Feature

เพา กาซอล - โคบี้ ไบรอันท์ : บทเรียนจากเหรียญทองโอลิมปิก สู่คู่หูมือทองแห่งเลเกอร์ส | Main Stand

"ฟังให้ดีนะเพา มึงแพ้เซลติกส์ มึงแพ้พวกเรา (ทีมชาติสหรัฐอเมริกา) ในรอบชิงเหรียญทอง มันไม่ควรเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีโว้ย"

 

นี่คือถ้อยคำที่ โคบี้ ไบรอันท์ เผยต่อ ลูอิส ฮาวส์ พร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จากคำถามที่ว่า "คุณมีเคล็ดลับอย่างไรในการกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมของคุณ ?" ซึ่งต่างจากภาพจำของโคบี้ที่เป็นคนเอาจริงเอาจังและละเอียดทุกกระเบียดนิ้วในสนาม สมกับฉายา "Black Mamba" อสรพิษร้ายที่พร้อมจะขย้ำศัตรูทุกทีมในยามที่ลงแข่ง

ย้อนกลับไปในอดีตอาจเป็นถ้อยคำที่ฟังดูโหดร้าย แต่นี่คือความปรารถนาดีที่โคบี้มีให้กับ เพา กาซอล ผู้เป็นทั้งเพื่อนร่วมทีม คู่หู และน้องชาย ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาตลอดเวลา 6 ปีที่เล่นร่วมกัน และคว้าความสำเร็จร่วมกันมามากมาย

หากในยุคแรกของโคบี้มี "แชค" แชคีล โอนีล เป็นคู่หู ... เพา กาซอล ก็ไม่ต่างจาก "โรบิน" คู่หูของ "แบทแมน" ในเวลาต่อมาเช่นกัน

แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เพากลายมาเป็นคู่หูของโคบี้ได้ และแบทแมนอย่างโคบี้สอนอะไรให้กับโรบินอย่างเพาบ้าง ? ติดตามเรื่องราวนี้จาก กฤตยชญ์ เรืองบำรุง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Find the Young Content Creator ในซีซั่น 1 ที่ผ่านมา

 

ดาวรุ่งเลือดกระทิง

หนึ่งในธรรมเนียมที่เกิดขึ้นก่อนเปิดฤดูกาล NBA ในทุกปีคือการดราฟต์ตัวผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ลีก ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดแค่ผู้เล่นชาวอเมริกันอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงนักกีฬาจากทวีปต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ที่หลายคนพิสูจน์ตัวเองแล้วในเวลาต่อมาว่ามีดีไม่แพ้กัน

ย้อนกลับไปในปี 2001 หนึ่งในผู้เล่นอิมพอร์ตที่ได้รับการจับตาเป็นอย่างมากในตอนนั้นคือชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่และปราดเปรียว ที่มาพร้อมด้วยดีกรีแชมป์จากลีกบ้านเกิดในประเทศสเปน เขาคนนั้นคือ เพา กาซอล จากสโมสรบาร์เซโลน่า 

หนุ่มชาวกาตาลันที่ประสบความสำเร็จมากมายในทวีปยุโรป ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกระดับตัวเองสู่เวทีระดับโลก และ NBA คือเป้าหมายและด่านที่สำคัญ

ทีมที่เลือกเขาในฐานะตัวดราฟต์อันดับ 3 ของปี 2001 คือ แอตแลนตา ฮอว์กส์ แต่ได้มีการเทรดสิทธิ์นั้นให้กับ เมมฟิส กริซลีส์ และเพียงแค่ปีแรก เพาก็คว้ารางวัลรุกกี้แห่งปีไปครองทันที จากผลงานเฉลี่ย 17.6 คะแนน และ 8.9 รีบาวด์ต่อเกม และยังรักษามาตรฐานได้อย่างต่อเนื่อง จนนำทีมเข้าถึงรอบเพลย์ออฟในหลายซีซั่น อีกทั้งเจ้าตัวยังถูกเลือกไปติดทีมออลสตาร์อีกด้วย

