Feature

ขาดทุน/ถูกตัดแต้ม/เจ้าของค้างเงิน : เร้ดดิ้ง กับวิกฤตใหญ่ที่ทำให้จมปลักลีกล่างอังกฤษ | Main Stand

ReadingFC

ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เชื่อมโยงกับสโมสรฟุตบอล อย่างเรื่องการขาดทุนชนิดกลายเป็นหนี้สินติดลบ การค้างค่าเหนื่อยบุคลากรภายใน ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแวดวงลูกหนังทั่วมุมโลก ท่ามกลางยุคสมัยที่เกมลูกหนังไม่ได้สำคัญแค่ผลงานในสนามเพียงอย่างเดียว 

 


แน่นอนผลลัพธ์จากสิ่งที่สโมสรหนึ่งจะได้รับ ย่อมขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละลีกที่กำหนดออกมา โดยอาจมีผลตั้งแต่การถูกตัดแต้ม ปรับเงิน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ทีมนั้น ๆ กลายสถานะเป็นทีม “ตกชั้น” ไปโดยปริยาย และเร้ดดิ้ง เอฟซี กำลังเผชิญช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในเวลานี้ (2023) ที่สำคัญคือพวกเขาเจอกรณีแบบนี้มาต่อเนื่องหลายปีแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับอดีตทีมที่เคยโลดแล่นในพรีเมียร์ลีกอยู่หลายซีซั่น Main Stand ชวนแฟน ๆ มาหาคำตอบไปด้วยกัน

 

ยุครุ่งเรืองภายใต้เซอร์ จอห์น มาเดจสกี้

นับแต่ที่ (เซอร์) จอห์น มาเดจสกี้ เข้ามาเทคโอเวอร์เร้ดดิ้ง เอฟซี ในฤดูกาล 1990-91 สโมสรแถบชานเมืองฝั่งตะวันตกของกรุงลอนดอนนี้ค่อย ๆ ยกระดับตัวเองได้แบบก้าวกระโดด จนอาจกล่าวได้ว่า เร้ดดิ้งในยุคของมาเดจสกี้ เป็นยุครุ่งเรืองมากที่สุดครั้งหนึ่งนับแต่ที่ก่อตั้งทีมในปี 1871 

โดยความสำเร็จนั้นมีตั้งแต่การกลายสถานะจากทีมจากดิวิชั่นต่ำมาเป็นทีมจากลีกสูงสุด ยกตัวอย่างในยุคแรกเริ่ม กับการเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 3 มาสู่ลีกสูงสุด ในซีซั่น 1994-95 และยืนหยัดในลีกบนเป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม ไปจนถึงการกลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกถึงสองปีเต็ม ในระหว่างซีซั่น 2006-07 และ 2007-08

เช่นเดียวกับการยกระดับทีมผ่านการทุ่มเงิน 25 ล้านปอนด์ ก่อร่างสร้างสนามใหม่ในนามมาเดจสกี้ สเตเดี้ยม แล้วเสร็จในปี 1998 เป็นสนามที่มีความโอ่อ่า ความจุกำลังดีที่ 24,161 ที่นั่ง หรือแม้แต่การที่สโมสรเคยทำกำไรก่อนหักภาษีได้ถึงหลัก 6.6 ล้านปอนด์ในปี 2007 หรือหลังยุคที่สโมสรจบฤดูกาลลีกสูงสุดด้วยอันดับที่ 8

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน วงการฟุตบอลเริ่มมีเรื่องของ “เม็ดเงิน” ในการลงทุนชนิดกระโดดกว่าฟุตบอลยุคเดิมเป็นไหน ๆ ทำให้เซอร์ จอห์น มาเดจสกี้ ก็เริ่มมองถึงโอกาสก้าวต่อไปของทีมเดอะ ยัลส์ เขาเริ่มวางแผนสละการเป็นหัวเรือใหญ่ของทีมตามอายุอานามที่มากขึ้น 

