หากใครที่เป็นแฟนฟุตบอลพันธุ์แท้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คงเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่าฤดูกาล 1998/99 เป็นช่วงเวลาที่ “ดีที่สุด” ช่วงหนึ่งของสโมสร เพราะทีมผงาดคว้าเทรเบิ้ลแชมป์มาครองอย่างยิ่งใหญ่
และในฤดูกาลถัดมา (1999/00) พลพรรค “ปีศาจแดง” ก็มีภารกิจสานต่อความสำเร็จผ่านโทรฟี่น้อยใหญ่ที่ทีมเข้าร่วมชิงชัยตามปกติของวัฏจักรลูกหนัง
อย่างไรเสีย กลับมีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น เมื่อสโมสรตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเอฟเอ คัพ และไปโฟกัสกับทัวร์นาเมนต์ที่อุบัติขึ้นใหม่ในเวลานั้นอย่าง “ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ” ปี 2000 หรือชื่อปัจจุบันศึกชิงแชมป์สโมสรโลก แทน
เกิดอะไรขึ้นกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ทำไมพวกเขาถึงไม่ลงเตะรายการบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรแฝงอยู่บ้าง หามาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand
เทรเบิ้ลแชมป์ที่ยิ่งใหญ่
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขย่าวงการลูกหนังยุโรปในปี 1999 จากผลงานหรูคว้า “เทรเบิ้ลแชมป์” ประกอบไปด้วยพรีเมียร์ลีก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ เอฟเอ คัพ ภายใต้การคุมทีมของบรมกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
สำหรับพรีเมียร์ลีก จุดสำคัญที่ส่งให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ผงาดสู่การเป็นแชมป์ชนิดทำแต้มเฉือนรองจ่าฝูงอย่าง อาร์เซนอล 1 แต้ม (79 ต่อ 78) คือผลงานในช่วง 20 เกมหลังสุดของฤดูกาล ที่ทัพเรดเดวิลล์เก็บผลงานไม่แพ้ทีมใดเลย แบ่งเป็นผลงานชนะ 14 นัด เสมอ 6 นัด
ขณะที่ศึกเอฟเอ คัพ พวกเขาก็มาหักด่านคู่ปรับไม้เบื่อไม้เมาในฤดูกาลนั้นอย่าง อาร์เซนอล ในรอบรองชนะเลิศได้ แม้สถานการณ์ของทีมจะตกเป็นรองเมื่อ รอย คีน มาโดนใบแดง
แต่ท้ายสุดทั้งความมหัศจรรย์ของ ปีเตอร์ ชไมเคิล ที่เซฟลูกยิงของ เดนิส เบิร์กแคมป์ รวมถึงช็อตความสามารถเฉพาะตัวของ ไรอัน กิ๊กส์ ที่จัดโซโล่ครึ่งสนามเข้าไปยิงแสกหน้าใส่ เดวิด ซีแมน กลายเป็น แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เข้าไปชิงชนะเลิศกับ นิวคาสเซิล และนัดตัดสินแชมป์เป็นทีมของป๋าเฟอร์กี้ที่ชนะไปแบบไม่ยากเย็น 2-0
ส่วนถ้วยใหญ่อย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นรองคู่แข่งนัดชิงดำอย่าง บาเยิร์น มิวนิค กล่าวคือ แมนฯ ยูไนเต็ด ชวดใช้งานกองกลางพันธุ์ดุอย่าง รอย คีน รวมถึงกองกลางมันสมองอย่าง พอล สโคลส์ ที่สะสมใบเหลืองครบโควตา ทำให้ต้องจัด ไรอัน กิ๊กส์ มายืนเป็นกลางคู่กับ นิคกี้ บัตต์ แทน
