ศึกฟุตบอลที่ได้รับการขนานนามว่า “ดาร์บี้แมตช์” ทุกคนคงนึกภาพออกทันทีว่ามันคือการดวลกันของสองสโมสรที่มีพื้นถิ่นอยู่ในเมืองเดียวกันหรือจังหวัดเดียวกัน ตลอดจนการเจอกันของสองทีมยักษ์ใหญ่จากประเทศนั้น ๆ
แน่นอนว่าการแข่งขันในลักษณะนี้มีองศาความเดือดไม่ต่างไปจากเกมนัดชิงชนะเลิศหรือเกมชี้ชะตาใด ๆ บนโลกลูกหนัง
หนึ่งในนั้นคือดาร์บี้แมตช์ของสองสโมสรจากกลาสโกว์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ ระหว่าง “เซลติก” และ “เรนเจอร์ส” หรือที่รู้จักในนาม “โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้”
แม้จะไม่ได้มีบรรดานักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ชื่อก้องโลกมาบรรเลงเพลงแข้งเหมือนศึก เอล กลาซิโก้ ระหว่าง บาร์เซโลน่า กับ เรอัล มาดริด หรือได้รับการขนานนามว่าเป็นเกมดาร์บี้ยิ่งใหญ่ระดับทวีป ดั่งศึก ซูเปร์กลาซิโก้ ของสองทีมร่วมกรุงบัวโนสไอเรส ระหว่าง โบค่า จูเนียร์ส กับ ริเวอร์เพลต แต่ดาร์บี้แมตช์แห่งเมืองกลาสโกว์ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้ที่ใด
เพราะเมื่อไรที่ โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ อุบัติขึ้น เรื่องราวที่นอกเหนือไปจากผลการแข่งขัน ไม่ว่าจะประเด็นด้านการเมือง ศาสนา ไปจนถึงมุมมองความต่างทางสังคมของแฟน ๆ ล้วนแต่เกิดขึ้นกับดาร์บี้แมตช์นี้ และไม่เคยแยกขาดจากกันไปเลย
ร่วมติดตามเรื่องราวของเกมดาร์บี้แมตช์ที่ยิ่งใหญ่ของสกอตแลนด์ไปพร้อม ๆ กับ Main Stand
จุดเริ่มต้นที่กลาสโกว์
ด้วยการที่กลาสโกว์เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ของเกาะอังกฤษมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ส่วนหนึ่งเพราะมีแม่น้ำไคลด์ที่ไหลออกไปยังอ่าวไคลด์เชื่อมโยงกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เมืองแห่งนี้เติบโตเรื่อยมาจนกระทั่งศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กลาสโกว์กลายเป็นชุมทางสินค้าที่มาจากอเมริกาเหนือ สินค้าประเภทยาสูบ ฝ้าย น้ำตาล ฯลฯ
เมื่อความเจริญเข้ามา กลาสโกว์กลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเรือ กลายเป็นว่าเมืองค่อย ๆ เติบโตขึ้นชนิดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของเกาะอังกฤษรองจากมหานครลอนดอนทางตอนใต้
ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนจากพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเลือกโยกถิ่นฐานมาตั้งรกรากใหม่ในกลาสโกว์ โดยเฉพาะคนจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์อย่างชาวไอริช
ก่อนอื่นต้องอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าคนจากเกาะไอร์แลนด์ ไม่ว่าจะคนจากไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือไม่ได้อพยพมายังกลาสโกว์แค่ที่เดียว กลุ่มชนดังกล่าวมีการย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงยุคกลางของทวีปยุโรปเรื่อยมาจนถึงช่วงที่ได้รับการจดบันทึกในศตวรรษที่ 17
มีแรงผลักและสาเหตุหลายประการที่ทำให้ชาวไอริชต้องเลือกมาตั้งรกรากใหม่ เช่น ถูกจักรวรรดิอังกฤษรุกราน เผชิญลัทธิล่าอาณานิคม ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงทุพภิกขภัย (ภาวะของการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง) เป็นต้น