มาเดจสกี้ หรือที่ใครต่อใครยกย่องว่าเป็น “มิสเตอร์ เร้ดดิ้ง เอฟซี” เริ่มจากการขายหุ้น 51% ในราคา 40 ล้านปอนด์ให้กับเทมส์ สปอร์ต อินเวสเมนท์ส (Thames Sports Investments) กลุ่มทุนจากรัสเซีย ภายใต้การนำแอนตัน ซิงกาเรวิช ในปี 2012 โดยข้อตกลงตอนนั้น เขาได้ให้สัญญากับแฟน ๆ ด้วยว่าจะดำรงตำแหน่งประธานต่อไปอีกอย่างน้อยสองปี ตามด้วยการเป็นประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีวิต

เร้ดดิ้งในยุคของกลุ่มทุนจากแดนหมีขาวนับว่ายังคงสถานะทีมที่ไม่ได้เดือดร้อนขัดสน การจับจ่ายใช้สอยอยู่ภายใต้งบประมาณที่มีและรอบคอบ 

เช่นเดียวกับผลงาน ที่ยังทำออกมาได้แบบเชิดหน้าชูตาได้ในระดับที่แฟนบอลพอใจ อย่างการกลับไปสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้งในรอบ 5 ปี หรือแม้แต่วันที่ซิงกาเรวิชลงจากการบริหาร เปลี่ยนมือมาเป็นกลุ่มทุนไทย ประกอบไปด้วยสามนักธุรกิจอย่าง คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์, สัมฤทธิ์ สัมฤทธิ์ ธนะกาญจนสุทธิ์ และนรินทร์ นิรุตตินานนท์ ในปี 2014 การบริหารเร้ดดิ้งก็ยังคงมีเรื่องของความสม่ำเสมออยู่ร่ำไป

จากนั้นเร้ดดิ้ง เอฟซี ก็ถึงการเปลี่ยนมือเจ้าของทีมอีกครั้งในปี 2017 เมื่อไต้ หยงเก๋อ และ ไต้ ซิ่ว หลี่ สองพี่น้องนักธุรกิจจากประเทศจีน ได้เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่จากกลุ่มทุนไทย 

ด้วยความมั่งคั่งของนักธุรกิจจากจีน ที่ ณ เวลานั้นใครหลายคนต่างก็มองเป็นเสียงเดียวกันว่าจีนคือหนึ่งในชาติมหาอำนาจรายใหม่ของโลก เช่นเดียวกัน ลีกอาชีพสูงสุดของจีน อย่างไชนีส ซูเปอร์ลีก ก็อยู่ในช่วงกวาดกว้านซื้อซูเปอร์สตาร์เข้าไปโลดแล่น 

ขณะที่นักธุรกิจเลือดมังกรหลาย ๆ คนก็กระโดดเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมฟุตบอลยุโรป ในรูปแบบของเจ้าของสโมสรที่ถือหุ้นใหญ่ ว่ากันว่านี่เป็นหนึ่งในแผนงานของรัฐบาลจีนที่ต้องการยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในโลกลูกหนัง

ที่เร้ดดิ้งก็เช่นกัน พวกเขาได้กลุ่มทุนรายใหม่จากจีน การคาดการณ์ถึงผลงานข้างหน้าย่อมมองไกลไปถึงการยกระดับให้ใหญ่กว่าเดิม เรื่องนี้เซอร์ จอห์น มาเดจสกี้ ในฐานะปูชนียบุคคลของสโมสร ก็เห็นดีเห็นงามด้วย

“ใครก็ตามที่มีเงินทองมหาศาล และมีส่วนร่วมกับสโมสรเร้ดดิ้ง ทุกคนล้วนแต่ทำให้ทุกวันของผมมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามา”

 

การมาของไต้ หยงเก๋อ

การมาของมหาเศรษฐีจากจีน นำโดยไต้ หยงเก๋อ อยู่ในช่วงที่เร้ดดิ้งกำลัง “ขาขึ้น” ไม่น้อย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว (พฤษภาคม 2017) ทัพเดอะ รอยัลส์ กำลังมีลุ้นตั๋วเพลย์ออฟเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก แต่ที่สุดแล้วทีมก็พลาดตั๋วเลื่อนชั้นจากการพ่ายฮัดเดิลส์ฟิลด์ ในการดวลลูกโทษตัดสิน (3-4)

