Feature

บัวหลวงเริงฤทธิ์ : เหตุใด "ธนาคารกรุงเทพ" จึงยิ่งใหญ่ในฟุตบอลไทยยุค 1960s | Main Stand

เชื่อได้เลยว่า หากท่านเป็นแฟนบอลที่พอจะมีอายุ มีวัยวุฒิเสียหน่อย ย่อมไม่มีใครที่จะไม่รู้จักสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า "ทีมบัวหลวง" หรือ "พิงค์เรนเจอร์" อย่างแน่นอน

 


โดยสโมสรแห่งนี้ ถือเป็นทีมธนาคารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งบ่มเพาะพ่อค้าแข้งฝีเท้าดี ให้ติดทีมชาติกันเป็นโขยง

ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ช่วงยุค 60 แบบที่ทำใครหลายคนต้องอ้าปากค้างเลยทีเดียว!

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

 

พลังดูดรุ่นบุกเบิก

อาจเป็นสิ่งเหลือเชื่อ ที่สโมสรที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2506 (แยกจากทีมธนาคารรวม) จะกวาดแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก ไปได้มากถึง 4 สมัย พ่วงด้วยแชมป์ควีนส์คัพอีก 1 สมัย ในยุค 60 แต่เมื่อพิจารณาดีๆ จะพบว่า ทีมบัวหลวงมีกลยุทธ์ที่แยบคาย มาก่อนกาล ด้วยการใช้ "พลังดูด" นั่นเอง

โดยการดูดระลอกแรก นั่นคือ การดูดนักเตะมาจาก "สโมสรฟุตบอลมุสลิม" อดีตแชมป์ถ้วย ก เมื่อปี 2500 ที่ช่วงนั้นถือว่าเป็นทีมที่มีผลงานดีเยี่ยม สอดแทรก ขับเขี้ยวกับสโมสรทหารอากาศ ยักษ์ใหญ่ขณะนั้น ได้ตลอด แต่ท้ายที่สุดทีมแตก ต้องแยกย้ายกันไป

ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์, โชคชัย (วันชัย) สุวารี, อนุรัฐ ณ นคร และคนอื่นๆ ของทีมมุสลิมอีกเพียบ ยกโขยงกันมาลงหลักปักฐานที่ทีมบัวหลวงแทบทั้งสิ้น

ประกอบกับตอนนั้น ทีมบัวหลวงได้แต่งตั้ง "สำเริง ไชยยงค์" อดีตฮีโร่ชุดลุยโอลิมปิก 1956 ที่เมลเบิร์น ของทีมชาติไทยมาเป็นผู้ฝึกสอนพอดี 

ซึ่งสำเริงนั้น ได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ให้เดินทางไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล่ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก โดยเน้นเกี่ยวกับวิทยาการกีฬาฟุตบอล การจัดการ การฝึกซ้อม และแบบแผนการเล่นสมัยใหม่ 

แน่นอนว่า ดีดรีขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่จะสามารถดูดนักฟุตบอลบอลระดับเทพๆ จากทีมอื่นๆ มาได้มากโข ทั้งลงทุนไปพูดคุยดึงตัว โดยนำดีกรีโค้ชมาล่อ หรือนักเตะถวายหัวยอมมาเล่นให้แบบแบเบอร์เลยทีเดียว

การสุมหัวนักฟุตบอลที่มีฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์ไว้ในที่เดียวแบบนี้ จะไม่ให้ฟอร์มระดับพระเจ้า ขยับขึ้นมาเทียบรัศมีพวกทีมข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่ครองความเป็นใหญ่ในถ้วย ก ขณะนั้น ได้อย่างไร

 

สายสัมพันธ์สถานศึกษา

การเลือกกลยุทธ์ดึงสควอตทีมแกร่ง และใช้ดีกรีโค้ช ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่พลังดูดของทีมบัวหลวงร้ายกาจกว่านั้น นั่นคือ การเข้าไปมี "สายสัมพันธ์กับสถานศึกษา" 

เพราะในสมัยก่อน ที่ยังไม่มีฟุตบอลอาชีพ การจะหาช้างเผือก หรือนักเตะฝีเท้าดีสักคน ช่องทางไหนหละที่จะการันตีคุณภาพ และเจ้าถึงได้ง่าย เป็นที่ประจักษ์มากที่สุด? แน่นอนว่าต้องเป็น "ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" หนะสิจริงไหม?

