หากพูดถึงประเทศที่อุดมไปด้วยนักวิ่งมาราธอนคุณภาพระดับโลก หลายคนคงจะนึกถึงชาติต่าง ๆ จากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะ เคนยา และ เอธิโอเปีย ที่สามารถผลิตนักวิ่งมาราธอนออกมาสร้างความสำเร็จในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีบางประเทศจากทวีปอื่น ๆ สามารถผลิตนักวิ่งมาราธอนที่ทำผลงานออกมาใกล้เคียงกับนักวิ่งแอฟริกาได้บ้าง หนึ่งในประเทศเหล่านั้นก็คือ ญี่ปุ่น ประเทศที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงความเป็นเลิศในการวิ่งมาราธอนด้วยเช่นกัน
Main Stand จึงจะพาไปพูดคุยกับ โจ ฟุคุดะ นักวิ่งมาราธอนชาวญี่ปุ่น จาก NN Running Team สังกัดเดียวกับ เอเลียด คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เจ้าของสถิติโลกวิ่งมาราธอนคนปัจจุบัน ด้วยเวลา 2:01:09 ชั่วโมง
นี่คือเรื่องราวความเป็นมาที่ทำให้นักวิ่งชาวญี่ปุ่นรายนี้ก้าวสู่วงการวิ่งมาราธอน และเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถขึ้นมาเป็นชาติชั้นนำของทวีปเอเชีย ด้านการวิ่งมาราธอน แม้พวกเขาจะไม่ได้มีสรีระร่างกายโดดเด่นมากนักสำหรับการวิ่ง
จุดเริ่มต้นในการออกวิ่ง
โจ ฟุคุดะ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1990 ในจังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ตัวเขามีความหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของการวิ่งมาตั้งแต่ตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และความหลงใหลนั้นนำไปสู่โอกาสที่ทำให้ตัวเขาเมื่อครั้งอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ลงแข่งขันในรายการ ฮาโคเน เอคิเด็น เทศกาลวิ่งผลัดมาราธอนครั้งใหญ่ของแดนอาทิตย์อุทัย ที่เหล่านักเรียนและนักศึกษา ต่างมีความใฝ่ฝันที่จะอยากจะก้าวขึ้นสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันรายการนี้
เขาได้สั่งสมประสบการณ์วิ่งระยะไกลและวิ่งมาราธอนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากผ่านการแข่งขันครั้งนั้น จนฟุคุดะก็ได้ก้าวสู่การเป็นนักวิ่งมาราธอนมืออาชีพ และได้สัมผัสกับบรรยากาศการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่มีความเข้นข้นสูงเป็นครั้งแรก เมื่อเขามีอายุได้ 25 ปี
"ผมเริ่มมาเอาจริงเอาจังกับการวิ่งมาราธอนตอนปี 2016 จากการที่ผมได้ลงแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกในรายการเลค บิวะ มาราธอน ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่ผมเริ่มวิ่งคือแบบ แทบจะหายใจไม่ทันเลย มันเหนื่อยมาก ๆ แค่ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ร่างกายของผมก็แทบจะไม่ไหวแล้ว" ฟุคุดะ เล่าถึงประสบการณ์การลงแข่งวิ่งมาราธอนครั้งแรกของเขา ในฐานะนักวิ่งมาราธอนมืออาชีพ
แม้ว่าช่วงแรก ๆ ของการลงแข่งวิ่งมาราธอนแบบมืออาชีพ ฟุคุดะจะยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความโหดหินของเวทีการวิ่งระดับนี้ได้นัก แต่เขาก็เลือกที่จะก้มหน้าก้มตาทำในสิ่งที่นักวิ่งมาราธอนควรจะต้องทำอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองสามารถทำความฝันในการจะเป็นนักวิ่งมาราธอนที่ทุกคนยอมรับให้เป็นจริง ด้วยท่าทีไร้ซึ่งความย่อท้อต่ออุปสรรคที่กำลังเผชิญ
"สำหรับผม สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่สำหรับการเป็นนักวิ่งมาราธอนมืออาชีพ ก็คงจะเป็นเรื่องการซ้อมวิ่งเนี่ยแหละ เพราะมันต้องอาศัยแรงจูงใจที่ดีอยู่ตลอดเวลา" ฟุคุดะ เล่าถึงอุปสรรคที่นักวิ่งมาราธอนทุกคนจะต้องเจอ
"โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ผมรู้สึกแย่ที่สุดกับการเป็นนักวิ่งมาราธอนอาชีพ คือการที่ฝึกซ้อมวิ่งแล้วไม่ได้รู้สึกสนุกกับมัน ซึ่งมันเกิดขึ้นกับตัวผมอยู่บ่อยครั้ง แต่ผมก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้นอกจากต้องฝึกซ้อมต่อไป เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้ผมสามารถพัฒนาเป็นนักวิ่งที่เก่งขึ้นกว่าเดิมได้ ถึงแม้มันจะเป็นช่วงเวลาที่แย่ แต่ผมก็คงต้องฝึกซ้อมต่อไป"
"ครั้งหนึ่งผมเคยตกรอบและต้องออกจากการแข่งขันกลางคัน มันทำให้ผมรู้สึกไม่มีความสุขกับการวิ่งไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ผมก็พยายามที่จะลืมความล้มเหลวเหล่านั้นไป แล้วลุกขึ้นมาสู้ใหม่ พร้อมกับทำให้ตัวเองกลับมามีความสุขกับการวิ่งในครั้งต่อ ๆ ไป"
นอกจากความพยายามทำให้ตัวเองสนุกไปกับการวิ่งอยู่ตลอดแล้ว ทุกกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับการเป็นนักวิ่งมาราธอนที่ดี ฟุคุดะก็ได้ทำมันอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ
"เพื่อให้สามารถทำเวลาได้ดีที่สุดในการวิ่งทุก ๆ รายการ พวกเรานักวิ่งมาราธอนต้องฝึกซ้อมวิ่งในระยะทางที่มากอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างของผม 1 เดือน ต้องวิ่งให้ได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรขึ้นไป ก็จะตีไปประมาณวันละ 1 มาราธอน (42.195 กิโลเมตร)"
"นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโภชนาการด้วย ทั้งอาหารการกิน เครื่องดื่ม ที่ต้องมีการกำหนดอยู่ตลอดว่าวันนี้ต้องกินอะไร ปริมาณเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่นักวิ่งมาราธอนอาชีพจะต้องทำอยู่เสมอ"
รวมถึงการได้รับพลังใจอันบริสุทธิ์มาจากนักวิ่งมาราธอนผู้เป็นต้นแบบที่ตัวเขาเองก็อยากจะเป็นให้ได้เหมือนกับนักวิ่งคนนั้น ก็มีส่วนช่วยให้ฟุคุดะสามารถรีดเค้นศักยภาพที่เขามีออกมาได้เรื่อย ๆ ในทุกการแข่งขันวิ่งมาราธอน
"ก็คงหนีไม่พ้น เอเลียด คิปโชเก้ ถ้าให้ผมเลือกนักวิ่งที่เป็นไอดอลของผม เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขกับการวิ่งอยู่เสมอ ยิ้มตลอดเวลา ไม่เคยแสดงอาการใด ๆ ที่บ่งบอกว่ารู้สึกเหนื่อยเลย แม้ว่าแท้จริงแล้วเขาอาจจะรู้สึกเหนื่อยมากก็ตาม ซึ่งผมเองก็อยากจะเป็นให้ได้เหมือนกับเขา"
หลังจากที่ฟุคุดะปรับตัวเข้ากับการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับอาชีพได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ แล้ว สิ่งที่ตามเขามาหลังจากนั้นก็คือ "ความสำเร็จ"
"ตอนที่ผมได้แชมป์วิ่งมาราธอนที่เมืองโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อกลางปีนี้ มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงเวลาหนึ่งเลยนะสำหรับการที่ผมก้าวมาเป็นนักวิ่งมาราธอน เพราะทุกการแข่งขันก่อนหน้านี้ อย่างดีผมก็ได้แค่ที่สอง, ที่สาม เท่านั้นเอง"
"แล้วก็ช่วงเวลาที่ดีที่สุดอีกอันหนึ่ง จะเป็นตอนที่ผมทำเวลาได้ดีที่สุด จำได้ว่าเป็นตอนที่ผมไปแข่งวิ่งมาราธอนที่เมืองโกลด์โคสต์เหมือนกันเลย แต่ตอนนั้นเป็นปี 2018 ทำเวลาไป 2:09:52 ชั่วโมง นั่นคือสถิติที่ดีที่สุดของผมแล้ว กับการวิ่งมาราธอน"
แต่ความสำเร็จดังกล่าวมันก็ยังไม่ได้ทำให้ฟุคุดะ รู้สึกว่าตัวเองยืนอยู่บนจุดสูงสุดแล้วสำหรับการเป็นนักวิ่งมาราธอน เพราะเขารู้ดีว่าตัวเองยังแข็งแกร่งได้มากกว่านี้อีก
"เป้าหมายต่อไปของผมในการเป็นนักวิ่งมาราธอน คือการทำเวลาวิ่งมาราธอนให้ดีกว่าเดิม ด้วยเวลาที่น้อยกว่า 2:08:00 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกทีมชาติญี่ปุ่นเรียกตัวไปลุยโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส" ฟุคุดะ เผยเป้าหมายต่อไปที่เขาอยากทำให้สำเร็จในปีหน้า
แม้ว่าเวลาที่ฟุคุดะจะตั้งเป้าหมายด้วยการทำเวลาวิ่งมาราธอนให้ได้น้อยกว่า 2:08:00 ชั่วโมง แต่นั่นก็ไม่ใช่เวลาดีสุดที่นักวิ่งมาราธอนญี่ปุ่นทำได้ โดยคนญี่ปุ่นที่ใช้เวลาในการวิ่งมาราธอนน้อยที่สุด ณ ตอนนี้คือ เคนโกะ ซูซูกิ นักวิ่งวัย 27 ปี ที่ทำเวลาไป 2:04:56 ชั่วโมง เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมันก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีเลยว่า ญี่ปุ่น คือหนึ่งในประเทศที่ผลิตนักวิ่งมาราธอนที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับนักวิ่งจากทวีปแอฟริกาได้
เพราะอะไร ทำไมพวกเขาถึงทำได้เช่นนั้น ?
ความรักที่คนญี่ปุ่นมีต่อการวิ่ง
หากมองไปยังปูมหลังทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าคนญี่ปุ่นมีความผูกพันกับกิจกรรมการวิ่งมาอย่างช้านาน ตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ที่คนญี่ปุ่นในตอนนั้นนิยมที่จะใช้การวิ่งเป็นระยะทางกว่าหลายกิโลเมตร เพื่อส่งสารสำคัญให้แก่ทางราชสำนัก
หรือหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น ได้มีการสร้างนโยบายและปัจจัยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และเมื่อพวกเขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พวกเขาก็จะมาเป็นกำลังในการช่วยฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบที่ได้รับในสงครามโลกครั้งที่ 2
"ผมคิดว่าที่ญี่ปุ่นเนี่ยมีโค้ชที่เก่ง ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาเยอะ แล้วพวกเขาก็คอยอบรมสั่งสอน คอยปลุกปั้นนักวิ่งที่มีความสามารถออกมาได้อยู่ตลอด บวกกับการที่พวกเรามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการวิ่งมาอย่างช้านาน"
"รวมไปถึงสังคมการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้สร้างปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมาะสมและเกื้อกูลกับคนที่อยากจะเป็นนักวิ่งมืออาชีพที่ดีกว่า ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันทำให้นักวิ่งญี่ปุ่นมีศักยภาพที่สูง แม้พวกเขาจะมีสรีระร่างกายที่ไม่ค่อยโดดเด่นสำหรับการวิ่งมากนัก"
นอกจากประวัติศาสตร์แล้ว ฟุคุดะยังได้บอกอีกว่า เทศกาลวิ่งผลัดมาราธอนครั้งใหญ่ในช่วงหน้าหนาวที่คนญี่ปุ่นเรียกมันว่า "ฮาโคเน เอคิเด็น" ก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำให้คนญี่ปุ่นหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของการวิ่งมากขึ้น
"ผมคิดว่า สิ่งที่เรียกว่า ฮาโคเน เอคิเด็น มีส่วนสำคัญมากเลยนะที่ทำให้คนญี่ปุ่นรักในการวิ่ง มันเป็นกิจกรรมที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือนักเรียน พวกเขาต่างใฝ่ฝันที่จะได้ลงแข่งขันในรายการนี้ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปีใหม่ของทุกปี มันเป็นรายการวิ่งที่คนทั่วประเทศญี่ปุ่นต่างให้ความสนใจ โดยพวกเขาจะรอรับชมการแข่งขันรายการนี้ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ในช่วงเวลาปีใหม่"
โดย ฮาโคเน เอคิเด็น คือรายการแข่งขันวิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนญี่ปุ่น มีอายุมามากกว่า 100 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นของ ฮาโคเน เอคิเด็น มาจากการที่ญี่ปุ่นอยากจะพัฒนานักวิ่งของพวกเขาให้แข็งแกร่งขึ้น จึงได้จัดการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลของนักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นในปี 1920 ก่อนที่มันจะกลายเป็นการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
"ตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยม ผมได้มีโอกาสดูเอคิเด็น ผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งจุดนั้นเองที่ทำให้ผมเริ่มหลงรักการวิ่ง และพยายามศึกษา พัฒนาสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ผมเป็นนักวิ่งที่ดีขึ้นอยู่เสมอ ผมคิดว่านักวิ่งญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ก็น่าจะมีจุดเริ่มต้นของการหลงรักในการวิ่งที่คล้าย ๆ กันกับตัวผม คือการได้ดูการแข่งขันวิ่งรายการนี้แล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความฝันที่อยากจะเป็นนักวิ่งอาชีพในอนาคต พร้อมกับทำเวลาในการวิ่งให้ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ"
ฟุคุดะยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในแวดวงของการ์ตูนเองก็มีมังงะที่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้สนใจที่จะออกวิ่งด้วยเช่นกัน
"มันมีมังงะอยู่เรื่องหนึ่งนะที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งมาราธอน ไม่รู้ว่ารู้จักกันหรือเปล่า ชื่อเรื่องว่า Kaze ga Tsuyoku Fuiteiru เรื่องราวเกี่ยวกับ ฮาโคเน เอคิเด็น เนื่ยแหละ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่น่ามีแล้วนะ"
สำหรับมังงะดังกล่าว Kaze ga Tsuyoku Fuiteiru หรือชื่อในภาษาอังกฤษ Run with the Wind คือผลงานมังงะที่ดัดแปลงมาจากนิยายของนักเขียนหญิงที่ชื่อ ชิอน มิอุระ ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2006
เรื่องราวเกี่ยวกับ คาเครุ คุราฮาระ ตัวเอกของเรื่องที่ไม่มีที่ซุกหัวนอนเพราะแพ้พนันหมดตัว ถูก ไฮจิ คิโยเสะ รุ่นพี่ที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน ชวนให้มาอยู่ที่หอพักเก่าแห่งหนึ่งด้วยกัน โดยไฮจิได้วางแผนร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในหอไว้แต่แรกแล้วว่า พวกเขาอยากจะดึงตัวคาเครุเข้ามาเป็นสมาชิกคนที่ 10 เพื่อตั้งทีมลงแข่ง ฮาโคเน เอคิเด็น
ความรักในการวิ่งของคนญี่ปุ่นไม่ได้มาจากแค่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ แรงสนับสนุนโดยภาครัฐ หรือซอฟต์พาวเวอร์สุดแกร่งของญี่ปุ่นอย่างมังงะและอนิเมะเท่านั้น
แต่ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนญี่ปุ่นหลงรักการวิ่ง จนเรียกได้ว่าการวิ่งกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นไปแล้ว
ตามหาความหมายของชีวิต
สังคมการใช้ชีวิตและการทำงานในญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่เคร่งเครียดมาก พวกเขาต้องเจอปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามาในชีวิตอยู่ตลอด เช่นการถูกกดขี่ข่มเหงจากเพื่อนร่วมงานที่อาวุโสกว่า เป็นต้น การวิ่งนี้เองที่สามารถช่วยให้พวกเขาได้ปลดเปลื้องความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ ให้หายหมดไปผ่านการก้าวเท้าไปมาบนพื้นถนน
ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นหนึ่งในคนที่เลือกเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำของตัวเองด้วยการวิ่งมาราธอน โดยเขาเคยกล่าวไว้ว่าการเขียนหนังสือกับการวิ่ง ทั้งสองมีจุดที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือเป็นกิจกรรมที่คน ๆ หนึ่งทำอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่มันก็ได้ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้พินิจไตร่ตรองว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นใคร ต้องการสิ่งใดจากการใช้ชีวิต
"คนญี่ปุ่นไม่ได้ออกวิ่งเพียงเพราะรู้สึกสนุกอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังตั้งคำถามต่าง ๆ กับตัวเองอยู่ตลอดระหว่างที่กำลังวิ่ง เพื่อทำความรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาให้มากขึ้น ดังนั้นสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การวิ่งก็เปรียบเสมือนกับการได้ตามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่สำหรับตัวเอง" ฟุคุดะ อธิบายถึงสิ่งที่คนญี่ปุ่นมักจะทำอยู่เสมอระหว่างออกวิ่ง
และคนญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ตัวเองได้ประโยชน์จากการวิ่งเพียงคนเดียว พวกเขาจึงเลือกที่จะทำกิจกรรมการวิ่งอยู่อย่างไม่ขาดสาย เพื่อเป็นการแสดงให้คนรุ่นหลังเห็นถึงประโยชน์อันมหาศาลของกิจกรรมชนิดนี้ และได้ลองทำตามบ้าง
"สำหรับคนญี่ปุ่นที่รักในการวิ่ง พวกเขาหมั่นฝึกซ้อมวิ่ง และทำแบบนั้นเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ทำมันให้ดีที่สุด เพื่อที่จะเก็บรักษาความรักในการวิ่งให้คงอยู่กับพวกเขาตลอด แล้วก็ถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นไปยังคนรุ่นหลัง อาจจะไม่ได้เป็นการเข้าไปแนะนำโดยตรง แต่เป็นการทำให้เห็นเพื่อเป็นตัวอย่าง ให้เด็ก ๆ อยากที่จะทำตามพวกเขา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมความรักในการวิ่งของคนญี่ปุ่นถึงยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน"
"สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ความรักในการวิ่งของคนญี่ปุ่นยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ คือการฝึกวิ่งอย่างเป็นประจำ ฝึกวิ่งอย่างต่อเนื่อง"
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
สำหรับมุมมองของ โจ ฟุคุดะ เขาเห็นว่าการที่ตัวเองเลือกมาเอาจริงเอาจังกับด้านการวิ่งมาราธอน มันได้สร้างประสบการณ์หลาย ๆ อย่างที่ดีต่อตัวเขา และจะเป็นเรื่องดีมากหากคนญี่ปุ่นรุ่นหลังจะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับที่เขาเคยได้มาเหมือนกัน
"มันก็มีหลายอย่างนะ สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการวิ่ง แต่ถ้าเอาที่ดีที่สุดสำหรับผม มันคือการที่ผมได้มีความสุขหลังผ่านความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการวิ่งมา เพราะว่าก่อนที่ลงซ้อมหรือแข่งวิ่ง ผมจะไม่ได้ทำอะไรตามที่ใจตัวเองต้องการ แต่พอผ่านการวิ่งที่ดุเดือดมาแล้วเนี่ย มันเหมือนกับทำให้ผมได้รู้สึกปลดปล่อย คือทุกอย่างมันไม่ต้องถูกคอนโทรลแล้ว"
"คือผมได้เจอกับนักวิ่งชาวเคนยาที่วิ่งเก่ง ๆ เยอะ ได้เห็นการซ้อมของพวกเขา ได้ซ้อมร่วมกับพวกเขา แข่งกับพวกเขา ผมหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะได้เห็นและเรียนรู้จากสิ่งที่ผมได้เจอมา และใช้มันเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาแกร่งขึ้นมากกว่าเดิม มากกว่าที่ผมเป็นอยู่ทุกวันนี้"
ก่อนที่ฟุคุดะจะปิดท้ายด้วยการแนะนำให้คนที่ไม่ได้สนใจการวิ่งหรือยังไม่เคยได้ลองท้าทายอะไรกับชีวิต ได้ลองหันมาวิ่งเพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่างที่อาจยังขาดหายไปในชีวิตของตัวเอง
"ผมอยากให้ลองวิ่งดู อยากให้ลองแชลเลนจ์อะไรใหม่ ๆ กับตัวเองดูว่าจะทำได้ดีแค่ไหนกับการวิ่ง เพื่อสร้างความหมายให้กับการใช้ชีวิต"
"อยากให้ลองมีแชลเลนจ์กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตร ถ้าไม่เคยวิ่งมาก่อน ก็ลองพยายามฝึกซ้อมให้วิ่งได้ ผมเชื่อว่าถ้าคุณได้ลองวิ่งมันอาจจะทำให้คุณได้พบเห็นโลกใบใหม่ที่คุณยังไม่เคยเจอ"
"และมันอาจจะสวยงามมากกว่าที่คุณคิดก็ได้"
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จุดกำเนิด "เอคิเด็น" เทศกาลวิ่งผลัดใหญ่ญี่ปุ่น สู่วัฒนธรรมป๊อปและรองเท้า "ไนกี้"
NN Running Team : โคตรทีมวิ่งแห่งยุคที่สร้าง "คิปโชเก้" และอีกหลายเจ้าของสถิติโลก