Feature

โน แทอู : ประธานาธิบดีผู้นำ "ความเจริญแห่งกอล์ฟ" มาสู่เกาหลีใต้ | Main Stand

หากใครมีความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือเคป็อป ย่อมเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดว่า อีกหมุดหมายที่สำคัญแทบจะที่สุดคือ ในปี 1987 ที่เป็นจุดกำเนิดกระบวนการทำให้เกิดประชาธิปไตย (Democratization) ผลิดอกออกผล ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากคราบเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตาของประชาชน และมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม พร้อมทั้งยังไล่เช็คบิลคนโกงชาติโกงเมืองเป็นว่าเล่นในกาลต่อมา

 

แต่ในเวลานั้น แม้จะมีคำครหาว่า โน แท-อู (Roh Tae-woo: 노태우) ประธานาธิบดีใต้รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีลักษณะของการ "สืบทอดอำนาจ" มาจากอำนาจนิยมทหาร จากการเป็นลิ่วล้ออดีตประมุขอย่าง พัค จอง-ฮี (Park Chung-hee : 박정희) และเพื่อนซี้ของ ช็อน ทู-ฮวัน (Chun Doo-hwan : 전두환) ที่เข่นฆ่าประชาชนเป็นว่าเล่นในสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เป็นคุณูประการอย่างหนึ่งสำหรับวงการกีฬาที่ขาดไปเสียไม่ได้ นั่นคือ การสร้าง "ความเจริญแห่งกอล์ฟ (Golf Boom)" ให้เกิดขึ้น ทั้งจากความเป็น "ติ่ง" ของตัวเอง นโยบายทั้งในและต่างประเทศ และการแพร่ขยายไปทั่วดินแดนคาบสมุทรในระยะเวลาอันสั้น จากที่แต่เดิมเป็นถูกรับรู้ว่าเป็น "กีฬาของอีลีต" 

เกิดอะไรขึ้น ? สิ่งนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

 

ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์กอล์ฟเกาหลี

หากกล่าวถึงกีฬากอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ๆ ทั่วทุกมุมโลกประชาชนย่อมเกิดการคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นกีฬาของ “อีลีต” ที่พวกคนรวยมีอันจะกินนิยมเล่นกัน มนุษย์เงินเดือน คนรับจ้างรายวัน หรือคนหาเช้ากินค่ำอย่าไปหวังจะได้ออกรอบให้เสียเวลา เพียงแค่เดินเฉียดอาณาบริเวณกอล์ฟคอร์สก็เสมือนถูกเหยียดแล้ว

อีกอย่างคือ การออกรอบทีออฟ 18 หลุมแต่ละครั้งไม่ได้เป็นไปเพื่อการกีฬาแบบเพียว ๆ หากแต่เป็น "การประสานผลประโยชน์" ของ "สามเหลี่ยมอุบาทว์" ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังในการควบคุมรัฐชาติ นั่นคือ กลุ่มของนักการเมืองที่กุมอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ข้าราชการประจำระดับสูงที่เป็นผู้รับลูกจากฝ่ายบริหารมาปฏิบัติ และนักธุรกิจที่เป็นเสมือนฟันเฟืองในการปั่นจีดีพีของประเทศ หรือในบางครั้งฝ่ายตุลาการก็เข้ามามีเอี่ยวในวงนี้ด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น สำหรับประเทศเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยภูเขาและที่ราบสูงทั้งแผ่นดินและมีที่ราบน้อย การสร้างสนามกอล์ฟย่อมหมายถึงการเบียดเบียนที่ดินทำกินของประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปศุสัตว์ หรือปล่อยเช่าที่ดินทำกินอย่างมหาศาล อย่างน้อย ๆ ก็ในช่วงที่เกาหลีใต้ยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปในช่วงสร้างรัฐชาติ (ราวยุค 1950s)

