นอกเหนือจาก คิม มิน แจ, เมสัน เมาท์, ดิโอโก้ คอสต้า, เยเรมี่ ฟริมปง หรือ ดีแคลน ไรซ์ ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีข่าวพัวพันในตลาดซื้อ-ขาย นักเตะด้วยนั้น อีกคนที่สื่อหลายสำนักในโลกตะวันตกต่างประโคมข่าวว่าปีศาจแดงให้ความสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ราสมุส ฮอยลุนด์ (Rasmus Højlund)
แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาของแฟนบอลปีศาจแดงแฟนฟุตบอลคือ "หมอเป็นนี่ใคร ?" แต่เมื่อพิจารณาในเชิงลึกจะพบว่า ศูนย์หน้าวัย 20 กะรัตมีดีกรีเป็นถึงรองดาวซัลโวประจำสโมสรอตาลันต้า และกำลังไปได้สวยกับทีมชาติเดนมาร์ก เพราะตั้งแต่เข้าสู่ปี 2023 เป็นต้นมา เขาเป็นคนเหมาทุกประตูที่ทีมชาติยิงได้ โดยพลพรรคโคนมแข่งไป 2 แมตช์ ชนะ 1 แพ้ 1 แบ่งเป็น ชนะ ฟินแลนด์ 3-1 แพ้ คาซัคสถาน 2-3 ยิงรวมไป 5 ลูก และในแมตช์ที่ชนะฟินแลนด์เขายังตะบัน "แฮตทริก" ได้อีกด้วย
รวมไปถึงวิถีการเป็นศูนย์หน้าที่ครบเครื่อง ถึงขนาดได้รับการนำไปเปรียบเทียบกับ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ศูนย์หน้ารุ่นพี่ชาวนอร์เวย์ ที่กำลังสั่นสะเทือนวงการฟุตบอล ณ ขณะนี้
ร่วมติดตามการเดินทางบนถนนสายฟุตบอลของชายหนุ่มผู้ได้รับฉายาว่า "นิว ฮาลันด์" แดนโคนม ไปพร้อมกับ Main Stand
เงือกหนุ่มเอียงซ้าย กลับกลายค้าแข้ง
หลายครั้งหลายคราที่สตอรี่ของนักฟุตบอลนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่มักไม่ได้เริ่มต้นจากการฝึกซ้อมหรือตกหลุมรักฟุตบอลมาก่อน แต่ดันจับพลัดจับผลูได้มาลงหลักปักกลางใจกับกีฬาลูกกลม ๆ มีลมข้างในที่ใช้เท้าเตะดั่งปาฏิหาริย์ แน่นอนว่าฮอยลุนด์เองก็เช่นเดียวกัน
นั่นเพราะฮอยลุนด์ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในกีฬา "ว่ายน้ำ" เป็นหลักมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย แม้จะเล่นกีฬาอื่น ๆ ไปด้วยทั้ง วอลเลย์บอล แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล และฟุตบอลชายหาด แต่ว่ายน้ำ ฮอยลุนด์ถือได้ว่าโดดเด่นมากที่สุด เรื่องนี้ อันเดอร์ส ฮอยลุนด์ บิดาบังเกิดเกล้าของเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ความว่า
"วันหนึ่งสตาฟทีมว่ายน้ำของเมืองโทรมาหาผม บอกว่าเจ้าลูกชายคนนี้นี่เทพจริง ๆ … เขาพยายามคะยั้นคะยอให้ผมเซ็นรับรองให้ทีมงานปลุกปั้นราสมุสเป็นนักว่ายน้ำอาชีพ และเข้าระบบการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง"
แน่นอนว่าฮอยลุนด์ได้เข้าไปฝึกอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็ไม่ทำให้แมวมองผิดหวัง เพราะเขาถือว่าเป็นเงือกหนุ่มที่โดดเด่นที่สุดในเทศบาลตำบลฮอร์สโฮล์ม (Hørsholm) ทางตอนเหนือของกรุงโคเปนเฮเกน (København) ที่มีระยะทางห่างกันประมาณ 25 กิโลเมตร (ประมาณกรุงเทพ - ปทุมธานี) ของประเทศเดนมาร์ก เรียกได้ว่าเกือบ ๆ จะไปถึงระดับประเทศเลยด้วยซ้ำหากไม่มีสิ่งหนึ่งเข้ามา "ก่อตัวในใจ" เขาเสียก่อน
