Feature

ฮอว์ธอร์นส์ระทม : เมื่อบิ๊กแซมเสียเครดิต "ผู้เชี่ยวชาญการหนีตาย" ที่เวสต์บรอมฯ | Main Stand

“บ้านพี่อยู่ เวสต์ มิดแลนด์ส เพราะฟอร์มพี่ไม่แล่น พี่จึงดึงแซมคืนถิ่น 
โค้ชคนจร ลุ่ม ๆ ดอน ๆ พาทีมจมดิน เปรียบเหมือนเป็นแบ็กกีส์ชีพสิ้น ต้องบินมาเล่นลีกรอง” 

 


เชื่อได้เลยว่าบรรดาแฟนบอลของ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ในฤดูกาล 2020-21 หากเคยได้ฟังเพลง สุโขทัยระทม ของ สายัณห์ นิรันดร ที่เป็นไวรัลของเหล่าบุรุษ ใ จ เ ก เ ร จะต้องแปลงเพลงออกมาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน เพราะในฤดูกาลนั้นเป็นฤดูกาลแรกที่ทีมได้กลับขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกอีกครั้งหนึ่งหลังจากหายไปร่วมปี แต่ผลงานกลับย่ำแย่อย่างมาก เรียกได้ว่ามีเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้นที่ขึ้นมาหายใจเหนือโซนสีแดงได้

แต่ความหวังได้มาเยือนถิ่น เดอะ ฮอว์ธอร์นส์ อีกครั้ง เนื่องจากทีมได้แต่งตั้ง แซม อัลลาไดซ์ (Sam Allardyce) ยอดโค้ชที่มีเครื่องหมายการค้าสุดโหดว่า “Survival Specialist” ด้วยสถิติ “คุมทีมโซนแดงรอดตกชั้นทั้งหมด” ในพรีเมียร์ลีก ไล่มาตั้งแต่ โบลตัน วันเดอเรอร์ส, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, คริสตัล พาเลซ และ เอฟเวอร์ตัน ไม่ว่าทีมจะมีทรัพยากรน้อย ระบบทีมย่ำแย่หรือสปิริตหดหายขนาดไหน แต่ “บิ๊กแซม” ก็จัดให้อยู่รอดบนลีกสูงสุดได้ทั้งหมด

กระนั้นเมื่อเขาเข้ามารับงานที่เวสต์บรอมวิช สถิติดี ๆ ที่เคยสั่งสมมากลับพังไม่เป็นท่า ทีมไม่กระเตื้อง และตกชั้นไปแบบไม่ได้ลุ้นด้วยอันดับรองบ๊วยของตารางคะแนนไปเสียอย่างนั้น

เกิดอะไรขึ้น ? เหตุใดการเสียเครดิตของเทพเจ้ากุนซือแห่งการพาทีมรอดตกชั้นจึงอุบัติขึ้นที่ เดอะ ฮอว์ธอร์นส์ ? ร่วมทำความเข้าใจไปพร้อมกับ Main Stand

 

ไอ้บิลิช ไอ้***

"ผมอาจอายุ 68 ปี รูปลักษณ์ดูแก่และหลายคนคิดว่าตกยุค แต่ในแง่ของฟุตบอลแล้วไม่มีใครเหนือกว่าผม … ไม่ใช่ เป๊ป ไม่ใช่ คล็อปป์ และไม่ใช่ อาร์เตต้า พวกนี้ทำในสิ่งที่ถนัด และผมก็ทำในสิ่งที่ถนัดเช่นกัน … ผมจะไม่บอกว่าตัวเองเหนือกว่า แต่แน่นอนเลยว่าผมมีความรู้ด้านฟุตบอลเท่าเทียมพวกเขา และบางทีผมแค่หวังว่าตัวเองจะได้รับโอกาสแสดงให้เห็น"

นี่คือคำกล่าวของบิ๊กแซม ณ วันแรกที่รับงานกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด เพื่อกระทำภารกิจหนีตายอีกครั้งในช่วงปลายฤดูกาล 2022-23 อาจฟังดูแล้วขี้โม้ อวดภูมิ เน้นโชว์สกิลปาก ไปเสียเล็กน้อย แต่ต้องยอมรับว่ามีกุนซือน้อยคนจริง ๆ ที่เหมาะกับการรับเผือกร้อน ทำทีมได้แบบไม่สะทกสะท้าน และพลิกฟอร์มการเล่นจากหมดอาลัยตายอยากมาวิ่งลืมตาย จนปลุกปั้นจนรอดตกชั้นมานักต่อนัก 

