ในฟุตบอล ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอร์เรนซ์ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่ เคเอเอ เกนต์ (KAA Gent) ชนะ อิสตันบูล บาซัคเซฮีร์ ไปแบบท่วมท้น 4-1 สกอร์รวม 5-2 นอกจากจะเป็นการสร้างสถิติผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลระดับทวีปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ยังได้มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่ออีกด้วย
นั่นคือการตะบันแฮตทริกมหาประลัยใน 3 นาที 25 วินาที ของ “กิฟต์ ออร์บัน (Gift Orban)” เพชฌฆาตเล็กพริกขี้หนูชาวไนจีเรีย ซึ่งเป็นการทำสถิติแฮททริกเร็วที่สุดในรายการ และเมื่อรวมทั้ง 3 ถ้วยระดับทวีป ออร์บันยังทำลายสถิติของ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่ทำไว้เมื่อปี 2022 ในเกมที่ ลิเวอร์พูล ตะบันใส่ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส คาบ้านไป 7-1
ซึ่งเมื่อพิจารณาไปที่เส้นทางการค้าแข้งของออร์บันนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีความ “ก้าวกระโดด” อย่างมาก ดั่งการเร่งความเร็วจาก 0 ไป 100 ด้วยระยะเวลาเสี้ยววินาที เพราะในเวลาไม่ถึง 2 ปี จากเด็กกะโปโลในอคาเดมีโนเนมจากไนจีเรีย อยู่ ๆ ก็โผล่พรวดขึ้นมาเฉิดฉายในฟุตบอลระดับสูงของโลกตะวันตก จนเป็นที่จับตามองของบรรดาทีมยักษ์ใหญ่และทีมชาติไนจีเรีย
ร่วมติดตามความเก่งกาจแบบ “ไม่มีปี่มีขลุ่ย” ของออร์บันไปพร้อมกับเรา
เก่งจริงไม่ต้องรอ
กิฟต์ เอ็มมานูเอล ออร์บัน (Gift Emmanuel Orban) ลืมตาดูโลกเมื่อปี 2002 ที่ประเทศไนจีเรีย แต่ชีวิตในวัยเด็กของเขาต้องย้ายไปย้ายมาระหว่างมาตุภูมิและโตโกตลอดเวลา ด้วยเหตุอันใดไม่อาจทราบได้ แต่เหตุผลหลัก ๆ อาจมาจากช้างเท้าหน้าของครอบครัวที่มีอาชีพที่ต้องโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นเพื่อมาเติมเต็มอนาคตที่ดีของครอบครัว นั่นทำให้เขาใช้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาราชการของโตโก ได้คล่องแคล่วกว่าภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษาราชการของไนจีเรีย
ซึ่งเขาก็เหมือนกับเด็กชายทั่วไปในหลายที่ทั่วทุกมุมโลกที่ฟุตบอลได้เข้าครอบครองจิตใจไปทั้ง 4 ห้อง ตั้งแต่จำความได้เขาก็ควบลูกหนังอยู่ข้างถนนกับเพื่อน ๆ ตลอดเวลาที่มีโอกาส โดยเขาเป็นคนที่ตัวเล็กมาก ๆ ถือได้ว่าเล็กกว่าค่าเฉลี่ยเด็กชายชาวแอฟริกันทั่วไป แต่กลับมีดีที่ “สปีด”
และในวันหนึ่ง ระหว่างที่กำลังควบลูกฟุตบอลกับสหายอย่างสนุกสนาน โอลา โฟว์เลอร์ (Ola Fowler) สเกาต์ชาวนอร์เวย์ประจำภูมิภาคแอฟริกา ได้เล็งเห็นว่าเด็กคนนี้นี่มีของและอนาคตไกลแน่นอน จึงเดินเข้าไปชักชวนให้มาอยู่ร่วมกัน
แน่นอนว่าเมื่อโชคทองหล่นทับขนาดนี้ มีหรือที่ใครจะปล่อยให้หลุดมือไป ในขั้นต้น เขาได้รับการฝากฝังให้ฝึกซ้อมในอคาเดมีสาขาที่ตั้งอยู่ที่โตโกในขั้นพื้นฐานไปก่อน และก็พบว่าออร์บันทำได้ดีอยู่แล้ว เรียกได้ว่าโฟว์เลอร์ยิ่งกว่าถูกหวย 30 ล้าน ที่ได้ค้นพบเพชรในตมจากข้างถนน
โดยปกติในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ส่วนมากความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นมักจะรับมือได้อย่างยากลำบาก บางรายถึงกับเสียผู้เสียคน แต่ไม่ใช่กับออร์บัน สถานที่ที่เปลี่ยนไปไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลง เพราะเขายังคงโชว์ฟอร์มสุดสะเด่า ควบบอลปาดบรรดาคนที่อยู่มาก่อน ถึงขนาดที่คนในอคาเดมีอุทานในใจว่า “ไอ้นี่เป็นใครวะ?!”
