Feature

เบื้องหลัง อิหร่าน เทพฟุตซอล : เริ่มเล่นพร้อมไทยแต่ทำไมจึงสุดยอดยากต่อกร ? | Main Stand

ความเก่งกาจของทีมชาติอิหร่านในกีฬาฟุตซอลแสดงแสนยานุภาพอีกครั้ง ในวันที่พวกเขาเอาชนะไทยในเกมนัดชิงแชมป์เอเชียที่ผ่านมา 

 

นี่คือความเก่งที่เราต้องยอมสิโรราบแม้จะทำการบ้านมาดีแค่ไหนก็ตาม ... คำถามก็คือ อิหร่าน เป็นมหาอำนาจด้านฟุตซอลได้ยังไงทั้งที่พวกเขาเริ่มเล่นฟุตซอลหลังทีมชาติไทยด้วยซ้ำ ?

หาคำตอบของเรื่องนี้กับ Main Stand ที่นี่ 

 

เอาจริงเอาจังตั้งแต่วันแรก 

ฟุตซอลโลกครั้งแรกจัดแข่งขันขึ้นในปี 1989 โดยในช่วงเวลานั้น สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" ได้เล็งเห็นประโยชน์ในกีฬาฟุตซอล ที่อยู่เป็นจักรวาลคู่ขนานกับฟุตบอลมาอย่างยาวนาน ถ้าหากมีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการทั้งระดับทวีปและระดับโลก จะทำให้ความนิยมสูงขึ้นได้ และทำให้ฟุตบอลได้ประโยชน์ไปด้วย

เหตุผลที่วงการฟุตบอลจะได้ประโยชน์จากฟุตซอล ก็เพราะว่ารากของฟุตซอล ก็มาจากฟุตบอลนั่นแหละ ฟุตซอลเกิดขึ้นสถานการณ์ที่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะด้วยเรื่องสภาพอากาศ สภาพสนาม และจำนวนผู้เล่น จึงมีการย่อขนาดสนามลงและไปเตะในโรงยิม(Indoor) ซึ่งประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาใต้ต่างก็เล่นฟุตซอล(สตรีทฟุตบอล หรือ ฟุตบอล 5 คน) มาตั้งแต่ก่อนเข้าสูศตรวรรษที่ 19 

ดังนั้นฟุตซอลจึงเปรียบเหมือนสนามเริ่มต้นสำหรับนักฟุตบอลหลายคน ๆ มันเป็นเวทีที่ทำให้นักเตะได้ใช้พื้นฐานและฝึกเทคนิคอย่างเต็มที่ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการสร้างพื้นฐานในการเลี้ยง ส่ง ยิง ก่อนที่จะไปเติมเขี้ยวเล็บในด้านแท็คติกในวันที่นักเตะเหล่านั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลที่เล่นในสนามใหญ่ 11 คน 

นักเตะระดับโลกยุคปัจจุบันหลายคนต่างผ่านสังเวียนฟุตซอลมาทั้ง โรนัลดินโญ่, อันเดรียส อิเนียสต้า, โรนัลโด้(R9), เนย์มาร์, วินิซิอุส จูเนียร์, เควิน เดอ บรอยน์ และอื่น ๆ อีกมากมายต่างก็เคยออกมาพูดว่า ฟุตซอลทำให้พวกเขามีทักษะที่ดีขึ้น และการตัดสินใจที่เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยได้มากเวลาที่พวกเขาต้องไปเล่นฟุตบอล 11 คนสนามใหญ่ 

"สนามฟุตซอลเป็นสถานที่ที่มีหลายสิ่งในการสร้างคุณสมบัตินักฟุตบอลที่ดี ผมเองก็ได้ประโยชน์ด้านการฝึกทักษะต่าง ๆ ความเร็ว และความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งมันช่วยให้ผมแตกต่างในเวลาที่เติบโตขึ้นไปเล่นฟุตบอลสนามใหญ่" อิเนียสต้า นักเตะที่คว้าทุกแชมป์ที่ยิ่งใหญ่บนโลกนี้กล่าว

เมื่อมีมุมมองว่า ฟุตบอลคือรากของฟุตซอล และฟุตซอลก็เป็นรากของฟุตบอล ทั้ง 2 กีฬาต่างพึ่งพากันในแง่ใดแง่หนึ่ง ฟีฟ่า จึงเข้ามาดูแลและมีการจัดงบประมาณส่งเสริมให้กับชาติต่าง ๆ ให้พัฒนาทีมฟุตบอลของตัวเอง 

โดยหลังจากฟุตซอลโลกปี 1989 ที่ เนเธอร์แลนด์ เป็นเจ้าภาพครั้งนั้นที่มีทีมเข้าร่วม 16 ทีมจาก 6 ทวีป  เปรียบเสมือนโครงการนำรองที่ไม่ได้มีการแข่งขันรอบตัดเลือก แต่มีการเลือกเอาชาติที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับ ฟีฟ่า มาแข่งขันกัน โดยในครั้งนั้น บราซิล ได้แชมป์โลกสมัยแรกไปครอง และมีหลายทีมที่ปัจจุบันไม่ค่อยปรากฎชื่อในวงการฟุตซอลแล้ว อาทิ ซาอุดิอาระเบีย, เบลเยียม, ซิมบับเว, แอลจีเรีย, ออสเตรเลีย, แคนาดา  หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา  

หลังจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 1989 จบลง ฟีฟ่า ตัดสินใจเพิ่มงบประมาณและมีการสนับสนุนหลาย ๆ ด้านให้กับชาติที่สนใจจะเข้ามาเป็นสมาชิก โดยมีเป้าหมายว่าการแข่งชิงแชมป์โลกในปี 1992 จะต้องมีทีมที่เก่งขึ้น มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อิหร่าน ยกมือขอเป็นสมาชิก และเริ่มรันวงการฟุตซอลของพวกเขาตั้งแต่วันนั้น ... เช่นเดียวกับทีมชาติไทยของเราด้วย 

 

เอาจริงตั้งแต่วันแรก

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ฟุตบอล เป็นสากลก่อน ฟุตซอล ดังนั้นชาติที่ทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่ง นักฟุตบอลที่เก่งกาจ ก็จะได้เปรียบในการเริ่มเล่นฟุตซอลมากกว่า... และอิหร่าน เป็นหนึ่งในนั้น 

อิหร่าน เป็นชาติที่มีพื้นฐานด้านฟุตบอลดีมาตั้งแต่แรก เก่งกว่าหลาย ๆ ชาติใกล้เคียง ไม่ว่าชาติตะวันออกกลางที่มีเงินมากมายอย่าง ซาอุดิ อาระเบีย, ยูเออี หรือ กาตาร์ ก็ไม่สามาถไล่ความสำเร็จของอิหร่านทัน 

พวกเขาเคยไปเล่นฟุตบอลโลกสมัยแรกในปี 1978 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้ทำให้ฟุตบอลในประเทศบูมแบบสุด ๆ มีนักเตะเก่ง ๆ มากมายเกิดและได้อิทธิพลจากฟุตบอลโลกครั้งนั้น อาทิ อาลี ดาอี ดาวยิงตลอดกาลของ อิหร่าน ทำไมอิหร่าน ถึงเก่งกว่าใครในแถบนั้นด้านฟุตบอล ? 

ย้อนกลับไปไกลว่านั้นเกิน 100 ปีมีการบอกว่า อิหร่าน คือชาติแรกในภูมิภาคนี้ ที่ได้รู้จักกับฟุตบอล ที่ถูกนำเข้ามาโดยชาวอังกฤษที่เข้ามาขุดน้ำมันในยุคที่พวกเขายังถูกเรียกว่า "ประเทศเปอร์เซีย" ซึ่ง ณ ตอนนั้นฟุตบอลก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียนของผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษ มีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19-20 หลังพิสูจน์ได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ชาวเปอร์เซีย และทำให้คนที่นั่นสุขภาพดี

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ อิหร่าน หรือ เปอร์เซีย ถือเป็นชาติแรกๆในภูมิภาคแห่งนี้ ที่ได้รู้จักกับเกมลูกหนัง ก่อนที่มันจะกลายเป็นงานอดิเรกยอดนิยมของคนทั้งประเทศ รวมถึงชนชั้นแรงงานที่คุ้นเคยกีฬาชนิดนี้ผ่านกะลาสีเรือ และวิศวกรชาวอังกฤษที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน

“ฟุตบอลถูกนำเข้ามาโดยเจ้าหน้าที่ชาวยุโรป ในความพยายามเพื่อเปลี่ยนให้ผู้อยู่ใต้การปกครอง กลายเป็น ‘บุคคลที่เชื่อฟัง’” อับดุลเลาะห์ อัล อาเรียน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวในหนังสือ Football in the Middle East ที่เขาเป็นผู้แต่ง แลัวเรื่องนี้มันเกี่ยวกับฟุตซอลยังไงน่ะเหรอ ? 

คำตอบง่าย ๆ คือ หลังจาก อิหร่าน ได้ไปฟุตบอลโลกปี 1978 เพียงปีเดียว ในปี 1979 ประเทศอิหร่านเกิดเหตุการณ์ปฎิวัติอิสลาม และสงครามระหว่าง อิหร่าน กับ อิรัก จึงทำให้พวกเขาไม่ได้ส่งทีมลงแข่งในนานาชาติตลอดระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี (1980-1988) ดังนั้นในช่วงของการกลับมาส่งทีมแข่งขันทั้งในทวีปและระดับโลกจึงมาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในช่วงเข้าสู่ปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะที่ ฟีฟ่า มีการผลักดันให้หลาย ๆ ชาติทำทีมฟุตซอลขึ้นมาพอดิบดี 

เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศสงบและเริ่มฟื้นฟูกีฬาทุกชนิด และฟุตซอลก็ได้อานิสงฆ์ไปด้วย เนื่องจาก อิหร่าน นั้นเป็นประเทศที่มีลีกฟุตบอลอาชีพเป็นของตัวเอง และนักเตะหลาย ๆ คนที่เก่งกาจในฟุตบอลลีก ก็ถูกเปลี่ยนสายเข้ามาเป็นนักฟุตซอลในช่วงแรก แบบยกชุด ถ้าคุณเอาชื่อนักฟุตซอลทีมชาติอิหร่าน ในชุดฟุตซอลโลกปี 1992 ไปเสิร์ช คุณจะพบว่าประวัติของพวกเขาทุกคน ล้วนเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อนทั้งสิ้น 

อิหร่าน พัฒนาฟุตซอลไปพร้อม ๆ กับฟุตบอลของพวกเขา และด้วยพื้นฐานที่ดี เป็นประเทศที่มีนักฟุตบอลเยอะ นักฟุตบอลเก่ง การนำนักฟุตบอลมาเปลี่ยนเป็นนักฟุตซอล และมีรายได้ มีค่าจ้าง จึงทำให้ฟุตซอลเป็นกีฬาที่เกิดใหม่และได้รับความนิยมในประเทศอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งการแข่งขันฟุตซอลโลกปี 1992 ที่ อิหร่าน เข้าแข่งขันครั้งแรก พวกเขาก็เข้าไปถึงรอบชิงที่ 3 และแพ้ให้กับ สเปน 6-9 ซึ่งถือเป็นผลการแข่งขันที่ไม่เลวเลยสำหรับการส่งทีมเข้าแข่งขันครั้งแรก 

เบื้องหลังการไปแล้วเก่งเลยก็คือ อิหร่าน มีนักฟุตบอลที่มีคุณลักษณะตอบโจทย์กับการเล่นฟุตบอลซอลมาก นั่นคือรูปร่างใหญ่แต่รวดเร็ว มีทักษะพื้นฐานดี เพราะเป็นประเทศที่เล่นฟุตบอลแบบจริงจังกันมาหลายสิบปี มีลีกอาชีพรองรับ และที่สำคัญการมีรายได้ที่จูงใจ ทำให้นักเตะดี ๆ ที่อาจจะไม่ได้เก่งถึงขั้นติดทีมชาติ(ฟุตบอล)อิหร่าน ต้องหันเหมาเล่นฟุตซอลและฝึกกันจริงจังมากขึ้น 

ขณะที่บางคนก็เล่นทั้งฟุตบอลและฟุตซอลไปพร้อม ๆ กันอาทิ Behzad Gholampour ผู้รักษาประตูที่ติดทีมชาติอิหร่านทั้งฟุตบอล และฟุตซอล ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลที่เคยเล่นในต่างประเทศและหันกลับมาเล่นฟุตซอลในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาจริงจัง อาทิ Arash Noamouz ที่เคยติดทั้งทีมชาติอิหร่านชุดใหญ่ และไปค้าแข้งกับ แอลเอ กาแล็กซี่ ในลีกฟุตบอลเมเจอร์ลีก อเมริกา 

เมื่อการไปครั้งแรกได้ผลงานที่ดี ฟุตซอลจึงเป็นทางเลือกให้กับนักฟุตบอลในประเทศหลายคนให้ลองเปลี่ยนสาย ไปท้าทายตัวเอง แถมรัฐบาลอิหร่านยังผลักดันฟุตซอลแบบสุดฤทธิ์ เพราะต้องการชดเชยช่วงเวลาที่เสียเปล่าไปจากช่วงสงคราม ทำให้วงการฟุตซอลของ อิหร่าน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่วัน จนถึงวันที่พวกเขาได้สร้างขุมกำลังนักฟุตซอลแท้ ๆ ที่เก่งกาจขึ้นมาด้วยตัวเองผ่านระบบลีกอาชีพที่พวกเขาเชื่อว่า ดีและครอบคลุมต่อการพัฒนาทั้งระบบทั้งหมด 

 

ต่อยอดด้วยระบบลีกที่ลึกและมีคุณภาพ

อับบาส โทราเบียน (Abbas Torabian) ประธานสมาคมฟุตซอลอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากที่พวกเขาไปฟุตซอลโลกปี 1992 กระแสของการพัฒนาก็ตื่นตัว พวกเขาเริ่มสร้างลีกฟุตซอลเป็นของตัวเองทันทีหลังจากฟุตซอลโลกปี 1992 จบ ก่อนที่จะตัดสินใจยกระดับขึ้นมาให้เป็นลีกฟุตซอลอาชีพอย่างเป็นทางการในปี 1998 เพื่อให้ฟุตซอล และฟุตบอล แยกกันอย่างชัดเจน  

เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อถึงเวลาที่ฟุตซอลมีการแข่งขันกันมากขึ้น หลายชาติตื่นตัวและเริ่มส่งทีมเข้าแข่งขันในระดับทวีปและระดับโลกศาสตร์ใหม่ ๆ ของฟุตซอลจึงเริ่มขึ้น ดังนั้นการที่พวกเขาให้นักฟุตซอล ฝึกฟุตซอลเพียงอย่างเดียวเพียว ๆ จะได้ประโยชน์กว่าการเอานักฟุตบอลมาเล่นเหมือนในอดีต  และพิรามิดของฟุตซอล อิหร่าน นั้นครอบคลุมมาก พวกเขามีลีกอาชีพ 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่ ซูเปอร์ลีก, ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 

สำคัญที่สุดคือพวกเขามีลีกสำหรับเยาวชน ซึ่งเป็นลีกที่พยายามเฟ้นหาเด็กจากทั่วประเทศมาลงแข่งขันในฐานะทีมประจำเมืองหรือประจำจังหวัด ซึ่งปลายทางของนักฟุตซอลเยาวชนเหล่านี้ ก็มีลีกอาชีพรองรับอย่างที่กล่าว อิหร่าน จึงเริ่มผลิตนักฟุตซอลได้มีคุณภาพขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน 

ซึ่งตัวอย่างให้เปรียบเทียบนั้นชัดมากกับฟุตซอลลีกของไทย โดยในปี 2016 ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง เคยไปค้าแข้งในลีกฟุตซอลอิหร่าน กับ เมส ซันกาน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีการเปิดเผยว่าเขาได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 300,000 บาท ไม่รวมโบนัส นอกจากนี้สโมสรยังจัดหาที่อยู่และรถส่วนตัวเอาไว้ใช้งานตลอดช่วงเวลา 4 เดือนที่ เมส ซันกาน ด้วย 

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยในเวลานี้ฟุตซอลลีกอาชีพของเราอาจจะมี และมีมานานแล้ว แต่เรื่องค่าตอบแทนนั้นยังห่างไกลจากลีก อิหร่าน เยอะมาก และอาจจะมากกว่า 10 เท่าเลยด้วยซ้ำ หากเทียบกับค่าจ้างที่ ศุภวุฒิ ได้ในเวลานั้น .... สร้างก่อน บูมก่อน แต่ต่อยอดก่อน คือปัจจัยที่ทำให้ฟุตซอล อิหร่าน แกร่งกว่าใครในเอเชีย จะพูดแบบนั้นก็คงไม่ผิดนัก 

"พวกเราเริ่มสร้างลีกอาชีพตั้งแต่ปี 1998 และเราต่างให้ความสำคัญกับกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างมาก" โทราเบียน กล่าว

"เราตระหนักว่าการจะได้ทีมที่ได้ที่สุด เราต้องพัฒนากันตั้งแต่ราก เพื่อให้ได้นักฟุตซอลที่เป็นนักฟุตซอลจริง ๆ บางครั้งเราอาจจะเข้าแข่งขันแล้วแพ้ให้กับทีมเก่ง ๆ บ้างในช่วงแรก มันไม่ใช่ปัญหา เราต้องการให้นักฟุตซอลของเราได้ดวลกับทีมระดับมหาอำนาจของวงการ เพื่อให้พวกเขารู้วิธีต่อสู้ วิธีเล่นเพื่อที่จะเอาชนะในศาสตร์ของฟุตซอลของชาติเหล่านี้ให้ได้" 

"พวกเราจริงจังกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น ตอนนี้เรามีชาติถึง 3 ชุด และเรามีลีกอาชีพในประเทศที่แข็งแกร่งมาก เรามีซูเปอร์ลีก (ลีกสูงสุด) และยังแยกย่อยออกไปเป็นระดับรอง ๆ อย่าง ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2  ซึ่งการมีลีกอาชีพสำคัญกับฐานของพิรามิดมาก ๆ นอกจากนี้เรายังมีลีกสำหรับเยาวชนเพื่อเป็นเวทีที่จะส่งเด็ก ๆ ไปต่อยังระบบอาชีพ"

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ อิหร่าน จึงขยับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ในระดับเอเชีย พวกเขาเป็นมหาอำนาจไปตั้งแต่วันที่เริ่มต้นสร้างทีม โดยนับตั้งแต่การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียปี 1999 เป็นต้นมาจนถึงปี 2024 ณ ปัจจุบัน  พวกเขาลงแข่งขันชิงแชมป์เอเชียทั้งหมด 17 ครั้ง และคว้าแชมป์ไปครองได้ถึง 13 หน และไม่เคยทำผลงานได้ต่ำกว่ารอบ 4 ทีมสุดท้ายเลยสักครั้ง 

ณ ปัจจุบันพวกเขาเป็นทีมอันดับ 6 ของโลก แม้อาจจะยังไม่เคยคว้าแชมป์โลกได้ เพราะในระดับโลกมีทีมอย่าง บราซิล, สเปน, อาร์เจนติน่า และอีกหลาย ๆ ชาติที่เล่นฟุตซอลมาก่อนแต่ไหนแต่ไร แต่ อิหร่าน ก็เข้าใกล้ทีมระดับนั้นมากขึ้นเรื่อย โดยนับตั้งแต่พวกเขาส่งทีมเข้าแข่งขันชิงแชมป์โลก พวกเขาก็ไปได้ไกลขึ้นเรื่อย ๆ 

หลังจากฟุตซอลโลกปี 1989 ได้ที่ 4 พวกเขาก็ตกรอบแรก 3 สมัยติดต่อกันในปี 1996, 2000 และ 2004 ก่อนที่ระบลีกจะลงตัว มีฟุตซอลไปค้าแข้งในต่างประเทศมากขึ้น อิหร่าน ก็เริ่มขยับเข้ามาที่รอบ 2  รอบ 16 ทีมสุดท้าย และล่าสุดรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตซอลโลกที่ ลิธัวเนีย ในปี 2021

ในปี 2024 พวกเขาตั้งเป้าไว้ที่การเข้ารอบตัดเชือกให้ได้ และด้วยขุมกำลังที่ซดกับทีมชาติไทยในศึกชิงแชมป์เอเชีย ไม่แน่ความแข็งแกร่งที่เราได้เห็นกับตา กำลังจะแสดงให้ชาวโลกได้เห็นในฟุตซอลโลกปี 2024 นี้ก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง 

https://thinkcurve.co/thamaim-ihraan-cchuengepneb-r-1-aehngtawan-kklaangthiiesrsthiinammanchaati-uuenaechngaimaidsakthii/
https://en.wikipedia.org/wiki/Iran_national_futsal_team
https://www.thenationalnews.com/sport/futsal-iran-took-the-sport-very-seriously-from-the-start-1.367065
https://www.tehrantimes.com/news/465112/Iran-futsal-should-think-of-podium-expert
http://www.dougreedfutsal.com/2018/09/key-figures-in-asian-futsal.html
https://sextoanillo.com/index.php/2023/12/27/alireza-abbasi-this-year-the-level-of-iran-futsal-league-is-acceptable/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/257057

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