ฟุตบอลโลก คือทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะฟุตบอลโลกของทีมชายที่เรียกได้ว่าสร้าง "มูลค่า" นานัปการตลอดทุก ๆ 4 ปี
ยกตัวอย่าง ทีมชาติอาร์เจนตินา แชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันแตะหลัก 42 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,512 ล้านบาท) มากกว่าแชมป์โลก 2018 อย่าง ทีมชาติฝรั่งเศส ที่ได้เงินรางวัลราว 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,400 ล้านบาท) แถมยังเป็นเงินรางวัลที่สูงกว่าฟุตบอลโลก 2002 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึง 5 เท่า
ขณะที่เงินรางวัลของเวิลด์ คัพ ชาย มีแต่จะสูงขึ้นอยู่เรื่อยมา ในทางกลับกัน การแข่งขันเวิลด์ คัพ หญิง กลับมีคำถามและกลายเป็นวาระที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องเงินรางวัลที่ควรจะได้รับให้อยู่ในเกณฑ์ที่ "สมเหตุสมผล" มากกว่านี้ รวมถึงการ "ลดช่องว่าง" ของความต่างระหว่างเพศ ท่ามกลางมูฟเมนต์บนสังคมโลกที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่เรื่อยมา
จนกลายเป็นคำถามปลายเปิดที่ว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ฟุตบอลโลกหญิงจะมีโอกาสทำเงินรางวัลเท่าฟุตบอลโลกชาย
มาวิเคราะห์และหาคำตอบไปพร้อม ๆ กับ Main Stand
ฟุตบอลโลกหญิงในยุคแรก
หลังทำการทดลองในรูปแบบของฟุตบอลสาธิตในช่วงปลายยุค 1980s ในที่สุดฟุตบอลโลกของเพศหญิงก็อุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1991 หรือ 61 ปีให้หลังของการเกิดฟุตบอลโลกชายสมัยแรกเมื่อปี 1930 ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของการแข่งขันลูกหนังเพศหญิง
ความน่าตื่นตาตื่นใจแรกของวีเมนส์ เวิลด์ คัพ ในชื่อแรก "1st Fifa World Championship for Women’s Football for the M&M’s Cup" ที่สาธาณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ดึงดูดแฟนบอลได้ตลอดทัวร์นาเมนต์มากกว่า 500,000 คน
เวลาต่อจากนั้น ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกถูกจัดการแข่งขันขึ้นในทุก ๆ 4 ปี พร้อม ๆ กับการยกระดับให้ดูทัดเทียมกับฟุตบอลโลกทีมชายอยู่เรื่อยมา เช่น จากที่มี 12 ทีมเข้าร่วมชิงชัยในการแข่งขันหนแรกในปี 1991 ที่ประเทศจีน สู่การเพิ่มเป็น 16 ทีมในแข่งขันปี 1999 ที่สหรัฐอเมริกา และขยับมาสู่ 24 ทีม ในปี 2015 ที่แคนาดา
กระทั่งเป็น 32 ทีม ในปี 2023 หรือขวบปีปัจจุบันที่ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ
เช่นเดียวกับการบรรจุเวลาแข่งขันในสนาม จากปีแรกที่กำหนดให้แข่งขันกันในเวลา 80 นาที สู่เวลาการแข่งขันแบบเดียวกับทีมชายที่ 90 นาทีในปัจจุบัน
รวมถึงเรื่องผู้สนับสนุนของการแข่งขัน จากการซัปพอร์ตแค่เจ้าเดียวในการแข่งขันครั้งปฐมฤกษ์ สู่การสนับสนุนโดยแบรนด์ดังที่เพิ่มมาเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ มา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาพรวมของการจัดการแข่งขันจะออกมาในทิศทางที่ยกระดับสู่อนาคต ทว่าเมื่อมาเจาะรายละเอียดยิบย่อยก็จะพบเรื่องที่ "ไม่พร้อม" ในการจัดการแข่งขันอยู่บ่อย ๆ และเป็นไปในลักษณะที่ควบคู่กันไป โดยไม่ได้ให้ภาพการที่ดีในเรื่องการพัฒนาเสียทั้งหมด
แคทรีน เมอร์เรย์ (Caitlyn Murray) นักข่าวกีฬา ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นลงในหนังสือ "The National Team: The Inside Story of the Women Who Changed Soccer" เช่น ในปี 1991 ความทุลักทุเลของการเดินทางไปสู่ประเทศจีนของทีมหญิงสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าเครื่องบินโดยสารของทีมต้องแวะจอดรับทีมชาติหญิงสวีเดนและนอร์เวย์ก่อน ขณะที่ขากลับก็ต้องแวะส่งนักเตะจากทั้งสองชาติจากกลุ่มประเทศนอร์ดิก ก่อนจะไปปิดท้ายที่บ้านตัวเอง
แถมนัดชิงชนะเลิศที่ อเมริกา เอาชนะ นอร์เวย์ 2-1 ต่อหน้าผู้ชมในสนามกว่าครึ่งแสนกลับไม่มีการถ่ายทอดสดกลับไปที่สหรัฐฯ