มีอยู่วันหนึ่ง เขากับทีมได้บินไปยังนครหลวงอูโย (Uyo) มลรัฐอากวาอีโบม (Akwa Ibom) ประเทศไนจีเรีย เพื่อเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชนของ อาททา อาเนเก (Atta Aneke) ซุเปอร์เอเยนต์แห่งไนจีเรีย (อารมณ์ประมาณ มิโน ไรโอลา และ ฆอร์เก เมนเดส แห่งแอฟริกา) และที่นี่มีบรรดาแมวมองจากลีกดัง ๆ มาสรรหาเด็ก ๆ ไปเข้าร่วมทีมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
และออร์บันก็ไม่ทำให้โฟว์เลอร์ผิดหวัง โดยโชว์ผลงานในการลงเล่นตำแหน่งศูนย์หน้า แต่กลับกระชากลากเลื้อยในระยะ 20 หลาได้แบบเหลือเชื่อ เรียกได้ว่าผิดวิสัยการเล่นตำแหน่งนี้ไปมากทีเดียว และยังได้ตะบันประตูอย่างถึงเครื่องได้อีกด้วย เรียกได้ว่าตำแหน่ง Man of the match ยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าฟอร์มขนาดนี้ มีหรือที่จะไม่ไปสะดุดตา ไบสัน (Bison FC) ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ของนักเตะที่ไปสเกาต์มาจากทั่วทุกสารทิศในแอฟริกาตะวันตก แต่สโมสรไม่ได้ลงแข่งระบบลีกอาชีพแต่อย่างใด โดยนักเตะในสังกัดจะมาจากการจัดทัวร์นาเมนต์ที่อูโย หรือเข้าแคมป์เก็บตัว โดยไม่มีการซื้อเข้ามา มีแต่การขายทำกำไรให้กับสโมสรในโลกตะวันตกล้วน ๆ และไม่ต้องสงสัย หัวเรือใหญ่ของสโมสรก็คือ อาททา อาเนเก นั่นเอง
ออร์บันแทบจะโดนจับเซ็นสัญญาทันที และที่พีกไปกว่านั้น ไม่กี่ชั่วอึดใจ ทอร์กีร์ ยาร์มานน์ (Torgeir Bjarmann) และ โทมาส ฟินสตัด (Thomas Finstad) สองแมวมองของ สตาเบ็ค (Stabæk) ทีมระดับเฟิร์ส ดิวิชยอน (1. divisjon) ซึ่งเป็นลีกรองของนอร์เวย์ ก็ขอทำสัญญามาใช้งานในทีมสำรอง เพื่อวัดระดับฝีเท้าก่อนว่าจะสามารถทนแดดทนฝนในคลาสบอลระดับแนวหน้าได้หรือไม่
แต่เพียงแค่การลงสนามไม่กี่แมตช์ เขากลับแสดงให้เห็นว่าเขามีดีกว่านั้น ทีมสำรองอาจเล็กไปกว่าระดับของเขา เพราะเขายิงประตูได้เท่ากับจำนวนที่ลงสนาม เรียกได้ว่าเกินคาดสำหรับสตาเบ็คเลยทีเดียว แต่กลับมีเรื่องสะดุดเล็กน้อยคือ วีซ่าทำงานในนอร์เวย์ของเขาหมดลง ดังนั้นตลอดช่วง 6 เดือนแรกของฤดูกาล 2022 เขาจึงต้องกลับไปดำเนินเรื่องที่ไนจีเรียอย่างเลี่ยงไม่ได้
สตาเบ็คได้ทำการเจรจาสัญญารูปแบบใหม่ จากที่แต่เดิมขอยืมตัวเฉย ๆ มาเป็น “Buy-out” หรือก็คือ “เช่าซื้อ” เพื่อมาเป็นทรัพย์สินของพลพรรค “เลือดน้ำเงิน” อย่างถาวร หากโชว์ฟอร์มได้ดีจริงๆ
และใครเลยจะรู้ว่าการเจรจาในครั้งนี้จะทำให้เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่ายอย่างหาที่สุดไม่ได้
โชว์ฟอร์มสุดตึงที่นอร์เวย์
