Feature

แดนนี่ เรสโค : จากนักฮอกกี้น้ำแข็งเยาวชน สู่นักแสดงมวยปล้ำ "กาชิมูชิ" สุดโด่งดัง | Main Stand

"เจ็บใจ คนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปร ให้มันวอดวาย"

"เกลียดความหวั่นไหว ที่ก่อตัวในใจฉัน ยิ่งห้ามเท่าไร ใจยิ่งดึงดัน ให้คิดถึงเธอ"

"บ้านพี่อยู่สุโขทัย เพราะบ้านพี่ไฟไหม้ ขอลามาไกลทิ้งถิ่น ดั่งคนจรจากที่นอนที่อยู่ที่กิน เปรียบเหมือนเป็นเช่นนกขมิ้น ยุพินจงโปรดเห็นใจ"

 

เมื่อนึกถึงท่อนเพลงเหล่านี้ แน่นอนว่าจินตนาการในหัวของชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กและใครหลาย ๆ คนจะต้องเด้งใบหน้าของ "แดนนี่ เรสโค" (Danny Resko) หรืออีกชื่อหนึ่งในวงการคือ "แดนนี่ ลี" (Danny Lee) แต่ชาวไทยรู้จักกันในชื่อ "คาซึยะ คิโยชิ" (Kazuya Kiyoshi) หรือ "พรี่คาซึยะ" มาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

เรสโคโด่งดังสุด ๆ กับการรับบทบาทเป็น "นักมวยปล้ำ" หนึ่งในชาวแก๊ง "กาชิมูชิ" (Gachimuchi) กลุ่มคนผู้หลงไหลในการเล่นกล้าม ฟิตหุ่นให้ล่ำ ๆ เพื่อทำการแข่งขันมวยปล้ำ โดยใส่กางเกงในบาง ๆ โชว์สัดส่วนเพียว ๆ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในญี่ปุ่น รวมถึงไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ 

แต่ใครเลยจะรู้ว่าแดนนี่เคยลงทำการแข่งขัน "ฮอกกี้น้ำแข็ง" ระดับเยาวชนมาก่อน แถมยังทำผลงานได้ดีระดับหนึ่งเสียด้วย

เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา ? เหตุใดจากการเป็นนักฮอกกี้น้ำแข็งจึงมาเกี่ยวพันกับกาชิมูชิได้ ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

 

ตามน้ำค่านิยมกีฬาแห่งแคนาดา

เมื่อนึกถึงกีฬาประจำประเทศที่คนทั่วโลกพอจะคุ้นชิน หลายครั้งสิ่งที่พุ่งตรงเข้ามาในหัวอาจจะหนีไม่พ้น อเมริกันฟุตบอล ของสหรัฐอเมริกา, เทควันโด ของเกาหลีใต้, ยูโด ของญี่ปุ่น หรือมวยไทย ของประเทศไทย กระนั้น อีกชนิดกีฬาที่หลายท่านอาจไม่ค่อยรู้จัก (ยกเว้นตอนที่ต่อยกันระหว่างแข่ง) แต่ถือได้ว่าสามารถยกให้เป็นกีฬาประจำประเทศ "แคนาดา" ได้ นั่นคือ "ฮอกกี้น้ำแข็ง"

บรรดาเยาวชนของแคนาดาส่วนมากจะถูก "ติดตั้ง" ให้ชื่นชอบกีฬานี้ผ่านการขัดเกลาทางสังคมโดยตลอด ทั้งจากสื่อโทรทัศน์ หลักสูตรวิชาพลศึกษา หรือแม้กระทั่งสถาบันที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดทางสังคมอย่างสถาบันครอบครัว ไม่บิดา มารดา ญาติสนิท หรือมิตรสหายต่าง ๆ ก็อาจไซโคให้โปรดปรานไม่มากก็น้อย

"ผมเกิดที่โตรอนโต แคนาดา แน่นอนว่าคุณย่อมรู้ว่าที่นี่โดดเด่นด้านฮอกกี้น้ำแข็ง" 

นั่นคือโควตของเรสโคที่ยกมาจากส่วนหนึ่งของคลิป A Conversation with Danny Resko | Conversations with Stanpai ที่เขาให้สัมภาษณ์กับแชนแนล Stanpai บนยูทูป ซึ่งกล่าวถึงช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาในการเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเป็นที่แรกสุด

