"แม้หนทางข้างหน้าจะว่างเปล่า แดดจะเผาผิวผ่องจนหมองไหม้ ที่ตรงนั้นมีหุบเหวและเปลวไฟ ... แล้วพวกเราจะเข้าไปทำไมกัน ?"
ประโยคนี้แสดงออกถึงความเป็นคนที่เป็นเลิศเรื่องการเอาตัวรอด ในเมื่อชีวิตมีทางเลือกที่ง่ายกว่า ทำไมต้องพาตัวเองไปเจอเรื่องยาก ๆ ?
ถ้าคุณชอบเรื่องแบบนี้ เราจะเอาเกมฟุตบอลลูกกลม ๆ ที่เต็มไปด้วยคนเหลี่ยม ๆ ในแบบที่ตั้งใจไม่ชนะ เพราะไม่อยากจะเจอความยากลำบากที่รออยู่ข้างหน้า และบ้างก็มีผลประโยชน์รอท่าอยู่ ... มีคู่ไหนบ้าง ? ไปดูกับ Main Stand ได้เลย
เกาหลีใต้การละคร
เมื่อมีโจทย์ง่าย ๆ อยู่ว่า "ถ้าคุณชนะ รอบต่อไปคุณจะเจอทีมอันดับ 1 ของเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น" ... ปัญหาก็เกิดทันที
เกิดขึ้นไปสด ๆ ร้อน ๆ ในแบบที่ไม่น่าต้องอธิบายกันเยอะ เพราะเกม เอเชียน คัพ 2023 รอบแบ่งกลุ่ม นัดสุดท้ายของกลุ่ม E ที่ เกาหลีใต้ ทีมเต็งของสายนี้ ออกอาการ "แป้ก ๆ" ในแบบที่คนดูเกาหลีใต้เล่นบ่อย ๆ จะบอกว่าไม่คุ้นเลย
จริงอยู่ในเกมกับ มาเลเซีย ที่ผ่านมา เกาหลีใต้จะเล่นเกมบุกตามสไตล์บอลที่หน้าเสื่อแข็งกว่า แต่การเสีย 3 ประตูให้กับ มาเลเซีย ก็ถือเป็นอะไรที่เหนือคาด ... แม้คุณจะบอกว่าในโลกฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ในแง่ของความรู้สึก หากได้ดูเกมนี้เต็ม ๆ 90 นาที เราเชื่อว่าคุณจะมีอาการ "เอ๊ะ" ในใจหลาย ๆ จังหวะแน่นอน
และจะว่าไป หลายคนก็รู้สึก "เอ๊ะ" มาตั้งแต่เกมที่สองของกลุ่ม E ที่ เกาหลีใต้ ทำได้เพียงเสมอ จอร์แดน 2-2 แบบเกือบแพ้แล้ว โดยมูลเหตุเหมือนจะเกิดขึ้นจากเกมนัดสองของกลุ่ม D ที่ ญี่ปุ่น พลิกแพ้ อิรัก 1-2 ทำให้ อิรัก การันตีคว้าแชมป์กลุ่ม และเรื่อง "ผิดแผน" เริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เก็บสีหน้าได้แย่ที่สุดอย่าง เยอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ กุนซือชาวเยอรมันของทีมนี่แหละ ที่แสดงอาการทางสีหน้าออกมาตลอด เช่น ตอนที่ทีมตีเสมอ 2-2 เขาทำหน้าเข้ม, ตอนที่ทีมพลิกนำ 3-2 เขาก็ไม่ออกอาการดีใจ และชัดที่สุดคือนาทีสุดท้ายของช่วงทดเจ็บที่ มาเลเซีย ยิงตีเสมอ 3-3 … คลิ้นส์มันน์ กลับนั่งยิ้มแบบเก็บทรงไม่อยู่ซะงั้น
เราไม่ได้บอกว่าเกาหลีใต้ ล้มบอลหรือทิ้งเกมนี้ จริง ๆ แล้วพวกเขาก็เล่นไปตามเกม เพราะบอลทัวร์นาเมนต์คือบอลที่ต้องบริหารความเสี่ยง บริหารความฟิตนักเตะให้พร้อมใช้งานจนถึงนัดสุดท้าย แต่ก็นั่นแหละ เมื่อคุณนั่งอมยิ้มในจังหวะ 3-3 มันชวนให้ทั้งโลกคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย
ไทเกอร์ คัพ อัปยศ
เมื่อถามว่าแมตช์ "หลบคู่แข่งในตำนาน" สำหรับแฟนบอลชาวไทยย่อมหนีไม่พ้นแมตช์นี้ ... เรื่องเกิดขึ้นใน เอเอฟเอฟ คัพ หรือที่ตอนเกิดเหตุการณ์นี้เมื่อปี 1998 ใช้ชื่อว่า ไทเกอร์ คัพ รอบแบ่งกลุ่ม นัดสุดท้ายของกลุ่ม A ระหว่าง ไทย กับ อินโดนีเซีย ที่โจทย์ข้อนี้คือเมื่อคุณชนะ คุณจะเป็นฝ่ายที่ต้องเจอกับเจ้าภาพอย่าง เวียดนาม ซึ่งบังเอิญว่า เวียดนาม จบอันดับ 2 ของกลุ่ม B แบบที่พวกเขา "ตั้งใจอยู่แล้ว"
ถ้าถามว่า ทำไม เวียดนาม จึงตั้งใจเข้าที่ 2 กลุ่ม B ? เหตุผลแบบตอบแป๊บเดียวรู้เรื่องคือ หาก เวียดนาม เจ้าภาพในคราวนั้น จบที่ 2 พวกเขาจะไม่ต้องย้ายสนามเตะ ทัพดาวทองจะได้เล่นที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศ เหมือนที่ได้เล่นในรอบแบ่งกลุ่ม แต่ถ้าเข้าที่ 1 เวียดนาม จะต้องเดินทางมากกว่า 1,600 กิโลเมตร เพื่อไปเล่นที่นครโฮจิมินห์ ทางตอนใต้ของประเทศ ... เดินทางไกล เวลาพักน้อย แถมยุคนั้น ถนนหนทาง การเดินทาง ก็ใช่ว่าสะดวกเหมือนทุกวันนี้ และอีกกลุ่ม ซึ่งเล่นรอบแบ่งกลุ่มที่นครโฮจิมินห์ ก็ดันคิดแบบเดียวกัน
ดังนั้นทุกขลาภจึงมาตกอยู่ที่เกมระหว่าง ไทย กับ อินโดนีเซีย ซึ่งแข่งหลังจากที่ เวียดนาม จบที่ 2 กลุ่ม B ไปแล้ว ... สถานการณ์คือ เมื่อผ่านไป 2 เกมแรก ไทย มี 4 แต้ม อินโดนีเซีย มี 6 แต้ม หาก ไทย ไม่ชนะ จะจบที่ 2 เท่ากับว่าจะหลีก เวียดนาม ได้ในตัว พร้อมได้เล่นที่โฮจิมินห์ต่อ ขณะที่ อินโดนีเซีย ถ้าอยากจะได้ที่ 2 พวกเขาต้องแพ้ ไทย สถานเดียวเท่านั้น
เหตุการณ์ในเกมนั้นคลาสสิกสุด ๆ จบครึ่งแรกด้วยการเสมอ 0-0 และเมื่อเข้าครึ่งหลัง กลิ่นความอัปยศก็ลอยออกมา ทั้งการตั้งใจปล่อยให้คู่แข่งยิงเข้าแบบ "เชิญเลยครับพี่", การหลุดเดี่ยวแต่ไม่ยอมยิง ต้องวนกลับมาส่งบอลคืนหลัง สิ่งที่กล่าวมาไม่ต้องเถียงกันว่าใครเริ่ม เพราะทั้ง 2 ทีมทำเหมือนกันทั้งคู่ ในแบบที่ "มองจากดาวอังคารก็ดูออก"
การปล่อยให้ยิงกันง่าย ๆ ทำให้สกอร์ออกมาเป็น 2-2 และเมื่อถึงช่วงทดเจ็บ อินโดนีเซีย จึงตัดสินใจจบเรื่องนี้ง่าย ๆ ไหนมันก็ส่งกลิ่นอยู่แล้วก็อย่าช้า มูซียิด เอฟเฟนดี้ นักเตะของทัพอิเหนา ก็ยิงประตูตัวเอง ในแบบที่ใช้คำว่า "ตั้งเท้ายิงแบบชัด ๆ" ไม่ต้องแกล้งสกัดผิดเหลี่ยมหรือใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะที่นักเตะไทย พยายามสกัดบอลเต็มที่ แต่หยุดไม่อยู่