แน่นอนว่าเครดิตไม่ได้มีแค่การทำทีมของเขาอย่างเดียว แต่ต้องนับรวมถึง “มรดกตกทอด” ที่เขาได้รับมาจากโค้ชคนก่อน ๆ หน้า ที่ได้ทำทีมมาครึ่งค่อนฤดูกาลนั้น ๆ เสียด้วย เช่น งานที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งของบิ๊กแซมคือการรับงานคุมทัพซันเดอร์แลนด์ ในฤดูกาล 2015-16 ต่อจาก ดิ๊ก อัดโวคาต (Dick Advocaat) กุนซือขรัวเฒ่าชาวดัตช์ ที่ทำผลงานไว้ได้แบบห่วยบรมต้องเป็นบ๊วยสลับกับรองบ๊วยมาตลอดตั้งแต่เปิดฤดูกาล

“ถามว่าทำไมผมถึงชอบทำทีมแนวนี้หรือครับ ก็ผมเสพติดไงครับ” บิ๊กแซม กล่าวแบบติดตลกในวันที่เข้ารับงานที่ถิ่น เดอะ ฮอว์ธอร์นส์

บิ๊กแซมเข้ามาในเดือนตุลาคม แต่ผลงานของทีมก็ยังไม่กระเตื้องมากเท่าที่ควร มีผลงานชิ้นโบว์ดำในเดือนธันวาคมที่แพ้รัว ๆ ตลอดเดือนด้วยซ้ำ แถมการซื้อนักเตะในตลาดหน้าหนาวก็เป็นการไปสอยนักเตะแบบฟรีเอเยนต์หรือไม่ก็นักเตะเกรด D, D+ หรือ C มาด้วยราคาไม่กี่ล้านปอนด์ 

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือบรรดาทีมหนีตกชั้นที่กำลังขับเขี้ยวกัน นั่นคือ “ทรัพยากรนักเตะ” ของซันเดอร์แลนด์มีดีกรีและชื่อชั้นที่เหนือกว่ามาก 

ไม่ว่าจะเป็นนายประตูที่มีทั้ง วิโต มานโนเน่ ประตูสายใช้เท้าดีที่ออกมาตัดบอลนอกกรอบเขตโทษได้แม่นยำ และ จอร์แดน พิกฟอร์ด ดาวรุ่งที่เหนียวเกินวัย ซึ่งต่อมาคือมือ 1 ทีมชาติอังกฤษ กองหลังที่มีทั้งความเก๋าอย่าง จอห์น โอเช กับ เวส บราวน์ และความสดอย่าง พาทริค ฟาน อานโฮลต์, เซบาสเตียน โกอาเตส และ บิลลี่ โจนส์ แดนกลางก็มีสองคู่หูสวิดิชอย่าง โอลา ทอยโวเนน และ เซบาสเตียน ลาร์สสัน พร้อมด้วย เยเรเมน เลนส์ และ ยานส์ เอ็มวีล่า ส่วนกองหน้าไม่ต้องสรรเสริญกิตติศัพท์ให้มากความ เพราะ เจอร์เมน เดโฟ คือของจริงมาแต่ไหนแต่ไร

เพียงแต่ว่าในเรื่องของแทคติก การโค้ช หรือการทำให้เหมาะสมสำหรับทีมยังไม่ถือว่าคลิกกัน พวกเขาจึงไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในสนามได้ เพราะอัดโวคาตมักเล่นด้วยระบบ 4-3-3 ซึ่งผิดวิสัยทีมรอง แต่เมื่อบิ๊กแซมปรับมาเป็น 4-4-2 ที่เข้าใจได้ง่ายและมีรูปแบบการเล่นที่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ นั่นคือไม่โยนยาวก็ออกปีกหรือครอสเข้ากลาง ก็ทำให้นักเตะผ่อนคลาย สามารถพักสมองไว้แล้วไปฝึกพลังกายให้สอดรับกัน

ที่สำคัญทีมมีเดโฟที่ถือได้ว่าเป็นกองหน้าสายแท็บอินก็ยิ่งเหมาะเจาะ บวกกับคนที่ยืนคู่กันอย่าง สตีเว่น เฟลตเชอร์ ก็เป็นสายพุ่งโหม่ง หรือ ฟาบิโอ บอรินี่ ที่เป็นสายสปีด ไม่เน้นยิง แต่เน้นดึงตัวประกบ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทีนี้เอะอะก็เปิดเอะอะก็โยนลูกเดียว จนในที่สุดทีมก็รอดตกชั้นได้อย่างเหลือเชื่อในแมตช์สุดท้าย และที่สะใจสุด ๆ คือเขี่ย นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด อริตลอดกาลร่วมแดนอีสานให้ตกชั้นไปเสียด้วย

