Feature

(กว่า) เลสเตอร์ จะทำได้ : เปิดตำราเลื่อนชั้น ในฤดูกาลที่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ โหดที่สุด | Main Stand

เลสเตอร์ ซิตี้ ใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้นในการอยู่ที่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เพราะพวกเขาเพิ่งคว้าแชมป์และตีตั๋วกลับ พรีเมียร์ลีก ไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยการนำหัวตารางที่คล้าย ๆ กับว่าเหมือนม้วนเดียวจบ 

 

อย่างไรก็ตาม แชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาล 2023-24 ถูกยกให้เป็นซีซั่นที่ยากที่สุด ทุกโซนตั้งแต่ลุ้นเลื่อนชั้นจนลุ้นตกชั้น ต้องลุ้นจนเกือบนัดสุดท้ายกว่าจะได้เห็นทีมที่ตีตั๋วก่อนใครเพื่อน 

ฟุตบอลลีกรองของอังกฤษกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้นมาก เลสเตอร์ ต้องเจอกับอะไร ทำไมถึงทุลักทุเลกว่าจะได้ตั๋วเลื่อนชั้น ติดตามที่นี่ 

 

แชมเปี้ยนชิพ ปีที่ยากที่สุด 

ดาเนี่ยล ฟาร์เก้ เฮดโค้ช ลีดส์ ยูไนเต็ด ได้สัมภาษณ์หลังเกมที่พวกเขาบุกชนะ เลสเตอร์ ถึง คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2023 ว่า "นี่คือปีที่ฟุตบอลลีกนี้ยากที่สุด ถ้าคุณเหลือบมองตาราง คุณจะเห็นช่องไฟที่ถี่ยิบ แต่ละอันดับใกล้กันมาก และพร้อมที่จะพลิกผลการแข่งขันได้ตลอดเวลา" 

ถ้อยความดังกล่าวหมายความตามนั้น ถ้าคุณเอาตาราง เดอะ แชมเปี้ยนชิพ มากาง คุณจะเห็นตามที่ ฟาร์เก้ ว่า ย้อนกลับไปในช่วง 1 เดือนที่แล้ว สักช่วงปลายเดือน มีนาคม 2024 มีทีมที่ลุ้นแชมป์ได้ทั้งหมด 4 ทีมได้แก่ เลสเตอร์, ลีดส์, อิปสวิช ทาวน์ และ เซาธ์แฮมป์ตัน และทุกทีมสามารถอันดับตกลงไปในโซนเพลย์ออฟได้ทุกเมื่อ 

ซึ่งกว่าที่ เลสเตอร์ ซึ่งเป็นทีมที่เคยนำอันดับ 2 ถึง 18 แต้ม จะคว้าแชมป์ในปีนี้ได้ พวกเขากระเสือกกระสนมาก ๆ ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย กับการแพ้ถึง 6 เกมจาก 13 นัดที่ลงสนาม ทั้ง ๆ ที่ 32 เกมแรก เลสเตอร์ แพ้เพียงแค่ 4 เกมเท่านั้น 

ขณะที่โซนเพลย์ออฟ ปกติเมื่อเข้าถึงเดือน มีนาคม ก็จะเห็นหน้าเห็นหลังกันแล้ว แต่ในปีนี้ กลับมีทีมที่ลุ้นเพลย์ออฟพร้อมกันถึง 12 ทีม กว่าจะตัดตัวเหลือจำนวน 5-6 ทีมที่คุ้นตัวเลขกันได้ก็ปาเข้าไปท้ายฤดูกาล และโซนหนีตกชั้น มีเพียง ร็อตเธอร์แฮม ที่ไปก่อนใครเพื่อน ส่วนอีก 2 ที่นั่งที่จะตกชั้นไป ลีกวัน ถึงตอนนี้ยังมีอีก 5 ทีมที่ลูกผีลูกคน ทำไมสูสีขนาดนั้น ? 