"ผมเล่นฮอกกี้น้ำแข็งตั้งแต่อายุ 5 จนถึง 20 ปี" เรสโค กล่าวต่อ

ซึ่งในช่วงเวลาวัยรุ่นระหว่างเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรสโคได้ลงเล่นในลีกเยาวชนแห่งออนทาริโอ (Ontario Junior Hockey League : OJHL) กับสโมสรมาร์แคม แว็กเซอร์ส (Markham Waxers) 

โดยเขานั้นรับบทบาทเป็นปีกซ้าย (Left Wing) โดยมีหน้าที่คล้ายคลึงกับฟุตบอล นั่นคือการลำเลียง "ลูกพัค" (Puck) ไปทางกราบซ้ายด้วยสปีดเร็วกว่านรก เพื่อคอยแอสซิสต์ สอดขึ้นมาทำประตู หรือช่วยลงมาเล่นเกมรับในบางครั้ง 

ที่จริงฮอกกี้น้ำแข็งมีการเล่นคล้ายกับฟุตบอล เพียงแต่ใช้ผู้เล่นจำนวนน้อยกว่าที่ 6 คน และต้องใช้อุปกรณ์อย่างไม้ฮอกกี้ในการเล่น รวมถึงมีการเล่นบนลานน้ำแข็ง ใช้รองเท้าแบบมีใบมีด รวมถึงมีอุปกรณ์เซฟตี้เพิ่มเติมแบบที่ฟุตบอลไม่มี

กระนั้น ไม่แน่ใจว่าฟอร์มการเล่นของเขาไม่ได้โดดเด่นขนาดที่จะได้ไปต่อในระดับอาชีพ โค้ชไม่ชอบหน้า อายุน้อยเกินไปสำหรับการลงแข่ง หรือว่าเขาไม่สามารถให้น้ำหนักการแข่งขันร่วมไปกับการเรียนได้ ทำให้เขามีสถิติลงแข่งเพียง 2 แมตช์เท่านั้นในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก 1984-85 แต่ยังดีที่สามารถจัดแอสซิสต์ให้กับสโมสรได้ครั้งหนึ่ง

ในท้ายที่สุดเขาจึงเลือกย้ายไปลงเล่นในลีกเยาวชนระดับบี แห่งแมนิโทบา (Manitoba Junior B Hockey League : MJBHL) กับสโมสรพิคเคอริง แพนเทอร์ส (Pickering Panthers) ซึ่งเป็นลีกระดับต่ำกว่าเล็กน้อย แถมยังต้องเดินทางข้ามเขตที่อยู่อาศัยจากโทรอนโตไปแมนิโทบา ซึ่งมีระยะทางพันกว่าไมล์เลยทีเดียว (ประมาณขับรถจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่)

ที่สโมสรแห่งนี้ ทำให้หนุ่มน้อยเรสโคได้เร่งฟอร์ม ผลงานในฤดูกาล 1985-86 เขาจบด้วยจำนวน 18 ประตู 19 แอสซิสต์ จากการลงเล่นทั้งหมด 30 แมทช์ หากเป็นตัวเลขเช่นนี้ในฟุตบอล ถือว่าเรสโคเป็นเทพบุตร วันเดอร์คิดอย่างมาก หากแต่ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ที่แมทช์หนึ่งยิงกันระดับสิบลูกเป็นเรื่องปกติ ผลงานของเขาจึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์กลางค่อนสูงเล็กน้อย ไม่ได้โดดเด่นเป็นดาวจรัสแสง

และด้วยผลงานระดับนี้จึงไปเข้าตาแมวมองของ โทรอนโต มาร์ลโบโร (Toronto Marlboros) ซึ่งเป็นทีมเยาวชนในลีกออนทาริโอ (Ontario Hockey League : OHL) 1 ใน 3 ลีกสูงสุดระดับเยาวชนของแคนาดาที่เซ็นสัญญาเป็น "ฟาร์มทีม" (Farm Team) ให้กับ โทรอนโต เมเปิล ลีฟส์ (Toronto Maple Leafs) ยักษ์ใหญ่แห่ง NHL หรือ National Hockey League ลีกสูงสุดของอเมริกาเหนือ (ชนะเลิศ 13 สมัย มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในขณะนี้)

