Feature

เตะตามยุโรป : เมื่อเจลีก เปลี่ยนเวลาเปิด/ปิดฤดูกาล เพื่อประโยชน์ต่อทีมชาติญี่ปุ่น | Main Stand

กลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงขึ้นมาทันที กับการที่ เจลีก ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาลของลีกฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่นในแต่ละระดับ ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ให้เปิดฤดูกาลในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2026 และปิดฤดูกาลในช่วงเดือนพฤษภาคม 2027 หรือก็คือ เตะแบบข้ามปี

 

นับเป็นครั้งแรกที่ "เจลีก" เลือกช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาลออกมาในลักษณะเช่นนี้ จากเดิมปกติ ที่จะเปิดฤดูกาลกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของปีนั้น ๆ และปิดฤดูกาลในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของปีเดียวกัน

แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาลของ เจลีก ในครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการจะสร้างประโยชน์อย่างหนึ่งที่สำคัญต่อวงการฟุตบอลญี่ปุ่น

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของ เจลีก จะส่งผลดีอย่างไรต่อโลกลูกหนังแดนปลาดิบ ? ร่วมหาคำตอบไปกับเรา Main Stand

 

ปัญหาช่วงหน้าหนาว

นับตั้งแต่ฤดูกาล 1993 ซึ่งเป็นปีแรกที่ "เจลีก" ลีกฟุตบอลอาชีพแห่งแรกของญี่ปุ่น เริ่มทำการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ลีกแห่งนี้ได้ยึดรูปแบบการเปิด/ปิดฤดูกาลในระบบ  "ฤดูใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง" มาโดยตลอด กล่าวคือ จะเริ่มเปิดฤดูกาลกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และปิดฤดูกาลในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี

เหตุผลที่ เจลีก ต้องเลือกเปิดและฤดูกาลกันในช่วงเวลาดังที่กล่าวมานั้น เป็นเพราะพวกเขาต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการจัดเกมการแข่งขันในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เนื่องจากสภาพอากาศของหลายพื่นที่ในประเทศญี่ปุ่น ณ ช่วงเวลานั้น ที่เต็มไปด้วยความหนาวเย็น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง -6 ถึง 20 องศาเซลเซียส และมีหิมะตกอย่างหนัก จนปกคลุมไปทั่วสนามฟุตบอลของหลาย ๆ ทีมในเจลีก ทำให้สนามไม่สามารถใช้งานได้ ถ้าหากไม่ทำการกำจัดหิมะออก

โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณตอนบนของประเทศ เช่น จังหวัดอาโอโมริ, จังหวัดยามางาตะ หรือเยื้องลงมาหน่อยอย่างจังหวัด นีงาตะ เป็นต้น ที่สภาพอากาศในช่วงเวลานั้น ไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก สำหรับการจัดเกมการแข่งขันฟุตบอล 

เห็นได้จากการที่หลาย ๆ ทีมในเจลีก ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณจังหวัดเหล่านัั้น เมื่อถึงช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี พวกเขาจะมีการให้เจ้าหน้าที่ของสโมสร ช่วยกันกำจัดหิมะในสนาม หรือมีการจัดกิจกรรมเชิญชวนให้แฟนบอล เข้ามาช่วยกันกำจัดหิมะที่ตกลงมาปกคลุมไปทั้งสนามซ้อมและสนามเหย้าทีมของพวกเขากันอยู่ตลอด

"เอาจริงๆ หิมะมันจะเริ่มตกลงมาปกคลุมทั่วสนามตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมแล้ว ตกลงมาจนไม่เห็นสีเขียวของสนามหญ้าเลย" หนึ่งในเจ้าหน้าที่ดูแลสนามเหย้าของ วันราเล ฮาชิโนเฮะ ทีมฟุตบอลในเจลีก 3 ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอาโอโมริ กล่าวถึงหิมะในช่วงฤดูหนาวของญี่ปุ่น ที่ชอบตกลงมาปกคลุมสนามแข่งของทีมอยู่เสมอ ตลอดช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี

"นั่นคือหน้าที่ของเราในการพยายามกำจัดหิมะออกจากสนาม เพื่อกอบกู้สีเขียวของสนามหญ้ากลับมาให้ทุกคนได้เห็นกันตามเดิม"

