Feature

พุ่มพวง ดวงจันทร์ : ภาพแทนแห่งการปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง จากเพลงภูธรสู่เพลงเชียร์กีฬา | Main Stand

"อื้อฮื้อ หล่อจัง อะฮ้า มาดแมน นี่แฟนของใครกันเอ่ย ถ้าพ่องามทรามเชย โจทย์ไม่มีเปิดเผย จะนั่งเข่าเกยคุยด้วยทั้งคืน"

 


"เขยิบ เขยิบ เขยิบ เขยิบ เข้ามาซิ กระแซะ กระแซะ กระแซะ กระแซะ
เข้ามาสิ"

"เมื่อสุริยน ย่ำสนธยา หมู่นกกาก็บินมาสู่รัง ให้มาคิดถึงท้องทุ่งนาเสียจัง ป่านฉะนี้คงคอยหวัง เมื่อไหร่จะกลับบ้านนา"

เชื่อได้เลยว่าหากได้ยินบทเพลง "อื้อหือหล่อจัง" "กระแซะเข้ามาซิ" และ "นักร้องบ้านนอก" ย่อมไม่มีใครที่จะไม่นึกถึง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ราชินีลูกทุ่งตลอดกาล ขวัญใจแฟนเพลงในยุค 80s-90s เป็นแน่

แม้จะน่าเสียดายที่ "แม่ผึ้ง" อยู่กล่อมโลกได้เพียง 30 ปี แต่คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้ปรากฏแก่วงการเพลงลูกทุ่งคือการ "ปฏิวัติ" โดยนำไปสู่การ "เปลี่ยนผ่าน" เพื่อให้ความหมายของตัวเพลงจากที่แต่เดิมเน้นบรรยายถึงชีวิตภูธร ชีวิตชนบท การเป็นคนชายขอบ ที่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา ไปสู่การให้ความหมายแบบ "เปิดกว้าง" หลากหลายที่ไม่จำกัดชุดความคิดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการฉวยใช้เพลงของพุ่มพวงในฐานะ "เพลงเชียร์กีฬา" ที่แพร่กระจายลงไปสู่สถานศึกษาหรือตามสนามกีฬาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการจากไปของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ Main Stand จึงชวนไปย้อนรอยว่าแท้จริงนั้นเพลงลูกทุ่งมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

 

ลูกทุ่ง ความเป็นภูธรและความเป็นฝ่ายขวา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจบริบทที่รายล้อมรอบตัวของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ กันเสียก่อน 

นักร้องเจ้าของชื่อจริงนาม รำพึง จิตรหาญ เกิดในปีพุทธศักราช 2504 ที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ก่อนที่จะย้ายรกรากตามครอบครัวมาอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งก็ตามตำราของชาวต่างจังหวัดเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนโดยทั่วไปที่ครอบครัวมีฐานะยากจนมาก ๆ ที่ต้องประกอบอาชีพตัดอ้อยประทังชีวิต โดยพุ่มพวงได้เรียนแค่ประถมศึกษาปีที่ 2 ก็ต้องลาออกมาช่วยหาเลี้ยงครอบครัวจึงทำให้ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

แต่สวรรค์ก็ไม่ได้ใจร้ายเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่มอบมาให้คือเสียงอันไพเราะดังนกการเวกขับขานที่สะกดคนฟังได้อยู่หมัด ใครได้ฟังก็ว่าพรสวรรค์ชัด ๆ ดังนั้นพุ่มพวงจึงเลือกเดินเส้นทางนี้เพื่อขยับสถานะทางชนชั้นของตนเอง 

ซึ่งพุ่มพวงก็ถือเป็นหนึ่งใน "องคาพยพ" ในพลวัตของวงการเพลงลูกทุ่งในภาพรวม แรกเริ่มเดิมที ประมาณ พ.ศ. 2480-2490 ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์แยกหมวดหมู่เพลงออกจากกันชัดเจนนัก ส่วนมากมักจะเรียกรวม ๆ ว่า "เพลงไทยสากล" เนื่องจากมีการนำเครื่องดนตรีสากลจำพวกเครื่องเป่าลมทองเหลือง เครื่องสาย และกลองชุดเข้ามาประกอบการทำดนตรี 

แต่ในเพลงไทยสากลนั้นก็ได้มีแนวทางที่แตกต่างในการเล่าเรื่องราว ฝ่ายหนึ่งมักเล่าเรื่องในเมืองหลวง ที่แสดงถึงบรรยากาศของชนชั้นกลางค่อนสูงมีอันจะกิน ส่วนอีกฝ่ายมักเล่าเรื่องราวตามท้องไร่ท้องนา วิถีชนบท และเรื่องของคนยากจนตามต่างจังหวัด 