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้แฟนคลับทีมดังแห่งเบิร์คเชียร์สต้องใจเสีย เพราะการมาของไต้ หยงเก๋อ ในฐานะกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจค้าปลีกในจีน อย่าง เริ่นเหอ สปอร์ตส เมเนจเมนต์ (Renhe Sports Management Co Ltd.) ได้ริเริ่มการทุ่มทุนงบประมาณแบบเน้น ๆ นับแต่ซีซั่นใหม่ (2017-18) ใกล้อุบัติ 

นอกจากโลกจะรับรู้ว่าไต้ หยงเก๋อ เป็นมหาเศรษฐีจากจีนแล้ว คนในแวดวงชั้นสูงของอังกฤษยังรับรู้ด้วยว่าเขาเช่าคฤหาสน์ 7 ชั้น มูลค่าแตะหลัก 76.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอยู่ระแวกเดียวกันพระราชวังบักกิงแฮม และเป็นลูกค้าประจำของคาสิโนในเมย์แฟร์ (Mayfair) หรือย่านหรู ณ เมืองหลวงของอังกฤษด้วย

นักธุรกิจจากแดนมังกรผู้นี้ วางวิสัยทัศน์กว้างไกลสู่อนาคต ไม่ว่าจะการขยายสนามเหย้าให้ยิ่งใหญ่กว่ายุคของมาเดจสกี้ ไปจนถึงจัดงบเสริมทัพนักเตะ ดึงโค้ชตลอดจนทีมงานมากฝีมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยรวมนับแต่ปี 2017 จนถึง 2023 มีการเปิดเผยเม็ดการลงทุนของเขา คิดเป็นมวลรวมทั้งหมดสูงถึง 200 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเขากลับไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีตอบแทนกลับมา ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งกลายเป็นปัญหา เรื่องติดลบ มากกว่าเรื่องในทิศทางบวก ซึ่งท้ายสุดมันสอดรับกันหมดทั้งในและนอกสนาม

 

สาละวันเตี้ยลง

เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2017-18 หรือปีแรกที่เร้ดดิ้ง เอฟซี มีกลุ่มทุนจีนนำโดยไต้ หยงเก๋อ เข้ามาเทคโอเวอร์ สโมสรทุ่มเงินมากกว่าขวบปีที่ผ่าน ๆ มาเพื่อคว้านักเตะใหม่มาเสริมทีม ไล่มาตั้งแต่โซเน่ อลูโก้, วิโต้ มานโนเน่, โมดู บาร์โรว์ รวมถึงเลอันโดร บาคูน่า ซึ่งทั้งหมดมีค่าตัวรวมกันแตะหลัก 13 ล้านปอนด์ ตามมาด้วยซีซั่นต่อมา ที่คว้าตัวแซม บัลด็อค มาจากไบรท์ตันฯ ด้วยค่าตัวถึง 3 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม นักเตะทุกคนที่เอ่ยมานี้ล้วนแต่ทำผลงานสวนทางกับค่าตัวที่ดึง ยกตัวอย่างโซเน่ อลูโก้ กองหน้าที่มาจากฟูแล่ม ทำได้แค่ 6 ประตูจากการลงเล่น 102 นัดให้ทีม ตลอดเวลา 4 ปี เช่นเดียวกับหน้าเป้าอย่างบัลด็อค ที่ทำไปแค่ 11 ประตูจากการอยู่กับทีม 3 ปี และที่สุด ทั้งสองก็ไม่ได้รับต่อสัญญา และถูกปล่อยตัวไปแบบฟรี ๆ 

เช่นเดียวกับผลงานของเดอะ รอยัลส์ในช่วงสองซีซั่นแรกยุคไต้ หยงเก๋อ เปลี่ยนสถานะจากทีมอันดับสามลุ้นตั๋วเลื่อนชั้นในซีซั่น 2016-17 สองปีต่อมาทีมกลับรั้งอันดับที่ 20 หน้าตาเฉย

เมื่อเห็นท่าไม่ดี ในซัมเมอร์ 2019 เร้ดดิ้งยัง “ไม่หยุด” นโยบายเสริมทัพนักเตะด้วยราคาที่สูงเกินกว่าที่เคยทำมาในยุคเจ้าของคนก่อน แน่นอนว่าต้องการดึงตัวเองกลับมาสู่ในจุดที่ควรจะเป็น 

