Feature

Burnout หรือไม่? : สภาพจิตใจที่หมดไฟ มีผลต่อฟอร์มของลิเวอร์พูลมากแค่ไหน | Main Stand

ชัยชนะของ ลิเวอร์พูล เหนือ วูลฟ์แฮมตัน 1-0 ในฟุตบอลถ้วยเอฟเอคัพ รอบสาม นัดรีเพลย์ ที่มีการเปลี่ยนเอาเด็กลงเล่นเกินครึ่งทีมได้กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เมื่อนักเตะดาวรุ่งกับตัวสำรองหลายรายต่างโชว์ฟอร์มและเล่นกันได้อย่างน่าประทับใจ

 


นั่นทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับแข้งตัวหลักที่เพิ่งพ่าย ไบรท์ตัน 0-3 อย่างหมดรูป ที่ดูเหมือนเป็นนักเตะหมดไฟ หมดไอเดีย และไม่สามารถเล่นในแบบของลิเวอร์พูลที่เคยดุดันไล่บีบเพรสแย่งบอลได้เหมือนแต่ก่อน

คำถามคือ การหมดไฟ มีผลต่อฟอร์มนักฟุตบอลได้จริงหรือไม่ และสิ่งที่เราเห็นจากแข้งหงส์แดงเข้าข่ายสถานการณ์นี้ไหม ? มาวิเคราะห์ไปพร้อมกับ Main Stand

 

หนึ่งปีที่เปลี่ยนไป

ย้อนเวลากลับไปเพียงหนึ่งฤดูกาลก่อนหน้า ลิเวอร์พูลมีโอกาสลุ้นเป็นสโมสรแรกจากเกาะอังกฤษที่สามารถคว้าแชมป์จากทุกรายการที่ลงแข่งขันได้ หลังเข้าชิงฟุตบอลถ้วยทุกใบกับมีลุ้นแชมป์ลีกจนถึงนัดสุดท้ายของปฏิทินการแข่งขัน

แม้ตอนสุดท้าย ทัพหงส์แดงจะจบลงด้วยตำแหน่งแชมป์คาราบาวคัพ กับเอฟเอคัพ ชวดคว้าถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีกให้กับ เรอัล มาดริด จากประตูชัยเพียงลูกเดียวในเกม และมีคะแนนในพรีเมียร์ลีกตามหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แค่แต้มเดียวเท่านั้น นั่นคือพวกเขาสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และทำให้ทุกคนมีลุ้นว่าลิเวอร์พูลชุดนี้จะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

เยอร์เก้น คล็อปป์ ให้สัมภาษณ์หลังจบเกมที่หงส์แดงแพ้ เรอัล มาดริด ว่า “ปีหน้านัดชิงเตะที่ไหนหรอ อิสตันบูลสินะ จองโรงแรมกันได้เลย!” เหมือนเป็นนัยว่าแม้ฤดูกาล 2021/22 จะไปไม่สุดดั่งหวัง แต่ลิเวอร์พูลจะกลับมาดีกว่านี้ได้อีกในซีซั่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ... สถานการณ์ปัจจุบันของหงส์แดงกลับไม่ได้สวยหรูดั่งที่หลายคนวาดฝันไว้

ลิเวอร์พูลอาจต้องพึ่งปาฏิหาริย์และปรากฏการณ์ที่โลกฟุตบอลไม่เคยได้พบเจอมาก่อน เพื่อมีโอกาสลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก เช่นเดียวกับการป้องกันแชมป์เอฟเอคัพ ที่ต้องเจอโจทย์เก่าอย่าง ไบร์ทตัน ในรอบที่สี่ และบอลถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก ที่มี เรอัล มาดริด มารอเจออยู่ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เรียกได้ว่าถ้าหงส์แดงได้สักหนึ่งถ้วยเมื่อฤดูกาลจบลงก็คงเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับลิเวอร์พูลชุดนี้ ทั้งที่ขุมกำลังนักเตะก็แทบไม่ได้ต่างไปจากเดิม แกนหลักของทีมก็ยังคงอยู่มาตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19 ที่หงส์แดงเถลิงแชมป์บอลถ้วยยุโรปสมัยที่ 6 ของสโมสรเสียด้วยซ้ำ

 

เกเก้นเพรสที่หายไป

เยอร์เก้น คล็อปป์ ได้นำพาปรัชญา เกเกนเพรสซิ่ง (Gegenpressing) มาสู่สโมสร โดยเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ถึงระบบดังกล่าวว่า “เกเกนเพรซซิ่งทำให้คุณแย่งการครองบอลคืนได้ใกล้กับโกลของคู่แข่ง แบบที่แค่ผ่านบอลครั้งเดียวก็สามารถสร้างโอกาสเข้าทำที่ดีได้แล้ว”

