“บอลไทย ไปมวยโลก” วลีเด็ดจาก “โน๊ต” อุดม แต้พานิช ศิลปิน นักพูดชื่อดังใน “เดี่ยวไมโครโฟน 9” สร้างความไม่พอใจให้แฟนบอลไทยพันธุ์แท้หลายคน
วลีเรียกเสียงฮา ล้อเลียนบอลไทย ถูกมองว่าเป็นการพูดเกินความเป็นจริง และเป็นการใส่ร้ายวงการฟุตบอลไทยให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ แล้วความรุนแรง การตีกันในสนามยังเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่ยังไม่หายไปจากวงการฟุตบอลไทยจริงหรือ ไปติดตามกับ BallThaiStand
บอลไทยไปมวยโลก วลีเรียกขำจากเหตุการณ์จริงในอดีต
ฟุตบอลไทยลีกยุคตั้งไข่สู่ระบบอาชีพแบบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2009 หลายสโมสรลงทุนสร้างทีม สร้างสนามแข่งขันของตัวเอง มีกลุ่มกองเชียร์เข้ามาสร้างกลิ่นอายลูกหนังไม่ต่างจากบรรยากาศของฟุตบอลต่างประเทศ
แต่ภาพที่สวยงามกลับถูกทำลายด้วย “ความรุนแรง” ในสนามครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นการตีกันของผู้เล่น การทำร้ายผู้ตัดสิน หรือการยกพวกตีกันของแฟนบอล
นั่นไม่แปลกที่ “โน๊ต” อุดม แต้พานิช ศิลปิน นักพูดชื่อดังจะหยิบเรื่องราวดังกล่าวมาอำใน “เดี่ยวไมโครโฟน 9” นั่นคือที่มาของวลีเด็ด “บอลไทยไปมวยโลก”
แน่นอนว่ามันสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ฟัง และมีแฟนบอลบางกลุ่ม หรือแม้แต่คนที่อยู่ในวงการฟุตบอลไทยออกมาตำหนิและสวนกระแสว่า สิ่งที่พูดนั้นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมันเป็นเรื่องในอดีตที่การตีกัน การใช้ความรุนแรงในสนามเกิดขึ้นในฟุตบอลไทยลีกทุกสัปดาห์
แต่ปัจจุบันฟุตบอลไทยยกระดับทั้งเรื่องในและนอกสนามให้ดีขึ้น นักเตะไทยมีความเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับ สามารถออกไปค้าแข้งต่างประเทศทั้งในยุโรปอย่าง สเปน หรือ เบลเยียม
หรือในระดับเอเชียมีนักเตะไทยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์เจลีก ญี่ปุ่น และ เคลีก เกาหลีใต้ มาแล้ว นักเตะอย่าง ชนาธิป สระกระสินธ์ ถูกซื้อตัวด้วยค่าสูงเป็นประวัติศาสตร์ลูกหนังแดนซามูไร
นอกจากนี้ยังมีนักเตะชื่อดังจากทั่วโลกตบเท้ามาโกยเงินบาท มาลิ้มลองรสชาติลูกหนังไทยมากมาย ภาพความรุนแรงที่เคยมีจึงค่อยๆ หายไป
โลกโซเชียล ช่วยลดความเดือดในสนาม
เมื่อก่อนจะมีนักเตะประเภทเล่นแรง เข้าบอลหนัก เจตนาทำร้ายเพื่อนร่วมอาชีพ บางจังหวะผู้ตัดสินไม่เห็น จนทำให้นักเตะเหล่านั้นได้ใจ ทำพฤติกรรมซ้ำๆ หลายครั้ง
แต่ด้วยโลกโซเชียลที่พัฒนาขึ้น แม้จะตบตาผู้ตัดสินได้ แต่ไม่อาจหลบกล้องถ่ายทอดสดได้
เมื่อนักเตะยังเล่นตุกติก หรือเล่นรุนแรงจะถูกแฟนบอลประณาม หากเข้าข่ายเจตนาทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมอาชีพ อาจถูกสมาคมฯ ลงโทษแบนและปรับเงินได้
