ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย มีโปรแกรมสำคัญเตรียมลงสู้ศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 6 กันยายนนี้ ซึ่งถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของ “7 เซียนรุ่นใหม่” เลยก็ว่าได้
พวกเธอทั้ง 7 คน ปิยะนุช แป้นน้อย, พรพรรณ เกิดปราชญ์, ทัดดาว นึกแจ้ง, หัตถยา บำรุงสุข, อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี และพิมพิชยา ก๊กรัมย์ ต่างก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจากรุ่นพี่ ภายใต้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเจตจำนงที่ได้รับสืบทอดมาจา 7 เซียนรุ่นก่อน
ด้วยความพร้อมและปัจจัยหลายด้าน พวกเธอจึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้พาทีมชาติไทยไปสู่ความฝันที่รุ่นพี่ 7 เซียนยังไม่เคยไปถึง นั่นก็คือผ่านเข้าไปเล่นในศึกโอลิมปิกเกมส์
เรื่องราวของ “7 เซียนรุ่นใหม่” เป็นอย่างไร และอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้พวกเธอก้าวไปไกลกว่ารุ่นพี่ชุดก่อน ติดตามได้ที่ Main Stand
The Magnificent Se7en
หลังจากที่ “7 เซียน” วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย นำโดย นุศรา ต้อมคำ, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์, อำพร หญ้าผา, มลิกา กันทอง, วรรณา บัวแก้ว และวิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กัปตันทีม ประกาศอำลาทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการไป เมื่อปลายปี 2021
แฟนลูกยางไทยและทั่วโลกต่างจับตาดูว่าใครจะก้าวขึ้นมาแทนที่พวกเธอเพื่อสานต่อความสำเร็จที่เคยทำไว้ เพราะมาตรฐานและผลงานที่พี่ ๆ ชุดนี้ฝากไว้นั้นสูงลิ่ว โดยเฉพาะการคว้าแชมป์เอเชีย 2 สมัย ในปี 2009 และ 2013 รวมถึงการเฉียดได้ไปเล่นโอลิมปิกเกมส์ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด
ทว่ากองเชียร์ไม่ต้องรอนาน เหล่าบรรดานักตบลูกยางสาวเลือดใหม่ในทีมก็พิสูจน์ตัวเองให้เห็นในทันทีว่าพวกเธอพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นมารับไม้ต่ออย่างเต็มภาคภูมิ
เพียงแค่ทัวร์นาเมนท์แรกในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมไทยลงแข่งขันโดยไม่มีรุ่นพี่ 7 เซียนอยู่ในทีม เหล่าบรรดาผู้เล่นสายเลือดใหม่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง รวมพลังคว้าแชมป์สมัยที่ 15 ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ
ก่อนจะต่อยอดด้วยฟอร์มอันร้อนแรงในศึกเนชั่นลีก (VNL 2022) ซึ่งถือเป็นรายการที่พวกเธอได้โชว์ศักยภาพให้นานาชาติได้เห็นเลยก็ว่าได้ ทั้งรูปแบบการเล่นอันเร้าใจ ทักษะฝีมือในสนาม เกมรุก/เกมรับที่ลงตัว รวมถึงสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นชัดเจนคือ “ความใจสู้” ให้แฟน ๆ ได้ลุ้นได้เชียร์กันอย่างสนุก
จนท้ายที่สุดสามารถพาทีมชาติไทยผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ชนิดที่รุ่นพี่ 7 เซียนยังไม่เคยทำได้ในรายการนี้ พร้อมมีเกมที่น่าจดจำมากมายทั้งการชนะแชมป์โลก เซอร์เบีย และชนะเบอร์ 1 ของเอเชียอย่างจีน
ผลงานอันโดดเด่นตลอดทัวร์นาเมนท์ทำให้ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ขนานนามผู้เล่นตัวหลักทั้ง 7 คนของไทย ว่าเป็น “The Magnificent Se7en” หรือ “7 เซียนยุคใหม่” เลยทีเดียว เพื่อเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเธอพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นมาสานต่อผลงานที่รุ่นพี่เคยฝากไว้
ตัวหลักในทีมชุดปัจจจุบันทั้ง 7 คน ต่างถูกยกมาเทียบรุ่นพี่ชนิดตำแหน่งต่อตำแหน่ง นำโดย “แป้น” ปิยะนุช แป้นน้อย (ลิโบโร่/กัปตันทีม), “ชมพู่” พรพรรณ เกิดปราชญ์ (เซตเตอร์), “แนน” ทัดดาว นึกแจ้ง, “เตย” หัตถยา บำรุงสุข (บอลเร็ว), “เพียว” อัจฉราพร คงยศ, “บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี และ “บีม” พิมพิชยา ก๊กรัมย์ (หัวเสา)