สิ่งที่กล่าวในข้างต้นอาจเรียกได้ว่าเป็น “ภูมิทัศน์” ของกีฬากอล์ฟในเกาหลีใต้ที่เป็นไปใน “แง่ลบ” และถูกคนวิพากษ์วิจารณ์กันระงมว่าเป็นกีฬาที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระดับการพัฒนาประเทศ ทั้งช่วงยังอยู่ใต้อาณานิคมญี่ปุ่นและช่วงหลังได้รับเอกราช เป็นได้เพียงแหล่งที่พวกคนใหญ่คนโตที่ฉ้อฉล โกงชาติโกงเมือง เข้าไปสุมหัวกันคอรัปชั่น และกัดกินประเทศ 

แน่นอนว่าในเกาหลีใต้ยุคนั้นต้องเผชิญกับ “ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism)” มายาวนานกว่าสามทศวรรษ ทั้งจากอำนาจนิยมโดยรัฐบาลพลเรือนนาม อี ซึง-มัน (Syngman Rhee : 이승만) อำนาจนิยมโดยรัฐบาลทหารของ พัค จอง-ฮี ยาวมาถึงยุค ช็อน ทู-ฮวัน ก็ยิ่งทำให้กอล์ฟดูแย่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการดำเนินนโยบายที่เอื้อให้เกิดการฉ้อฉลนอกกอล์ฟคอร์ส อาทิ มีการงดเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์กีฬากอล์ฟด้วยแล้ว ยิ่งทำให้การรับรู้เกี่ยวกับกีฬากอล์ฟย่ำแย่ไปกันใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ โน แท-อู ที่เล่นการเมืองมาอย่างยาวนานและเห็นความเป็นไปของประเทศมานักต่อนัก จะได้รับเลือกตั้งทางตรงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปี 1988 และเขาย่อมทราบดีถึงมุมมองดังกล่าวของประชาชน

โดยในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา (ตอนนี้เป็นกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว)” ช่วงปี 1982 เขาเล็งเห็นว่าคนเกาหลีเริ่มให้ความสำคัญกับกีฬากอล์ฟมากยิ่งขึ้น ขนาดยอมจ่ายเงินในระดับที่สูง (คนปกติ จ่ายแพงกว่าข้าราชการทหาร 2-3 เท่า) เพื่อให้ตนเองหรือลูกหลานได้เข้าไปใช้บริการกอล์ฟคอร์สของทางภาครัฐ หรือของทหาร

หรือแม้กระทั่งในโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซลรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ นอกเหนือไปจากเรื่องทางกายภาพที่ทำเอาหน้าได้รวดเร็ว แต่หลายครั้งนานาประเทศก็ได้ข้อสงสัยเกี่ยวกับเกาหลีใต้ว่ายังมีบางอย่างที่คร่ำครึและไม่ทันโลก ฝ่ายบริหารจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องชำระกฎหมายและลดข้อบังคับต่าง ๆ ลง ทั้งที่ทำสำเร็จก่อนโอลิมปิกและช้าไปบ้างเล็กน้อย แน่นอนว่าวงการกอล์ฟก็ได้รับผลพวงเช่นกัน 

ดังนั้นเราจึงได้เห็น “บัญญัติการติดตั้งและการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬา 1989 (Installation and Utilization of Sports Facilities Act 1989)” ถูกร่างเสนอเพื่อลงมติขึ้น ด้วยพันธกิจที่ว่า “เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เพื่อกำหนดการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับกอล์ฟและกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของภาคเอกชนสำหรับบุคคลทั่วไป”

โดยสาระสำคัญอยู่ที่ “มาตรา 7 (Article 7)” ว่าด้วยการมอบใบอนุญาตทำกอล์ฟคอร์สในยุคนั้น ได้เปลี่ยนคนเซ็นอนุมัติการสร้าง จากแต่เดิมต้องให้ประธานาธิบดีลงนามเปลี่ยนไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแทน และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้โดยจ่ายในระดับอัตราเดียวกันทั้งหมด ไม่จำกัดอภิสิทธิ์ให้เฉพาะคนรวยหรือทหารอย่างเดียว

ทั้งยังได้ออก “ร่างบัญญัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน 1989 (National Land Planning Utilization Act 1989)” เพื่อสอดรับกับแผนข้างต้น เพื่อลดและงดเว้นภาษีสำหรับกอล์ฟคอร์สขนาดเล็ก พร้อมกับโอนสิทธิ์ขาดหลาย ๆ อย่างไปให้กับท้องถิ่นตัดสินใจ