แน่นอนว่าโอกาสครั้งนี้ทำให้เรสโคขยับขึ้นมาในจุดที่สูงและใหญ่ขึ้น แม้เจ้าตัวจะเค้นฟอร์มใน 2 ฤดูกาล (1986-87 และ 1987-88) รวม 38 ประตู 37 แอสซิสต์ จากการลงเล่น 128 แมตช์ แต่นั่นก็ยังถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะลงแข่งขันในระดับอาชีพ ท้ายที่สุดเมื่อมีโอกาสแต่คว้าไว้ไม่ได้ ตำแหน่งตัวจริงในทีมของเขาก็หายไปและถูกลดบทบาทลง 

จนท้ายที่สุด ในฤดูกาล 1988-89 ช่วงครึ่งฤดูกาล เขาได้เลือกย้ายไปหาโอกาสลงเล่นกับ ซุดบิวรี วูล์ฟส์ (Sudbury Wolves) ทีมในลีกเดียวกัน

แต่ ณ ขณะนั้น เรสโคมีอายุใกล้ 20 ปีเข้าไปทุกขณะ และส่วนลึกในจิตใจของเขาซึ่งอาจรวมถึงครอบครัวด้วยบอกว่า ถึงเวลาที่ต้องเอาจริงเอาจังกับการเรียนแล้ว ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลดังกล่าวเขาจึงได้ตัดสินใจจบชีวิตทางการกีฬาของตนเองลง และมุ่งหน้าต่อไปยังรั้วมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี เพื่อคว้าใบปริญญา

และนั่นทำให้จุดเริ่มต้นแห่ง "ค ว า ม ห วั่ น ไ ห ว" ได้ถือกำเนิดขึ้น

 

พลิกชีวิตสู่ ค ว า ม ห วั่ น ไ ห ว

"หลังจากผมเลิกเล่น (ฮอกกี้น้ำแข็ง) ผมได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโทรอนโต แล้วผมต้องการหารายได้เพิ่มเติม เพื่อนจึงแนะนำให้ไปรับจ็อบเต้นพิสดารบางอย่าง และมันเป็นงานกลางคืนด้วย เข้าทางเลย" 

สิ่งที่เรสโคกล่าวมานั้นสะท้อนให้เห็นว่า "การเต้นพิสดาร" (Exotic Dance) มีความเกี่ยวพันกับการหาลำไพ่พิเศษของนักศึกษาในโทรอนโตประมาณหนึ่ง และเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิด "รายได้" ที่พอประมาณที่ช่วยให้นักศึกษาดำเนินชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกมากขึ้น 

และไม่ถือว่าแปลกสำหรับสังคมตะวันตกที่การเรียนในระดับนี้บิดามารดาจะตัดความช่วยเหลือทุกทาง ให้บุตรธิดาดำรงชีพแบบไปตายดาบหน้าแทน

"พอเข้าไปถึง เขาได้สอนให้ผมรู้จักกับการเต้นกับเสา แล้วคืนนั้นผมก็เต้นเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมากๆ แน่นอน เงินมาเป็นฟ่อน และผมได้ทำไปจริง ๆ"

สิ่งนี้ทำให้คิดได้ว่าเรสโคได้ประกอบอาชีพ "เต้นรูดเสา" (Pole Dance) ซึ่งเป็นกิจกรรมความบันเทิงของชีวิตยามค่ำคืนของใครหลาย ๆ คน  ในอดีตส่วนมากจะเป็นสตรีที่มาเต้นเพื่อสนองตอบความบันเทิงแก่บุรุษขี้เหงาและรักสนุก 

แต่เมื่อโลกเปิดกว้าง บุรุษย่อมสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ไม่ต่างกัน เพียงแต่ส่วนมากจะให้บริการแก่บุรุษด้วยกันเอง น้อยครั้งที่จะตกมาถึงสตรี อย่าลืมว่าเรสโคไปเต้นในยุค 1990s ที่ยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดที่สตรีจะมีความหาญกล้า ออกมาเดินเตร่ดูโชว์ยามค่ำคืน (แม้จริง ๆ อาจจะมีบ้างก็ตาม)

เรสโคประกอบอาชีพดังกล่าวอยู่ประมาณหนึ่ง ไม่แน่ว่าอาจจะกินเวลา 4 ปี จนกระทั่งจบการศึกษาหรืออาจจะต่อเนื่องมาเป็นอาชีพหลักเลยก็ว่าได้ โดยเขาได้สมญาในวงการเต้นรูดเสานี้ว่า "แดนนี ดัลลัส" (Danny Dallas)