สุดท้ายก็จบด้วยการที่ ไทย ชนะไป 3-2 ก่อนที่ต่างฝ่ายจะโดนเวรกรรมตามทันกันถ้วนหน้า ... ไทย แพ้ เวียดนาม 0-3 ในรอบรองชนะเลิศ เช่นเดียวกับที่ อินโดนีเซีย แพ้ สิงคโปร์ 1-2 สุดท้าย เวียดนาม เจ้าพ่อจอมวางแผน แพ้ สิงคโปร์ 0-1 ในรอบชิงชนะเลิศ ชวดแชมป์อาเซียนแบบร้องไห้ทั่วแผ่นดิน ขณะที่เกมนัดชิงอันดับ 3 อินโดนีเซีย ชนะจุดโทษ ไทย ที่โดนกระแสแฟนบอลถล่มยับไปก่อนหน้าแล้ว 5-4 หลังเสมอในเกม 3-3
ผลพวงจากเกมนี้ ทำให้ไทยกับอินโดนีเซียถูก FIFA สั่งปรับเงินถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ข้อหา "ไร้สปิริต" นอกจากนี้ คลิปเกมอัปยศดังกล่าวยังถูกเอาไปฉายในรายการฟุตบอลของสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ ที่ แกรี่ ลินิเกอร์ ผู้รับหน้าที่เป็นพิธีกรต้องขำก๊ากเมื่อได้เห็นความ "โสมมประชาคมอาเซียน" แบบในเกมนี้
แชมป์รัว ๆ แต่ไม่เลื่อนชั้น
การเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด คือฝันของเหล่าทีมเล็ก ๆ ที่จะได้ลืมตาอ้าปากจากรายได้ที่เข้ามา นั่นคือความคิดของแฟน ๆ อย่างไรก็ตามบางสโมสรก็มองเรื่องการเรื่องชั้นแตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ฮอนด้า เอฟซี สโมสรใน JFL ลีกดิวิชั่น 4 หรือลีกสมัครเล่นของญี่ปุ่น ที่คว้าแชมป์นับไม่ถ้วน แต่พวกเขากลับขอ "ไม่เลื่อนชั้น"
ฮอนด้า เอฟซี เป็นทีมที่มีอายุกว่า 50 ปี ก่อตั้งเมื่อปี 1971 โดยมี บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ หรือ รถยนต์ ฮอนด้า ที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นเจ้าของ พวกเขาเคยเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในยุคที่ฟุตบอลญี่ปุ่นยังไม่เป็นลีกอาชีพ ทว่าเมื่อถึงปี 1993 ที่มีการก่อตั้ง เจลีก ฮอนด้า เอฟซี ก็เลือกจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป
ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีศักยภาพที่จะเลื่อนชั้นได้ แถมได้ฉายาว่า "ทีมสมัครเล่นที่แข็งแกร่งที่สุด" ถึงขนาดที่ว่าน็อคทีมดัง ๆ อย่าง อุราวะ เร้ด ไดมอนด์ส ในฟุตบอลถ้วย เอ็มเพอเรอร์ คัพ ได้ แต่พวกเขามองว่ากฎของการเข้าร่วม เจลีก ทำให้เรื่องยุ่งยากอื่น ๆ ตามมา ซึ่งมันขัดกับจุดมุ่งหมายกับวันที่ก่อตั้งสโมสร