ย้อนกลับไปยังภาพรวมของฤดูกาล 2022/23 เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า เชลซี ภายใต้เจ้าของกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกานำโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ มีผลงานที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 12 พลาดทุกโควตาลุยฟุตบอลสโมสรยุโรป ไปจนถึงการใช้บริการกุนซือคุมทีมข้างสนามทั้งแบบถาวรและขัดตาทัพรวมกันถึง 4 คน
ในระหว่างที่ทีมมีภารกิจสู้ในโค้งสุดท้ายของฤดูกาล 2022/23 ก็ได้เกิดกระแสข่าวไม่เว้นแต่ละวันถึงชื่อของกุนซือคนใหม่ในฤดูกาลหน้า โดยมีชื่อของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ติดโผเป็นแคนดิเดตเบอร์ต้น ๆ
จนกระทั่งข่าวดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริงเมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2023 เชลซีออกประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องกุนซือคนใหม่ลุยฤดูกาล 2023/24 โดยปรากฏเป็นชื่อของหัวหน้าผู้ฝึกสอนตรงตามกระแสข่าวหนาหู นั่นก็คือ โปเช็ตติโน่
ทำไม เดอะ บลูส์ ถึงเลือก “พอช” เข้ามาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ กุนซือเลือดฟ้าขาวผู้นี้คือคนที่ “ใช่” สำหรับสโมสรขนาดไหน มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand
ลืม ๆ มันไปซะ
ฤดูกาล 2022/23 คือฤดูกาลที่แฟนบอลเชลซีหลาย ๆ คนไม่อยากจดจำสักเท่าไร เพราะหลังสิ้นสุดเสียงนกหวีดยาวในเกมส่งท้ายฤดูกาลของสโมสรที่เสมอกับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด 1-1 ทีมสิงโตน้ำเงินครามก็การันตีการจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 12 จากผลงานชนะ 11 เสมอ 11 และแพ้ไป 16 นัด เก็บได้ทั้งหมด 44 คะแนน
นี่ถือเป็นอันดับที่ต่ำสุดของสโมสรในรอบเกือบสามทศวรรษ ตั้งแต่ฤดูกาล 1993/94 ที่ทีมจบด้วยอันดับ 14 จากทั้งหมด 22 ทีมที่ร่วมแข่งในแข้งพรีเมียร์ลีก ทั้งยังจบอันดับต่ำกว่าที่ 10 เป็นหนแรกนับแต่ปี 1996 แถมไม่มีโทรฟี่ใด ๆ ติดมือแม้แต่ใบเดียว เอฟเอ คัพ และลีก คัพ ก็ร่วงไปตั้งแต่ไก่โห่ (รอบสาม) ด้วยน้ำมือของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทั้งสองรายการ ขณะที่ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ก็จอดป้ายในรอบก่อนรองชนะเลิศโดย เรอัล มาดริด
แน่นอนว่ามีหลากหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาบริหารสโมสรโดยกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ ซึ่งเริ่มเป็นที่น่าสงสัยถึงแนวทางการทำทีมตั้งแต่การตัดสินใจปลด โธมัส ทูเคิล โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องฝีไม้ลายมือการคุมทีม แล้วไปดึงกุนซือผลงานแรงในเวลานั้นอย่าง แกรห์ม พอตเตอร์ เข้ามาคุมทีมแทน
การที่สิงโตน้ำเงินครามไปคว้าพอตเตอร์มาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนสร้างความฮือฮาอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เพราะถือเป็นการเปลี่ยนปรัชญาของสโมสรในยุคเจ้าของทีมคนก่อนหน้าอย่าง โรมัน อบราโมวิช จากที่เน้นกุนซือโปรไลฟ์ดีประสบการณ์โชกโชนเข้ามาสร้างความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ให้ภาพแบบระยะสั้นแล้วมานับหนึ่งกันใหม่ เปลี่ยนมาสร้างทีมกันยาว ๆ ภายใต้กุนซืออย่าง แกรห์ม พอตเตอร์
