Feature

เสน่ห์ลูกหนังที่จางหาย : ทำไมปัจจุบันไม่ค่อยมีฉายานักเตะไทย | Ball Thai Stand

สีสันของฟุตบอลไทยมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเกมในสนามอันรวดเร็ว เข้มข้นเร้าใจในการแย่งชิงชัย บรรยากาศเชียร์สุดคึกคักจากเสียงกลอง การขับร้องเพลงเชียร์ของแฟนบอล 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับฟุตบอลไทยไม่น้อยคือ “ฉายานักเตะ” ที่ในอดีตมีการนำเอาความเก่งกาจ เอกลักษณ์เฉพาะตัว มาตั้งเป็นฉายาให้นักเตะ เพื่อให้แฟนบอลจดจำได้ง่าย 

ไม่ว่าจะเป็น “เพชฌฆาตหน้าหยก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยอดกองหน้าที่ดีที่สุดตลอดกาลของเมืองไทย “หลอ เรดาร์” พิชัย คงศรี อดีตดาวยิงจอมโขกของทีมชาติไทยและธ.กรุงเทพ หรือจะเป็น “สิงโตเผือกแห่งปากน้ำโพ” วิฑูรย์​ กิจมงคงศักดิ์ ยอดนักเตะของทีมชาติไทยอีกคน นี่คือตัวอย่างฉายานักเตะไทยที่ถือเป็นตำนาน

แต่ปัจจุบัน “ฉายา” นักเตะไทยค่อยๆ หายไป ส่วนใหญ่มักจะถูกเรียกชื่อเล่นมากกว่า แล้วทำไม “ฉายา” นักเตะไทย ถึงหายไป ติดตามกับ BallThaiStand 


จุดเริ่มต้นของการตั้งฉายานักเตะ

ในอดีตนักเขียนสามารถสร้างสรรค์คำให้มีความสวยงาม เพื่อให้ผู้อ่านมีความสุขและเกิดจินตนาการ ทุกตัวอักษรต้องใช้ความปราณีตและใช้ชั้นเชิงในการเขียนมากเป็นพิเศษ 

การตั้งฉายานักเตะต้องใช้เวลากลั่นกรอง คิด วิเคราะห์ พิจารณาลักษณะของนักเตะแต่ละคนอย่างละเอียดก่อนนำไปเขียน เพื่อให้แฟนบอลจดจำง่าย 

การตั้งฉายานักเตะบางครั้งได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ซึ่งมีผู้สื่อข่าวรุ่นเก๋าหลายคนนำมาปรับใช้ตั้งฉายานักเตะไทยจนเป็นเอกลักษณ์ กลายเป็นฉายาสุดคลาสสิกจนถึงปัจจุบัน


หนึ่งในผู้ตั้งฉายาให้นักเตะดังในอดีตจนเป็นที่จดจำของแฟนบอลไทยคือ เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ หรือ "ซ้ง บางพุทรา" ตำนานสื่อกีฬาฟุตบอลไทยที่คอยตอบปัญหาลูกหนังในนิตยสาร "ฟุตบอลสยาม" จนโด่งดังไปทั้งบ้านทั้งเมืองครองใจแฟนฟุตบอลและนักเตะไทย 

“ซ้ง บางพุทรา” เล่าที่มาของการตั้งฉายาสุดคลาสสิกให้นักเตะไทยในอดีตหลายคนอย่างน่าสนใจ

“ต่างประเทศเขาก็ตั้งฉายาให้นักบอล ผมเลยเอามาตั้งบ้าง เราก็ดูจากบุคลิกของนักเตะคนนั้นว่ามีจุดเด่นอะไร”  

“อย่างที่ผมตั้งดังๆก็ วิฑูรย์​ กิจมงคงศักดิ์ เพราะเขาตัวขาว เป็นคนนครสวรรค์ ที่นั่นเวลามีงานประจำปีจะมีการเต้นแห่เชิดสิงโต ผมเลยนำมารวมกันแล้วตั้งฉายาให้เขาว่า สิงโตเผือกแห่งปากน้ำโพ” 

 

“ส่วน มาราโดน่ากล้วยน้ำไท สมชาย ทรัพย์เพิ่ม ผมตั้งแต่ตอน ดิเอโก มาราโดน่า กำลังดัง แล้วเขาหุ่นคล้ายๆกัน สมชาย เล่นอยู่ ม.กรุงเทพ ที่อยู่บริเวณกล้วยน้ำไทเลยเป็นที่มาของฉายานี้”

 

“ฉายาของ อำนาจ เฉลิมชวลิต ที่มีมาจากตอนไปแข่งต่างประเทศ โดนชนหัวแตกแต่ลุกมาพันศรีษะแล้วเล่นต่อ ผมเอารูปขึ้นปกหนังสือแล้วตั้งฉายาให้เลยว่า นายพันกระดูกเหล็ก ” 

“ฉายาแต่ละคนผมคิดไม่นาน เหมือนคนแต่งเพลง มันเกิดเพาเวอร์ที่จะแต่งเพลง พอคิดได้ก็เขียนเลย เราดูบุคลิกหลายอย่าง ดูท่าทางนักเตะแต่ละคนว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้แล้วเขียน”

“ถ้ามันไม่เวิร์คมันก็หายไปเอง แต่ถ้าเวิร์คคนก็เอาไปใช้ต่อ”