ดังนั้นจึงมีการแยกขาดแนวทางกันชัดเจน ฝ่ายแรก ได้รับขนานนามว่า "เพลงนครบาล" และ "เพลงในเมือง" ส่วนอีกฝ่ายจะถูกเรียกว่า "เพลงภูธร" และ "เพลงตลาด" ซึ่งอย่างหลังได้รับความนิยมกว่าเล็กน้อย เนื่องจากแรงสนับสนุนของ "ประชาชนส่วนใหญ่" ของประเทศทั้งที่อยู่ตามต่างจังหวัดหรืออพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวง

ต่อมา ท้วม ทรนง ดาวตลกชื่อดังแห่งยุค 70s-80s ได้ปรึกษาหารือกับ จํานง รังสิกุล นายสถานี และผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม (โมเดิร์นไนน์ ทีวี ในปัจจุบัน) ว่าสมควรที่จะนำเพลงภูธรหรือเพลงตลาดขึ้นมาออกอากาศบ้าง เพราะพวกละครและสารคดีมีเยอะแล้ว 

ดังนั้น "รายการ เพลงชาวบ้าน" จึงได้รับการออกอากาศเป็นครั้งแรก โดยมี "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ที่คนสมัยนี้รู้จักจากการเป็นเจ้าของหนังสือ "มหา'ลัยเหมืองแร่" ที่บอกเล่าชีวิตของตัวเองในอดีต ซึ่งต่อมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ เข้ามาเป็นโปรดิวเซอร์รายการ

แรก ๆ รายการเจ๊งไม่เป็นท่าและโดนนายทุนด่ายับ แต่จำนงก็ยังได้ให้โอกาสรายการอีกคราโดยที่ตัวเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อรายการเสียใหม่ให้ไพเราะขึ้นว่า "รายการ เพลงลูกทุ่ง" และปรับจากการที่นักร้องยืนร้องโดด ๆ ให้ยกวงขึ้นมาทั้งวงและแสดงสดเสียเลย

นั่นจึงเป็นที่มาของศัพท์คำว่า ลูกทุ่ง และนานวันเข้าจากรายการที่คนเคยร้องยี้กลับกลายเป็นรายการที่ครอบครองหัวใจแฟนเพลงได้อย่างอยู่หมัด โดยเฉพาะฐานแฟนเพลงในเขตเมืองหลวงต่างติดเพลงลูกทุ่งแบบงอมแงม ทั้งยังมีพลังมากถึงขนาด รังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้กำกับมือทอง ได้นำไปตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ของตนนามว่า "มนต์รักลูกทุ่ง" ที่กวาดรายได้ในประเทศไทยเป็นประวัติการณ์

แรก ๆ เพลงลูกทุ่งส่วนมากไม่ได้บรรยายบรรยากาศแบบภูธรเฉย ๆ หากแต่ใส่ตัวดำเนินเรื่องที่เป็นชาวภูธรที่มักจะมีความรู้สึกเสน่หาบางอย่าง เช่น การเกี้ยวพาราสี การพลัดพรากจากนางอันเป็นที่รัก การอกหักรักคุด ซึ่งภาษาลูกทุ่งเรียกว่า "เพลงหวาน" นั่นเอง

อย่างพวกเพลงที่ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ, ระพิน ภูไท, ชาย เมืองสิงห์ หรือ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ก็ถือเป็นตัวหลักในการขับร้องเพลงหวาน พวกเขามีแม่ยกมหาศาลและทำวงเดินสายร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำ พวกเขาเหล่านั้นหากินจากน้ำเสียงและลูกคอสุดหวานได้อย่างดีเยี่ยม เพลงมนต์รักลูกทุ่งในด้านล่างเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อต่อมาราว พ.ศ. 2510 การเมืองในประเทศสั่นคลอนทั้งปัญหาจากภายในประเทศที่เกิดสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม และมีทหารจีไอเดินให้ควัก หรือกระทั่งเหตุการณ์ 3 ทรราชย์ ของ ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี, ประพาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และ ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายของถนอม ก็ได้ปรับเปลี่ยน "ปริมณฑล" ของเพลงลูกทุ่งไปอีกขั้น 

หรืออาจจะเรียกได้ว่า เพลงลูกทุ่ง ในทางการเมืองมีความโน้มเอียงไปทางการเป็น "ฝ่ายขวา" ก็ย่อมได้