ทว่าจุดเปลี่ยนของชีวิตได้มาถึงในช่วงต้นปี 2008 เมื่อ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ที่กำลังต้องการผู้เล่นวงในอย่างเร่งด่วน ยื่นข้อเสนอขอเทรดเพามาอยู่กับทีม ซึ่งกริซลีส์รับข้อเสนอนี้ เพราะนอกจากผู้เล่นหลายคนที่ได้เป็นข้อแลกเปลี่ยนแล้วยังได้สิทธิ์ดราฟต์รอบแรกถึง 2 ครั้ง และมันเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างทีมขึ้นมาใหม่ได้

จากทีมเก่าที่โอกาสคว้าความสำเร็จแสนยากเย็น เพาก้าวเข้าสู่เมืองใหญ่ พร้อมทั้งความคาดหวังที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งที่แอลเอ ชายคนหนึ่งได้รอคอยการมาถึงพร้อมทั้งต้อนรับเขาด้วยคำถามที่ซ่อนเป้าหมายสำคัญไว้

 

บทเรียนแรกในสนาม

"คุณย้ายมาที่นี่เพื่ออะไร ? เป้าหมายของคุณคืออะไร ? ผมต้องการเป็นแชมป์ แชมป์เท่านั้น! ถ้าคุณอยากได้แชมป์มากับผม เราไปลุยด้วยกัน ไปคว้าแชมป์กัน แต่ถ้าคุณไม่มีใจจะคว้าแชมป์ คุณบอกผม ผมจะได้ไปหาคนอื่นมาร่วมทีม" 

นี่คือคำถามของโคบี้เมื่อได้พบกับเพาเป็นครั้งแรก 

หลังจากที่เลเกอร์สเคยมี แชค-โคบี้ เป็นคู่หูสุดแกร่งในช่วงต้นยุค 2000s การเทรดแชคสู่ ไมอามี ฮีต เมื่อปี 2004 ทำให้โคบี้ต้องก้าวขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ของทีม ซึ่งเจ้าตัวก็ขัดเกลาฝีมือจนกลายเป็นผู้นำของทีม เป็นผู้เล่นระดับออลสตาร์ และได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นตำนานคนต่อไปของ NBA

ทว่าเลเกอร์ส ณ เวลานั้นมีโคบี้ที่เป็นเสาหลักแค่คนเดียว ขณะที่ผู้เล่นคนอื่นก็ดูฝากความหวังได้ไม่มากนัก ทำให้ภาระที่แบกไว้หนักหนาสาหัสเป็นอย่างมาก แม้จะเก่งมากเพียงใด หากปราศจากเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยเหลือกันได้ โอกาสที่ทีมจะประสบความสำเร็จก็ลดลง จนโคบี้ประกาศขอให้ทีมเทรดตัวเขาเพื่อย้ายไปอยู่ทีมอื่น

เลเกอร์สพยายามหาคนมาเล่นร่วมกับโคบี้เพื่อนำทีมกลับสู่ความยิ่งใหญ่และรักษาเสาหลักของทีมไว้ โดยก่อนจะเป็นเพา คนที่เลเกอร์สต้องการตัวจริง ๆ คือ เควิน การ์เน็ตต์ ฟอร์เวิร์ดซูเปอร์สตาร์ ที่โดน บอสตัน เซลติกส์ แย่งไปสู่ทีม ทำให้โคบี้โมโหมาก เพราะเขาสนิทกับการ์เน็ตต์และอยากเล่นร่วมกันที่เลเกอร์สเป็นอย่างมาก ก่อนทีมจะได้ เพา กาซอล ที่เป็นเป้าหมายรองเข้ามาสู่ทีม

สำหรับเพา โคบี้รู้ถึงฝีมือและความสามารถของเขาเป็นอย่างดี แต่เพื่อที่จะวัดใจเกี่ยวกับเรื่องทัศนคติที่มี ทำให้โคบี้จำเป็นต้องทดสอบ อันที่จริงโคบี้เชื่อว่าการมาของเพานั้นไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย ด้วยความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่เติบโตจากวัฒนธรรมยุโรป ไม่มีสิ่งใดที่คว้ามาได้อย่างง่ายดาย ความเชื่อมั่นในจุดนี้จึงผลักดันให้ทั้งคู่พร้อมที่จะกอบกู้ทีมสู่ความสำเร็จอีกครั้ง 