อย่างไรก็ดี ทิศทางของทีมกลับไม่ได้เดินไปอย่างราบรื่น พอตเตอร์เคยมีช่วงเวลาที่คุมทีมไม่แพ้รวมทุกรายการถึง 10 เกมติดต่อกันก็จริง หนึ่งในนั้นคือชัยชนะเหนือ เอซี มิลาน แบบไปกลับในแชมเปี้ยนส์ลีกด้วยสกอร์รวมถึง 5-0
แต่กระนั้นช่วงเวลาที่ไม่น่าจดจำจนกลายเป็นแผนที่ผิดพลาดของทั้งกลุ่มทุนอเมริกาและการคุมทีมของ แกรห์ม พอตเตอร์ ก็เริ่มบังเกิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2022 เมื่อเชลซีกลายเป็นทีมที่แฟน ๆ ไม่อาจคาดเดาถึงผลชนะในทุกเกมการแข่งขันอีกต่อไป
และไม่ใช่ว่ากลุ่มเจ้าของสโมสรจะไม่เห็นถึงปัญหาที่ทีมเผชิญ ท่ามกลางกระแสข่าวหนักหน่วงว่าเชลซีควร “พอแล้ว” กับการให้โอกาส แกรห์ม พอตเตอร์ แนวทางในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม 2023 คือการหมดงบประมาณไปกับการคว้านักเตะมาอัดแน่น จนคิดเป็นรายจ่ายรวมกันสองช่วงตลาดนับตั้งแต่ที่มีเจ้าของคนใหม่แตะหลัก 600 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี เสริมทีมก็แล้ว ให้โอกาสพอตเตอร์ต่อก็แล้ว แต่ทีมก็ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น จากอันดับในตารางที่เคยเกาะครึ่งบนก็เริ่มร่วงหล่นสู่ครึ่งล่าง จนในที่สุดความอดทนก็ถึงขีดจำกัด นำมาสู่การเปลี่ยนมือกุนซือจาก แกรห์ม พอตเตอร์ ไปสู่กุนซือขัดตาทัพหนึ่งนัดของ บรูโน่ ซัลตอร์ ต่อยอดด้วยโค้ชที่ว่ากันว่าเป็น DNA สโมสรเข้ามารักษาการต่อไปจนจบซีซั่นอย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด
จุดสำคัญที่เหล่าผู้บริหารสิงโตน้ำเงินครามคิดถึงการกลับมานับหนึ่งกันใหม่ในฤดูกาลถัดไป (2023/24) แบบเต็มตัว เกิดขึ้นในยุคที่ซูเปอร์แฟรงค์คุมทีมชั่วคราวนี่เอง และหนึ่งในกระบวนการที่ต้องรีบคิดใหม่ทำใหม่เพื่อต่อยอดสู่รากฐานอื่น ๆ ก็คือการสรรหาหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่
เรื่องดีประการหนึ่งของเชลซีที่ส่งผลมายังปลายฤดูกาลคือการได้ “คนทำงาน” ที่มีประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งน้อยใหญ่ที่สโมสรขาดไปในช่วงต้นมาเติมเต็ม อาทิ การได้ ลอว์เรนซ์ สจวร์ต และ พอล วินสแตนลีย์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการกีฬาร่วมของสโมสร โดยสจวร์ตเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายเทคนิค ขณะที่วินสแตนลีย์เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายจัดหาแข้งพรสวรรค์ระดับสากลและการซื้อขาย
ในระหว่างที่ขุมกำลังสโมสรลงทำหน้าที่ในสนาม พร้อม ๆ กันกับเสียงวิจารณ์ ตลอดจนคำแซวน้อยใหญ่จากแฟนบอลคู่แข่งตามสภาพผลงานที่ออกมาในแต่ละนัด ทางฝ่ายบริหารก็ได้ปฏิบัติการสรรหาตัวหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่โดยดำเนินการกันอย่างละเอียดรอบคอบขึ้น นับตั้งแต่การตัดสินใจปลด แกรห์ม พอตเตอร์ ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2023