ยูคิโอะ นาคาโนะ ประธานสโมสร อัลบิเรกซ์ นีงาตะ ได้กล่าวถึงประเด็นหิมะที่ชอบตกลงมาปกคลุมสนามของทีมในช่วงฤดูหนาว ว่า "เราต้องทำงานกันอย่างหนัก ในการกำจัดหิมะออกจากสนามให้ทันก่อนที่ เจลีก จะกลับมาเปิดฤดูกาลอีกครั้ง เราไม่มีทางห้ามให้หิมะหยุดตกได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ"

หรือแม้แต่ตัวนักเตะที่ค้าแข้งอยู๋ในเจลีกเอง อย่าง ทาคาชิ อุซามิ กองหน้าดีกรีทีมชาติญี่ปุ่น ที่ตอนนี้เล่นอยู่กับ กัมบะ โอซากา ก็เคยออกมาพูดถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยเชื่อว่าปัญหาหิมะที่ตกอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเหตุทำให้ เจลีก ไม่สามารถเปิดและปิดฤดูกาลได้ในระบบ "ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ" หรือก็คือเปิดฤดูกาลในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของแต่ละปี และปิดฤดูกาลในช่วงเดือนพฤษภาคม ของปีถัดมา

"ข้อดีของการเปิดฤดูกาลให้พร้อมกับลีกในยุโรป (สิงหาคม-พฤษภาคม) ก็คือการช่วยให้นักเตะในเจลีก สามารถย้ายไปเล่นในลีกยุโรปตอนช่วงเปิดฤดูกาลได้สะดวกขึ้น แต่ผมคิดว่ามีบางทีมในเจลีกที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้" ทาคาชิ อุซามิ กล่าวกับ SoccerDigestWeb

"เพราะหลาย ๆ ทีมที่มีหิมะตกหนักในช่วงฤดูหนาว พวกเขาจะไม่สามารถลงเล่นฟุตบอลในสนามของพวกเขาได้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะยอมรับกับการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิดฤดูกาลให้เหมือนกับลีกยุโรป"

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องสภาพอากาศหนาว และหิมะที่ตกอย่างหนักในช่วงต้นปีแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลเล็ก ๆ ที่ทำให้ "เจลีก" ไม่สามารถเปิด/ปิดฤดูกาลได้ในระบบ "ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ" ได้นั้น อาจจะเป็นเรื่องของธรรมเนียมอย่างหนึ่งของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ปฎิบัติกันมาอย่างยาวนานมากกว่า 50 ปีแล้วก็ได้

 

ธรรมเนียมที่ยึดถือกันมา

การที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา "เจลีก" เลือกเปิด/ปิดฤดูกาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และปิดฤดูกาลในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปีนั้น แม้จะไม่ได้มีการยืนยันออกมาอย่างชัดเจน จากฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า พวกเขาต้องการที่จะปิดฤดูกาลของลีกฟุตบอลญี่ปุ่นในแต่ละระดับและแต่ละฤดูกาล ให้จบก่อนถึงวันที่ 1 มกราคม ของทุก ๆ ปี 

ซึ่งเป็นวันที่ทาง "สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น" หรือ "JFA" ได้กำหนดให้เป็นวันที่ใช้จัดการแข่งขันเกมรอบชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิ หรือ "เอ็มเพอเรอร์ส คัพ" ศึกฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ในเขตชินจูกุ กรุงโตเกียว มาตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา

เพื่อให้เกมนัดชิงชนะเลิศของรายการนี้ เปรียบเสมือนเป็นเกมนัดปิดฤดูกาลที่แท้จริงของแต่ละฤดูกาล และเป็นของขวัญในวันปีใหม่ แทนคำขอบคุณถึงแฟนบอลญี่ปุ่น ที่ได้ให้ความสนับสนุนวงการฟุตบอลภายในประเทศมาตลอดปีที่ผ่านมา รวมถึงดึงดูดผู้คนที่กำลังใช้เวลาพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงวันปีใหม่ ได้เปิดหน้าจอโทรทัศน์ รับชมเกมการแข่งขันนัดดังกล่าวกัน

จนส่งผลให้กลายเป็นภาพจำสำหรับแฟนบอลญี่ปุ่นว่า ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ซึ่งก็คือวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี วงการฟุตบอลภายในประเทศของพวกเขา จะต้องมีการจัดเกมการแข่งขันฟุตบอลแมตช์ที่น่าสนใจขึ้นให้ทุกคนได้รับชมกันอยู่เสมอ และมันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับพวกเขา

"มันกลายเป็นของที่คู่กันไปแล้ว วันปีใหม่ กับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของศึก เอ็มเพอเรอร์ส คัพ" ทาเคโอะ โกโต กูรูฟุตบอล ที่คลุกคลีอยู่กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุค 70s กล่าวกับ Sportiva Shueisha

"และมันก็คงจะรู้สึกเหงาน่าดู ถ้าวันปีใหม่จะไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น"

หากเจลีก จะทำปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิด/ปิดฤดูกาล ให้มาเหมือนที่หลายลีกชื่อดังในทวีปยุโรป หรือก็คือปรับมาใช้ระบบ "ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ" สิ่งที่พวกเขาจะต้องแลกนั้น ก็คือการขาดหายไปของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของศึก "เอ็มเพอเรอร์ส คัพ" ที่ทาง JFA ได้วางเอาไว้ให้เป็นเกมที่เปรียบเสมือนเป็นเกมนัดปิดฤดูกาลที่แท้จริง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ขาดหายไป หรือข้อเสียจากการที่ "เจลีก" ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิด/ปิดมาเป็นระบบ "ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ" นั้นมันอาจจะดูเล็กน้อยไปเลย ถ้าหากพูดถึงข้อดีอย่างหนึ่งของการที่เจลีก เลือกตัดสินใจเช่นนี้ ซึ่งข้อดีจุดนี้จะส่งผลในเชิงบวกเป็นอย่างมากกับวงการฟุตบอลญี่ปุ่น

 

ส่งผลดีต่อทีมชาติ

ขณะที่ก่อนหน้านี้หลาย ๆ ทีมในเจลีก ต่างไม่เห็นด้วยกับการที่ เจลีก มีแนวคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิด/ปิดฤดูกาล ให้มาใช้เป็นระบบ "ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ" นั้น ทางเจลีกก็ได้ชูหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาอยากจะริเริ่มเปลี่ยนแปลงการเปิด/ปิดฤดูกาลแบบเดิม ๆ ของลีกฟุตบอลอาชีพในญี่ปุ่น ที่ใช้กันมาตลอด 30 ปี

อยากจะปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเปิด/ปิดฤดูกาลให้มีความสอดคล้องและใกล้เคียงกับตารางการแข่งขันของทางหลายลีกชื่อดังในทวีปยุโรป หรือแม้แต่กับตารางแข่งของศึกฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ด้วยก็เช่นกัน

นั่นคือการเปิดประตูที่กว้างขึ้นให้กับเหล่านักเตะญี่ปุ่นในเจลีก สามารถย้ายไปค้าแข้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ลูกหนังได้ง่ายขึ้น กับสโมสรฟุตบอลในลีกยุโรป

ในเมื่อลีกฟุตบอลอาชีพของประเทศตัวเอง ปรับเวลาช่วงเวลาเปิด/ปิดฤดูกาลพร้อมกันกับลีกในยุโรปแล้ว มันก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันทีกับการที่ทีมในลีกยุโรป จะสามารถคว้าตัวนักเตะญี่ปุ่นจากเจลีกไปร่วมทีมของตัวเองได้ตั้งแต่ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะฤดูร้อน 

จากเดิมที่พวกเขาอาจจะต้องรอไปถึงช่วงตลาดซื้อขายนักเตะฤดูหนาว หรือก็คือช่วงกลางฤดูกาลของลีกตัวเอง เพื่อที่จะสามารถคว้าตัวนักเตะญี่ปุ่นจากเจลีก ที่ลงเล่นให้กับต้นสังกัดในลีกบ้านเกิดของตัวเองจนจบฤดูกาลได้ นั่นเท่ากับว่านักเตะญี่ปุ่นที่ย้ายจากเจลีก มาเล่นในลีกยุโรป พวกเขาจะมีเวลาที่ไม่ค่อยมากนักในการปรับตัวให้เข้ากับต้นสังกัดใหม่ เนื่องจากทีมกำลังแข่งขันกันไปถึงในช่วงกลางฤดูกาลแล้ว