กาลต่อมา ชื่อเสียงในลีลาการเต้นของเขาได้ไปสะกิดนัยน์ตาของบรรณาธิการของ เพลย์เกิร์ล แมกกาซีน (Playgirl Magazine) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ในปี 1992 เขาได้จรดปากกาเซ็นสัญญาบินลัดฟ้า ข้ามประเทศมาถ่ายแบบให้เพลย์เกิร์ลในคอลัมน์ "Oh, Canada!" เพื่อตีพิมพ์ในฉบับเดือนพฤศจิกายน 1992

คำโปรยบนปกระบุว่า "พาไปสำรวจร่างกาย แดนนี ดัลลัส ชายที่มีกล้ามเป็นมัด ๆ สุด ห วั่ น ไ ห ว จากดินแดนเหนือหัวพวกเรา" โดยในเนื้อหาเกือบ 10 หน้านั้น นอกจากเขาจะโชว์เรือนกายสุดล้ำบึกด้วยการทาน้ำมันให้เห็นชัด ๆ แล้ว ยังมีบทสัมภาษณ์ที่เขาได้กล่าวไว้ประมาณว่า

"ผมหัวโบราณเลยแหละ เวลาเดตกับผู้หญิงคนไหนผมจะไม่ห่ามไม่เถื่อนและจะทะนุถนอมอย่างดี วันใดที่พวกเธอต้องการผม ผมก็พร้อมจะไปในทันใด จะไปยืนเคียงข้างเสมอ"

พร้อมทั้งยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเล่นกล้ามว่ามาจาก อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ความว่า

"เขา (อาร์โนลด์) ไม่ได้ดังมาก่อน แต่อาศัยการทำงานหนัก (หมายถึงฟิตกล้าม) เลยมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ แน่นอนว่ามันมาจากบุคลิกลักษณะด้วย แต่เขาก็ทำให้ฝันเป็นจริงได้สำเร็จ"

การมาที่แคลิฟอร์เนียครั้งนี้ทำให้เรสโคติดอกติดใจเมืองนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าหลังจากรับเงินค่าตัวแล้วบินกลับแคนาดา เจ้าตัวกลับรู้สึกหดหู่กับบ้านเกิดทั้งที่อยู่มากว่า 20 ปี จนในที่สุดเขาจึงได้หอบผ้าหอบผ่อนเข้ามาตั้งรกรากที่รัฐนี้เป็นการถาวร

"ผมชอบแสงแดดส่อง ไนท์คลับ ทุกอย่างในเมืองนี้โคตรเจ๋ง ผมเลยตัดสินใจมาที่นี่ และไม่หวนกลับไปแคนาดาอีกเลย" เรสโค กล่าว

แต่ใครเลยจะรู้ว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรสโคได้เข้าสู่วงการ "กาชิมูชิ" สร้างความ ใ จ เ ก เ ร ไปทั่วโลก

 

เข้าสู่กาชิมูชิ สร้างความ ใ จ เ ก เ ร

หลังจากย้ายไปเป็นชาวแคลิฟอร์เนีย เรสโคยังคงประกอบอาชีพเต้นกินรำกินตามเดิม เพิ่มเติมคือในดินแดนแห่งเสรีภาพนี้มีไนท์คลับมากมายให้เขาได้วิ่งวนรับจ๊อบ แน่นอนว่ารายได้ที่เข้ามาก็ถือได้ว่ามหาศาลกว่าตอนทำงานในลักษณะเดียวกันนี้ที่แคนาดามาก และชื่อเสียงในวงการของเขาก็แพร่สะพัดมากขึ้นตามไปด้วย

แต่เมื่อใช้ชีวิตเช่นนี้มาสักระยะหนึ่ง ตัวแทนจากบริษัท แคน-แอม โปรดักชัน (Can-Am Production) สื่อด้านการผลิตภาพยนตร์ "มวยปล้ำ" ขนาดกลางและขนาดย่อมสัญชาติแคนาดาได้โทรศัพท์มาหาเขา เพื่อติดต่อถึงความเป็นไปได้ในการดึงตัวมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์มวยปล้ำ "แบบใหม่" ที่กำลังวางแผนถ่ายทำ 

