Feature

ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ : แดร์ ไกเซอร์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการฟุตบอลเยอรมนี | Main Stand

“เราเสียใจอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า พ่อและสามีอันเป็นที่รักของพวกเราเสียชีวิตอย่างสงบในขณะที่เขาหลับเมื่อวันอาทิตย์ เราขอให้คุณไว้อาลัยกันด้วยความสงบ และงดเว้นจากการถามคำถามใด ๆ” 

 

จากแถลงการณ์ของครอบครัว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ บ่งบอกให้โลกได้รับรู้โดยทั่วกันว่าในช่วงต้นปี 2024 วงการลูกหนังได้สูญเสียบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ไปอีกราย เมื่อตำนานนักเตะและกุนซือชาวเยอรมัน เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 78 ปี 

การสูญเสียในครั้งนี้ ทำเอาบรรดาบุคคลน้อยใหญ่ในแวดวงฟุตบอล ตลอดจนองค์กรลูกหนังทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ต่างออกแถลงการณ์แสดงความอาลัยต่อสตาร์ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “แดร์ ไกเซอร์” หรือจักพรรดิลูกหนัง แห่งเยอรมนี

เพื่อระลึกถึงความสุดยอดของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ไม่ว่าจะทั้งสมัยค้าแข้งหรือก้าวขึ้นมาเป็นโค้ช Main Stand ขอชวนคอฟุตบอลทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาติดตามเรื่องราวของไกเซอร์ฟรานซ์ไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้

 

ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นที่เสือใต้

ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1945 ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยช่วงเวลาที่เจ้าตัวเกิดและเติบโตขึ้นมา ชาติบ้านเกิดของเขากำลังอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจะสิ้นสุดลงได้ไม่นาน

เบคเคนบาวเออร์ มีความผูกพันและเชื่อมโยงกับกีฬาฟุตบอลตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มจากการเตะลูกบอลกับกำแพงอิฐ ฟรานซ์ในวัยเด็กทำแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ จนพาตัวเองเข้าสู่สารบบฟุตบอลได้ กับการก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะเยาวชนของ เอสเซ 1906 มิวนิค (SC 1906 München) เมื่อตอน 9 ขวบ พร้อมกับถูกวางตัวในอนาคตแล้วว่า 1860 มิวนิค ทีมแกร่งในเมืองเกิด คือสถานีต่อไปบนถนนลูกหนัง แถมตัวฟรานซ์เองก็เป็นแฟนบอลทีมนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น สถานีต่อจากการเป็นแข้งเยาวชนของ เอสเซ 1906 มิวนิค กลับเป็น บาเยิร์น มิวนิค แทน ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากครั้งหนึ่ง ฟรานซ์ในวัย 12 ปี ลงแข่งกับทีม 1860 มิวนิค โดยในระหว่างที่เล่นเกมดังกล่าว เขามักจะโดนคู่แข่งทำฟาวล์แบบไม่หยุดหย่อน 

แต่ด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมาแต่เด็ก กอปรกับชีวิตของสังคมเยอรมันในภาวะหลังแพ้สงคราม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อตัวเอง เบคเคนบาวเออร์บ่นคู่แข่งฉาดใหญ่จนโดนนักเตะกองหลังของ 1860 มิวนิค ตบเข้าไปที่หน้า 

ที่สุดแล้วการตบนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตฟุตบอลของเขาไปตลอดกาล เมื่อ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ตัดสินใจเลือกเข้าไปเป็นเด็กในคาถาของทีมเสือใต้แทน

การอยู่ร่วมชายคา บาเยิร์น มิวนิค ในระดับเยาวชนมาตั้งแต่ปี 1959 กระทั่งช่วง 6 ปีต่อจากนั้น ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็กลายเป็นนักเตะชุดใหญ่ของทีมจนได้ เมื่อนโยบายของทีมในตอนนั้น เลือกมาใช้เยาวชนอนาคตไกลเป็นหัวใจ และช่วงเวลาต่อจากนั้นคือ ประวัติศาสตร์

“สถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ ... บังคับให้สโมสรต้องเลิกใช้สตาร์ราคาแพง หนทางที่เหมาะสมก็คือดึงนักเตะจากทีมเยาวชน เช่นเดียวกับนักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์ในแคว้นบาวาเรีย” เว็บไซต์บาเยิร์นกล่าว

สถานะของทีมเสือใต้ในเวลานั้น ต้องยอมรับว่ายังไม่ใช่ทีมที่ผูกขาดแชมป์ลีกแบบในปัจจุบัน แถมช่วงที่ฟรานซ์ก้าวขึ้นมาเป็นแข้งชุดใหญ่ ก็อยู่ในช่วงที่ บาเยิร์น มิวนิค ทำอันดับลุ้นเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดด้วยซ้ำไป

และหากจะบอกว่าการเข้ามาของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ได้แปรเปลี่ยนสถานะของเสือใต้แห่งแคว้นบาวาเรียมาเป็นทีมหัวตารางลีก มีลุ้นแชมป์ กลายเป็นทีมยักษ์ใหญ่ ก็ย่อมได้เช่นกัน

เพราะตลอดช่วงเวลา 14 ฤดูกาล นับแต่ 1963-64 ไปจนถึง 1976-77 บาเยิร์น มิวนิค เถลิงแชมป์ลีกได้ถึง 4 สมัย (1968-69, 1971-72, 1972-73 และ 1973-74) ได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยเดเอฟเบ โพคาล อีก 4 สมัย (1965-66, 1966-67, 1968-69 และ 1970-71) 

รวมถึงแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ หรือยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน อีก 3 สมัย (1973-74, 1974-75 และ 1975-76) โดยผนึกกำลังกับดาวเด่นชาติในเวลานั้น ทั้ง เซปป์ ไมเออร์ นายประตูมือฉมัง และดาวยิงระดับตำนาน แกร์ด มุลเลอร์ นำพาเสือใต้สู่ยุคทองอย่างแท้จริง

ความสำเร็จระดับบุคคลก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดย ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ กวาดรางวัลบัลลงดอร์ได้ถึงสองสมัย ในปี 1972 และ 1976 เช่นเดียวกับการผงาดรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของเยอรมนีถึง 4 ปี (1966, 1968, 1974 และ 1976) ซึ่งที่ว่ามานี้ก็ยังไม่นับรวมรางวัลยิบย่อยและการถูกจารึกความสำเร็จด้านอื่น ๆ ที่มาประดับตัวเขาอีกเกินกว่า 10 รางวัล

มากไปกว่านั้น ยุคสมัยที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ อยู่เป็นฟันเฟืองกวาดความสำเร็จให้กับทั้งบาเยิร์น มิวนิคและตัวเอง เขายังยิ่งใหญ่สุด ๆ ร่วมกับทีมชาติเยอรมนีตะวันตกด้วยอีกทางหนึ่ง

ในสมัยที่เยอรมนีตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1974 คนที่นำเพื่อนร่วมทีมชูความสำเร็จเป็นคนแรกก็คือฟรานซ์ ในฐานะกัปตันทีมชาติ นอกจากนี้แล้ว เขายังอยู่เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับอินทรีเหล็กยุคเข้ารอบลึกฟุตบอลโลก ทั้งรองแชมป์และอันดับสาม ในปี 1966 และ 1970 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความสำเร็จผ่านแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 1972 ด้วย 

โดยรวมแล้ว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ลงเล่นให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตกไปทั้งสิ้น 103 นัด แม้สถิติดังกล่าวจะไม่ได้มากติดอันดับท็อปเทนในสมัยปัจจุบัน 

ทว่าสถิติลงเล่นให้ทีมชาติแบบ “ติดต่อกัน” มากที่สุดของเขา ที่ 60 นัด ตั้งแต่ 9 กันยายน 1970 ไปจนถึง 23 กุมภาพันธ์ 1977 ยังคงเป็นสถิติที่ไม่ว่าจะแข้งรุ่นน้อง รุ่นลูก หรือรุ่นหลานยังไม่อาจโค่นลงได้

 