หลังจากเคลียร์วีซ่าเสร็จเรียบร้อย เขาก็บินกลับมายังเบรัม (Bærum) กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ สถานที่ตั้งของสตาเบ็คอีกครั้งในกลางฤดูกาล 2022 แต่มาคราวนี้กลับได้รับความไว้วางใจด้วยการมีชื่อติดทีมชุดใหญ่ในทันที แต่ส่วนมาก ตามประสาดาวรุ่ง เขายังคุงต้องนั่งบนม้านั่งสำรองเสียเป็นส่วนใหญ่
กระนั้นเขาก็ได้รับการส่งลงสนามไปชิมลางอยู่เรื่อยๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศ โดยมักจะเปลี่ยนตัวกับ โอลิเวอร์ เอ็ดเวิร์ดเซน (Oliver Valaker Edvardsen) ศูนย์หน้าดาวรุ่งของทีมที่วัยใกล้ ๆ กับออร์บันแต่เจนสนามมากกว่า และถึงแม้ว่าจะสตาร์ทจากข้างสนาม แต่เมื่อได้โอกาสเขาก็ยิงประตูได้เรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเพิ่งจะมาแท้ ๆ แต่ใส่กอร์แซงเจ้าของที่เดิมไปเสียอย่างนั้น
และเมื่อดีลของเอ็ดเวิร์ดเซนระหว่าง สตาเบ็ค กับ โก อะเฮด อีเกิลส์ ลงตัว ทำให้สโมสรผลักดันออร์บันขึ้นมาเป็น 11 ตัวจริงในสนามอย่างถาวร พร้อมกับบทบาท “หัวหอกอิสระ” ที่ไม่จำเป็นต้องยืนค้ำ แต่สามารถลงมาเชื่อมเกม ถ่างออกปีกไปลากเลื้อย หรือสอดขึ้นมาทำประตูได้ เพราะร่างกายที่สูงเพียง 1.78 เมตรไม่เอื้ออำนวย
แต่การปรับเปลี่ยนเช่นนี้กลับส่งผลดีแบบ “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว” เพราะนอกจากจะทำให้สตาเบ็คบินสูง คว้าโควตาเลื่อนชั้นไปยังลีกสูงสุดได้ตั้งแต่ไก่โห่ ยังทำให้ออร์บันได้แสดงความเป็นเพชฌฆาตที่แท้จริง โดยหลังจากจบฤดูกาล เขาตะบันไป 16 ประตู ครองตำแหน่งดาวซัลโวร่วมกับ บาร์ด ฟินน์ (Bård Finne) แต่ลงเล่นน้อยกว่าไปเกือบครึ่งฤดูกาล
เรียกได้ว่า ผลงานของเขาโดดเด่นยิ่งกว่า เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ สตาร์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สมัยที่ลงสนามอยู่กับ ไบร์น (Bryne) ในลีกรองเมื่อช่วง 2016-17 เสียด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่ Verdens Gang หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของออสโล ได้ตั้งฉายาให้โอร์บันว่า “อัญมณีเลอค่าในตำแหน่งเพชฌฆาต” เลยทีเดียว
นับว่าเป็น “6 months miracle” ของแข้งไนจีเรียวัยหนุ่ม เพราะเขาเฉิดฉายขึ้นมาได้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้งที่เขาแทบจะไม่ได้ฝึกซ้อมอยู่ในอคาเดมีมายาวนานเหมือนแข้งคนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ แต่กลับทำผลงานแซงหน้าไปได้ไกล ฉีกทุกตำราของการฝึกซ้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบที่เป็นวัตรปฏิบัติของหลายสำนัก