ชื่อของ ยูเลียน นาเกลส์มันน์, หลุยส์ เอ็นริเก้, รูเบน อโมริม รวมถึง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ปรากฏบนหน้าสื่อว่าสโมสรแสดงความสนใจ เคาะไปเคาะมาจนในที่สุดก็ได้คนที่สเปคตรงกับเชลซีในยุคฟื้นฟูใหม่ นั่นก็คือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่
“ประสบการณ์” และ “แรงกระหาย” ในลีกอังกฤษ
“ประสบการณ์ มาตรฐานความเป็นเลิศ คุณภาพความเป็นผู้นำ และอุปนิสัยของเมาริซิโอเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสโมสรฟุตบอลเชลซีในขณะที่เรากำลังก้าวเดินไปข้างหน้า” สจวร์ต และ วินสแตนลี่ย์ พูดถึงการดึงโปเช็ตติโน่เข้ามาเป็นกุนซือเชลซีคนใหม่
“เขาเป็นโค้ชที่ประสบความสำเร็จและทำงานในระดับสูงสุดในหลายลีกและหลายภาษา ทัศนคติ กลยุทธ์ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาของเขาทำให้เขากลายเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม”
เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ สร้างชื่อเสียงในเส้นทางกุนซืออาชีพกับ เซาธ์แฮมป์ตัน รวมถึง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ นั่นหมายความว่าเฮดโค้ชชาวอาร์เจนไตน์รายนี้มีประสบการณ์คุมทีมในพรีเมียร์ลีกมาก่อน
โปเช็ตติโน่มีปรัชญาการทำทีมแบบผสมผสานระหว่างแรงบันดาลใจจาก มาร์เซโล บิเอลซ่า กุนซือขรัวเฒ่าร่วมชาติอาร์เจนตินา ในแง่ของการเล่นเพรสซิ่งที่ดุดันและความเข้มข้นที่มีให้เห็นตั้งแต่การฝึกซ้อม กับการมองเกมในสไตล์ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่เจาะไปยังรายละเอียดของแต่ละเกมการแข่งขัน ทั้งตำแหน่งการยืนของนักเตะและการเคลื่อนที่ ไปจนถึงการเล่นเกมรุกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เขายึดถือ
เขาพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการคุมทีมตั้งแต่ช่วงที่ทำทีมนักบุญในฤดูกาล 2013/14 ผลงานชิ้นโบว์แดงคือการพาทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 8 ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดของสโมสรในรอบ 11 ปี ด้วยปรัชญาการทำทีมที่เร้าใจ ด้วยส่วนผสมของนักเตะดาวรุ่งและแข้งเกรดรอง
จากความฮือฮาเล็ก ๆ นี้ ชื่อเสียงของโปเช็ตติโน่ไปสะดุดตาผู้บริหารทีมไก่เดือยทองที่ในยุคนั้นจำเป็นต้องดึงทิศทางทีมกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด นั่นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวสเปอร์สมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้ฝึกสอนเป็นว่าเล่น แต่ก็ยังไม่มีคนที่ถูกใจจริง ๆ เสียที
นำมาซึ่งการสู่ขอโปเช็ตติโน่ให้เข้ามาร่วมชายคาทีมด้วยอายุสัญญายาวถึง 5 ปี พร้อมกับเข้ามาแปลงโฉมสถานการณ์ทีมแบบทันตาเห็น
เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ เข้ามาเปลี่ยนแปลงสเปอร์สหลาย ๆ อย่าง ถึงขั้นที่ว่ายุคการคุมทีมของโปเช็ตติโน่เป็นช่วงเวลาที่ทำเอาแฟน ๆ มีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่ง รวมไปถึงแนวทางการทำทีมที่เล่นฟุตบอลกันแบบไหลลื่น เปิดเกมรุก เล่นสนุก ที่ได้รับการยกย่องว่าตรงกับ DNA ของสโมสรมากที่สุดยุคหนึ่ง