การย้ายถิ่นฐานของคนจากเกาะไอร์แลนด์มายังสกอตแลนด์เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากภาวะอดยากช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งดินแดนใหม่ที่มีความศิวิไลซ์ที่เติบโตขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้งกว่าละแวกใกล้เคียงก็คือกลาสโกว์ นานวันเข้าไอริชชนก็ตั้งรกรากจนกลายเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งทาง “ตะวันออก” ของเมือง
ขณะที่อีกฟากฝั่งของกลาสโกว์ (ตะวันตก) เป็นย่านของกลุ่มสกอตติช ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่อยู่ที่นี่มาก่อน รวมถึงกลุ่มชนที่มีชื่อว่า “อูล์สเตอร์สกอต” หรือชาวสกอตที่มีเชื้อชนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งอพยพมาในลักษณะเดียวกับคนไอร์แลนด์แต่มีความเชื่อและอุดมการณ์แบบสกอตติช
ในเวลานั้นเอง กีฬาฟุตบอลเริ่มเป็นที่รู้จักวงกว้างไปทั่วสหราชอาณาจักรแล้ว และที่กลาสโกว์ ในฐานะเมืองใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของเกาะ ก็ได้มีสโมสรฟุตบอลประจำเมืองเช่นกัน ทว่ามีความพิเศษตรงที่กลาสโกว์มีประชากรที่มีพื้นฐานทั้งทางความเชื่อและประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ทำให้เมืองนี้มีทีมฟุตบอลประจำถิ่นถึงสองทีม
เริ่มจากปี 1872 สโมสร เรนเจอร์ส เอฟซี (กลาสโกว์ เรนเจอร์ส) ถือกำเนิดขึ้นโดยชาวสกอตติชขนานแท้ จากนั้นอีก 15 ปี เซลติก เอฟซี (กลาสโกว์ เซลติก) ก็ได้เกิดขึ้นตามมา และแน่นอนว่านี่คือสโมสรที่ริเริ่มโดยคนไอริชอพยพ
เพราะพื้นฐานและสถานะทางสังคมของชาวไอริชในกลาสโกว์ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา และมีความเชื่อที่แตกต่างจากคนท้องถิ่นและชาวอูล์สเตอร์สกอต
ด้วยเหตุนี้ทำให้คนกลุ่มหลังมองคนไอริชกลุ่มนี้ในลักษณะของความเป็นอื่น และเรื่องเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นมากขึ้นผ่านภาพตัวแทนที่ชื่อ “กลาสโกว์ เซลติก” และ “กลาสโกว์ เรนเจอร์ส”
การแบ่งแยกนิกาย
เราอาจจะเคยได้ยินว่า “ศาสนาและการเมือง” เป็นสองเรื่องที่ถกเถียงกันยากไม่มีวันจบ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ใครหลายคนเลือกใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากกว่าเหตุผล
ทั้งสองสิ่งนี้เป็นจุดชนวนสำคัญที่ทำให้แฟนบอลเซลติกและแฟนบอลเรนเจอร์สบาดหมางไม่ลงรอยกันมาช้านาน
เริ่มที่ความแตกต่างทางความเชื่อด้านศาสนาในแง่ของการแบ่งแยกนิกาย (Sectarianism)
สำหรับแฟน ๆ เซลติก ซึ่งเป็นคนไอร์แลนด์อพยพ มีพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาเดิมเป็นคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก นั่นทำให้ตราสัญลักษณ์บางส่วนของทีมฉายาที่แฟนบอลไทยคุ้นหูว่า “ม้าลายเขียวขาว” เป็นรูปใบโคลเวอร์หรือแชมร็อก สัญลักษณ์ของประเทศไอร์แลนด์ ตามความเชื่อจากตำนานนักบุญแพทริก รวมถึงสีหลักของสโมสรที่ใช้สีเขียวเปรียบดั่งคนไอริชเป็นสิ่งชูโรง
ขณะที่แฟน ๆ เรนเจอร์ส ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของคนสกอตแลนด์และคนอูล์สเตอร์สกอต มีความเชื่อแบบเดียวกับชนตอนใต้อย่างอังกฤษ กล่าวคือไม่นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก คนอังกฤษเลือกนับถือคริสต์นิกายแองกลิกัน ว่ากันว่าเป็นนิกายที่แตกหน่อมาจากโปรเตสแตนต์ เป็นนิกายหลักที่ชนชาวสกอตในกลาสโกว์นับถือ โดยคริสต์โปรเตสแตนต์ถูกหล่อหลอมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนสกอตมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการประท้วงพระสันตปาปา (คาทอลิก) ทั่วยุโรป