โดยรูปแบบใหม่ที่ว่านี้คือการวางรูปแบบให้ใส่เพียงกางเกงในรัดรูป เสื้อผ้าน้อยชิ้น หรือบางทีก็ไม่ใส่เลย เพื่อปล้ำกันอย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อ "ปลุกใจเสือป่า" ในตัวของใครหลายคนที่ได้รับชม

"พวกเขาบินมายื่นสัญญาให้ผมถึงแคลิฟอร์เนียเลย และแน่นอน ผมไม่มีปัญหา" เรสโค กล่าวถึงวินาทีร่วมหอลงโรงกับแคน-แอม

ระหว่างเตรียมถ่ายทำนี้ เขาต้องเข้าคลาสฝึกซ้อมอย่างหนักสำหรับการเป็นนักมวยปล้ำที่สมบูรณ์แบบที่หนักไม่แพ้นักมวยปล้ำอาชีพเลยทีเดียว (แม้จะเป็นการแสดงเช่นกัน) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเขาได้ผูกสัมพันธไมตรีกับ "บิลลี เฮอร์ริงตัน" (Billy Herrington) หรือที่เรียกกันว่า "พรี่บิลลี่" หรือ "ลูกพรี่" ในกาลต่อมา พระเอกดาวจรัสแสงของทางค่าย ที่ได้เข้ามาร่วมเทรนด้วยกัน

เมื่อเข้าที่เข้าทาง แคน-แอม จึงได้วางคิวให้เรสโคประเดิมเปิดตัวร่วมกับนักแสดงมวยปล้ำอีก 9 คน ในภาพยนตร์เรื่อง "Junkyard Boyz" ในปี 1995 และเป็นครั้งแรกที่เขาใช้สมญาว่า "แดนนี ลี" (Danny Lee) อย่างเป็นทางการ

ในภาพยนตร์ที่เป็นเหมือนการเปิดตัวมากกว่าที่จะมีเส้นเรื่องแบบที่หลายท่านเข้าใจ โดยในซีนของเรสโค เขาขับรถกระบะเชฟโรเลตโหลดต่ำ ใส่แว่นดำ และเสื้อกล้ามม่วง เดินออกมาเก็กท่าหล่อ ๆ ทั้งยังได้โชว์ทักษะในการเต้นที่เขาเคยทำเป็นอาชีพ โชว์กล้ามทุกส่วนโดยปกปิดไว้เพียงกางเกงในรัดรูป และที่พีกที่สุดคือการ "ร่วมใจขนยาง" และ "ดวลปืนฉีดน้ำ" กับอีก 8 คนที่เหลือ (ที่จริงภาพยนตร์มีตัวเต็ม แต่ไม่สามารถลงลิงก์ได้ ดังนั้นหากท่านใดสนใจสามารถหารับชมได้ตามช่องทางธรรมชาติตามที่ถนัด)

หลังจากจบเรื่องนี้ไป เรื่องอื่น ๆ ก็ตามมาให้เข้ากล้องอีกมากโข ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้ต่อยอดไปรับจ็อบอื่น ๆ ที่ "ไม่สามารถบอกใครได้" โดย แคน-แอม เป็นคนติดต่อรับงานให้ ดังที่เขากล่าวว่า

"ผมยังหาลำไพ่พิเศษกับงานที่ใครหลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน ผมอยากบอกแต่ก็บอกไม่ได้จริง ๆ"

ซึ่งการเล่นภาพยนตร์มวยปล้ำแม้จะแตะหลักครึ่งร้อย แต่เขาก็ยอมรับว่าการจับคู่ที่ดีที่สุดคือการเล่นร่วมกับเฮอร์ริงตัน โดยกล่าวว่า "เราเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย และนอกจอเราก็คบกันมานานกว่า 10-15 ปี"

แม้การนำเสนอมวยปล้ำรูปแบบใหม่นี้จะวางแผนออกมาเพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับวงการ หากแต่มันก็ยังไม่สามารถต่อกรกับเจ้าพ่อรายใหญ่อย่าง วิวิด เอนเตอร์เทนเมนต์ (Vivid Entertainment) ที่เน้นหนักไปทาง "การล้อเลียน" (Parody) ภาพยนตร์ Blockbusters ซึ่งถือว่ากินขาดอย่างมาก