นับได้ว่าบิ๊กแซมก็เทพจริง แต่คุณภาพนักเตะก็มีส่วนช่วยแซมไปกว่ากึ่งหนึ่ง ในทางกลับกันเมื่อหันมาพิจารณาพลพรรค “เดอะ แบ็กกี้ส์” ในฤดูกาล 2020-21 อาจจะถือได้ว่าเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว

สังเกตอย่างง่าย ทีมที่มีประตูเป็น แซม จอห์นสโตน โดยมีกองหลังเป็น เซมี่ อาจายี่, ไคล์น แบรดลีย์, ดาร์เนล เฟอร์ลอง, อาเหม็ด เอกาซี่ กองกลางเป็น เจก ลิเวอร์มอร์, มาเทอุส เปเรย์รา, เอนสลี่ย์ เมดแลนด์-ไนล์ส, คัลลัม โรบินสัน, คอเนอร์ กัลลาเกอร์ และกองหน้ามี ฮัล ร็อบสัน-คานู, ชาร์ลี ออสติน, เอ็มบาย เดียง เทียบกับซันเดอร์แลนด์จากฤดูกาล 2015-16 ที่กล่าวมานั้น ทีมใดมีทีเด็ดมากกว่ากัน?

อาจถกเถียงได้ว่าทีมมีทั้ง กัลลาเกอร์ และ ร็อบสัน-คานู ที่รายแรกคือดาวรุ่งอนาคตใหม่ของเชลซี ส่วนรายหลังคือกองหน้าสายความหวังของเวลส์ไม่แพ้ แกเร็ธ เบล แต่อย่าลืมว่ากัลลาเกอร์ ณ ตอนนั้นยังไม่เฉียบขาดเท่าตอนนี้ แถมยังเสียใบเหลืองมากกว่าสร้างสรรค์โอกาสทำเกมเสียอีก (ฤดูกาล 2020-21 กัลลาเกอร์ได้ใบเหลืองมากที่สุดของทีม 9 ใบ รวมทุกรายการ) ส่วน ร็อบสัน-คานู คือความหวังของทีมชาติอย่างเดียวโดยในระดับสโมสรไม่ค่อยจะยิง

ตรงนี้สามารถโทษ สลาเว็น บิลิช (Slaven Bilić) โค้ชคนก่อนหน้าได้เต็มที่ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าบิลิชต้องการคงความต่อเนื่องของทีมไว้ โดยยกแผงมาจากชุดที่คว้ารองแชมป์ เดอะ แชมเปี้ยนส์ชิพ ฤดูกาล 2019-20 มาทั้งกระบุง ก่อนเติมตำแหน่งที่ขาดด้วยเงินจากพรีเมียร์ลีก

เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจาก เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่กระทำการในลักษณะนี้เมื่อฤดูกาล 2019-20 และไปไกลได้ถึงอันดับที่ 9 ของพรีเมียร์ลีก เรียกได้ว่าหากไม่มีการระบาดของ โควิด-19 เสียก่อน ไม่แน่ว่า ทีมอาจจะคว้าโควตาฟุตบอลสโมสรระดับทวีปสักรายการไปแล้ว

เพียงแต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน นั่นคือ พลพรรค “ดาบคู่” วางแผนงานการทำทีมด้วย “ฟุตบอลระบบ” คือใช้ 3-5-2 หรือ 3-4-2-1 ในการเล่นมายาวนานจากมันสมองในการทำทีมของ คริส ไวล์เดอร์ (Chris Wilder) ที่คุมทีมมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนนำทีมเลื่อนชั้นได้ในปี 2019 แต่บิลิชนั้นเพิ่งเข้ามารับงานคุมทัพเมื่อ 1 ฤดูกาลก่อนหน้า และกล่าวตามตรง ในช่วงที่ทำทีมชาติโครเอเชีย หรือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด พีก ๆ ก็เพราะว่ามีสตาร์คอยช่วยทั้ง ลูก้า โมดริช และ ดิมิทรี ปาเยต ทั้งนั้น 

