ครั้งหนึ่งในอดีตประเทศยูโกสลาเวียได้สร้างความยิ่งใหญ่เกรียงไกรให้ชาวโลกได้รับรู้ผ่านทางกีฬาฟุตบอล และฟุตบอลทีมชาติของพวกเขา ที่ไม่ว่าจะแชมป์ยูโรหรือเหรียญทองโอลิมปิกก็เคยคว้ามาครอบครองแล้วทั้งสิ้น หรือจะศึกฟุตบอลโลกก็ไปได้ไกลถึงอันดับที่ 4
ทว่าในอีกมุมหนึ่งกีฬาฟุตบอลที่พวกเขาเชี่ยวชาญได้กลายเป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่การล่มสลายของประเทศยูโกสลาเวียเช่นกัน และที่สำคัญชนวนดังกล่าวเกิดขึ้นจากแมตช์ฟุตบอลเพียงแมตช์เดียว
ก่อนที่จะมีการแบ่งลีกแยกประเทศเหมือนในปัจจุบัน ดินาโม ซาเกร็บ มหาอำนาจลูกหนังแห่งโครเอเชีย กับ เรดสตาร์ เบลเกรด ยักษ์ใหญ่จากเซอร์เบีย ถือเป็นสองสโมสรที่มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด แต่คงไม่มีเหตุการณ์ครั้งไหนจะหนักหนาเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1990 อีกแล้ว
เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น และมันนำไปสู่สงคราม, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การประกาศเอกราชประเทศอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand
รอยร้าวแห่งยูโกสลาเวีย
ก่อนจะไปถึงเหตุการณ์อันเป็นจุดไคลแมกซ์ของบทความนี้ อยากให้ทุกคนได้รู้ถึงประวัติศาสตร์และความขัดแย้งภายในประเทศยูโกสลาเวียกันก่อน เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมด
ยูโกสลาเวียมีเริ่มต้นฐานะรัฐชาติอย่างเป็นทางการในปี 1918 โดยเกิดขึ้นจากการวมกันของหลายอาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรของคนกลุ่มเซิร์บ, โครแอท และสโลวีน หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาและวัฒนธรรมสลาวิคใต้ รวมถึงเชื้อชาติอื่นๆ ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค
ในปี 1921 มีประชากร ประมาณ 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวเซิร์บ 6 ล้านคน เป็นโครแอท 3 ล้านคน คนสโลวีน 1 ล้านคน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีก 2 ล้านคน โดยมีศาสนาและภาษา ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับเชื้อชาติ
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่ายูโกสลาเวียคือประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างมาก ก่อให้เกิดความแตกต่างที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรม ไมว่าจะศาสนา ความเชื่อ หรือภาษา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่การเติบโตขึ้นของประเทศจะซ่อนความขัดแย้งร้าวลึกไว้ภายใน
อีกปัจจัยที่สร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มเชื้อชาติคือสภาพสังคมเศรษฐกิจที่แต่ละกลุ่มมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น กลุ่มสลาฟในสโลวีเนีย โครเอเชีย โวจโวดินา กับคนในแถบตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิฮับสบวร์กหรือออสโตร-ฮังกาเรียน ทำให้ได้รับอิทธิพลและเทคโนโลยีแบบยุโรปตะวันตกจากภาคพื้นทวีปตอนบน ต่างจากกลุ่มสลาฟที่เป็นคริสต์ออธอดอกซ์ที่การพัฒนาล้าหลังกว่า เนื่องจากได้รับอิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันที่ได้รับมีความเข้มข้นกว่า
ในช่วงที่โลกกำลังคุกรุ่นด้วยสงครามเย็น เศรษฐกิจของยูโกสลาเวียก็ตกต่ำตามไปด้วย เนื่องจากความช่วยเหลือที่เคยได้รับจากสหรัฐอเมริกาลดลง เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง นอกจากนั้นยูโกสลาเวียก็มีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในประเด็นการส่งสายลับเข้าไปสอดแนมซึ่งกันและกันด้วย
ยูโกสลาเวียแก้ปัญหานี้ด้วยการส่งออกแรงงานไปยังยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนีตะวันตก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ โดยภูมิภาคที่ได้รับการส่งเสริมคือชายฝั่งทะเลแถบดัลเมเทีย ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศโครเอเชีย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มคนต่างเชื้อชาติชัดเจนมากขึ้น
เข้าสู่ยุค 70s เศรษฐกิจของยูโกสลาเวียก็ตกต่ำอีกครั้งด้วยพิษเศรษฐกิจโลก ติโต ในฐานะผู้นำประเทศ ใช้ยุทธศาสตร์คล้ายกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกาที่ประสบปัญหาเดียวกัน คือ กู้ยืมเงินต่างประเทศ จนกลายเป็นต้นเหตุของหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลกว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทว่าเหมือนยิ่งแก้จะยิ่งแย่ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ก้อนดังกล่าว จนนำไปสู่การขาดแคลนสินค้านำเข้าอย่างพลังงาน การถอนการลงทุน และอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น
ติโต ไม่ได้อยู่เห็นการล่มสลายของยูโกสลาเวียด้วยตาตัวเอง เนื่องจากเขาถึงแก่อสัญกรรมไปในปี 1980 ก่อนที่ยูโกสลาเวียจะมีผู้นำคนใหม่ชื่อ สโลโบดัน มิโลเชวิช (Slobodan Milošević) ผู้มีเชื้อสายมอนเตเนกริน ซึ่งผู้นำคนใหม่นี่แหละ คือ คนที่เร่งการล่มสลายของประเทศให้เร็วทันตาเห็นขึ้นไปอีก
ผู้นำคนใหม่มาพร้อมกับแนวคิดการปกครองแบบใหม่ ด้วยการชูอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์แบบสุดโต่ง มิโลเชวิช สร้างความชอบธรรมและอำนาจให้กับกลุ่มคนเชื้อสายเซิร์บ ร่วมกับองค์กรการเมืองอย่างสันนิบาตคอมมิวนิสต์เซอร์เบีย (Serbia League of Communists) นำมาซึ่งการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์บนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขบวนการแยกตัวเป็นรัฐอิสระเริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมขยายตัวอย่างเข้มข้น และพัฒนาเป็นความขัดแย้งรุนแรง
การดำเนินนโยบายนี้ของ มิโลเซวิช เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนปี 1987 ขณะที่เขาเดินทางไปแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเซิร์บกับโคโซวาร์ ณ จังหวัดโคโซโว เขารับฟังปัญหาจากคนเชื้อสายเซิร์บที่ถูกคนโคโซวาร์กดขี่ มิโลเชวิช รับปากว่าจะช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยยึดชาวเซิร์บเป็นที่ตั้ง
หลังจากนั้น มิโลเชวิช ก็เริ่มสร้างกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเซิร์บมากยิ่งขึ้น โดยดึงเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งอ่อนไหวสำหรับชาติพันธุ์ต่างๆ ในยูโกสลาเวียอย่าง “สมรภูมิโคโซโว” (Battle of Kosovo) ซึ่งเกิดขึ้นและจบลงไปกว่า 600 ปี มาใช้ปั่นความรู้สึกผู้คน
