“ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมภูมิใจมากไปกว่าการเล่นให้ออสเตรเลีย เพราะที่นี่ให้โอกาสผมและครอบครัวในการเริ่มต้นชีวิตใหม่”
จากชีวิตของเด็กชายที่เกิดและเติบโตมาในค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนเหนือของประเทศเคนยา ที่มีพ่อแม่ชาวซูดานใต้หนีภัยสงครามกลางเมืองมาจากประเทศซูดาน สู่การย้ายถิ่นฐานกว่า 11,000 ไมล์ มายังแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย
ชีวิตใหม่ของเด็กชาย เอเวอร์ มาบิล ในวัย 10 ขวบเศษเริ่มสานฝันของตัวเองสู่การเป็นแข้งอาชีพ จนในที่สุดเขาก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะทีมชาติออสเตรเลีย
ติดตามเรื่องราวของแนวรุกดีกรีทัพจิงโจ้ในฟุตบอลโลก 2022 กับเรื่องราวที่เป็นดั่ง “หนังชีวิต” ชนิดที่แทบจะแยกกันไม่ออก
ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย
หากจะรับรู้เรื่องราวของ เอเวอร์ มาบิล ก็ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของประเทศซูดานใต้ อันเป็นถิ่นเกิดของพ่อแม่ของเขากันเสียก่อน
ก่อนจะกลายมาเป็นประเทศเกิดใหม่ในปี 2011 ประเทศซูดาน ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองระหว่างพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนใต้มาโดยตลอด เพราะภายหลังจากซูดานได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1956 ประเทศได้ถูกปกครองโดยผู้นำทางการเมืองซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากตอนเหนือ
ทำให้ศูนย์กลางการปกครองเป็นดินแดนฝั่งเหนือเป็นส่วนใหญ่ เวลาต่อมามีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในการปกครอง ทำให้ประชาชนทางตอนใต้ที่ส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์ที่เป็นความเชื่อดั้งเดิม รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองกำลังต่อต้านอยู่เรื่อยมา
สงครามกลางเมืองซูดานเกิดขึ้นอยู่หลายระลอก โดยระหว่างปี 1983-2004 ว่ากันว่าเป็นสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ของประเทศ และการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาลทำให้คนในประเทศกว่า 1 ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย
ด้วยเหตุนี้ทำให้พ่อแม่ที่รอดจากภัยสงครามกลางเมืองในซูดานได้มาอยู่ในค่ายลี้ภัยในคาคุมา (Kakuma) ทางตอนเหนือของเคนยา เมื่อปี 1994 โดยการสนับสนุนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
“มันน่าสะเทือนใจมาก เพราะระหว่างทางที่แม่ผมและคุณปู่คุณย่าต้องฝ่าฟันเพื่อไปถึงค่าย มีคนตายเยอะมาก เรื่องนี้เราสามารถคุยกันได้ทั้งคืนครับ มันฟังดูเหมือนมาจากฉากในภาพยนตร์ แต่นี่เป็นสิ่งที่พวกท่านเคยผ่านมาจริง ๆ ทั้งเรื่องสงคราม การเดินทาง และสิ่งที่ต้องเผชิญ” เอเวอร์ เล่าผ่าน The Guardian สมัยที่คุณแม่ของตัวเองหนีภัยสงครามมายังค่ายผู้ลี้ภัย
หนึ่งปีหลังการอพยพในปี 1995 เอเวอร์ มาบิล ก็ได้ลืมตาดูโลก และในระหว่างเติบโตขึ้นมาเด็กชายมาบิลมีเด็ก ๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยคอยเป็นเพื่อนเล่นสนุกกันตามประสา
ฟุตบอลเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้มาบิลและเพื่อน ๆ ได้สนุกไปพร้อม ๆ กัน มาบิลยอมรับว่าการเล่นฟุตบอลเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมันเหมือนการได้ปลดปล่อยชีวิตให้เป็นไปอย่างอิสระ
“มันไม่มีอะไรที่เป็นระบบระเบียบครับ ผมแค่เล่นกับเพื่อน ๆ และลูกพี่ลูกน้องของผม เล่นลูกบอลพลาสติก ลูกบอลที่ทำจากกระดาษ บ้างก็ทำจากเสื้อผ้า นั่นเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดแล้วครับ เพราะคุณได้เล่นอย่างมีอิสระ” มาร์บิล กล่าวกับ The Athletic