สิ่งสำคัญในการตั้งฉายานักเตะ

การตั้งฉายานักเตะนอกจากจะต้องใช้คำที่กระชับ แต่สามารถบ่งบอกลักษณะนักเตะคนนั้นได้ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ผู้ตั้งฉายาให้นักเตะต้องคำนึงคือ การให้เกียรตินักเตะเสมอ 

นอกจากนี้นักเตะที่ถูกตั้งฉายาหลายๆ คน ส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่มีดีกรีทีมชาติไทย ดังนั้นผู้เขียนให้มีความโดดเด่น น่าเกรงขาม และจดจำได้ง่ายๆ 

นอกจากความพิถีพิถันในการเขียน ผู้สื่อข่าวในอดีตต่างคลุกคลีอยู่กับนักกีฬาอย่างใกล้ชิด ทำให้การตั้งฉายาแต่ละครั้ง มันแสดงให้เห็นตัวตนของนักกีฬาคนนั้นได้จริงๆ 

เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ ได้พูดถึงสิ่งสำคัญในการตั้งฉายาให้นักเตะว่า “ผมจะตั้งฉายาให้เขาแบบขำๆ ไม่ซีเรียสมากจนเกินไป ที่สำคัญฉายาที่ตั้ง ต้องจดจำง่าย ส่วนใหญ่เขาจะชอบนะ ไม่ค่อยมีตั้งให้แล้วเขาไม่ชอบ” 

“ที่เน้นเป็นพิเศษเลยคือจะไม่ดูถูกเขา เราจะยกย่องเขากลายๆ มันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งดาราเขาก็ทำกัน” 


ปัจจุบันฉายานักเตะไทยหายไปไหน  

โลกโซเชียลได้เข้ามามีบทบาทกับทุกสังคม แม้แต่วงการฟุตบอล การทำงานต้องอาศัยความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งข่าว หรือการลงเนื้องาน เพื่อให้แฟนบอลสามารถติดตามงานได้ทันที 

ปัจจุบันสื่อจึงใช้ชื่อของนักเตะ หรือเติมแค่ “เจ้า” นำหน้าชื่อเล่น เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการทำงาน อาทิ “เจ้าอุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน หรือ “เจ้าอาร์ม” ศุภชัย ใจเด็ด 

โยธิน อารีย์การเลิศ หรือ “นายน์ทีน" อดีตบรรณาธิการ “ฟุตบอลสยาม” ผู้ที่ตั้งฉายา "บิ๊กหอย" ธวัชชัย สัจจกุล อดีตผู้จัดการทีมชาติไทยชุดดรีมทีม และ “ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตตำนานกองหน้าและอดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทย มองว่าสาเหตุที่ทำให้ฉายานักเตะไทยหายไป เพราะเรื่องของโซเชียลที่มีเรื่องให้ติดตามและดึงดูดความสนใจมากกว่า 

“ระยะหลังโลกโซเชียลมีมากขึ้น การทำงานเป็นไปด้วยความเร็ว ทุกอย่างเร็วไปหมด มันเลยไม่มีความลึกซึ้งถึงการตั้งฉายา”

“มันเป็นเรื่องของศิลปะ มันเป็นเรื่องการพิจารณา ค่อยๆ คิด มันต้องใช้เวลา มันต้องดูว่าคนนี้ถนัดแบบไหน ต้องใช้ความละเมียดละไม แต่ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องของความเร็ว”

“ตอนนี้ฟุตบอลลีกบ้านเราเตะเยอะมาก นักข่าวไม่ได้มีเวลาไปคลุกคลีหรือดูนักเตะแบบใกล้ชิดเหมือนเมื่อก่อน อาศัยลงข่าวเร็ว ทำให้ไม่ค่อยมีใครมาตั้งฉายาให้นักเตะ”


ฉายานักเตะไทยสำคัญแค่ไหนในปัจจุบัน
 

แน่นอนนว่าการขาดหายไปของฉายานักเตะไทยในปัจุบันทำให้สีสันของเกมฟุตบอลหายไปบ้าง แต่มันไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันแฟนบอลก็ให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ จนฉายานักเตะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป 

โยธิน อารีย์การเลิศ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับฉายานักเตะแล้ว เพราะมันมีเรื่องเบี่ยงเบน และคนไปให้ความสำคัญส่วนอื่นๆ เยอะ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย”

“ตอนนี้อยากจะเรียกอะไรก็เรียกมากกว่า อย่าง บุญจัง หรือ มุ้ยซัง หากเรียกแล้วโดนก็มีคนไปเรียกต่อ ไม่โดนคนก็ไม่เรียก ใช้ชื่อเล่น ชื่อจริงก็จบ”

แม้ฉายานักฟุตบอลจะมีเสน่ห์ แต่ในระยะหลังไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก ไม่ใช่เฉพาะวงการฟุตบอลไทย ในวงการฟุตบอลต่างประเทศ เราแทบไม่เห็นฉายาสุดคลาสสิกแบบในอดีตแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

แต่ถ้ามีฉายานักเตะใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ย่อมสร้างสีสันให้กับฟุตบอลได้ไม่น้อยทีเดียว 

Author

ศุภฤกษ์ สีทองเขียว

หนุ่มแดนหมอแคน ผู้คลั่งไคล้ในฟุตบอล