ปกติแล้ว เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ก็เป็นลีกที่ยากอยู่แล้ว การันตีโดยกุนซือทุกคนที่เคยทำงานในระดับพรีเมียร์ลีก และต้องมาคุมทีมในระดับนี้ ต่างพูดตรงกัน ทั้ง ฟาร์เก้, นีล วอร์น็อค และ กุสตาโว โปเยต์ ถึงกับพูดประโยคคล้ายกันออกมาในเชิงที่ว่า "ลีกที่ยากที่สุดในอังกฤษ" เลยทีเดียว

โดยมีการขยายความว่า ปกติแล้วในพรีเมียร์ลีก หรือระดับลีกรอง เราจะได้เห็นความห่างของแต่ละทีมมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเปิดฤดูกาล คุณสามารถเดาได้เลยว่าในพรีเมียร์ลีก ทีมไหนจะติดท็อป 4 ทีมไหนจะไปบอลยุโรป และทีมไหนจะหนีตกชั้น แต่กับ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ คุณเดาแบบนั้นไม่ได้ 

ชื่อทีมที่คุ้น ๆ หูแฟนบอลบ้านเรา และหลายคนยังคิดว่าทีมเหล่านี้ยังแกร่งไม่ทิ้งลายน่าจะเลื่อนชั้นได้ เพราะตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกไปไม่นานอย่าง คาร์ดิฟฟ์, วัตฟอร์ด, สวอนซี, สโต๊ก, แบล็กเบิร์น หรือ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทุกทีมที่กล่าวมา ต่างเป็นทีมที่อยู่ในโซนครึ่งล่างของตาราง ที่ลุ้นหนีตกชั้นจนกระทั่งเดือนสุดท้ายของการแข่งขันทั้งสิ้น 

เหตุผลหลัก ๆ ในเชิงโครงสร้าง นี่คือลีกที่ไม่มีทีมไหนอยากจะอยู่นาน เพราะมันส่งผลต่อมูลค่าของทีม และรายรับในแต่ละปี แบบคนละเรื่อง การที่ทีมจากพรีเมียร์ลีกตกชั้นมาในลีกนี้ เท่ากับว่าพวกเขาจะเจอกับปัญหาการเงินครั้งสำคัญ ต้องคิดหนักว่า จะเลือกปล่อย หรือ เก็บนักเตะตัวเก่งเอาไว้ เพราะบางครั้งการเก็บตัวเก่งไว้กับทีม ก็จะนำมาซึ่งรายจ่ายที่มากเกินรายรับ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กฎการเงินของอังกฤษเข้มมาก แม้แต่ เลสเตอร์ ก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการโดนตัดแต้มตามที่มีข่าวตลอดทั้งปี 

แม้แต่ละทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก จะได้รับเงินพิเศษที่เรียกว่า "พาราชูต เพย์เมนท์" หรือเงินสมทบขวัญถุง เพื่อให้ไปปรับสมดุลในทีมให้พร้อมกับการแข่งขันในลีกรอง แต่เงินก้อนดังกล่าวอาจเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายของพวกเขา หากไม่สามารถกลับมาสู่ลีกสูงสุดได้ภายในปีเดียว 

มันคือเดิมพันที่สูงมาก ทีมระดับหัวแถวของ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ที่เคยตกชั้นมาจากพรีเมียร์ลีกหลายทีมประสบปัญหานี้ เมื่อขึ้นชั้นใน 1 หรือ 2 ปี ไม่ได้ พวกเขาก็ทีมแตกทันที ดังทีมที่เรายกตัวอย่างมาในข้างต้น 