รวมถึงการโอนย้ายหน้าที่รับผิดชอบกอล์ฟคอร์ส จากกระทรวงคมนาคมสู่กระทรวงกีฬาอย่างเป็นทางการ (ที่อยู่กับคมนาคมเพราะเป็นเรื่องของการจัดสรรถนนให้เข้าถึงที่ดินสร้างกอล์ฟคอร์ส) นั่นหมายถึง เป็นการแสดงให้เห็นว่า “กอล์ฟคือกีฬา” อย่างชัดเจนเสียที 

แน่นอนว่าบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกาหลีเรียก National Assembly ไทยเรียก Member of Parliament) ต่างไม่มีใครลงมติไม่เห็นชอบหรือคัดค้าน เพราะถือได้ว่าเป็นนโยบายเพื่อประชาชนจริง ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ คือจำนวนการเติบโตขึ้นเป็นดอกเห็ดของกอล์ฟคอร์สภาคเอกชนในประเทศ โดยมีจำนวน 104 แห่ง มากกว่าในยุคก่อนกว่า 10 เท่าตัว

กระนั้นที่กล่าวในข้างต้นเป็น “บทบาทเชิงรุก” ที่กระทำการโดยโนและบรรดาผู้บริหารภาครัฐ แต่หากจะอธิบายปรากฏการณ์นั้นย่อมขาด “บทบาทเชิงรับ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขเชิงบริบทไปเสียไม่ได้

 

การเมืองของแมส อะไรก็ต้องแมส

ข้างต้นอาจจะดูเหมือนว่า โน แท-อู คือ “พระเอก” ในความหมายของคนคิดริเริ่มกระทำ แต่หากพิจารณาในเรื่องของ “บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ถือว่าพิเศษหรือผิดแปลกอะไร นั่นเพราะมันมีบางอย่างเป็น “แรงขับเคลื่อน” ที่บีบบังคับให้โนจำเป็นต้องกระทำการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการแรก สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่เป็นกันทั่วโลก ที่กระบวนการทำให้แมส หรือเป็นที่นิยม (Popularization) จะเกิดขึ้นกับสิ่งต่าง ๆ นั่นเพราะเมื่อโลกดำเนินเข้าสู่ทุนนิยมมากขึ้น การผลิตและการบริโภคจึงมีความสำคัญ และการทำกำไรและกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อเศรษฐกิจที่เติบโตจึงเกิดขึ้น 

แน่นอนว่าจากแต่เดิมที่อีลีตหรือคนมีอันจะกินซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมได้เสพความบันเทิงบางอย่างเพียงกลุ่มเดียว ก็กลับกลายเป็นถูกกระจายให้คนทั่วไปได้ร่วมสัมผัสมากขึ้น ขายคนแค่หยิบมือ แม้จะมีกำลังซื้อ แต่ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะจ่ายได้มากพอ 

ในขณะที่คนทั่วไปเหล่านี้ก็มีกำลังทรัพย์มากขึ้นจากทุนนิยม การทำงานให้กลุ่มทุน และลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือศัพท์หรู ๆ จะเรียกว่า “Tickle-down” ซึ่งต่อหัวอาจจะไม่มีเงินมากเท่าอีลีต แต่จากจำนวนที่เยอะกว่าและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (The Many) จึงกลายเป็นกำไรเห็น ๆ ของฝ่ายผลิต เพราะถึงแม้คนหนึ่งคนจะบริโภคไม่มาก แต่ถ้าดึงทุกคนมาบริโภคได้ก็จะมีพลัง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์” ที่แต่ก่อนเครื่องใหญ่ มีราคาหลักแสน และน้อยคนที่จะมีในครอบครอง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปที่มีการแข่งขันมากขึ้นจึงพยายามคิดค้นให้มันใช้งานได้กว้างขวางขึ้น ทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่าราคาย่อมลดลง จนสมัยนี้แค่มีเงินสี่หลักก็จะได้โทรศัพท์กันน้ำกันฝุ่น หรือคอมพิวเตอร์ที่เล่นเกมได้แล้ว