แค่ร่วมงานกันเพียงไม่กี่เดือน เพากับโคบี้สามารถนำทีมเลเกอร์สไปถึงรอบชิงชนะเลิศในฐานะแชมป์สายตะวันตก แต่เรื่องเหลือเชื่อก็มาถึง เพราะแชมป์สายตะวันออกคือ บอสตัน เซลติกส์ ที่การ์เน็ตต์นำทัพ ยิ่งสองทีมนี้เคยมีประวัติห้ำหั่นกันเพื่อไล่ล่าหาความสำเร็จมาตั้งแต่อดีต ทำให้การเจอกันเป็นสิ่งที่พิเศษเอามาก ๆ

อย่างไรก็ตาม แชมป์ NBA ในปีนั้นคือเซลติกส์ ที่ความแข็งแกร่งและดุดันจากการ์เน็ตต์กลายเป็นปัจจัยตัดสิน เพาไม่สามารถหยุดการ์เน็ตต์ได้เลยจนกลายเป็นความเจ็บช้ำในใจ แต่โคบี้ก็เป็นอีกคนที่ไฟแค้นสุมอกไม่แพ้กัน เพราะเขาตัองเสียทั้งการ์เน็ตต์และแชมป์ให้กับเซลติกส์

และนี่คือจุดเริ่มต้นของบทเรียนที่มอบให้สองคนได้เก็บมันไว้ เพื่อผลักดันให้พวกเขาต้องแข็งแกร่งขึ้นไปอีกขั้น 

 

บทเรียนที่สองจาก "พี่ชาย"

ฤดูกาล 2007-08 ของ NBA จบลงไม่นาน ศึกใหญ่อีกรายการก็มาถึง นั่นคือมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

สปอตไลต์ในโอลิมปิกครั้งดังกล่าวถูกสาดส่องมายังทีมบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา กับ "Redeem Team" ที่มีภารกิจทวงคืนเหรียญทองซึ่งพลาดไปเมื่อ 4 ปีก่อนหน้า ทว่าทีมแม่นห่วงของสเปนก็ได้รับการจับตาไม่แพ้กัน และหนึ่งในคนสำคัญของทัพบาสกระทิงดุก็คือ เพา กาซอล

"เราเป็นเหมือนพี่น้องกัน เราสนิทกันมาก และผมดีใจกับเขามากที่เขาเล่นได้ดี เราสนิทกันมาก ๆ มันเลยเป็นงานหินนิดหน่อยที่ต้องมาแข่งกับเขา"

โคบี้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเพา ก่อนที่ทั้งคู่จะต้องดวลกันในโอลิมปิก  

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกินคาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะก่อนที่ทั้งสองทีมต้องเจอกัน โคบี้บอกกับเพื่อนร่วมทีมชาติสหรัฐอเมริกาว่า "จะจัดการเพา" ทำให้คนในทีมต่างตกใจกับสิ่งที่เขาพูด เพราะทั้งโคบี้และเพาต่างสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก จนยากที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ได้ 

ทว่าโคบี้ก็ยังคงเป็นโคบี้ ทุกคำที่พูดหมายความตามนั้นเสมอ เพราะเพียงแค่เริ่มเกม ทันทีที่โคบี้เห็นว่าเพากำลังเข้ามาประกบก็พุ่งชนใส่เต็มแรง อันถือเป็นสัญญาณเตือนให้เพารับรู้ว่า เขาต้องการชัยชนะโดยไม่สนว่าคู่แข่งตรงหน้าสนิทกันแค่ไหน

ในโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 สหรัฐอเมริกาพบกันสเปน 2 นัด ทั้งในรอบแบ่งกลุ่มที่สหรัฐอเมริกาชนะไป 119-82 และรอบชิงชนะเลิศ ที่ย้ำแค้นไปได้อีกด้วยสกอร์ 118-107