กุนซือชาวอาร์เจนไตน์ทำทีมสเปอร์สกลับมาสู่เส้นทางของสโมสรระดับท็อปของลีกได้ตลอด 5 ฤดูกาลที่เขาคุมเต็มตัว เขาคุมไก่เดือยทองจบด้วยอันดับท็อป 5 อย่างสม่ำเสมอ และเคยเกือบพาทีมเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ด้วยซ้ำ ในฤดูกาล 2016/17 แต่ดันไปสะดุดขาตัวเองในช่วงโค้งสุดท้าย
ทั้งยังเคยสร้างชื่อกระฉ่อนระดับการชิงชัยสโมสรยุโรป ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2018/19 กับการพาท็อตแนมเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศ ก่อนจะอกหักพ่ายต่อ ลิเวอร์พูล 0-2
ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่า เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ มีประสบการณ์ในเวทีฟุตบอลอังกฤษ และมีแรงกระหายอย่างเต็มเปี่ยมในการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในลีกที่ขึ้นชื่อว่าแข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนานักเตะ
ย้อนกลับไปสมัยที่ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ คุมเซาธ์แฮมป์ตัน หัวใจสำคัญที่เขายกระดับสโมสรขึ้นมาจบซีซั่นด้วยอันดับที่ 8 คือการให้โอกาสเหล่าแข้งยังบลัดและนักเตะประเภทที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากให้กลายมาเป็นกำลังสำคัญของทีม จนเติบโตเป็นแข้งระดับแถวหน้าของพรีเมียร์ลีก
มีนักเตะเก่ง ๆ ที่ยกระดับขึ้นมาในนามทัพ เดอะ เซนต์ส ยุคของเขา เช่น ลุค ชอว์, อดัม ลัลลาน่า ซึ่งภายหลังถูกขายขาดให้สองทีมยักษ์ร่วมลีกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล ตามลำดับ หรือ เจมส์ วอร์ด-พราวส์ ก็ได้โอกาสลงเล่นบ่อยครั้งในยุคเฮดโค้ชเลือดฟ้าขาว ก่อนจะยกระดับจนกลายเป็นกัปตันคนปัจจุบันของสโมสร
ไม่เพียงแต่ที่เซาธ์แฮมป์ตันเท่านั้น เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ขึ้นชื่อในเรื่องการบริหารจัดการผู้เล่น เค้นศักยภาพผู้เล่นออกมาได้ดีโดยตลอด เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น มีตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดในสมัยที่คุมสเปอร์ส
จากจุดเริ่มต้นฤดูกาล 2014/15 ที่โปเช็ตติโน่เข้ามาเป็นนายใหญ่คลับไก่แห่งลอนดอนเหนือ สโมสรเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของขุมกำลังจากตัวเก๋าไปจนถึงนักเตะที่เขามองว่าไม่ได้อยู่ในแผน มาสู่นักเตะสายเลือดใหม่ที่พร้อมจะเดินไปเคียงข้างกับตัวกุนซือป้ายแดง เช่น คว้า เดลเล่ อัลลี มาจาก เอ็มเค ดอนส์, ซิว เอริค ไดเออร์ มาจาก สปอร์ติง ลิสบอน ไปจนถึงการดึง ซน ฮึง-มิน มาจาก ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน
เช่นเดียวกับการให้โอกาส แฮร์รี่ เคน ดาวยิงวัย 20 ต้น ๆ ในขณะนั้นได้พิสูจน์ตัวเองแบบเต็มตัว และอย่างที่ทุกคนทราบกันดี กลุ่มนักเตะที่ว่ามานี้ถูกโปเช็ตติโน่ปั้นจนกลายเป็นนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ ทุกคนล้วนมีช่วงเวลาค้าแข้งที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของเทรนเนอร์ชาวอาร์เจนไตน์
