"ทัพงูใหญ่" รองแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2022-23 และเป็นทีมเต็งแชมป์เซเรีย อา อิตาลี ณ ขณะนี้ กำลังโชว์ผลงานในสนามได้อย่างร้อนแรงด้วยผลงานถล่มประตูมากที่สุดอีกทั้งยังเสียประตูน้อยที่สุดในลีกอิตาลี รวมถึงผลงานล่าสุดกับการคว้าซูเปอร์ โคปปา อิตาเลีย เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
ทว่าในขณะเดียวกันเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรกำลังประสบกับปัญหาการเงินอย่างหนัก เนื่องจากมีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรัง โดยสองปีหลังสุด อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนเป็นเงินมากถึง 430 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีหนี้สินรวมอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ
ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ว่าเหตุใด อินเตอร์ มิลาน ถึงประสบปัญหาการเงินมหาศาลขนาดนี้ แล้วบอร์ดบริหาร "เนรัซซูรี่" จะดำเนินการฟื้นฟูวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างไรเพื่อให้ลูกทีมของ ซิโมเน่ อินซากี้ ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในขณะที่แผ่นหลังเต็มไปด้วยแผลเหวอะ
จุดเริ่มต้นปัญหาการเงิน
ย้อนไปในปี 2016 ที่ บริษัท ซู่หนิง กรุ๊ป ของตระกูลจางนักธุรกิจชาวจีนได้ซื้อหุ้น อินเตอร์ มิลาน ไป 70% หรือ คิดเป็นจำนวนเงิน 307 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก อีริค ตอเฮร์ นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือของกลุ่มทุนทันทีและยังส่งผลให้ สตีเวน จาง หรือ จาง คังหยาง กลายเป็นประธานสโมสรฟุตบอลที่อายุน้อยที่สุดในประเทศอิตาลี ณ เวลานั้นด้วยวัยเพียง 26 ปีเท่านั้น
หลังจาก สตีเวน จาง บริหารงานได้ราว 3 ปี เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเกิดสถานการณ์บังคับให้ ซู่หนิง กรุ๊ป จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่เพิ่มเพื่อรักษาโครงสร้างของสโมสร และเพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นอย่างปกติ อินเตอร์ มิลาน จึงได้ทำการกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อมารักษาสภาพคล่อง
ปี 2021 บริษัทโอ็กทรี แคปปิตอล เมเนจเม้นท์ ซึ่งเป็นบรรษัทจัดการสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติเงินกู้เป็นจำนวนเงิน 375 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงจาก The New York Times) โดยมีเป้าประสงค์คือสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับสโมสร นอกจากนั้นแล้ว อินเตอร์ มิลาน ยังได้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลจีนเพื่อใช้ในการเคลียร์หนี้สิน
ซึ่งในความเป็นจริงก่อนที่สโมสรได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 สถานการณ์ทางการเงินของ อินเตอร์ มิลาน ก็แย่พอสมควรอยู่แล้ว หากย้อนไป 1 ปีก่อนเกิดโรคระบาด อินเตอร์ มิลาน จำต้องจ่ายเงินให้ ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ กับการฉีกสัญญา เป็นเงินจำนวนมหาศาลถึง 25.8 ล้านยูโร
ก่อนที่ อันโตนิโอ คอนเต้ ผู้มาแทนที่เขา จะกลายเป็นโค้ชที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในเซเรีย อา อีกทั้ง อินเตอร์ มิลาน ทําลายสถิติการซื้อนักเตะสองครั้งภายในตลาดฤดูร้อนหนเดียว โดยครั้งแรกเกิดขึ้นกับ นิโคโล่ บาเรลล่า กองกลางจากกายารี ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 49 ล้านยูโร ก่อนที่จะทำลายสถิติอีกครั้งกับดีลของ โรเมลู ลูกากู กองหน้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยเงิน 65 ล้านยูโรบวกแอดออน 10 ล้านยูโร