ภารกิจของ Redeem Team ลุล่วง สวนทางกับสเปนที่ต้องจำยอมรับเหรียญเงินไปอย่างเจ็บปวด

 

จากเหรียญทองโอลิมปิก สู่คู่หูมือทอง

หลังการผจญภัยในแดนมังกรจบลง พวกเขาหวนกลับสู่มหานครลอสแอนเจลิสเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ อันเป็นบททดสอบหัวจิตหัวใจของทีมเลเกอร์สว่า พวกเขายังคงกระหายที่จะประสบความสำเร็จอยู่หรือไม่ หลังพบกับความพ่ายแพ้มาในฤดูกาลก่อนหน้า

แต่เพียงแค่เดินมาถึงล็อกเกอร์ของตัวเองก่อนการซ้อม เพาก็พบกับสิ่งที่ทำให้ตัวเองฉุนจัด ทำเอาเดินตรงเข้าไปพร้อมหาเรื่องกับผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในทีมเดียวกันทันที คนที่ว่านั้นคือโคบี้ที่เอาเหรียญทองโอลิมปิกของตัวเองมาวางไว้ตรงล็อกเกอร์ของเพา

สิ่งที่โคบี้ทำลงไปไม่ใช่การเหยียดหยามหรือดูถูก เพราะเขาได้พูดประโยคเดียวกับที่เล่าให้ลูอิสฟังต่อ โคบี้รู้ว่าเพามีทักษะและความสามารถ แต่สิ่งที่เพายังขาดนั้นคือจิตใจที่กระหายในชัยชนะ 

โคบี้ได้แสดงให้เห็นว่า เขาชนเพาเพื่อบ่งบอกถึงความต้องการของตัวเอง และผลักดันความล้มเหลวให้เป็นพลังในการล้มเพาและสเปนลงได้

จากคำพูดที่โคบี้ได้กล่าวทำให้เพาใจเย็นลงและคิดทบทวนตัวเองอีกครั้ง ซึ่งมันผลักดันให้เขาต้องแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม และเมื่อฤดูกาล 2008-09 ได้เริ่มขึ้น ทั้งสองต่างนำบทเรียนที่ได้รับ ทั้งความเจ็บปวดจากความพ่ายแพ้และสิ่งเตือนใจจากเหรียญทอง หล่อหลอมจนนำมาซึ่งมิตรภาพและศักยภาพ ทำให้เลเกอร์สโชว์ฟอร์มดี กระทั่งคว้าแชมป์ NBA ซีซั่นดังกล่าวได้สำเร็จ จากชัยชนะเหนือ ออร์แลนโด แมจิก

แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะเลเกอร์สต้องป้องกันแชมป์ในฤดูกาล 2009-10 ซึ่งพวกเขาเข้าไปถึงรอบชิงได้อีกครั้ง แถมคู่ต่อสู้ในรอบชิงยังเป็นเซลติกส์ของการ์เน็ตต์ที่เคยยัดเยียดความปราชัยให้เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า

บทเรียนแรกที่เคยผิดหวังได้ย้อนกลับมาทดสอบพวกเขาอีกครั้ง ทว่ารอบนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะกับเพาที่มุ่งมั่นเป็นพิเศษ เพราะการล้มการ์เน็ตต์ได้จะลบล้างความผิดหวังในอดีตที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งรูปเกมเป็นไปอย่างสูสี ก่อนที่เลเกอร์สจะล้างแค้นพิชิตเซลติกส์ได้สำเร็จ

นี่คือเรื่องราวแสนพิเศษที่สองยอดฝีมือแห่งวงการบาสเกตบอลได้เรียนรู้ เหรียญทองที่เป็นความสำเร็จของคนหนึ่งและความผิดหวังของอีกคน ทำให้พวกเขาเกิดแรงผลักดันซึ่งกันและกันจนประสบความสำเร็จ และทำให้พวกเขาเป็นตำนาน

 

บทความโดย กฤตยชญ์ เรืองบำรุง

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