แม้สถานการณ์จะตกเป็นรองและปีศาจแดงก็โดนเสือใต้แห่งเมืองเบียร์ออกนำตั้งแต่ไก่โห่และคงสกอร์ 1-0 จนเกือบสิ้นเสียงนกหวีดยาวของครึ่งหลัง ทว่าทีมดังแห่งแมนเชสเตอร์กลับแสดงให้เห็นถึงความมุมานะ “ฆ่าไม่ตาย”
ประตูตีเจ๊าเกิดขึ้นในนาทีที่ 90+1 จาก เท็ดดี้ เชอริงแฮม ต่อเนื่องด้วยประตูแซงดับ 2-1 ในนาทีที่ 90+3 จากกองหน้าจอมซูเปอร์ซัพอย่าง โอเล กุนนาร์ โซลชา นำมาซึ่งถ้วยแชมป์ใบที่สามของทีมในฤดูกาลนั้น
กลายเป็นสถิติเด่นที่ในทุกวันนี้ (นับหลังจบแมตช์เดย์ที่ 38 ของพรีเมียร์ลีก 2022/23) ก็ยังไม่มีทีมจากอังกฤษทีมใดทำได้แบบทีมปีศาจแดง
“คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ” รายการแข่งขันใหม่ฟีฟ่า
จากความสำเร็จในรูปแบบของโทรฟี่ แน่นอนว่าในฤดูกาลถัดมา (1999/00) แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีภารกิจป้องกันแชมป์ทั้งสามรายการ
แต่ความจริงแล้วมันกลับไม่เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะกับถ้วยเอฟเอ คัพ ด้วยสาเหตุที่ว่า ในเวลาไล่เลี่ยกันกับการแข่งขันบอลถ้วยเก่าแก่ที่มีอายุเกินศตวรรษ ดันไปตรงกับทัวร์นาเมนต์ใหม่ที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ที่ชื่อ “ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ” หรือชื่อในปัจจุบัน “ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ”
ต้องเท้าความก่อนว่า ก่อนที่ศึกคลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ จะอุบัติขึ้น โลกลูกหนังมีรายการแข่งขันชิงแชมป์ระดับสโมสรชั้นนำระหว่างทวีปมานานแล้ว และถ้าให้เอ่ยถึงรายการแข่งขันชื่อดังระดับสโมสรต่างทวีปที่มี “ชื่อเสียง” ที่สุดรายการหนึ่งก็คือ ศึก “อินเตอร์คอนติเนนทัล คัพ (Intercontinental Cup)”
อินเตอร์คอนติเนนทัล คัพ ริเริ่มแข่งขันมาตั้งแต่ยุค 60s ภายใต้การร่วมมือกันของยูฟ่า และ CONMEBOL หรือองค์กรลูกหนังแห่งอเมริกาใต้ เป็นรายการแข่งขันของสองสุดยอดสโมสรระดับแชมป์ยุโรป (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) ชนกับสโมสรระดับแชมป์ของอเมริกาใต้ (โคปา ลิเบอตาโดเลส) ซึ่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เคยเข้าร่วมการแข่งขันนี้ และเป็นแชมป์ 1 สมัย ในปี 1999
อย่างไรก็ดี เพราะรายการแข่งดังกล่าว “ไม่ได้” เป็นการจัดการแข่งขันโดยตรงของฟีฟ่า แถมในช่วงหลัง ๆ ศึกอินเตอร์คอนติเนนทัล คัพ ก็เริ่มมีภาพจำเป็นเพียงการแข่งขัน “กระชับมิตร” ที่เอาสองทีมจากต่างทวีปมาชนกันเท่านั้น แถมยังออกไปในเชิงพานิชย์มากขึ้นด้วยซ้ำไป ภายหลังการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์จัดการแข่งขันของ “โตโยต้า” เมื่อปี 1980 ทำให้อีกชื่อหนึ่งของรายการนี้คือ “โตโยต้า คัพ”