ในโลกแห่งนักกีฬามีจุดอ้างอิงหนึ่งที่ใช้กันอย่างหนาตา นั่นคือ "ตนเองในวัยเด็ก" อย่างเช่นการเลือกย้ายสโมสร เรื่องเหล่านี้มักจะกลับไปถามตนเองในวัยเด็กว่าจิตใจเรียกร้องอะไร แล้วตนเองในวัยบรรลุนิติภาวะก็เลือกตามนั้น แต่สำหรับฮอยลุนด์กลับไม่ต้องรอนาน เพราะคำถามนี้เกิดขึ้นกับเขาตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นตอนต้น
เพราะช่วง 9-10 ขวบ เขาได้นึกย้อนกลับไปในวัยเด็กกว่านั้นคือประมาณ 2-3 ขวบ ที่ตนเองสนุกสนานกับการเตะฟุตบอลชายหาดชนิดที่ไม่รู้เดือนรู้วันเวลา ชนิดที่ว่าเห็นลูกบอลเป็นไม่ได้ต้องหยิบขึ้นมาเตะ และส่งผลให้เมื่อโตขึ้นเขาจึงหลงใหลในชายหาดอย่างมาก หากว่างจากการเตะฟุตบอลเมื่อไรก็จะบินไป ชวากา บีช ในซานซิบาร์ ประเทศแทนซาเนีย เสมอ
นั่นจึงทำให้เขาเลือกที่จะเดินไปบอกครอบครัวว่า ขอจบเส้นทางที่กำลังไปได้สวยกับการว่ายน้ำ แล้วเลือกที่จะเริ่มเดินทางบนถนนสายใหม่ที่มีชื่อว่าฟุตบอล เรื่องนี้พ่อของเขาได้เปิดเผยว่า
"ไม่ต้องสงสัยเลย ลูกชายของผมนี่เปี่ยมพรสวรรค์ทางด้านฟุตบอลมาตลอด พอรู้ตัวอีกทีเขาก็ชอบที่จะแข่งขันด้านนี้ไปแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้งการว่ายน้ำ โดยเปลี่ยนไปเป็นว่ายเพื่อกิจกรรมนันทนาการแทน แต่เมื่อถามใจตนเองลึก ๆ ลูกชายผมเขาเลือกฟุตบอล"
โดยที่พ่อของเขาได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะคุณพ่อเองก็เคยเป็นนักฟุตบอลของ บี 93 (Boldklubben af 1893) สโมสรในลีกรองของประเทศ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไร ทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของลูกชายดี
ทั้งยังได้ระลึกถึงความหลังที่เห็นพรสวรรค์ด้านฟุตบอลของลูกชายได้อุบัติขึ้น ความว่า "ผมโยนบอลให้เมื่อไร เท้าซ้ายของลูกชายผมเป็นอันดูดบอลลงอย่างเนียนกริ๊บ ผมคาดการณ์ได้เลยว่าเท้าซ้ายเนี่ยกำลังเป็นเทรนด์ในฟุตบอลร่วมสมัย หากฝึกฝนดี ๆ ก็จะไปได้ไกลแน่นอน"
และก็ไม่ใช่เพียงฮอยลุนด์ เพราะน้องชายอีก 2 คนของเขา (ออสการ์ และ เอมิล) ก็อยากตามรอยพี่ชายเช่นกัน โดยสามพี่น้องได้ดัดแปลงชั้นใต้ดินของบ้านให้เป็นที่ฝึกซ้อมฟุตบอลขนาดย่อม ๆ ขนาด 6 คูณ 10 เมตร พร้อมกับความสูงถึงเพดาน 3 เมตร เรียกได้ว่าต้องเน้นเล่นบอลกับพื้น ห้ามกระโดดโหม่ง ปั่นฟรีคิก หรือครอสบอลเด็ดขาด มิเช่นนั้น หลอดไฟบนเพดานพังหมดแน่นอน
และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมสรรพและมีความแน่วแน่ สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไม่ขาด ฮอยลุนด์จึงเริ่มฉายแววการเป็นนักฟุตบอลยิ่งขึ้นด้วยการเป็นนักเตะ "ซ้ายพรสวรรค์" ของ ฮอร์สโฮล์ม-อุสเซรอด (Hørsholm-Usserød) อคาเดมีละแวกบ้าน ก่อนจะย้ายไป บรอนบี้ (Brøndby) ยักษ์ใหญ่แห่งลีกเดนมาร์ก ซึ่งว่ากันว่าเขาลงสนามในตำแหน่งศูนย์หน้าและคว้าโทรฟี่มาแทบจะทุกรายการในประเทศ ก่อนจะย้ายไป โฮลเบ็ค (Holbæk) ในระยะเวลาสั้น ๆ