ดังนั้นถ้าคุณคิดจะเลื่อนชั้นในแต่ละปี มันจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมีอีกประมาณ 10 ถึง 12 ทีมที่มีศักยภาพพร้อมจะไปถึงจุดนี้ และตั้งเป้าหมายไว้ตรงกัน พวกเขาจะใส่กันสุดชีวิต ทีมที่ตกชั้นก็อยากจะเลื่อนชั้นทันที ส่วนทีมที่อยู่มานานก็หวังจะขึ้นไปพรีเมียร์ลีกให้ได้สักครั้ง เพราะเดิมพันนั้นสูงมาก ว่ากันว่าหากคุณขึ้นชั้นไปพรีเมียร์ลีกได้ครั้งเดียว ต่อให้ปีต่อมาตกชั้น คุณจะมีรายได้รวมกว่า 190 ล้านปอนด์  

นี่คือลีกที่มีรางวัลก้อนใหญ่ที่สุดในโลก และมันเป็นเรื่องความเป็นความตายของสโมสร เราจึงได้เห็นผลการแข่งขันที่คาดเดาไม่ได้เลยในแต่ละสัปดาห์ ใส่กันหมดแม็กซ์ ใช้แรงกันแทบหมดตัว ซึ่งถ้าใครได้ชมเกม แชมเปี้ยนชิพ ในปีนี้ ก็จะเห็นภาพทันที ยกตัวอย่างเช่น เยอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือของ ลิเวอร์พูล ที่ได้ดูเกมระหว่าง เลสเตอร์ กับ ลีดส์ และออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยความตื่นเต้นว่า

"ผมดูเกมลีกรองของอังกฤษบ่อยมาก ผมรัก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ สุด ๆ ล่าสุดเพิ่งดูเกม ลีดส์ กับ เลสเตอร์ และพบว่า 'ว้าว ! ฟุตบอลลีกนี้มันใส่กันดุเดือดอะไรเบอร์นั้น' นี่คือระดับความเข้มข้นของเกมที่บ้ามาก ๆ"

"ผมการันตีได้เลยว่า มันคือลีกที่ยากอย่างไม่น่าเชื่อ แค่เราเล่นใน พรีเมียร์ลีก เราก็โปรแกรมถี่ยิบอยู่แล้ว แต่คุณคิดดูสิ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ มีโปรแกรมมากกว่าเราตลอดทั้งปีราว 2-3 เกม  มันน่าเหลือเชื่อไหมล่ะ" คล็อปป์ ว่าเช่นนั้น

ซึ่งนอกจากเรื่องของเดิมพันที่สูงแล้ว สิ่งที่ คล็อปป์ บอกยังตรงประเด็นเป๊ะ เพราะเรื่องโปรแกรมการแข่งขัน คืออะไรที่เป็นปัญหาสุด ๆ ของทุกทีม ต่อให้คุณเป็น เลสเตอร์ ทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะสูงที่สุดเหนือทุกทีมในลีกก็ตาม 

 

โปรแกรมถี่นรก

อย่างที่ คล็อปป์ ได้บอกไป มันเป็นเรื่องที่ตรงประเด็น เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ทุกทีมจะต้องเล่นฤดูกาลละ 46 เกม ถ้าทีมของคุณต้องเตะเพลย์ออฟ ก็ต้องเล่นเพิ่มอีก 3 นัด ส่วนในฟุตบอลถ้วยอีก 2 รายการอย่าง คาราบาว คัพ (ลีก คัพ) และ เอฟเอ คัพ ก็จะเพิ่มโปรแกรมให้แต่ละทีมอย่างน้อยอีกราว ๆ 4 เกม ดังนั้นเบ็ดเสร็จ ทุกทีมในลีกนี้จะต้องลงเล่นทั้งหมด 50 เกมขั้นต่ำต่อซีซั่น

สำหรับ เลสเตอร์ ซิตี้ พวกเขาลงเล่นในปีนี้ไปทั้งหมด 53 เกม (ลีก 46 นัด, คาราบาว คัพ 3 นัด, เอฟเอ คัพ 4 นัด) ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของทีมอื่น ๆ ในลีกแน่นอน 