ภาพจำตำนานลิเบโร

ปี 1964 หรือช่วงขวบปีแรกที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ได้โอกาสลงประเดิมสนามให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้นสู่บุนเดสลีก้า ดวลกับ ซังต์ เพาลี เขาลงสนามในตำแหน่งตัวรุก (ปีกซ้าย) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยืนพื้นลงเล่นมาตั้งแต่สมัยอยู่ทีมเยาวชน โดยเอาชนะคู่แข่งไป 4-0 และฟรานซ์ยิงประตูได้ด้วย

จากนั้นก็เริ่มขยับบทบาทลงเล่นในตำแหน่งกองกลาง ปักหลักพื้นที่แดนกลางไปด้วย โดยบทบาทนี้ถูกบันทึกให้เห็นภาพชัดในฟุตบอลโลก 1966 อย่างนัดชิงชนะเลิศ เมื่อ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ถูกจับยืนเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวกลางของเยอรมนีตะวันตก ได้ลงห้ำหั่นกับมิดฟิลด์คู่แข่งอย่าง (เซอร์) บ็อบบี้ ชาร์ลตัน หรือคอยตัดเกม โรเจอร์ ฮันต์ กับ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ 

อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้ว ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็มาตระหนักได้ว่าตำแหน่งการเล่นที่เขาชื่นชอบและตั้งใจจะเป็นมากที่สุด ก็คือการเล่นเป็นกองหลัง และด้วยอายุอานามที่มากขึ้น ฟรานซ์ค่อย ๆ ถอยตัวเองจากปีก กองกลาง มาเป็นผู้เล่นเกมรับ จนกลายเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง “ลิเบโร” ที่ว่ากันว่าริเริ่มมาจากฟุตบอลประเทศอิตาลีตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษที่ 60 

ลิเบโร เป็นตำแหน่งเกมรับที่ยืนอยู่เป็นคนสุดท้ายก่อนถึงผู้รักษาประตู คอยทำหน้าที่อ่านเกม ปัดกวาด เก็บตกลูกบอลเป็นคนสุดท้าย แถมยังสามารถพลิกผันเปลี่ยนสถานการณ์ทีมจากเกมรับเป็นเกมรุกได้แบบทันควัน 

ไม่น่าเชื่อว่า ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เอามาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับของตัวเองจนกลายเป็นการเล่นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ลิเบโรสมัยใหม่

“ถ้าคุณจ่ายบอลอย่างเหมาะสม คุณจะได้มันกลับมาอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องวิ่ง” ฟรานซ์ นิยามตำแหน่งและสไตล์ของตัวเองในเวลานั้น

“ด้วยความนิ่ง ความสง่างาม และภาพรวมของเขา เขาได้สร้างมาตรฐานในสนาม” เบิร์น นอยน์ดอร์ฟ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน ชื่นชม

“สำหรับผม ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เป็นนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมัน การตีความบทบาทของลิเบโร [สวีปเปอร์] คอยเปลี่ยนเกม ด้วยบทบาทนี้และแนวทางการเล่นของเขายามที่อยู่กับลูกบอลทำให้เขาเป็นอิสระมาก ๆ” ยูเลี่ยน นาเกลมันส์ ยกย่องความสามารถของฟรานซ์

ที่สุดแล้วการประยุกต์ตัวเองให้กลายมาเป็นผู้เล่นตำแหน่งดังกล่าวของฟรานซ์ โดดเด่นจนกลายเป็นภาพจำไปทั่วมุมโลกว่าตำแหน่งนี้เกิดขึ้นจากไอเดียของเขาไปเลยทีเดียว

 

กุนซือน้อยดีกรีที่พาชาติเถลิงแชมป์โลก

“หยิบจับอะไรก็สำเร็จ” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงสำหรับ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เพราะภายหลังที่ปิดฉากเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งเขาลงเล่นไปกว่า 754 นัด รวมทั้งสมัยที่อยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค, นิวยอร์ก คอสมอส รวมถึง ฮัมบูร์ก เบคเคนบาวเออร์ ซึ่งไม่มีดีกรีหรือไลเซนส์ใด ๆ ในฐานะโค้ชฟุตบอล แต่กลับได้งานโค้ชฟุตบอลระดับเมเจอร์ในช่วงไม่กี่ปีภายหลังแขวนสตั๊ด กับบทบาท “ทีมเชฟ” แห่งเยอรมนีตะวันตก

หลังความล้มเหลวของอินทรีเหล็ก ในฟุตบอลยูโร 1984 ที่ตกตั้งแต่รอบแรกของการแข่งขัน ทำเอาสหพันธ์ลูกหนังชาติอย่างเดเอฟเบ ประกาศปลด จุปป์ แดรวัลล์ พ้นตำแหน่ง กาลต่อมาคือเดเอฟเบ ลิสต์ชื่อกุนซือที่มีดีกรีที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี เพราะหลาย ๆ คนที่อยู่ในโผ ยังมีพันธะผูกพันอยู่กับสโมสรสังกัด อย่าง เฮลมุต เบนเฮาส์ ของสตุ๊ตการ์ต ที่เพิ่งคว้าแชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาลคาบเกี่ยว ขณะที่ตัวของฟรานซ์ ไม่ได้มีบทบาทเป็นโค้ชให้ทีมใด อีกทั้งยังไม่มีไลเซนต์โค้ชด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ มีติดตัว นั่นคือบารมีของการเป็นสุดยอดนักเตะในประเทศ ที่ใคร ๆ ต่างก็ยอมรับ จนเป็นเหตุให้องค์กรลูกหนังแม่ในประเทศตัดสินใจแต่งตั้งเข้ามาคุมทีมชาติในปี 1984 โดยเป็นสัญญาระยะสั้นให้คุมทีมลุยฟุตบอลโลก 1986 เป็นอย่างน้อย

ด้วยการที่ฟุตบอลเยอรมันในตอนนั้น มีการอบรมหลักสูตรโค้ชให้ได้ไลเซนส์ของทั้งสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปรวมถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ทว่าการเข้ามาแบบฉุกละหุกของฟรานซ์ ไม่ทันได้ไปอบรมโค้ชหรือได้ดีกรีใด ๆ มา และด้วยความเป็นระบบระเบียบของฟุตบอลเยอรมันที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม แน่นอนว่าการจะเข้ามาเป็นโค้ชทีมชาติชุดใหญ่ก็จำเป็นต้องมีไลเซนส์

เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทางเดเอฟเบจึงแต่งตั้งให้ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ทำหน้าที่เป็น “ทีมเชฟ” ไม่ได้ใช้คำเชิงผู้จัดการทีมชาติโดยตรง ถือเป็นการอะลุ่มอล่วยไปก่อน

กระนั้น “แดร์ ไกเซอร์” กลับทำผลงานเกินเป้าหมาย เมื่อเขานำลูกทีมไปไกลถึงตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1986 โดยนัดชิงชนะเลิศพ่ายต่อทีมชาติอาร์เจนตินา ที่มีตัวชูโรงอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ด้วยสกอร์ 2-3

ยังไม่นับเรื่องความเด็ดขาดด้านการจัดการทีมที่เห็นผลดีมากมายตลอดทัวร์นาเมนต์ อาทิ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของระเบียบวินัย การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา ให้คุยกันเป็นการภายใน หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อโดยมากที่สุด เพื่อไม่ให้สมาธิหลุดออกไปสู่สาธารณชน 

ตลอดจนการใช้แท็คติกการเล่นแบบใหม่ ๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมา อย่างการนำระบบ ลิเบโร ที่ถูกจารึกในสมัยเป็นนักเตะมาสู่ทีมชาติ โดยเฉพาะยามที่ทีมเล่นเกมรับ 5-3-2 เช่นเดียวกับการใช้งานผู้เล่นผสมผสานระหว่างนักเตะประสบการณ์สูงและดาวรุ่งอนาคตไกลรวมกันอยู่เป็นทีมเดียวกัน

ผลลัพธ์ที่ผลิดอกให้เห็นตั้งแต่เวทีเวิลด์คัพสมัยแรก ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ กลายเป็นทีมเชฟของชาติแบบเต็มตัว ผลงานต่อจากนั้นก็มีทั้งการไปถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลยูโร 1988 (พ่ายต่อเนเธอร์แลนด์ยุคสามทหารเสือ อย่าง รุด กุลลิต, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด และ มาร์โก้ ฟาน บาสเท่น)

แต่เวลาต่อจากนั้น ทีมชาติเยอรมนี ในนามขณะนั้น เยอรมนีตะวันตก เริ่มเป็นชาติที่น่าจับตามองมากที่สุดชาติหนึ่งในสารบบฟุตบอลโลก เพราะพวกเขาอุดมไปด้วยนักเตะเก๋าผสมสดที่เฉิดฉายขึ้นมาในวงการ มีทั้ง อันเดรียส เบรห์เม่ (29 ปี), กีโด้ บุควัลด์ (29 ปี), โลธาร์ มัทเธอุส กัปตันทีม (29 ปี), ปิแอร์ ลิททบาร์สกี้ (31 ปี) รวมถึง รูดี้ โฟลเลอร์ (30 ปี) 

ผนึกกำลังกับแข้งอายุอานามช่วงพีค อาทิ เยอร์เก้น คลินน์มันส์ (25 ปี) และ เยอร์เก้น โคห์เลอร์ (24 ปี)

ที่สุดแล้วทีมชุดนี้ก็มาเถลิงแชมป์โลกเป็นสมัยที่สามในประวัติศาสตร์ชาติ แถมยังเป็นการล้างแค้นคู่ปรับเมื่อสี่ปีก่อนอย่างอาร์เจนติน่าเสียด้วย (เยอรมันตะวันตกชนะ 1-0) และสำหรับ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ แล้ว เขาได้แชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งในสมัยที่เป็นนักเตะ (ปี 1974) และในฐานะโค้ช (ปี 1990) เป็นคนฟุตบอลคนที่สองในเวลานั้นที่ทำเช่นนี้ได้ ต่อจาก มาริโอ ซากัลโล่ ของบราซิล (คนที่สามคือ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ของฝรั่งเศส)

“ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย ในปี 1990 ผมมุ่งเน้นไปยังเรื่องที่สำคัญเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือทีม” เขาบอกกับ Der Spiegel 

“แต่สิ่งที่ชี้ขาดที่แน่นอนเลยก็คือทีมที่มีการเติบโตในทางที่ดีขึ้น มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างแข้งมากประสบการณ์และแข้งอายุน้อย เช่นเดียวกับผู้ชายที่สามารถวิ่งได้ตลอดเกม และนักเตะที่มีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม มันเป็นหน่วยเดียวกัน”

จากนั้น ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ลองมาชิมลางเป็นกุนซือระดับสโมสรบ้าง เริ่มจาก โอลิมปิก มาร์กเซย ในเวทีลีกสูงสุดของฝรั่งเศส ซึ่งเขาก็พาทีมเป็นแชมป์ลีกหนึ่งสมัย ในปี 1990-91 ไกเซอร์ฟรานซ์อยู่โอแอมหนึ่งปีเศษ เขากลับมาอยู่บ้านหลังเก่าอย่าง บาเยิร์น มิวนิค อีกครั้งในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนแบบชั่วคราว 

คราวนี้ก็ยังเฉิดฉายไม่เสื่อมคลาย กับการพาทีมเป็นทั้งแชมป์ลีกและแชมป์ยูฟ่า คัพ โดยรวมคุมเสือใต้ไป 19 นัด ชนะถึง 12 นัด 

 

ขยับสู่บทบาทผู้บริหาร

อนึ่ง ในระหว่างที่คุมทีมชั่วคราวช่วงที่ได้แชมป์ยูฟ่า คัพ ปี 1995-96 ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ขยับบทบาทตัวเองขึ้นมาจับงานบริหารไปแล้ว ในปี 1994 ในฐานะประธานสโมสร และดำรงตำแหน่งดังกล่าวยาวไปจนถึงปี 2009

แน่นอนว่าในยุคของ แดร์ ไกเซอร์ บาเยิร์นกวาดความสำเร็จมากมายโดยเฉพาะผลงานในระดับประเทศ เช่นเดียวกับการปลุกปั้นแข้งในคาถาขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลเยอรมันได้มากมาย เช่น ฟิลลิป ลาห์ม และ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์

มากกว่านั้น ด้วยบารมีที่มีในตัว ฟรานซ์ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (DFB) ตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2010 ทั้งยังเป็นประธานฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งส่งให้เยอรมนีกลายเป็นเจ้าภาพในปีดังกล่าว

และแม้จะเคยโดนข้อครหาเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของเยอรมนี กับเรื่องการจ่ายเงิน 6.7 ล้านยูโรให้ทางฟีฟ่าในปี 2005 เพื่อให้เยอรมันได้รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขัน จนถึงขั้นถูกดำเนินคดีทางกฏหมาย แต่ภายหลังก็ยืนกรานปฏิเสธ จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกปัดตกไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันอาจทำให้ภาพลักษณ์ของฟรานซ์เสื่อมเสียไปบ้างในเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็แล้วแต่ เพราะคุณงามความดีที่เขาจารึกไว้ในแวดวงลูกหนังเมืองเบียร์ตลอดมา นี่ถือเป็นภาพจำของคนทั่วไปในวงการที่มีถึงตัวเขามากกว่า จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

แด่แดร์ ไกเซอร์ ผู้ยิ่งใหญ่

การจากไปของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง 

หากพูดถึงตำนานลูกหนังในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างบราซิลมี เปเล่ เป็นชื่อแรก, อาร์เจนตินามี ดิเอโก้ มาราโดน่า เป็นชื่อแรก, เนเธอร์แลนด์มีชื่อของ โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นชื่อเบอร์ต้น หรืออย่างอังกฤษที่ใครหลายคนนึกถึง เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน 

เช่นเดียวกัน ชื่อของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ก็คือชื่อแรก ๆ ที่นึกถึงในนามตำนานเยอรมนี

นั่นจึงเป็นเหตุให้ทั้งคนในวงการฟุตบอลเยอรมนีเอง รวมถึงคนฟุตบอลจากทั่วมุมโลก ต่างพร้อมใจกันแสดงความเสียใจหลังการจากไปของ แดร์ ไกเซอร์ ผู้นี้ ซึ่งคาดกันว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากปัญหาโรครุมเร้า ทั้งโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม ปัญหาหัวใจ รวมถึงดวงตา เช่นเดียวกับสุขภาพจิตที่แย่ลงหลังสูญเสียลูกชายไปก่อนหน้านี้

“เราจะคิดถึงเขา ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ คือหนึ่งในนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนี เขาเป็นแรงบันดาลใจให้วงการฟุตบอลเยอรมันมาตลอดชั่วอายุคน” นายกรัฐมนตรีเยอรมัน โอลาฟ ชอลซ์ กล่าวสดุดี

“เขาเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม คิดบวก รวดเร็วและอันตรายเสมอ เขาเป็นผู้เล่นที่อันตรายที่สุดที่พวกเขา (เยอรมนี) เคยมี เขาสามารถทำอะไรพิเศษหลาย ๆ ด้วยความเร็วที่มีในตัส รวมถึงการควบคุม และความสามารถของเขาเอง” เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ตำนานทีมชาติอังกฤษและ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ล่วงลับก่อนหน้าไม่นาน เคยกล่าวถึง ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ อดีตคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ ที่ภายหลังกลายเป็นเพื่อนที่ดีระหว่างกัน

11 กันยายน 1945 - 7 มกราคม 2024 สดุดีตำนานผู้ยิ่งใหญ่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/franz-beckenbauer-a-german-and-world-football-legend-bayern-munich-libero-12787 
https://www.eurosport.com/football/franz-beckenbauer-world-cup-winner-and-german-football-legend-dies-aged-78_sto9949301/story.shtml 
https://theathletic.com/5188276/2024/01/09/franz-beckenbauer-death-obituary/ 
https://www.facebook.com/photo?fbid=966803491478170&set=a.243815820443611 
https://www.telegraph.co.uk/football/2024/01/08/franz-beckenbauer-tribute-west-germany-bayern-munich/ 
https://www.bbc.com/sport/football/67917047 
https://www.dw.com/en/franz-beckenbauer-germanys-world-cup-winning-player-coach/a-67921504 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