ประเด็นเฉพาะเรื่องของนักฟุตบอลเพศหญิงก็ถูกอ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ ว่ากันว่านักเตะจากบางทีมได้รับค่าจ้างระหว่างเดินทางไปแข่งขันที่ต่างประเทศเพียง 15 เหรียญสหรัฐ หรือราว 500 บาทต่อคนเท่านั้น รวมไปถึงเรื่องสวัสดิการที่พักระหว่างเดินทางไปแข่งที่ทีมหญิงบางทีมต้องนอนในที่พักห้องใหญ่ห้องเดียว ขณะที่ทีมชายจะได้พักที่โรงแรม
ตลอดจนประเด็นสำคัญอย่างเงินรางวัลสำหรับการลงชิงชัยที่ว่ากันว่าฟุตบอลโลกหญิงไม่มีเงินรางวัลมอบให้ จนกระทั่งปี 2007 หรือกว่า 16 ปีจากการจัดการแข่งขันครั้งแรก เวิลด์คัพหญิงที่จัดขึ้นที่จีนเป็นสมัยที่สองเพิ่งเริ่มมีการให้เงินรางวัลกับบรรดา 16 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ด้วยวงเงินรวม 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 196 ล้านบาท)
ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับฟุตบอลโลกชายในเวลาที่จัดแข่งไล่เลี่ยกันคือฟุตบอลโลก 2006 จะเห็นว่าอย่างน้อย 32 ทีมที่ได้ลงแข่งรอบสุดท้ายที่ประเทศเยอรมนีจะได้เงินการันตีกันแล้วอย่างน้อยทีมละ 3 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 10 ล้านบาท
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าระหว่างที่ฟุตบอลโลกชายอยู่ในช่วงเบ่งบานเรื่อยมาที่มีมูลค่าและเงินรางวัลอยู่ในระดับสูง อีกฟากฝั่งหนึ่งฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกกลับได้รับเงินรางวัลน้อยกว่าหลายเท่าตัว
เป้าหมายที่อยากไปให้ถึง
แม้ว่าฟุตบอลโลกหญิงในยุคสมัยใหม่จะได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าในอดีต ดั่งเกมการแข่งขันของแต่ละทีมชาติที่มีความเข้มข้นขึ้นตามรูปแบบและวิธีการเล่นสอดรับกับฟุตบอลสมัยใหม่
ขณะที่เรื่องนอกสนามก็เริ่มถูกยกระดับมากขึ้นกว่าเดิม เช่น จากผู้สนับสนุนรายเดียวในปี 1991 สู่ผู้สนับสนุน 14 และ 25 ราย ในฟุตบอลโลกหญิง 2019 และ 2023 ตามลำดับ
กระนั้นเมื่อนำเรื่องความนิยมของฟุตบอลหญิงไปเทียบกับฟุตบอลชายก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามของใครหลายคนเรื่อยมา โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนในรูปแบบของ "เงิน" ที่ดูห่างกันหลายเท่าตัว
มีหลายปัจจัยที่ส่งให้ฟุตบอลโลกชายจุดกระแสและได้รับเงินสนับสนุนมากกว่า เราสามารถโยงไปได้ตั้งแต่ประเด็นเรื่องความเข้มข้นในเกมการแข่งขัน ฟุตบอลโลกชายเป็นรายการการแข่งขันที่รวมซูเปอร์สตาร์ดังจากทั่วทุกมุมโลกมาเผชิญหน้ากันแบบที่อาจจะไม่เคยได้เห็นในระดับสโมสร เป็นต้น
ตัวอย่างจากเรื่องในสนามที่ว่ามานี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟุตบอลโลกชายมีเม็ดเงินลงทุนที่มากกว่าและทำกำไรได้มากกว่าฟุตบอลหญิง ตลอดจนรายละเอียดสัญญาของผู้สนับสนุนและสัญญาการแพร่ภาพถ่ายทอดสดก็มีมูลค่าสูงกว่ามาก
"หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันได้เน้นย้ำว่าเงินรางวัลที่เสนอให้นั้นพิจารณาจากรายได้โดยรวมของทัวร์นาเมนต์ ของฟุตบอลโลกชายในปัจจุบัน และมันพิสูจน์ให้เห็นว่าทำกำไรได้มากกว่ามาก" โจชัว โทมัส นักข่าวจาก The Sporting News Australia ให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทางองค์กรแม่อย่างสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจะไม่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพราะ จานนี่ อินฟาติโน่ ประธานฟีฟ่า ก็ตระหนักถึงการทำให้ฟุตบอลโลกหญิงมีความเท่าเทียมกับฟุตบอลชายมากขึ้น เป้าหมายแรกคือการเพิ่มเงินรางวัลในเวิลด์คัพ หญิง 2023 ตามด้วยเป้าหมายระยะยาวคือความตั้งใจที่จะทำให้ฟุตบอลโลกหญิงครั้งถัดไป (2027) มีเงินรางวัลเท่าเทียมกับฟุตบอลโลกชาย 2026
ในส่วนแรกนั้นถือว่าทำได้สำเร็จ นั่นคือการเพิ่มเงินรางวัลให้ทีมชาติหญิงในเวิลด์คัพที่ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไว้ที่ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.7 พันล้านบาท) และมากกว่าฟุตบอลโลกหนก่อนหน้า (2019) ถึงสามเท่า (2019 มีเงินรางวัลรวมคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 พันล้านบาท)
แต่ต่อให้ฟุตบอลโลกหญิงจะได้รับการยกระดับและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูเรื่องความสมดุลของรายได้ระหว่างเงินรางวัลฟุตบอลโลกชายและหญิงก็จะเห็นว่ามันยังต่างกันลิบลับ
เพราะเมื่อนำเงินรางวัลฟุตบอลโลกหญิงมาเทียบกับฟุตบอลโลกชายตัวเลขก็ยังน้อยกว่าหลายเท่าตัว อย่างในฟุตบอลโลกชายสองหนหลังสุด เริ่มที่ 2018 (รัสเซีย) มีเงินรางวัลรวมทั้งหมด 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ มีเงินรางวัล 440 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท
นั่นเท่ากับว่าหากหวังให้เงินรางวัลอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้หรือเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงต้องคุยกันอีกมาก
ลดช่องว่างที่เริ่มจากตัวเอง
ความสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยปูทางไปสู่การขับเคลื่อนความเท่าเทียมด้านเม็ดเงินของรางวัลฟุตบอลโลกหญิงและชาย นั่นคือ "การออกมาแสดงจุดยืน (Call out)" เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาพร้อมเสนอแนะถึง "สิทธิ์" ต่าง ๆ ที่ควรได้รับมากกว่าที่เป็น
โดยสารตั้งต้นน่าจะมาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรลูกหนังหรือทีมชาตินั้น ๆ ซึ่งริเริ่มจัดการด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง เมแกน ราพิโน่ มักปรากฏบนหน้าสื่อในฐานะนักเตะผู้เรียกร้องถึงความเท่าเทียมในวงการฟุตบอล เช่นเรื่องที่นักฟุตบอลชายและหญิงควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน
ที่สุดแล้วสิ่งนี้กลายเป็นใบเบิกทางเล็ก ๆ ที่ทำให้สมาคมฟุตบอลสหรัฐฯ (USSF), สหภาพฟุตบอลหญิงสหรัฐฯ (USWNT) และ สหภาพนักเตะทีมชาติสหรัฐฯ (USNSTPA) บรรลุข้อตกลงเรื่องการแบ่งเงินให้กับทีมชายและหญิงเท่ากัน
กล่าวคือ ทั้งทีมชายและทีมหญิงต่างก็จะได้รับเงินรางวัลจากฟุตบอลโลก 2022 และฟุตบอลโลก 2023 ทีมละครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ได้เงินรางวัลจากฟุตบอลโลก 2022 ที่ 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งหมด 13 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังทีมพญาอินทรีชายลิ่วเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย
"นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ข้อตกลงเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงเกมการแข่งขันในสหรัฐอเมริกาไปตลอดกาล และมันมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงเกมฟุตบอลทั่วโลกไปด้วย" ซินดี้ พาร์โลว์ โคน ประธานสมาคมฟุตบอลแห่งสหรัฐฯ กล่าวหลังทีมชาติหญิงและชายบรรลุข้อตกลงนี้ร่วมกัน
เวลาต่อจากนั้น อังกฤษ บราซิล ออสเตรเลีย นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และ สาธาณรัฐไอร์แลนด์ ต่างก็เป็นชาติที่อ้างอิงข้อตกลงดังกล่าวมาปรับใช้กับทีมชาติชายและหญิงของตัวเอง
แม้จะยังบอกได้ไม่เต็มปากว่าในอนาคตเงินรางวัลของฟุตบอลหญิงจะขึ้นไปเท่ากับฟุตบอลชาย
แต่อย่างน้อยทุก ๆ แรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรแม่อย่างฟีฟ่า ตลอดจนองค์กรลูกหนังของแต่ละชาติ รวมถึงตัวนักฟุตบอลเองล้วนมีส่วนทำให้วงการฟุตบอลโลกหญิงขยับไปสู่อีกระดับ จากครั้งแรกสุดที่ทีมแชมป์ได้รับเพียงโทรฟี่ไปประดับตู้โชว์
แหล่งอ้างอิง
https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/womens-world-cup-prize-money-explainer
https://sport.optus.com.au/news/womens-world-cup-2023/os59287/prize-money-fifa-womens-world-cup-2023-how-much-will-the-winners-make-each-team
https://marketeeronline.co/archives/315561?fbclid=IwAR2BFrpP6LgX-HglKerGEAP0-BY3XbQIwVNC1W4lbq5r0l52uFsOyy9j5oU
https://www.goal.com/th/%E0%B8%82%E0%B9%
https://www.sportingnews.com/us/soccer/news/world-cup-prize-money-gap-men-women-earn-more-fifa/tm5tsynaq7ruagr65qwhdhmc
https://www.totalsportal.com/football/fifa-world-cup-prize-money/