นั่นหมายความว่า อินเตอร์ มิลาน ผลาญเงินไปเกือบ 150 ล้านยูโร ภายในฤดูกาลเดียวกับความพยายามเชิงรุกต่อการยุติสถิติ 9 ปี ในฐานะแชมป์ลีกอิตาลีของยูเวนตุส พร้อมทั้งแบกค่าจ้างสูงลิ่วของ อันโตนิโอ คอนเต้ ที่แยกทางกันในที่สุด ส่งผลให้ในปี 2022 อินเตอร์ มิลาน ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากยูฟ่าในกรณี UEFA FFP หรือกฎ Financial Fair Play และ ยังถูกปรับพร้อมกับการตักเตือนในการซื้อขายนักเตะ
วิกฤติ “ขาดทุน” สูงสุดเป็นประวัติการณ์สโมสร
สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 11 ปี นับตั้งแต่ฤดูกาล 2012-13 และฤดูกาล 2019-20 หลังจากเกิดโรคระบาด อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนไป 102.4 ล้านยูโร จากนั้นเมื่อฤดูกาล 2020-21 อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 245.6 ล้านยูโร ซึ่งนับได้ว่านี่คือตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสโมสร อีกทั้งยังถือเป็นทีมที่มีการขาดทุนมากที่สุดในลีกอิตาลีด้วยเช่นกัน
ถัดมาในฤดูกาล 2021-22 อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนไป 140 ล้านยูโร และยังคงขาดทุนต่อเนื่องจนถึงฤดูกาล 2022-23 อยู่ที่ 85 ล้านยูโร นอกจากนั้นหากเรากางสถิติทางการเงิน 11 ปีหลังสุดยังพบว่า อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 95.1 ล้านยูโร ขณะเดียวกันผลการประกอบการของ ซู่หนิง กรุ๊ป ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ สตีเวน จาง นั้นก็ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง
วิกฤตการณ์การขาดทุนครั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการที่ อินเตอร์ มิลาน ต้องชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาจาก บริษัท โอ็กทรี แคปปิตอล เมเนจเม้นท์ ในสหรัฐอเมริกา ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเมื่อปลายปี 2022 มีการเปิดเผยว่าอินเตอร์ มิลาน ยังคงยอดค้างชำระอยู่ที่ 329 ล้านยูโร พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 12% ต่อปี อย่างไรก็ตามสโมสรมีการรีไฟแนนซ์จากการกู้ยืมทั้งหมดเป็นจำนวน 415 ล้านยูโร พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 6.75% ต่อปี (อ้างอิงจาก The Athletic)
แน่นอนว่าเมื่อสโมสรต้องเผชิญกับปัญหาการเงินภาระหนักย่อมตกไปอยู่ที่ สตีเวน จาง ประธานสโมสร จนมีครั้งหนึ่ง The Athletic ออกมาเผยว่าเจ้าตัวเคยถูกติดป้ายขับไล่จากแฟนบอลโดยมีถ้อยคำเขียนว่า "จางต้องรับผิดชอบหรือออกจากเมืองของเราไปซะ"
แต่โอ็กทรี ได้มาต่อลมหายใจให้กับ สตีเวน จาง และ อินเตอร์ มิลาน ให้ยืดออกไปอีกเป็นเวลาสามปีสำหรับเคลียร์สิ่งต่าง ๆ "ทั้งหมดที่ผมพูดได้คือโปรเจ็กต์ของผมไม่เปลี่ยนแปลง" จาง อธิบายกับสื่อ La Gazzetta dello Sport
ในทางกลับกันทีมเพื่อนร่วมเมืองและคู่แค้นตลอดกาลอย่าง เอซี มิลาน สามารถรักษาสมดุลบัญชีให้เป็นสีเขียว โดยเป็นกำไรถึง 6.1 ล้านยูโร จากการจำใจปล่อย ซานโดร โตนาลี่ ให้กับ นิวคาสเซิล เพื่อแลกค้าตัวกว่า 64 ล้านยูโร
ข้อเปรียบเทียบและตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเงินของ อินเตอร์ มิลาน แม้ฟอร์มการเล่นในสนามจะดีวันดีคืนก็ตาม