จากแต่เดิมที่บรรยายถึงความรักด้วยเพลงหวานแบบเพียว ๆ ก็ได้มีการใส่บรรยากาศที่มีความเกี่ยวพันกับทางทหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนมากจะเน้นการบรรยายถึง "การไปรบ" ที่ต้องห่วงหาอาลัยคนที่รัก หรือไม่ก็เชิดชูการกระทำของทหารหาญ 

โดยมีตัวอย่างจากเพลง "ลาน้องไปเวียดนาม" ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, "กลิ่นธูปสุโขทัย" ของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร หรือ "นิราศรักเวียดนาม" ของ สมยศ สกุลไทย หรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่ต่อมาว่า ก้องเพชร แก่นนคร

ขณะเดียวกันก็มีมุมมองจากฝ่ายหญิงที่อาลัยรักและเชิดชูการทหารเช่นกัน อย่างเพลง "สุภาพบุรุษนิรนาม" ของ ดาวใต้ เมืองตรัง (แมงปอ ชลธิชา นำมาขับร้องใหม่ราว พ.ศ. 2550) ที่วงในสถานศึกษามักนำไปร้องประกวดในรายการ "ชิงช้าสวรรค์" อยู่บ่อย ๆ

หรือแม้กระทั่งการร้องเพลงเพื่อ "Blame" คอมมิวนิสต์ ที่กำลังระบาดหนักในช่วงเวลานั้นก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สถานีวิทยุยานเกราะที่เป็นสถานีของทหารที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต่างโหมกระหน่ำเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาให้ร้ายฝ่ายซ้ายอย่างเต็มกำลัง 

ไม่ว่าจะเป็นเพลง "ภูพานสะอื้น" ของ ก้องเพชร แก่นนคร ที่จริง ๆ ปล่อยเพลงออกมาตั้งแต่สมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยมีเนื้อหาประมาณว่า ภูพานแต่ก่อนสวยงามมาก แต่พอเป็นแหล่งกบดานซ่องสุมของพวกคอมมิวนิสต์ตั้งแต่สมัย เตียง ศิริขันธ์ อดีตเด็กในสังกัด ปรีดี พนมยงค์ ก็พาลทำให้ทุเรศทุรังไปหมด ดังเนื้อเพลงที่ว่า "ภูพานสะอื้น แม่โขงกล้ำกลืนน้ำตาร้องไห้ เคยร่มเย็นกลับลุกเป็นไฟ เพราะคนใจง่ายยอมขายชาติสิ้น"

หรือเพลง "รำพึงอยู่ไหน" ของ ระพี พรนที สามเณรที่ยอมลาสิกขามาหาเงินเข้าวัดด้วยการร้องเพลงลูกทุ่ง ที่มีเนื้อหาติเตียนว่านางอันเป็นที่รักไปเป็นพวกคอมมิวนิสต์เพื่ออะไร ดังเนื้อเพลงที่ว่า "แหมน่าอยากเกิดเป็นปลา ประสาสัตว์น้ำอย่างมันคงไม่มีวันเอียงซ้ายเหมือนคน"

หรือเพลง "คนขายหนังสือพิมพ์" ที่มีเนื้อหาอวย "ดาวสยาม" สื่อสายปั่นที่อวยทหารและรัฐบาลของ ศักดิ์ศรี ศรีเมืองลพ หรือในชื่อรู้จักกันคือ ชูศรี เชิญยิ้ม ที่ร้องว่า "ข่าวตลาดซื้อไทยรัฐ ไปอ่านดูอยากได้ความรู้ เสียงปวงชนเข้มข้นมากหลาย บทความสยิวต้องเดลินิวส์และเดลิไทม์ ดาวสยามนำสมัย รู้ได้ไม่มีเคลือบแคลง"

หรือในกาลต่อมาที่สงครามเวียดนามและภัยคอมมิวนิสต์สงบลง ประเทศไทยเริ่มไปตีกับเพื่อนบ้านแทน ทำให้เพลงลูกทุ่งที่เล่าเรื่องทางการทหารยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรดาศิษย์ของ "ชลธี ธารทอง" ครูเพลงระดับตำนาน ที่แต่งเพลงเอียงมาทางฝ่ายทหารและรัฐอย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นเพลง "สุดทางที่ด่านซ้าย" ของ สายัณห์ สัญญา ที่บรรยายความเสียสละและต้องอยู่กับความยากลำบากของทหารไว้ว่า "ท่านกินไข่ดาวหมูแฮม ผมกินข้าวแห้งแช่น้ำ นั่งเวรอยู่ยาม มันหนาว"

เพลง "จดหมายจากแนวหน้า" ของ ยอดรัก สลักใจ ที่บรรยายสภาพสนามรบที่จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ การได้จดหมายสักฉบับจึงถือเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจของกำลังพลเป็นอย่างมาก ดังเนื้อเพลงที่ว่า "กลางดงควันปืน พี่เฝ้ายืนสู้เหล่าร้าย ได้รับจดหมาย องโฉมฉายเจ้าส่งถึง อยู่กลางพนาเป็นเวลาทุ่มครึ่ง เสียงปืนปังปึง ไม่คำนึงเลยเชียว"

เพลง "ทหารอากาศขาดรัก" ของ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง ที่บรรยายความเสียสละของทหารอากาศ เหล่าทัพที่เป็นลูกเมียน้อยและไม่ค่อยมีคนพูดถึงว่า "ไกลสุดสายตาขอบฟ้าสีคราม แผ่นดินสยาม ใครลุกใครลามแล้วเป็นไม่ได้ ทหารอากาศองอาจคะนอง ปกป้องฟ้าไทย ไตรรงค์ผืนใหญ่ เทิดไว้สูงล้น"

หรือแม้แต่นักร้องเพลงหวานระดับตำนานที่ตกยุคไปแล้วอย่าง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ก็ยังกลับมาผงาดได้อีกครั้งด้วยเพลง "หนาวใจชายแดน" ที่มีท่อนกินใจว่า "ลมเย็นเย็น หน้าหนาวมันทรมาน หวนคิดถึงบ้านที่จากมา พ่อฉันเดี๋ยวนี้ท่านก็แก่แม่ก็ชรา อันตรายโจรผู้ร้ายก็กวน คอยคิดปล้นฆ่า กลัวขโมยจะลักควายไถนา เพราะลูกมาแนวหน้านอนเฝ้าป่าชายแดน" และส่งให้เขาและชลธี ผู้ประพันธ์เพลง ได้รับรางวัลลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย

เช่นนี้เมื่อหันกลับมาพิจารณาพุ่มพวงก็ถือได้ว่าเป็นผลพลิตของสายธารเพลงลูกทุ่ง 10-20 ปีก่อนหน้านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเพลงที่ได้ขับร้องเพลงแรก ๆ ในชีวิตอย่าง "แก้วรอพี่" ก็บรรยายถึงสาวภูธรที่รอคอยการกลับมาของแฟนที่ไปเมืองหลวงเพื่อเก็บเงินมาขอแต่งงาน ต่อมาก็ได้ขับร้องเพลง "นักรบชายแดน" และ "แฟนทหาร" ที่พูดถึงการห่วงหาอาลัยการไปรบของแฟนเช่นกัน

แน่นอนว่าด้วยแต้มต่อเรื่องแก้วเสียงสุดใสกิ๊งทำให้พุ่มพวงขึ้นมาเป็น Rising Star ของวงการลูกทุ่ง แซงหน้ารุ่นพี่ไปหลายคนในยุคปลาย 80s ต่อต้น 90s ไม่ว่าจะออกเพลงอะไรมา ณ ตอนนั้นก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และส่วนมากก็เป็นเพลงหวานและเพลงอวยทหาร ที่ประชาชนและแฟนเพลงคุ้นเคยคุ้นหูเป็นอย่างดี

ก่อนที่ในกาลต่อมาพุ่มพวงจะได้กระทำการบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงวงการเพลงลูกทุ่งไปตลอดกาล 

 

การเมืองเปิดกว้าง ถึงเวลาปฏิวัติเพลง

นับตั้งแต่ เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ประกาศคำสั่งที่ 66/2523 ที่ออกมาเพื่อนิรโทษกรรมผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ให้ออกจากป่ามาช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศชาติ รวมถึงความโงนเงนทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกหลังม่านเหล็ก ได้ส่งผลทำให้สังคมภายในประเทศเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น อะไรที่ทำไม่ได้ในสมัยก่อนก็เริ่มที่จะทำได้มากขึ้น แม้จะเป็นที่ครหาว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ก็ตาม 

แน่นอนว่าเพลงลูกทุ่งก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากจุดนี้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบ Radical เพราะก็ยังมีการแต่งเพลงเพื่ออวยรัฐบาลหรือทหารอยู่ยิบย่อย อย่างพวกเพลง "ทหารใหม่ไปกอง" ของ ยอดรัก สลักใจ, "ทหารพิการรัก" ของ มนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย, เพลง "ยอมตายที่ตาพระยา" ของ สายัณห์ สัญญา ที่มีเนื้อหากล่าวถึงวีรกรรมที่สมรภูมิช่องบกจากเหตุการณ์พิพาทไทย-เวียดนาม ราว พ.ศ. 2523

หรือแม้กระทั่งเพลง "เทิดพระเกียรติ" สถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง "ล้นเกล้าเผ่าไทย" ที่ขับร้องโดย สายัณห์ สัญญา คนเดิม หากแต่เนื้อหาภายในนั้นไม่ได้เป็นการ "ต่อสู้" กันแบบโจ่งครึ่มหรือมีนัยทางการเมืองมากเท่ากับแต่ก่อน (อาจจะมีการถกเถียงได้ว่า เพลงนี้คือการ Propaganda ในภายหลังก็ตาม)

และที่เห็นได้ชัดไปมากกว่านั้นคือฉากหลังยอดนิยมอย่างการบรรยายถึงความเป็นภูธรก็ค่อย ๆ จางหายไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะคำว่า "ลูกทุ่ง" ที่อยู่ในเพลงไม่ได้หมายความว่าท้องไร่ท้องนาแต่กลับกลายเป็น "แนวเพลง" ที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งถือว่าได้ทำลายกรอบหรือขนบที่เป็นมายาวนาน

ซึ่งการออกไปให้ไกลจากกรอบเดิม ๆ นั้น ค่ายเพลง "อโซนา" ถือว่าเป็นเจ้าแรก ๆ ในตลาดที่ดำเนินแผนการนี้ ทั้งการให้โอกาสศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาของเพลงที่ "แซะ" สังคมในยุกแรก ๆ อย่าง  คาราบาว ให้กลับมาอยู่ในตลาดบนได้ หรือแม้กระทั่งการเจาะตลาดวัยรุ่นด้วยการให้ "ลพ บุรีรัตน์" ครูเพลงมือฉมัง แต่งเพลง "สาวทรงฮาร์ด" ให้ จันทรา ธีรวรรณ นักร้องลูกทุ่งหุ่นเซี๊ยะเป็นคนขับร้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวทางที่โดนใจวัยรุ่นเป็นอย่างมาก 

และแน่นอนว่าเหมือนชะตาฟ้าลิขิต เพราะค่ายอโซนาคือค่ายเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ 

ด้วยความที่พุ่มพวงขณะนั้นถือว่าติดลมบน เรียกได้ว่าร้องเพลงลูกทุ่งทั้งแนวเพลงหวานหรือเพลงทั่วไป ก็ดังเปรี้ยงปร้าง มิหนำซ้ำยังรับงานภาพยนตร์ที่ได้เล่นเป็นนางรองหรือนางเอกก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน 

ตรงนี้จึงเป็นเหมือน Pain Point สำหรับอโซนา เพราะไม่รู้ว่าจะขายอะไรในตัวของฟุ่มพวงแล้วเพราะมันดังไปหมดทุกมิติแล้ว แต่ทางค่ายเพลงก็ไม่สามารถที่จะปล่อยให้กระแสตกได้ 

"พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง อโซนาบอก 'เฮ้ย เธอดังจนหมดแล้ว จะเล่นอะไร'... ก็ไปได้เพลงมาชุดหนึ่ง 'กระแซะ ฯ'... โดยที่ได้อาจารย์ เอนก รุ่งเรือง มาทำดนตรีใหม่ เอาสตริงเข้าไป ผลปรากฏคือเป็นจุดเปลี่ยนทันที ... เมื่อก่อนลูกทุ่งจะหวาน ในเพลงลูกทุ่งจะทำให้เป็นท้องทุ่ง ท้องนา และความรัก ซึ่งเราก็เสี่ยงพุ่มพวงก็เสี่ยง แม้กระทั่งเจ้าของอโซนา คุณปิติ บุญสูง ก็ยังไม่แน่ใจ" 

ชัยยันต์ ชูตระกูร ซึ่งเป็นผู้ดูแลศิลปินของค่ายอโซนา ได้กล่าวถึงจุดที่ทางค่าย "ตีบตัน" คิดอะไรไม่ออก หรือในภาษาปัจจุบัน อาจจะกล่าวว่า "ติดกับดักความสำเร็จ" แม้จะปั้นพุ่มพวงให้โด่งดังได้แต่ความสาเร็จดังกล่าวก็ยังคงวนเวียนอยู่ในโครงเรื่องเดิม ดนตรีเดิม และภาพลักษณ์เดิม โดยไม่สามารถทำให้วงการเพลงลูกทุ่งมีความทันสมัยทัดเทียมกับเพลงสตริงและเพลงเพื่อชีวิตได้

หวยจึงไปตกอยู่ที่ฝ่ายผลิตที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้พุ่มพวงยังคงสถานะเดิมที่เคยเป็นมา และท้ายที่สุด การ "เล่นฉีก" เหมือนที่ทางค่ายได้ทำมาก่อนหน้านั้นจึงเป็นคำตอบที่อาจจะดีที่สุด ดังนั้นในปี 2528 อัลบั้มอื้อหือหล่อจัง ก็เกิดขึ้น 

สาหรับเพลงอื้อฮื้อหล่อจังนั้น เป็นการนาทานองและดนตรีมาจากเพลง "Talking in Your Sleep" ของวง The Romantics มาดัดแปลง ในครั้งนี้พุ่มพวงได้เปลี่ยนลีลาการร้องใหม่โดยตัดการเอื้อนและการใช้ลูกคอในแบบที่เธอถนัดออกเพื่อให้เข้ากับจังหวะของเพลงที่กระชั้นขึ้น 

นอกเหนือจากนี้ในการขึ้นแสดงบนเวทีเธอก็จะต้องร้องและเต้นไปพร้อมกันเพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับการแสดง ซึ่งเธอก็ทําออกมาได้ดีและเป็นธรรมชาติ ผลงานเพลงในอัลบั้มนี้จึงประสบความสาเร็จทั้งในด้านความนิยมและยอดจำหน่ายเทปคาสเซ็ต

รวมถึงการสร้างการเล่าเรื่อง "แบบใหม่" ที่พุ่มพวงเป็นภาพแทนของหญิงสาวที่กล้าจะเปิดเผยความในใจกับผู้ชาย กล้าเล่นทะลึ่งตึงตัง กล้าจีบ กล้าหยอดมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ฝ่ายชายเข้าหา

ซึ่งถือว่าผิดไปจากวัฒนธรรมการเล่าเรื่องของเพลงลูกทุ่งแบบเดิม ๆ ที่ฝ่ายหญิงมักจะสุภาพ รักนวลสงวนตัว หรือรับบทเป็นของตาย และเป็นช้างเท้าหลัง ท่อนที่ร้องว่า "วงแขนกล้ามเป็นมัด ๆ อุ๊ยน่าจะกัดแขนเล่นเบา ๆ" เป็นคำตอบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ยังไม่รวมกับเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มที่เล่าเรื่องในทิศทางนี้

นับว่าเป็นการ "ปฏิวัติ" เพลงลูกทุ่งไปสู่มิติใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่อง รวมไปถึงเป็นการกลับมาเป็นภาพแทนของสังคมในแง่ของการเปิดกว้างได้อย่างแนบสนิท เพราะหากเป็นการเมืองในยุคก่อนก็อาจจะไม่มีโอกาส "ทดลองนำเสนอ" อะไรใหม่ ๆ ได้มากเท่านี้มาก่อน

และแน่นอนเมื่อมีคนเปิดก็ต้องมีคนตาม อย่างในช่วง พ.ศ. 2530 มีการเลียนแบบความสาเร็จของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกรณีของ เจียมจิตร แจ่มจันทร์ (พุ่มพวง '88) และ ยุ้ย ญาติเยอะ ที่พยายามตามรอยพุ่มพวงตั้งแต่เรื่องการแต่งหน้าทำผม การแต่งตัว ไปจนถึงแนวเพลงที่เป็นลูกทุ่งผสมสตริง

หรือแม้กระทั่งนักร้องชายก็ได้นำแนวทางลูกทุ่งแบบใหม่ของพุ่มพวงมาปรับใช้ อย่าง สายัณห์ สัญญา ก็ได้ออกอัลบั้ม รางวัลน้ำตา ในปี 2529 ที่ได้นำบรรดาเพลงเก่า ๆ ที่ตนเคยร้องบางเพลงมาปรับแนวดนตรีใหม่โดยร้องให้เร็วขึ้นไวขึ้น โดยมีเพลงจุดขายคือเพลง "เพลงรักชาวทุ่ง" 

รวมถึง ยอดรัก สลักใจ ก็ได้ออกอัลบั้ม "เอาแน่" ในปี 2530 ที่เป็นการขับร้องแบบพุ่มพวงทั้งอัลบั้มโดยไม่มีการเอื้อนโชว์ลูกคอแต่อย่างใด แม้เพลงจุดขายจะเป็นเพลง "เอาแน่" แต่ที่เรียกเสียงฮาได้ไม่น้อยคือเพลง "ยอดรักเมา" ที่ไปคัดลอกทำนองจากเพลง "ช่างไฮ่ตัน (上海灘)" หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อว่า "เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้" มาทั้งดุ้นเลยทีเดียว

เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าด้วยสังคมที่เปิดกว้างจากการเมืองที่ลดระดับความตึงเครียดลง ส่งผลมายังเพลงลูกทุ่งที่มีการขยายความเป็นไปได้ในการเล่าเรื่องออกไปให้ไกลขึ้นกว่าเดิม รวมถึงตัวผลงานเพลงเอง ที่ได้กลับมาหล่อหลอมสังคมอีกทอดหนึ่ง ทำให้เป็นประหนึ่งการปฏิวัติทาง "Soft Power" แบบย่อม ๆ อย่างน่าเหลือเชื่อ 

แต่สิ่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งการขยายขนาดและขยายพรมแดนของเพลงลูกทุ่ง เพราะในกาลต่อมา ใครเลยจะรู้ว่าเพลงลูกทุ่งสามารถแทรกซึมเข้าไปสู่ "วงการกีฬา" ได้อย่างไม่เคอะเขิน

 

ผลพวงสู่วงการกีฬา

ด้วยความที่เพลงลูกทุ่งโดยเฉพาะเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้มีการปรับตนเองให้เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย ไม่ต่างจากเพลงสตริงหรือเพลงเพื่อชีวิต เนื้อร้องที่มีการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนแปลงค่านิยมดั้งเดิมแบบพลิกขั้วสลับด้าน คือการเล่าเรื่องแบบสองแง่สองง่าม หมาหยอกไก่ สัปดนนิด ๆ หรือแม้กระทั่งมีทำนองที่มีความติดหู สนุกสนาน จำได้ง่าย ฟังง่ายร้องง่าย จึงถือได้ว่า "โดนใจวัยรุ่น" ณ ตอนนั้นเป็นอย่างมาก

แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเพลงของพุ่มพวงทั้งหลายได้รับการปรับแปรมาเป็นเพลงเชียร์ตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่แน่ ๆ คือวัฒนธรรมการเชียร์กีฬานั้นเริ่มต้นมาจาก "สถานศึกษา" ทั้งในระดับภาคบังคับหรืออุดมศึกษาด้วยกันทั้งนั้น 

สมัยก่อนการเชียร์กีฬาในสนามยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนในตอนนี้ โดยจะมีการนั่งบนอัฒจันทร์และมีอุปกรณ์การเชียร์ อาทิ พู่สี กระดานแปรอักษร หรือการร้องประสานเสียงเชียร์ รวมถึงการมีเชียร์ลีดเดอร์ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกของการรวมเป็นหนึ่งและมีจิตสำนึกร่วมว่าเราคือพวกเดียวกัน ซึ่งก็ต้องกล่อมเกลาผ่านสถาบันการศึกษาถึงจะเห็นผลได้ดีที่สุด

และการจะนำคนจำนวนมากมารวมตัวกันในแบบที่กินเวลาหลังเลิกเรียนหรือบางทีก็ต้องโดดเรียนมาเพื่อเชียร์กีฬา จะให้มาขับบทครรไล ตีกรับ ตีฉิ่ง โชว์ลูกคอ หรือร้องโอเปร่า ก็ดูจะพิลึกและเสียเวลาโดยใช่เหตุ 

ดังนั้นจึงอาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจหากเพลงสไตล์พุ่มพวงจะได้รับความนิยมในการใช้เป็นเพลงเชียร์ เพราะส่วนแรกที่วัฒนธรรมการเชียร์กีฬาพุ่งขึ้นมาได้ก็มาจากวัยรุ่น และวัยรุ่นก็ติดเพลงพุ่มพวงงอมแงม แถมแนวดนตรียังมีความสนุกสนาน มีจังหวะเร้าใจเร้าอารมณ์คนฟัง แถมเนื้อเพลงยังมีความตลกโปกฮาไม่ซีเรียสหรือเล่นแต่เรื่องความรักเสียจนเลี่ยน แถมแน่นอนว่าไม่ต้องฝึกซ้อมจำเนื้อร้องให้เสียเวลา เพราะวัยรุ่นฟังเพลงของฟุ่มพวงกันทั้งบ้านทั้งเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว การแพร่กระจายจึงเร็วขึ้นเป็นเท่าทวี