แต่มีเรื่องที่น่าสนใจ เพราะไอดอลในการเล่นตำแหน่งศูนย์หน้าของเขาคือ นิคลาส เบนด์ทเนอร์ (Nicklas Bendtner) อดีตศูนย์หน้าของอาร์เซนอลและยูเวนตุส ที่แฟนบอลชาวไทย (รวมถึงชาวต่างประเทศ) เรียกขานว่า "ท่านลอร์ด" ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องตลก หากแต่สำหรับเด็ก ๆ ชาวเดนมาร์กแล้วเขาถือเป็นต้นแบบที่เด็ก ๆ อยากเลียนแบบอยู่เสมอ
แน่นอนว่าในวงการฟุตบอลเดนมาร์กเองก็ถือว่ามีความ "ผูกขาด" ในตัว เมื่อเล็งเห็นว่ามีเยาวชนคนไหนโดดเด่นขึ้นมา เอฟซี โคเปนเฮเกน (FC København) ยักษ์ใหญ่คับประเทศ จะต้องเข้ามา "ดูด" ทรัพยากรของทีมอื่น ๆ ในลีกเสมอ แน่นอนว่าฮอยลุนด์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยวัย 14 ย่าง 15 ปี
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการสร้างผลงานสุดสะเด่าในแดนโคนมอย่างเหลือเชื่อ
มาอยู่เมืองกรุง ใจก็มุ่งแต่อยากจะดัง
พอเขาเข้ามาสู่ทีม "สิงห์เมืองกรุง" เขาก็ยกระดับตนเองไปอีกขั้นจากการก้าวขึ้นไปสู่ชุด U-19 ในทันที เรียกได้ว่า เป็นการข้ามหน้าข้ามตานักเตะในวัยเดียวกันหรือรุ่นพี่ไปอย่างมาก อีกทั้งบรรดาน้องชายของเขาก็ได้ตามมาสมทบเข้าอคาเดมีของโคเปนเฮเกนด้วย โดยสังกัดชุด U-17 ปี เรียกได้ว่าโคเปนเฮเกนดูดมาทั้งตระกูลจริง ๆ
และแล้วในฤดูกาล 2020-21 เขาได้รับการโปรโมตขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่และได้รับการเสนอสัญญาอาชีพครั้งแรก แน่นอนว่าฮอยลุนด์ก็เซ็นอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการได้รับการส่งลงสนามเรื่อย ๆ โดย เยสส์ โทรูป (Jess Thorup) กุนซือของทีม
และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเขาถือว่ามีความโหดเกินวัย แม้จะสตาร์ทจากม้านั่งสำรอง แต่ยามทีมตามหลังหรือเล่นกันไม่ดี เขาก็พูดปลุกใจเพื่อนร่วมทีมอย่างถึงเครื่อง เรียกได้ว่ามีทักษะการพูดที่ไม่ธรรมดาและมีความเป็นผู้นำอย่างคาดไม่ถึง
แต่เด็กจะดังไม่มีอะไรรั้งอยู่ นอกจากอาการบาดเจ็บ เพราะในการแข่งเกมลีกแมตช์หนึ่ง คู่ต่อสู้ได้เข้าบอลหนักใส่ฮอยลุนด์จนต้องหามส่งโรงพยาบาลไปรักษา แต่ด้วยอายุที่ยังไม่มากทำให้เขาฟื้นฟูร่างกายได้ไม่ยากและกลับสู่ทีมได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ซีซั่นแรกของเขาโชว์ผลงานไม่หวือหวา ฤดูกาลด้วยการลงสนามไป 5 แมตช์รวมทุกรายการ ผลิตสกอร์เป็น 0
แน่นอนว่าการออกสตาร์ทด้วยผลงานขนาดนี้ สำหรับดาวรุ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ใครเลยจะรู้ว่าฤดูกาลต่อมา (2021-22) ฮอยลุนด์จะลงสนามเพื่อ "อัพค่าตัว" ได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานในรายการ ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ถ้วย Tier 3 ที่เปิดขึ้นมาใหม่ของยูฟ่าที่จัดแข่งขันเป็นฤดูกาลแรก
แม้โคเปนเฮเกนจะไปได้ไม่ไกล ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย จากการแพ้ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ด้วยสกอร์รวมถึง 4-8 แต่ฮอยลุนด์ก็ยิงไปถึง 5 ประตู และเป็น 5 ประตูรวมทุกรายการที่ลงสนามให้กับโคเปนเฮเกนเสียด้วย แต่แม้จะทำผลงานระดับเทพในฟุตบอลระดับสโมสรทวีป แต่ในลีกเขากลับไม่ค่อยได้รับโอกาสมากเท่าที่ควร และเขาไม่สามารถใส่สกอร์ได้เลย