ทางออกของ "ระเบิดเวลา" ที่ต้องเคลียร์หนี้ก่อนครบกำหนดชำระ
พอเอาเข้าจริงแล้วการทำธุรกรรมครั้งนี้เหมือนกับระเบิดเวลาของสโมสรอินเตอร์ มิลาน เพราะตามรายงานจาก The Athletic มีการเปิดเผยว่าหากสโมสรไม่สามารถคืนเงินทั้งหมดก่อนครบกำหนดชำระภายในวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2024 อินเตอร์ มิลาน จะถูกฟ้องหรือยึดโดย บริษัทโอ็กทรี แคปปิตอล หรือในอีกกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น คือ สตีเวน จาง อาจถูกบังคับให้ขายสโมสร
แต่ดูเหมือนประธานจาง ไม่ได้มีสะทกสะท้านแต่อย่างใด พร้อมทั้งยังมั่นใจว่าจะสามารถทำข้อตกลงกับ บริษัทโอ็กทรี แคปปิตอล ที่เป็นเจ้าหนี้ได้ โดยก่อนการแข่งขัน แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบชิงชนะเลิศ สตีเวน จาง ได้ออกมาเปิดเผยแผนการของเขาอย่างตรงไปตรงมา ถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โอ๊กทรี ว่า "ความตั้งใจของอินเตอร์คือการเจรจาเงินกู้ใหม่ เราจะหาแนวทางในการรีไฟแนนซ์ไปด้วยกัน"
อีกทั้งยังออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องการขายอินเตอร์อยู่เป็นประจำ หากย้อนไปในเดือนมิถุนายน ปี 2023 สตีเวน จาง แนะนำให้แฟน ๆ อย่าไปให้ค่าข่าวซุบซิบนินทาพรรค์นั้นเลย "อย่าสนใจพวกเขา(ข่าวลือเรื่องการขายสโมสร)เลย" สตีเวน จาง บอกกับ La Gazzetta dello Sport
จากนั้น อเลสซานโดร อันโตเนลโล ซีอีโอของอินเตอร์ มิลาน อ้างว่าภาระหนี้สินครั้งนี้ อยู่ในแผนการทำทีมระยะยาว ส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างรังเหย้าแห่งใหม่ ของ อินเตอร์ มิลาน ในเมืองรอซซาโน "เป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาวคือสิ่งสำคัญที่สุดของเรา" อเลสซานโดร อันโตเนลโล ซีอีโอของอินเตอร์ มิลาน อ้างกับ The Athletic
อย่างไรก็ตามการขายน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับ สตีเวน จาง หากเทียบกับการสูญเสีย อินเตอร์ มิลาน ที่จะถูกยึดโดย บริษัทโอ๊กทรี การเทคโอเวอร์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับ เอซี มิลาน โดย บริษัท เรดเบิร์ด แคปปิตอล ในปี 2022 ด้วยมูลค่า 1.2 พันล้านยูโร
“โละ” คืออีกหนึ่งแนวทางการฟื้นฟูแก้ไข
อินเตอร์ มิลาน พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหารายได้เข้าสโมสรให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนนักเตะขาเข้า ไปจนถึงความพยายามขายนักเตะบิ๊กเนมออกจากทีม หากย้อนไปยังฤดูกาล 2021-22 จะเห็นว่า อินเตอร์ มิลาน มีนักเตะชื่อดังหลายรายอยู่ในลิสต์ขาออก เช่น อัชราฟ ฮาคิมี่ ที่ถูกขายให้กับปารีส แซงต์-แชร์กแมง ด้วยค่าตัว 66.5 ล้านยูโร , โรเมโอ ลูกากู ซึ่งเป็นนักเตะยอดเยี่ยมของ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ในฤดูกาลนั้น ถูกส่งตัวไปยังเชลซีด้วยราคาที่ทุบสถิติใน เซเรีย อา สนนราคาอยู่ที่ 113 ล้านยูโร และ มาเตโอ โปลิตาโน่ กองกลางทีมชาติอิตาลี ด้วยค่าตัว 21.5 ล้านยูโร กล่าวคือ อินเตอร์ มิลาน ขายนักเตะฤดูกาลเดียวรวมแล้วเป็นเงินสูงถึง 205.5 ล้านยูโร
