Feature

ฮอยลุนด์ กับ ปรัชญาเทซอสมะเขือเทศ : จากยิงยังไงก็ไม่เข้า สู่กองหน้าที่ยืนเฉย ๆ บอลยังพุ่งมาหาเอง | Main Stand

“นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดคนอื่นพยายามจะยิงประตูในมุมที่ไร้สาระสุด ๆ โดยที่ไม่เคยเงยหน้ามองหน้ากองหน้า มันถึงเวลาเเล้วที่ ฮอยลุนด์ จะต้องเดินเข้าไปในห้องแต่งตัวและประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าเขาอยากได้อะไร ... พวกมึงฟังกู! อะไรแบบนั้น" เอียน ไรท์ ตำนานดาวยิงของ อาร์เซน่อล กล่าว

 

จากกองหน้าที่ยิงประตูในลีกไม่ได้มา 14 เกม จ่อยังไงก็ไม่เข้า วิ่งไปทางไหนก็ไม่เจอบอล .. ราสมุส ฮอยลุนด์ กลายร่างกลับมาเป็นกองหน้าที่ฮ็อตที่สุดในพรีเมียร์ลีก ณ เวลานี้ได้ยังไง?

โรนัลโด้, ฟาน เพอร์ซี่, กาสเปรินี่, เอียน ไรท์ .. และสถิติต่าง ๆ เบื้องหลังการเล่นของเขามีคำตอบให้คุณเสมอ … ไปดูกันดีกว่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

 

รู้จักฮอยลุนด์ก่อนมาแมนฯ ยูไนเต็ด

ประการแรก ก่อนจะไปรู้ว่าทำไมเขาถึงยิงไม่ได้เป็นสิบ ๆ เกม และพอยิงได้ ก็ยิงติดต่อกันจนทำลายสถิติพรีเมียร์ลีก เราควรไปดูว่า ราสมุส ฮอยลุนด์ คือนักเตะกองหน้าประเภทไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรมาก่อน?

ประการแรกเลย ฮอยลุนด์ เป็นกองหน้าดาวรุ่ง (ในวัย 20ปี) นั่นหมายความว่าในข้อจำกัดของดาวรุ่ง เขายังมีเรื่องมากมายให้ต้องสั่งสมเพิ่มพูน เรื่องแรกคือ "ประสบการณ์" ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกมฟุตบอลที่มีความเข้มข้นในระดับพรีเมียร์ลีก

ที่บอกว่า ฮอยลุนด์ ยังอ่อนประสบการณ์ ก็หมายความว่าแบบนั้นจริง ๆ ก่อนจะย้ายมา แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยราคา 70 ล้านปอนด์ ฮอยลุนด์ เคยเล่นเกมในระดับทางการเพียงแค่ 69 นัด เท่านั้น และใน 69 นัด เป็นเกมในฟุตบอลลีกใหญ่เพียงแค่ 32 นัดกับ อตาลันต้า ซึ่งตอนนั้นเขายิงได้ 9 ลูก และ แมนฯ ยูไนเต็ด ประทับใจเขาครั้งแรกในตอนนั้น

ตอนที่ อตาลันต้า กุนซือที่เห็นเขาเล่นทุกวันอย่าง จานปิเอโร กาสเปรินี่ บอกว่าเหตุผลที่เขาซื้อตัว ฮอยลุนด์ มาร่วมทีม ก็เพราะว่านี่คือนักเตะหนุ่มที่มีคาแร็คเตอร์ดี มีความเป็นนักสู้ มีพลังงานและพละกำลังล้นเหลือ มีเทคนิคที่ดี สิ่งที่ กาสเปรินี่ บอกต่อจากนี้น่าสนใจมาก เพราะเขาบอกว่าอีกหนึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจซื้อเด็กคนนี้มาร่วมทีม ก็เพราะเขาเห็นเงา "เออร์ลิ่ง ฮาลันด์" ดาวยิงของ แมนฯ ซิตี้ อยู่ในตัวของ ฮอยลุนด์ โดยอธิบายเพิ่มว่า

"เขามีความคล้ายกับ ฮาลันด์ ... เร็วมากจริง ๆ ในการทดสอบความเร็วที่ 100 เมตร ราสมุส ทำความเร็วได้ต่ำกว่า 11 วินาที ซึ่งเป็นการวิ่งแบบธรรมชาติไม่ได้เน้นอะไรด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อผมพิจารณาจากน้ำหนักตัวและส่วนสูงของเขา ผมมั่นใจว่าเด็กคนนี้จะต้องมีเส้นทางอาชีพที่ยอดเยี่ยมแน่ .. หมอนี่จะแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน"

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเผลอเบะปากด้วยความหมั่นไส้ เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่มีการเอา ฮาลันด์ มาเปรียบเทียบกับ ฮอยลุนด์ แต่สิ่งที่ กาสเปรินี่ พูดมันไม่ได้จบแค่นั้น เพียงแต่บางครั้งด้วยความที่สื่อมักจะหยิบเอาแต่ประเด็นที่เรียกแขกได้มาเล่น จนทำให้เราไม่ได้เห็นข้อมูลทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่ กาสเปรินี่ พูดถึง ฮอยลุนด์ อีกนิดหนึ่ง แต่ถือเป็นข้อมูลสำคัญมาก ๆ คือ หลังจากที่เขาชมนักเตะแบบร่ายยาว เขาก็ปิดด้วยประโยคที่ว่า

"แต่เขายังเด็ก เขายังมีความหยาบ (หมายถึงยังต้องขัดเกลา) และผมยังเห็นอีกหลายอย่างมาก ๆ ที่เขายังต้องปรับปรุงเพื่อจะไปให้ถึงจุดนั้น" กาสเปรินี่ กล่าว ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนคงเห็นด้วย

กาสเปรินี่ พยายามขยายความว่า ฮอยลุนด์ เป็นกองหน้าที่ครบเครื่อง กล่าวคือ ยิงประตูได้, มีความเร็ว, มีสปีดต้น-สปีดยาว, มีความแข็งแรง, เล่นประสานกับเพื่อนร่วมทีมได้, เล่นลูกกลางอากาศได้ ... แต่ทั้งหมดนี่กล่าวมาอยู่ในระดับแค่ "พอใช้" เขาทำได้ทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าทำได้ดีทั้งหมด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังต้องขัดเกลาอีกมาก และถ้าเราเอาข้อมูลนี้จาก กาสเปรินี่ ไปเทียบกับสถิติตอนที่เขายิงให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในลีกไม่ได้ ... คุณจะยิ่งเห็นภาพชัดกว่านี้

 

เกิดอะไรขึ้นในช่วงแรก

การที่คุณอายุ 20 ปี มาเล่นให้กับสโมสรใหญ่ มีการจับตามองเยอะเป็นพิเศษด้วยค่าตัวมหาศาล มันทำให้คุณต้องอกสั่นขวัญแขวนในระดับหนึ่งแน่นอน โดยเฉพาะนักเตะที่ผ่านเกมระดับสูงมาแค่ 32 เกมอย่าง ฮอยลุนด์

และสิ่งที่น่าเห็นใจอีกอย่างคือ ฮอยลุนด์ ไม่ได้ย้ายมาในช่วงซัมเมอร์ ที่เขาจะได้ปรับตัว ได้ลองเล่นในวิธีการต่าง ๆ ของทีม ได้รู้จักเพื่อนร่วมทีมในช่วงพรีซีซั่น ... เขามาถึงปลายเดือนสิงหาคม ตอนที่ฤดูกาลเริ่มไปเล่น 4 เกม แถมเจ้าตัวยังเจ็บพักรักษาตัวอีกหลายสัปดาห์กว่าจะได้ลงเล่น และเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพพอลงเล่นได้ เอริค เทน ฮาก กุนซือของทีมก็จับเขาลงสนามทันที

ถ้าถามว่าทำไมถึงรู้ว่าสภาพร่างกายของ ฮอยลุนด์ ไม่เต็มร้อย เรื่องนี้คุณสามารถย้อนกลับไปดูประวัติการลงเล่นของเขากับ ยูไนเต็ด ในช่วงแรก ๆ ได้เลย เพราะเจ้าตัวโดนเปลี่ยนตัวออกแทบทุกเกม และมีหลายครั้งที่ เทน ฮาก บอกว่า ฮอยลุนด์ ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากหักโหมใช้งานมากกว่านี้

เรียกได้ว่าสถานการณ์ของ ฮอยลุนด์ ตอนมาถึงแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นไม่มีเวลาให้ปรับตัว แถมยังไม่มีพี่เลี้ยงใด ๆ ทั้งสิ้น เขามาที่เพื่อเป็นกองหน้าเบอร์ 1 ของทีม ภายใต้ระบบการเล่นที่ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าไม่ได้เอื้อกับกองหน้าคนไหนในโลกเลย สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงต้นซีซั่นนี้

เรื่องดังกล่าวยืนยันได้จากสถิติ โดยในช่วงครึ่งซีซั่นแรก ฮอยลุนด์ มีโอกาสยิงเฉลี่ยเเค่เกมละ 1.3 ครั้ง เท่านั้น แต่พอเขาไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ลีก เขามีโอกาสยิงไป 1.8 ครั้ง (ยิงได้ทั้งหมด 5 ประตู จาก 6 เกม) และในระดับทีมชาติเดนมาร์ก เขามีโอกาสยิงถึงเกมละ 2.9 ครั้ง (ยิงได้ทั้งหมด 6 ประตูจาก 6 เกม)

แน่นอนเราไม่ได้โทษทีมทั้งหมด ฮอยลุนด์ เองก็เหมือนนกเปลี่ยนฟ้า ปลาเปลี่ยนน้ำในช่วงแรก เขาเก้ ๆ กัง ๆ และขาดความเยือกเย็นอยู่ก็ไม่ใช่น้อย มีสถิติหลายเกมที่น่าตกใจคือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาลงเล่นไป 5 เกมติดต่อกัน (บาเยิร์น มิวนิค, เชลซี, บอร์นมัธ, นิวคาสเซิ่ล และกาลาตาซาราย) แต่เขากลับมีโอกาสยิงประตูแค่ 3 ครั้งเท่านั้น แถมเข้ากรอบเเค่ครั้งเดียวและเป็น 0 ประตู

นั่นหมายความว่ามันจะต้องมีบางอย่างที่ผิดพลาด หากมองที่ตัวของเขาเองในวัย 20 ปี เขาเองก็ต้องแก้ไขอะไรหลายอย่าง การดวลกับกองหลังเกรดสูง ๆ หลายครั้ง ฮอยลุนด์ ก็โดนเก็บออกไปจากเกมเลย ตัวอย่างชัดเจนคือเกมแพ้ บาเยิร์น มิวนิค ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด 0-1 ในเกมนั้น ฮอยลุนด์ โดน คิม มินแจ ประกบชนิด "ล็อคตาย" ทั้งคู่ดวลกัน 8 ครั้ง และมีแค่ 2 ครั้งที ฮอยลุนด์ สามารถผ่าน มิน แจ ได้ แถมลูกกลางอากาศเขาโดนกองหลังชาวเกาหลีใต้ชนกระเด็นเสียเหลี่ยมให้เห็นก็ไม่น้อย

นี่คือระดับที่ ฮอยลุนด์ ไม่เคยเจอมาก่อน มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่เจ้าตัวก็ต้องเรียนรู้กันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยว่าการอยู่ในทีมที่ระดับการเล่นไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก และขาดวิธีการเล่นที่ชัดเจนก็มีผลกับเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเกมรุกของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ไม่ต้องเอาสถิติที่ไหนมายืนยัน เพราะถ้าใครเคยดู ผีแดง เล่น ก็ต้องบอกว่าเป็นการเล่นแบบตัวใครตัวมัน ใช้ความสามารถเฉพาะตัว และวัดกันเอาหน้างานอยู่บ่อย ๆ

ซึ่งการที่เล่นแบบต่างคนต่างไปนั้น ทำให้นักเตะแต่ละคนยากจะคลิกกันได้ โดยในช่วงก่อน คริสต์มาส 2023 เดอะ เทเลกราฟ สื่อเก่าเเก่ของอังกฤษ ก็เอาสถิติมาบอกว่า ราสมุส ฮอยลุนด์ คือกองหน้าในพรีเมียร์ลีกที่ได้บอลจากเพื่อนร่วมทีมน้อยที่สุด โดยมีจำนวนเพียง 147 ครั้ง ห่างกันกลุ่มนักเตะที่ได้บอลจากเพื่อนมากที่สุดถึง 2เท่า ได้แก่ ซน ฮึง มิน, มาเตอุส คุนญ่า และ เซกี้ อัมดูนี่ (ระดับเกือบ 400 ครั้งทั้งหมด)

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ชัด ๆ คือ นักเตะกองหน้าในพรีเมียร์ลีกอันดับ 2 ที่ได้บอลจากเพื่อนร่วมทีมน้อยที่สุดดันเป็น อองโทนี่ มาร์กซิยาล กองหน้าอีกคนของ แมนฯ ยูไนเต็ด มันแสดงให้เห็นว่า ฮอยลุนด์ ต้องช่วยตัวเองเยอะมากกับสถานการณ์ในช่วงแรกของเขา จนทำให้เจ้าตัวยิงประตูไม่ได้เป็นเวลารวมกว่า 900 นาที

"นักเตะตัวรุกของ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้ให้ความเคารพฮอยลุนด์ เลย พวกเขาเหมือนไม่ยอมรับในตัว ฮอยลุนด์ ด้วยซ้ำ ... บางครั้งผมเห็นพวกเขา (นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดคนอื่น) พยายามจะยิงประตูในมุมที่ไร้สาระสุด ๆ โดยที่ไม่เคยเงยหน้ามองหน้ากองหน้าอย่าง ฮอยลุนด์ ด้วยซ้ำ ..ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่ ฮอยลุนด์ จะต้องเดินเข้าไปในห้องแต่งตัวและประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าเขาอยากได้อะไร ... พวกมึงฟังกู! อะไรแบบนั้น" เอียน ไรท์ ตำนานดาวยิงของ อาร์เซน่อล กล่าวในรายการ Match Of The Day ... และดูเหมือนว่า ฮอยลุนด์ จะทำแบบนั้นจริง ๆ ซะด้วย

 

ถึงเวลาห้าวก็ต้องห้าวกันบ้าง

หากใครจับสังเกตช่วงปืนฝืดของ ฮอยลุนด์ ภาพจำคือเขามักจะโดนรุ่นพี่อย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ บรูโน่ เเฟร์นันเดส โวยใส่อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่ได้ตอบโต้อะไร และหลายครั้งที่เพื่อนร่วมทีมมองข้ามเขาก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธและฉุนเฉียวให้คนอื่นเห็น ... เมื่อไม่ส่งเสียง ปัญหาก็ไม่ถูกตีแผ่ ดังนั้น ฮอยลุนด์ ต้องแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการบอกให้คนอื่นรู้ถึงความต้องการของเขา

เรื่องนี้ต้องขอบใจทุกคนที่ช่วยแก้ไขให้มันดีขึ้น ฮอยลุนด์ อธิบายว่าเขาเปิดใจกับนักเตะในทีมทุกคนว่าต่อไปนี้ถ้าใครเห็นช่องที่ดีขอให้ส่งมาได้ และถ้าเขาไม่อยู่ตรงนั้น หรือเข้าชาร์จไม่ถึง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การส่งของเพื่อนร่วมทีมเสียเปล่า เขาจะยอมให้ทุกคนด่าแต่โดยดี

แต่กลับกันถ้าเขาอยู่ในตำแหน่งที่ดี พร้อมใส่สกอร์ แต่เพื่อนร่วมทีมกลับไม่ส่งให้ นั่นก็เป็นเรื่องที่เขาจะต้องโวยกลับใส่ทุกคนได้เหมือนกัน

และเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นในหลายเกม ฮอยลุนด์ เริ่มแสดงสีหน้าที่โมโห ไม่พอใจ และตะโกนใส่เพื่อนร่วมทีมมากขึ้น แน่นอนว่าการมีใครสักคนโวยขึ้นมา มันจะทำให้ใครสักคนที่ทำผิดพลาดฉุกคิดขึ้นมา ไม่ใช่เลยตามเลย ไม่รู้สึกรู้สาว่าตัวเองผิดแบบที่เคยเป็นมา ... และแน่นอนว่า ฮอยลุยด์ เองก็ไม่ได้ถูกไปเสียทุกเรื่อง จังหวะไหนที่เขาผิดพลาด เขาก็ไม่ลังเลจะขอโทษเพื่อนร่วมทีม ณ ตอนนั้นเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ในเกมที่ ชนะ ลูตัน 2-1 .. ในช่วงนาทีที่ 55 ที่เขาครองบอลกับตัวนานไป จนเสียโอกาสจ่ายให้ การ์นาโช่ ได้ลุ้นประตู

สิ่งนี้คือการพยายามปรับหาเข้ากับเพื่อนร่วมทีม ฮอยลุนด์ ทำได้ดีในการเป็นส่วนหนึ่งของทีม ตอนนี้เขามีเพื่อนสนิทเป็น อเลฮันโดร การ์นาโช่ และ ค็อบบี้ ไมนู ที่เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน นอกจากนี้ บรูโน่ เเฟร์นันเดส ที่เป็นซีเนียร์ของทีม ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเขาเหมือนกัน สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์หลังเกมแต่ละครั้งที่ บรูโน่ ก็กล่าวชม ฮอยลุนด์ อยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้ที่นอกสนามก็มีพี่เลี้ยงอย่าง คริสเตียน อีริคเซ่น และ วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ คอยให้คำแนะนำตลอด

เรื่องของการเคลียร์ใจ พูดคุยกันนั้นสำคัญมาก เพราะการที่ต่างคนต่างคุยกันแบบมืออาชีพ ไม่มีอะไรติดค้าง ก็จะทำให้แต่ละคนได้เห็นปัญหาในมุมมองของคนอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องสื่อสารกันตลอดทั้งในและนอกสนาม สิ่งนี้ถือเป็นการทำให้การประสานงานกันของนักเตะเกมรุกของ ยูไนเต็ด มีให้เห็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้ว่าจะยังมีเรื่องต้องปรับอีกเยอะ หากเทียบกับทีมระดับแถวหน้าของลีกก็ตาม

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้เลยคือเรื่องของความฟิต ณ ตอนนี้ ฮอยลุนด์ ในวัย 21 ปี ได้รับการรายงานว่าเขากำลังฟิตร่างกายถึงขีดสุด หลังมีปัญหาที่หลังจนต้องพักอยู่ 2 เดือน และทันทีที่หายก็อย่างที่ได้บอกไป ยูไนเต็ด เข็นเขาลงเกือบทุกเกม โดยมีเพียง 2 เกมเท่านั้นที่เขาพลาดนับตั้งแต่การเปิดตัวในการเป็นตัวสำรองในเกมพบกับ อาร์เซน่อล

ขณะที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวหลักก็เริ่มหายกลับมาลงสนามได้ ทำให้ทีมมี 11 ตัวจริงที่ค่อนข้างแน่นอนไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เหนือสิ่งอื่นใดยังมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการที่เขาเป็นคนชอบเรียนรู้ โดยการรับคำแนะนำจาก โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ อดีตกองหน้าของทีมที่บังเอิญมาเรียนโค้ชระดับโปรไลเซ่นส์ที่สโมสรพอดี

The Athletic รายงานว่าทั้งคู่มีเวลาพูดคุยกันตลอดช่วงที่ซ้อมที่สนาม แคร์ริงตัน ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องของการขยับตัวอย่างชาญฉลาดในกรอบเขตโทษ และการเล่นร่วมกับเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้เกมรุกเป็นเกมมากขึ้น

ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนว่า RVP ให้คำแนะนำแบบไหน แต่ที่แน่ ๆ หลายเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา เอามาประกอบกันแล้ว คุณจะได้เห็นสถิติที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวของ ฮอยลุนด์ ในช่วง 14 เกมแรกในลีก กับ 6 เกมล่าสุดที่เขายิงได้

โดย 14 เกมแรกที่เขายิงไม่ได้เลยนั้น ฮอยลุนด์ มีโอกาสยิง 18 ครั้ง คิดเป็นค่า xG (ค่าExpected Goals หรือความน่าจะเป็นของการได้ประตู) อยู่ที่ 3.1 และยิงประตูไม่ได้เลย

แต่เมื่อเทียบกับ 6 เกมหลังสุด ฮอยลุนด์ มีโอกาสยิงแค่ 8 ครั้งเท่านั้น คิดเป็นค่า xG แค่ 2.3 เท่านั้น แต่เขากลับยิงได้ถึง 6 ประตู ... จากสถิตินี้เราสามารถพูดได้ว่าเขาเป็นกองหน้าที่จบสกอร์ได้ในแบบที่กองหน้าหมายเลข 9 ควรจะทำได้สำเร็จแล้ว

สรุปใจความทั้งหมดของเรื่องนี้คือ มันเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กหนุ่มที่ประสบการณ์น้อยนิดแต่ต้องมาแบกความหวังมหาศาลของแฟน ๆ ภายใต้คุณภาพทีมที่ไม่ได้ตอบโจทย์กับนักเตะในตำแหน่งแบบเขามากนัก

แต่ที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไป การไม่ถอดใจ การพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดใจคุยกับคนอื่น ๆ การกล้าวิจารณ์ในสิ่งที่ควรต้องพูด และการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำให้เรื่องนี้ดีขึ้นได้แม้มันจะใช้เวลานานกว่าครึ่งซีซั่นก็ตาม

มีคำกล่าวที่ว่าการยิงประตูก็เหมือนกับการเทซอสมะเขือเทศ … หยดแรกมันออกมายากเสมอ แต่ถ้าหยดแรกออกมาเมื่อไหร่ มันจะไหลออกมาพรวด ๆ จนคุณเองไม่ทันตั้งตัวเลยด้วยซ้ำ

มันก็เหมือนกับที่ ฮอยลุนด์ เป็น ถ้าจับจุด แก้ปัญหา และมั่นใจเมื่อไหร่ … อะไรที่แย่ ๆ ก็จะถูกแก้ให้ดีขึ้นได้ไม่มา่กก็น้อย

มีนักเตะไม่กี่คนบนโลกนี้ที่มีย้ายทีมมาแล้วไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแบบที่ กาสเปรินี่ พูดถึง ฮอยลุนด์ ในช่วงเวลาเมื่อ 7 เดือนก่อนคือ เขาเป็นนักเตะที่ดี แต่ยังมีอะไรต้องขัดเกลาอีกมาก คุณจะเข้าใจและเห็นธรรมชาติของโลกฟุตบอลที่บางครั้ง นักเตะบางคนก็แบกรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกินตัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับคุณเองว่าจะท้อแท้ และยอมแพ้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือจะลองหาวิธีแก้ปัญหา และทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มจากตัวของคุณเอง

ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอ หากไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหน ให้พิจารณาจากตัวเองก่อน

บางครั้งเราอาจจะได้เห็นอะไรมากมายในการมองจุดอ่อนของตัวเองบ้าง ... และนี่คือการเปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่ดีของ ฮอยลุนด์ นักเตะหนุ่มที่ยังเหลือทางอีกไกลให้พิสูจน์ตัวเอง ... มารอดูกันว่าการแก้ไขปัญหาในเวอร์ชั่นต่อ ๆ ไปจะทำให้เขาเก่งขึ้นได้ขนาดไหนกันแน่ นี่คือเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en-us/lists/twelve-games-no-goals-why-can-t-man-utd-gbp72m-striker-rasmus-hojlund-score-premier-league/blta74c7ad22ff059e0
https://theanalyst.com/eu/2023/07/rasmus-hojlund-comparisons-to-erling-haaland-manchester-united-transfer/
https://en.wikipedia.org/wiki/Rasmus_H%C3%B8jlund
https://theathletic.com/5270471/2024/02/13/rasmus-hojlund-goals-manchester-united/
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/what-rasmus-hojlund-before-scored-28656690

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

สุธินันท์ จันทร์มณี

นักศึกษาฝึกงาน เมน สแตนด์