ตรงนี้จึงทำให้สโมสรมีปัญหากับคุณพ่อที่ออกมาเรียกร้องให้สโมสรส่งลูกชายลงสนามให้มากกว่านี้ ความว่า "ลูกชายผมควรมีเวลาในการแสดงความเป็นเพชฌฆาตในสนามมากกว่า 15 นาที ที่โค้ชทำแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของนักเตะวัย 17-18 เลย โอกาสแบบจะ ๆ ไม่มีเสียด้วยซ้ำ … พวกเขาไม่ให้โอกาสลูกชายผมเลย ออกจะบ่อนทำลายอีกด้วย นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะตัดสินใจออกไปหาความท้าทายใหม่ ๆ"
การที่คุณพ่อออกหน้าออกตาขนาดนี้ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นธรรมดา และส่งผลให้เขา "อยู่ยาก" เป็นเงาตามตัว
และเมื่อ สตวร์ม กราซ (Sportklub Sturm Graz) ยักษ์ใหญ่แห่งลีกออสเตรีย ยื่นข้อเสนอเข้ามาเพื่อดึงตัวเขาไปร่วมทีม ด้วยราคา 1.8 ล้านยูโร (หรืออาจจะ 2.5 ล้านยูโร) นั่นทำให้โทรูปเรียกฮอยลุนด์เข้ามาคุยถึงโอกาสในการย้ายทีม เพราะสโมสรนั้นมี เป็ป บีล (Pep Biel) ดาวซัลโวในวัยไล่เลี่ยกันยืนประจำการเป็นศูนย์หน้าตัวจริงอยู่
และฮอยลุนด์ก็เลือกที่จะออกจากมาตุภูมิไปผจญภัยใน ออสเตรียน บุนเดสลีกา เพื่อโอกาสในการเฉิดฉายของตนเองในช่วงกลางฤดูกาล
และที่พลพรรค "ทมิฬมาร" เขาใช้เวลาเพียงไม่นานในการปรับตัว แถมยังยึดตำแหน่งศูนย์หน้าตัวจริงได้ในทันที 6 ประตูจาก 13 แมตช์ คือผลงานของเขา จากนักเตะที่เพิ่งเดินเข้าสู่ทีมในช่วงตลาดซื้อขายหน้าหนาว ก่อนจะพาทีมจบรองแชมป์ แพ้เพียง เร้ดบูล ซัลส์บวร์ก แชมป์ผูกขาดประจำออสเตรียแห่งยุคปัจจุบัน (แชมป์ 10 ฤดูกาลติด ตั้งแต่ 2013-14 ถึง 2022-23) เพียงทีมเดียว
รูปแบบการเล่นในแดนหน้าของเขา แม้จะไม่ได้สูงโปร่งตามมาตรฐานศูนย์หน้าโลกตะวันตก เพราะเขาสูงเพียง 185 เซนติเมตร แต่เขาก็ครบเครื่องอย่างมาก มีทั้งความเร็ว ความแข็งแกร่ง ความคมในการจบสกอร์ รวมถึงมีสกิลการเลี้ยงบอลที่ดีอีกด้วย ทำให้เขาได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น "นิว เออร์ลิ่ง ฮาลันด์" ตามรอยอดีตเด็กเทพแห่งลีกออสเตรีย (เคยเล่นให้ เร้ดบูล ซัลส์บวร์ก ช่วงปี 2019) จากบรรดาสื่อหลายสำนัก
ซึ่งตรงนี้เคล็ดลับที่ทำให้ฮอยลุนด์ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นกับกราซ นั่นเพราะที่กราซมีการใช้แทคติกแบบ "เล่นบอลกับพื้น" ซึ่งแตกต่างจากที่โคเปนเฮเกนที่เน้น "บอลโยน" และการ "ตั้งรับ" ซึ่งรูปแบบแรกเหมาะสมกับการพัฒนาของฮอยลุนด์อย่างมากจึงทำเขาให้คลิ๊กกันได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนที่ อตาลันต้า จะอดรนทนไม่ได้หากไม่ยื่นของซื้อตัวเขา และในที่สุด 17 ล้านปอนด์คือจำนวนเงินที่ตกลงกันสำหรับการสู่ขอฮอยลุนด์มาสู่ถิ่นแบร์กาโม่ อย่างทันทีทันใด
จากแดนโมซาร์ทสู่แดนพาสต้า
"เขา (ฮอยลุนด์) มีการสปรินต์ด้วยพลังงานล้นเหลือ มีความแข็งแกร่ง แถมเทคนิคยังยอดเยี่ยมอีกต่างหาก เขามีช่องว่างในการเติมศักยภาพอีกมากโข แน่นอนว่าเขาทำให้ผมนึกถึงฮาลันด์ ความเร็วของเขาเนี่ย 100 เมตรใน 11 วินาทีนะครับ เรื่องความสูงก็ไม่มีปัญหา เพราะศูนย์ถ่วงยิ่งต่ำก็ยิ่งดี [หมายถึง แม้ไม่สูงแต่บาลานซ์ดีย่อมได้เปรียบ - เสริมโดยผู้เขียน] ผมการันตีเลยว่าเมื่อเขาอยู่ในมือผม เขาจะมีอนาคตที่สดใสแน่นอน"