นอกจากนี้ FIVB ยังชื่นชมพวกเธอด้วยว่า ทั้ง 7 คน เป็นนักกีฬาที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ มีความทะเยอทะยาน มีสน่ห์ในการเล่นและครองใจแฟนๆ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขอบเขตในสนาม ตลอดจนการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของกีฬาอย่างแน่นอน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากโชคชะตาเพียงชั่วครู่ แต่ทุกอย่างถูกเตรียมการมาอย่างดี เรียกได้ว่าพวกเธอคือผลผลิตจากแผนงานที่สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย วางแพลนกันมานานเกือบ 10 ปีเลยก็ว่าได้
สายสัมพันธ์อันแนบแน่น
แม้จะถูกขนานนามว่าเป็น 7 เซียนรุ่นใหม่ แต่หากใครติดตามข่าวสารวงการวอลเลย์บอลคงจะคุ้นหูกับชื่อของพวกเธอเป็นอย่างดี
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทุกคนต่างผ่านการติดทีมชาติและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเวทีใหญ่มาแล้วอย่างโชกโชนตั้งแต่สมัยยังเป็นดาวรุ่ง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย พยายามเฟ้นหานักกีฬาหน้าใหม่มาทดสอบอยู่เสมอตั้งแต่ชุดเยาวชนไปจนถึงชุดใหญ่ ทั้งนักกีฬาดาวรุ่งและนักกีฬาที่ทำผลงานได้โดดเด่นในลีก ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาแทนตำแหน่งรุ่นพี่ในทีมได้ แต่ก็ได้รับโอกาสให้ลงเล่นอยู่เป็นระยะ
ตัวอย่างเช่น ในศึกชิงแชมป์เอเชีย 2013 ที่ทีมไทยคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ทัดดาว นึกแจ้ง ตอนอายุ 19 ก็ถูกเรียกมาติดทีมเพื่อเป็นกำลังเสริมและได้เปลี่ยนลงมาเป็นทางเลือกในการโจมตีแทนปลื้มจิตร์อยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับ พรพรรณ เกิดปราชญ์ และอัจฉราพร คงยศ ที่ได้โอกาสลงแทนนุศรากับวิลาวัณย์
หรือในปี 2014 ที่มีโปรแกรมทับซ้อนกันระหว่างเอเชียนเกมส์กับชิงแชมป์โลก ทางสมาคมตัดสินใจส่ง 7 เซียนและทีมชุดใหญ่ไปลุยเอเชียนเกมส์ ขณะที่ศึกชิงแชมป์โลกเลือกส่งดาวรุ่งไปแข่ง โดยมีเพียง วรรณา บัวแก้ว ไปช่วยประคองเท่านั้น
ทีมชุดดาวรุ่งนั้นนอกจากจะมีพรพรรณกับอัจฉราพรแล้วยังมี ชัชชุอร โมกศรี ที่เวลานั้นอายุเพียง 15 ปีติดทีมไปด้วย โดยมี “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เฮดโค้ชทีมชุดใหญ่คุมทัพไปด้วยตัวเอง
เรียกได้ว่าทุกคนใน 7 เซียนยุคใหม่ เคยผ่านการซ้อมและการติดทีมชาติชุดใหญ่ลุยทัวร์นาเมนท์สำคัญ ๆ เคียงบ่าเคียงไหล่กับรุ่นพี่ 7 เซียนมาหมดแล้ว พร้อมผ่านการขัดเกลาจากยอดโค้ชอย่าง “โค้ชอ๊อต” ไปจนถึง “โค้ชยะ” ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค ก่อนจะส่งไม่ต่อถึง “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ในปัจจุบัน
สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเธอทั้ง 7 คน ได้ซึมซับกับศักยภาพและความสามารถของรุ่นพี่มาอย่างเต็มอิ่ม ทั้งเรื่องเทคนิค เคล็ดลับ ฝีมือการเล่น ไปจนถึงการใช้ชีวิต การวางตัวนอกสนาม หรือแม้แต่รอยยิ้มและใบหน้าอันสดใสระหว่างแข่งขันที่ได้รับเสียงชมจากทั่วโลกไม่ต่างจากรุ่นพี่
“ความจริงเด็ก ๆ ชุดนี้เกือบครึ่งหนึ่งเราได้เตรียมตัววางแผนระยะยาวเรียกว่า Long-term planning มากับการสร้าง Hight Performance ทีมของเรามาประมาณ 6-7 ปีแล้ว หลายคนมาแข่งชิงแชมป์โลกกับผมตั้งแต่ปี 2014”
“ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นทีมเดียวกัน พวกเราได้ถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับน้อง จะเห็นได้ว่าเบื้องหลังของเตยหรือของแนนก็จะมีหน่องอยู่ข้างหลัง เบื้องหลังของเพียวหรือบุ๋มบิ๋มก็จะมีกิ๊ฟ มีอร อยู่ข้างหลัง เบื้องหลังของพิมพิชยาก็จะมีปูอยู่ข้างหลัง เบื้องหลังของแป้นหรือของยุก็จะมีวรรณาอยู่ข้างหลัง” โค้ชอ๊อต กล่าวถึง 7 เซียนยุคใหม่ผ่านทาง WorkpointTODAY