“ชาวสกอต เช่น จอห์น น็อกซ์ เป็นแนวหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้ และพวกเขาก็ได้รับชัยชนะ สกอตแลนด์กลายเป็น 'Protest-ant' [เลียนเสียงโปรเตสแตนต์] ดังปัจจุบันที่อนุสาวรีย์น็อกซ์ ซึ่งสูงตระหง่านบริเวณสุสานกลาสโกว์อันโอ่อ่า” ไมเคิล วอล์คเกอร์ นักเขียนจาก The Athletic ระบุ
เพราะความเชื่อที่ปลูกฝังแฟนบอลจากสองสโมสรมาช้านาน จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเรื่อยมา นับตั้งแต่ที่สองทีมก่อตั้งขึ้น
“สิ่งเหล่านี้ (ศาสนา) มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของสังคมสกอตแลนด์ โดยพื้นฐานแล้วเมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นย่อมไม่มีวันถูกหันหลังให้ได้อีก เรนเจอร์สและเซลติกมีลักษณะความเชื่อนิกายที่ต่างกัน เรนเจอร์สเชื่อในโปรเตสแตนต์ และเซลติกเป็นคาทอลิก” แอนดี้ เคอร์ ไกด์สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ เผย
เลยกลายเป็นว่าทั้งสองสโมสรจะไม่มีวันให้คนต่างนิกายมาร่วมทีมใดทีมหนึ่งเป็นอันขาด จนเปรียบเสมือนเป็นประเพณีและวัฒนธรรมองค์กรของทั้งสองทีมไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่โดนท้าทายจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทั้งสองทีม มีสองกรณีใหญ่ ๆ ที่ทำเอาแฟนบอลทั้งม้าลายเขียวขาว และ เดอะ ไลท์ บลูส์ ถึงขั้นเลือดขึ้นหน้า ดังปี 1989 หลังการเข้ามาของ แกรห์ม ซูเนสส์ ในฐานะโค้ชแอนด์เพลย์เยอร์ของทีมเรนเจอร์ส สโมสรเลือกเซ็นสัญญากับ โม จอห์นสตัน กองหน้าที่มาจาก น็องต์ส ในลีกฝรั่งเศส
ตอนแรกดูเหมือนเป็นดีลซื้อตัวทั่วไป ทว่าจอห์นสตันผู้นี้เป็นชาวคาทอลิกที่เคยเล่นให้เซลติกมาก่อนที่จะไปโลดแล่นในแดนน้ำหอม และนั่นก็ทำให้แฟนบอลเรนเจอร์สไม่พอใจถึงขั้นเผาอุปกรณ์เชียร์สโมสร ขู่จะคืนตั๋วปี ขณะที่แฟน ๆ เซลติกก็เปล่งเสียงออกเป็นแนวทางเดียวกันชี้ว่าจอห์นสตันเป็นพวกทรยศ
กรณีของ นีล เลนนอน ก็เช่นกัน อดีตนักเตะและกุนซือเซลติกรายนี้ ไม่ได้เป็นที่สบอารมณ์ของแฟน ๆ เขียว-ขาวเท่าไรนัก เพราะเขาเป็นคนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถือเป็นพวกเดียวกับคนสกอตแลนด์ท้องถิ่น และนั่นก็ทำให้ตลอดช่วงเวลาในเซลติก พาร์ค ของนีล ไม่ได้สดใสราบรื่น และครั้งหนึ่งก็เคยได้รับจดหมายขู่ฆ่ามาแล้ว
ถึงแม้ว่าเรื่องทั้งหมดจะไม่ได้เป็นกฎบังคับของทั้งสองสโมสรเสียทีเดียว และนานวันเข้าประเด็นเหล่านี้ก็เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งสองทีมเริ่มมีนักเตะที่มีแนวทางต่างจากปรัชญาสโมสรมากขึ้น ท่ามกลางยุคสมัยของเกมลูกหนังที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน
แต่ถึงอย่างไรมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เรื่องพวกนี้จะยังคงเป็นหนึ่งในแนวคิดในใจของบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทั้งสองทีมที่หากเลี่ยงได้ก็คงจะดีกว่า
การเมืองเป็นเรื่องของทั้งสองทีม
“อุดมการณ์ทางการเมือง” กลายเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองและการต่างประเทศรอบเกาะบริเตน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับทั้งสองสโมสรแห่งกลาสโกว์อย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งสองทีมยังคงยึดพื้นเพของการก่อตั้งสโมสร เซลติกมาจากคนไอร์แลนด์ ส่วนเรนเจอร์สก่อตั้งโดยคนสกอตแลนด์ ซึ่งอุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองก็ต่างกันแบบสุดขั้ว
ทางฝั่งของเซลติกมีความเชื่อในขั้วของปีกชนชั้นแรงงาน จากจุดแรกเริ่มของการอพยพที่คนส่วนใหญ่เข้ามายังกลาสโกว์ในฐานะช่างอุตสาหกรรม ซ้ำยังมีอุดมการณ์แบบรีพับลิกัน (สาธารณรัฐ) ซึ่งก็ตรงกับแนวทางของคนไอร์แลนด์โดยส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นประเทศตัวเองผนวกรวมกับสหราชอาณาจักร
ด้านเรนเจอร์สดูมีความเป็นอนุรักษ์นิยมและให้ภาพของความเป็นรอยัลลิสต์ (สนับสนุนระบอบกษัตริย์) ดังร่มใหญ่ของแฟนบอลที่เป็นคนสกอตแลนด์ท้องถิ่นที่สนับสนุนความเป็นอิงลิชชนและราชวงศ์อังกฤษ กอปรกับคนอูล์สเตอร์สกอตที่สนับสนุนให้ไอร์แลนด์ทางตอนเหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร
เราจะเห็นจุดเชื่อมกันของความต่างนี้คือ “ไอร์แลนด์เหนือ” ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกอย่าง เดอะ ทรับเบิลส์ (The Troubles) หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในไอร์แลนด์เหนือ โดยมีตัวละครหลักอย่างขบวนการ ไอริช รีพลับลิกัน อาร์มี่ (I.R.A.) ที่ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือมีเอกราชเป็นของตัวเอง
ส่วนฝ่ายสนับสนุนไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรมอง I.R.A. ว่าเป็นพวกก่อการร้าย
เรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกับเซลติกและเรนเจอร์สโดยตรง เพราะช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แฟนบอลทั้งสองทีมต่างก็สนับสนุนอุดมการณ์ของตัวเอง สาวกเซลติกแต่งเพลงเชียร์สนับสนุน I.R.A โบกธงสามสีไอริช ฝั่งเรนเจอร์สก็โบกธงยูเนี่ยนแจ็ค อันเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักร
แม้การเจรจาสันติภาพว่าด้วยเรื่องข้อตกลงวางอาวุธจะเกิดขึ้นในปี 1998 ทำให้เรื่องราวนี้จบสิ้นลงไปแล้ว ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดทุก ๆ ครั้งที่ใครต่อใครมองมายังกลาสโกว์ดาร์บี้แมตช์ ภาพตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างนี้ก็ยังคงฝังลึกอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของทั้งเซลติกและเรนเจอร์สเรื่อยมา
อย่างล่าสุดเมื่อปี 2022 ราชวงศ์อังกฤษสูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แฟนบอลเรนเจอร์สพร้อมใจกันร้องเพลง 'God Save the King/Queen' กึกก้องใน ไอบร็อกซ์ สเตเดียม ในทางกลับกันแฟน ๆ เซลติก ซึ่งมีจิตวิญญาณของชาวไอริชเข้มข้นทำสิ่งที่ต่างออกไป เช่น โห่ใส่เพลงดังกล่าว ไปจนถึงทำป้ายเชียร์แซวควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ
โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ และซอมบี้ที่ชื่อเรนเจอร์ส
มีหลายเหตุผลว่าทำไมการดวลกันระหว่างเซลติกกับเรนเจอร์สถึงใช้ชื่อว่า โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ และภาพจำของคอลูกหนังที่มีต่อดาร์บี้แมตช์แดนวิสกี้ที่ดูเป็นการแสดงความเป็นศัตรูกันมากกว่าเรื่องมิตรภาพ
แต่ถึงอย่างไร นิยามในช่วงแรก ๆ ที่ถูกอ้างอิงกลับเป็นภาพรวมของมิตรภาพและการร่วมมือกันมากกว่า ดังความหมายของ firm ที่แปลเป็นไทยได้ทั้งมั่นคง เด็ดขาด รวมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ
“คำว่า โอลด์เฟิร์ม สามารถย้อนอธิบายนิยามของทั้งสองทีมว่าหมายถึง ‘เพื่อนเก่าที่มีมิตรภาพแน่นแฟ้น (old, firm friends)’ ในส่วนนี้เคยมีภาพการ์ตูนชายถือกระดานแซนด์วิชพร้อมคำว่า ‘Patronise the Old Firm’ และยังมีการ์ตูนเรื่องอื่นที่คล้ายคลึงกันด้วย โดยมีความหมายว่าเป็นเพื่อนที่มั่นคง - เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน” เคอร์ ในฐานะไกด์สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ กล่าว
“ถ้าคุณอยากรู้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการเล่นคำ (firm) คำนี้มันมีความหมายเชิงธุรกิจ ซึ่งทั้งสองทีมก็มักจะมีเรื่องสอดคล้องกันในแง่ของการเงินและการทำธุรกิจ ทั้งสองมักจะลงคะแนนเสียงร่วมกันด้วยซ้ำ”
“ก่อนที่การแบ่งแยกทางความคิดจะเกิดขึ้นในภายหลัง เกมที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นคือนัดชิงชนะเลิศสกอตติชคัพ 1909 ในเวลานั้นมีข่าวลือว่าทั้งสองสโมสรจงใจทำให้เกมออกผลเสมอ เพื่อให้พวกเขาโกยเงินได้มากขึ้นจากนัดรีเพลย์” ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ แอนดี้ เคอร์
“นัดแรกเสมอกันไป 2-2 มีการแข่งขันรีเพลย์ซึ่งผลจบลงที่ 1-1 สุดท้ายกรรมการในสนามเป็นผู้ตัดสินว่าจะต่อเวลาพิเศษหรือไม่ และเขาตัดสินใจว่าไม่ แฟน ๆ ของทั้งคู่จึงพากันโกรธแค้นสมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ จนสมาคมฯ ตัดสินใจระงับโทรฟี่นี้ในปีนั้น”
“กลายเป็นว่า นอกเหนือจากสงครามโลกแล้ว นั่นเป็นครั้งเดียวที่สกอตติชคัพไม่มีการมอบถ้วยรางวัลให้ทีมใด”
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทั้งสองทีมไม่ได้แสดงความเป็นอริใส่กัน เพราะช่วงเวลาหลังจากนั้นเกมลูกหนังนาม โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ ก็กลายเป็นสมรภูมิเดือดที่มีเรื่องนอกสนามมาเกี่ยวข้องอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
จนก่อให้เกิดทั้งเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นมีนักเตะและแฟนบอลเสียชีวิต และยังไม่นับการเข้ามาห้ามปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลาย ๆ หนที่สองทีมบู๊แข้งกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่วงที่สีสันของฟุตบอลลีกสูงสุดสกอตแลนด์ที่มีเซลติกกับเรนเจอร์สเป็นคู่ต่อกรมีอันต้องเหือดหายลงไปบ้าง เนื่องด้วยทัพไลท์ บลูส์ ถูกปรับตกไปเล่นลีกล่างสุดของฐานพีระมิดลีกอาชีพสกอตเนื่องจากปัญหาการเงินอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ตั้งแต่ฤดูกาล 2012/13 ไปจนถึง 2015/16 ที่เรนเจอร์สโลดแล่นในลีกล่าง การผูกขาดแชมป์ลีกสูงสุดจึงอยู่ในมือของเซลติกทั้งหมด
กระทั่งฤดูกาล 2016/17 เรนเจอร์สก็กลับสู่ลีกบนได้อีกครั้ง และสถาปนาตัวเองจนกลายเป็นทีมคู่ปรับของเซลติกดังเดิม กลายเป็นว่าสมรภูมิความเดือดก็กลับมาดังเดิมโดยปริยาย
ถึงขั้นที่ว่าแฟนคลับฝั่งทีมม้าลายเขียวขาวร้องเพลงเชียร์ว่าเรนเจอร์สเป็นดั่งซอมบี้ คือฆ่าอย่างไรก็ยังไม่ตาย แถมยังกลับมาเป็นศัตรูตัวหลักอีกครั้ง
ต่อให้มีกระแสเรียกร้องหลังการคืนลีกสูงสุดของเรนเจอร์สจากฝั่งเซลติกว่าไม่ใช่ โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ อีกต่อไป เพราะเรนเจอร์สเปลี่ยนโครงสร้างบริหารทีมใหม่หมด แต่ดูเหมือนว่าชื่อที่มีมนต์ขลังนี้ได้กลายเป็นนิยามหลักในการดวลกันของทั้งสองทีมไปแล้ว
ใครคือที่หนึ่งของเมือง ?
ถึงแม้สถิติการดวลกันโดยรวมจนถึงตอนนี้ที่ 434 นัด (สถิติก่อนที่สองทีมจะดวลกันอีกครั้ง ในวันที่ 30 เมษายน 2023) จะเป็นเรนเจอร์สที่ทำได้เหนือกว่า โดยแบ่งเป็น เรนเจอร์ส ชนะ 168 ครั้ง และ เซลติก ชนะ 164 ครั้ง เสมอกันไป 102 ครั้ง
แต่หากเราดูการคว้าโทรฟี่ประดับตู้โชว์ของแต่ละสโมสร จะเห็นว่าน้ำหนักของการเป็นแชมป์แต่ละรายการของทั้งสองทีมดูคู่คี่สูสี เป็นเหตุให้แฟนคลับทั้งสองทีมต่างก็คุยข่มระหว่างกันได้แบบไม่น้อยหน้าใคร
เรนเจอร์สได้แชมป์ลีกสูงสุดมากกกว่า ที่ 55 ต่อ 52 สมัย ทว่าแชมป์สกอตติช คัพ เป็นเซลติกที่ได้มากกกว่า ที่ 40 ต่อ 34 สมัย
ขณะที่สถิติการคว้าแชมป์ระดับสโมสรยุโรป เซลติกเคยคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ซึ่งเทียบดีกรีเป็นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปัจจุบัน ได้หนึ่งสมัย ด้านเรนเจอร์สก็เคยคว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ หนึ่งสมัย
โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้ อาจไม่ใช่การปะทะกันของทีมที่มีนักเตะชื่อดังของโลกลงบู๊สนั่นสนาม และไม่ได้เป็นทีมจากลีกอาชีพเบอร์ต้น ๆ ของยุโรป
แต่ถึงอย่างไร เพราะความร้อนที่แผดเผาจากชุดความเชื่อและประวัติที่แตกต่างที่หล่อหลอมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ทำให้เกมระหว่างคู่นี้ถูกจารึกว่าเป็นดาร์บี้แมตช์ที่มีความขลังที่สุดคู่หนึ่งในโลกลูกหนัง
“ทันทีที่คุณย้ายมาเป็นผู้เล่นของหนึ่งในสโมสรที่ว่านี้ คุณจะได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับเกมการแข่งขันตั้งแต่นาทีแรก” ไบรอัน เลาดรูป อดีตกองหน้าเรนเจอร์ส กล่าวกับ Daily Record
“การเล่นในเกมดังกล่าวมันน่ากลัวนะ ค่อนข้างน่ากลัวเลย แต่ในทางกลับกันมันก็ยอดเยี่ยมมากกับการได้มีส่วนร่วมในดาร์บี้แมตช์ยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก สำหรับผู้เล่นที่ได้สัมผัสเกมการแข่งขันมันยอดเยี่ยมมาก พวกเขาอาจจะเคยรับทราบเรื่องราวของดาร์บี้และได้ยินจากคนที่เคยลงเล่นมาก่อน”
“แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งของเกมด้วยตัวเองมันให้ความแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาจะไม่มีวันลืม”
บทความที่เกี่ยวข้อง
มหัศจรรย์เรนเจอร์ส : เปิดตำราการพลิกจากทีมล้มละลายสู่จอมล้มยักษ์ที่เข้าชิง ยูโรป้า ลีก
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/4259653/2023/03/01/derby-days-glasgow-rangers-celtic/
https://www.goal.com/en/news/why-is-celtic-vs-rangers-called-the-old-firm-derby/2i9ekbdius7e10xt04lrg85s0
https://bleacherreport.com/articles/705188-celtic-rangers-old-firm-the-most-heated-rivalry-in-world-football
https://www.the101.world/the-rivalry-ep-3/
https://youtu.be/gbTaRH6N6zc
https://en.wikipedia.org/wiki/Old_Firm
https://metro.co.uk/2018/12/29/rangers-vs-celtic-called-old-firm-derby-8291120/
https://web.stanford.edu/class/e297a/Celtics%20vs%20Rangers,%20Catholics%20vs%20Protestants.htm
https://www.byarcadia.org/post/the-old-firm-celtic-rangers-and-sectarianism-in-scotland