สำหรับใครที่มองว่า เลสเตอร์ เลื่อนชั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพวกเขามีเงินมากกว่าใคร นั่นไม่ใช่ความจริงและถูกทั้งหมด เลสเตอร์ เองปล่อยสตาร์ระดับตัวแบกทีมออกไปเยอะในฤดูกาลนี้ เจมส์ แมดดิสัน, ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์, ทิโมธี่ คาสตาญ รวมถึงกลุ่มที่หมดสัญญาอย่าง ยูริ ติเลอมองส์, จอนนี่ อีแวนส์ และ ชากลาร์ โซยุนชู ทั้งหมดก็เพื่อหารายรับเข้าสโมสร และลดเพดานเงินเดือนของทีม ไม่ให้ติดตัวแดงจนมากเกินไป 

ซึ่งถึงแม้นักเตะที่ออกไปจะลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ แต่พวกเขาก็ยังเป็นทีมที่ค่าเหนื่อยแพงที่สุดในลีกอยู่ดี ดังนั้น เลสเตอร์ จึงพยายามซื้อนักเตะในแบบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน ๆ โดยเน้นไปที่นักเตะที่อายุไม่มาก ราคาไม่แพง และมีศักยภาพไปต่อได้ ทั้ง อับดุล ฟาตาวู (ยืมตัว-ออปชั่นซื้อขาด) ปีกดาวรุ่งชาวกานา ที่เป็นตัวหลักแบกทีมในปีนี้, สเตฟี่ มาวิดิดี้, ยูนุส อัคกุน, ทอม แคนน่อน, คัลลัม ดอยล์ (ยืมตัว), เซซาเร่ คาซาเด (ยืมตัว แถมถูกเรียกตัวกลับตอนผ่านไปครึ่งซีซั่นอีกด้วย) โดยมี 2 คนเท่านั้นที่เข้ามาและรับค่าเหนื่อยในระดับซีเนียร์ นั่นคือ คอเนอร์ โคอาดี้ และ แฮร์รี่ วิงค์ส ซึ่งเคยเล่นในพรีเมียร์ลีกแล้วทั้งคู่

นักเตะที่มีอยู่ของ เลสเตอร์ ทำเหมือนทุกอย่างง่ายใน 32 เกมแรก เพราะแต้มทิ้งห่างแบบแบเบอร์เหมือนจะนำม้วนเดียวจบ ทว่าขนาดทีมก็ส่งผลเข้าอย่างจัง ทำให้ เอ็นโซ่ มาเรสก้า ต้องปวดหัว เพราะทีมฟอร์มตกอย่างมาก เนื่องจากมีนักเตะไม่พอใช้ นักเตะตัวหลักทยอยเจ็บจากโปรแกรมสุดโหด และวิธีการเล่นแบบลีกรองที่ใช้แรงเยอะ ครั้นจะเสริมทัพในตลาดฤดูหนาว พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ จนดีล สเตฟาโน เซนซี่ กองกลางจาก อินเตอร์ ต้องล่มลง ทั้ง ๆ ที่ อินเตอร์ ให้ยืมก่อน และจะคิดราคาซื้อขาดเพียง 2 ล้านปอนด์ก็ตาม 

"เราแทบจะลงเล่นสัปดาห์ละ 3 เกมในบางครั้ง เรามีเกมในทุก ๆ 4 วัน คุณหันไปมองนักเตะของพวกเราตอนนี้ คุณจะเห็นได้เลยว่า พวกเขาเล่นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมโดยไม่ได้พักเลย ภายใต้ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น ผมไม่โทษพวกเขาเลยแม้แต่น้อย พวกเขาทำผลงานได้ดีมากแล้ว ดียิ่งกว่าที่ผมคาดหวังไว้เสียอีก" มาเรสก้า กล่าวในช่วงที่ทีมหลุดตกมาเป็นอันดับ 3 ในช่วงสั้น ๆ 