กระนั้น แม้ต้นทางจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่บันทึกความทรงจำในม้วนวิดีโอนี้เมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมายังญี่ปุ่น ดินแดนแห่งการ Adapt ที่ "โคตรสุด" จึงได้ถือกำเนิดชาวแก๊ง "กาชิมูชิ" (Gachimuchi) โดยชื่อนี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาญี่ปุ่น ガチムチ แปลว่า "ล่ำบึ้ก" ซึ่งการแข่งขันนั้นก็เป็นการ "ม็อก" (Mock) ขึ้นมาโดยใช้ฟุตเทจของภาพยนตร์มวยปล้ำสุดฮิตช่วงยุค 90s อย่าง "Workout Muscular Men 3" หนึ่งในงานชิ้นขึ้นหิ้งของ แคน-แอม

ด้วยกรรมวิธีการตัดต่อเล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่ซาวด์ประกอบให้น่าติดตามและเพิ่มความตลกโปกฮามากขึ้น และมีชื่อใหม่ว่า "ยอดชายมวยปล้ำกางเกงในล่ำบึ้ก" (Authentic Gachimuchi Pants Wrestling : 本格的 ガチムチパンツレスリング) ออกมาครั้งแรกในปี 2007 โดยคลิปมียอดเข้าชมมากถึง 5.5 ล้านครั้งบนแพล็ตฟอร์ม "นิโคะ นิโคะ โดกะ" (Nico Nico Douga) เว็บไซต์ให้บริการอัปโหลดวิดีโออันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น โดยใช้ระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีเลยด้วยซ้ำ

ทำให้เฮอร์ริงตันโด่งดังมาก ๆ ในญี่ปุ่น และทำให้เกิดสารพัดมีม ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและวิดีโอที่จะตัดต่อเพลงป็อปหรือเพลงอนิเมะใส่เข้าไป จนคนอาจรู้จักเขาในฐานะพระเอก MV เพลงนั้น ๆ มากกว่าตัวเพลงจริง ๆ เสียอีก 

หากแต่ในประเทศไทยกลับมีความนิยมในตัวเรสโคมากกว่า โดยหัวเรือในการ "แพร่เชื้อ" นั้นมาจากเพจเฟซบุ๊กสาย Shit Post อย่าง "คอนเทนต์ คุ ณ ภ า พ" และ "สกายเน็ต" รวมถึงเพจสายปั่นอย่าง CatDumb ทั้งยังได้ส่งให้นักมวยปล้ำสังกัดแคน-แอม หลายคนได้กลับมามีที่ทาง 

อย่าง "แดเนียล เอ็มการ์ด" (Daniel Emgard) หรือที่รู้จักในชื่อ "แดเนียล ฟรีแมน" (Daniel Freeman) หรือ "พรี่หลาม", ทิม คาร์ลตัน (Tim Carlton) หรือ "พรี่อู๋ THE YEE", ออร์แลนโด ตอร์เรส (Orlando Torres) หรือ "แฝดคนละฝา มาร์คัส แรชฟอร์ด", อดัม โลแกน (Adam Logan) หรือ "แฝดคนละฝา ไอซ์ พาริส" 

และที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือ "แวน ดาร์กโฮล์ม" (Van Darkholme) หรือ "พรี่แวน" หรือ "ท่านแวน" (Van-sama) นักมวยปล้ำใน "ชุดหนัง" น้อยชิ้น พร้อมโซ่ แส้ กุญแจมือ และเครื่องพันธนาการ หนึ่งเดียวที่มีเชื้อสายเอเชีย

 

คืนสู่สามัญ ก่อนกลับมา ก่ อ ตั ว ใ น ใ จ ฉั น อีกครั้ง

แม้ตัวตนในโลกออนไลน์ของเรสโคถือได้ว่าหายไปไม่นานก็ยังสามารถขึ้นมาดำรงอยู่อย่างสถาพรได้ แต่ในชีวิตจริงนั้น ตัวเขาเองถือได้ว่า "ตัดขาด" จากวงการไปแบบหายจ้อย และไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ มากว่า 30 ปี ขนาดที่ Reddit เว็บไซต์ชื่อดังคล้ายพันทิปในอเมริกา ได้ออกบทความประมาณว่า "แดนนี่ เรสโค เสียชีวิตไปแล้ว"

ซึ่งในช่วงที่กาชิมูชิแพร่สะพัดในประเทศไทยแรก ๆ แฟนคลับต่างพากันลงใจไปเรียบร้อยแล้วว่าเขาอาจจะเสียชีวิตไปสู่สุคติแบบเดียวกับ บิลลี่ เฮอร์ริงตัน เพื่อนรักของเขา ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 2018

กระนั้น เมื่อไม่นานมานี้เรสโคได้ออกมาแถลงการณ์ลงแชนแนลส่วนตัวในยูทูปที่มีชื่อเดียวกันกับเขา Danny Resko ในทำนองที่ว่า "ผมยังไม่ตายนะครับ และผมก็ได้รู้แล้วว่าทุกคนยังให้ความสนใจในตัวผมอย่างมาก ขอบพระคุณจริง ๆ ครับ"

แน่นอนว่าบรรดาผู้คนที่เป็นแฟนคลับต่างปิติยินดีอย่างมากที่ขวัญใจยังมีชีวิตอยู่ ทั้งยังได้ทำคลิปปฏิสัมพันธ์เสียด้วย โดยเฉพาะ ชาวไทย ที่แห่แหนคอมเมนต์ใต้คลิปอย่างสนุกสนาน โดยที่เรสโคตามมา "กดหัวใจ" ให้ในทุก ๆ คอมเมนต์

อีกทั้งเขายังได้เปิดเผยวิถีชีวิตในแง่มุมสุดพิเศษลงบนแชนแนลอย่างการหันเหไปให้ความสนใจในกีฬาเอ็กซ์ตรีมอย่างการแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบากหรือรถยนต์วิบาก ทั้งยังให้ความสนใจในซูเปอร์คาร์ โดยเฉพาะรถของเขาที่ใช้ยี่ห้อ เชฟโรเลต คอร์เวตต์ (Chevrolet Corvette) ซึ่งเข้ากับความล้ำบึกของเขาอย่างมาก

ภายหลังเขาได้ผันตัวมาเป็น "อินฟลูเอนเซอร์ด้านการออกกำลังกาย" โดยทำคลิปเปิดเผยวิธีการ Work-out สำหรับผู้ชมทางบ้านที่อยากมีกล้ามมีซิกแพ็คแบบเรสโคก็ให้ทำตามที่เขาออกกำลังกายแบบนี้ในทุกวัน รับรองว่าจะได้ผลอย่างดียิ่ง โดยได้ปล่อยออกมา 4 คลิปเข้าไปแล้ว

หากจะนิยามชีวิตของ แดนนี เรสโค ไม่มีสิ่งใดจะเหมาะสมไปกว่าประโยคที่ว่า "ตำนานจะคงอยู่ตลอดไป" เพราะถึงแม้ว่าความตั้งใจแรกในการเป็นนักกีฬา การเป็นนักเต้น หรือนักแสดงมวยปล้ำ จะไม่สัมฤทธิ์ผลในช่วงเวลาวัยหนุ่ม หากแต่ของบางสิ่ง "ยิ่งบ่มยิ่งแพง ยิ่งหมักยิ่งอร่อย" เมื่อผ่านไปชั่วกาละและเทศะหนึ่งก็กลับขึ้นมาฉายแสงได้ โดยที่ไม่ต้องไปโร่วิ่งหางานให้เมื่อยกล้ามเนื้อ 

ไม่ว่าจะผกผันและล้มลุกคลุกคลานเท่าใด "ตำนาน" ก็สามารถพลิกขึ้นมาเป็น "ตำนาน" ได้วันยังค่ำ

 

แหล่งอ้างอิง

https://youtu.be/eNeVpFyF9vU 
https://www.adonismale.com/gallery/album/2565-danny-dallas/ 
https://www.len.game/article/feature/gachimuchi-2/ 
https://www.youtube.com/watch?v=T0cNyeRDf-s 
https://knowyourmeme.com/memes/people/billy-herrington-gachimuchi 
https://www.catdumb.com/wtf-stories/6998?fbclid=IwAR33kjzfrgPWg-wdDed18JIiyKi3seAZ2-byQ1-ajr9qYCvkjW8sNCXUwS4 
https://www.owayo.com/magazine/ice-hockey-positions-us.htm 
https://www.britannica.com/sports/ice-hockey/Strategies 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