หากเป็นเหตุรุนแรง ทำลายภาพลักษณ์สโมสรอาจโดนลงโทษหนักคือยกเลิกสัญญามีสูง เช่นเหตุการณ์ที่ อิศเรศ น้อยใจบุญ นักเตะบางกอก ฟันศอกใส่หน้า ศุภสัณฑ์ เรืองศุภนิมิต นักเตะทีม นอร์ทกรุงเทพ จนได้รับบาดเจ็บ ต้องเย็บถึง 24 เข็มในศึกไทยลีก 3 รอบชิงแชมป์ประเทศไทย เมื่อปี 2022
ต่อมาสโมสรได้ยกเลิกสัญญา และสมาคมฯ มีบทลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลอาชีพ 3 ปี เรียกว่าเป็นบทลงโทษที่รุนแรงจนเจ้าตัวหมดอนาคตในเส้นทางลูกหนังอาชีพทันที
บทลงโทษรุนแรง ทำให้นักเตะเกรงกลัว
บทลงโทษที่หนักสุดของอาชีพนักฟุตบอล คือการโดนแบนตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นโทษสูงสุดในวงการลูกหนังไทย ที่ผ่านมาเคยมีนักเตะเคยได้รับโทษดังกล่าวแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2545 พิเชษฐ์ สาดีน นักเตะทีมจังหวัดสตูล ทำร้ายผู้ตัดสิน หลังถูกใบแดงไล่ออกจากสนามในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 33 ที่ จ.เชียงใหม่ นัดที่พบ สุพรรณบุรี (ได้ยกเลิกโทษแบน ปี 2550
หลังจากนั้นไม่นานปี 2549 โชเซ่ คาร์ลอส ดา ซิลวา แนวรุกชาวบราซิลของทีมพนักงานยาสูบ ชกเข้าที่ใบหน้าผู้ตัดสิน ในเกมไทยลีก นัดที่เสมอกับ ธนาคารกรุงไทย 2-2 จนโดนลงโทษห้ามค้าแข้งในเมืองไทยตลอดชีวิต
บอลใต้เดือดอีกครั้ง เมื่อปี 2552 แวเดร์ สาคอ นักเตะทีมนราธิวาส เอฟซี ใช้หมัดซ้ายชกเข้าที่หูซ้ายของผู้ตัดสิน ในเกมลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 เมื่อปี 2552 (ปี 2554 ได้ยกเลิกโทษแบนตลอดชีวิต)
ความดุเดือดยังไม่จางหาย ปี 2555 ประสาร พันธ์สำลี นักเตะทีมระยอง ยูไนเต็ด วิ่งไล่ทำร้ายผู้ตัดสินในเกมลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 นัดที่เสมอ อาร์แบค บีอีซี เทโรศาสน 1-1 (อุทธรณ์ได้ลดโทษเหลือแบน 2 ปี)
หรือจะเป็นปี 2557 สุขสันต์โชติ สาสุข นักเตะปราจีนบุรี ยูไนเต็ด กระโดดถีบศีรษะ อิสริยะ มารมย์ นักเตะนครนายก เอฟซี ในเกมลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2
หลังจากนั้นปี 2558 จิระศักดิ์ บุตรแดงน้อย นักเตะขอนแก่น เอฟซี เจตนาผลักผู้ตัดสินล้มในเกมพบ ขอนแก่น ยูไนเต็ด ศึกลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 (ได้ลดโทษเหลือแบน 8 เดือน) เมื่อบทลงโทษรุนแรง ทำให้นักเตะเกรงกลัว และปัญหาการใช้ความรุนแรงในสนามลดลงเยอะทีเดียว
ผู้ตัดสิน หนึ่งในปัญหาที่ต้องแก้ไขให้โปร่งใส
ความรุนแรงในฟุตบอลลีกอาชีพในระดับไทยลีก 1 ถือว่ามีน้อยจนแทบไม่มีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรฐานของผู้ตัดสินและความเป็นมืออาชีพของนักเตะ รวมถึงการนำเทคโนโลยี VAR มาใช้จนนักเตะไม่กล้าเล่นนอกเกม
แต่ในลีกระดับล่างตั้งแต่ไทยลีก 2 จนถึงไทยลีก 3 ต้องยอมรับว่ายังคงมีเหตุการณ์รุนแรงให้เห็นอยู่บ้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากนิสัยของนักเตะส่วนน้อยแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพของ “ผู้ตัดสิน” ที่ไม่สามารถคุมเกมหรือเป่าผิดพลาดจนเกิดความไม่พอใจให้กับผู้เล่นในสนาม
ในฐานะตุลาการในสนามผู้ตัดสินคือคนที่ใหญ่สุด มีอำนาจในการชี้ขาดทุกจังหวะ การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินต้องโปร่งใส ทันเกม ให้ความเป็นธรรมกับผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย จังหวะไหนคลุมเครือต้องมีคำอธิบายในจังหวะเป่าฟาวล์ เพื่อให้กับนักเตะเข้าใจว่ามันฟาวล์อย่างไร จังหวะผู้เล่นเล่นนอกเกมต้องกล้าตักเตือนหรือแจกใบเหลือง
หากมีการปะทะหนัก เล่นนอกเกมต้องกล้าให้ใบแดง เพื่อป้องกันการเอาคืนหรือเหตุรุนแรงที่จะตามมา หากผู้ตัดสินสามารถคอนโทรลเกมได้ คุมเกมได้ โอกาสที่จะเกิดการเล่นนอกเกมก็จะลดลงไปด้วย
ปลูกฝังสปิริต ย้ำถึงโทษของความรุนแรงในสนามให้นักเตะตั้งแต่เยาวชน
ปัจจุบันฟุตบอลไทยลีกพัฒนาขึ้นมาเยอะ ความรุนแรงต่างๆ มีน้อยลง แต่ใช่ว่าจะไม่มี ดังนั้นการเริ่มปลูกฝัง และให้เยาวชนตระหนักถึงโทษของการใช้ความรุนแรง รู้จักสปิริตรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
หากช่วยกันปลูกฝังนักกีฬาตั้งแต่เยาวชน และตระหนักถึงผลเสียของการสร้างความรุนแรงในสนาม อนาคตความรุนแรงในสนามหรือการตีกันคงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนหมดไป
อีกอย่างคือการต่อต้านความรุนแรงในสนามในฟุตบอลไทยลีกยังไม่เข้มข้น หากทุกฝ่ายทำอย่างจริงจัง มีการรณรงค์ให้ทั่วถึงคงช่วยได้อีกทาง
สื่อเองคงต้องช่วยและมีบทบาทในการนำมุมดีๆ ของฟุตบอลไทยลีก หรือ ฟุตบอลทีมชาติให้แฟนบอลได้เห็นมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคำว่า “บอลไทย ไปมวยโลก” คงเป็นเงาตามตัวบอลไทย ฉุดไม่ให้เดินไปข้างหน้า และลดความนิยมจากคนไทยลงไปอีก
เมื่อถึงจุดที่ไร้ศรัทธา อีกไม่นานฟุตบอลไทย คงได้รับความนิยมจากคนกลุ่มเล็กๆ ยากที่จะเติบโต และโดนดูถูกอยู่ร่ำไป
อ้างอิง
https://www.facebook.com/MainStandTH/photos/a.250798898813146/1381955309030827/?paipv=0&eav=AfbwPWdWpZUhBrP8vs-9Y4aoabO8A5E2WXBXrSWLNUmHiw0KrsQtDMuJUr4j7I4v9tg&_rdr
https://sport.trueid.net/detail/wmaROb9MRpw
https://www.facebook.com/MainStandTH/photos/a.250798898813146/1381955309030827/?paipv=0&eav=AfbwPWdWpZUhBrP8vs-9Y4aoabO8A5E2WXBXrSWLNUmHiw0KrsQtDMuJUr4j7I4v9tg&_rdr
https://www.mainstand.co.th/th/news/1/article/6731
https://www.mainstand.co.th/th/news/1/article/10272