“ถ้าคุณมองที่นิ้วเท้าผม คุณอาจจะกลัว เล็บผมหลุดออกมาหลายครั้งเลยเพราะก้อนหิน”
และแล้วโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตก็มาถึง จากการที่ ปีเตอร์ คูเร็ง ลุงของเอเวอร์ ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่แอดิเลด ประเทศออสเตรเลียก่อนแล้ว แถมที่นั่นยังมีชุมชนชาวซูดานใต้ตั้งอยู่ และด้วยความพยายามทุกอย่างเพื่ออนาคตของลูกชาย ในที่สุดครอบครัวมาร์บิลก็ได้เดินทางมาที่ออสเตรเลีย โดยในขณะนั้น ลูกชาย ว่าที่นักฟุตบอลอาชีพของตระกูล มีอายุได้ 10 ขวบ
จากช่วงชีวิตที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมาร่วมทศวรรษ ถึงเวลาแล้วที่ เอเวอร์ มาบิล จะได้เล่นฟุตบอลที่เป็นลูกฟุตบอลจริง ๆ โดยไม่ต้องเล่นฟุตบอลเท้าเปล่าอีกต่อไป
วัยรุ่นออสฯ สู่ถนนลูกหนังยุโรป
เมื่อได้เข้ามาอยู่ในดินแดนใหม่ การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และด้วยการที่เจ้าตัวไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาราชการของออสเตรเลียสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กชายมาบิลเริ่มต้นจากการใช้ภาษา “ฟุตบอล” ในการสื่อสารกับเพื่อนเป็นอย่างแรก
"แรก ๆ คือยากเลยครับ เพราะพวกเรามาที่นี่โดยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จริง ๆ ผมชอบพูดคุยกับผู้คนนะ แต่ผมไม่สามารถสื่อสารกับใครได้มากนัก ถ้าผมไม่ได้เล่นฟุตบอลผมจะไม่ฟังและไม่สนใจเลยว่าใครพูดอะไร ฟุตบอลเป็นเหมือนผู้ช่วยให้ผมรอดมาได้ และมันเป็นวิธีที่ผมใช้สื่อสารกับผู้คน” มาบิล ว่าต่อ
ในวัยสิบขวบต้น ๆ เอเวอร์ มาบิล เข้าร่วมกับทีมฟุตบอลเยาวชนหลายทีมในพื้นที่แอดิเลด จนกระทั่งก้าวสู่ระบบอคาเดมีของสโมสรชื่อดังของเมืองอย่าง แอดิเลด ยูไนเต็ด (Adelaide United) ในปี 2012 ด้วยวัย 17 ปี โดยหนึ่งปีต่อจากนั้น โอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดใหญ่ก็มาถึง
ศึกเอลีก ออสเตรเลีย ฤดูกาล 2012-13 คือลีกฟุตบอลอาชีพครั้งแรกที่มาบิลได้สัมผัส เขาลงเล่นฟุตบอลให้ทีมดังประจำเมืองเป็นเวลา 3 ฤดูกาลด้วยกัน คว้าแชมป์ออสเตรเลีย คัพ ร่วมกับทีมได้ 1 สมัย เมื่อปี 2014
จากสถิติลงเล่นอาชีพในออสเตรเลียเกิน 50 นัดด้วยวัยเพียง 20 ปี แถมยังมีชื่อติดทีมชาติออสเตรเลียชุดเยาวชนไปแล้ว ดูเหมือนว่าการค้าแข้งในแดนจิงโจ้จะเริ่มเล็กเกินไปสำหรับเอเวอร์ ก่อนที่ความฝันของนักเตะหลาย ๆ คนอย่างการไปเล่นในทวีปยุโรปก็เกิดขึ้นกับตัวเขา
และเป็นสโมสรมิดทิลแลนด์ (Midtjylland) สโมสรในลีกสูงสุดของประเทศเดนมาร์กที่ดึงตัวเขาไปร่วมทีม และกลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางชั้นดีในการบ่มเพาะฝีเท้าที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้อยู่เรื่อยมา
“ตอนที่ผมมาที่เดนมาร์ก ฟุตบอลเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ในแง่หนึ่งคุณต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเมื่อคุณต้องชนะการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสโมสรใหญ่อย่างมิดทิลแลนด์ มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับผมอยู่นะ”
2015-16 คือฤดูกาลแรกที่ เอเวอร์ มาบิล โลดแล่นในลีกยุโรป และมิดทิลแลนด์ก็มองว่ามาบิลเป็นนักเตะแห่งอนาคตของสโมสร ในช่วงที่มีสัญญากับทีมแกร่งแดนโคนมทีมนี้ เรื่องของ “ทัศนคติ” ของมาบิลก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เขาผจญภัยได้สุดทาง
สโมสรปล่อยให้มาบิลออกไปเรียนรู้และเก็บประสบการณ์กับทีมอื่นเพื่อโอกาสขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในอนาคต และเขาก็น้อมรับกับแผนการนี้แต่โดยดี
“ผมโดยปล่อยยืมตัว 2-3 ครั้ง และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมเป็นผมนะ มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ผมมองฟุตบอลต่างออกไป การถูกปล่อยยืมตัวเปลี่ยนวิธีที่ผมมองเห็นตัวเอง เพราะผมได้ค้นพบในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้โอกาสลงสนาม”
เอสบอร์ก (Esbjerg fB) และ ปากอส เดอ แฟร์ไรร่า (Paços de Ferreira) สโมสรฟุตบอลจากเดนมาร์กแลโปรตุเกส คือทีมที่เอเวอร์ย้ายไปบ่มเพาะผีเท้าด้วยสัญญายืมตัว ก่อนที่เขาจะกลับมาสู่มิดทิลแลนด์อีกครั้งในฤดูกาล 2018-19
การกลับมายังสโมสรแม่ครั้งนี้ดาวเตะจากออสเตรเลียก็มีส่วนช่วยให้ทีมคว้าแชมป์เดนิช ซูเปอร์ ลีกา หรือแชมป์ลีก 2019-20 รวมถึงแชมป์บอลถ้วยอย่าง เดนิช คัพ 2018-19 ทั้งยังจารึกสถิติเป็น 1 ใน 4 นักเตะชาวออสเตรเลียที่ทำประตูในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ ในเกมที่ มิดทิลแลนด์ พ่ายต่อ อาหยักซ์ 3-1 เมื่อปี 2020 และในระหว่างที่ค้าแข้งกับมิดทิลแลนด์ เขาก็ถูกทีมชาติออสเตรเลียเรียกตัวให้ไปติดทีมชาติชุดใหญ่
อย่างไรก็ดี เอเวอร์ มาบิล ไปกับมิดทิลแลนด์ไม่สุดทาง เพราะในระหว่างที่ออสเตรเลียมีภารกิจสู้ศึกเพื่อตีตั๋วไปฟุตบอลโลก 2022 แน่นอนว่ามาบิลแสดงความตั้งใจจริงกับโอกาสลงสนามช่วยทัพจิงโจ้ ซึ่งเรื่องนี้เองได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญครั้งหนึ่งที่ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจอำลามิดทิลแลนด์ ย้ายไปเล่นให้ คาซิมปาซ่า (Kasimpaşa) ด้วยสัญญายืมตัวในช่วงเลกสองของฤดูกาล 2021-22
ก่อนจะอำลาทีมมิดทิลแลนด์หลังจบฤดูกาลนั้น นั่นเพราะการเสียตำแหน่งตัวจริงในทีม ตลอดจนการติดโควิด-19 ทำให้โอกาสลงเล่นของเขาถูกจำกัด ทว่าเขาก็ได้ก้าวสู่เวทีลีกอาชีพที่ใหญ่กว่าเดิมอย่าง “ลา ลีกา สเปน” กับสโมสรกาดิซ (Cádiz) ด้วยสัญญา 4 ปี ในฤดูกาล 2022-23
แน่นอนว่าหลังเสร็จสิ้นภารกิจฟุตบอลโลก 2022 มาบิลยังคงพร้อมพิสูจน์ตัวเองต่อในลีกสูงสุดแดนกระทิง
เต็มที่เพื่อออสซี่
“เขามีความฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะเล่นฟุตบอลโลกและเป็นตัวแทนของออสเตรเลีย นั่นคือวิชั่นจากเด็กอายุ 11 ขวบ” ปีเตอร์ คูเร็ง ลุงของมาบิล กล่าวกับสถานีวิทยุ ABC Radio Adelaide
“ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมภูมิใจมากไปกว่าการเล่นให้ออสเตรเลีย เพราะที่นี่ให้โอกาสผมและครอบครัวในการเริ่มต้นชีวิตใหม่” เอเวอร์ ย้ำความสำคัญของการเล่นให้ทีมชาติออสเตรเลีย
การติดธง “ซอคเกอร์รูส์” มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับตัว เอเวอร์ มาบิล นั่นเพราะออสเตรเลียคือประเทศที่มอบโลกใบใหม่ให้กับตัวเขาและครอบครัว
เนื่องจากสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยของเขา ทำให้เอเวอร์ลงเล่นให้ได้หลายทีมชาติ และด้วยการเป็นแข้งอนาคตไกล สมาคมฟุตบอลออสเตรเลียจึงเดินเรื่องเต็มกำลังเพื่อให้ เอเวอร์ มาบิล เป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติ โดยกระบวนการนี้กินเวลาร่วมปี ท้ายที่สุดเขาก็ได้รับการยกเว้นจากกฎคุณสมบัติของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ในเดือนมีนาคม 2014
นับแต่นั้นแนวรุกริมเส้นรายนี้ลงเล่นให้ทัพออสซี่ตั้งแต่ชุดเยาวชน ก่อนที่อีก 4 ปีให้หลัง (2018) เขาจะกลายเป็นนักเตะในทีมชุดใหญ่ และได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญ คือการพาออสเตรเลียไปฟุตบอลโลกที่กาตาร์
ศึกระหว่าง ออสเตรเลีย กับ เปรู ในรอบเพลย์ออฟระหว่างทีมตัวแทนจากโซนเอเชียกับโซนอเมริกาใต้ที่ให้สิทธิ์ทีมชนะไปลุยวิลด์คัพ 2022 เป็นเดิมพันเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 จบลงด้วยชัยชนะของทัพจิงโจ้ในการดวลจุดโทษตัดสิน 5-4 และ เอเวอร์ มาบิล คือนักเตะคนสุดท้ายของออสเตรเลียที่รับหน้าที่สังหาร ก่อนจะกดเข้าไปไม่เหลือ
