Feature

ฆูเลน โลเปเตกี : กุนซือสายท้าทาย ปลุกวูล์ฟส์จากทีมใกล้ตาย ตอกหน้าคำเย้ยหยัน | Main Stand

"ตอนที่ผมตอบตกลงรับงานคุมทัพวูล์ฟแฮมป์ตัน มีแต่คนพูดกับผมว่า 'คุณคิดอะไรของคุณอยู่ ?'"

 


เบื้องต้นคือคำครหาที่มีต่อการตัดสินใจของ ฆูเลน โลเปเตกี (Julen Lopetegui) จากการเปิดเผยผ่าน The Guardian ในทำนองประมาณว่า รับงานที่ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ในช่วงที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ ฟอร์มสุดบู่จนจมอยู่ในโซนตกชั้น และดูไม่เหลือเค้าโครงของทีมที่เคยสั่นสะท้าน พรีเมียร์ลีก และยูฟ่า ยูโรป้า ลีก เมื่อหลายฤดูกาลก่อน ไม่กลัวว่าจะนำชื่อเสียงของตนเองที่สั่งสมอย่างยาวนาน มาทิ้งเล่น ๆ ให้เป็นที่โจษจันทั่วทั้งทวีปอย่างนั้นหรือ ? เผือกร้อนขนาดนี้เหตุใดยังกล้านำมือเปล่า ๆ ไปรับไว้ ไม่กลัวโดนลวกจนพองหรือ ?

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากวันที่เข้ามารับงานที่วูล์ฟส์อยู่อันดับบ๊วยของตารางคะแนน ทีมกลับพลิกขึ้นมาอยู่ในโซนปลอดภัย และลากยาวจนจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 13 เรียกได้ว่าอันดับสูงยิ่งกว่าแชมป์ ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ทีมล่าสุดอย่าง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เสียอีก

เกิดอะไรขึ้น ? โลเปเตกีพลิกนรกให้ทีมที่หายใจรวยรินให้ฟื้นคืนชีพได้อย่างไร ? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

เดอะ นิว ทิงเกอร์แมน

“สำหรับผม ฟุตบอลไม่ต่างอะไรกับเมล่อนเลย คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมล่อนที่คุณหยิบขึ้นมาพลิก ๆ ดูสุกแล้วหรือยังไม่สุก มีทางเดียวคือจะต้องผ่าออกเพื่อดูสี แน่นอนว่าฟุตบอลก็เช่นกัน คุณอาจจะคิดมาอย่างดีแล้วว่าจะต้องเล่นแผนนี้ ระบบนี้ วางตำแหน่งแบบนี้ แต่เชื่อผมเหอะ หน้างานไม่เป็นแบบที่คุณคิดเสมอไป คุณก็ต้องมาแก้ลำอีกที ต่างอะไรกับเมล่อนล่ะจริงไหม ?”

อุปมาเบื้องต้น โลเปเตกีกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าฟุตบอลนั้นเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากับสิ่งที่คาดการณ์แบบเที่ยงแท้ได้ยาก หรือกล่าวในมุมกลับกันคือ ฟุตบอลเป็นเรื่องที่ประจักษ์แจ้งในตนเองว่าจะต้อง “แก้หน้างาน” อยู่เป็นนิจ 

ดังนั้นสำหรับโลเปเตกีจึงไม่จำเป็นต้องหา “ซิกเนเจอร์” ของตนเองมาก่อนล่วงหน้าให้รกสมอง สู้ไปเจอหน้างานและพิจารณา ณ ขณะนั้นแล้วจึงนำมาประมวลผล รวบยอด และคิดออกแบบมาเป็นระบบที่เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้นจะบังเกิดผลทรงประสิทธิภาพมากกว่าเป็นไหน ๆ

ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการฟุตบอล เพราะมีการเรียกขานโค้ชที่ดำเนินแนวทางในลักษณะนี้ว่า “ทิงเกอร์แมน” และไม่ใช่ใครอื่นใดนอกจากชายที่ชื่อว่า เคลาดิโอ รานิเอรี่ ที่แฟนบอลคุ้นชินกันดี

แน่นอนว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รอยทางแบบทิงเกอร์แมนย่อมส่งผลมาเป็นรอยทางให้ได้นำไปปรับใช้ หนึ่งในนั้นคือโลเปเตกีที่ออกมายอมรับอย่างเปิดอกว่าเป็นพวกไม่คิดอะไรมาก่อนแล้วเน้นหน้างานล้วน ๆ ดังที่ยกโควตมาในข้างต้น ซึ่งหลายครั้งผลลัพธ์ก็ออกมาดีเกินคาด