ไม่ว่าจะเป็นกฎที่บอกว่าทุกทีมต้องเป็นอิสระจากบริษัทแม่, ต้องมีสนามที่มีความจุมากกว่า 15,000 ที่นั่ง (ย้ำว่าที่นั่ง), ต้องมีทีมเยาวชนตั้งแต่รุ่นอายุ 15 ปี, 18 ปี และทีมชุดบี, ต้องร่วมจ่ายค่าจัดการในการก่อตั้งลีก ค่าโฆษณา ค่าจัดการ ตลอดจนการให้ลีกเข้ามามีสิทธิ์ในการทำรายได้จากเกมการแข่งขัน ผู้สนับสนุน การถ่ายทอดสด และสินค้าที่ระลึก
พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายที่จะขึ้นไปในเจลีก แต่เป็นการมีอยู่ของทีมประจำบริษัท ทำให้พวกเขายึดถือความเป็นสโมสรสมัครเล่นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดพวกเขาถึงไม่ยอมปรับปรุงทีมให้ผ่านมาตรฐานอาชีพ
อันที่จริง ฮอนด้า ก็เคยมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในสโมสรอาชีพถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงการก่อตั้งเจลีก ที่พวกเขาต้องรวมทีมกับ ฮอนด้า มอเตอร์ส ซายามะ เอฟซี สโมสรน้องในจังหวัดไซตามะ และย้ายฐานที่มั่นไปอยู่ที่เมืองอุราวะ แต่สุดท้ายเจ้าของ ฮอนด้า ก็ยืนยันว่าพวกเขาอยากจะมุ่งเน้นในธุรกิจยานยนต์มากกว่า
ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 1996 ที่เจลีก เตรียมจะเปิด J2 ลีกรอง โดยครั้งนั้นพวกเขามีแผนถึงขั้นได้ชื่อทีมใหม่ว่า อาคิวท์ ฮามามัตสึ แต่เนื่องจากสนามเหย้าไม่ผ่านเกณฑ์ และมีแฟนบอลท้องถิ่นไม่เพียงพอ โครงการนี้จึงถูกล้มเลิกไป
ทำให้หลังจากนั้น แม้จะมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีก พวกเขาก็ปฏิเสธมันมาตลอด และเลือกที่จะเป็นสโมสรสมัครเล่นต่อไปอย่างจริงจังในฐานะทีมขององค์กร โดยเลือกที่จะยึดถือความเป็นผู้ท้าชิง และสร้างคุณค่าให้กับตัวเองโดยไม่เหมือนใคร ตามปรัชญาของ โซอิจิโร ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้า นั่นเอง
ทุกวันนี้ ฮอนด้า เอฟซี กลายเป็น "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ประจำ JFL ทีมไหนก็ตามที่อยากก้าวสู่เวทีลีกอาชีพ ต้องผ่านทีมนี้ไปให้ได้ก่อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ฮอนด้า เอฟซี คือแชมป์ของ JFL
* อ่านเรื่องราว ฮอนด้า เอฟซี ที่นี่ >> ฮอนด้า เอฟซี : สโมสรจากลีกล่างญี่ปุ่นที่ได้แชมป์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ยอมเลื่อนชั้น
ลีกใหญ่วุ่นวาย อยู่สบาย ๆ ดีกว่า
เรื่องนี้เกิดขึ้นในไทยลีก และเกิดขึ้นเมื่อฤดูกาล 2022/23 ที่ผ่านมานี่เอง โดยสโมสร เอ็มเอช นครศรี สโมสรในระดับไทยลีก 3 ซึ่งในซีซั่นดังกล่าว เอ็มเอช นครศรี ถือเป็นหนึ่งในทีมที่ทำผลงานยอดเยี่ยม จนได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในศึกไทยลีก 2 ที่เป็นลีกรองของประเทศ
อย่างไรก็ตาม มณฑล ณ นคร ประธานสโมสร เอ็มเอช นครศรี ซิตี้ ก็ประกาศผ่านสื่อหลังเลื่อนชั้นอย่างเป็นทางการว่า สโมสรจะขอสละสิทธิ์ เนื่องจากมีงบประมาณในการทำทีมที่จำกัด นอกจากจะไม่สามารถเสริมทัพด้วยนักเตะคุณภาพดีขึ้นไปสู้กับทีมอื่น ๆ ในลีกรองได้แล้ว พวกเขายังไม่มีงบประมาณมากพอที่จะปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของสโมสรให้ผ่านเงื่อนไขของ คลับ ไลเซนซิ่ง ที่ทางไทยลีกตั้งไว้อีกด้วย
เมื่อปัญหามากมายรออยู่ข้างหน้า เอ็มเอช นครศรี จึงเลือกที่จะอยู่ในไทยลีก 3 ต่อไป และเพื่อยืนยันถึงความ "จำกัด" ของงบประมาณ มลฑล ณ นคร ที่เป็นประธานสโมสร ยังแต่งตั้งตัวเองเป็นเฮดโค้ชในฤดูกาล 2023-24 และสร้างทีมด้วยโมเดลคล้าย ๆ กับ แอธเลติก บิลเบา ในสเปน ด้วยการเลือกใช้นักเตะไทยที่เป็นคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช 100% อีกด้วย
ประตูน้ำ ... สาขาไนจีเรีย
จริง ๆ เหตุการณ์ที่พูดถึงต่อไปนี้ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจจะหนีทีมแกร่งกว่า แต่เป็นการ "เหลี่ยม" ใส่กันเพื่อชิงตั๋วเลื่อนชั้นสู่ลีกอาชีพของฟุตบอลประเทศไนจีเรีย
เรื่องนี้เกิดขึ้นเพลย์ออฟของลีกสมัครเล่นใน ไนจีเรีย โดยทีมที่มีลุ้นจะเลื่อนชั้นมี 2 ทีมได้แก่ พลาโต้ ยูไนเต็ด และ โปลิศ แมชชีน ซึ่งทั้งสองจะต้องเจอกับคู่แข่งของตัวเองในเกมสุดท้าย ว่าง่าย ๆ คือทั้งสองทีมต้องวัดประตูได้เสีย ใครยิงคู่แข่งได้มากกว่ากัน ทีมนั้นจะได้เลื่่อนชั้นนั่นเอง
เมื่อเดิมพันขนาดนั้น ทั้ง 2 ทีมจึงวางงานเรียบร้อยด้วยการจ้างอีกฝั่งล้มบอล และยังไม่จบแค่นั้น เพื่อความชัวร์ พวกเขาได้ส่งสายลับเข้าไปดูเกมของอีกสนาม เพื่อรายงานแบบนาทีต่อนาทีว่า "สนามนั้นยิงไปกี่ลูกแล้ว ?" พวกเขาจะได้ยิงคู่แข่ง (ที่จ้างมา) เพิ่ม
ครึ่งแรก พลาโต้ ซัดคู่แข่งไป 7 ลูก ขณะที่ โปลิศ ยิงไป 6 ลูก เมื่อสกอร์เริ่มไหล สายลับก็รายงานผลไม่หยุด รายงานไป รายงานมา ประตูก็ไหลมาเทมาประดุจแม่น้ำแยงซีเกียงในฤดูน้ำหลาก สุดท้าย เพลโต วางงานมาดีกว่า พวกเขายิงคู่แข่งได้เยอะกว่าที่ โปลิศ แมชชีน ทำได้ ... ลองเดาสิว่าพวกเขาจบเกมด้วยสกอร์เท่าไหร่ ?
คำตอบคือ พลาโต้ ชนะคู่แข่งอย่าง อาคูร์บา เอฟซี ไป 79-0 ขณะที่ โปลิศ แมชชีน สงสัยจะยิงจนเหนื่อยหมดแรงก่อน จนต้องหยุดสกอร์ในการชนะ บูบายาโร เอฟซี ไว้ที่ 67-0 ... ถ้าคุณคิดว่าเรารู้เรื่องบอลลีกสมัครเล่นของไนจีเรียได้อย่างไร ? ยกเมฆหรือเปล่า ? ก็ขอให้รู้ไว้ว่าเรื่องนี้เจ้าแรกที่ตีข่าวใหญ่คือ BBC สื่อดังระดับโลก ที่อดสงสัยกับเกม ๆ นี้ไม่ได้จริง ๆ
เงินต้องได้ ชีวิตต้องง่าย กับทีมชาติปลอม
หลังจากทีมชาติ โตโก ได้ไปฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2006 ทีมฟุตบอลของพวกเขาก็เนื้อหอม มีหลายทีมอยากจะเล่นฟุตบอลอุ่นเครื่องด้วย และเมื่อพวกเขาเป็นฝ่ายถูกเชิญไปแข่ง สิ่งที่ตามมาคือ ค่าจ้างจำนวนมหาศาลหากเทียบกับทรัพย์สินเงินทุนที่ สหพันธ์ฟุตบอลโตโก มี
เมื่อมีเงิน ก็มีการทุจริตเกิดขึ้นภายในสมาพันธ์ เรื่องเน่าเฟะมากมายภายในทำให้กลุ่มนักเตะ โตโก ไม่อยากจะเล่นให้ทีมชาติโดยเฉพาะในเกมอุ่นเครื่อง มีนักเตะหลายคนบอยคอตให้กับสหพันธ์ แต่ว่าสำหรับคนนอก พวกเขาไม่ได้รู้เรื่องนี้ ในขณะที่ภายในองค์กรซัดกันเอง ทีมชาติบาห์เรน ก็ส่งหนังสือเชิญ โตโก มาอุ่นเครื่องตามปฏิทินฟีฟ่า เดย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2010 ... เงินมาต้องคว้าไว้ก่อน จากนั้นตำนาน "โตโก ปลอม" ก็เกิดขึ้น
บาน่า ชานีล อดีตโค้ชของทีม เป็นคนติดต่อกับทาง บาห์เรน เองทั้งหมด เขารับเงินค่าจ้างราว 60,000 ดอลลาร์ โดยไม่ส่งเรื่องเข้าทางการ จากนั้นพวกเขาจึงเอานักเตะปลอม ๆ ที่ได้รับการจัดหาจากกลุ่มมาเฟียที่ขอเข้ามาแบ่งเค้ก จนทีมชาติ โตโก (ปลอม) ได้ลงเล่นกับ บาห์เรน ก่อนที่ บาห์เรน จะถล่ม โตโก ไป 3-0
โดยในเกมนั้น โจเซฟ ฮิคเค่นแบร์เกอร์ กุนซือของ บาห์เรน ถึงกับให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า นักเตะ โตโก มีความฟิตระดับที่ไม่น่าใช่นักเตะอาชีพ เกมการเล่นก็ไร้คุณภาพ จน บาห์เรน ไล่กดโงหัวไม่ขึ้นตลอด 90 นาที ... หลังจากบทสัมภาษณ์นั้นทาง บาห์เรน ก็ตรวจสอบ และพบว่าพวกเขาโดนเหล่ามิจฉาชีพ โตโก เล่นงานเข้าให้แล้ว เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ และมีการไล่เบี้ยคนผิดจนจับติดคุกในที่สุด
เรียกได้ว่าเรื่องนี้ไม่หนีใคร แค่หนีจากนักเตะทีมชาติชุดใหญ่จริง ๆ ไม่รับเงินโดยไม่บอกใครเท่านั้นเอง... ตัวจริงไม่อยากเตะ ก็เอาตัวปลอมเตะซะเลย ชีวิตต้องง่ายมันเป็นแบบนี้จริง ๆ
* อ่านเรื่องราว ทีมชาติโตโก (ปลอม) ที่นี่ >> 18 มงกุฏโลกลูกหนัง : จุดกำเนิด "ทีมชาติโตโก" ... (ปลอม)
แหล่งอ้างอิง
https://www.fourfourtwo.com/features/10-ugliest-match-fixing-scandals-football-history
https://cheeronnigeria.blogspot.com/2016/11/the-funniest-match-fixing-scandal-in.html
https://www.youtube.com/watch?v=OfQ9VnZ8iI8
https://www.sanook.com/sport/1040871/