เพราะสมัยก่อนฟุตบอลประเพณี แทบจะเป็นเวทีเดียว ที่เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มผู้หลงไหลลูกหนังได้แสดงฝีเท้า และด้วยความคลาสสิค จัดแข่งขันมานาน 

รวมถึงมีการจัดแข่งขันปีละครั้ง ทำให้เกิดความขลังบางอย่าง นักฟุตบอลที่ได้รับคัดเลือก ให้ลงเล่นการแข่งขันนี้ คือคัดมาเน้นๆ แล้วจริงๆ บรรดาแมวมองจากทีมชาติ เลยมักจะไปซุ่มดูฟอร์ม ใครมีแววดี มีแววอร่อย ก็เรียกติดธงไตรรงค์เสียเลย

อัศวิน ธงอินเนตร, เฉลิม โยนส์, อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, บุญเลิศ นิลภิรมย์ และอื่นๆ ล้วนเป็นกำลังสำคัญของทีมบัวหลวง ที่จบการศึกษามาจากรั้วแม่โดมแทบทั้งสิ้น

แต่ก็ใช่ว่ามีแต่รั้วแม่โดมเท่านั้น "รั้วจามจุรี" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับการดูดนี้เช่นเดียวกัน จึงได้ตัว วิชิต แย้มบุญเรือง และทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์  ณ  อยุธยา เข้ามาเติมความแข็งแกร่งอีกทางหนึ่งด้วย

ประกอบกับนักฟุตบอลคนอื่นๆ ที่ทีมมีอยู่ อย่าง สราวุธ ประทีปากรชัย, อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค, เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา, ชัชชัย พหลแพทย์ และอื่นๆ ที่กล่าวถึงไม่หมด เท่านี้ก็แทบจะเป็น "บาเยิร์น มิวนิค" เข้าไปทุกทีแล้ว

ซึ่งก็มาเห็นผลในการแข่งขัน ฟุตบอลชาย โอลิมปิก 1968 ที่ไทยได้ไปแข่งรอบสุดท้ายอีกหนึ่งครั้ง 12 จาก 18 ขุนพลช้างศึกนั้น สังกัดสโมสรธนาคารกรุงเทพทั้งสิ้น แบบนี้เรียก "บัวหลวง XI" ก็คงไม่ผิดนัก

 

เป็นเลิศด้านบริหารจัดการ

การจะดูดหรือเอาอะไรไปล่อนักเตะ ไม่สามารถทำได้แต่เพียงลมปากเท่านั้น แค่คำสัญญาไม่มีน้ำกนักมากพอให้คนๆ หนึ่ง ฝากอาชีพการค้าแข้งให้กับสโมสรที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นานได้ชะงัดนัก 

เพียงแต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ทีมบัวหลวงได้เปรียบ จนทำให้นักเตะไว้วางใจ ตกลงมาร่วมงานด้วย นั่นก็คือ "ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ"

โดยหัวเรือใหญ่ของทีมบัวหลวงในยุค 60 นั่น คือ บุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ลงมาบริหารทีมฟุตบอลประจำธนาคารด้วยตนเอง ในตำแหน่ง ประธานสโมสร ตั้งแต่ก่อตั้ง 

ซึ่งบุญชูนั้น เป็นบุคคลที่เชื่อมือได้ด้านการบริหาร และการเงิน เพราะสามารถพลิกธนาคารกรุงเทพ จากที่เคยจะล้มละลาย ไปแหล่ไม่ไปแหล่ กลับขึ้นมามีผลประกอบการเป็นบวก ทะยานขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ได้ในระยะเวลาอันสั้น ถึงขนาดได้รับยกย่องว่าเป็น "ซาร์เศรษฐกิจ" ในกาลต่อมา

ในยุคบริหารทีมของเขา ธนาคารลงทุนการสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ มีฟาซิลิตี้และอุปกรณ์ฝึกซ้อมทางการกีฬาที่ทันสมัย ครบครัน ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่บริเวณซอยอุดมสุข เขตบางนา ซึ่งสิ่งดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่บุญชูเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสร แต่ก็ไม่แน่ใจว่า การสร้างสิ่งต่างๆ ที่ว่านี้ เขามีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยขนาดไหน

รวมถึงการที่เขาจบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีคอนเนคชั่น สามารถดึงนักฟุตบอลจากรั้วแม่โดมมาร่วมทีมได้หลายคน แม้กระทั่งนักเตะจากรั้วจามจุรีก็ด้วย

แต่น่าเสียดาย ที่บุญชูเลือกไปเดินบนถนนสายการเมือง ช่วงปี 2517-18 แต่รอยทางที่เขาสร้างไว้ให้กับทีมบัวหลวง ก็ได้ยืนยาวสถาพรต่อมาอีกเกือบ 3 ทศวรรษ และได้เป็น "โรลโมเดล" การบริหารจัดการทีมฟุตบอล ให้ทีมธนาคาร และทีมอื่นๆ นำไปปรับใช้ อย่างกสิกรไทย ที่เพิ่มระบบเงินเดือนเข้ามาเป็นแรงจูงใจ และไปถึงแชมป์สโมสรเอเชีย 2 สมัย นั่นเอง

หรืออาจจะบอกได้ว่า ทีมบัวหลวง และวงการฟุตบอลไทย "เป็นหนี้บุญคุณ" บุญชู โรจนเสถียร ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516
หนังสือ 50 ปี บัวหลวง
วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการและบทบาทธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2431-2488)
วิทยานิพนธ์ ประวัติศาสตร์ธนาคารกรุงเทพกับพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทย พ.ศ. 2487-2523
วิทยานิพนธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด การส่งเสริมการกีฬาเพื่อการประชาสัมพันธ์
https://www.blockdit.com/posts/5e36e94476954b0cb4babef4
https://www.komchadluek.net/news/365481 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