วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 ถือเป็นวันก่อตั้ง “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ปีนี้ครบรอบ 107 ปี สมาคมฯ พัฒนาไปถึงไหน ผลงานในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง อนาคตจะไปทางไหน ติดตามกับ BallThaiStand
จุดเริ่มต้น “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ”
เมื่อปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน
ชื่อของทีมชาติและชื่อของสมาคมได้ถูกเปลี่ยนในปี 2482 เมื่อรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศนโยบาย “รัฐนิยม” ฉบับแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2481ให้เปลี่ยนชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ จาก “สยาม” เป็น “ไทย”
จึงมีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามเป็นสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จนถึงปัจจุบันมีอายุครบรอบ 107 ปี มีนายกสมาคมฯ มาแล้ว 17 คน
นายกสมาคมฯ คนแรกคือ เจ้าพระยารามราฆพ ส่วนคนปัจจุบันคือ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดต่อกัน
ผลงานฟุตบอลไทยในเวทีโลก
ตลอด 107 ปี ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทัพลูกหนังจากแดนสยามมีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าบนเวทีโลกครั้งแรก ในกีฬาโอลิมปิก ปี 1956 ที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย
ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ทีมไทย พบกับทีมสหราชอาณาจักร ผลการแข่งขันไทย แพ้ไป 0–9 นับเป็นความพ่ายแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และตกรอบทันที
ต่อมาครั้งที่ 2 ในกีฬาโอลิมปิก ปี 1968 ณ นครเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งทีมไทยตกรอบแรกอีกครั้ง
นอกจากนี้ไทยยังเคยไปแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี 2 สมัย ในปี 1997 และ 1999 ผลงานตกรอบแรกทั้งหมด จากนั้นฟุตบอลระดับเยาวชนไทยไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในระดับโลกอีกเลย
ด้านฟุตบอลหญิงได้ไปชิงแชมป์โลก มา 2 สมัย ในปี 2015 และ 2019 ผลงานคือการตกรอบแรก
ขณะที่ฟุตซอลได้ไปชิงแชมป์โลก 6 สมัยติดต่อกัน ในปี 2000, 2004, 2008, 2012, 2016 และ 2021 โดย 3 ครั้งหลังสุดสามารถผ่านเข้าไปเล่นรอบน็อคเอาท์
ส่วนทีมชาติไทย ไปไกลสุดคือ ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก รอบสุดท้ายโซนเอเชีย ปี 2002 และ 2018 เท่านั้น
ผลงานทีมชาติไทยในระดับเอเชีย
ผลงานในระดับเอเชียของฟุตบอลไทย ประสบความสำเร็จสุดคือทีมเยาวชนไทยคว้าแชมป์เอเชีย 3 สมัย ปี 1962, 1969 และ 1998
ไทย ยังสร้างประวัติศาสตร์ คว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลเอเชียน คัพ ปี 1972 ถือเป็นอันดับดีที่สุด
ส่วนศึกชิงแชมป์อาเซียน ไทย ครองเป็นเบอร์ 1 ย่านนี้ตัวจริงเสียงจริง เมื่อซิวแชมป์ไป 7 สมัย
ส่วนซีเกมส์ ได้แชมป์ไป 16 สมัย ขณะที่ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ คว้าแชมป์ไป 11 ครั้ง
นอกจากนี้ฟุตบอลหญิงเคยได้แชมป์เอเชีย ปี 1983 และได้แชมป์ซีเกมส์ 4 สมัย
โต๊ะเล็กฟุตซอลไทย ได้รองแชมป์เอเชีย 2 สมัย ในปี 2008 และ 2012 แชมป์อาเซียนได้ 16 สมัย และแชมป์ซีเกมส์ฟาดไป 5 สมัย
ผู้ตัดสินไทยสร้างชื่อในฟุตบอลโลก
ผู้ตัดสินไทย ยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยเฉพาะการถูกเลือกให้ไปตัดสินฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็น ภิรมย์ อั๋นประเสริฐ ที่ได้รับฉายา ใบเหลืองเปื้อนรอยยิ้ม ในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส
ด้าน ปรัชญา เพิ่มพานิช ได้ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินในฟุตบอลเยาวชนโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี มา 2 สมัยในปี 1998 และ 2000 รวมถึงฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ปี 2006 ที่เยอรมนี
นอกจากผู้ตัดสินชายแล้ว ผู้ตัดสินหญิงไม่น้อยหน้าเคยไปตัดสินและโชว์ฝีมือในระโลก คือ “เปาอ้อ” พัณณิภา คำนึง ที่เคยไปทำหน้าที่ในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2007 ที่จีน
ล่าสุด ศิวกร ภูอุดม ผู้ตัดสินมือดีของไทย ได้รับเลือกจากฟีฟ่า ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน VAR ในฟุตบอลโลก 2023 รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ที่อาร์เจนตินา ระหว่าง 20 พ.ค.-11 มิ.ย.นี้
กุนซือที่ประสบความสำเร็จ
ในประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย มีกุนซือต่างชาติเข้ามาคุมทีมชาติไทย หลากหลายเชื้อชาติ ทั้ง บราซิล เยอรมนี อังกฤษ เซอร์เบีย และ ญี่ปุ่น
แต่กุนซือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ปีเตอร์ วิธ ชาวอังกฤษ ที่พาทีมผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย เป็นครั้งแรก และพาทีมไทยคว้าแชมป์ซีเกมส์, คิงส์คัพ, แชมป์อาเซียน 2 สมัย และได้อันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 2 สมัยติดต่อกัน
ส่วนกุนซือไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องยกให้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่เป็นผู้พลิกโฉมทีมชาติไทยอย่างแท้จริง ทั้งภาพลักษณ์และผลงานในสนาม ปลุกกระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์
พาทีมกวาดเรียบทั้งแชมป์ซีเกมส์, แชมป์คิงส์คัพ, แชมป์อาเซียน 2 สมัย และผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย
อีกหนึ่งคนที่ควรได้รับเครดิตคือ หนึ่งฤทัย สระทองเวียน ที่พาทีมบอลหญิงไทย ไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2 สมัย
การบริหารงานจากเฟื่องฟูสุดขีดสู่ภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ในยุค วรวีร์ มะกูดี เป็นประมุขลูกหนัง ฟุตบอลไทยลีกถือว่าบูมสุดขีด เมื่อปี 2009 สโมสรแยกตัวจากทีม “องค์กร” เพื่อมาจัดตั้งในรูปนิติบุคคล (บริษัท) ตามระเบียบของ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ เอเอฟซี พร้อมกับการก่อตั้ง “บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” เพื่อทำหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ
แต่ละสโมสรสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีสนามเหย้า มีแฟนบอลชมเกมในสนามเนืองแน่น บรรยากาศเหมือนฟุตบอลต่างประเทศ มีการกระจายข่าวสาร ถ่ายทอดสด มีแฟนบอลติดตามบอลไทยมากขึ้น จนลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดที่ ทรูวิชั่นส์ จ่ายให้สมาคมฯ และ ไทยลีก เคยพุ่งสูงถึงปีละ 1,200 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย
แต่จุดเปลี่ยนมาอยู่ที่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับสัญญาผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ระหว่าง สมาคมฯ กับ ทรูวิชั่นส์ กำลังจะหมดลง
สมาคมฯ เลือกที่จะไม่ไปต่อกับ ทรูวิชั่นส์ หันไปจับมือกับ "Zense Entertainment" ที่คว้าสิทธิ์ฟุตบอลไทย 8 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2028 มูลค่ารวม 12,000 บาท
ต่อมาโดนบริษัทดังกล่าวไม่จ่ายแบงค์การันตี ทำให้ AIS PLAY เข้ามาซิวลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านแอพลิเคชัน และ กล่อง AIS PLAY สลับกับช่องฟรีทีวียิงสด
ค่าลิขสิทธ์ที่เคยได้แตะพันล้านลดฮวบลงเหลือแค่ระดับร้อยล้านเท่านั้น ทำให้สมาคมฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนต้องลดเงินสนับสนุนทีมฤดูกาล 2022/23 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
สมาคมฯ ลาใต้ถุน สนามศุภชลาศัย สู่ที่ทำการใหม่
ภายใต้นโยบาย Fair ของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงและคณะสภากรรมการ เดินหน้าสร้างสมาคมฯ ยุคใหม่ เริ่มจากเคลียร์หนี้สินที่สมาคมฯ ชุดเก่าทิ้งไว้
จากนั้นย้ายที่ทำการจากใต้ถุนสนามศุภชลาศัย มาอยู่อาคารใน กทท. บริเวณข้างข้างสนามเทนนิส โดยใช้งบประมาณราว 40 ล้านบาท
ต่อมาเดินหน้าหาทีมชั้นนำ อันดับฟีฟ่า แรงกิง สูงกว่าไทย มาอุ่นเครื่องตามโปรแกรมฟีฟ่า เดย์ จนทีมชาติไทย อันดับโลกสูงขึ้นจนมาอยู่อันดับ 114
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สมาคมฯ คอยอำนวยความสะดวกนักเตะอย่างมืออาชีพ นักเตะเดินทาง กินอยู่ หลับนอนสบาย
จากนั้นก็ทำแผนพัฒนาแม่บทฟุตบอลไทยระยะยาว 20 ปี ต่อมาได้ทำ MOU กับ ม.กรุงเทพธนบุรี เปิดศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ปราบปรามขบวนการล้มบอล และนำเทคโนโลยี VAR มาช่วยตัดสินเป็นชาติแรกในอาเซียน
เปิดอบรมโค้ชทุกระดับจนมีโค้ชทุกระดับ โดยเฉพาะโปรไลเซนส์ ที่เคยมีแค่คนเดียวเพิ่มมากว่า 50 คน ส่วนระดับไลเซนส์อื่นๆ มีหลายร้อยคน นอกจากนี้ยังมีการอบรมผู้ตัดสินและส่งไปทำหน้าที่ต่างประเทศต่อเนื่อง
อนาคตสมาคมฯ
สมาคมฯ เพิ่งสร้างที่ทำการแห่งใหม่ FA Thailand Futsal and Match Operation Center ภายในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ประตู 5 โดยได้งบประมาณจาก ฟีฟ่า (FIFA Development Committee) และเปิดใช้งานเรียบร้อยแล้ว
ที่ทำการใหม่โอ่อ่า สวยงาม ทันสมัย สามารถรวมเจ้าหน้าที่สมาคมฯ เจ้าหน้าที่ไทยลีก รวมถึงฝ่ายผู้ตัดสิน มาอยู่ด้วยกันพร้อมทำงานกันได้ง่ายขึ้น
แต่ปัญหาใหญ่ของสมาคมฯ คือการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนส่งผลกระทบต่อการทำทีมของสโมสรสมาชิก และทีมชาติไทย อยู่ไม่น้อย รวมทั้งยังมีคดีฟ้องกันกับ สยามสปอร์ต และทำท่าต้องเสียเงินหลายล้าน
หากยังหาสปอนเซอร์ หรือ ไม่สามาถสร้างเม็ดเงินจากค่าลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดให้สูงแตะหลักพันล้านเหมือนในอดีต คงยากต่อการพัฒนาฟุตบอลทุกด้าน เพราะทุกอย่างต้องเดินไปข้างหน้าด้วยเม็ดเงินสนับสนุน
ในปีหน้าวาระการเป็นนายกฟุตบอลไทยของ พล.ต.อ. สมยศ จะหมดลง แต่ยังสามารถเป็นต่อได้อีกสมัยตามระเบียบใหม่ของ ฟีฟ่า ต้องมาดูว่าจะลงสมัครเป็นประมุขบอลไทยสมัยที่ 3 หรือไม่
สุดท้ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการบริหารงานของสมาคมฯ มีทั้งช่วงที่ดีและแย่สลับกันไป แต่การที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยให้ไปไกลกว่าเดิม คงต้องมีบุคลากรที่รัก พร้อมทุ่มเท เสียสละให้กับวงการฟุตบอลไทยจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องได้รับการสนับสนุนทุกด้านทั้งรัฐและเอกชน
หากไม่ร่วมมือ ลงแรง ร่วมใจกันพัฒนาฟุตบอลไทยอย่างจริงจัง ฟุตบอลไทยคงวนอยู่ในอ่างไม่ไปไหนเหมือนอดีต
อ้างอิง
https://www.educatepark.com/story/thai-football-history/
https://www.mainstand.co.th/th/features/5/article/3383
https://www.thairath.co.th/content/298348
http://sport.mthai.com/football-thai/123259.html
https://sport.mthai.com/football/thaileague/108681.html
https://www.springnews.co.th/news/sport/831900
https://www.thairath.co.th/content/758487