ในระหว่างที่ โตโยต้า คัพ ดำเนินไปในทุก ๆ ปี ทางฝั่งของฟีฟ่าก็มีแนวคิดที่จะจัดศึกแชมป์สโมสรต่างทวีปมาดวลแข้งกันเองเช่นกัน โดยแผนการแรกถูกวางขึ้นในปี 1993 ก่อนที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นใหม่ใน 7 ปีต่อมา เมื่อฟีฟ่าเนรมิตรทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ระดับสโมสรชั้นนำข้ามทวีปมาดวลกันจนได้ ภายใต้ชื่อ คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ
ต่อจากนั้นทั้งสองรายการแข่งขันก็ได้มีควบรวมกันเป็นทัวร์นาเมนต์ใหม่ที่มีฟีฟ่าเป็นหัวเรือใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ภายใต้ชื่อ “ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ” ในปี 2005 และคงชื่อนี้มาจนปัจจุบัน
กลับมาที่ฤดูกาล 1999/00 ช่วงหนึ่งเดือนหลังผงาดเทรเบิ้ลแชมป์ กลับมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทาง แมนฯ ยูไนเต็ด เอง โดยสโมสรตัดสินใจเลือกแข่งรายการใหม่ของฟีฟ่า และขอถอนตัวจากเอฟเอ คัพ เนื่องจากโปรแกรมการแข่งขันของทั้งสองรายการเกิดชนกันในช่วงต้นเดือนมกราคม 2000
กล่าวคือ เอฟเอ คัพ รอบสี่ แข่งขันในวันที่ 8 มกราคม ขณะที่ศึกชิงแชมป์สโมสรโลก มีกำหนดลงเตะระหว่าง 5-14 มกราคม
เป็นเหตุให้เอฟเอ คัพ 1999/00 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทีมแชมป์เก่าขอถอนทีมออกจากการแข่งขัน ท่ามกลางความงุนงงของทั้งแฟนบอลไปจนถึงสื่อมวลชน กับเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกทิ้งรายการแข่งขันที่ว่ากันว่ามี “มนต์ขลัง” ไม่แพ้แชมป์ลีก
“เราตระหนักดีว่าแฟนบอลของเราหลายคนจะต้องผิดหวังจากการที่เราตัดสินใจไม่ลงแข่งขันในเอฟเอ คัพ” แถลงการณ์บางส่วนของ แมนฯ ยูไนเต็ด ระบุไว้เมื่อปี 1999
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มองว่านี่คือโอกาสในการแข่งขันเพื่อเป็นเกียรติสูงสุดในการเป็นแชมป์สโมสรโลกทีมแรก”
นำมาซึ่งเหตุผลต่าง ๆ นานา และคิดในมุมที่เป็นไปได้ของแฟนฟุตบอลทั่วไป อย่าง Daily Mirror เคยลงข่าวหน้าหนึ่งโดยเอามุมมองของแฟนฟุตบอลหลากอาชีพมาแสดงความเห็น
เสียงส่วนใหญ่มาในเชิงวิจารณ์ขรม ปนไปกับความผิดหวังเรื่องของการตัดสินใจ ถึงขั้นที่ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ควรจะแข่งเอฟเอ คัพ อีก
ขณะที่ผู้สันทัดกรณีบางส่วนก็มองในมุมว่าเรื่องนี้มีเหตุปัจจัยจากนอกสนามมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ของอังกฤษ
ผลประโยชน์ชาติ ?