การอนุมัติของไต้ หยงเก๋อ ในเวลานั้น แปรเปลี่ยนมาเป็นนักเตะค่าตัวสูงอย่างจอร์จ ปุสกัส จากอินเตอร์ มิลาน ที่ 7.5 ล้านปอนด์ สูงเป็นสถิติของสโมสรด้วย ตามด้วยลูคัส เจา จากเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ที่ 5 ล้านปอนด์ 

การที่ทีมเสริมทัพด้วยงบประมาณดังกล่าว ทำให้เร้ดดิ้งต้องจ่ายค่าจ้างนักเตะทีมรวมกันถึง 37.5 ล้านปอนด์ โดยมีถึง 12 คน ที่สโมสรต้องจ่ายค่าเหนื่อยให้อย่างน้อย 20,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 1 ล้านปอนด์ต่อปี

แทนที่การเสริมทัพจะทำให้สโมสรทะเยอะทะยานไปข้างหน้า ไป ๆ มา ๆ ก็ยังไม่ได้ขึ้นดั่งบัวพ้นน้ำ 2019-20 เร้ดดิ้งจบอันดับ 14 ในแชมเปี้ยนชิพ เรียกได้ว่าก้าวขึ้นมาจากเดิมแค่ 6 อันดับเท่านั้น

ว่ากันว่าหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในตลาดซื้อขายของสโมสรก็คือเคย จูรับเชียน (Kia Joorabchian) ซึ่งรู้จักกับไต้ หยงเก๋อเป็นการส่วนตัว และนั่นก็ทำให้อดีตนายหน้าที่เคยนำคาร์ลอส เตเบซ และฮาเวียร์ มาสเคราโน่ มาพรีเมียร์ลีก มีบทบาทสำคัญในการสรรหานักเตะ ถึงขึ้นที่ว่าถูกแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษาลับ” ของสโมสร

“(ไต้) ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไป (ให้สโมสร) เขาได้รับคำแนะนำจากคนที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของสโมสร เอเยนต์ชื่อดังคนหนึ่งมีความสนิทสนมกับเขา และคอยช่วยเหลือในเรื่องการสรรหาบุคลากร ซึ่งเป็นประโยชน์กับพวกเขาทั้งคู่มากกว่าสโมสร” คีแรน แม็คไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินฟุตบอล วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ผ่าน MailOnline

ขณะเดียวกัน จิตวิญญาณของเดอะ รอยัลส์ ก็เริ่มจะจางหายลงไปเช่นกัน เนื่องด้วยแนวทางของทีมในตอนนั้นคือสร้างความสำเร็จด้วยการเสริมขุมกำลังค่าตัวหนักเมื่อเทียบกับระดับลีกรอง ความสำคัญของดาวรุ่งถูกจำกัดลงไป 

หนึ่งในดีลที่แฟนบอลเดอะ รอยัลส์เสียดายที่สุดก็คือการปล่อยไมเคิ่ล โอลิเซ่ ไปคริสตัล พาเลซ ด้วยค่าตัวสูงแตะหลัก 8 ล้านปอนด์ ก่อนจะสถาปนาตัวเองเป็นแนวรุกเนื้อหอมคนหนึ่งของวงการลูกหนังอังกฤษ

วิบากกรรมยังซัดมาหาสโมสรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิกฤตโรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญในปี 2020 กับ “โควิด-19” ทำให้สโมสรไม่อาจหยิบจับใช้สอยเงินได้ถนัดถนี่ ยิ่งไปกว่านั้นคือวิกฤตที่เกิดจากกลุ่มทุนจีนโดยตรง เมื่อธุรกิจหลักของไต้ หยงเก๋อ อย่างกิจการค้าปลีกเริ่นเหอที่จีน ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ 

“ตามรายงานของสื่อจีน ความมั่งคั่งของสองพี่น้อง (ไต้ หยงเก๋อ และ ไต้ ซิ่ว หลี่) ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาคการค้าปลีกในบ้านเกิดของพวกเขาหดตัวลง หลังจากการขยายตัวแบบขีดสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” รายงานจากสื่อสายเจาะอย่าง The Athletic ระบุ