กอล์ฟเองก็เช่นกัน ทั่วทั้งโลกเป็นแบบนี้กันหมด แต่ในเกาหลีใต้พิเศษหน่อยที่มี “ข้อบังคับ (Regulations)” ในการดำรงสถานะของกอล์ฟให้เป็นกีฬาอีลีตค่อนข้างเยอะ กระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงทุลักทุเลเสียหน่อย จึงต้องมีหัวเรือที่ผลักดันอย่างจริงจังถึงจะเกิดการกระจายตัวไปทั่วได้

ซึ่งสอดคล้องกับอีกประการ นั่นคือเมื่อการเมือง "พลิกขั้วสลับด้าน" จากแต่เดิมที่เป็นระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมที่ชี้นิ้วสั่งการประชาชนได้ มาตอนนี้ต้องฟังเสียงของประชาชน ต้อง serve ประชาชน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางที่ประชาชนจะเทคะแนนเสียงให้ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ว่า ทำไมบรรดา ส.ส. หรือแคนดิเดตผู้นำประเทศต้องลงไปกราบแทบเท้าประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้ง 

กีฬากอล์ฟก็เช่นกัน หากเป็นความต้องการของประชาชนทั่วไปที่จะเล่นเพื่อการนันทนาการหรือเป็นกีฬาอาชีพจริง ๆ ฝ่ายบริหารย่อมไม่สามารถไปขัดผลประโยชน์ได้ แน่นอนว่าโนเข้าใจถึงจุดนี้ แม้ตัวเข้าจะอยู่ในฝ่ายอำนาจนิยมทหารมาโดยตลอด แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยน วิธีคิดทางการปกครองย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเป็นธรรมดา การหันหน้าเข้าหาประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ถ้าประชาชนอยากได้อะไรก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามนั้น 

อีกตัวแปรที่สำคัญคือ “แชโบล (Chaebol)” หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ครอบงำการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากที่แต่ก่อนเคยรับเงินจากภาครัฐเพื่อไปดำเนินธุรกิจทางเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกิดปรากฏการณ์ “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” ที่จีดีพีเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นจนหลุดกับดักความยากจน และกลายเป็นประเทศ OECD และมหาอำนาจกลางของโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น แน่นอนว่าแชโบลจึงแทบจะรวยกว่าภาครัฐเป็นเท่าทวี การจ้างงานหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงพลิกกลับมาอยู่ในมือของแชโบลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากแต่เดิมที่รัฐเป็นคนชี้นิ้วสั่ง ตอนนี้แชโบลก็อาจจะชี้นิ้วสั่งรัฐเอง รัฐจึงต้องพินอบพิเทาและฟังเสียงเพราะเกรงว่าจะไม่ได้ข้อตกลงที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยดังที่เคยเป็นมา และประชาชนจะเกิดอาการไม่พอใจ ทนไม่ได้ ออกมาขับไล่อีกทอดหนึ่ง เพราะแน่นอนว่าไล่รัฐบาลนั้นง่ายกว่าไล่กลุ่มทุนเป็นไหน ๆ

และอย่างที่กล่าวไป กลุ่มทุนคือหนึ่งในสามเหลี่ยมอุบาทว์ที่มักจะไปใช้สนามกอล์ฟ ทั้งยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าภาครัฐอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ มีหรือที่จะไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของกอล์ฟในประเทศ และก็เป็นกลุ่มพวกนี้ที่ออกมากดดันให้รัฐบาลกระจายการอนุญาตการดำเนินธุรกิจกอล์ฟมาสู่พวกตนบ้าง โดยจะได้ทำการค้ากำไรอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่จำกัดอีกต่อไป เพียงแต่ว่าในระดับการผ่อนปรนอย่างเป็นรูปธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างสะดวกแทน โดยอาจแลกเปลี่ยนกับเงินช่วยเหลือบางอย่างที่รัฐบาลจะได้รับแบบลับ ๆ 

