ทันทีที่อิสมาอิล อัลฟัตห์ ผู้ตัดสินหลักเป่ายุติเกมที่โครเอเชีย ดวลจุดโทษดับญี่ปุ่น 3-1 หลังเสมอในเวลา 120 นาที 1-1 นั่นหมายความว่าทีมฉายา “ตราหมากรุก” ได้ไปต่อ ในรอบก่อนรองชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2022
และในเกมการแข่งขันคู่ดังกล่าว แฟนฟุตบอลชาวไทยอาจจะได้ยินนามสกุลของนักเตะทีมชาติโครเอเชียคนหนึ่งไปคล้ายคลึงกับปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยอย่าง “ปลาสลิด” ซึ่งเขาผู้นั้นก็คือ มาริโอ “ปาซาลิช”
เก็บเรื่องนามสกุลของจอมทัพเบอร์ 15 ทีมชาติโครเอเชียเอาไว้ก่อน และเมื่อมาดูผลงานของเจ้าตัวในเกมกับซามูไรบลู ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เราจะเห็นว่าความครบเครื่องทั้งเกมรุกและรับของสตาร์จากอตาลันต้าผู้นี้ สร้างความปั่นป่วนให้ทีมคู่แข่งจากเอเชียอยู่ไม่น้อย
Main Stand ขอชวนคอฟุตบอลมาทำความรู้จัก มาริโอ ปาซาลิช แห่งโครเอเชียกันให้มากขึ้นจากบทความด้านล่างนี้
เด่นมาตั้งแต่เด็ก
มาริโอ ปาซาลิช เกิดที่เมืองไมนซ์ ในประเทศเยอรมนี โดยพ่อแม่ชาวโครแอตทำงานอยู่ที่นั่น ก่อนที่เวลาต่อมา จะย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองสปลิต ในช่วงเวลาที่เด็กชายมาริโอเริ่มเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น
ว่ากันว่า อิวาน คุณพ่อของมาริโอ เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน แถมยังเคยเล่นฟุตบอลร่วมกับ อิวิก้า ชูร์ยัค (Ivica Šurjak) ตำนานผู้ยิ่งใหญ่ของ ไฮจ์ดุ๊ก สปลิต (Hajduk Split) สโมสรชื่อดังในเมืองสปลิต และทีมชาติยูโกสลาเวีย (ณ อดีตกาล) ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือใบเบิกทางที่นำพาให้ลูกชายกลายมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
มาริโอ ปาซาลิช เริ่มเส้นทางลูกหนังกับอคาเดมี่ที่ชื่อ GOŠK Kaštel Gomilica จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ระบบอคาเดมี่ของไฮจ์ดุ๊ก สปลิต ในปี 2006 และกลายเป็นแข้งระดับแถวหน้าคนหนึ่งในอคาเดมี่ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาล 2011-12 มีรายงานว่าปาซาลิช เคยจารึกผลงานกดไปถึง 17 ประตูร่วมกับทีมรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ทั้ง ๆ ที่เป็นนักเตะตำแหน่งกองกลาง
แม้จะมีช่วงเวลาที่พลัดพรากให้ปาซาลิช ชวดขยายต่อความสุดยอดในเส้นทางฟุตบอลไปบ้าง อย่างในช่วงซัมเมอร์ 2012 เมื่อเจ้าตัวถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ในเลือด
อาการป่วยในครั้งนั้นทำให้ต้องอยู่รักษาอาการในโรงพยาบาลร่วมเดือน และใช้เวลาฟื้นฟูสภาพร่างกายอยู่พักใหญ่ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ลงเคาะสนิมในสนามได้อีกครั้งในเดือนมกราคม 2013
“ผมรู้สึกแปลก ๆ หยุดเกาไม่ได้เลย แต่ไม่ได้มีอะไรบ่งชี้ว่ามีปัญหาร้ายแรงมากกว่าการเกา” มาริโอย้อนความ “หลังลงแข่งไปได้เกมหนึ่ง เราก็ฟื้นฟูร่างกายกันปกติ แต่ผมรู้สึกแย่มาก ทำอะไรไม่ถูก จากนั้นก็เป็นไข้สูง เป็นเวลานานถึงสองสัปดาห์ แล้วก็ได้ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผมไม่ได้เป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis; โรคติดต่อจากการแพร่กระจายผ่านน้ำลาย ไอ และจาม) หรือตับอักเสบ แต่จากนั้นจึงพบแบคทีเรียในเลือด”
แต่ดูเหมือนว่าอาการป่วยที่ผ่านมาจะทำอะไร มาริโอ ปาซาลิช ไม่ได้เลยสักนิด แถมยิ่งทำให้เจ้าตัวเฉิดฉายร่วมกับทีมเยาวชนไฮจ์ดุ๊ก สปลิต อย่างแท้จริง เพราะในปีนั้น เขาถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ได้ลงสัมผัสเกมลีกอาชีพหนแรกในฤดูกาล 2012-13 ด้วย
ในฤดูกาลต่อมา (2013-14) ปาซาลิชกลายเป็นนักเตะชุดใหญ่ของไฮจ์ดุ๊ก สปลิต แบบถาวร โดยระยะเวลา 4 ปี คือช่วงสัญญาที่สโมสรได้มอบให้ว่าที่เพชรเม็ดงามรายนี้
ปาซาลิช ตอบแทนทุก ๆ โอกาสร่วมกับสโมสรที่เขาเติบโตมาจากอคาเดมี่ ในฤดูกาลแรกกับไฮจ์ดุ๊ก เขาลงสนามรวมทุกรายการไปติด 36 เกม พร้อมสถิติซัด 11 ประตู กับอีก 5 แอสซิสต์ เรียกได้ว่าสถิติสูงเหมือนเป็นกองหน้า ทั้ง ๆ ที่ลงเล่นเป็นมิดฟิลด์
และยังไม่นับความสุดยอดที่เหลือ อย่างเกมดวลกับทีมแกร่งแย่งแชมป์ลีกโครเอเชียอย่างดินาโม ซาเกร็บ การดวลกันยกแรกในฤดูกาลนั้น ที่บ้านของไฮจ์ดุ๊ก จบลงด้วยชัยชนะของเจ้าถิ่นด้วยสกอร์ 2-0 และคนที่ยิงทำเดียวสองประตูในวันนั้น ก็คือมาริโอ ปาซาลิช
ดูเหมือนว่าลีกอาชีพที่โครเอเชียจะเล็กไปสำหรับตัวเขาเสียแล้ว และเป็น เชลซี สโมสรเงินถุงเงินถังจากพรีเมียร์ลีก ตัดสินใจดึงไปร่วมทัพ ในวัย 19 ปีเท่านั้น
โอกาสน้อยในถ้ำสิงห์ สู่โอกาสใหม่กับอตาลันต้า
"นี่คือการเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางอาชีพของผม ผมเป็นมิดฟิลด์ตัวกลาง นักเตะที่ผมชื่นชอบก็คือแฟรงค์ แลมพาร์ด ดังนั้น ผมแฮปปี้มาก ๆ ครับ ที่ได้มาเป็นผู้เล่นเชลซี"
จากส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่ปาซาลิช เคยกล่าวกับเว็บไซต์ทัพสิงห์บลูส์ เมื่อช่วงซัมเมอร์ 2014 บ่งบอกเป็นอย่างดีว่าเขาพร้อมแล้ว ที่จะเริ่มต้นผจญภัยในเวทีลีกอาชีพที่ใหญ่กว่าเดิม และยังเป็นทีมเดียวกับที่นักเตะคนโปรดของเขาเคยค้าแข้งอยู่
อย่างไรก็ดี ชีวิตแบบนั้นที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ กลับไม่เคยเกิดขึ้นกับเขา ปาซาลิชเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากดาวรุ่งคนอื่น ๆ ของสโมสร
ตั้งแต่ฤดูกาลแรก (2014-15) เป็นต้นมา ปาซาลิช ถูกส่งไปเก็บประสบการณ์กับ เอลเช่ ในลา ลีก้า สเปน เพื่อบ่มเพาะฝีเท้ารอวันที่จะได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมฉายา “สิงโตน้ำเงินคราม”
ทว่าด้วยการแข่งขันในแผงมิดฟิลด์ของเชลซีที่มีสูง แถมชื่อชั้นของแต่ละคน กับช่วงเวลาที่ปาซาลิชมีสัญญาอยู่กับสโมสร ล้วนแต่เป็นนักเตะระดับโลก เช่น เชสก์ ฟาเบรกาส, รามิเรส, ออสการ์, เนมานย่า มาติช
หรือแม้แต่แข้งในช่วงหลัง ๆ ที่ยังคงมีชื่อร่วมกับทีมในช่วงเวลาปัจจุบัน อย่าง เอ็นโกโล่ ก็องเต้, จอร์จินโญ่ และ มาเตโอ โควาซิช เรียกได้ว่าโอกาสสอดแทรกในทีมชุดใหญ่ “ไม่เคยเกิดขึ้น” กับตัวเขาเลย
ตลอดระยะเวลา 6 ฤดูกาล ภายใต้สัญญากับเชลซี ปาซาลิช ถูกปล่อยให้ทีมน้อยใหญ่ร่วมยุโรปยืมตัว ต่อจากเอลเช่ ในฤดูกาล 2014-15 แล้ว ทีมต่อ ๆ มา ประกอบไปด้วย อาแอส โมนาโก (2015-16), เอซี มิลาน (2016-17), สปาร์ตัก มอสโก (2017-18) และ อตาลันต้า ในฤดูกาล 2018-19 รวมถึง 2019-20
การย้ายมาเล่นที่อตาลันต้านี่เอง ดูเหมือนจะกลายเป็นสโมสรที่ตัวปาซาลิช ยกระดับฝีเท้าจนกลายเป็นแกนสำคัญของสโมสร เขากลายเป็นหัวใจสำคัญของทัพเดอะ แบล็ค แอนด์ บลูส์ นับตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ย้ายมาแบบยืมตัว สโมสรเองก็ติดใจยืมตัวเขาต่อ
กับฤดูกาลแรก (2018-19) ร่วมกับยอดทีมแห่งเมืองแบร์กาโม่ เขามีส่วนช่วยทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่สาม ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และยังได้รองแชมป์โคปป้า อิตาเลียด้วยอีกทาง
ส่วนฤดูกาลที่สองกับอตาลันต้า ปาซาลิชยังคงเป็นฟันเฟืองพาทีมจบอันดับสาม ซึ่งทั้งสองฤดูกาล เขาลงสนามในลีกที่จำนวน 33 และ 35 นัด ตามลำดับ เรียกได้ว่าถ้าไม่เจ็บไม่แบน ชื่อของเขา จะอยู่ในสนามเสมอ
และแล้วช่วงเวลาสุดท้ายของมาริโอ ปาซาลิช ร่วมกับเชลซีก็มาถึง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 อตาลันต้าได้ใช้ออปชั่นซื้อขาดกับทางเชลซี คว้ากองกลางทีมชาติโครเอเชียรายไปร่วมทัพแบบถาวร ในฤดูกาล 2020-21 ด้วยสัญญาตามที่สื่อรายงานที่ 14.5 ล้านยูโร
ปัจจุบันเจ้าตัวก็ยังคงเป็นนักเตะตัวเลือกแรก ๆ ของสโมสร และพร้อมจะอยู่ไล่ล่าความสำเร็จร่วมกับทีมต่อไปเรื่อย ๆ
ทีมชาติโครเอเชีย: ชุดเล็ก & ชุดใหญ่ ติดมาหมด
ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของวงการฟุตบอลโครเอเชีย คือเป็นประเทศที่มีประชากรราว ๆ 3.8 ล้านคน แต่ทำผลงานในระดับนานาชาติโดดเด่นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างการเป็นรองแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 หรือแม้แต่อันดับฟีฟ่า แรงกิ้ง นับเฉพาะช่วง 10 ปีหลังสุด พวกเขาไม่เคยหล่นจากอันดับท็อป 20 ของโลก ทั้ง ๆ ที่มีคนโครแอตเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่ราว 1.3 แสนคนเท่านั้น ตามรายงานจากเว็บไซต์กีฬา sportsjoe ที่ระบุไว้เมื่อปี 2018
และในจำนวน 1 แสนกว่าคนนี้ ทรัพยากรนักฟุตบอลล้วนแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพอย่างแท้จริง ตอกย้ำจากข้อมูลของสถาบันวิจัยข้อมูลวงการฟุตบอลชื่อดัง (CIES Football Observatory) ระบุว่าโครเอเชียเป็นประเทศที่ส่งออกนักฟุตบอลไปเล่นต่างประเทศสูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก
โดยช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2022 ตัวเลขระบุว่ามีนักเตะกว่า 400 คน ที่โลดแล่นในลีกอาชีพต่างแดน… แน่นอนว่าปาซาลิช เป็นหนึ่งในนั้น
มาริโอ ปาซาลิช ติดทีมชาติมาตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นเยาวชน ไล่มาตั้งแต่ทีมรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ในปี 2009 หรือตั้งแต่ช่วงเวลาเป็นแข้งในคาถาของไฮจ์ดุ๊ก สปลิต ไปจนถึงทีมชาติชุดใหญ่ ด้วยวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น
สำหรับเส้นทางลูกหนังร่วมกับทัพตราหมากรุกชุดใหญ่ของปาซาลิช เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 เขาเคยถูกนิโก้ โควัช กุนซือในตอนนั้น ใส่ชื่อติดเป็นตัวเลือก 30 ขุนพลชุดเตรียมลุยฟุตบอลโลก 2014
และแม้ว่าจะไม่ได้ลุยเวิลด์คัพ ที่บราซิล แต่หลังจบทัวร์นาเมนต์ โครเอเชียกับการเปลี่ยนถ่ายขุมกำลังชุดเก๋าผสมดาวรุ่งหน้าใหม่ ได้เรียกตัวดาวเตะวัยไม่ถึง 20 จากสโมสรเอลเช่ (สัญญายืมจากเชลซี) มาติดทีมชุดเตรียมกระชับมิตร
เวลาต่อจากนั้น แม้จะมีช่วงที่หลุดทีมชาติไปบ้าง จากช่วงเวลาที่เจออาการบาดเจ็บเล่นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ กอปรกับขุมกำลังในตำแหน่งเดียวกันกับเจ้าตัว มีคนที่โดดเด่นกว่า โดยเฉพาะการเช็กฟอร์มจากต้นสังกัด
ทว่าพอเป็นช่วงที่มาเล่นให้อตาลันต้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เส้นทางฟุตบอลอาชีพสดใสสุด ๆ เขาก็เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของขุมกำลังทัพตราหมากรุก ได้ลงสนามบ่อยครั้ง มีชื่อบนม้านั่งสำรองบ้างตามโอกาสและแท็คติกส์การเล่น
ด้วยวัย 27 ปี เขาผ่านการเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์มาแล้ว 2 ทัวร์นาเมนต์ คือฟุตบอลยูโร 2020 และฟุตบอลโลก 2022 พร้อมสถิติการติดทีมชาติชุดใหญ่นับรวมเกมรอบ 16 ทีมสุดท้าย อยู่ที่ 46 นัด ยิงไป 7 ประตูด้วยกัน
จุดเด่นของเขาคือการเป็นมิดฟิลด์แบบฉบับเล่นได้ทั้งเกมรับและเกมรุก มีความสารพัดประโยชน์ที่นอกจากจะเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางที่ทรงประสิทธิภาพแล้ว เจ้าตัวยังถอยไปเล่นเกมบุก ตลอดจนปั้นเกมให้แนวรุกได้ หรือแม้แต่การยิงจากแถวสอง หากมีโอกาส คู่แข่งก็ต้องระวังให้ดี
ในวันที่แข้งรุ่นพี่ทีมชาติเริ่มจะโรยรา ปาซาลิชกลายเป็นหนึ่งในแข้งซีเนียร์ทีมอยู่เนือง ๆ เพราะเขาผ่านหน้าผ่านหนาวกับทีมชาติชุดใหญ่มาใกล้แตะหลักทศวรรษ และด้วยหลักไมล์วัยไม่ถึง 30 ปี แน่นอนว่าเขาพร้อมจะอยู่สานความสำเร็จเพื่อทีมชาติโครเอเชีย และในระดับสโมสรต่อไปอีกเรื่อย ๆ
แหล่งอ้างอิง
https://breakingthelines.com/player-analysis/player-analysis-mario-pasalic/
https://www.bbc.com/sport/football/28232501
https://www.theguardian.com/football/2014/jul/09/mario-pasalic-signs-chelsea-hajduk-split
https://www.fourfourtwo.com/features/mario-pasalic-chelsea-loanee-aiming-soothe-joses-midfield-headache
https://www.croatiaweek.com/croatia-no-1-football-exporting-nation-per-capita-in-the-world/ https://www.tomislavnews.com/mario-pasalic-hajdukova-8-porijeklom-je-s-duvanjskog-polja-zar-ste-sumnjali/
https://web.archive.org/web/20130108105325/http://www.dalmacijanews.com/Hajduk/View/tabid/88/ID/108416/Novi-pocetak-Junak-titule-Hajdukovih-juniora-Mario-Pasalic-vraca-se-nakon-teske-bolesti.aspx
https://www.chelseafc.com/th/news/article/pasalic-joins-atalanta-permanently