัลด์ ขึ้นมาเป็นตัวหลัก, โรนัลด์ คูมัน ทะเลาะกับ เวย์น รูนี่ย์ ที่ เอฟเวอร์ตัน, เรเน่ มิวเลนสตีน ถูก ฮูโก้ โรดาเยก้า ด่าผ่านสื่อว่าเป็นคนที่ไม่ให้ความเคารพนักเตะในทีม และชอบขู่นักเตะชุดใหญ่ว่าจะถูกส่งลงไปเล่นทีมสำรองหากไม่ปรับทัศนคติ ซึ่งปลายทางเขาก็เอาห้องแต่งตัวไม่อยู่ และสุดท้าย เรเน่ ก็โดนไล่ออก 

ตัดเรื่องความผิดถูกออกไปก่อน จุดนี้มันแสดงให้เห็นว่าคาแร็คเตอร์ของโค้ชดัตช์คือแข็งกร้าว เชื่อมั่นในตัวเองสูง และไม่มีจุดเด่นมากนักเรื่องจิตวิทยาและการใช้น้ำเย็นลูบ หรือถ้าจะมองอีกทางก็คือ อาจจะเป็นเพราะนักเตะไม่ได้เรื่องกันเอง นั่นก็แล้วแต่คุณจะมอง ... แต่คุณก็ต้องไม่ลืมว่า นักเตะส่วนใหญ่ที่โค้ชชาวดัตช์มีปัญหาด้วย ก็ล้วนเป็นนักเตะที่ทำผลงานได้ดี เป็นตัวหลักมาในยุคก่อน ๆ แทบทั้งสิ้น 

สรุปเรื่องนี้ก็คือ DNA และปรัชญาฟุตบอลของทั้งสองชาติต่างกันเยอะมาก ๆ ทำให้เกิดปัญหาจากเรื่องของในสนาม และลุกลามเข้าไปในห้องแต่งตัว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สิ่งที่การันตีว่ากุนซือดัตช์นอกจาก 9 คนที่ว่ามานี้จะล้มเหลวตามกันหมด เพราะศาสตร์ของการเป็นยอดโค้ชนั้น แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันออกไป นักเตะหัวแข็งขนาดไหน เบอร์ใหญ่ขนาดไหน ถ้าเข้าถูกวิธี คุยกันถูกคอ พวกเขาพร้อมจะเชื่อฟังทำตามได้เหมือนกัน ซึ่งสิ่งนี้คือการบริหารจัดการคน ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเป็นเฮดโค้ชที่ต้องปกครองทั้งวิธีการเล่น ผลลัพธ์ และห้องแต่งตัวในเวลาเดียวกัน 

ก็ต้องมารอดูกันว่า กุนซือดัตช์รายล่าสุดอย่าง อาร์เน่อ สล็อต จะเปลี่ยนแปลงภาพจำจากที่ "เอาชื่อมาทิ้ง" กลายเป็น "เวทีสร้างชื่อ" ได้หรือไม่ ? ... ซีซั่นหน้าได้โชว์ของแน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/1939349/2020/07/29/cocu-derby-total-football-holland-tactics-michael-cox/
https://www.nytimes.com/athletic/2614805/2021/06/07/frank-de-boer-from-most-promising-dutch-coach-to-three-sackings-in-four-years-and-euro-2020/
https://www.nytimes.com/athletic/1187875/2019/09/13/damien-delaney-talks-boris-de-boer-and-an-eclectic-group-of-wrong-uns/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-2703389/Louis-van-Gaal-vs-Johan-Cruyff-bitter-feud-started-Christmas-lunch.html
https://www.skysports.com/football/news/11095/12884639/arne-slot-why-feyenoord-s-big-hearted-rap-aficionado-and-charismatic-coach-would-fit-in-perfectly-at-tottenham
https://www.linkedin.com/pulse/20140706141309-10851204-what-can-we-learn-from-the-dutch-football-coach-louis-van-gaal-during-this-world-cup?trk=portfolio_article-card_title
https://www.wsc.co.uk/stories/frank-de-boer-ronald-koeman-and-the-strange-decline-of-dutch-managers/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