เช่นเดียวกับการโอนเงินระหว่างประเทศก็ถูกจำกัดมากขึ้น หลังรัฐบาลจีนกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเงินทุนไหลออกนอกประเทศ ทำให้ไต้ หยงเก๋อ ไม่อาจโอนเงินจากจีนไปอังกฤษได้เหมือนก่อน 

ยิ่งในส่วนของฟุตบอล ยิ่งสอดรับกับนโยบาย “ไชน่าเฟิร์ส” หรือคนจีนต้องมาก่อน ให้ความสำคัญกับฟุตบอลในประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น หากนักธุรกิจคนใดที่เคยลงทุนเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลต่างชาติ และหากธุรกิจของตัวเองล้มในช่วงโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไม่ได้สนับสนุนเหมือนเคย 

“รัฐบาลจีนมีมุมมองว่าพวกเขาต้องการขยายอิทธิพล แต่เมื่อประธานาธิบดีสี (จิ้นผิง) คิดแนวทางใหม่ ความปรารถนาในการสนับสนุนให้คนจีนซื้อสโมสรยุโรปก็ถูกลดทอนลงไป ไต้ ประสบความสำเร็จ (ในแง่ธุรกิจ) ในจีนก็จริง แต่รัฐบาลจีนก็มีผลมากพอ (กับการตัดสินใจว่าเงินจำนวนมากนั้นสามารถเอาออกนอกประเทศได้หรือไม่)” คีแรน แม็คไกวร์ ระบุต่อ “หากทางการจีนไม่อนุมัติให้เงินออกไป เงินก็จะคงค้างอยู่แบบนั้น ”

เพื่อตัดรายจ่ายเกินจำเป็นไปบ้าง เป็นเหตุทำให้กลุ่มทุนจากตระกูลไต้ ประกาศยุบสองสโมสรที่ตัวเองเป็นเจ้าของนอกจากเร้ดดิ้ง ประกอบด้วย เคเอสวี โรเซแลร์ (KSV Roeselare) ในลีกเบลเยี่ยม รวมถึงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) เริ่นเหอ ในลีกจีน เมื่อปี 2021

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยุ่งเหยิงทั้งหมดถูกเชื่อมโยงมาที่เร้ดดิ้งอย่างมีนัยยะสำคัญ มันไม่ต่างอะไรกับ “ดินพอกหางหมู” ที่รอวันสะสาง

จนกระทั่งมีรายงานออกสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2021 เมื่อ “EFL -  English Football League” หรือฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอังกฤษ ตรวจสอบสภาวะการเงินของเร้ดดิ้ง เอฟซี ในระหว่างซีซั่น 2017-18 ไปจนถึง 2020-21 

โดย EFL พบว่าสโมสรขาดทุนสะสม 57.8 ล้านปอนด์ เกิดกว่าขอบเขตที่ลีกกำหนดไว้ 39 ล้านปอนด์ ผิดกฎเรื่องการทำกำไรและความยั่งยืนของทางฝ่ายจัดการแข่งขันเข้าเต็ม ๆ และบทลงโทษที่สโมสรได้รับก็คือการถูกตัด 6 แต้ม พร้อมกับโดนคาดโทษไว้อีก 6 แต้ม หากยังหาเงินมาชำระไม่ได้ หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2022-23

จนแล้วจนรอด เร้ดดิ้ง ก็หาเงินมาจ่ายหนี้ที่ทำไว้ไม่ทัน จากที่โดนโทษ 6 แต้มในฤดูกาล 2021-22 ต่อเนื่องมายังฤดูกาล 2022-23 ก็โดนโทษที่คาดเอาไว้เดิมเล่นงานต่อ 

ทันทีที่เกมส่งท้ายเดอะ แชมเปี้ยนชิพ จบลง พวกเขากลายเป็นทีมอันดับที่ 22 กลายเป็น 1 ใน 3 ทีมที่ต้องไปนับหนึ่งใหม่ในลีกวัน ถือเป็นการลดชั้นมาเล่นลีกระดับนี้ในรอบกว่า 30 ปีเลยทีเดียว