ส่วนหนึ่งของโมเดลความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการร่วมงานกันของทั้งตัวโปเช็ตติโน่และทีมงานโค้ชที่เกือบทุกคนทำงานร่วมกับเขามาตั้งแต่สมัยคุมทีมอาชีพครั้งแรกที่ เอสปันญอล
เฆซุส เปเรซ มือขวาของโปเช็ตติโน่อยู่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่แล้วที่ทำทีม “ไอ้นกแก้ว” ด้วยกัน, มิเกล ดากอสติโน ผู้ช่วยอีกรายที่อยู่ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะของ นีเวลล์ โอลด์ บอยส์ ในอาร์เจนตินา ต่อเนื่องมายังการร่วมงานที่เอสปันญอล, โทนี่ ฆิเมเนซ โค้ชผู้รักษาประตู เคยลงเล่นให้เอสปันญอลร่วมกับโปเช็ตติโน่มาตั้งแต่ตอนเป็นนักเตะ แถมเรียนไลเซ่นโค้ชมาพร้อม ๆ กัน ปิดท้ายที่ เซบาสเตียโน่ โปเช็ตติโน่ ลูกชายของเขาในตำแหน่งทีมงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและฟิตเนสที่ร่วมงานกับคุณพ่อและทีมงานคนอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2016
มองกลับมาที่ขนาดขุมกำลังเชลซีในรอยต่อฤดูกาล 2022/23 ถึง 2023/24 แน่นอนว่าสิ่งแรกที่โปเช็ตติโน่ต้องทำร่วมกับสโมสรคือเก็บขุมกำลังที่คิดว่าอยู่ในคาถาของตัวเองจริง ๆ และเป็นการลดขนาดทีมลงไปด้วย เพราะในฤดูกาลล่าสุด เชลซีมีขนาดทีมเกิน 30 ราย สูงเป็นอันดับสองของลีกรองจาก น็อตติงแฮม ฟอเรสต์
จากนั้นจึงจะมีเวลาได้จัดการขุมกำลัง ได้ทดลองแทคติกและรูปแบบการเล่น ซึ่งจะได้เห็นเต็มตัวตั้งแต่การเตรียมพรีซีซั่นด้วยขุมกำลังที่หลายคนอยู่ในข่ายที่ยังสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นยอดนักเตะ ดังขุมกำลังชุดปัจจุบัน เช่น มิไคโล มูดริค, โนนี่ มาดูเอเก้, ลูอิส ฮอลล์, เบอร์นัวต์ บาเดียชิลล์, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, คาร์นี่ย์ ชุคเวเมก้า และ อาร์มานโด้ โบรย่า
ไปจนถึงกลุ่มนักเตะที่จะตามมาสมทบในช่วงพรีซีซั่นทั้ง อันเดรย์ ซานโตส, มาโล กุสโต้, เซซาเร่ คาซาเด รวมถึง ลีวาย โคลวิลล์
มีความเป็นไปได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งที่เอ่ยมานี้อาจจะยกระดับตัวเองจนกลายเป็นสุดยอดนักเตะตั้งแต่ขวบปีแรกที่โปเช็ตติโน่เข้ามาคุมก็เป็นได้
บทเรียนเรื่องความสัมพันธ์ในทีม
เป็นเรื่องปกติของสโมสรฟุตบอลที่ประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ระหว่างเฮดโค้ชกับบอร์ดบริหารสโมสรมักจะเข้ามาเป็นตัวแปรอยู่บ่อยครั้ง หากทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไร้ปัญหา มีแนวทางตรงกัน และมีส่วนทำให้ผลงานในสนามออกมาดีจะนำมาซึ่งการร่วมงานกันแบบระยะยาว
อีกแง่คือการทำงานร่วมกันไม่ได้ที่เกิดจากความคิดเห็นคนละมุม สุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาในรูปแบบของการแยกทาง
ทั้งเชลซีในยุคของกลุ่มทุนอเมริกันและโปเช็ตติโน่ก็เคยสัมผัสประสบการณ์นี้มาแบบไม่ได้น้อยหน้ากัน ทีมสิงห์บลูส์ปลดทูเคิลเพราะทัศนคติที่ไม่ตรงกัน ปลดพอตเตอร์เพราะให้เวลาก็แล้ว ซื้อนักเตะเสริมทัพก็แล้ว แต่ผลงานกลับสวนทาง
ทางด้านของโปเช็ตติโน่กับช่วงที่สร้างความฮือฮาพาสเปอร์สจบอันดับท็อป ๆ ของพรีเมียร์ลีก เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ลีก แต่เมื่อเขาพาทีมเป็นแชมป์ไม่ได้ ฟอร์มเริ่มตกลง ก็ถึงคราวอำลาสโมสร แต่ก็เป็นการจากกันด้วยดี
ดังสารคดี “All or Nothing: Tottenham Hotspur” ที่เคยเผยความสัมพันธ์อันดีของโปเช็ตติโน่กับประธานสโมสร แดเนี่ยล เลวี่ ที่แม้จะจากกันไปก็ยังมีความรู้สึกที่เสียดายอยู่ เลวี่เสียดายที่โปเช็ตติโน่ต้องอำลาทีมไปตามวัฏจักรลูกหนัง ส่วนกุนซือวัยเลข 5 ก็เสียดายที่พาสเปอร์สเป็นแชมป์ไม่ได้
สวนทางกับการคุม ปารีส แซงต์-แชร์กแมง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มฤดูกาล 2021/22 บอร์ดบริหารเปแอสเชเดินตลาดซื้อขายนักเตะโดยที่ไม่ถามโค้ชว่าอยากได้จริงหรือเปล่า การเข้ามาของ เซร์คิโอ รามอส, จานลุยจิ ดอนนารุมม่า, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม และ ลิโอเนล เมสซี่ เรียกได้ว่าต่างกับแนวทางการคุมทีมของโปเช็ตติโน่แบบสุดขั้ว
เพราะกุนซือรายนี้เชื่อมั่นและยึดมั่นใน “ระบบทีม” มากกว่าการเอานักเตะดัง ๆ มารวมตัวกันดั่งกาลาคติกอส เลยกลายเป็นว่าเขาต้องจัดการกับขุมกำลังที่อุดมไปด้วยแข้งเกรดเอ จนเจอปัญหาภายในห้องแต่งตัว
แม้จะพาทีมเป็นแชมป์ลีก เอิง และแชมป์คูเป เดอ ฟรองซ์ แต่ก็เฮแบบไม่สุดเสียง เพราะนอกเหนือไปจากโทรฟี่ที่ได้ ดูเหมือนว่าเปแอสเชเผชิญสถานการณ์กดดันอยู่บ่อย ๆ ราวกับว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมกับสโมสรหันหน้ากันไปคนละทิศคนละทาง ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงแฟนบอลที่กดดันนักเตะซูเปอร์สตาร์ที่เล่นไม่สมราคา กดดันบอร์ดที่ทีมตกรอบแชมป์เปี้ยนส์ลีกจนเป็นอาจิณ
ท้ายสุดโปเช็ตติโน่ก็อำลาเปแอสเชหลังจบฤดูกาล 2021/22 และว่างงานไปถึงหนึ่งฤดูกาลเต็ม ๆ ก่อนจะไตร่ตรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนกับหลาย ๆ ฝ่าย โดยมีเชลซีเป็นหนึ่งในตัวเลือก
เมื่อเขามองแล้วว่าสิงห์บลูส์มีศักยภาพดีพอ นักเตะส่วนใหญ่ยังอายุไม่เยอะและสามารถปลุกปั้นสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ได้แบบยาว ๆ
ขณะที่บอร์ดบริหารเองก็มีบทเรียนกับกุนซือ 1-2 คนก่อนหน้า ไปจนถึงประสบการณ์ชิมลางในวงการลูกหนังอังกฤษมาแล้วหนึ่งฤดูกาล
ทันทีที่เคมีเกิดผสมกันลงตัวก็นำมาซึ่งการตกลงปลงใจมาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ของทัพสิงโตน้ำเงินคราม ที่จะเริ่มต้นลุยอย่างเป็นทางการในซีซั่น 2023/24
แหล่งอ้างอิง
https://www.skysports.com/football/news/11668/12883638/mauricio-pochettino-the-perfect-fit-why-chelsea-will-be-able-to-dream-again-under-their-incoming-manager
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/05/29/seven-reasons-mauricio-pochettino-perfect-chelsea/
https://theathletic.com/4520851/2023/05/16/pochettino-chelsea-staff-transfers/
https://theanalyst.com/eu/2023/05/pochettino-to-chelsea-how-would-it-work/
https://www.chelseafc.com/th/news/article/mauricio-pochettino-to-become-chelsea-head-coach
https://www.independent.co.uk/sport/football/mauricio-pochettino-chelsea-news-tottenham-transfers-b2340628.html