“ไม่มีเพลย์เมกเกอร์คนไหนในโลกจะสร้างโอกาสได้ดีเทียบเท่ากับจังหวะของเกเกนเพรสซิ่ง และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมระบบดังกล่าวถึงสำคัญมาก ๆ”

เกเก้นเพรสซิ่งอาศัยการเล่นที่ต้องรักษาความเข้มข้นในระหว่างแมตช์ นักเตะในแดนหน้าต้องมีความฟิตและความเร็วเพียงพอเพื่อไล่บี้บอลและจู่โจมหาจุดอ่อนในแนวรับของคู่แข่ง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ลิเวอร์พูลได้นำมาปรับใช้กับสามประสาน SMF ในตำนานอย่าง โมฮาเหม็ด ซาลาห์, ซาดิโอ มาเน่ และ โรเบอร์โต้ ฟีร์มิโน่ มาแล้ว

นอกจากผู้เล่นแนวรุกที่ต้องขึ้นไปไล่บี้บอลก็ยังมีสองแบ็กซ้ายขวาอย่าง แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน กับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่ขึ้นมาช่วยบีบกดดันในแนวหน้า และกลายเป็นอาวุธลับในการโจมตีด้วยลูกเปิดครอสให้สามประสานสามารถเข้าทำได้ เช่นเดียวกับแดนกลางของทีมที่สามารถขึ้นไปช่วยแย่งบอลกลับมาครอบครอง เพื่อเริ่มต้นการโต้กลับของลิเวอร์พูลได้

อย่างไรก็ตาม สถิติการเข้าเพรสบอลในแดนคู่แข่งของลิเวอร์พูลฤดูกาลนี้กลับลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับข้อมูลของ Opta ที่พบว่าหงส์แดงมีค่าโอกาสเสียประตู หรือ xG จากจังหวะโต้กลับของคู่แข่งมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก และเสียประตูจากการโดนสวนกลับไปแล้ว 12 ลูก มากกว่าทั้งฤดูกาล 2020/21 ที่เสียแค่ 10 ลูกไปแล้ว โดยยังเหลือแมตช์ให้ลงเล่นอีก 18 นัดด้วยกัน

จริงอยู่ที่ปัญหาในฤดูกาลนี้ของลิเวอร์พูลเป็นเหมือนช่วงเวลาดวงตกของทีมที่เผชิญทั้งอาการบาดเจ็บของผู้เล่นตัวหลักและแผงมิดฟิลด์ที่ดูเหมือนไม่สามารถควบคุมเกมในแดนกลางได้เหมือนเดิม แต่หากคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพจิตใจแล้ว การกรำศึกหนักของนักเตะหงส์แดงมาอย่างต่อเนื่องมีผลต่อประสิทธิภาพการลงเล่นหรือไม่ ?

 

เล่นจนหมดไฟ ?

ลิเวอร์พูลลงแข่งอย่างต่อเนื่องมา 63 แมตช์ในฤดูกาล 2021/22 นั่นคือการลงเตะแมตช์อย่างเป็นทางการทุกนัดที่สามารถแข่งขันได้ในช่วงเวลาหนึ่งซีซั่น หรือระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม 2021 ไปจนถึง 28 พฤษภาคม 2022

ด้วยค่าเฉลี่ยการลงเล่นหนึ่งนัดในทุก ๆ 4.5 วัน ทำให้ เยอร์เก้น คล็อปป์ ต้องบริหารจัดสรรเวลาซ้อมให้เหมาะสม ควบคู่กับการโรเทชั่นนักเตะลงสนาม เพื่อไม่ให้ตัวหลักเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และทีมก็ต้องไม่เสียความแข็งแกร่งในด้านตัวผู้เล่นที่ออกสตาร์ท 11 ตัวจริง

แน่นอนว่านักฟุตบอลอาชีพระดับโลกเหล่านี้ย่อมมีความฟิตและสภาพร่างกายที่พร้อมลงเล่นได้มากกว่า 90 นาทีในแต่ละนัด แต่สิ่งที่น่ากลัวนั่นคือความล้าที่ถูกสะสมเอาไว้ ซึ่งอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจในระยะยาวได้

แม้แต่ละสโมสรจะมีช่วงเวลาให้นักเตะฟื้นฟูร่างกาย ทั้งในช่วงหลังจบการแข่งขัน การเดินทาง หรือช่วงปิดฤดูกาล แต่ความเหนื่อยล้าทางจิตใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

ในปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยหรือผลการทดลองใดที่ชี้ชัดว่าการฝึกซ้อมที่หนักเกินไปหรือการลงเล่นอย่างต่อเนื่องของนักกีฬาอาชีพมีผลเชื่อมโยงต่อความผิดปกติทางจิตใจ แต่มีการยอมรับในวงกว้างว่าหนึ่งในสาเหตุของการหมดไฟ หรือ Burnout นั้นมาจากภาระงานที่มากเกินไป และการโหมสภาพจิตใจมากเกินควรของบุคคลนั้น ๆ

ทีนี้เมื่อนักเตะรายนั้นเผชิญกับปัญหาหมดไฟ แม้พวกเขาอาจไม่แสดงเนื่องจากความเป็นมืออาชีพที่ต้องลงเล่นและฝึกซ้อมต่อไปตามที่ทีมมอบหมาย แต่มีงานวิจัยที่ชี้ว่าความเหนื่อยล้าทางสภาพจิตใจมีผลทำให้ประสิทธิภาพและฟอร์มการเล่นของนักกีฬาอาชีพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หนำซ้ำยังมีผลต่อเทคนิคการเล่น การตัดสินใจ และการดำเนินการตามแผนที่ได้รับคำสั่งที่อาจไม่ได้เต็มที่เท่าที่ควร

หากพิจารณาจากฟอร์มการเล่นในสนามของลิเวอร์พูลฤดูกาลนี้ ฟาบินโญ่ ดูเป็นผู้เล่นที่หลุดฟอร์มไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับที่เขาเคยเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า และเมื่อ เยอร์เก้น คล็อปป์ ตัดสินใจส่ง สเตฟาน ไบจ์เซติช มิดฟิลด์ดาวรุ่งลงสนามแทน ก็พบว่าเจ้าตัวมีฟอร์มการเล่นและความพร้อมมากกว่ากองกลางรุ่นพี่ชาวบราซิลเสียอีก

จากการเป็นขุมพลตัวหลักของทีมตั้งแต่ถูกซื้อเข้ามาร่วมทีมในปี 2018 และเป็น “ประภาคาร” ในแผงแนวรับของ ลิเวอร์พูล กับการที่ต้องเล่นให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุดมาโดยตลอด รายละเอียดเล็กน้อยที่เคยถูกมองข้ามหรือความอ่อนล้าจากการลงสนามต่อเนื่องจึงอาจไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ จนมาแสดงออกในฤดูกาลปัจจุบันก็เป็นได้

อาจไม่สามารถสรุปได้ว่านักเตะชุดใหญ่ของลิเวอร์พูลชุดที่ลงเล่นเป็นตัวหลักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คว้าแชมป์ UCL ในฤดูกาล 2018/19 ประสบปัญหาหมดไฟอย่างจริงจัง เนื่องจากฟุตบอลย่อมมีปัจจัยเบื้องหลังที่มากกว่าแค่สภาพจิตใจ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์เช่นกันว่านักเตะหงส์แดงชุดนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

You’ll Never Walk Alone เพลงเชียร์อันโด่งดังของลิเวอร์พูล มีท่อนที่ระบุไว้ว่า “เมื่อพายุสิ้นสุดลง จะมีฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพายุหมุนลูกนี้จะพัดปกคลุมอยู่เหนือแอนฟิลด์ไปอีกนานแค่ไหน…

 

แหล่งข้อมูล:

Russell S, Jenkins D, Smith M, Halson S, and Kelly V. The application of mental fatigue research to elite team sport performance: New perspectives. J Sci Med Sport 22: 723-728, 2019.
Martin K, Meeusen R, Thompson KG, Keegan R, and Rattray B. Mental fatigue impairs endurance performance: A physiological explanation. Sports medicine (Auckland, NZ): 1-11, 2018.
https://www.coachbetter.com/blog/why-mental-health-matters-for-football
https://www.goal.com/en/news/gegenpressing-how-does-the-football-tactical-style-made-famous-by-klopp-work/1wc20wx6qtkkq1t36xj0px9mel
https://www.si.com/edge/2016/09/27/mental-fatigue-sports-tired-athlete-brain-training-warriors-leicester-city
https://theathletic.com/4079979/2023/01/14/liverpool-arent-winning-the-ball-back-like-they-used-to-its-a-counter-pressing-issue/
https://theathletic.com/4095980/2023/01/17/liverpool-klopp-quick-fix/
https://www.youtube.com/watch?v=zikYYaISL3U
https://www.mysportscience.com/post/2020/01/12/mental-fatigue-in-sport-what-is-it-and-how-do-we-recover-from-it
https://theathletic.com/3690114/2022/10/14/klopp-liverpool-mentality-monsters/

Author

กรทอง วิริยะเศวตกุล

2000 - Football and F1 fanatics - Space enthusiasts - aka KornKT

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น