 

ดิ่งสู่ลีกวัน

โดนตัดแต้มรวม ๆ 6 แต้มว่าหนักแล้ว ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลลีกวัน 2023-24 เร้ดดิ้งเจอเรื่องราวที่หนักหนากว่าเดิมขึ้นไปอีกขั้น 

เมื่อ EFL ได้ตั้งข้อหาไม่จ่ายเงินเดือนให้นักเตะ โค้ชและสตาฟ แบบเต็มจำนวนและตรงเวลาเป็นจำนวน 3 ครั้ง ในฤดูกาลก่อนหน้า และผลที่ตามมาก็คือการถูกตัด 1 แต้มในวันที่ 16 สิงหาคม 

ทำเอาเดือดร้อนถึงขั้นที่ว่ามาร์ค โบเวน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการฟุตบอลของสโมสร รวมถึงรูเบน เซเลส กุนซือคนปัจจุบัน ยอมสละค่าจ้างทั้งหมด รวมถึงที่ยังค้างอยู่ จนกว่านักฟุตบอลของทีมจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าแบบที่ควรได้รับ 

ตามมาด้วยวันที่ 13 กันยายน 2023 สโมสรโดนตัดอีก 3 แต้ม โทษฐานที่ไม่ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารตามที่กำหนด นั่นเท่ากับว่าเร้ดดิ้ง โดนตัดแต้มรวม ๆ กันจากกรณีค้างค่าใช้จ่ายภายในสโมสรไปแล้วถึง 16 แต้มด้วยกัน แน่นอนว่าพวกเขาอาจถูกตัดแต้มมากกว่านี้ หากยังชำระหนี้ไม่สำเร็จในเวลาที่กำหนดในเบื้องหน้า

ขณะที่ตัวเจ้าของสโมสรอย่างไต้ หยงเก๋อ ก็โดนปรับเงินมากกว่าหนึ่งครั้งเข้าไปแล้ว อย่างล่าสุด ในเดือนธันวาคม 2023 เขาถูก EFL ปรับเงิน 20,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 8.7 แสนเลยทีเดียว

เรื่องนอกสนามส่งผลกระทบมายังเรื่องในสนามอย่างยากจะปฏิเสธ เพราะในลีกวัน 2023-24 สโมสรหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้บริการนักเตะจากอคาเดมี่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน นักเตะแกนเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทยอยออกจากทีมไปทีละคน 

แน่นอนว่าทั้งการถูกตัดคะแนน และใช้บรรดานักเตะยังบลัดลงบู๊ ผลคือเดอะ รอยัลส์ ออกสตาร์ตซีซั่นในฐานะทีมโซนสีแดง ถึงตอนนี้หลังผ่านแมตช์เดย์ที่ 22 ทีมรั้งอันดับ 21 จาก 24 ทีม

อนึ่ง ผลกระทบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ได้สร้างผลกระทบแค่ทีมชุดใหญ่เท่านั้น เพราะทีมหญิงเร้ดดิ้งก็เจอวิบากกรรมไม่น้อยหน้า ภายหลังจากทัพเดอะ รอยัลส์ วีเม่น ตกชั้นจากลีกสูงสุดมาลีกรอง บอร์ดบริหารเลือกหั่นงบประมาณโดยแปรเปลี่ยนสถานะให้ทีมหญิงกลายเป็น “ทีมสมัครเล่น” แทน

จากเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ไต้ หยงเก๋อ ถูกกลุ่มแฟนบอลท้องถิ่นลงถนนประท้วงการทำทีมอยู่เรื่อยมา เช่นเดียวกับการแสดงสัญญะในสนามซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทั้งแบนเนอร์และการพร้อมใจกันปาลูกเทนนิสลงในผืนหญ้าสเตเดี้ยม เป็นต้น