ซึ่งสัญญาต้องเป็นสัญญา Buy-out ได้ทำงานทันที โดยยืดไปถึงปี 2026 เรียกได้ว่าอยู่กันไปยาว ๆ กระนั้นในโลกทุนนิยม เงินเป็นใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะอยากเก็บไว้กรำศึก เอลีตเซเรียน (Eliteserien) ฤดูกาล 2023 เพียงใด แต่จำนวนเงิน 3.30 ล้านยูโร จาก เคเอเอ เกนต์ แทบจะทำให้สตาเบ็กรีบขัดสีฉวีวรรณห่อของขวัญ ใส่พานไปให้ทันที
ซึ่งดีลดังกล่าวเป็นเหมือนกับการที่เกนต์ได้ “ของขวัญ” สมชื่อจริง ๆ
ของขวัญชิ้นโตหล่นใส่เกนต์
“ไอ้หมอนี่เป็นใคร แพงฉิบหายเลย”
“บ้าแน่ ๆ จ่ายไปขนาดนั้นกับกองหน้าลีกรอง”
“หมอนี่มีดีอะไรกับค่าตัวเกินจริงขนาดนี้”
ข้างต้นคือข้อครหาของแฟนบอล “ควายป่า” ที่เห็นจำนวนเงินที่สโมสรจ่ายไปเพื่อดึงตัวออร์บันเข้ามาร่วมทัพ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์และเพิ่งจะลงเล่นระดับอาชีพได้ไม่ถึงปี ยังไม่เคยสัมผัสบรรยากาศลีกสูงสุด แถมยังเข้ามาในตลาดหน้าหนาวที่โดยปกติมักจะต้องเป็นแข้งที่มีดีกรีหรือมีประสบการณ์มากพอในการช่วยทีม
แต่การตั้งข้อสงสัยได้หมดสิ้นไปตั้งแต่การประเดิมสนามของเขา ในแมตช์ที่พบกับ เวสเทอร์โล (K.V.C. Westerlo) ซึ่งเขาตะบันไป 2 เม็ด แถมเป็นการยิงเซฟแต้มในฐานะทีมเยือนที่ต่อลมหายใจให้เกนต์มีลุ้นแย่งโควตา ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีกด้วย
และที่สำคัญ ในแมช์เพลย์ออฟของ ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก ที่ต้องเปิดบ้านรับการมาเยือนของ คาราบัก (Qarabağ FK) ยอดทีมจากอาร์เซอร์ไบจาน ที่เแพ้มาก่อน 0-1 ก็เป็นออร์บันที่จัดไป 1 เม็ด ตีเสมอในเวลาจนต้องดวลจุดโทษ และก็เป็นเกนต์ที่ใจนิ่งกว่า ชนะไป 5-3 ผ่านเข้ารอบไปแบบหืดขึ้นคอ
ต่อมาก็เป็นเขาอีกเช่นกันที่ยิงประตูตีเสมอ อิสตันบูล บาซัคเซฮีร์ ในแมตช์แรกของรอบ 16 ทีมสุดท้าย ทำให้สามารถยื้อไว้ได้ด้วยสกอร์ 1-1 แถมก่อนหน้านั้นเขาเพิ่งจัดไป 1 ประตูใส่ อันเดอร์เลทช์ ยอดทีมแห่งเบลเยียม อีกด้วย
แต่ที่พีกไปกว่านั้นคือในเกมลีกที่ออกไปเยือน ซูลท์ วาเรเกม (S.V. Zulte Waregem) ออร์บันตะบันไปได้ถึง 4 ประตู ให้ทีมชนะไปท่วมท้น 6-2 ทั้งยังสร้างสถิติเป็นนักเตะจากเกนต์คนแรกในศตวรรษที่ 21 ที่ตะบันได้ถึง 4 ประตูในแมตช์เดียว
เท่านั้นยังไม่พอ 3 นาที 25 วินาที คือเวลาที่ใช้ในสนามสำหรับการตะบันแฮตทริกใส่บาซัคเซฮีร์ให้ทีมผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย เรียกได้ว่าจกาผลงานนี้ เกนต์เสมือนได้รับ “ของขวัญ” ชิ้นโต สมดั่งชื่อ “กิฟต์” ที่คุณแม่ได้ตั้งไว้ให้ ชนิดที่เรียกได้ว่าเปิดกล่องปุ๊ปรับโชคปั๊ป เสียจนทีมอื่น ๆ ต้องอิจฉาตาร้อนเลยทีเดียว