ความสัมพันธ์อันแนบแน่นเหล่านี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างและต่อยอดความสำเร็จของวงการวอลเลย์บอลหญิงไทยในห้วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และตอนนี้ถึงเวลาที่ “7 เซียนยุคใหม่” จะต้องเปิดฉากเรื่องราวบทใหม่ใหม่ด้วยตัวของพวกเธอเองแล้ว
บททดสอบที่ต้องพิสูจน์
ตลอดระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ลงแข่งแมตช์แรกอย่างเป็นทางการโดยไม่มีรุ่นพี่ 7 เซียนอยู่ในทีม แฟนลูกยางชาวไทยต่างจับจ้องและคอยติดตามดูว่าพวกเธอจะทำผลงานได้ดีขนาดไหน
นักกีฬาหลายคนโชว์ฟอร์มได้ดีและเป็นขวัญใจแฟน ๆ เมื่อถูกส่งลงสนามมาเปลี่ยนเกมในยามที่รุ่นพี่ยังไม่เลิกเล่นทีมชาติ แต่พอต้องมารวมตัวเล่นด้วยกันโดยไม่มีรุ่นพี่คอยประคองจะออกมาเป็นอย่างไร
ผลการแข่งขันที่ออกมาจึงยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ ให้เห็นอยู่บ้าง บางเกมโชว์ฟอร์มได้ระดับมาสเตอร์พีซ แต่บางเกมก็มีแผ่วมีผิดพลาดง่าย ๆ ให้เห็น จึงมีบางเสียงที่อาจมองว่าทีมชุดนี้ยังเทียบชั้นรุ่นพี่ไม่ได้ แต่อีกหลายเสียงยังเชื่อมั่นในตัวนักกีฬา
หากมองในมุมภาพรวม “7 เซียนรุ่นใหม่” ถือว่ามีความพร้อมที่เหนือกว่ารุ่นพี่อย่างชัดเจน นอกจากสายสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการสืบทอดมาแล้ว ผลงานต่าง ๆ ที่ได้รับจากรั้วทีมชาติยังช่วยส่งให้พวกเธอได้โอกาสไปเล่น ไปหาประสบการณ์กับสโมสรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศกันถ้วนหน้าตั้งแต่อายุยังน้อย
ผู้เล่นวัยเก๋าอย่างพรพรรณผ่านประสบการณ์มาแล้วทั้งในลีกอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น โรมาเนีย เกาหลีใต้ ขณะที่น้องเล็กอย่างชัชชุอรก็เล่นมาแล้วทั้งญี่ปุ่นและตุรกี
ไม่นับรวมผลพวงจากกระแสนิยมที่พวก ๆ พี่สร้างไว้ จนทำให้วอลเลย์บอลได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านงบประมาณจากภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงด้านการเตรียมความพร้อม ทั้งการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการเข้ามาเสริม
ความพร้อมเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่เชื่อว่า 7 เซียนรุ่นนี้จะทำผลงานก้าวข้ามรุ่นพี่ได้ในอนาคต โดยขอเวลาปรับจูนเข้าหากันอีกไม่นาน ซึ่งหนึ่งในคนที่เชื่อในเรื่องนี้ก็คือ นุศรา ต้อมคำ มือเซตเบอร์ 1 ที่เห็นฟอร์มการเล่นของน้อง ๆ ทุกคนตั้งแต่วันแรกที่ติดทีมชาติ
"สิ่งที่เหนือกว่ารุ่นของนุศ ก็อย่างเช่น เทคนิคบางอย่าง ตอนเราอายุ 20 ยังทำไม่ได้เลย แต่เด็ก ๆ เขาทำได้ตั้งแต่อายุ 18 แล้ว พวกเขาเริ่มเล่นระดับโลกตั้งแต่อายุน้อยมาก แถมมีศาสตร์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา ความฝันโอลิมปิกนุชเชื่อว่าถึงรุ่นของนุชจะได้แค่เกือบ แต่รุ่นของน้อง ๆ จะไปถึงได้แน่ ๆ ในสักวัน" เธอกล่าวผ่านเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง
ดังนั้นสิ่งที่เหล่าบรรดา “7 เซียนรุ่นใหม่” ต้องพิสูจน์นอกจากผลงานในสนามก็คือความความสำเร็จที่จับต้องได้ ซึ่งวันนี้พวกเธอและเพื่อน ๆ ในทีมมีด่านหินที่ต้องเผชิญ นั่นก็คือศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 ซึ่งเป็นรายการที่ 7 เซียนรุ่นก่อน เคยคว้าแชมป์มาได้แล้วถึง 2 สมัย
โดยรอบแรก ทีมไทย อยู่กลุ่ม A พบ ออสเตรเลีย วันที่ 30 สิงหาคม ต่อด้วย มองโกเลีย วันที่ 1 กันยายน ที่สนามชาติชาย ฮอลล์ จ.นครราชสีมา เวลา 18.00 น.
แล้วมาจับตาดูว่าพวกเธอจะสามารถคว้าความสำเร็จเทียบชั้นรุ่นพี่ในรายการนี้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นบันไดต่อยอดสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต