เอลิอุด คิปโชเก้ เจ้าของสถิติโลกวิ่งมาราธอน และมนุษย์คนแรกที่สามารถวิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง, เคเนนิซ่า เบเกเล่ มนุษย์ที่วิ่งมาราธอนได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก, โจชัว เชปเตไก เจ้าของสถิติโลก วิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตร ... นี่คือส่วนหนึ่งของยอดนักวิ่งระยะไกลชาวแอฟริกา
แม้ต่างที่มา ต่างสัญชาติ พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการเป็นสมาชิกของ NN Running Team ทีมวิ่งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ช่วยให้นักวิ่งเหล่านี้พัฒนาแบบก้าวกระโดด
ติดตามเรื่องราวของหนึ่งในโคตรทีมนักวิ่งแห่งยุค ที่พัฒนานักกีฬาสู่การทุบสถิติโลกครั้งแล้วครั้งเล่าได้ที่นี่กับ Main Stand
ทีมวิ่ง จากนักวิ่ง
NN Running Team คือทีมวิ่งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่มี NN Group บริษัทประกันภัยและบริหารจัดการทรัพย์สินรายใหญ่ของประเทศเป็นหนึ่งในโต้โผใหญ่ และพวกเขายืนยันว่า นี่คือ "ทีมวิ่งอาชีพทีมแรกของโลก"
ซึ่งเหตุผลที่ NN Group เลือกสนับสนุนกีฬาวิ่งนั้น เรมโก บาร์บิเอร์ (Remco Barbier) หัวหน้าฝ่ายการสร้างแบรนด์ของ NN Group เผยว่า "กีฬาวิ่ง สอดคล้องกับค่านิยมรวมถึงเป้าหมายของบริษัท ที่ต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น"
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวเท่านั้น เพราะยังมีอีกหนึ่งบุคคลที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างโคตรทีมนักวิ่งนี้ ซึ่งเขาก็เคยเป็นนักวิ่งเช่นกัน
จอส เฮอร์เมนส์ (Jos Hermens) คือชายผู้นั้น ... นี่คือนักวิ่งระยะไกลที่เก่งที่สุดของเนเธอร์แลนด์ในยุค 1970s เจ้าของแชมป์ประเทศในการวิ่ง 5,000 เมตรถึง 3 สมัย, เคยคว้าเหรียญทองแดงวิ่ง 10,000 เมตร รายการ IAAF World Cup ในปี 1977 และเคยทำสถิติ Hour Run วิ่งได้ไกลที่สุดในระยะเวลา 1 ชั่วโมงมาแล้ว
หลังจากชีวิตนักกีฬาต้องถูกปิดฉากจากอาการบาดเจ็บ เฮอร์เมนส์ได้ร่วมงานกับ Nike แบรนด์อุปกรณ์กีฬาระดับโลกจากสหรัฐอเมริกาเป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนตัดสินใจออกมาสร้างอาณาจักรของตัวเองในปี 1985 กับการก่อตั้งบริษัทเอเจนซี่กีฬา Global Sports Communication
ที่นี่เอง เขาได้เข้ามาเป็นผู้จัดการให้กับนักกีฬามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิ่ง ตามสายงานในอดีต แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งจากทวีปแอฟริกา ... ไฮเล เกเบรเซลาสซี่ (Haile Gebrselassie) ตำนานนักวิ่งระยะไกลชาวเอธิโอเปีย, เฮเซเกล เซเปง (Hezekiél Sepeng) เหรียญเงินวิ่ง 800 เมตร โอลิมปิก แอตแลนต้า 1996 ชาวแอฟริกาใต้ คือส่วนหนึ่งของนักวิ่งที่เขาเป็นผู้ดูแลในอดีต
และนี่คือจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การสร้างทีมวิ่งอาชีพในเวลาต่อมา...
เพชรที่รอการเจียระไน
"ผมไปที่เอธิโอเปียครั้งแรกในปี 1981 ตอนนั้นถนนแทบจะไม่มี การเดินทางแค่ 10 กิโลเมตร อาจต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง ส่วนตอนกลางคืน เสาไฟแทบจะไม่มีให้เห็น ส่วนเคนยา ผมไปที่นั่นครั้งแรกปี 1983 สภาพที่นั่นอาจจะต่างไปนิดหน่อย แต่โดยรวมก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่" จอส เฮอร์เมนส์ เล่าถึงสิ่งที่เขาพบเจอบนทวีปแอฟริกาในอดีต
แม้จะยากลำบาก แต่สิ่งที่เฮอร์เมนส์พบเจอเพิ่มเติม ทำให้เขาตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่า นั่นคือเหล่านักวิ่งจากทวีปแอฟริกาตะวันออก ที่มีศักยภาพล้นเหลือสู่การเป็นยอดนักวิ่งระยะไกลระดับโลก
"ผู้คนจากริฟท์แวลเล่ย์ในแอฟริกาตะวันออกมีมวลกระดูกที่เบา หลายคนเป็นคนเลี้ยงแกะที่ต้องเดินเป็นระยะทางไกล ๆ ในแต่ละวัน และยังมีอีกหลายคนที่ต้องเดินเท้าไปโรงเรียนทุก ๆ วัน นี่คือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีแต้มต่ออย่างมากเมื่อมาเป็นนักวิ่ง ยิ่งกว่านักวิ่งจากประเทศที่พัฒนาแล้วเสียอีก เพราะปกติเด็กกลุ่มนี้นั่งรถไปโรงเรียน"
"ส่วนเรื่องฝีเท้านี่ไม่ต้องห่วงเลย เด็กพวกนี้คุ้นเคยกับการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก ที่เคนยามีการแข่งขันตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ส่วนที่เอธิโอเปียนั้นมีสโมสรนักวิ่งที่มีภาคเอกชนให้การสนับสนุน แถมยังมีการแข่งระดับชาติทุกปี ที่สำคัญ พวกเขามีความมุ่งมั่นที่แรงกล้า นี่คือขุมทรัพย์ในการหาเพชรที่รอการเจียระไนเลยล่ะ"
ศักยภาพของนักวิ่งที่เคยผ่านการดูแลจากเขาและก้าวไปสู่ระดับโลก จุดประกายเฮอร์เมนส์ในการสร้างทีมวิ่งอาชีพขึ้นมา เพราะแม้โดยหลัก การวิ่งจะเป็นการสู้กับตัวเอง แต่หากมีกลุ่มที่วิ่งด้วยกัน ก็ยิ่งมีแรงผลักดันในการสร้างผลงานให้ดีกว่าเดิม ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถสร้างแทคติก แผนการเอาชนะได้หลากหลายอีกด้วย
นั่นทำให้แม้บนหน้าเว็บไซต์ของทีม จะมีรูปนักกีฬาขึ้นเพียง 20 คนก็ตาม แต่ความจริง NN Running Team มีสมาชิกเยอะกว่านั้นมาก เพราะแค่ตอนก่อตั้งทีมเมื่อปี 2017 ก็มีการเซ็นสัญญานักวิ่งทั้งชายและหญิงร่วมทีมมากกว่า 60 คนแล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิ่งเชื้อสายแอฟริกัน
เหตุผลนั้นเหรอ ? "เพราะการวิ่งคือกีฬาประเภททีม" ยังไงล่ะ
จงวิ่งด้วยความรู้สึก
เมื่อมีการค้นพบนักกีฬาระดับเพชรที่รอการเจียระไนในพื้นที่ห่างไกล สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเข้าใจของเรา ๆ คือนักกีฬาคนนั้นมักจะต้องย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิด ไปสู่ดินแดนที่มีความพร้อมของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในการฝึกซ้อมมากกว่า นั่นคือสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง
แต่นั่น ไม่ใช่วิถีของ NN Running Team เพราะสิ่งที่ทีมนี้ทำ (ผ่าน Global Sports Communication บริษัทที่เฮอร์เมส์เป็นผู้บริหารเช่นกัน) คือการไปสร้างศูนย์ฝึกที่ประเทศต้นทางของนักกีฬา ทั้งใน เคนยา เอธิโอเปีย หรือแม้แต่ อินเดีย และมันมีสาเหตุ...
"ระบบที่ยุโรปมันดีอยู่แล้ว สหพันธ์กีฬาของแต่ละชาติ รวมถึงรัฐบาลให้การสนับสนุนนักกีฬาดีมาก แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียว เพราะอีกเรื่องสำคัญคือ การฝึกซ้อมในพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล นักวิ่งจากทวีปแอฟริกาหลายคนเกิดและเติบโตที่นี่ พวกเขามีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงสูงมาแต่กำเนิด ทำให้รับออกซิเจนได้มากขึ้น และมันเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งเวลาลงมาวิ่งในระดับน้ำทะเล คิดดูแล้วกัน มันมีผลจนนักกีฬาชั้นนำหลายคนเดินทางมาฝึกซ้อมที่ทวีปแอฟริกาเลยครับ" เฮอร์เมนส์เผย
แม้อยู่ในแดนห่างไกล แต่แคมป์ฝึกซ้อมของ NN Running Team มีแทบทุกสิ่งที่ต้องการ ทั้งห้องนวด เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, โรงครัว รวมถึงฟาร์มปศุสัตว์และเรือกสวนไร่นาในการทำอาหาร ซึ่งเน้นอาหารสไตล์ท้องถิ่นที่นักวิ่งเหล่านี้คุ้นเคย ที่มาพร้อมโภชนาการที่เหมาะสมกับการวิ่งระยะไกลอยู่แล้ว สิ่งที่เราไม่สังเกตเห็น ดูจะมีเพียงห้องเวทเทรนนิ่งเท่านั้น เพราะพวกเขาดูจะให้ความสำคัญกับ บอดี้เวทเทรนนิ่ง ที่เน้นการใช้ร่างกายของตน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงมากกว่า
ทว่าในการฝึกซ้อมนั้น เรียกได้ว่าโหดหินจริง ๆ เพราะมีทั้งการฝึกซ้อมการวิ่งด้วยความเร็วบนลู่วิ่ง ที่แต่ละคนโอดครวญว่าเป็นการทรมานร่างกายขนานแท้ รวมถึงการวิ่งระยะทางไกล ซึ่งหากเป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตรยังพอว่า เพราะจะมีโค้ชคอยคุมเพซ (ความเร็วในการวิ่ง โดยทั่วไปสำหรับคนไทยจะใช้ นาที/กิโลเมตร) ให้ แต่ถ้าเป็นการวิ่งระยะทาง 25-30 กิโลเมตรเมื่อไหร่ เรียกได้ว่าราวกับเกมเอาตัวรอดกลาย ๆ เพราะแต่ละคนสามารถวิ่งได้อย่างอิสระ ใครช้าไม่รอ จนบางคนที่ตามไม่ทันถึงกับต้องวิ่งท่ามกลางความมืดด้วยตัวคนเดียวก็มีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม แคมป์ซ้อมของ NN Running Team นั้นก็มีแนวทางปฏิบัติในการวิ่งที่สำคัญอยู่ ซึ่งดูจะขัดกับความเชื่อของหลายคนยามต้องฟิตซ้อมอย่างหนักไม่น้อย นั่นคือ "จงวิ่งด้วยความรู้สึก" และ อับดี นาเกเย่ (Abdi Nageeye) นักวิ่งชาวโซมาเลียสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เรียนรู้เรื่องนี้จากการมาอยู่ที่นี่ ...
"สมัยก่อน ผมนี่ดูนาฬิกาตอนซ้อมวิ่งตลอดเวลาเลย และมันมีบางวันที่ผมวิ่งได้อย่างมั่นใจ คิดว่าน่าจะวิ่งเพซ 3:10 (3 นาที 10 วินาที/กิโลเมตร) พอเหลือบไปมองนาฬิกาเห็นเลขเพซ 2:56 (2 นาที 56 วินาที/กิโลเมตร) เท่านั้นแหละ สติผมเริ่มแตกเลย มันประมาณว่า 'เวร เร็วเกินไป แบบนี้วิ่งไม่จบแน่' แล้วก็ต้องลดความเร็วลง"
"เอลิอุด (คิปโชเก้) เห็นผมทำแบบนี้อยู่ 2-3 ครั้ง แล้วเขาก็บอกว่า 'ทำไมต้องมองนาฬิกาตลอดเวลาด้วย วิ่งด้วยความรู้สึกของนายสิ' หลังจากนั้นผมก็ไม่มองนาฬิกาอีกเลย แค่วิ่งไปเท่านั้น นั่นแหละ ผมรู้สึกเป็นอิสระ แล้วเวลาก็ดีขึ้น"
ผลงานสะเทือนวงการ
การฝึกซ้อมอย่างหนักสไตล์แอฟริกา เสริมด้วยวิทยาศาสตร์ทางกีฬาแบบยุโรป ไม่แปลกที่เราจะได้เห็น NN Running Team ประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า
เพราะเพียงแค่ปีแรกที่ก่อตั้ง NN Running Team ก็กวาดแชมป์ในการแข่งขันวิ่งมากถึง 52 รายการ ในจำนวนเหล่านั้น มีแชมป์มาราธอนเมเจอร์ (รายการใหญ่ 6 รายการ ประกอบด้วย บอสตัน, ชิคาโก, นิวยอร์ก, ลอนดอน, เบอร์ลิน และ โตเกียว) 3 รายการ และแชมป์โลกอีก 2 รายการ
ปัจจุบัน NN Running Team คว้าแชมป์เฉพาะในการแข่งวิ่งบนถนนมากกว่า 175 รายการ โดยเป็นการแข่งมาราธอนเมเจอร์มากกว่า 10 รายการ คว้าแชมป์โลกทั้งในการแข่งบนถนน, บนลู่ และครอสคันทรี่มาหมดแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างสถิติโลกขึ้นมาถึง 7 ครั้ง หนึ่งในนั้น คือสถิติโลกวิ่งมาราธอน 2 ชั่วโมง 1 นาที 9 วินาที ที่ เอลิอุด คิปโชเก้ (Eliud Kipchoge) เพิ่งทำได้สด ๆ ร้อน ๆ ใน เบอร์ลิน มาราธอน 2022 แถมยังเป็นการทุบสถิติเดิม 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที ที่เจ้าตัวทำไว้ในรายการเดียวกันเมื่อปี 2018 ถึง 30 วินาทีอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น NN Running Team ยังเป็นเบื้องหลังสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ "ทำลายกำแพงการวิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง" ของ เอลิอุด คิปโชเก้ ทั้งในงาน Breaking2 ที่จัดโดย Nike พันธมิตรหลักของทีม ที่ล้มเหลว เกินเป้าหมายไปด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 25 วินาที และงาน INEOS 1:59 Challenge ที่ประสบความสำเร็จด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที แม้จะไม่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกอย่างเป็นทางการก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ในโอลิมปิก โตเกียว 2020 NN Running Team จะมีนักกีฬาในสังกัด ลงทำการแข่งขันมากถึง 16 คน ในการแข่งขัน 6 รายการ ประกอบด้วย วิ่ง 5,000 เมตร ทั้งชายและหญิง, วิ่ง 10,000 เมตร ทั้งชายและหญิง รวมถึง วิ่งมาราธอน ทั้งชายและหญิง และสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ถึง 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน โดย โจชัว เชปเตไก (Joshua Cheptegei) จากยูกันดา เจ้าของสถิติโลก วิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตรชาย ที่คว้าเหรียญทองได้ในการแข่งวิ่ง 5,000 เมตร และเหรียญเงินในการแข่งวิ่ง 10,000 เมตรชาย, อับดี นาเกเย่ ที่คว้าเหรียญเงินวิ่งมาราธอน และที่ขาดไม่ได้ ... เอลิอุด คิปโชเก้ เจ้าของเหรียญทองวิ่งมาราธอน ที่คว้าเหรียญทองรายการนี้ในโอลิมปิก 2 สมัย ใน ริโอ 2016 และ โตเกียว 2020
ต้นทุนทางกายภาพของนักกีฬาที่สูงลิบ, การฝึกซ้อมที่ผสานทั้งวิธีดั้งเดิมและวิทยาการทันสมัย และผลงานอันสุดยอดในสนามแข่งทั่วโลก NN Running Team จึงเป็นยอดทีมแห่งวงการวิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
และจงอย่าแปลกใจ หากจะได้เห็นชื่อของทีมนี้ ครองความยิ่งใหญ่ในวงการไปอีกนาน
แหล่งอ้างอิง
https://www.nnrunningteam.com
https://www.youtube.com/channel/UCn67RpOfpZk0a8ZPpBNgMsg
https://www.globalsportscommunication.nl/
https://www.nnrunningteam.com/news/2018-11-06-my-toughest-training-session/
https://runningmagazine.ca/the-scene/4-important-lessons-for-runners-from-the-nn-running-team/
https://www.nn-group.com/financial-article/nn-group-and-global-sports-communication-present-the-nn-running-team.htm
https://www.nn-group.com/financial-article/nn-running-team-celebrates-one-year-anniversary.htm
https://www.nn-group.com/article/a-good-manager-helps-athletes-to-achieve-goals-and-dreams.htm
https://www.firstpost.com/sports/eliud-kipchoge-interview-its-still-my-legs-that-are-doing-the-running-not-the-shoe-8818321.html
https://www.fastrunning.com/running-athletics-news/world/just-run-with-your-feeling/30084
https://www.hindustantimes.com/other-sports/jos-hermens-on-how-kipchoge-broke-two-hour-barrier-and-indian-athletes/story-Wnq73NpaRQcgIGoUuYtHmO.html
https://en.wikipedia.org/wiki/NN_Running_Team