รวมถึงในเรื่องของ “ปัจจัยภายนอก” ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในยุคของโนที่ขาดดุลการค้ากับต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะการขาดดุลการค้าเรื่องอุปกรณ์การกีฬา หรือก็คือเกาหลีใต้เน้นส่งออกแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าแปรรูปล้วน ๆ แต่ผลิตภัณฑ์ด้านกีฬากลับถูกนำเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะการนำเข้าจากญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งด้านการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน

ดังนั้นการพยายามผ่อนปรนเรื่องของกอล์ฟจึงมีส่วนช่วยในการลดการนำเข้า เพราะบรรดาแบรนด์เหล่านี้ย่อมสามารถที่จะไปทำข้อตกลงกับเจ้าของกิจการที่ได้รับอนุญาตในการสร้างสนามกอล์ฟและจะใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองแบบครบวงจร หรือก็คือหากจะใช้บริการที่นี่ต้องใช้อุปกรณ์ของแบรนด์นี้เท่านั้น ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ในประเทศดำเนินการเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดการแข่งขันทั้งในด้านการบริการและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการบริโภคในประเทศมากกว่าที่จะซื้อของนำเข้า 

โดยแบรนด์ที่ทำแล้วปังแทบจะที่สุด นั่นคือ “โวลวิค (Volvik)” แบรนด์ลูกกอล์ฟชั้นนำที่นักกอล์ฟชาวเกาหลีใต้เลือกใช้เป็นประจำ ในภายหลังถึงขนาดโด่งดังเป็นหัวเรือจัด LPGA Volvik Championship เสียด้วยซ้ำ

 

ก็ผมรักกอล์ฟ ใครจะทำไม ?

จากที่กล่าวในข้างต้น เป็นการให้เหตุผลจาก “บุคคลและบริบท” ที่เข้ามาปฏิสังสรรค์กับความเจริญแห่งกอล์ฟในเกาหลีใต้เป็นสำคัญ กระนั้นในบางครั้งการให้เหตุผลที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีอะไรมากไปกว่าการหมายกระทำเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของ โน แท-อู ล้วนๆ 

หากพิจารณาไปที่ตัวของ โน แท-อู ในฐานะที่เขาเติบโตมากับ “รั้วกากี” เหมือนว่าการตีกอล์ฟจะเป็นค่านิยมของ “โรงเรียนนายร้อยเกาหลี (Korea Military Academy : 육군사관학교)” ไม่แตกต่างจากการเล่นรักบี้ของโรงเรียนของชนชั้นนำในประเทศไทย เพราะนักเรียนนายร้อยแทบทุกรุ่นรักการตีกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ และวัฒนธรรมนี้ก็ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น 

ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า เมื่อวงการสีกากีขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินผ่านการรัฐประหารหรือดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร นั่นเท่ากับว่ากระบวนการเปลี่ยนลูกหลานชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ให้กลายเป็นอีลีตกลาย ๆ จึงเกิดขึ้น ดังนั้นค่านิยมต่าง ๆ ของอีลีทจึงถูกเลียนแบบอย่างไม่ต้องสงสัย แน่นอนว่ากอล์ฟคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด

โดยความบ้ากอล์ฟของนักเรียนนายร้อยนั้นไม่ใกล้ไม่ไกล เพื่อนรักร่วมรุ่นของเขาอย่าง ช็อน ทู-ฮวัน มีความชื่นชอบกอล์ฟเป็นอย่างมาก มากชนิดที่ว่าสามารถเทิร์นโปรแทนการรับราชการทหารยศร้อยตรีได้เลยหลังสำเร็จการศึกษา แน่นอนว่าโนเองก็เป็นคนคอเดียวกันจึงสนิทสนมกันได้อย่างรวดเร็ว 

ยามว่างเว้นจากการเรียนหรือฝึก สองเกลอต่างชักชวนกันและกันให้มาออกรอบบ่อย ๆ โดยจะถางหญ้าแถว ๆ หอพักโรงเรียนนายร้อยให้เรียบเพื่อพัตลงหลุมกันอย่างสนุกสนาน แต่โนนั้นกลับให้ความสนใจและเอาดีในกีฬาเทนนิสและรักบี้มากกว่า โดยให้กอล์ฟเป็นการตีเล่นเฉย ๆ ก่อนที่เขาจะหวนมาจับไม้กอล์ฟอีกครั้งในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 หรือที่มีฉายาว่า “กองพลอาชาเศวตร (백마부대)”