และที่สำคัญทีมดังกล่าวไม่ได้เหนือกว่าทีมในโซนเพลย์ออฟ (อันดับ 3-6) สักเท่าไร เพราะแต้มเบียดกันเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติอย่างมากก็ห่างกันไม่ถึง 2-3 คะแนน ส่วน ลีดส์ ยูไนเต็ด แชมป์ในฤดูกาลนั้นถือเป็นผลงานระดับเทพจาก มาร์เซโล่ บิเอลซ่า อย่างแท้จริง เพราะทำแต้มห่างแบบสุด ๆ 

หรือก็คือ การเลือกเพลย์เซฟใช้ทีมชุดเดิมโดยไม่ยอมเติมคุณภาพให้เพียงพอได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลให้ทีมฟอร์มระทม และลุกลามมายังบิ๊กแซมที่รับไม้ต่อเสียด้วย

กระนั้นแม้ทรัพยากรนักเตะจะมีเท่านี้ แต่บิ๊กแซมถือได้ว่าประคับประคองทีมมาได้ดีมาก แม้ครึ่งฤดูกาลแรกทีมจะชนะเพียงแมตช์เดียวเท่านั้นคือชนะ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 1-0 แต่ก็เป็นพลพรรคดาบคู่ที่ทำผลงานได้แย่กว่ามาก คือไม่ชนะใครเลย แต่เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ทีมก็มีวิถีทางที่ดีขึ้น 

โดยเฉพาะเกมรับที่เคี้ยวยากสมเป็นเขา แต่ติดตรงที่เกมรุกนั้นปวกเปียก แม้จะสร้างสรรค์โอกาสได้มากถึง 1.15 ครั้งต่อเกม ซึ่งเยอะมาก ๆ สำหรับทีมโซนนี้ แต่กลับเปลี่ยนเป็นประตูได้น้อยกว่ามาก

แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าบิ๊กแซมจะทำทีมจนได้ลุ้นรอดตกชั้นจนถึงช่วงท้ายฤดูกาล ก่อนจะการันตีตกชั้นโดยการบุกไปแพ้ อาร์เซนอล 1-3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2021 เรื่องนี้สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจแก่บิ๊กแซมอย่างมาก ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Sky Sports ความว่า

“เฟลสุด ๆ เลยครับ ไม่เคยรู้สึกเฟลเท่านี้มาก่อน ไม่อยากเชื่อเลยจริง ๆ ผมหยุดคิดถึงสิ่งนี้ไม่ได้เลย คือเกือบรอดแล้วครับ เกือบแล้วจริง ๆ ผมไม่มีหน้าไปพบใครเลยทีนี้”

แน่นอนว่าการโทษโค้ชคนก่อนหน้าอาจเป็นเรื่องของการปัดความรับผิดชอบ แต่มีเรื่องที่ต้องโทษอีกเรื่องที่เป็นส่วนหนึ่งของความยํ่าแย่ที่เกิดขึ้น

 

Brexit เป็นเหตุ 

อย่าลืมว่าบิ๊กแซมรับงานในช่วงเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งหมายถึงเขามีเวลาพิจารณาทีมในตลาดเดือนมกราคม 2021 เพื่อชี้ชัดว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป หรือควรเติมใครเข้ามายกระดับทีมให้รอดตกชั้น 

คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดบิ๊กแซมจึงปล่อยให้กาลเวลาไหลผ่านไปโดยที่ได้มาเพียง โรเบิร์ต สน็อตกราส และยืม เมดแลนด์-ไนล์ส กับ โอคาย โยคุซลู มาเพียงเท่านี้ ?  

คำตอบคือเรื่องทางนโยบายระดับระหว่างประเทศที่เรียกว่า Brexit ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ออกจาก สหภาพยุโรป หรือ อียู อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มกราคม 2020 โดยที่การโยกย้ายนักฟุตบอล มีผลก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2019

ซึ่ง เดอะ แบ็กกี้ส์ ใช่ว่าจะไม่ทราบเรื่องนี้ แต่การดำเนินการนั้นล่าช้าไปมากจริง ๆ เนื่องจากมีปัญหา โควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้งเรื่องจึงไปกันใหญ่ ทำให้เขาต้องเน้นยืมตัวจากทีมภายในประเทศ หรือซื้อพวกที่สโมสรอยากเขี่ยทิ้งแทน ตรงนี้บิ๊กแซมได้ออกมาบ่นกับ Sky Sports ว่า