ความพยายามหารายได้เข้าสโมสรของ “ทีมงูใหญ่” ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะ ฤดูกาลปัจจุบัน (2023-24) อินเตอร์ มิลาน ได้ทำการส่งออกครั้งใหญ่อีกครั้ง นั่นคือการขาย อังเดร โอนาน่า ให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 51 ล้านยูโร กับเงื่อนไขพิเศษอีก 4 ล้านยูโร และ การขาย มาร์เซโล่ โบรโซวิช ให้กับ อัล นาสเซอร์ ด้วยค่าตัวเกือบ 20 ล้านยูโร นอกจากนี้ยังมีการปล่อยนักเตะรายอื่นภายในทีมออกไปอีกมากกว่า 10 ราย รวมแล้วอินเตอร์ มิลาน ได้เงินจาการโละนักเตะฤดูกาล 2023-24 เป็นเงินมากถึง 130 ล้านยูโร
นับตั้งแต่ ซิโมเน่ อินซากี้ เข้ามาคุมทัพ ในฤดูกาล 2021-22 อินเตอร์ มิลาน พยายามลดภาระค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าเหนื่อยของนักเตะซีเนียร์ และภายใต้การนำทัพของกุนซืออิตาลีรายนี้พบว่ามีการปล่อยนักเตะสตาร์ดังแบบไร้ค่าตัวเป็นจำนวนมาก นั่นคือการปล่อย แอชลีย์ ยัง ไป แอสตัน วิลล่า , เจา มาริโอ ไป เบนฟิก้า , อเล็กซิส ซานเชซ ไป มาร์กเซย , อิวาน เปริซิช ไป สเปอร์ส , เอดิน เชโก้ ไป เฟเนร์บาห์เช่ , และ มิลาน สคริเนียร์ ไป ปารีส แซงต์-แชร์กแมง
แม้จะมีความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อโละนักเตะออกจากทีมเป็นจำนวนมากกว่า 40 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังสุด แต่ทว่าตัวเลขทางบัญชีของ อินเตอร์ มิลาน ก็ยังคงติดลบ และถือได้ว่าอยู่ในระยะสุ่มเสี่ยงการลงโทษจากทางยูฟ่า
อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินของ อินเตอร์ มิลาน กำลังค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟูทั้งจากการทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ส่งผลให้พวกเขาได้รับค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจากทาง ยูฟ่า เป็นเงินมากกว่า 100 ล้านยูโร รวมทั้งการได้รับเงินจากสปอนเซอร์ที่เพิ่งจะได้รับสัญญาฉบับใหม่จากสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ พร้อมกับการต่อสัญญาฉบับใหม่กับไนกี้ที่กินระยะเวลาไปจนถึงปี 2031 โดยจะได้รับเงินจากไนกี้ปีละ 21.25 ล้านยูโร แต่จะถูกลดลง 25% หากไม่สามารถเข้าร่วม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และจะถูกหัก 50% หากไม่สามารถเข้าร่วมรายการระดับทวีปรายการใดได้เลย
นอกจากนั้น สโมสรยังได้รับการสนับสนุนจาก Paramount Plus เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เซเรีย อา อิตาลี ในสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนเงิน 11 ล้านยูโร (อ้างอิงจาก Football Benchmark) เช่นเดียวกันกับ อีเบย์ และ บริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง โคนามิ จากประเทศญี่ปุ่น ที่ยังคงให้การสนับสนุนอินเตอร์ มิลาน
“No Money , No Problem”
แม้ อินเตอร์ มิลาน จะประสบกับปัญหาหลังบ้านมากมาย แต่ลูกทีมของ ซิโมเน่ อินซากี้ กลับโชว์ฟอร์มร้อนแรงในสนามได้อย่างน่าประหลาดใจ หลังจากเพิ่งผ่านทะลุเข้าไปชิงชนะเลิศในรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ไปหมาด ๆ ซิโมเน่ อินซากี้ ยังพา อินเตอร์ มิลาน ผงาดคว้าแชมป์ในรายการบอลถ้วยของอิตาลีมาแล้วถึง 5 รายการ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี เท่านั้น นั่นคือการคว้าแชมป์ซูเปอร์โคปปา อิตาเลีย หรือ อิตาเลียนซูเปอร์คัพ 3 สมัยซ้อน และ คว้าแชมป์โคปปา อิตาเลีย 2 สมัยซ้อนด้วยเช่นกัน ณ ขณะนี้ อินเตอร์ มิลาน ยังคงอยู่บนเส้นทางการลุ้นแชมป์ในศึกกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี และ รายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก
ซิโมเน่ อินซากี้ กุนซือของทีม เป็นตัวแปรสำคัญในการพาอินเตอร์ มิลาน บินสูงภายใต้มรสุมการเงิน เขาตระหนักถึงปัญหาดี แต่ ซิโมเน่ อินซากี้ เลือกที่จะให้นักเตะโฟกัสเพียงแค่ผลงานในสนามเท่านั้น
"นักเตะของเราแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ความมุ่งมั่น ความดุดัน สมาธิ พวกเขาเล่นได้ยอดเยี่ยมมาก” ซิโมเน่ อินซากี้ กล่าวต่อ “เราสัญญากับแฟน ๆ ว่าเราจะพยายามเล่นให้ได้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ ให้เหมือนกับฤดูกาลที่แล้ว บางทีพวกเขาอาจคิดว่าเราเป็นตัวเต็งเพราะวิธีการเล่นของเรา ถึงแม้เราไม่ใช่ทีมที่ร่ำรวยที่สุดก็ตาม อีกทั้งยังมีทีมที่มีขุมกำลังครบครันมากกว่าทีมของเรา"
นอกจากนั้น ซีอีโอด้านธุรกิจของ อินเตอร์ มิลาน ยังออกมาหนุนหลัง ซิโมเน่ อินซากี้ อีกด้วย ที่ช่วยให้อินเตอร์ มิลาน เผชิญกับมรสุมครั้งนี้พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
"เราได้จัดเตรียมทีมเฮดโค้ช (ซิโมเน่ อินซากี้) ให้มีทีมที่เพียบพร้อมกับการแข่งขันสูงที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองความต้องการทางการเงินในการลดต้นทุนค่าแรง ที่ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสโมสรในด้านจริยธรรม การเติบโตที่ยั่งยืน และเคารพในข้อตกลงฉบับใหม่ของยูฟ่า" เบปเป้ มาร็อตต้า ซีอีโอของอินเตอร์ในด้านธุรกิจกีฬากล่าวกับ The Athletic
พลพรรค “เนรัซซูรี่” แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของพวกเขาภายใต้สภาวะการเงินที่ฝืดเคือง ผลงานทั้งหมดเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ต่อหน้าแฟนบอลว่าตัวเลขติดลบทางการเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไรกับการลงเล่นในสนาม 5 โทรฟี่ ภายในระยะเวลา 2 ปี และ การอยู่ในเส้นทางล่าแชมป์ลีก คือเครื่องหมายการันตีคุณภาพฟุตบอลของ อินเตอร์ มิลาน
อย่างไรก็ดีปัญหาด้านการเงินจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฟุตบอลในยุคสมัยใหม่มันเปรียบเสมือนธุรกิจไปแล้ว ยิ่งในปัจจุบันที่สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) มีการตรวจสอบตัวเลขทางบัญชีที่เข้มงวดขึ้นด้วยการออกกฎ FFP
ถึงกระนั้นแม้ฟอร์มการเล่นจะทำได้ยอดเยี่ยมแต่หากปัญหาเหล่านี้ยังคาราคาซังและไม่ได้รับการแก้ไขพวกเขาอาจถูกลงโทษถึงขั้นตัดแต้มก็เป็นได้ หรือ ในทางแย่ที่สุดคือการถูกยึดสโมสรจากเจ้าหนี้ในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าไม่มีแฟนบอล อินเตอร์ มิลาน คนไหนอยากเห็นภาพเหล่านี้ และ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า อินเตอร์ มิลาน จะสามารถกลับมาทำกำไรได้เมื่อไร
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/5039764/2023/11/22/inter-milan-financials-fc-news/
https://www.linkedin.com/pulse/inter-financial-improvement-who-covers-342-million-kj0pf
https://www.nytimes.com/2023/06/08/sports/soccer/champions-league-final-inter-milan.html
https://www.sportingnews.com/us/soccer/news/who-owns-inter-milan-how-much-chinese-company-suning-paid-italian-club/qjzhnbitoeabkvzdr6rir0s0
https://sempreinter.com/2023/11/12/inter-milan-simone-inzaghi-serie-a-title-favourites-were-not-the-richest-team/
https://www.transfermarkt.com/inter-milan/erfolge/verein/46
https://sempreinter.com/2024/01/15/inter-milan-financial-crossroads-unlocking-the-future-with-strategic-investment/