อาร์เซน่อล หมดลุ้นทุกแชมป์และจบซีซั่นด้วยมือเปล่าเป็นฤดูกาลที่ 5 ติดต่อกัน ... นี่คือตัวเลขที่ค่อนข้างเหลือเชื่อ เพราะถ้ามองกันในแง่ของเกมฟุตบอล พวกเขาเป็นทีมที่เล่นสนุก และมีคุณภาพอย่างมากในสนามแข่งขัน
เพียงแต่ว่าของแบบนี้มันเป็นเรื่องของอำนาจวาสนาจริงหรือไม่ ? ทำไม มิเกล อาร์เตต้า จึงต้องถูกเลือกให้เป็นผู้ผิดหวังทุกที
ร่วมหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาขาดไปใน 3 ซีซั่นหลังสุด กับทีมที่ชุดที่อย่างน้อยควรจะมีสักโทรฟี่กับ Main Stand
การเริ่มต้นยากเสมอ
ก่อนจะเริ่มไล่เรียงปัญหา เราควรเริ่มที่การยกย่องและให้เกียรติงานของ มิเกล อาร์เตต้า ตั้งแต่เข้ามารับงานกับ อาร์เซน่อล เพราะถ้ามองภาพจากวันนั้นในช่วงปลายปี 2019 คงไม่มีใครคิดว่า อาร์เซน่อล จะเปลี่ยนโฉมกลายเป็นขาประจำในการลุ้นแชมป์ทุกรายการที่ลงแข่งขันเหมือนในตอนนี้
งานของ อาร์เตต้า นั้นยากเย็นแสนเข็ญ และต่อให้เก่งแค่ไหน แต่เมื่อถึงวันที่ต้องเริ่มบทบาทใหม่ให้กับตัวเองมันก็เป็นเรื่องยากเสมอ สำหรับ อาร์เตต้า เขาไม่เคยเป็นกุนซือใหญ่มาก่อน แม้จะเป็นมือขวาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า แต่นั่นก็ถือเป็นบทบาทที่เหมือนกับเงา ไม่ได้ถูกเพ่งเล็งและวิจารณ์อะไร เพราะ เป๊ป ที่เป็นเฮดโค้ชของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้องรับหน้าทั้งหมดสำหรับเรื่องนี้
การรับมือกับความคาดหวัง และการเริ่มงานโดยที่ไม่มีประสบการณ์คือความยากของสายงานทุกอาชีพไม่เว้นแม้แต่จอมแท็คติกอย่าง อาร์เตต้า คนที่ เป๊ป เคยออกปากชมด้วยตัวเองว่า เป็นคนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเยอะมาก ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยกัน อาร์เตต้า แสดงสิ่งนั้นให้ เป๊ป เห็นอยู่ตลอด
การเป็นเฮดโค้ชนั้นเหมือนกับงานปราบเซียน คุณต้องรับมือกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นหน้าฉากหลักของสโมสรในยามที่ผลงานไม่ดี เป็นคนแรกที่จะถูกตั้งคำถามเสมอ ซึ่ง อาร์เตต้า เองก็เสียหลักกับช่วงเวลาเหล่านี้มาไม่น้อย แม้ว่าเขาจะใช้เวลาไม่กี่เดือนหลังเข้ามาคุมทีม ก่อนพาทีมคว้าเเชมป์ เอฟเอ คัพ ปี 2020
แต่หลังจากนั้นคือของจริง ฟุตบอลลีกเน้นกันที่การยืนระยะ นอกจากนี้งานที่ยากยิ่งกว่าคือการบริหารคน ซื้อใจลูกทีมให้ได้ ไหนจะต้องทำให้เจ้านายเชื่อใจอีก กว่า อาร์เตต้า จะผ่านเรื่องนี้มาได้ ก็กินเวลาไป 3 ปีเต็ม ๆ ซึ่งตลอดเวลา ไม่มีช่วงไหนที่ อาร์เตต้า ไม่โดนตั้งคำถามเลย ทุกการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตัว การวาง 11 ตัวจริง หรือแม้แต่แท็คติกที่หลายบอกว่าเขาเป็นได้แค่ "เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เสิ่นเจิ้น" เท่านั้น
และท้ายที่สุดจากที่เคยถูกมองว่าเป็นตัวตลก ไม่นานนักเมื่อ อาร์เตต้า ตั้งหลักได้ และได้รับการสนับสนุนจากตระกูลครองคี่ ที่เป็นเจ้าของสโมสร รวมถึงการผนวกกำลังกับ เอดู อดีตผู้อำนวยการกีฬาคู่ใจ อาร์เซน่อล ในยุคของ อาร์เตต้า จึงเริ่มค่อย ๆ ถ่ายนักเตะที่ใช้งานไม่ได้ ไม่ตรงกับปรัชญา และมีทัศนคติไม่ดีออกจากทีม และดึงตัวกลุ่มนักเตะหนุ่มที่ทุกวันนี้ กลายเป็นคนสำคัญของสโมสร และเป็นนักเตะในระดับแถวหน้าในตำแหน่งของตัวเองไล่ตั้งแต่ ดาบิด รายา, กาเบรียล มากัลเญส, วิลเลียม ซาลิบา, ดีแคลน ไรซ์, มาร์ติน โอเดการ์ด นอกจากนี้ยังพัฒนานักเตะที่มีอย่าง บูกาโย่ ซาก้า จนกลายเป็นตัวท็อปของรุ่น
ระบบคัดเลือกนักเตะที่ดี ทีมงานหลังบ้านที่แข็งแกร่ง โค้ชที่มีปรัชญาฟุตบอลชัดเจน และนำสิ่ง่ที่อยู่ในหัวสมองออกมานำเสนอให้แฟน ๆ ได้เห็นผ่านเกมในสนาม
แต่มันติดอยู่ปัญหาเดียว คือพวกเขาไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน การได้รองแชมป์พรีเมียร์ลีก 2 สมัย (และกำลังจะเป็นสมัยที่ 3)ติดต่อกัน ชวนให้เราคิดต่อว่ามันเป็นเพราะอะไร ทีมที่เล่นสวย มีประสิทธิภาพอย่าง อาร์เซน่อล จึงกำลังโดนล้อว่า "The Bottlers" หรือแปลว่า ทีมที่เล่นให้ตายก็ไม่ได้แชมป์ ... พวกเขาเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ ?
ปัญหาจาก "ตัวเอง" ใน 3 ปีหลัง
ก่อนจะเริ่มโทษคนอื่น ก็ต้องย้อนกลับมามองดูตัวเองกันให้ดี เช่นเดียวกันกับการจะหาเหตุผลว่าทำไม อาร์เซน่อล ไม่ได้แชมป์ ก็ต้องเริ่มจากการมองหาปัญหาที่เกิดขึ้นจากพวกเขาเป็นอันดับแรก ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างใน 3 ฤดูกาลที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ เรามาค่อย ๆ ไขไปทีละจุดกัน
ประการแรก แม้ อาร์เซน่อล จะขึ้นชื่อว่าเป็นทีมที่เสริมนักเตะที่แล้วตรงจุด ซื้อเข้ามาแล้วหลายคนพัฒนาตัวเองจนขึ้นมาเป็นตัวหลักได้แทบจะตลอดในยุค อาร์เตต้า โดยเฉพาะ 3 ปีหลังสุดที่ทีมกำลังเข้ารูปเข้ารอยอยูในทรงพร้อมคว้าแชมป์ แต่สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหามาเสมอเมื่อเทียบกับทีมอื่นก็คือ พวกเขา "ขาดขุมกำลังเชิงลึก" หรือพูดเป็นภาษาบ้าน ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ "พวกเขายังซื้อนักเตะไม่พอ"
หากจะพูดถึง 11 ตัวจริงชุดที่ดีที่สุดของ อาร๋เซน่อล เราก็ต้องบอกว่าพวกเขาสามารถสู้ใครก็ได้บนโลก แต่คำถามคือเมื่อมีนักเตะบาดเจ็บ ลงเล่นไม่ได้ และต้องใช้ตัวสำรองขึ้นมาทดแทนตัวที่ดีที่สุด คุณภาพของทีมมันตกลงมากเกินไปหรือเปล่า ?