เมื่อฟีฟ่า “เสนอ” และริเริ่มจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับสโมสรายการใหม่ขึ้นมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฐานะแชมป์สโมสรจากยุโรป จึงได้สิทธิ์ลงแข่งรายการนี้โดยอัตโนมัติตามแผนที่องค์กรลูกหนังโลกกำหนด
เหนือสิ่งอื่นใด ปีศาจแดงยังได้สิทธิ์ลงเตะรายการนี้โดยมีนัยของการเป็นตัวแทนของอังกฤษไปด้วยอีกทาง
เรดเดวิลล์มีทางเลือกไม่มากนักและอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และหากจะเอ่ยว่าสโมสรตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงองค์กรลูกหนังประเทศอย่างเอฟเอก็ไม่ผิดนัก
มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้น กล่าวว่าทีมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการไปตามแผนของรัฐบาลรวมถึงองค์กรแม่ ซึ่งมีเรื่องของ “ผลประโยชน์ของชาติ (National interest)” มาเกี่ยวโยง
“ถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ที่บราซิล (คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ) มันจะเป็นการทำลายโอกาสที่อังกฤษเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006” The Mirrior เผยบทสัมภาษณ์ของอดีตประธานเอ็ดเวิร์ดส์
“เราถอนตัวจากเอฟเอ คัพ และตกลงที่จะไปเล่นที่บราซิล”
“เป็นเรื่องค่อนข้างแน่ชัดสำหรับเราว่าถ้าไปแข่งที่บราซิลก็จะช่วยเพิ่มโอกาสอย่างมากในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 หากเราไม่ไปแข่งก็เหมือนเป็นการทำลายโอกาสของอังกฤษ”
“(เซอร์ อเล็กซ์) เฟอร์กูสันต้องการให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ป้องกันแชมป์เอฟเอ คัพ” วีเวก เชาว์ฮารี เขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวลงใน The guardian ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่พอใจกับสถานการณ์ที่ทีมไม่สามารถเลือกอะไรได้ด้วยตัวเอง
“แหล่งข่าวเผย เฟอร์กูสันหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เจาะจงหมายเลขตรงไปยัง โทนี่ แบลร์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้น) ซึ่งอยู่ในการประชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่โคโซโวโดนทิ้งระเบิด แบลร์ไม่พอใจมาก ๆ เฟอร์กูสันก็เช่นกัน”
ขณะที่ โทนี่ แบงส์ รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาในขณะนั้น ยอมรับว่าทางเลือกของการตัดสินใจนั้นมีไม่มาก และขอให้แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ด เข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่สโมสรต้องถอนตัวจากการแข่งขันเอฟเอ คัพ
แบงส์อ้างถึงสิ่งที่ฟีฟ่าอาจจะกระทำต่ออังกฤษที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 การเสนอตัวอาจจะถูกปัดตกลงไป หาก แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศและยุโรปในเวิลด์ คลับ แชมเปี้ยนชิพ
“ผมคิดว่าถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ได้ไปแข่งขันรายการใหม่นี้ที่บราซิล เน้นย้ำเลยว่าพวกเขาอาจจะถูกแทนที่โดย บาเยิร์น มิวนิค และจะสร้างความเสียหายให้กับแคมเปญของพวกเราในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006” แบงค์ส กล่าว
“มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งอาจจะเป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ในการรักษามาตรฐานของอังกฤษและยุโรป สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และเป็นการตัดสินใจที่ไม่ปกติกับการอนุญาตให้พวกเขาได้รับการยกเว้นจากเอฟเอ คัพ ในฤดูกาลหน้า (1999/00)”
“แต่มันเป็นเวลาแค่หนึ่งฤดูกาล และผมหวังว่ากองเชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่พวกเขาและสโมสรถูกขอให้ทำ”
“ถ้าหันหลังให้ทัวร์นาเมนต์นี้ มันจะส่งสัญญาณที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไปยังการเสนอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก กับช่วงเวลาที่เราอยู่ในขั้นตอนการเสนอตัวจัดฟุตบอลโลก 2006” เดวิด เดวีส์ ผู้อำนวยการบริหารของเอฟเอ ตอกย้ำถึงกรณีที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นต้องไปแข่งทัวร์นาเมนต์ใหม่ของฟีฟ่า
มีความพยายามของหลาย ๆ ภาคส่วนในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่โดนบีบบังคับนี้อยู่เหมือนกัน อย่างพรีเมียร์ลีก เคยเสนอให้ฤดูกาล 1999/00 ขยายช่วงเวลาแข่งขันออกไปอีก 10 วัน เพื่อให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ลงแข่งขันได้ทั้งสองรายการ
ทว่าก็ถูกปัดตกไปด้วยเหตุผลสองประการคือ ซัมเมอร์ปี 2000 มีศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2000 และจะไม่ยุติธรรมกับสโมสรร่วมลีก
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ คลับ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2000 ถึงริโอ เดอ จาเนโร หนึ่งในสังเวียนจัดรอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม B ซึ่งลูกทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถูกจับให้มาอยู่ร่วมสายกับ วาสโก ดา กามา ทีมดังแห่งรัฐริโอฯ, เนกาซ่า แชมป์จากโซนคอนคาเคฟ รวมถึง เซาท์ เมลเบิร์น แชมป์จากโซนโอเชียเนีย
แมนฯ ยูไนเต็ด เผชิญผลการแข่งขันที่ไม่เป็นใจเท่าไรนัก และไม่อาจทำตามเป้าประสงค์ผ่านการเป็นแชมป์รายการนี้ได้ ทีมตกรอบแบ่งกลุ่มจากผลงานชนะ 1 เสมอ 1 และแพ้ 1 โดยที่ผลต่างประตูได้เสียเป็นรองทีมเนกาซ่า จากเม็กซิโก
จุดเปลี่ยนของโอกาสเข้ารอบอยู่ที่สองเกมแรกที่เสมอกับสโมสรเม็กซิกัน 1-1 แถม เดวิด แบ็คแฮม โดนใบแดง ต่อเนื่องด้วยการพ่ายเจ้าบ้านอย่าง วาสโก ดา กามา ในเกมถัดมาถึง 1-3 และแม้นัดสุดท้ายจะเอาชนะทีมจากออสเตรเลีย 2-0 ทว่าผลอีกคู่ เนกาซ่า แพ้ วาสโก ดา กามา แค่ 1-2 ทำให้ลูกได้เสียของของสโมสรแดนจังโก้ดีกว่า
กาลเวลาดำเนินมากว่าครึ่งทศวรรษ ท้ายสุดทั้งการบีบบังคับแบบกลาย ๆ ให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เดินทางไปแข่งทัวร์นาเมนต์ใหม่ของฟีฟ่า เพื่อโอกาสลุ้นเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ของอังกฤษกลับเป็นการคว้าน้ำเหลว
เพราะองค์กรลูกหนังโลกเลือกเยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในขณะที่อังกฤษไปไม่ถึงฝั่งฝัน ได้รับคะแนนโหวตเป็นอันดับสาม โดยที่คะแนนเป็นรองแอฟริกาใต้ เจ้าภาพครั้งต่อมา (2010)
“มันกลายเป็นหายนะสำหรับเรา” เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ย้อนความถึงเหตุการณ์เมื่อซีซั่น 1999/00 “เราทำเพื่อช่วยอังกฤษเสนอตัวจัดฟุตบอลโลก นั่นคือสถานการณ์ทางการเมือง”
“ผมเสียใจเพราะเราไม่ได้อะไรนอกจากการถูกยึดติดและโดนคำวิจารณ์แย่ ๆ ที่ไม่ได้ลงเล่นในเอฟเอ คัพ ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะเอฟเอและรัฐบาลคิดว่าการเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้จะช่วยให้อังกฤษเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2006 ได้ง่ายขึ้น”
จากความยิ่งใหญ่ในฐานะเทรเบิ้ลแชมป์ปี 1999 ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สู่สถานการณ์ในขวบปีต่อมาที่เต็มไปด้วยเรื่องยุ่งเหยิงนอกสนาม เป็นเหตุให้สโมสรมีทางเลือกไม่มากนักจากแรงกดดันจากทุกด้าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไรของสโมสร
แหล่งอ้างอิง
https://www.90min.com/posts/remembering-man-utd-s-fa-cup-withdrawal-fifa-club-world-championship-venture
https://www.theguardian.com/football/1999/oct/29/newsstory.sport2
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/manchester-united-club-world-cup-26460285
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/case-yes-minister-inside-story-10606185
https://jobsinfootball.com/blog/club-world-cup-what-is-it/
https://therepublikofmancunia.com/united-disrespected-the-fa-cup/
http://news.bbc.co.uk/2/hi/sport/football/fa_carling_premiership/381662.stm
https://en.wikipedia.org/wiki/2000_FIFA_Club_World_Championship