“ผมรู้สึกดีมาก ผมรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมาก ผมทำงานหนักมากจริง ๆ ในการพยายามให้ตัวเองพร้อมสำหรับเรื่องพวกนี้ เพราะไม่ใช่ทุกวันที่คุณจะมีโอกาสไปฟุตบอลโลก มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ตลอด ผมจะเป็นตัวแทนของประเทศของผมด้วยความภาคภูมิใจ และทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราได้รับชัยชนะ” มาบิล เผยความรู้สึกผ่าน The Athletic
แรงบันดาลใจเพื่อเด็กด้อยโอกาส
เอเวอร์ มาบิล เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนักฟุตบอลอาชีพที่เกิดและเติบโตมาจากค่ายผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญความยากลำบาก ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะระดับอาชีพในยุโรปจนมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่
เขาไม่เคยลืมถึงความยากลำบากในวัยเด็ก และนั่นได้กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดในการตอบแทนสังคมโลก โดย เอเวอร์ มาบิล เป็นหนึ่งในผู้จัดตั้งมูลนิธิ Barefoot To Boots ร่วมกับ เอเวอร์ จี. บุล พี่ชาย รวมถึง เอียน สมิธ หนึ่งในทีมบริหารของสโมสรฟุตบอลแอดิเลด ยูไนเต็ด พร้อมเป้าประสงค์ในการพัฒนา "ด้านสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศ"
เอเวอร์ มาบิล จะคอยมอบสตั๊ด ชุดฟุตบอล และลูกฟุตบอลให้เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตมาในรูปแบบเดียวกับที่ริมเส้นชาวออสซี่รายนี้เคยสัมผัสมาก่อน
“เป้าหมายของผมคือทำให้ชีวิตของผู้ลี้ภัยง่ายขึ้น ทำให้พวกเขาตระหนักมากขึ้นว่าความฝันของพวกเขาสามารถเป็นจริงได้” มาบิล ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian “พวกเขา (ผู้ลี้ภัย) แค่ต้องการโอกาสเพื่อให้มีคนเห็นและไม่โดดเดี่ยว”
จากความตระหนักถึงความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัย ทำให้ เอเวอร์ มาบิล เคยได้รับรางวัล FIFPro Merit award (ยกย่องนักฟุตบอลอาชีพที่อุทิศตนเพื่อการกุศล) เมื่อปี 2018 มาแล้ว
“ไม่มีใครสมัครใจในการเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาส่วนใหญ่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเนื่องจากสถานการณ์ที่คุกคามชีวิตตนเองหรือครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นยากและน่าเศร้ามาก เรื่องง่าย ๆ บางอย่าง เช่น การเล่นฟุตบอลก็นำมาซึ่งความสุขในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้” เอเวอร์ กล่าวหลังคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ
“ผมต้องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยผ่านฟุตบอล เพราะฟุตบอลให้อะไรกับผมมากมาย”
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/3747292/2022/11/25/awer-mabil-refugee-australia-world-cup/
https://www.theguardian.com/football/2022/nov/21/australias-awer-mabil-football-has-been-my-lifes-guide
https://en.wikipedia.org/wiki/Awer_Mabil
https://www.sbs.com.au/news/article/awer-mabil-grew-up-playing-with-footballs-made-from-plastic-bags-now-hes-an-australian-hero/cs1yx971k
https://www.bbc.com/thai/international-47900114
https://mgronline.com/daily/detail/9510000011401
https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1e15e39c306000a078
https://www.abc.net.au/news/2022-06-15/awer-mabil-from-refugee-camp-to-world-cup-socceroo/101151676