เหตุผผลที่ต้องยกเรื่องนี้มาพูด เพราะ อาร์เซน่อล เป็นทีมที่มีนักเตะตัวหลักเจ็บยาว หรือถึงขั้นปิดเทอมแทบจะตลอด 3 ปีหลัง เช่น วิลเลียม ซาลิบา, โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้, กาเบรียล เชซุส และ มาร์ติน โอเดการ์ด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสม่ำเสมอของทีมอย่างเห็นได้ชัด
ในฤดูกาล 2022-23 ที่พวกเขานำ แมนฯ ซิตี้ เป็นจ่าฝูงจนถึงช่วง 9 เกมสุดท้าย แต่เมื่อนักเตะอย่าง ซาลิบา และ ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ บาดเจ็บ พวกเขาก็ทำแต้มหล่นรัว ๆ (ชนะแค่ 3 นัดจาก 9 เกมสุดท้าย) ด้วยการใช้นักเตะตัวสำรองอย่าง ร็อบ โฮลดิ้ง, ฟาบิโอ วิเอร่า, จอร์จินโญ่ และ เอ็ดดี้ เอ็นเคเทียห์ สุดท้าย ซิตี้ ก็แซงหน้าพวกเขาเป็นแชมป์ในตอนจบ
และในปีที่แล้ว หรือปีนี้ก็ไม่ต่างกัน การบาดเจ็บของนักเตะตัวหลักที่วนมาแวะเวียนตลอด ไม่ว่าจะรายของ กาเบรียล เชซุส, ไค ฮาแวร์ตซ์, โอเดการ์ด, ซาก้า, เบน ไวท์, กาเบรียล และอีกหลาย ๆ คน สุดท้าย อาร์เซน่อล ก็ต้องออกอาการเป๋เมื่อขุนพลตัวหลักของพวกเขาขาดไปทุกครั้ง ...
"อาร์เซน่อล ยอดเยี่ยมแค่ 11 คนบนหน้ากระดาษ ด้วยผู้เล่น 11 คนนี้พวกเขาเป็นทีมที่ดีมาก ๆ แต่ถ้ามองไปที่บนม้านั่งสำรอง นักเตะเหล่านั้นอย่างห่างไกลที่จะเป็นตัวแทนของทีมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่การเอาชนะทุกนัดได้" กาเบรียล อักบอนลาฮอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ กล่าวถึงประเด็นนี้ได้อย่างเห็นภาพ
เมื่อผู้เล่นหลักบาดเจ็บหรือฟอร์มตก อาร์เซน่อลมักไม่มีผู้เล่นสำรองที่สามารถทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่คว้าแชมป์เหนือพวกเขา 2 ซีซั่นก่อน มีขุมกำลังที่ลึกและสามารถหมุนเวียนผู้เล่นได้โดยไม่ลดคุณภาพของทีม ... และมันยิ่งเห็นภาพของฟุตบอลสมัยใหม่ เพราะในปีนี้เมื่อ ซิตี้ ไม่เสริมทัพ พวกเขาก็กลายเป็นทีมที่แย่ลงมาแบบไม่น่าเชื่อภายในเวลาอันรวดเร็ว
การขาดขุมกำลังเชิงลึก ยังนำมาซึ่งปัญหาอีกหลายอย่างที่ อาร์เซน่อล ต้องยอมรับ นั่นคือเรื่องของความ "สม่ำเสมอ" ... ยกตัวอย่างเช่นในฤดูกาล 2023-24 อาร์เซน่อลเสียประตูจากความผิดพลาดส่วนบุคคลถึง 25% ของประตูที่เสียทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในบรรดาทีมท็อป 5 ของยุโรปอีกด้วย
