อังกฤษ เจอกับ ฝรั่งเศส คราใด มักเป็นเกมคลาสสิกเสมอ แต่หากนับเฉพาะทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ดูเหมือนทีมตราไก่จะคว้าชัยได้ทุกคราไป
ครั้งหนึ่ง วันที่ทีมชาติอังกฤษถูกเรียกว่า "โกลเดนเจเนอเรชั่น" กลับแพ้ฝรั่งเศสแบบโดนยิงในช่วงทดเจ็บ 2 ลูกรวดในยูโร 2004 และเบื้องหลังของเกมนั้นมีอยู่ว่า...
ติดตามได้ที่ Main Stand
2004 คือจุดพีก
แฟนบอลอังกฤษและสื่ออังกฤษเรียกทีมชาติอังกฤษในช่วงปี 2002-2006 ว่าเป็น "ยุคทอง" ของพวกเขา
อดัม โครเซียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ให้เหตุผลของการใช้คำว่ายุคทองว่า นี่คือทีมชุดนี้มีนักเตะที่ได้รับการยกย่องบนหน้าสื่อ เป็นนักเตะที่มีคาแร็กเตอร์ของผู้ชนะ และเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงมูลค่าทางการตลาดของทีมอังกฤษในช่วงเวลานั้น
คงไม่มีใครเถียงที่เขาจะพูดกันแบบนั้น เพราะอังกฤษยุคนั้นเต็มไปด้วยผู้เล่นแถวหน้าของโลก สตีเว่น เจอร์ราร์ด, พอล สโคลส์, เวย์น รูนี่ย์, แฟรงก์ แลมพาร์ด, ไมเคิล โอเว่น, เดวิด เบ็คแฮม, แอชลี่ย์ โคล, จอห์น เทอร์รี่ และ โซล แคมป์เบลล์ นักเตะพวกนี้กวาดแชมป์ในระดับสโมสรมามากมาย และเป็นนักเตะอังกฤษที่เป็นตัวท็อปของพรีเมียร์ลีก ณ เวลานั้นด้วย
ยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทีมจากพรีเมียร์ลีกที่ได้ชื่อว่าเป็น "บิ๊กโฟร์" ต่างก็เป็นทีมที่สโมสรจากยุโรปประเทศอื่น ๆ ไม่อยากจะเจอ เชลซี มี โชเซ่ มูรินโญ่ และนักเตะค่าตัวแพงมากมาย, อาร์เซนอล มีทีมไร้พ่ายคุมทัพโดย อาร์แซน เวนเกอร์, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มี เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ ลิเวอร์พูล ก็เป็นเซียนบอลถ้วย ... ทั้ง 4 ทีมขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น มันเป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลอังกฤษเฟื่องฟูที่สุด และแทบจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่พรีเมียร์ลีกถูกยกให้เหนือกว่าทีมจากสเปนหรือ อิตาลีที่ครองความยิ่งใหญ่ในช่วงยุค 1980s-1990s
ทีมอังกฤษชุดนี้เดินหน้าเข้าสู่ ยูโร 2004 ด้วยสถานะทีม "เต็งแชมป์" อย่างไรก็ตามเกมแรกของยูโรครั้งนั้นที่กรีซ พวกเขามีโอกาสได้เจอกับของแข็งตั้งแต่เกมแรกนั่นคือ ฝรั่งเศส ที่อยู่ในยุคทองไม่แพ้กัน เพียงแต่ฝรั่งเศสยุคนั้นคือยุคทองที่สามารถคว้าถ้วยรางวัลมาเป็นเครื่องการันตีความยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่การปั่นกระแสจากสื่อ หรือเรียกว่ายุคทองอะไรทำนองนั้น
ฝรั่งเศส คว้าแชมป์โลกในปี 1998 ต่อด้วยแชมป์ยูโร 2000 แม้ฟุตบอลโลก 2002 พวกเขาจะตกรอบแรก แต่ขุมกำลังอย่าง เธียร์รี่ อองรี, โรแบร์ ปิแรส, ปาทริค วิเอร่า, ดาวิด เทรเซเกต์ และ ซีเนดีน ซีดาน ยังคงอยู่กันพร้อมหน้า และนั่นหมายถึงว่าฝรั่งเศสก็เป็นเต็งแชมป์ในยูโร 2004 เหมือนกัน
พวกเขาเจอกันตั้งแต่เกมแรกของรอบแบ่งกลุ่ม มันเป็นเกมที่ทั่วโลกจับจ้องการบันทึกไว้ว่ามีผู้ชมรอชมเกมนี้ผ่านการถ่ายทอดสดมากถึง 45 ล้านคนทั่วโลก นั่นเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่านี่เป็นการเจอกันของ 2 ทีมที่คนดูอยากจะดูมากที่สุดเกมหนึ่งในทัวร์นาเมนต์นั้นอย่างแท้จริง
ฟุตบอลเป็นเรื่องของทีม
ทั้ง 2 ทีมมาในแผนการเล่น 4-4-2 ฝรั่งเศสที่ตอนนั้นมี ฌากส์ ซองตินี่ คุมทัพ จัด 11 ตัวจริงได้แก่ 16 ฟาเบียง บาร์กเตซ - 5 วิลเลี่ยม กัลลาส, 15 ลิลิยง ตูราม, 13 มิคาเอล ซิลแวสตร์, 3 บิเซนเต้ ลิซาราซู - 6 โคลด มาเกเลเล่, 4 ปาทริค วิเอร่า, 7 โรแบร์ ปิแรส, 10 ซีเนดีน ซีดาน - 12 เธียร์รี อองรี, 20 ดาวิด เทรเซเกต์
ขณะที่อังกฤษโดย สเวน โกรัน อีริคส์สัน นำโดย 1 เดวิด เจมส์ - 2 แกรี่ เนวิลล์, 6 โซล แคมป์เบลล์, 15 เลดลี่ย์ คิง, 3 แอชลี่ย์ โคล - 4 สตีเว่น เจอร์ราร์ด, 11 แฟรงก์ แลมพาร์ด, 7 เดวิด เบ็คแฮม, 8 พอล สโคลส์ - 10 ไมเคิล โอเว่น, 9 เวย์น รูนี่ย์
อังกฤษเปิดเกมด้วยความร้อนแรง ในเกมนั้นพวกเขาใช้การยืนมิดฟิลด์แบบ 4-4-2 ไดมอนด์ ที่มี เจอร์ราร์ด อยู่ด้านล่างสุดของแผงมิดฟิลด์ กองกลางด้านขวาเป็น เดวิด เบ็คแฮม กองกลางด้านซ้ายเป็น พอล สโคลส์ และมี แฟรงก์ แลมพาร์ด ยืนอยู่หลัง 2 กองหน้าอย่าง โอเว่น และ รูนี่ย์
ด้วยแผนที่ว่ามาทำให้อังกฤษเอาชนะในแดนกลางได้ในช่วงครึ่งแรก พวกเขามีโอกาสยิงหลายครั้งก่อนจะมาทำสำเร็จจากจังหวะฟรีคิกในช่วงท้ายครึ่งแรก เบ็คแฮม โยนจากริมเส้นฝั่งขวาและ แลมพาร์ด โหม่งให้อังกฤษขึ้นนำไป 1-0 ก่อนจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นั้น
ครึ่งหลังฝรั่งเศสกลับมาเป็นฝ่ายครองบอล และด้วยดีกรีความเก๋าของทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะชุดแชมป์โลกและแชมป์ยุโรป ฝรั่งเศสก็เริ่มครองเกมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซีเนดีน ซีดาน ตื่นขึ้นจากช่วงเวลาที่ทีมตามหลัง และจากนั้นเขาเริ่มบัญชาเกมแบบที่เขาถนัด สโคลส์, แลมพาร์ด, เจอร์ราร์ด และ เบ็คแฮม 4 กองกลางของอังกฤษเริ่มต่อกันไม่ติด
แต่ถึงอย่างนั้นอังกฤษก็มาได้จุดโทษในนาทีที่ 73 จากจังหวะฟาวล์ของ ซิลแวสตร์ ที่สกัดใส่ เวย์น รูนี่ย์ ก่อนที่อังกฤษจะให้ เดวิด เบ็คแฮม กัปตันทีมเป็นคนยิงจุดโทษ ซึ่งที่สุดแล้ว เบ็คแฮม ยิงไปที่ซ้ายมือของตัวเอง ก่อนที่ บาร์กเตซ ที่เคยเล่นร่วมกันในสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด จะอ่านทางออกและพุ่งปัดทิ้งออกไป
ช่วง 10 นาทีสุดท้ายฝรั่งเศสดาหน้าบุกแบบไม่มีถอนกำลัง จนกระทั่งถึงนาที 90+1 ซีเนดีน ซีดาน ยิงฟรีคิกจากหน้ากรอบเขตโทษด้วยลูกยิงที่แม่นยำและไม่มีใครหยุดยั้งได้ แหวกกองหลังอังกฤษผ่านมือ เดวิด เจมส์ จนทำให้สกอร์กลับมาเสมอ 1-1
เท่านั้นยังไม่พอ ก่อนหมดเวลา 30 วินาทีเท่านั้น เจอร์ราร์ด จ่ายคืนหลังให้ผู้รักษาประตูแบบไม่ได้เช็คให้ดี ซึ่ง อองรี จอมเจ้าเล่ห์เล็งจังหวะแบบนั้นอยู่ ก่อนที่ อองรี จะวิ่งตัดหน้า เดวิด เจมส์ และถูกสกัดล้มในเขตโทษ ซีดาน สังหารจุดโทษทำให้ ฝรั่งเศส ชนะอังกฤษยุคทองไปอย่างน่าเจ็บปวด
นักเตะอังกฤษไม่คิดว่าตัวเองจะแพ้ ไม่แม้แต่จะคาดหวังผลเสมอ เพราะในช่วง 90 นาที พวกเขายังนำอยู่ 1-0 เลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามฟุตบอลมันมักจะมีเรื่องคลาสสิกแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ นักเตะดัง นักเตะดี ไม่ได้การันตีว่าจะชนะ และอังกฤษยุคทองก็มีปัญหามากมายเหลือเกินหลบซ่อนอยู่ภายใน
ปัญหานี้ไม่ได้มองเห็นด้วยตาของแฟนบอล แต่มันเป็นสิ่งที่นักเตะในทีมชาติอังกฤษรู้สึกเป็นอย่างดี
จุดอ่อนของยุคทอง
ยุคทองของอังกฤษนั้นเต็มไปด้วยนักเตะดังอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น อันที่จริงแล้วนักเตะส่วนใหญ่มีสไตล์การเล่นที่คล้ายกันมากไปและขาดความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแดนกลางที่เป็นปัญหาโลกแตกอย่าง เจอร์ราร์ด, แลมพาร์ด และ สโคลส์
ทั้ง 3 คนนี้คือปัญหาโลกแตกสำหรับทีมชาติอังกฤษยุค 2000s อย่างแท้จริง เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขาเล่นในตำแหน่งเดียวกัน นั่นคือมิดฟิลด์ตัวกลาง ที่แม้จะปักหลักอยู่ที่กลางสนาม ทว่าแต่ละคนก็มีจุดเด่นที่เกมรุกและการสอดไปทำประตูเหมือนกัน หนำซ้ำคาแร็กเตอร์แต่ละคนยังคล้าย ๆ กันอีก โดยเฉพาะ เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด นั้น เรียกได้ว่าเป็นจอมทัพทั้งในและนอกสนาม เขาคือคนที่ทรงอิทธิพลและมีความเป็นผู้นำมากกว่าเป็นผู้ตาม ขณะที่ สโคลส์ เองแม้จะเป็นรองในเรื่องนี้ แต่จิตวิญญาณของการเป็นผู้ชนะของเขาก็ไม่แพ้ใคร นั่นคือปัญหาที่ชวนให้กุนซือทีมชาติอังกฤษ ณ เวลานั้นอย่าง สเวน โกรัน อีริคส์สัน ต้องปวดหัวอย่างไม่ที่สิ้นสุด
กล่าวคือทุกคนเก่งในสนามเหมือนกันหมด มีคาแร็กเตอร์แบบผู้ชนะเหมือนกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าจริง ๆ แล้วในตำแหน่งนี้ควรจะมีเพียงแค่ 1 เดียวเท่านั้นที่เป็นแกนหลักเพื่อคงเอาไว้ซึ่งระบบของทีม ชัดเจนว่าการมียอดผู้เล่นในแดนกลางถึง 3 คนสำหรับตำแหน่งเดียวนั้นส่งผลต่อการวางแทคติกอย่างไม่ต้องสงสัย
ทว่าที่สุดแล้ว อีริคส์สัน ก็ตัดปัญหาการ "เลือกไม่ได้" ให้จบลงอย่างง่าย ๆ นั่นคือการยัดทั้ง 3 คนลงไปเล่นพร้อมกันทีเดียว เพราะเมื่อเขาเลือกใครสักคนลงสนามและเอาใครอีกคนเป็นตัวสำรองก็จะมีคำวิจารณ์ต่าง ๆ นานาว่าทำไมถึงไม่ใช้งานคนนี้ ทำไมถึงใช้งานคนนั้น มันคือปัญหาที่แก้ยังไงก็ไม่ลงตัว
การจัดกองกลางแบบ 4-4-2 ไดมอนด์ทำให้ฟุตบอลริมเส้นที่เป็นจุดเด่นของอังกฤษทุกยุคทุกสมัยต้องขาดหายไป นอกจากนี้ยังขาดตัวรับธรรมชาติไปอีก นั่นทำให้ขุมกำลังของอังกฤษหากเช็คตามไลน์อัปแล้วจะดูแข็งแกร่ง แต่เมื่อแข่งจริงพวกเขาขาดซึ่งสมดุล เทียบง่าย ๆ กับฝรั่งเศสที่มีตัวรับและตัวรุกสมดุลกันแบบสุด ๆ มี โคลด มาเกเลเล่ ยืนอยู่หน้ากองหลัง มี วิเอร่า ช่วยเก็บอลในแดนกลาง 2 คนนี้ทำให้ ซีดาน โบยบินในแนวรุกอย่างมีอิสระ แตกต่างกับอังกฤษที่ตำแหน่งหน้าที่กั๊ก ๆ กันไปหมด จะรุกก็ไม่สุดจะรับก็ไม่ดี
"ตัวของผมและ สตีเว่น เจอร์ราร์ด เล่นกองกลางด้วยกันได้ แต่ถ้าไม่มีใครสักคนอยู่ข้างหลังพวกเรา (หมายถึงกองกลางตัวรับ) มันจะทำให้คุณกังวลใจเสมอว่าเราจะสอดประสานและทดแทนกันได้ดีแค่ไหน เพื่อให้มีใครคนหนึ่งได้เติมขึ้นไปข้างหน้าอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องระแวงอะไร"
"สิ่งที่แย่ที่สุดของฟุตบอลคือ เมื่อคุณเริ่มใช้เวลาที่จะคาดเดาการวิ่งกับการเคลื่อนที่ของคุณและเพื่อนร่วมทีมเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นมันจะช้าไปเสียแล้ว เพราะทุกอย่างมันจะหมุนไปรอบตัวเราเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดเอาไว้" แลมพาร์ด พูดถึงปัญหาโลกแตกของอังกฤษในวันที่เขากลายเป็นกุนซือเอง
นอกจากปัญหาไร้ความสมดุลของวิธีการเล่นแล้ว การมีสตาร์มากไปทำให้โค้ชต้องเฉลี่ยความไว้ใจและใส่ใจให้ทุก ๆ คนเท่า ๆ กัน อังกฤษเป็นอีกหนึ่งทีมที่เปลี่ยนตัวคนยิงจุดโทษบ่อยมากในช่วงนั้น เพราะแต่ละคนก็เป็นมือยิงจุดโทษให้ต้นสังกัดทั้งสิ้น เมื่อไม่ได้ล็อกคนยิงตายตัวมันก็ส่งผลถึงความแน่นอนตามมา ทั้ง แลมพาร์ด, เจอร์ราร์ด, เบ็คแฮม และ รูนี่ย์ ต่างก็สลับ ๆ กันยิงและเคยพลาดจุดโทษให้กับทีมชาติอังกฤษมาแล้วทั้งสิ้น
เหนือสิ่งอื่นใดคือเมื่อแต่ละคนมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นตัวท็อปของแต่ละสโมสรจึงมีเรื่องของการเป็นคู่แข่งกันในระดับสโมสรมาเกี่ยวข้องด้วย ว่ากันตามตรงก็คือนักเตะพวกนี้ห้ำหั่นกันในลีกแบบเอาเป็นเอาตาย มีความเป็นอริกันโดยสายเลือด และแย่งแชมป์กันอย่างเข้มข้นเสมอ
เรื่องนี้ ริโอ เฟอร์ดินานด์ เคยออกมาบอกเองว่าการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องขับเคี่ยวกับทีมกลุ่มบิ๊กโฟร์อย่างดุเดือดทำให้ทัศนคติของเขาในการมองนักเตะอังกฤษจากทีมเหล่านี้เปลี่ยนไป กล่าวคือนักเตะพวกนี้ไม่ใช่เพื่อนแต่เป็นศัตรูกันมากกว่า
"พวกเราต่างโดนอีโก้บดบัง" ริโอ เฟอร์ดินานด์ กล่าวถึงทีมชุดนั้น
"เราเคยแย่งแชมป์กับลิเวอร์พูลอย่างดุเดือด และจากนั้นเราก็มาบี้กันแบบนัดต่อนัดกับเชลซี ดังนั้นผมจะไม่เดินเข้าห้องแต่งตัวทีมชาติอังกฤษเพื่อเปิดใจคุยอย่างเป็นกันเองและโอบกอดกับนักเตะอย่าง แลมพาร์ด, แอชลี่ย์ โคล และ จอห์น เทอร์รี่ จากเชลซีแน่นอน ... ขณะที่ฝั่งลิเวอร์พูลก็มี เจอร์ราร์ด กับ คาร์ราเกอร์ ด้วย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่พวกเราต่างกลัวกันว่าหากเปิดใจกันมากไปพวกเขาอาจจะเอาสิ่งเหล่านี้กลับมาเล่นงานเราในระดับสโมสร"
"ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำในตอนนั้นมันทำร้ายทีมชาติอังกฤษมาก ๆ ผมคิดว่าเราน่าจะเป็นเหมือนกันหมด นั่นคือพวกเราหมกมุ่นกับการคว้าแชมป์ให้กับสโมสรมากเกินไปจนผลงานในทีมชาติไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรแล้ว" เฟอร์ดินานด์ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อได้ยินสิ่งนี้จากที่เฟอร์ดินานด์บอก มันทำให้ใครหลายคนที่เกิดทันช่วงเวลาเหล่านั้นเห็นภาพได้ทันที ทีมชาติอังกฤษชุดนั้นเล่นกันแบบต่างคนต่างไปและพกอีโก้ลงสนาม จนเป็นเหตุที่ทำให้โกลเดนเจเนอเรชั่นของพวกเขาไม่สามารถไปได้ไกลเกินรอบ 8 ทีมสุดท้ายเลยแม้แต่ทัวร์นาเมนต์เดียว
ปัญหาเหล่านี้ฝรั่งเศสก็เคยเป็นในช่วงต้นยุค 1990s ที่พวกเขายัดสตาร์อย่าง ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง, เอริค คันโตน่า และ ดาวิด ชิโนล่า ลงสนามพร้อมกันทั้ง ๆ ที่ทั้ง 3 คนมีปัญหาไม่ลงรอยกันจากการเล่นให้ทีมคู่ปรับอย่าง โอลิมปิก มาร์กเซย และ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง จนกระทั่งฝรั่งเศสไล่ล้างบางปัญหาเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งโค้ชใหม่อย่าง เอเม่ ฌักเกต์ เข้ามาทำทีมโดยเปิดโอกาสให้เลือกใช้นักเตะอย่างเต็มที่ ซึ่งฌักเกต์ก็ลองนักเตะเกือบ 80 คน จนกระทั่งได้ทีมชุดคว้าแชมป์โลกปี 1998 และ ยูโร 2000 (โรเชร์ เลอแมร์ รับงานต่อ) มาครอง ซึ่งไม่มีชื่อของทั้ง 3 คนที่กล่าวไปข้างต้นแม้แต่คนเดียว
ขณะที่อังกฤษเต็มไปด้วยนักเตะที่มีรูปแบบการเล่นคล้าย ๆ กัน และเป็นดาวเด่นที่มีหน้าที่สำคัญในระดับสโมสร ฝรั่งเศสกลับเลือกเอานักเตะที่มีความสามารถหลากหลายและมีความถนัดเฉพาะทางมาผสมผสานกันและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จนกระทั่งกลายเป็นทีมเวิร์กและการเล่นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่สุด สุดท้ายคุณภาพที่แท้จริงก็แสดงออกมาเป็นทีมและทำให้ ฝรั่งเศส เอาชนะ อังกฤษ ในครั้งนั้นได้ในท้ายที่สุด
การเรียนรู้สู่การเจอกันอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022
จากยูโร 2004 ครั้งนั้นอังกฤษก็ล้มเหลวมาอีกหลายทัวร์นาเมนต์ จนกระทั่งพวกเขาได้พบเจอกับโค้ชที่เหมาะกับสไตล์ฟุตบอลของตัวเองที่สุด
โค้ชที่หลายคนยี้ในตอนแรกอย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต เปลี่ยนทีมชาติอังกฤษเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่อิงอยู่กับระบบการเล่นก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยหยิบจับนักเตะที่เหมาะสมกับวิธีการเล่นมาใส่
อังกฤษชุดเซาธ์เกตอาจจะมีหลายคนที่ขัดใจแฟนบอลอยู่บ้าง แต่วิธีการเล่นของพวกเขาในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ นั้นบอกได้ชัดว่าพวกเขาเล่นแบบรู้จักตัวเองโดยไม่มุทะลุเดินเกมบุกใส่เหมือนกับยุคก่อน ๆ แต่เน้นที่การตั้งรับและสวนกลับด้วยบอลน้อยจังหวะ และใช้นักเตะที่โดดเด่นจากด้านต่าง ๆ มารวมกันอย่างลงตัวจนกลายเป็นสูตรสำเร็จของอังกฤษชุดนี้
พวกเขาได้ที่ 4 ในฟุตบอลโลก 2018 ตามด้วยการเป็นรองแชมป์ยูโร 2020 ขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาก็ยังมีมาตรฐานสูงเหมือนเดิม
โดยหนนี้อังกฤษจะต้องพบกับ ฝรั่งเศส แชมป์โลกปี 2018 ที่มีวิธีการเล่นที่หลากหลายครบเครื่อง เล่นได้ทั้งการขึงเก็บรุก และการสวมกลับที่รวดเร็วเฉียบคม
ฝรั่งเศสขนแนวรุกชุดแชมป์โลกมาในฟุตบอลโลกครั้งนี้เกือบหมด และกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากระหว่าง โอลิวิเยร์ ชิรูด์, อองตวน กรีซมันน์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ที่คนหนึ่งมีไว้พักบอลเก็บบอล คนหนึ่งมีไว้เพื่อเชื่อมเกมกับกองกลางและช่วยเกมรับ ส่วนอีกคนเป็นอาวุธพิฆาตที่ใช้ความเร็วในการสร้างเกมรุกที่ยากจะหยุดอยู่
การเจอกันของ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ครั้งนี้จะแตกต่างจากปี 2004 แน่นอน อังกฤษจะยึดมั่นในแนวทางการเล่นของตัวเองแบบตั้งรับและสวนกลับ ขณะที่ฝรั่งเศสที่กำลังท็อปฟอร์มก็พร้อมจะลงเล่นด้วยวิธีการที่พวกเขาคุ้นชินมาเสมอ นั่นคือการสร้างเกมรุกที่รวดเร็วภายในไม่กี่วินาที
อังกฤษได้เรียนรู้แล้วว่าฟุตบอลคือเรื่องของระบบและทีมเวิร์กมากกว่าชื่อเสียง และเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้เจอกับของจริงเป็นครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์นี้
แชมป์โลก 2018 ปะทะรองแชมป์ยูโร 2020 มันคือช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสมที่จะเจอกันของทั้งคู่ ... นี่อาจจะเป็นเกมที่มีคนติดตามทางการถ่ายทอดสดมากกว่าการเจอกันเมื่อปี 2004 ก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.espn.co.uk/football/england/story/3494274/englands-golden-generation-were-killed-by-club-rivalries-rio-ferdinand
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/englands-golden-generation-failed-world-12524090
https://www.eurosport.com/football/euro/2004/france-2-1-england_sto601367/story.shtml
https://www.dw.com/en/england-vs-france-historical-rivals-friends-and-foes/a-1234038
https://www.givemesport.com/88025048-zinedine-zidane-vs-england-when-france-icon-schooled-scholes-gerrard-lampard-at-euro-2004
https://www.theguardian.com/football/2004/jun/13/euro2004.sport17