ถือว่าเขาสามารถรื้อฟื้นวิชาได้เร็วมาก ในเวลาไม่นานเขาก็มีแฮนดิแคปถึง 12 ผิดกับช็อนที่แม้จะมีพรสวรรค์ทางด้านนี้แต่กลับให้ความสำคัญกับการแสวงหาอำนาจ ทำให้ฝีมือไม่ได้พฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โนยังคงหลงใหลในการพัฒนาทักษะกอล์ฟของเขาอยู่

ตราบจนทั้งคู่ลงสนามการเมืองและ ช็อน ทู-ฮวัน ทำรัฐประหารซ้อน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี โดยแต่งตั้งโนขึ้นเป็นมือขวาและดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศที่ต้องออกรับหน้าแทนช็อนตลอด (รมต. กระทรวงกีฬา ดังที่กล่าวไป) และโนเองก็อยู่ในช่วงที่ช็อนออกมาตรการบีบบังคับวงการกอล์ฟหนัก ๆ ด้วยการออกกฎหมาย “ให้ประธานาธิบดีเซ็นอนุมัติสร้างกอล์ฟคอร์สเท่านั้น” รวมถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อช็อนในด้านต่าง ๆ ที่สั่งสมมา

แน่นอนว่านอกจากจะไม่อยากลงเอยแบบเพื่อนรักของเขาที่มีแต่คนเกลียด โนจึงต้องหาจุดกึ่งกลางเพื่อรับมือกับประชาชนในระบอบใหม่ ในฐานะของคนรักกอล์ฟด้วยแล้ว แม้จะไม่ได้ตีเก่งเท่ากับช็อน แต่เขาเองก็ไม่อยากที่จะทรยศต่อกิจกรรม “ไดรฟ์กอล์ฟ” ที่เขาต้องทำในทุก ๆ เช้าไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง หรือขนาดที่เคยถางหญ้าหน้า ชองวาแด(청와대 : หรือทำเนียบฟ้า ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตั้งชื่อเลียนแบบทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา) เพื่อพัตกอล์ฟตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่ตำแหน่ง 

สิ่งที่กล่าวไปในข้างต้นทั้งหมดจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีอะไรสุขใจมากไปกว่าการได้เห็นสิ่งที่ตนชื่นชอบและหลงใหลเติบโตขึ้นในประเทศ ดั่งที่ พัค จอง-ฮี เห็นเหล้ามักกอลลี (막걸리) พลิกกลับมาเป็นที่นิยมในประเทศ หลังจากที่โดนด้อยค่าว่าเป็นน้ำเมาตลาดล่างอย่างไรอย่างนั้น และอาจจะยิ่งยินดีถึงขีดสุดที่เป็นหนึ่งในหัวเรือที่ช่วยพัฒนาวงการกอล์ฟเกาหลีใต้ให้ยืนหนึ่ง โดยเฉพาะ นักกอล์ฟสาว ที่ขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกเป็นว่าเล่น หรือในระดับปรากฏการณ์อย่าง พัค เซรี (Seri Park : 박세리) ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

หากท่านใดไปเยี่ยมชม “ช็อง นัม แด (청남대)” สถานตากอากาศของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่จังหวัดชุงช็องเหนือ (충청북도) ไม่ใกล้ไม่ไกลจะมีกอล์ฟคอร์สอยู่ และจะมีรูปปั้น โน แท-อู ยืนทีออฟแบบเท่ ๆ เด่นเป็นสง่า รอต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าขนาดภาพแทนของเขายังไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่มักใส่สูทผูกไทด์ แต่สำหรับ โน แท-อู กลับแสดงออกด้วยเรื่องกีฬากอล์ฟเสียอย่างนั้น

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ The Political Transformation of Golf in Modern South Korea
บทความ Golf Policy of the Ancient Regime Since Government of the Republic of Korea
บทความ The Golf Boom in South Korea: Serving Hegemonic Interests
บทความ Introduction of Golf to Korea during the Japanese Occupation
บทความ Socio-historical development of Korean women’s golf

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