เบื้องต้นคือคำกล่าวของ จาน ปิเอโร กาสเปรินี่ กุนซือของอตาลันต้า ที่อวยฮอยลุนด์อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช และเขาก็การันตีว่าอยู่ในมือแล้วจะปั้นให้เฉิดฉาย เหมือนที่เคยปั้นนักเตะโนเนมในแดนหน้าอย่าง ดูวาน ซาปาต้า, ปาปู โกเมซ หรือ หลุยซ์ มูเรียล มาแล้ว
ซึ่งกาสเปรินี่ทำได้อย่างที่กล่าวไว้จริง ๆ ในฤดูกาล 2022-23 กาสเปรินี่ได้สร้าง "สามประสาน New Gen" ของสโมสรด้วยการใช้ อเดโมลา ลุคแมน และ ทูน คูปไมเออร์ เป็นแนวรุกทางด้านข้าง และให้ฮอยลุนด์ยืนเป็นศูนย์หน้า ซึ่งทั้งสามตะบันรวมกันไปมากถึง 35 ประตูรวมทุกรายการ
แบ่งเป็น ลุคแมน 15 ประตู คูปไมเออร์ และ ฮอยลุนด์ คนละ 10 ประตู แต่ในรายละเอียด คนที่โดดเด่นจริง ๆ คือฮอยลุนด์ เพราะนอกจากจะโดดเด่นเรื่องการทำประตู เขายังมีส่วนร่วมกับเกมและลงมาช่วยเหลือกองกลางในแดน 2 พร้อมทั้งดึงตำแหน่งออกไปทางด้านกว้างดึงตัวประกบให้ลุคแมนสอดเข้าในไปทำประตูได้เป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
แต่การมาเล่นที่ถิ่น สตาดิโอ อัตเลติ อัซซูรี่ ดิตาเลีย (Stadio Atleti Azzurri d'Italia) ทำให้เห็นว่าเขามีความแตกต่างกับฮาลันด์บางส่วน นั่นเพราะการมีส่วนร่วมกับเกมและการถ่างด้านกว้างทำให้การสร้างสรรค์โอกาสทำประตู และการดวลแบบ 1 ต่อ 1 ในการแย่งโหม่งลดลง รวมไปถึงการนำตนเองเข้าไปในกรอบเขตโทษอีกด้วย
หรือก็คือ เดอะ นิว ฮาลันด์ คนนี้มีความพยายามในการสร้างวิถีการเล่นของตนเอง ให้กลายเป็น "เดอะ ออริจิน ฮอยลุนด์" มากยิ่งขึ้น
มาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่าข่าวก็คือข่าว โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายนักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มักจะได้รับความสนใจและขายได้เสมอ ยิ่งเจ้าตัวเอ่ยปากว่า เป็นแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ข่าวยิ่งกระพือเข้าไปใหญ่
แน่นอนว่าการที่นักเตะคนหนึ่งเติบโตทางอาชีพอย่างรวดเร็ว และเข้าไปข้องเกี่ยวกับหนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็ต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ
แหล่งอ้างอิง
https://lifebogger.com/rasmus-hojlund-childhood-biography-story-facts/
https://soccerbiography.com/rasmus-hojlund/
https://www.mundodeportivo.com/us/en/soccer/20230224/54894/the-new-haaland-is-here.html
https://football-italia.net/official-atalanta-break-bank-for-new-haaland-hojlund/
https://totalfootballanalysis.com/article/rasmus-hojlund-at-atalanta-bergamo-202223-scout-report-tactics-analysis
https://breakingthelines.com/player-analysis/rasmus-hojlund-the-danish-forward-drawing-comparisons-to-erling-haaland-and-dusan-vlahovic/
https://www.atalanta.it/en/news/welcome-hojlund/