โดยเฉพาะการรับจ๊อบคุมทัพ เซบีย่า ในปี 2019 หลังจากชีช้ำกะหล่ำปลี 2 ครั้งซ้อน กับทีมชาติสเปน ที่เจ้าตัวถูกปลดก่อนฟุตบอลโลก 2018 จะเริ่มไม่กี่วัน เหตุเพราะแอบไปตกลงกับ เรอัล มาดริด ว่าจะมาคุมทีมหลังที่คุมทีมหลังจบเวิลด์คัพฉบับรัสเซีย แถมคุมทัพราชันชุดขาวได้ไม่กี่เดือนก็โดนปลดซ้ำอีก ซึ่งในช่วงแรก ๆ เขาก็ไปแก้หน้างานไม่ต่างกัน ก่อนที่จะค้นพบเพชรจรัสแสงอย่าง ลูคัส โอคัมโปส และ ซูโซ่ ขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีม จากนั้นจึงค่อย ๆ เติมระบบของทีมแบบถาวรเข้าไปภายหลัง

การให้เหตุผลสนับสนุนตรงนี้จะทำให้สามารถชี้ให้เห็นความแตกต่างของระบบ 4-3-3 ที่หลายสื่อยกย่องว่าเป็นแทคติกประจำตัวของโลเปเตกีได้เป็นอย่างดี เพราะอย่าลืมว่า 4-3-3 คือระบบสามัญแห่งยุคปัจจุบันที่แม้แต่ลีกล่างก็ใช้กันถมเถ 

แน่ล่ะว่า 4-3-3 คือระบบยืนพื้นที่แสดงให้แฟนบอลรับชมในแต่ละสัปดาห์ หากแต่ในแมตช์การแข่งขันจริง ๆ โลเปเตกีกลับไม่ได้กำหนดแบบถาวรว่าต้องยืนตามแบบแผนที่วางไว้เป๊ะ ๆ

4-4-2, 4-2-3-1, 3-5-2, 3-2-3-2 และ 5-3-2 คือรูปแบบการยืนตำแหน่งที่โลเปเตกีนำมาใช้กับวูล์ฟส์ บางแมตช์เลือกหยิบมาใช้เพียงประการเดียว หรือบางแมตช์ผสมกันหมด แน่นอนว่านักฟุตบอลใต้อาณัติต้องเตรียมสมองและพลังกายให้พร้อมไม่น้อยเลยทีเดียว

และด้วยการเปลี่ยนสารพัดไม่เกรงใจเซลีเบรัมของนักเตะ แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของวูล์ฟจึงมีลักษณะ “สวิง” ไปมา เห็นได้จากแมตช์วันก่อนชนะแบบ Outstanding ไป 2-0 สัปดาห์ต่อมากลับทะลึ่งแพ้ 0-6 ไปแบบหมดรูป ก่อนจะกลับมาเฉือนชนะหวุดหวิด 1-0 ยันเสมอแบบหอบรับประทาน 1-1 และแพ้แบบหมดรูป 0-5 อีกที 

แต่ถึงแม้ผลการแข่งขันออกจะหลากหลายสักเพียงไหน แต่ผลลัพธ์ดันออกมาตามต้องการ นั่นคือแต้มที่เก็บได้เพียงพอต่อการอยู่รอด แม้จะไม่ได้สวยงามตามท้องเรื่อง แต่ก็ถือว่าปลดล็อกสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ

กระนั้นลำพังเพียงแทคติกหรือระบบทีมเพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจที่จะเป็นการให้เหตุผลสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งหมดได้ นั่นเพราะสามารถโต้แย้งได้ว่า บรูโน ลาจ ทำอะไรอยู่จึงไม่สามารถคิดวิธีการแก้ไขปัญหาแบบโลเปเตกีที่มีระยะเวลาน้อยกว่าได้ ?