ดังนั้นมันจึงส่งผลดีต่อนักเตะญี่ปุ่นจากเจลีก ที่ได้ย้ายไปค้าแข้งในลีกยุโรปในช่วงกลางปี เพราะพวกเขาจะได้มีเวลาในการปรับตัวเข้ากับต้นสังกัดใหม่อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่นก่อนเปิดฤดูกาล อีกทั้งยังทำให้ทีมในเจลีกเอง ก็จะสามารถทำเงินจากการขายนักเตะให้กับทีมในลีกยุโรปได้มากขึ้นด้วย

"การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาล มาใช้เป็นระบบ 'ฤดูใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ' จะส่งผลให้กับนักเตะที่ย้ายจากเจลีก ไปเล่นให้กับทีมในยุโรป มีเวลาอย่างเต็มที่ในการทำความรู้จักกับต้นสังกัดใหม่ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล" เคนโงะ นาคามุระ อดีตกองกลางของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล และทีมชาติญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับทาง Sanspo

"นักเตะจะสามารถรีดเร้นศักยภาพออกมาได้สูงขึ้น มันเป็นผลดีต่อการสร้างมูลค่าให้กับตัวของพวกเขาเอง"

และแน่นอนว่า การที่นักเตะญี่ปุ่นจากเจลีก มีโอกาสในการค้าแข้ง รวมถึงทำผลงานได้ดีในเวทียุโรป จากการที่มีเวลาปรับตัวให้เข้ากับฟุตบอลในลีกยุโรปอย่างเต็มพิกัด จะส่งผลให้กับฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ในการมีทรัพยากรนักเตะที่มีคุณภาพและโลดแล่นอยู่กับทีมในลีกยุโรปให้เลือกใช้งานที่มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อโต้แย้งที่มาอยู่เรื่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ถ้าเจลีก เลือกเปิด/ปิดฤดูกาลในระบบเดียวกับลีกฟุตบอลชื่อดังหลายแห่งของยุโรป จะทำให้หลาย ๆ ทีมในเจลีก ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องหิมะที่ตกอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี จนสนามแข่งของพวกเขาใช้งานไม่ได้นั้น

ทางเจลีก ก็ได้วางแผนรับมือเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้แล้ว โดยในศึกเจลีก ฤดูกาล 2026/27 ที่จะเริ่มเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิด/ปิดฤดูกาลให้เหมือนกับลีกยุโรป ในระหว่างฤดูกาล จะมีการพักเบรกหนีฤดูหนาวกันในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2026 และกลับมาทำการแข่งขันอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2027

"เป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้ว ที่ไม่ใช่แค่คณะกรรมการบริหารของเจลีกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทีมงานของแต่ละสโมสรในเจลีกด้วย ได้หารือกันว่า เราควรจะพาเจลีกและฟุตบอลญี่ปุ่น ไปในทิศทางใดต่อในอนาคต เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศของเราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาล และการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอนาคตจากนี้" โยชิคาซึ โนโนมุระ ประธานเจลีก กล่าวในการประชุมหารือของคณะกรรมการเจลีก เมื่อในวันที่ 19 ธันวาคม 2023

สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปิดและปิดฤดูกาลในครั้งนี้ของ เจลีก จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ญี่ปุ่น กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการสร้างลีกฟุตบอลอาชีพภายในประเทศของตัวเอง ให้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญในการยกระดับฟุตบอลทีมชาติญี่ปุนให้สูงขึ้นไปอีกขั้น โดยมีเป้าหมายที่พวกเขาได้วางเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ภายในปี 2050 ญี่ปุ่นจะกลายเป็นชาติที่ได้สัมผัสถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก

อีก 2 ปีจากนี้ กับศึกเจลีก ฤดูกาล 2026/27 ต้องมารอดูกันว่า วงการฟุตบอลญี่ปุ่น จะเติบโตต่อไปในทิศทางใด …

 

แหล่งอ้างอิง :

https://kosodatetosoccer.com/archives/2109
https://www.nikkansports.com/soccer/news/202312190001007.html?
https://www.sponichi.co.jp/soccer/news/2023/10/19/kiji/20231019s00002179098000c.html?
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=144873
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=131200
https://www.sanspo.com/article/20231219-RGC7A6R3J5BF3D4MDIQITZV7RU/
https://www.sanspo.com/article/20231219-7VAJS7ISJBKV5J2XBNZFEP3JKE/
https://www.sanspo.com/article/20231220-4VQZBLZL7ZLGHKPT3NBFKWV3BM/
https://www.football-zone.net/archives/496000
https://mainstand.co.th/th/news/1/article/15009

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