"แย่มากครับ ผมบอกให้ทีมซื้อนักเตะเพิ่ม 3 คน แต่พวกเขาไม่สามารถมาร่วมทีมเราได้ … เนื่องจากมาตรการใหม่ของประเทศในเรื่องนี้ คือไม่ปล่อยเวิร์กเพอร์มิตให้พวกเขามาอยู่กับเรา ในขณะที่ทั้งเขาและเราเตรียมแผนกันมาหมดแล้ว ผมเลยได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่า ทำไมกันวะเนี่ย ? … เจอแบบนี้ ชีวิตวุ่นวายขึ้นเยอะครับ โรคระบาดยังพอทน แต่นี่เป็นเพราะกฎหมายจากรัฐล้วน ๆ เลย”

“นี่เป็นการซื้อนักเตะที่ยากที่สุดตั้งแต่ที่ผมทำอาชีพนี้มาเลย ยิ่งซื้อขายในช่วงโควิดด้วย … พวกเราทำงานกันหนักหน่วงมากเพื่อให้ทีมอยู่รอด แต่ผมไม่อาจยกระดับทีมไปอีกขั้นได้ … นักเตะหน้าไหนที่เข้ามาสู่ทีมก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจมากกว่าที่เราเป็นอยู่ทั้งนั้นแหละครับ แต่น่าเสียดายที่มันไม่เกิดขึ้น"

จะเห็นได้ว่าบิ๊กแซมมีความไม่พอใจทีมของเขาอยู่ และคาดหวังไว้กับตลาดหน้าหนาวในการเพิ่มอาวุธเพื่อการอยู่รอดของทีม เหมือนกับที่เขาใช้โอกาสในตลาดหน้าหนาวคว้าตัว กาเอล ชีเวต์ เข้ามาช่วยพาแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส อยู่รอดในฤดูกาล 2008-09 หรือที่เข้าตาจริง ๆ คือการสอย ลูก้า มิลิโวเยวิช, เจฟฟรีย์ ชลุปป์ และ พาทริค ฟาน อานโฮลต์ มาสู่ คริสตัล พาเลซ และพาทีมอยู่รอดสบาย ๆ ในฤดูกาล 2016-17 ซึ่ง มิลิโวเยวิช และ ชลุปป์ ยังคงเป็นกำลังหลักของพลพรรค “ปราสาทเรือนแก้ว” มาจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายแบบสุด ๆ หากดีลทั้ง 3 เกิดขึ้นที่เวสต์บรอมวิช ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์อาจจะมีการพลิกขั้วสลับด้านก็เป็นได้

 

บอลโยนแล้วได้ดี ไม่มีอีกต่อไป

เมื่อมีการให้เหตุผลทั้งในเรื่องของปัจจัยภายนอกและเรื่องโครงสร้างการบริหารทีมไปแล้ว แน่นอนว่าเรื่องเกี่ยวกับบิ๊กแซมเพียว ๆ ย่อมไม่หลุดรอดไปจากการพิจารณา

เพราะอย่าลืมว่าบิ๊กแซมมีความเถรตรงในด้านแทคติกค่อนข้างสูงอย่างที่แฟนบอลทราบกันดี นั่นคือ เขาใช้ระบบ 4-4-2 และฟุตบอลโบราณที่เน้นโยนเน้นออกปีกหรือครอสเข้ากลาง ไม่ว่าจะไปที่แห่งหนใดเขาก็จะนำวิถีดังกล่าวติดตัวไปด้วยตลอด และทีมที่เขาไปคุมก็ประสบความสำเร็จทุกครั้ง ยกเว้น เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ที่เดียว

แต่ใน Big Sam: My Autobiography หนังสือชีวประวัติของเขาที่เขาเขียนเอง ได้ออกมาแก้ต่างตรงนี้ว่า “จริง ๆ ผมเล่น 4-3-3 ต่างหาก ไม่ก็ 4-5-1 มีน้อยจริง ๆ ที่จะเล่นแบบ 4-4-2 หรือ 4-4-1-1 เอ้อ 4-6-0 ผมก็เคยใช้นะครับ แถมถล่ม สเปอร์ส ไปแบบสนุก 3-0 เลยด้วย”

ทั้งยังแก้ต่างอีกว่า “บอลโยนอะไร ไม่มี! มีแต่พวกกลัวแพ้ผมต่างหากที่มาโยนใส่ผม”

แน่นอนว่าการอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทบันทึกความทรงจำมีข้อควรระวังในเรื่องของการสะท้อนประสบการณ์ส่วนบุคคล แต่ในด้านความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น หรือก็คือแม้บิ๊กแซมจะกล่าวเช่นนี้ แต่สิ่งที่ปรากฏในสนามให้พิจารณาก็อาจจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่มันฟุตบอลโบราณชัด ๆ”

ยิ่งไปกว่านั้น จากหนังสือเล่มนี้เขาได้ออกมาเปิดเผยเองว่า “แฟน โบลตัน วันเดอเรอร์ส มักเรียกผมว่า “ซูเปอร์แซม ยอดชายจักรกล (Super Sam Bionic Man)” ซึ่งมีที่มาจากพระเอกละครโทรทัศน์ยุค 1970s เรื่อง The Six Million Dollar Man ที่ชื่อว่า สตีฟ ออสติน โดยเขาดัดแปลงตนเองเป็นจักรกลทั้งร่างหลังประสบอุบัติเหตุบนอวกาศ ซึ่งตรงนี้แฟนบอลอาจหมายถึงการเล่นสุดแข็งแกร่งของเรา (นักเตะโบลตัน) ที่มักจะเข้าหนัก เข้ารุนแรง จนคู่ต่อสู้หมอบทุกครั้ง หรือแม้โดนกระแทกคืนคู่ต่อสู้กลับเป็นฝ่ายร่วงเสียเอง”

หรือคำกล่าวของ เดฟ บาซเซตต์ (Dave Bassett) สหายรักของบิ๊กแซมในวงการกุนซือ ยังได้ออกมาเปิดเผยถึงวิถีแห่งบิ๊กแซมว่า “เพื่อนผมเนี่ยนะ เขาเล่นฟุตบอลแบบที่เราเรียกกันว่า ‘อุด’ แต่เมื่อเขาไม่ได้ครอบครองบอลเขาจะ ‘อัด’ พวกคุณแทน”

จะเห็นได้ว่าฟุตบอลของบิ๊กแซมมีทั้งรูปแบบการเล่นแบบโบราณ เล่นหนัก รุนแรง แถมอุดยับ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่าแทคติกดังกล่าวนั้นออกแนวตกยุคไปจากฟุตบอลสมัยปัจจุบันที่เน้น Tempo ระดับความเร็วแสง เปลี่ยนรุกเป็นรับอย่างรวดเร็ว เพรสซิ่งหนัก ๆ ละสายตาหรือเหม่อเพียงเสี้ยววินาทีอาจเสียการครอบครองบอลได้

หรือก็คือ บิ๊กแซมนั้นได้ “ตกยุค” ไปจากฟุตบอลโนโลกร่วมสมัยไปแบบกู่ไม่กลับแล้ว นั่นจึงเป็นผลให้ การทำทีม เดอะ แบ็กกี้ส์ ของเขาหมดมนต์ขลังหรือหมดพลังบัฟเรื่อง "ผู้เชี่ยวชาญการหนีตาย" ไปสิ้น

เมื่อถึงตรงนี้ อนาคตคือสิ่งที่ไม่แน่นอน ยิ่งในโลกของฟุตบอลที่ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ทุกเวลาก็ยิ่งทำให้ไม่อาจด่วนสรุปตัดสินอะไรไปเลยได้ ลีดส์ ยูไนเต็ด ภายใต้การกุมบังเหียนของบิ๊กแซมอาจจะกลับขึ้นมาผงาดและรอดตกชั้นได้แบบหายใจหายคอสะดวก 

หรืออาจจะลงเอยไปนับหนึ่งใหม่ที่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ แบบ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ที่ทุกวันนี้ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ก็อาจมีความเป็นไปได้เช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://themastermindsite.com/2021/03/11/sam-allardyce-west-bromwich-albion-tactical-analysis/#:~:text=system%20of%20play%3A%204%2D1,behind%20two%20more%20advanced%20ones. 
https://inews.co.uk/sport/football/sam-allardyce-relegated-has-ever-premier-league-relegation-record-leeds-manager-2311342#:~:text=Has%20Allardyce%20ever%20been%20relegated,relegation%20from%20the%20Premier%20League. 
https://www.telegraph.co.uk/football/2021/04/12/can-master-escapologist-sam-allardyce-maintain-premier-league/ 
https://www.skysports.com/football/news/11096/12304253/sam-allardyce-exclusive-west-brom-relegation-management-addiction-and-seeking-simplicity 
https://www.skysports.com/football/news/11698/12178242/sam-allardyce-west-brom-transfer-plans-hit-by-brexit-regulations 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น