เรื่องนี้ประเด็นเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการทรัพยากรบุคลที่มีอยู่อย่างจำกัด” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามา

 

มีอะไรใช้แบบนั้น

“สำหรับผม ที่ผมทำเป็นหนทางที่ควรจะเป็นของทีมแล้ว เพราะนักเตะเรามีเพียบ และเราจะต้องปกป้องพวกเขาจากอาการบาดเจ็บทั้งปวง”

สิ่งที่โลเปเตกีกล่าวไว้กับ Express and Star ทำให้คิดได้ว่า นอกจากระบบการเล่นจะ “ทิงเกอร์” แล้ว ในการเลือกใช้นักเตะก็ยัง “ทิงเกอร์” ไม่ต่างกัน หรือก็คือนักเตะในทีมมีเท่าไร โลเปเตกีจะพยายามผลักดันลงสนามให้ได้ทั้งหมดโดยไม่มีการการันตี 11 ตำแหน่งแบบถาวร ดังที่เขากล่าวต่อไป ความว่า

“คุณต้องมีแนวคิดในการหมุนเวียนนักเตะ แต่อย่าไปทำให้กระทบกับเกมการแข่งขัน แล้วมันจะเกิดประโยชน์กับทีมมาก (หมายถึงจะเปลี่ยนตัวมากชนิดยกทีม ต้องทำตั้งแต่จัดตัวผู้เล่น อย่าไปเปลี่ยนระหว่างแมตช์การแข่งขัน ไม่เช่นนั้นจะเสียรูปเกมได้ - เสริมโดยผู้เขียน)”

“แต่ในบางครั้งผมก็มาหวนนึกถึงสิ่งที่ได้ทำไปและพบว่าผมคิดถูก แต่ในบางครั้งผมก็ผิดพลาดได้เช่นกันแม้เจตนาจะช่วยเหลือทีม และที่สำคัญการจะปรับเปลี่ยนอะไรต้องขึ้นอยู่กับนักเตะที่มีด้วย ทั้งความคิด ความกระหาย การถวายหัวเพื่อผมในสนาม เรื่องนี้ต้องมาจากพวกเขา ฟุตบอลขึ้นอยู่กับนักเตะน่ะครับ” 

ตรงนี้หากอ่านระหว่างบรรทัดอาจพบว่า โลเปเตกีนั้นแม้จะไม่ได้ท่องเอาไว้ในใจว่ามี 11 ตัวจริง แต่ก็ไม่ได้จับนักเตะมาลงสนามแบบส่งเดช เขาจำเป็นต้องพิจารณาว่านักเตะในสต็อกนั้น “มีของ” มากพอที่จะให้ลงสนามภายใต้การคุมทีมของเขามากน้อยเพียงใด 

ซึ่งโชคยังดีที่วูล์ฟส์ยังได้ทิ้งมรดกในเรื่องนักเตะไว้ แม้จะเสียกำลังหลักจากชุด “โปรตุเกสสาขาสอง” ไปมาก แต่นักเตะที่ทยอย ๆ เติมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นนักเตะจากคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) หรือนักเตะชาติอื่น ๆ ก็ทดแทนกันได้อย่างเหลือเชื่อ

เช่น หากแมตช์ใด ฮวาง ฮี ชาน เล่นไม่ออก ข้างสนามก็ยังมี แดเนี่ยล โพเดนซ์, เปโดร เนโต้ และ อดาม่า ตราโอเร่ ที่เล่นในวิถีแบบเดียวกันเป๊ะ ๆ คอยสับเปลี่ยนลงสนาม หรือหากแมตช์ใด ดิเอโก้ คอสต้า เริ่มที่จะไฟไหม้หัวก็ยังมี ราอูล ฮิเมเนซ และ มาเทอุส คุนญ่า รอเสียบ ซึ่งแน่นอนว่าในแมตช์ต่อมาก็ใช่ว่า ฮี ชาน และ คอสต้า จะได้ลงสนาม อาจเป็น อดาม่า กับ ราอูล ลงสนามแล้ว ฮีชาน และ คอสต้า รอเสียบก็ย่อมได้ 

ขนาดนักเตะที่โลเปเตกีชื่นชมอย่างมากจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นลูกรัก นั่นคือ เคร็ก ดอว์สัน ยังต้องสลับกันลงสนามกับ นาธาน คอลลินส์ หรือ มักซ์ คิลมาน เลย

แน่นอนว่าการพยายามเวียนใช้นักเตะก็ทำให้ความเข้มข้นในเรื่องโอกาสสำหรับนักเตะลดน้อยลงเป็นเงาตามตัว กระนั้นการไม่การันตีให้กับนักเตะคนไหนเลยก็เป็นดาบสองคม เพราะความมั่นคงของทีมอาจล้มกระทบชิ่งเป็นโดมิโนได้ง่าย (เพราะไม่มีวันรู้ว่าวันไหนเราจะเสียตำแหน่งหรือได้ตำแหน่ง)

ตรงนี้โลเปเตกีย่อมคิดมาเป็นอย่างดีและพยายามเคลียร์ให้จบในแมตช์นั้นหากมีนักเตะคนใดไม่ได้รับเลือกให้ลงสนาม ดังที่เขาเปิดเผยกับ Sky Sports ไว้ว่า

"ผมก็ต้องแฟร์กับนักเตะทุกคนในทีม อย่าลืมว่าแต่ละเกมใส่ชื่อผู้เล่นได้เพียง 20 คน ย่อมมีคนที่ไม่ได้ลงเล่นเป็นธรรมดา แน่นอนว่าการแข่งขันย่อมสูงขึ้น ผมก็แค่เลือกแล้วหลังจากนั้นค่อยไปเคลียร์กับนักเตะอีกที"

ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่สมัยยังค้าแข้ง โลเปเตกีเล่นเป็นผู้รักษาประตู และเขาก็เป็นที่เอือมระอาของโค้ช เพราะเป็นคน “ช่างถาม” อย่างที่เขาเคยเปิดเผยไว้ว่า

“ตอนค้าแข้งโค้ชเบื่อผมทั้งนั้นแหละครับ เพราะผมชอบถามทุกเรื่องที่ผมสงสัยหรืออยากได้คำตอบจริง ๆ”

และด้วยความช่างถามนี้ เขาย่อมเข้าใจดีถึงหัวอกคนที่โดนปฏิเสธที่จะตอบหรือเมินเฉย ดังนั้นในฐานะโค้ชเขาจึงเลือกที่จะเข้าหาและไปคุยกับนักเตะก่อนเพื่อจะได้จบ ๆ กันไป โดยไม่ต้องมานั่งรอให้ใครมาถาม ซึ่งมันอาจจะสายไปเสียแล้ว

 

ผมมีสอง Deep-lying ดับเบิ้ล Deep-lying

นอกเหนือไปจากเรื่องของการปรับแก้หน้างานและการใช้นักเตะเท่าที่มีให้ทรงประสิทธิภาพสูงสุด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แม้จะมีการปรับแผนสารพัด แต่ในการวางระบบฟุตบอลจะต้องมีบางอย่างที่เป็น “แก่นแกน” เสมอ ไม่เช่นนั้นก็เป็นพวกไม้หลักปักขี้เลนที่โอนเอนไปเรื่อย

แน่นอนว่าโลเปเตกีเองก็มีบางอย่างที่หล่อหลอมจนมาเป็นแก่นแกนของวูล์ฟ แม้จะหยิบจับนักเตะสารพัดแต่มีตำแหน่งหนึ่งที่เขาแทบจะไม่แตะต้องเลย นั่นคือ “สองแดนกลาง” คนสำคัญที่มีชื่อว่า รูเบน เนเวส และ มาเทอุส นูเนซ 

การยืนคู่กลางของเนเวสและนูเนซไม่ได้เป็นไปในลักษณะ Double-pivot เพียงอย่างเดียว หากแต่โลเปเตกีได้ใช้ประโยชน์จากทักษะที่สองคนนี้มีติดตัว นั่นคือ การออกบอล การจ่ายบอล การจ่ายคิลเลอร์พาส และการวางบอลระยะยาวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Deep-lying Playmaker

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทักษะที่จะสอดรับกับการเล่นแบบนี้ถือว่าหาได้ยากมาก ๆ นานทีปีหนจะโผล่ขึ้นมา โดยนักเตะที่แจ้งเกิดกับตำแหน่งนี้คือ อันเดรีย ปีร์โล่ อดีตสตาร์อิตาลีและยูเวนตุส หรือในยุคปัจจุบันก็มี ลูก้า โมดริช และ มาร์โก แวร์รัตติ และอาจรวมไปถึง จอร์จินโญ่ ด้วย