  
“จิตวิญญาณของสโมสรแห่งนี้ถูกดูดกลืนโดยเจ้าของที่โคตรห่วยแตก แม้แฟนบอลบางคนจะยังเชียร์ต่อ แต่หลาย ๆ คนก็ไม่เต็มใจที่จะมาเชียร์ทีม คุณไปตำหนิพวกเขา (แฟนบอลที่เลิกเชียร์) ไม่ได้นะ เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผลงานทั้งในและนอกสนามของทีมมันย่ำแย่จริง ๆ สถานการณ์นอกสนามมันไม่ได้แค่ตลกเท่านั้นนะ แต่มาตรฐานในสนามก็ดร็อปลงด้วย นับแต่ที่ไต้ หยงเก๋อ เข้ามา” อดัม โจนส์ แฟนบอลเร้ดดิ้ง และโฆษกกลุ่ม “Sell Before We Dai (Die)” ระบายความในใจ 

“แทนที่ฟุตบอลจะเป็นสิ่งประโลมใจจากชีวิตประจำวัน แต่สำหรับแฟนบอลที่นี่ การใช้ชีวิตประจำวันกลับช่วยหลีกหนีเรื่องราวของเร้ดดิ้งได้มากกว่า”

 

เทคโอเวอร์คือทางออก

ในระหว่างที่เร้ดดิ้งของไต้ หยงเก๋อ เผชิญข้อหาค้างค่าใช้จ่ายภายใน และรอให้เงินก้อนงวดแรกถูกจ่ายออกไปเพื่อไม่ให้โดนโทษเพิ่มในอนาคต สโมสรมีข่าวเชื่อมโยงกับการหากลุ่มทุนรายใหม่เข้ามาทำทีมอยู่เรื่อย ๆ 

มีรายงานว่าไต้ หยงเก๋อ ปักป้ายขายสโมสรในงบหลัก 50 ล้านปอนด์ขึ้นไป ถึงตอนนี้มีกลุ่มทุนที่แสดงความสนใจเข้าเทคโอเวอร์อยู่ 3 ราย คือไมค์ แอชลี่ย์ อดีตเจ้าของทีมนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด, เจเนฟรา แอสโซซิเอทส์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนด้านการลงทุนในประเทศลักเซมเบิร์ก รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนที่ยังไม่ประสงค์นามจากฝั่งสหรัฐอเมริกา

ไม่แน่ว่าฟ้าอาจจะเปิดในเร็ววัน เพราะตอนนี้กระบวนการเสนอขายสโมสรอยู่ในช่วงเดินเรื่องเต็มอัตรา เมื่อไนเจล ฮาว อดีตผู้บริหารระดับสูงของเดอะ รอยัลส์ และเป็นอดีตคนขับเคลื่อนสโมสรในยุคเซอร์ จอห์น มาเดจสกี้ เป็นหัวใหญ่ในการช่วยไต้ หยงเก๋อเจรจา 

“การที่เขา (ไนเจล ฮาว) สรรหานักลงทุนที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เราอยากได้เจ้าของทีมคนใหม่ที่ดูสมเหตุสมผล ไม่ต้องผลีผลามและไม่ละเมิดกฎต่าง ๆ และเขาขอเรียกร้องให้ EFL เข้มงวดกับการตรวจสอบสถานะของเจ้าของใหม่ด้วย” แคโรไลน์ พาร์คเกอร์ โฆษกอีกคนของกลุ่ม "Sell Before We Dai" เรียกร้อง

“เพื่อไม่ให้เรื่องแย่ ๆ แบบนี้เกิดขึ้นอีก” 

ดังนั้นแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การหากลุ่มทุนรายใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด สำหรับแก้ไขสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของสโมสรที่ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 152 ปี

 

แหล่งอ้างอิง

https://youtu.be/x2UyfzT0DjM?si=gFs3WLv9pmLo_YhP 
https://theathletic.com/4904783/2023/09/29/readings-desperate-plight-191m-losses-16-points-docked-and-a-silent-owner/ 
https://theathletic.com/2963680/2021/11/19/special-report-bewildering-decline-reading-football-club/ 
https://www.dailymail.co.uk/news/article-12724425/Dai-Yongge-Chinese-billionaire-accused-running-ReadingFC-King-Charles-neighbour-multi-million-pound-London-mansion-vast-property-portfolio.html 
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/22/reading-dai-yongge-efl-league-one-model-club-abyss/ 
https://www.bbc.com/sport/football/67763259

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา