ในโลกฟุตบอล ณ ขณะนี้ ไม่มีทีมชาติใดจะทำให้เกิดความอิจฉาเบา ๆ ในตำแหน่งเพชฌฆาตประจำทีมไปได้มากกว่า ไนจีเรีย โดยเฉพาะการมี วิคตอร์ โอซิเมน ศูนย์หน้าระดับสั่นสะเทือนกัลโช เซเรีย อา, เคเลชี่ อิเฮียนาโช่ หัวหอกของเลสเตอร์ ซิตี้, มอยส์ ซิมง กองหน้าของล็องส์ หรือ ปอล โอนูอาชู นักเตะใหม่ของเซาแธมป์ตัน ที่เคยฉกาจฉกรรจ์กับ ราซิ่ง เกงค์
กระนั้นที่อาจทำให้เกิดความอิจฉาไปมากกว่านั้นคือในระดับความหวังใหม่ที่ไนจีเรียก็ไม่ได้ขาด พวกเขาสามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ โดยหนุ่มน้อยวัยนมแตกพานที่น่าจับตามองคนนี้มีชื่อว่า “วิคเตอร์ โบนิเฟซ (Victor Boniface)” สมบัติชิ้นงามของ อูนิยง แซงต์-ชิลลัวส์ (Royale Union Saint-Gilloise) หรือ “อูแอสเช (USG)” ที่กำลังทำผลงานสุดสะเด่าในเวทีฟุตบอลระดับทวีปถ้วยเล็กอยู่ตอนนี้
ที่สำคัญเขาได้รับสมญาจากสื่อว่า “เดอะ นิว โอซิเมน” อีกด้วย แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ในรายละเอียดกลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะโอซิเมนยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ แต่โบนิเฟซกลับลงต่ำมาเชื่อม วิ่งทำทาง แอสซิสต์ หรือเล่นเป็นกองกลางตัวรุก ซึ่งนับว่ามีวิถีการเล่นที่แปลกตาและขัดกับสมญาอย่างมาก
ร่วมตีประเด็นการ “เน้นมีส่วนร่วม ไม่เน้นยิง” นี้ ไปพร้อมกับเรา
สร้างชื่อได้ แม้ไม่เน้นยิง
วิคเตอร์ โบนิเฟซ โอโค (Victor Boniface Okoh) เกิดในปี ค.ศ. 2000 ที่มลรัฐออนโด (Ondo State) ประเทศไนจีเรีย ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงอาบูยาไปทางตะวันตกประมาณ 500 กิโลเมตร (ประมาณขับรถจากกรุงเทพฯ ไป ตาก) ซึ่งก็เหมือนเด็กชาวแอฟริกาทั่วไปที่ความยากจนข้นแค้นแสนสาหัสเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของชีวิต
และเขาก็หาเวลาว่างมาเตะฟุตบอลกับมิตรสหายตามข้างถนนมาตลอด ก่อนที่ “เรอัล แซฟไฟร์ (Real Sapphire)” สโมสรฟุตบอลระดับอีลีตของประเทศ ที่ตั้งอยู่ในนครลากอส มลรัฐลากอส ด้วยการบริหารจัดการของเศรษฐีชาวอังกฤษ-ไนจีเรีย นาม แฟรงค์ ปีเตอร์ส (Frank Peters) จะเห็นแวว และดึงโบนิเฟซไปร่วมอคาเดมีของสโมสรที่กำลังก่อร่างสร้างตัว
และที่น่าสนใจคือ สโมสรแห่งนี้มีปณิธานอย่างแรงกล้าในการ “เน้นปั้น” เพื่อส่งออกพ่อค้าแข้งไปยังต่างประเทศ แต่เน้นปั้นที่ว่าดันเป็นการปั้นแต่ “ศูนย์หน้า” ล้วน ๆ คือใครที่เล็งเห็นว่าพร้อมแล้วก็เตรียมเก้บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าไปผจญภัยในที่ที่การแข่งขันเข้มข้นกว่าในทันที ซึ่งหัวหอกที่ปั้นมาและพอมีชื่อเสียง (ในประเทศ) เช่น ชินอนโซ โอฟโฟร์ (Chinonso Offor), โทซิน ไอเยคุน (Tosin Aiyegun) และ อาเดเคเล อาคินเยมี (Adeleke Akinyemi)
แต่ไม่ใช่กับโบนิเฟซ เพราะการมาถึงของเขาเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 1000 ปี เพราะนอกจากรูปร่างที่มีกล้ามเป็นมัด ๆ เหนือกว่าเพื่อนร่วมรุ่น ในรายละเอียดการเล่น เขาไม่ได้ “ตะบี้ตะบัยสับไก” ยิงลูกเดียวโดยไม่สนสี่สนแปดใด ๆ แบบที่นักเตะแอฟริกาส่วนใหญ่ทำเพื่อ “หาแสง” ให้กับตนเอง แต่โบนิเฟซยังพยายามมีส่วนร่วมกับเกมแทบจะทุกจังหวะอีกด้วย
ว่ากันว่า ไปด้วยกัน ไปได้ไกล แน่นอนว่าการเล่นแบบใจกว้างดั่งมหาสมุทรของเขาทำให้ “โบโด กลิมท์ (FK Bodø/Glimt)” สโมสรระดับกลางตารางแห่งศึกเอลีเตอเซเรียน นอร์เวย์ เข้ามาติดต่อกับเรอัล แซฟไฟร์ เพื่อนำตัวเขาไปร่วมทีม เพื่อยกระดับสโมสรไปอีกขั้น และแน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธโอกาสอันดีงามเช่นนี้ไปได้
ซึ่งดีลนี้เป็นการไปช้อนดีลมาจาก “วาเลเรนกา (Vålerenga Fotball)” ทีมในระดับเดียวกันมาอีกทอดหนึ่ง นั่นเพราะวาเลเรนกามองว่าต้นสังกัดเดิมของโบนิเฟซขูดรีดกันเกินไป ทั้งที่นักเตะยังอายุแค่ 18 ปี และร่างกายยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ฟุตบอลระดับสูงมุ่งมาดไว้
ภายหลัง รอนนี ไดรา (Ronny Deila) อดีตเฮดโค้ชของวาเลเรนกาถึงขนาดบ่นอุบเสียดายหอกไนจีเรียคนนี้ ความว่า “ผมไม่น่าพลาดเลย ผมผิดพลาดแบบสุด ๆ ที่ไม่ยอมเซ็นเขา (โบนิเฟซ) มาร่วมทัพ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะไปในจุดที่พวกเขา (โบโด กลิมท์) ยืนอยู่ก็เป็นได้”
และการมาร่วมทัพพลพรรคโบโด กลิมท์ นี้เอง ทำให้เขาได้พบเจอกับสิ่งที่เป็นทั้ง หวานอมขมกลืน และแสงสว่างปลายอุโมงค์ อย่างไม่น่าเชื่อ
ลูปนรก ประเดี๋ยวเจ็บ ประเดี๋ยวเทพ
การหอบข้าวหอบของเดินทางมายังเทศบาลเมืองโบโด เขตปกครองส่วนภูมิภาคนอร์ทลันด์ ประเทศนอร์เวย์ครั้งนี้ ในช่วงแรกเขาประสบพบเจอกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการค้าแข้งอย่างคาดไม่ถึงว่าจะมาเร็วขนาดนี้
ในวัย 18 ปี สำหรับคนอื่น ๆ อาจจะเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตและฟื้นตัวได้เร็ว แต่ไม่ใช่กับโบนิเฟซ นั่นเพราะ อาการบาดเจ็บเริ่มถามหาตั้งแต่ลงซ้อมครั้งแรก ๆ ในถิ่นแอสป์ไมรา (Aspmyra Stadion) โดยเขาเจ็บ “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด หรือ เอซีแอล (Anterior cruciate ligament : ACL)” ทำให้ในฤดูกาล 2019 ส่วนใหญ่เขาต้องพักฟื้นรักษาอาการ กว่าจะได้มีโอกาสลงสนามก็เป็นช่วงกลางฤดูกาลไปแล้ว
แต่การกลับมาของเขาถือว่าไม่เสียของ 6 ประตูในเกมลีก 4 ประตูในยูโรป้า ลีก และจัดไป 2 แอสซิสต์ ถือได้ว่าคุ้มกับ จำนวนเงินที่ โบโด กลิมท์ จ่ายให้ เรอัล แซฟไฟร์ ซึ่งพอที่จะเห็นการผลิดอกออกผลขึ้นมาเล็กน้อย แถมเขายังประสานงานกับคนอื่น ๆ ในทีม ยกระดับสโมสรจากกลางตารางขึ้นมาเบียดลุ้นแชมป์อย่างน่าเหลือเชื่อ ก่อนที่จะได้รองแชมป์ไปแบบน่าเสียดาย