กระนั้นบรรดาวัยรุ่นวัยเรียนก็ไม่ได้ยกเพลงของพุ่มพวงมาทั้งกระบิ หากแต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ให้เข้ากับบริบทการเชียร์ เช่น เพลงเชียร์ "อื้อฮื้อเก่งจัง" ก็สังเกตได้ไม่ยากว่าแปลงมาจาก อื้อหือหล่อจัง โดยมีการเปลี่ยนเนื้อเพลงไปเป็น "อื้อฮื้อ เก่งจัง อ่ะฮ้า เก่งจริง สี (ตามที่สังกัด) ของเรานี่เอ่ย ช่างยอดเยี่ยมจังเลย เก่งกันอย่างเปิดเผย จะไม่ชมเชยกันได้ยังไง
อื้อฮื้อ เก่งจัง อ่ะฮ้า เก่งจริ้ง"

แต่ส่วนมากมักจะยกมาใช้ทั้งเพลงแบบไม่แปลงเนื้อดั้งเดิม อย่างเพลง "ตั๊กแตนผูกโบว์ " ที่ร้องว่า "อ่ะ ตั๊กแตนยงโย่ ผูกโบว์ทัดดอกจำปา อ่ะ ตั๊กแตนยงโย่ ผูกโบว์ทัดดอกจำปา หนุ่มหนุ่มกระชุ่มกระชวย โอ๊ย หนุ่มหนุ่มกระชุ่มกระชวย นุ่งกางเกงขาก๊วยแบกไหก็สุรา" เพลง "นัดพบหน้าอำเภอ" ที่ร้องว่า "ความรัก ความรักเจ้าขา อยู่ ๆ ก็มาไม่ทันตั้งตัว เพียงพบหน้าตาสบตา ทำไมรักมา เข้าตามืดมัว มองอะไรเขาดีไปทั่ว จิตใจหวิวไหวเต้นรัว กงจักรดอกบัวคิดกลัวเสียเมื่อไร" หรือเพลง "กระแซะเข้ามาซิ" ที่ร้องว่า "เขยิบ ๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะ ๆๆๆ เข้ามาซิ เขยิบ ๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะ ๆๆๆ เข้ามาซิ" 

ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่เพลงของพุ่มพวงเท่านั้น แต่เพลงอื่น ๆ ที่ตามรอยแนวทางเพลงของพุ่มพวงอย่างเพลง หางเครื่อง ของ สุกัญญา นาคประดิษฐ์ ที่ร้องว่า "ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป" หรือเพลง ยมบาลเจ้าขา ของ บุปผา สายชล ที่ร้องว่า "ยมบาลเจ้าขา เชิญท่านมารับฟังหน่อยสิ นักร้องเสียงเย็นแถมเป็นคนดี ท่านเอาไปเมืองผีเสียปีละคนสองคน" หรือใหม่หน่อยอย่าง รักจริงให้ติงนัง ของ รุ่ง สุริยา ที่ร้องว่า "ติงนังนังตังนิง ชะเออเอ่งเอย ไม่รักจริงไม่กล้า" ก็ได้รับการปรับแปรมาเป็นเพลงเชียร์ในภายหลังเช่นกัน

แน่นอนว่าความสนุกสนานยามได้ร้องได้เชียร์ก็เป็นสีสันให้ชีวิตในรูปแบบหนึ่ง แต่หากรู้ว่าเพลงที่เรานั้นเคยร้องเชียร์หรือกำลังร้องเชียร์อยู่ตอนนี้มีที่มาที่ไปและเบื้องลึกเบื้องหลังที่อาจจะกล่าวได้ว่า "ยิ่งใหญ่" ถึงขนาดเกี่ยวพันกับการเมือง สังคม วัฒนธรรม และองคาพยพต่าง ๆ อย่างไร

รวมถึงอาจทำให้เปลี่ยนสิ่งที่เคยรับรู้แบบ "หน้ามือเป็นหลังมือ" โดยทั้งหมดนี้มีที่มาจากแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ จากนักร้องสาวเมืองสุพรรณฯ นาม พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็อาจจะทำให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีการมองโลกได้อีกรูปแบบหนึ่งไม่ใช่หรือ ?

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ การสื่อสารทางการเมืองในเพลงไทยลูกทุ่ง
วิทยานิพนธ์ ประวัติศาสตร์ธุรกิจเพลงลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2507-2535
วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย พ.ศ. 2481-2535
วิทยานิพนธ์ เศรษฐกิจการเมืองในกระบวนการผลิตเพลงลูกทุ่งไทย
บทความ พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของเพลงลูกทุ่ง (กลางทศวรรษ 2520 - กลางทศวรรษ 2540) 
https://waymagazine.org/14-oct-2516-6-oct-2519-in-luk-thung-music/ 
https://youtu.be/8ZaOjTWISgE 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