แต่การที่ทีมฟุตบอลหนึ่งจะมี “ดับเบิ้ล” Deep-lying Playmaker นับเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่ง ประกอบกับพวกเขายังสามารถแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจนแม้จะยืนคู่กัน เนเวสจะเน้นเข้าหนัก ถึงลูกถึงคน แต่ไม่จำเป็นต้องส่งบอลให้เพลย์เมกเกอร์ เพราะตัวเขาก็ออกบอลเองได้ ส่วนนูเนซแม้จะไม่ดุดันเท่า แต่การจ่ายบอลของเขาก็ไม่ได้อยู่แค่ตรงกลางสนาม แต่สามารถถ่างออกด้านกว้างไปช่วยพยุงการจ่ายบอลของแบ็กและริมเส้นของทีมได้ด้วย

หลายครั้งจึงเห็นว่า การออกบอลจากเท้าของเนเวสและนูเนซทรงประสิทธิภาพสำหรับทีมอย่างมาก เขาสามารถเปลี่ยนจากแพ้เป็นเสมอ จากเสมอเป็นชนะได้หลายต่อหลายครั้ง อย่างผลงานสุด Masterpiece นั่นคือแมตช์ที่พลพรรค “หมาป่า” ชนะ ลิเวอร์พูล ไปอย่างท่วมท้นถึง 3-0 

แม้ช่วงหลังโลเปเตกีจะหันไปใช้งาน มาริโอ เลมิน่า, ปาโบล ซาราเบีย หรือ เจา โกเมซ มากขึ้น อาจเพราะความเห่อของใหม่และเป็นนักเตะที่เขาเซ็นเข้ามาเองจึงอยากลองดู แต่ผลงานก็ยังเทียบได้ยากกับสองกองกลางเลือดฝอยทองดังที่กล่าวไป

ซึ่งไม่แน่ว่าสองกองกลางนี้จะยังอยู่กับทีมต่อไปหรือไม่ในฤดูกาล 2023-24 เพราะผลงานของพวกเขาโดดเด่นชจนทีมยักษ์ใหญ่จ้องตาเป็นมันเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้สิ่งที่โลเปเตกีได้กระทำกับวูล์ฟมาทั้งหมดได้พิสูจน์ให้ใครต่อใครที่ครหาเขาได้เห็นแล่วว่า เขานั้นเป็น “ของจริง” และไม่หวาดหวั่นความท้าทายใด ๆ ที่กำลังพบเจอ เขาแสดงให้เห็นว่ายิ่งท้าทายยิ่งดี เวลาฝ่าฟันไปได้จะยิ่งตอกหน้าเสียงนกเสียงกาให้เหวอไปเป็นแถบ ไม่แตกต่างจากสิ่งที่เขากล่าวไว้ใน The Guardian ความว่า

“ดึงสติหน่อยพวก จริง ๆ ผมมีโอกาสจะมาคุมทีมในพรีเมียร์ลีกหลายครั้งแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าผมต้องสะสมวิชาให้มากกว่านี้เสียก่อนเพราะมันมีความท้าทายรออยู่อีกเพียบ ซึ่งมันแตกต่างจากความท้าทายที่ผมเคยเจอมาในชีวิต พอถึงจุดที่ผมต้องมาผมก็ไม่ลังเลหรือคิดอะไรให้ปวดสมองเลยครับ และก็โชคเข้าข้างเรา ผมพาทีมรอดตกชั้น เห็นไหมครับ”

แน่นอนว่าโควตข้างต้น สะท้อน “ความสาแก่ใจ” ของโลเปเตกีได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.theguardian.com/football/2023/may/31/julen-lopetegui-when-i-came-to-wolves-a-lot-of-friends-asked-me-why 
https://www.expressandstar.com/sport/football/wolverhampton-wanderers-fc/2023/03/13/julen-lopetegui-searching-for-success-with-wolves-substitute-tactics/ 
https://www.skysports.com/football/news/11096/12818436/julen-lopetegui-exclusive-interview-wolves-boss-on-led-zeppelin-johan-cruyff-and-picking-up-the-teams-tab 
https://www.coachesvoice.com/cv/julen-lopetegui-sevilla-real-madrid-spain/ 
https://onefootball.com/en/news/unleashing-the-wolves-how-julen-lopetegui-galvanised-a-struggling-team-into-premier-league-survivors-37322159 
https://www.southamptonfc.com/en/news/article/tactical-watch-resurgent-wolves-bring-flexibility 
https://totalfootballanalysis.com/team-analysis/wolves-2022-23-their-tactics-under-julen-lopetegui-scout-report-tactical-analysis-tactics

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา