Feature

จีนแชมป์บอลโลก 2050: เมื่อ สี จิ้นผิง อยากใช้ฟุตบอลเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจีน (แต่ยังไม่สำเร็จ) | Main Stand

ญี่ปุ่น ได้ประกาศกร้าวไว้เมื่อ 17 ปีที่แล้วว่าพวกเขาจะต้องก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกให้ได้ในปี 2050 โดยมีแผนว่าทัพซามูไรบลูส์จะต้องเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลก 2022 ได้สำเร็จ ซึ่งพวกเขาเกือบทำได้แล้ว ก่อนพลาดท่าพ่ายให้กับ โครเอเชีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย

 

สถานการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับชาติเพื่อนบ้านอย่าง ประเทศจีน ที่หวังว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน กับคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาให้ได้ก่อนปี 2050 เช่นกัน

อย่างไรก็ตามฟุตบอลโลกรอบนี้ถือเป็นความน่าผิดหวังของนักเตะแดนมังกร หลังจอดป้ายในรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ด้วยการจบอันดับรองสุดท้ายของกลุ่ม B จากการชนะเพียง 1 เกมเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับฝันไปฟุตบอลโลกของจีน ร่วมไขคำตอบได้กับ Main Stand

 

ผู้นำสั่งลุย

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน เป็นหนึ่งในแฟนกีฬาฟุตบอลตัวยง ถึงขั้นที่ในปี 1983 เจ้าตัวเคยเดินทางไกลเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อมาดูทีมชาติจีนเตะกับ วัดฟอร์ด ที่มีนักร้องชื่อดังอย่าง เอลตัน จอห์น เป็นเจ้าของอยู่ในตอนนั้น

ผลในวันนั้นจบลงด้วยชัยชนะของวัตฟอร์ด 3-1 และผู้ชมจากเกมวันนั้นก็กลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศในวันนี้แล้ว

และหากย้อนไปในปี 2011 สี จิ้นผิง ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอยู่ เคยระบุว่าตัวเขามีความฝันสามประการกับฟุตบอลของประเทศจีน นั่นคือจีนต้องได้แข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน และคว้าแชมป์โลกให้ได้ในที่สุด

จากจุดนั้นมันได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ “แผนการปฏิวัติและพัฒนาฟุตบอล” ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2016 โดยในแผนดังกล่าวระบุว่า ในปี 2020 จีนจะสร้างโรงเรียนกีฬาฟุตบอลเพิ่มมาอีก 20,000 แห่ง โดยต้องมีสนามบอลใหม่อีก 70,000 สนาม เพื่อสร้างเยาวชนที่เล่นฟุตบอลขึ้นมาให้ได้ 30-50 ล้านคน

ในปี 2030 จีนจะมีโรงเรียนฟุตบอลเพิ่มเป็น 50,000 แห่ง และทีมฟุตบอลชายจะต้องอยู่ในแถวหน้าของทวีปเอเชียได้แล้ว ส่วนทีมฟุตบอลหญิงต้องเป็นทีมชั้นนำระดับโลกตั้งแต่จุดนี้ เพื่อส่งต่อไปยังหมุดหมายต่อไป...

ปี 2050 จีนจะต้องเป็นชาติมหาอำนาจโลกลูกหนังที่ติด 20 อันดับแรกของโลก ได้เป็นเจ้าภาพ และได้แชมป์โลก ตามแนวคิดของ สี จิ้นผิง

แน่นอนว่าจีนจริงจังกับเรื่องนี้ พวกเขามีข้อได้เปรียบในด้านประชากร แถมยังมีทรัพยากรที่มากมาย นั่นจึงนำไปสู่การยกระดับฟุตบอลลีกในประเทศอย่าง ไชนีส ซูเปอร์ลีก ที่มีความเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาดังกล่าว

นักเตะระดับโลกอย่าง คาร์ลอส เตเบซ, ดิดิเยร์ ดร็อกบาร์, ออสการ์, รามิเรส, และ มาร์เร็ค ฮัมซิค ต่างย้ายมาค้าแข้งอยู่ในแดนมังกร ด้วยค่าตัวและค่าเหนื่อยที่สูงจนไม่อาจปฏิเสธได้ และสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดกระแสกับลีกอาชีพของจีนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ทั้งหมดทั้งมวลดูเหมือนจะไปได้ดี แต่แล้วโลกแห่งความจริงก็พลิกผันขึ้นมา...

 

เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้

อาจจริงที่ฟุตบอลลีกจีนได้รับการลงทุนจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ในประเทศ แต่การนำเม็ดเงินมหาศาลมาทุ่มในช่วงดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ตามมาอย่างรวดเร็ว

หลายสโมสรมีรายจ่าย อาทิ ค่าจ้าง ค่าตัวนักบอล และการบำรุงดูแลสนามที่สูงเกินกว่ารายรับจากตั๋วเข้าชมและรายได้จากสปอนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการห้ามตั้งชื่อผู้สนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสโมสรฟุตบอลแล้ว ก็ทำให้สปอนเซอร์หลายรายถอนตัวออกไป และมีผลต่อปัญหาการเงินของหลายทีมโดยตรง

หนำซ้ำสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 กับมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศที่ยืดเยื้อมานานกว่าสองปีก็ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม เพราะสโมสรไม่สามารถสร้างรายได้ ไม่มีคนดูเข้าสนาม ลีกไม่อาจดำเนินการได้ตามเดิม จนหลายทีมยังค้างค่าจ้างของนักเตะและบุคลากรในทีมอยู่จนถึงปัจจุบัน

แต่นอกจากเรื่องของฟุตบอลลีกแล้ว การพัฒนาเยาวชนในประเทศก็ยังไม่ดีพอ จากความเห็นของ เฟิง เสี่ยวถิง อดีตเซ็นเตอร์แบ็กกัปตันทีมชาติจีน ระบุว่า “การผ่านเข้าฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2026 ดูเป็นเรื่องยากมาก และอาจรวมถึงฟุตบอลโลก 2030 ด้วย”

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ ไซมอน แชดวิค อาจารย์ด้านกีฬาของ Emlyon Business School ที่ให้ความเห็นว่ากีฬาฟุตบอลยังเป็นชนิดกีฬาที่ได้รับความสนใจน้อยนิดเมื่อเทียบกับกีฬาอย่างบาสเกตบอล แบดมินตัน หรือปิงปอง แม้จะมีแฟนบอลอยู่มากมายทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตาม

“ฟุตบอลเป็นเกมของผู้คน บางคนอาจบอกว่านี่คือกีฬาระดับโลก แต่ในความจริงผมไม่คิดว่าจีนกำลังเล่นเกมทั้งสองแบบนี้ได้ดีสักเท่าไร”

หนึ่งในสิ่งที่แชดวิคเล็งเห็นคือจีนอาจเผชิญกับปัญหาในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ชุดความคิดของผู้ปกครองต่อบุตรหลานที่อยากเติบโตขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่อาจได้รับการสนับสนุนดีกว่าในชาติฝั่งตะวันตก แต่มักถูกคัดค้านจากผู้ปกครองของฝั่งตะวันออก รวมถึงระบบการศึกษาของจีนในองค์รวมที่ไม่ได้สอนทักษะที่จำเป็นกับตัวของเด็ก เพื่อใช้ลงแข่งบนสนามหญ้าสีเขียวในอนาคตได้

แต่แม้นักเตะจีนจะไม่ได้ไปถึงฝั่งฝันในวันนี้ ก็ยังมีความเป็นจีนอีกหลายอย่างที่ก้าวไปสู่เวทีระดับโลกได้แล้ว

 

ซอฟต์พาวเวอร์ (ลับ)

หากสังเกตป้ายโฆษณาข้างสนามในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ คุณอาจเห็นโฆษณาภาษาจีนต่าง ๆ ปรากฏขึ้นมาเป็นครั้งคราว

นั่นเพราะจีนมีแบรนด์อย่าง Wanda (ว่านต๋า) เป็นผู้สนับสนุนฟีฟ่าไปจนถึงปี 2030 เช่นเดียวกับ Hisense (ไฮเซนส์) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังจากแดนมังกร ที่มาร่วมสนับสนุนฟุตบอลโลก 2022 เป็นครั้งแรก

ทว่านี่ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะเบื้องหลังป้ายโฆษณาดิจิทัลรอบสนามยังมี ลูเซล สเตเดียม (Lusail Stadium) สังเวียนแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ที่ถูกก่อสร้างโดยบริษัท CRCC ของประเทศจีน ร่วมกับบริษัท HBK ของเจ้าภาพกาตาร์ ในระดับที่ โจว เจี้ยน ทูตจีนประจำประเทศกาตาร์ ระบุว่า “นี่คือโปรเจ็กต์อันโดดเด่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของจีนต่อฟุตบอลโลกครั้งนี้”

เครื่องปรับอากาศอีก 2,500 ชุดในจุดตรวจของทุกสนามการแข่งขันได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท Midea เช่นเดียวกับรถรับส่ง 1,500 คันที่ได้บริษัท Yutong ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นบนท้องถนนประเทศไทยมาก่อนแล้ว มาช่วยสนับสนุนในการแข่งขันฟุตบอลโลกด้วยเช่นกัน โดยรายหลังยังมีแผนเปิดโรงงานในประเทศกาตาร์เพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากรายละเอียดข้างต้น จีนยังมีส่วนในการส่งตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งเป็นหมู่บ้านแฟนบอล ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และผลิตของที่ระลึกต่าง ๆ เพื่อฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ รายการแข่งขันที่พวกเขาเคยผ่านเข้ารอบได้แค่ครั้งเดียวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อทางการจีนให้ความสำคัญกับกีฬาฟุตบอล นั่นคือการที่ชนิดกีฬานี้สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง เพื่อลบล้างภาพจำที่ไม่ดีของประเทศออกไป และผลักดันให้จีนเป็นชาติมหาอำนาจที่ดูเข้าถึงได้ ไม่น่ากลัวหรือล้าหลังเหมือนในอดีตอีกต่อไป


พวกเขาเคยทำได้ในสมัยโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง เช่นเดียวกับที่ ซาอุดีอาระเบีย และ กาตาร์ ต่างพยายามลงทุนกับกีฬาที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก ด้วยความหวังว่าผลงานของพวกเขาจะทัดเทียมอยู่ในแนวหน้าของโลก เฉกเช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของประเทศที่ได้รับการชะล้าง หรือ Sportwashing ออกไปจนสะอาดเอี่ยมอ่อง

แต่จีนจะทำอย่างนั้น กับแผนการส่งทีมฟุตบอลชายไปคว้าแชมป์โลก หรือเข้าไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้หรือไม่นั้น ต้องรอติดตามดูกัน

 

แหล่งข้อมูล:

https://wildeastfootball.net/blog/watford-elton-john-xi-jinping/
https://theathletic.com/3951847/2022/12/18/china-world-cup-qatar/
https://www.reuters.com/world/china/china-draws-up-action-plan-boost-world-cup-ambitions-2021-05-28/
https://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/1935166/china-sets-out-grand-plan-become-worlds-soccer
https://www.thefootballgroup.com/chinese-super-league-strategy/
https://www.jfa.jp/eng/about_jfa/plan/JFA_plan2022_2025_eng.pdf
https://www.abc.net.au/news/2022-04-23/china-national-football-sports-industry/101008606

Author

กรทอง วิริยะเศวตกุล

2000 - Football and F1 fanatics - Space enthusiasts - aka KornKT

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น