“นี่เป็นก้าวแรกของผมในวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง ผมยังไม่เคยยิงแฮตทริกมาก่อนเลยในฟุตบอลระดับทวีป แต่ผมจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน ผมจะตะบันต่อไปเรื่อย ๆ … 1 2 3 4 5 เม็ด ผมจะทำให้ได้ ซ้ายหรือขวาได้หมด ผมถนัดสองเท้า พร้อมใส่สกอร์อย่างไม่มีปัญหา แต่จริง ๆ ทีมชนะผมก็แฮปปี้แล้ว” ออร์บัน กล่าวอย่างภาคภูมิใจหลังจบแมตช์ดังกล่าวกับเว็บไวต์เกนต์
เท่านั้นยังไม่พอ เขาได้ “อ่อย” ไว้แบบเบา ๆ ว่าต้องการไปให้สูงที่สุด พร้อมเผยว่ามีเป้าหมายคืออยากไปเล่นในพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะต้องทุ่มเทสักเท่าไร ความว่า
“ผมต้องพยายามตามหาฟอร์มการเล่นที่ดีกว่านี้อีก เพราะความฝันของผมคือพรีเมียร์ลีก ผมต้องทำให้ได้ และมีหลายอย่างที่ผมต้องพัฒนาหากอยากไปให้ถึง”
บางครั้งชีวิตคนเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องค่อยเป็นค่อยไปแบบทำตามลำดับขั้นหรือชั้นปีเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าเสมอไป กลับกัน หากแน่จริง เก่งจริง เทพจริง ไม่ว่าจะหัวหงอกหัวดำย่อมสามารถสรรสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้ ไม่มีใครแก่เกินเรียนฉันใด ย่อมไม่มีใครเด็กเกินเทพฉันนั้น กระนั้นตอนนี้อาจกล่าวไม่ได้ทั้งหมดว่า “วัยวุฒิ” และ “การทำตามครรลอง” ไม่มีความสำคัญ หากแต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกให้เป็น “ข้อจำกัด” สำหรับการเค้นศักยภาพของปัจเจกเพื่อ ”ก้าวกระโดด” ให้สูงที่สุดดังที่วาดฝันไว้ได้ ซึ่ง กิฟต์ ออร์บัน อาจเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ ไม่มากก็น้อย
แหล่งอ้างอิง
https://khelnow.com/football/2023-03-world-football-uefa-who-is-gift-orban-fastest-player-hat-trick
https://punchng.com/eight-things-to-know-about-nigerias-newest-scoring-sensation-gift-orban/
https://www.uefa.com/uefaeuropaconferenceleague/news/0275-15133304429e-8ca1a0e6d9ac-1000--europa-conference-league-records-and-stats-clubs-players-mat/
https://www.pulsesports.ng/football/2023031317040163394/new-nigeria-star-gift-orban-reveals-premier-league-dream-after-making-gent-history
https://www.foottheball.com/players-in-focus/gift-orban-stats-profile-gent-nigeria-scout-report-transfer-news-analysis-potential/
https://www.premiumtimesng.com/sports/football/587694-orban-another-out-of-blues-gift-to-nigerian-football.html