แต่ในฤดูกาลต่อมา (2020) เขากลับยังไม่ฟิตเต็มร้อย ส่วนมากต้องใช้เวลาอยู่บนม้านั่งสำรอง เนื่องจากสโมสรมีส่วนผสมที่ลงตัวจากการประสานงานของ คาสเปอร์ ยุงเคอร์ (Kasper Junker) ศูนย์หน้าโนเนมที่ซื้อมาจากลีกรองเดนมาร์ก กับสองปีกอย่าง เยนส์ เฮาเก้ (Jens Petter Hauge) และ ฟิลลิป ซิงเคอร์นาเกล (Philip Zinckernagel) ร่วมกันช่วยให้ โบโด กลิมท์ คว้าแชมป์ไปได้อย่างยิ่งใหญ่ แถมยังผลิตสกอร์ไปได้มากถึง 103 ลูกเลยทีเดียว
ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในฤดูกาล 2021 เขายังมาโชคร้ายบาดเจ็บเอซีแอลซ้ำสอง แต่คราวนี้หนักกว่าเดิมมาก เพราะแพทย์วินิจฉัยว่าอาจต้องพักไปยาว ๆ ข้ามปี เรียกได้ว่า บุญมี แต่กรรมบัง ก็มิปาน
แถมในตำแหน่งศูนย์หน้าที่เขาได้รับการวางบทบาทไว้หลังจากที่ยุงเคอร์ย้ายไปซบ อุราวะ เรด ไดมอนส์ นั้น สโมสรได้ไปคว้า เอริค โบไฮม์ (Erik Botheim) ดาวรุ่งจากโรเซนบอร์กมาแทนที่ แถมยังพบวิธีการทำให้ โอลา โซลบัคเคน (Ola Solbakken) ปีกปืนฝืดของทีมเฉิดฉายขึ้นมาอย่างถึงเครื่องอีกด้วย
โดยในฤดูกาลนั้น โบโด กลิมท์ สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้ แถมในช่วงท้ายฤดูกาลที่มีการแข่งขัน ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอร์เรนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม (แข่งคร่อมปฏิทินกัน) สโมสรยังได้ประกาศศักดาในเวทีฟุตบอลระดับทวีปด้วยการไล่ถลุง โรม่า ที่คุมทัพโดย โชเซ่ มูรินโญ่ ไปแบบไม่ไว้หน้าถึง 6-1 พร้อมกับเป็นการแจ้งเกิดของ โอลา โซลบัคเคน แบบเต็มตัว (ภายหลังโรม่าซื้อตัวไปร่วมทัพ)
ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นขาขึ้นของสโมสร สวนทางกับโบนิเฟซอย่างมาก ทำให้เขาถึงขนาดท้อแท้และไม่อยากทำอาชีพนักฟุตบอลอีกต่อไป ดังที่เขาเคยลั่นวาจากับ โอโยรา บาบาทุนเด (Ojora Babatunde) นักข่าวชื่อดังของไนจีเรีย (ประมาณ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ของไทย) ความว่า
“ผมหมดความท้าทายในฟุตบอลไปเลย ผมลืมไปแล้วว่าต้องดูแลตนเอง ผมกินทุกอย่างที่อยากกินและกลับไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ผมแค่อยากจะมีความสุขน่ะครับเลยไปปาร์ตี้และกินดื่มทุกอย่าง ผมดื่มนํ้าเปล่าไม่ได้เพราะอยากจะคลายทุกข์ที่มี ผมต้องทำจริง ๆ"
แต่สายรุ้งเกิดขึ้นหลังฟ้าคะนองฉันใด ชีวิตหลังดิ่งลงเหวย่อมรอคอยเวลาผลิบานฉันนั้น แน่นอนว่ากับชีวิตการค้าแข้งของโบนิเฟซก็เช่นกัน
หน้าเป้าเข้าระบบ
หลังจากนอนเตียงไปเกือบปี กายภาพบำบัดอีกเล็กน้อย เขาได้กลับมาประเดิมสนามอีกครั้งในแมตช์ถ้วยเล็กสุดของทวีป ในรอบเพลย์ออฟ ที่ต้องปะทะกับ กลาสโกว์ เซลติก โดยตอนนั้นทีมต้องเสี่ยงเข็นเขาลงสนามก่อนที่จะฟื้นฟูเสร็จสิ้นเพราะขาดแคลนศูนย์หน้าสำรองที่พอจะมีฝีมือทัดเทียมโบไฮม์สำหรับการเปลี่ยนเกมได้ (สำรองกับตัวจริงห่างชั้นกันเกินไป)
แม้จะไม่ได้ยืนพื้นเป็น 11 ตัวจริง แต่การค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนลงสนามก็ทำให้เขาได้ซึมซับการเล่นของทีมไปทีละน้อย โดยเฉพาะการอยู่ในบรรยากาศที่ทีมกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไล่ตบ เซลติก ไปได้ด้วยสกอร์รวม 5-1 ก่อนที่จะเขี่ย อาแซด อัลค์มาร์ ไปด้วยสกอร์รวม 4-3 ในรอบ 16 ทีม ก่อนจะมาโดนล้างแค้นโดย โรม่า ด้วยสกอร์รวม 2-5 ทั้งที่แมตช์แรก ชนะมา 2-1 ไปอย่างน่าเสียดาย
จนในช่วงกลางฤดูกาล สตาร์ที่อยู่กับทีมทยอยย้ายออกไปเกลี้ยง ทำให้ครั้งนี้โบนิเฟซได้รับการวางตำแหน่งให้เล่นเป็นหัวหอกแบบจริง ๆ จัง ๆ ร่วมกับปีกมากประสบการณ์นาม อมาห์ล เพลเลอกริโน (Amahl Pellegrino) และปีกดาวรุ่งนาม ฮูโก้ เวตเลเซ่น (Hugo Vetlesen)
ซึ่งการเล่นของเขาแตกต่างจากศูนย์หน้าหลายคนที่ผ่านมาของทีมโดยสิ้นเชิง นั่นคือเขาไม่ได้ยืนค้ำรอบอลจากปีกอย่างเดียว แต่จะลงมาช่วยเหลือในแดนตนเองหลาย ๆ จังหวะ พร้อมทั้งแบ่งเบาภาระปีกด้วยการให้ขยับเข้าในไปรอสอดยิง โดยเขาจะจ่ายบอลให้ หรือกระทั่งเรียกกองกลางให้เติมขึ้นไปทำเกมรุกเสียด้วยซ้ำ
แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าคุณภาพนักเตะตกลงไปมากจริง ๆ โบโด กลิมท์ ถึงได้เลือกที่จะ “เล่นแบบเน้นระบบทีม” มากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้เน้นบุกสถานเดียวแบบที่ทำมาตลอด 2 ปีหลัง และที่สำคัญกลับเป็นบรรดาปีกของทีมที่เติมขึ้นมายิงประตูกันเป็นว่าเล่น
แต่ใช่ว่าเขาจะเท้าบอดโดยไม่สนหน้าที่หลักของตนเอง เนื่องจากในแมตช์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบเพลย์ออฟ รอบแรก ที่ โบโด กลิมท์ ต้องพบกับ เคไอ คลากสวิก (KÍ Klaksvík) จากหมู่เกาะแฟโร โบนิเฟซได้ทำแฮตทริกไปอย่างสวยงาม ช่วยให้ทีมชนะไป 3-0 พร้อมสร้างสถิติเป็นนักเตะจากลีกนอร์เวย์คนแรกที่ตะบันแฮตทริกได้ในรายการนี้หลังจากปี 2007
พร้อมทั้งในรอบเพลย์ออฟ รอบที่ 2 เขายังโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมช่วยให้ทีมถล่ม ลินด์ฟีล์ด (Linfield) ยอดทีมจากไอร์แลนด์เหนือ ไป 8-0 แม้จะใส่สกอร์ไปเม็ดเดียวก็ตาม
และด้วยสองแมตช์นี้เอง 2 ล้านยูโรจาก อูนิยง แซงต์-ชิลลัวส์ (Royale Union Saint-Gilloise) หรือ “อูแอสเช (USG)” จึงได้มาประเคนถึงที่เพื่อเสริมแกร่งในการทวงแชมป์ลีกเบลเยียมอีกครั้ง โดยเขาย้ายเข้ามาแทนที่ เดนิส อุนดาฟ (Deniz Undav) ดาวซัลโวของทีมที่ต้องส่งคืนไบร์ทตันไป
ขอผงาดง้ำที่อูแอสเช
“โบนิเฟซเล่นได้อย่างถึงเครื่อง เขาเปี่ยมสกิลในการไปกับบอล และแสดงความมั่นในการดวลเดี่ยวกับคู่ต่อสู้มากกว่าใคร ๆ ในทีม … แต่จะดีกว่านี้มากหากเขาเร่งผลิตสกอร์ด้วย … ผมอยากให้เขาลงสนามทุกสัปดาห์ อยากชมเขาเล่นน่ะครับ … และก็หวังว่าเขาจะอยู่กับเรา (อูแอสเช) ไปยาว ๆ”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของ คาเรล เกเรร์ตส (Karel Geraerts) กุนซืออูแอสเช ที่ได้กล่าวถึงหัวหอกที่เขาเซ็นสัญญามากับมือ ว่าไม่มีความผิดหวังใด ๆ เลยกับผลงาน 19 ประตู 7 แอสซิสต์ ตลอด 40 แมตช์ในฤดูกาล 2022-23 นี้ แต่ก็มีสิ่งที่อยากให้เป็นเพิ่มเติมคือเขาเน้นมีส่วนร่วมกับเกมแต่ประตูไม่ค่อยยิงประตู ซึ่งหากเพิ่มเติมตรงนี้ได้ก็อาจเป็นผลดีกับทั้งสโมสรและกับตัวเขาเองอย่างมาก
ซึ่งก็นับว่าเป็นความคาดหวังที่สูงทีเดียว นั่นเพราะผลงานในยูโรป้า ลีก ของโบนิเฟซถือได้ว่าสวนทางกับคำกล่าวของโค้ชอย่างมาก เพราะเขายิงไปถึง 5 ประตู นำดาวซัลโวแบบยาวๆ ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะหยุดยิงไปดื้อ ๆ จนมาร์คัส แรชฟอร์ด แซงไปที่ 6 ประตูเรียบร้อย
กระนั้นการเล่นของเขาก็ถือได้ว่าช่วยทีมได้ไม่แตกต่างจากสมัยที่เล่นให้โบโด กลิมท์ แต่กับที่อูแอสเชมีระบบทีมที่ดีกว่ามาก ไม่เช่นนั้นอาจไม่สมฉายา “ไบร์ทตันแห่งเบลเยียม” ที่ได้รับมา (ไม่เกี่ยวกับที่มีเจ้าของชื่อ โทนี่ บลูม เหมือนกัน) ทำให้การเล่นของโบนิเฟซทรงประสิทธิภาพและยกระดับทีมได้มาก ขนาดที่ได้ลุ้นแชมป์ลีกไปพร้อมกับลุ้นแชมป์ระดับทวีปไปพร้อม ๆ กัน
มิหนำซ้ำเขายังไม่ได้เด่นคนเดียวแต่ยังพา ดันเต้ วานเซียร์ (Dante Vanzeir) กองหน้าโนเนมของสโมสร ให้พลิกขึ้นมายิงกระจุยกระจายในลีก พร้อมกับรับลูกชงจาก เท็ดดี้ เทวมา (Teddy Teuma) เปลี่ยนเป็นสกอร์ได้หลายต่อหลายครั้ง
ด้วยวัย 22 ปี หนทางยังอีกยาวไกลในวิถีทางแห่งฟุตบอลที่เขาต้องก้าวย่าง แต่วิถีอันใกล้คือการลุ้นแชมป์ลีกและยูโรป้า ลีก รวมถึงการพิจารณาถึงการเล่นในระดับ “ทีมชาติ” ที่เคยอาภัพมาก่อนสมัยแอฟริกัน คัพ ออฟ เนชันส์ U-20 เมื่อปี 2019 ที่เขาบาดเจ็บเอซีแอลจนต้องโบกมือลา โดยล่าสุดไนจีเรียชุดใหญ่ก็ได้เรียกตัวเขามารวมพลไปก่อนหน้านั้นในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2022 แต่โดนคัดออกไป
ตรงนี้เป็นสิ่งที่โบนิเฟซต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ว่าดีพอในการเป็น 1 ใน 26 รายชื่อของพลพรรค “ซูเปอร์อีเกิลส์” และดีพอในการยืนเคียงข้าง วิคตอร์ โอซิเมน ในตำแหน่งเพชฌฆาตอย่างเต็มภาคภูมิ
แหล่งอ้างอิง
https://www.pulsesports.ng/football/2023031311564470564/10-interesting-facts-about-nigerian-goal-machine-victor-boniface
https://www.footynaija.com.ng/2022/07/nigerian-attacker-breaks-15-years-ucl.html
https://thesport9ja.com.ng/2022/08/28/victor-boniface/
https://goalballlive.com/saint-gilloise-verdict-victor-boniface-performance/
https://scorenigeria.com.ng/victor-boniface-the-goat-of-union-st-gilloise/
https://www.archysport.com/2022/08/who-is-victor-boniface-the-unions-new-recruit-all-football/