นอกจากนี้ ทีมยังมีปัญหาในการรักษาความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงท้ายฤดูกาลที่มักจะพลาดคะแนนสำคัญซึ่งมันเป็นมาตลอด และเกิดขึ้นแทบจะทุกครั้งในช่วงเวลาเดิม ๆ ของ 3 ซีซั่นหลังสำหรับ อาร์เซน่อล ในยุคของ มิเกล อาร์เตต้า
เห็นปัญหาแต่ไม่แก้
นอกจากเรื่องขุมกำลังเชิงลึกแล้ว ยังมี 1 คำถามคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับ อาร์เซน่อล ตลอด 3 ปีหลังที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นทีมลุ้นแชมป์เต็มตัว คำถามดังกล่าวคือ ทำไมพวกเขาจึงไม่ซื้อศูนย์หน้าธรรมชาติ หรือผู้เล่นเบอร์ 9 จริง ๆ เกิดมาเพื่อยิงประตู เพื่อเข้ามาเป็นความแตกต่างในการเล่นเกมรุกของทีม ทั้ง ๆ ที่หลายคนไม่ว่าจะสื่อในประเทศ และเหล่ากูรูที่เคยเป็นนักฟุตบอลในอดีตต่างก็มองว่า เบอร์ 9 คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของปืนใหญ่ชุดนี้ แต่จนแล้วจนรอดพวกเขาก็ไม่ยอมซื้อนักเตะในตำแหน่งนี้สักที
เราเชื่อว่าหลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะแฟนบอล อาร์เซน่อล หรือคนที่ติดตามการเล่นของทีม ๆ นี้มาตลอดในยุคของ อาร์เตต้า เพราะคุณจะพบว่าแนวทางการเล่นของ อาร์เตต้า ไม่พึ่งกองหน้าตัวเป้าสไตล์โอลด์สคูลมากนัก อาร์เตต้า ชอบระบบที่ "กองหน้า" ต้องมีส่วนร่วมกับเกมมากกว่าแค่ยิงประตู เช่น เล่นบอลกับพื้น ดึงตัวประกบ ถอยต่ำลงมาสร้างเกม นั่นทำให้เขาซื้อนักเตะอย่าง ฮาแวร์ตซ์ และ กาเบรียล เชซุส มาเล่นเป็นกองหน้า
เพียงแต่ว่าการไม่มีกองหน้าเบอร์ 9 ก็สร้างผลเชิงลบให้ อาร์เซน่อล เช่นกัน เพราะในหลาย ๆ สถานการณ์มันฟ้องออกมาด้วยผลการแข่งขันที่น่าผิดหวัง เพราะมีหลายเกมที่รูปเกมอึดอัด ทีมต้องการจบสกอร์เฉียบคม อาร์เซน่อล มักจะทำแต้มหลุดมือกับเกมแบบนี้ ตัวอย่างเช่น เกมใหญ่ ๆ ที่อาร์เซน่อลสร้างโอกาสเยอะ แต่ยิงไม่ได้ เช่น แพ้ เวสต์แฮม, เสมอ แมนฯ ซิตี้
ผลเชิงลบยังมีอีกหลายประการ อาทิ ทีมจะไม่มีตัว "แบก" เวลาทุกคนฟอร์มตก หากแนวรุกคนอื่นฟอร์มไม่ดี ไม่มีคนที่แบกเกมด้วยการยิง 20+ ประตูแบบสม่ำเสมอ เหมือนที่หลายทีมมี (ฮาลันด์, ซาลาห์, เคน เป็นต้น) เอาจริง ๆ อาร์เซน่อล ก็มีบทเรียนมากมายกับเกมลักษณะนี้ ฤดูกาล 2022-23 และ 2023-24 อาร์เซน่อลมีลุ้นแชมป์แบบจริงจัง แต่หลายเกมสำคัญยิงไม่ได้ ... น่าเสียดายที่พวกเขาก็มีเหตุผลที่ไม่เสริมทัพในตำแหน่งเบอร์ 9 เสียที
และในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงฤดูร้อนปี 2024 ที่ผ่านมา มันกลายเป็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องของศูนย์หน้าเท่านั้น เพราะ อาร์เซน่อล ไม่ได้เสริมทัพในตำแหน่งที่จำเป็นอย่างกองหน้าตัวเป้าและปีกธรรมชาติเลย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็รู้ดีว่า ณ ตอนนี้ทีมไม่มีปีกขวาเท้าซ้ายมาทำหน้าที่แทนในยามที่ ซาก้า เจ็บและไม่พร้อมลงสนาม แม้คุณจะบอกว่ามีนักเตะอย่าง อีธาน วาเนรี่ หรือ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ได้โกหกตัวเองเกินไปนัก คุณก็จะเข้าใจว่านักเตะที่เด็กเกินไป และอีกคนก็ผ่านช่วงพีกไปแล้ว นั้นยากที่จะมาเป็นตัวสแตนด์บายในยามที่ทีมขาดเดอะแบกอย่าง ซาก้า
ที่สุดแล้วเมื่อซัมเมอร์ 2024 จบลง แม้ว่าจะมีการเสริมผู้เล่นบางตำแหน่ง แต่การขาดผู้เล่นที่สามารถสร้างความแตกต่างในเกมสำคัญ ทำให้ทีมไม่สามารถยกระดับผลงานได้ตามที่คาดหวัง อีกทั้งตลาดเดือน มกราคม ก็ไม่มีใครย้ายเข้ามาเลย มันจึงทำให้ปัญหาเดิม ๆ ไม่ได้หายไปไหน เมื่อถึงปลายซีซั่น พวกเขาก็ตกม้าตายไปอีกตามเคย และเป็นอีกครั้งที่พวกเขาต้องเจ็บปวด จนอาจจะต้องย้อนกลับไปดูการตัดสินใจเมื่อครั้งอดีตว่ามีอะไรผิดพลาดตรงไหนบ้าง
มันก็จริงอยู่ทีว่า อาร์เซน่อล ก็เป็นทีมที่ดี เป็นทีมคนหนุ่มที่มีอนาคตสดใสรออยู่ แต่คุณเองก็ต้องไม่ลืมว่าวัฏจักรของฟุตบอลมันมีรอบของมัน ทีมที่ดีสุด ก็มีวันร่วงโรย นักเตะที่ดีที่สุด นานวันเข้ามันก็ต้องถึงเวลาต้องผลัดใบ
มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทีม อาร์เซน่อล ในชุดที่พร้อมลุ้นแชมป์ทุกถ้วยที่ลงเล่น ผ่าน 3 ปีไปแบบที่ไม่มีถ้วยใดติดไม้ติดมือเลย ... นี่คือบทเรียนครั้งสำคัญที่เชื่อว่าบอร์ดบริหาร และ มิเกล อาร์เตต้า คงรู้ดีว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้างในซัมเมอร์ปี 2025 นี้ เพราะถ้ายังชักช้าไม่กล้าตัดสินใจ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็จะโบกมือลาพวกเขาไป โดยที่พวกเขาอาจจะต้องเสียดาย เพราะช่วงเวลาดี ๆ เหล่านั้นมันหวนกลับมาไม่ได้อีกแล้ว
แหล่งอ้างอิง
https://www.skysports.com/football/news/11670/13363668/arsenal-mikel-artetas-gunners-go-another-season-without-a-trophy-after-champions-league-exit-to-psg-so-what-now
https://www.goal.com/en/lists/mikel-arteta-needs-silverware-next-season-winners-losers-arsenal-psg-champions-league/blt53c8c55c59a249cc
https://www.theguardian.com/football/2025/may/07/arsenal-paris-saint-germain-champions-league-mikel-arteta
https://en.wikipedia.org/wiki/2022%E2%80%9323_Arsenal_F.C._season