การเข้ามาของ มิโลเชวิช ผู้มีแนวคิดเชื้อชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งแตกต่างกับ ติโต ที่ตลอด 35 ปีของการบริหารประเทศเขาใช้แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ที่ต้องการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม ลดทอนสำนึกความภาคภูมิใจในเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งลง อย่างตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เป็นตัวปลุกชนวนให้ขบวนการเรียกร้องขอแยกตัวเป็นรัฐอิสระจากยูโกสลาเวียก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น
หนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีความประสงค์อยากแยกตัวอย่างแรงกล้าคือโครเอเชีย โดยรัฐบาลของพวกเขาต้องการสร้างรัฐที่มีชนกลุ่มใหญ่เป็นคนโครแอทนับถือคริสต์นิกายคาทอลิก และแสดงท่าทีต่อต้านการขึ้นครองอำนาจของเซิร์บที่ถือคริสต์นิกายออธอดอกซ์ในเซอร์เบียอย่างแข็งกร้าว
แม้จะมีการลงประชามติภายในโครเอเชีย แต่ชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลับคว่ำบาตร ความขัดแย้งจึงเริ่มทวีดีกรีความเดือดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1990
กังฟูคิก สัญลักษณ์แห่งการไม่ยอมจำนน
ก่อนที่ลีกฟุตบอลประเทศโครเอเชียกับเซอร์เบียจะแยกออกจากกกันโดยสิ้นเชิงดั่งเช่นทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในยุคก่อนทศวรรษที่ 90 พวกเขาเคยขับเคี่ยวในลีกของประเทศยูโกสลาเวียที่มีชื่อว่า Yugoslav First League
แน่นอนว่า ดินาโม ซาเกร็บ กับ เรดสตาร์ เบลเกรด ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในบทความนี้คือคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตายมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปลายทศรรษ 80 ต่อต้นทศวรรษ 90 ที่ปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติระหว่างชาวโครแอทกับชาวเซิร์บ ซึ่งมีสาเหตุจากนโยบายด้านชาติพันธุ์ของ สโลโบดัน มิโลเชวิช ดุเดือดร้อนแรงกว่าที่ผ่านมา ก็ส่งผลโดยตรงต่อบรรยากาศการแข่งขันในสนามฟุตบอลของทั้งสองทีมนี้ เนื่องจากทีมหนึ่งคือตัวแทนของชาวโครแอท อีกทีมคือความภาคภูมิใจของชาวเซิร์บ
ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายแห่งความขัดแย้งดังกล่าวจะมอดไหม้ลงในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1990...หลายคนเรียกมันว่า “วันที่สงครามเริ่มต้น”
ถึงแม้ก่อนการแข่งขันนัดดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้น เรด สตาร์ เบลเกรด จะการันตีแชมป์ประจำฤดูกาลไปแล้วจากการที่พวกเขามีแต้มมากกว่าทีมอันดับที่ 2 อย่าง ดินาโม ซาเกรบ กว่า 20 แต้ม แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของฟุตบอลอีกต่อไป มันคือเรื่องของศักดิ์ศรีด้านเชื้อชาติ ดังนั้นจึงมีแฟนบอล เรด สตาร์ มากกว่า 3,000 ชีวิตลงทุนเดินทางกว่า 400 กิโลเมตรไปยังกรุงซาเกร็บ เพื่อรับชมเกมนี้
หลายชั่วโมงก่อนการแข่งขันจะเริ่ม เค้าลางแห่งความโกลาหลก็เริ่มส่งสัญญาณเตือน เมื่อกลุ่มแฟนบอล เรด สตาร์ จำนวนมาก ก่อเหตุชุลมุนปาก้อนหินใส่กลุ่มแฟนบอลดินาโม ทำลายป้ายโฆษณาต่าง ๆ ภายในเมือง พร้อมตะโกนว่า
“เราจะฆ่าพวกมันให้หมด ซาเกร็บคือเซอร์เบีย!” ก่อนจะตามมาด้วยเหตุชุลมุน จนมีผู้บาดเจ็บไปหลายราย
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมเหตุการณ์ปะทะนอกสนามดังกล่าวได้สำเร็จ แฟนบอลทั้งสองทีมแยกย้ายกันไป ก่อนที่พวกเขาจะโคจรมาเจอกันอีกครั้ง ณ Maksimir Stadium รังเหย้าของ ดินาโม ซาเกร็บ โดยวันในดังกล่าวมีรายงานว่าจำนวนแฟนบอลในสนามอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 คน
ยังไม่ทันที่เสียงนกหวีดเริ่มการแข่งขันจะดังขึ้น ภายใน Maksimir Stadium ก็กึกก้องไปด้วยเสียงตะโกนด่าทอกันระหว่างแฟนบอลทั้ง 2 ทีม เสียงร้องเพลงเหยียดเชื้อชาติซึ่งกันและกัน รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์ท่าทางอันก้าวร้าวอย่างไม่มีใครยอมใคร
“ความตึงเครียดในวันนั้นมันชัดเจนมากๆ ราวกับสัญญาณเตือนว่าอีกไม่นานยูโกสลาเวียจะต้องสลายตัว” สเตฟาน สโตจาโนวิช ผู้รักษาประตูทีม เรด สตาร์ ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าเสาในวันนั้นกล่าว
ในที่สุดสถานการณ์ที่เหมือนหม้อต้มน้ำร้อนก็ปะทุถึงจุดเดือดก่อนเสียงนกหวีดจะดังเพียงไม่กี่นาที เมื่อกลุ่มแฟนบอลดินาโม ซาเกร็บ พังรั้วที่กั้นระหว่างอัฒจันทร์กับสนามลง ก่อนที่จะกรูกันลงมาเต็มพื้นที่สนาม เป้าหมายคือกลุ่มแฟนบอลเรดสตาร์ซึ่งประจำอยู่บนอัฒจันทร์ฝั่งตรงข้าม
เช่นเดียวกับกลุ่มแฟนบอลเรด สตาร์ เองที่ก็พังรั้วกั้นเพื่อจะลงไปประจัญบานกับกลุ่มแฟนบอลดินาโม ถึงแม้เจ้าหน้ที่ตำรวจจะพยายามสกัดกั้นโดยใช้ทั้งกระบองและแก๊สน้ำตาจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกับคลื่นมวลชนอันมหาศาลได้
“มันคือความโกลาหล มีการเขวี้ยงหินกันตลอดเวลา รวมถึงแก๊สน้ำตาที่ฟุ้งกระจายไปทั่วสนาม ในตอนนั้นชัดเจนแล้วว่าการแข่งขันนัดนี้จะไม่เกิดขึ้น” สโคลาฟ สครินชา อดีตกองกลางทีมดินาโม ซาเกร็บ ที่อยู่ในสนามวันดังกล่าวเผย
ท่ามกลางความวุ่นวายที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป บรรดานักเตะของทั้งสองทีมต่างทยอยวิ่งหนีตายเข้าไปในอุโมงค์เพื่อกลับสู่ห้องแต่งตัว ทว่าก็มีนักเตะบางคนที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในสนาม หนึ่งในนั้นคือ ซโวนิเมียร์ โบบัน นักเตะตำนานแห่งทีมชาติโครเอเชีย และสโมสรเอซี มิลาน ซึ่งขณะนั้นยังค้าแข้งอยู่กับดินาโม ซาเกร็บ
“ผมเห็นว่าตำรวจปฏิบัติต่อแฟนบอลทีมเราอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขามุ่งแต่จะทำร้ายแฟนบอลทีมเราโดยไม่สนใจที่จะห้ามปรามฝ่าย เรด สตาร์ เลย เช่นเดียวกับที่ชาวเซิร์บเอาเปรียบเชื้อชาติอื่น ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งนี้มากๆ และจะไม่ยอมให้มันเป็นแบบนั้นอีกต่อไป” โบบัน กล่าว
หนึ่งในวีรกรรมที่ทำให้ชื่อของ โบบัน โด่งดังไปทั่วโลก ไม่ใช่ในฐานะยอดนักเตะ แต่เป็นในฐานะของคนธรรมดาคนหนึ่งผู้มีความกล้าในการลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้กับการกดขี่ทั้งปวงที่ยูโกสลาเวียภายใต้การนำของ มิโลเชวิช กดขี่ชาวโครแอทมาโดยตลอด คือการที่เขากระโดดเตะ “กังฟูคิก” ใส่ เรฟิค อาเมโตวิค เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเข้ามาทำหน้าที่หยุดการจลาจลในสนาม
“ผมเห็นตำรวจคนนั้นกำลังทำร้ายแฟนบอลของเรา ผมเลยพยายามเข้าไปช่วยเขา”
“ผมเป็นบุคคลสาธารณะที่พร้อมจะแลกด้วยชื่อเสียง เงินทอง และชีวิต เพื่ออุดมการณ์ของชาวโครแอท” โบบัน กล่าวกับ CNN หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว
ถึงแม้ในสมองของ โบบัน ขณะที่กำลังกังฟูคิกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีเรื่องการเมืองเจือปนอยู่เลย เขาเพียงแค่อยากปกป้องเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่จากภาพถ่ายที่ออกมามันได้สะท้อนไปถึงจิตวิญญาณของชาวโครแอททุกคนว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีความกล้าเช่นเดียวกับ โบบัน กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับอิทธิพลของชาวเซิร์บที่กดขี่ชาวโครแอทภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวีย
หลังจากที่ โบบัน กระโดดเตะใส่ตำรวจนายดังกล่าวเสร็จ เขาก็กลายเป็นเป้าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและแฟนบอลเรดสตาร์กรูกันเข้ามาทำร้ายทันที แต่สุดท้าย โบบัน ก็ได้โล่มนุษย์ของแฟนบอลดินาโมช่วยให้เขารอดผ่านสมรภูมิ Maksimir มาได้
ผ่านไปกว่าหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่เหตุการณ์จลาจลครั้งนี้จะถูกควบคุมได้สำเร็จ เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่จำนวนผู้บาดเจ็บนั้นมีมากกว่า 500 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 78 คน และมีแฟนบอล 65 คนถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดี
“เหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนภาพขัดแย้งในประเทศยูโกสลาเวีย ณ ขณะนั้นได้เป็นอย่างดี” อีกหนึ่งความเห็นของ โบบัน
สู่วันที่เอกราชเบ่งบาน
ถึงแม้ว่าสื่อมวลชนของประเทศยูโกสลาเวียในขณะนั้น จะพยายามนำเสนอข่าวในแง่มุมที่ว่าเหตุการณ์จลาจล Maksimir นั้นเป็นแผนการอันแยบยลที่รัฐบาลใหม่ของประเทศโครเอเชีย ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์วางเอาไว้ เพื่อจุดชนวนสร้างสถานการณ์ ให้ประชาชนแข็งข้อกับยูโกสลาเวีย และหวังที่จะประกาศตัวเองเป็นเอกราชก็ตาม เพื่อต้องการที่จะลดแรงกระเพื่อมในหมู่มวลชนชาวโครแอท
ทว่าดูเหมือนจะไม่ทันการเสียแล้ว จลาจล Maksimir และลูกเตะกังฟูคิกของ โบบัน ได้กลายเป็นเหมือนไฟไหม้ฟางที่ลามไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปลุกจิตวิญญาณนักสู้ในใจชาวโครแอทให้โชติช่วงขึ้นมา
ถึงแม้จะไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือชนวนเริ่มต้นของสงครามปลดแอกโครเอเชีย เพราะหลังจากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่ช่วยโหมไฟให้แรงขึ้น เช่น ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน แฟนบอลของทีม ไฮดุ๊ก สปลิท ได้เผาธงชาติยูโกสลาเวีย ก่อนจะร้องเพลงปลดแอกเพื่อเอกราชในเกมลีกเกมหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการที่ประเทศโครเอเชียได้รับเอกราช
“เหตุการณ์จลาจลกังกล่าวคือตัวเร่งปฏิกริยาทางสังคม และปลุกจิตใจที่โดนกดทับของชาวโครแอทให้ลุกขึ้นสู้ ซึ่งสุดท้ายมันได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” กัล คริน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แห่ง University of Zagreb ให้ความเห็น
“หลังจากที่ชาวโครแอทได้เห็นเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว บอกได้เลยว่าหัวใจของพวกเขาตอนนั้นโคตรพร้อมที่จะสู้” ความเห็นของ แฟรงก์ คลินโฟเออร์ คอลัมนิสต์ของ Croatia Week
กล่าวได้ว่าเหตุการณ์จลาจล Maksimir เปรียบเสมือนระฆังเริ่มต้นที่นำไปสู่สงครามปลดแอกประเทศโครเอเชียซึ่งดำเนินในช่วงปี 1992-1995 ซึ่งถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวจะมีชาวโครเอเชียเสียชีวิตไปมากกว่า 20,000 คน จากการที่ยูโกสลาเวียของ มิโลเชวิช พยายามจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโครแอท แต่ในที่สุดพวกเขาก็ได้รับชัยชนะ และประกาศตัวเองเป็นประเทศเอกราชในปี 1995
ไม่ใช่แค่โครเอเชียเท่านั้น แต่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกกดขี่จาก “ลัทธิเซิร์บเป็นใหญ่” ในยูโกสลาเวียก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้ทำสงครามเพื่อปลดแอกเอกราชเช่นเดียวกัน เช่น สงครามแบ่งแยกบอสเนียฯ, สงครามมาซิโดเนีย, สงครามโคโซโว เป็นต้น จนในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของประเทศยูโกสลาเวีย
สงครามอดีตยูโกสลาเวียถูกเรียกว่าเป็นความขัดแย้งอันนองเลือดที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติ และครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ถูกตัดสินว่ามีลักษณะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นทางการ บุคคลสำคัญจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมสงครามในเวลาต่อมา
ศูนย์เพื่อความยุติธรรมระหว่างประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน รายงานว่าสงครามยูโกสลาเวียคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 140,000 ราย
ส่วน มิโลเชวิช ผู้นำเผด็จการแห่งยูโกสลาเวีย หลังจากที่หมดอำนาจลงก็ถูกส่งตัวไปพิจารณาคดีโดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia: ICTY) ภายใต้สหประชาชาติ ที่ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะอาชญากรทางการเมืองที่ก่อให้เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เขาเสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลวเสียก่อนได้รับการลงโทษ
ในขณะที่ โบบัน หนึ่งในบุคคลสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าลูกเตะกังฟูคิกครั้งนั้นจะทำลายโอกาสในการติดทีมชาติยูโกสลาเวียไปเล่นฟุตบอลโลกปี 1990 แต่เขาก็กลายเป็นฮีโร่ของชาวโครแอททั้งชาติ โดยทางรัฐบาลโครเอเชียได้มอบรางวัล “แพนธีออน” ซึ่งแสดงถึงฐานะวีรบุรุษของประเทศให้กับเขา
หลังจากฝุ่นควันแห่งสงครามจางหาย ด้านนอกของสนามกีฬา Maksimir Stadium ก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 13 พฤษภาคม 1990 พร้อมสลักข้อความไว้ว่า
“'ถึงแฟน ๆ ดินาโมทุกคนที่เป็นผู้เริ่มสงครามเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1990 และจบลงด้วยการสละชีวิตของพวกเขาบนแท่นบูชาแห่งแผ่นดินบ้านเกิดของพวกเราชาวโครเอเชีย”
แค่ข้อความสั้น ๆ นี่ก็บ่งบอกได้แล้วว่า… เหตุการณ์ครั้งนั้นสำคัญต่อชาวโครแอททั้งชาติแค่ไหน
แหล่งอ้างอิง:
https://balkanist.net/the-maksimir-myth-25-years-since-the-symbolic-dissolution-of-socialist-yugoslavia/
https://sportstoft.com/soccer/30-years-on-from-the-dinamo-zagreb-v-red-star-belgrade-riot/
https://www.euronews.com/2020/05/13/red-star-belgrade-vs-dinamo-zagreb-the-football-match-that-started-a-war
https://www.independent.co.uk/sport/football/international/croatia-v-serbia-rematch-memories-riots-battles-and-war-crimes-8544821.html
https://thesefootballtimes.co/2018/07/10/the-freedom-and-fire-of-croatias-unique-relationship-with-midfield-generals/