อย่างที่บอกในข้างต้น นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทีมเต็งเลื่อนชั้นหลายทีมไม่สามารถเลื่อนชั้นในปีเดียวได้มากมาย ซึ่งความหมายคือ ใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ แค่กลยุทธ์อย่างเดียวไม่พอ คุณจะต้องมีนักเตะมากพอ และแต่ละคนต้องมีความฟิตสูง หรืออย่างน้อย ๆ ต้องเล่นได้มากกว่า 1 ตำแหน่ง เพื่อหมุนเวียนในที่ทีมประสบปัญหาตัวหลักบาดเจ็บ

เลสเตอร์ เองที่เลื่อนชั้นได้ ก็ต้องให้เครดิตกับ มาเรสก้า ส่วนหนึ่ง เพราะเจ้าตัวออกแบบวิธีการเล่นใหม่ ที่นักเตะหลายคนเปลี่ยนตำแหน่งกันเล่นได้ อาทิ วิลเฟร็ด เอ็นดิดี้ ที่ขยับขึ้นมาเป็นมิดฟิลด์ตัวรุก, ฮัมซา เชาฮ์ดรี้ ถอยลงมาเป็นอินเวิร์ทฟูลแบ็ก, ริคาร์โด้ เปร์ไรร่า ขยับมาเล่นเชื่อมเกมตรงตำแหน่งกองกลาง เวาท์ ฟาส ได้ออกมาเล่นเป็นแบ็ก ขวา-ซ้าย ในบางครั้ง 

แน่นอนว่าคุณภาพของเกมนั้น แชมเปี้ยนชิพ เป็นรองพรีเมียร์ลีก แต่เรื่องความเข้มข้นของลีก โปรแกรมถี่ยิบ คือความยากที่ทำให้แต่ละทีมแทบไม่ได้จัด 11 ตัวจริงตายตัวเลย เพราะจะมีเรื่องความฟิตและอาการบาดเจ็บของนักเตะในทีมมาเกี่ยวข้องตลอด แบบที่ เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นในปีนี้ 

 

แชมเปี้ยนชิพกับโมเดิร์นฟุตบอล 

ฟุตบอล แชมเปี้ยนชิพ มีภาพจำในรูปแบบของเกมฟุตบอลแบบอังกฤษโบราณ โยนยาวไปริมเส้น ปีกเปิดให้กองหน้าโหม่ง เราเชื่อว่าหลายคนยังติดภาพนั้น ทว่าในปีนี้ทุกอย่างต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะโลกฟุตบอลเข้าสู่เทรนด์ใหม่ ยุคแห่งโมเดิร์นฟุตบอลและการเพรสซิ่ง ซึ่งแทบทุกทีมใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ต่างก็หันมาเล่นในสไตล์นี้กันเยอะมากขึ้น แม้กระทั่งทีมท้ายตาราง นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ไม่มีหมูให้เชือดง่าย ๆ 

กุนซือหนุ่มหลายคนเข้ามาในลีกนี้และเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นของพวกเขา คีแรน แม็คเคนน่า อดีตโค้ชของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำบอลสมัยใหม่ บู๊เพรสซิ่งคล้าย ๆ กับ ลิเวอร์พูล ให้กับ อิปสวิช ทาวน์, เช่นเดียวกับ ฟาร์เก้ ที่ทำกับ ลีดส์ และ รัสเซลล์ มาร์ติน กับ เซาธ์แฮมป์ตัน 

ปัจจุบันกุนซือยุคเก่า ๆ ที่โตมากับฟุตบอลยุค 1990s ปรากฏชื่อน้อยลงมาก ปกติแล้วเราจะคุ้นชื่อโค้ชอย่าง นีล วอร์น็อค, สตีฟ บรูซ, แซม อัลลาไดซ์, โทนี่ พูลิส, โทนี่ โมเบรย์ หรืออะไรราว ๆ นั้น คุมทีมใน แชมเปี้ยนชิพ 

แต่ถ้าคุณมองไปที่แต่ละทีมล่าสุด ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว กุนซืออังกฤษหลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นอดีตนักเตะที่เพิ่งแขวนสตั๊ดได้ไม่นาน อาทิ เลียม โรซีเนียร์ (ฮัลล์ ซิตี้), นีล แฮร์ริส (มิลวอลล์), ไมเคิล คาร์ริค (มิดเดิลสโบรช์) ทอม เคลฟเวอร์ลี่ย์ (วัตฟอร์ด) 

นอกจากนี้ ยังมีกุนซือชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนอังกฤษ และสหราชอณาจักร อีกไม่น้อย นอกจาก เอ็นโซ่ มาเรสก้า แล้วก็มี เอรอล บูลุต (ตุรกี - คาร์ดิฟฟ์) , อังเกร ไบรเทนไรเตอร์ (เยอรมัน - ฮัดเดอร์สฟิลด์), ฟาร์เก้ (เยอรมัน - ลีดส์), เดวิด วากเนอร์ (อเมริกัน - นอริช), มาร์ตี้ ซิฟูเอนเตส (สเปน - คิวพีอาร์), แดนนี่ โรห์ล (เยอรมัน - เชฟฯ เว้นส์เดย์) และ คาร์ลอส คอร์เบอรัน (สเปน - เวสต์บรอมวิช) 

และโค้ชคนหนุ่มเหล่านี้ เป็นกุนซือหนุ่มที่เชื่อมั่นในฟุตบอลระบบของตัวเอง แทบจะเป็นการสูญพันธ์ของโค้ชยุคเก่าที่เน้นเรื่องจิตวิทยาและการบริหารคนในทีมเป็นหลัก ทุกวันนี้ถ้าคุณได้ดูถ่ายทอดสด ทีมสตาฟของแต่ละสโมสร มีไอแพดและอุปกรณ์ไอทีมากมายเพื่อช่วยในการทำทีมฟุตบอลในสไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าจะทีมใหญ่หรือทีมเล็ก คุณจะเห็นการเพรสซิ่งเป็นกลุ่ม การเซ็ตบอลจากแดนหลังเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

คู่แข่งที่เก่งขึ้น มีวิธีการที่ดีขึ้น ก็ทำให้แต่ละเกมชนะยากขึ้น ต้องออกแรงมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนกลับไปยังเรื่องของขนาดทีม ที่เกิดขึ้นมาเป็นมาตรฐานใหม่ของลีกนี้ 

เรียกได้ว่าเรื่องเดิมพันที่สูงลิบ เรื่องของจำนวนเกมที่ถี่ยิบ และคู่แข่งที่พัฒนาตัวเองในระดับที่สูงขึ้น นีคือสิ่งที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ได้เจอในปีที่ว่ากันว่า "เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ที่ยากที่สุด" 

ท้ายที่สุด พวกเขาผ่านมาได้ ซึ่งจากทั้งหมดที่กล่าวมา ใครคิดว่าพวกเขาขึ้นมาแบบแบเบอร์ คงต้องคิดใหม่แล้ว และการขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกของ เลสเตอร์ หนนี้ ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่าการเตรียมทีมให้พร้อมแต่ละปีสำคัญขนาดไหน เพราะถ้าเกิดพลาดตกชั้นมาในลีกรองแล้วล่ะก็ โอกาสกลับมา ไม่ใช่ง่าย ๆ แน่นอนหลังจากนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.lcfc.com/news/3989873
https://www.reddit.com/r/footballmanagergames/comments/18hj0t3/the_championship_is_the_hardest_league_on_the_game/
https://theanalyst.com/eu/2023/06/championship-fixture-difficulty-easy-hard/
https://www.thesportsman.com/articles/is-2023-24-going-to-be-the-hardest-championship-season-ever
https://www.thefootballsay.com/post/premier-league-hardest-league-in-the-world
https://www.sportbible.com/football/football-news/liverpool/liverpool-jurgen-klopp-premier-league-486883-20240227
https://www.quora.com/Is-the-Championship-more-competitive-than-the-Premier-League

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา