ในตำนานฟุตบอลโลก เราต่างเคยได้ยินเรื่องราวของผู้จัดการทีมผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมระดับโลกกันมามากมาย และถึงแม้เฮดโค้ชบางคนจะไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก แต่เขาก็ยังเป็นที่จดจำของผู้คนได้เสมอ
แต่ไม่ใช่กับ ‘วิตโตริโอ ปอซโซ’ สุดยอดเฮดโค้ชผู้ถูกลืม ที่มีผลงานระดับตำนานด้วยการเป็นเฮดโค้ชคนแรกและคนเดียวที่เคยได้แชมป์ฟุตบอลโลกถึง 2 สมัยซ้อน และยังได้รับความกดดันจาก ‘เบนิโต มุสโสลินี’ ผู้นำของอิตาลีในระบอบฟาสซิสต์ ที่มีคำสั่งให้อิตาลีต้องได้แชมป์เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ตนเอง นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ให้กำเนิดระบบการเล่นแบบ ‘เมโทโด’ (Metodo) หรือแผนการเล่นแบบสามเหลี่ยมทิ้งไว้เป็นมรดกให้แก่โลกฟุตบอล แต่เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของปอซโซกลับไม่ถูกพูดถึงเท่าไรนัก
Main Stand จึงขอพาท่านย้อนไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของ ‘วิตโตริโอ ปอซโซ’ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด ปรัชญาการทำทีม หรือแม้แต่เรื่องราวชีวิตส่วนตัว ว่ากว่าที่เขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดโค้ชที่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกได้นั้นเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ชีวิตช่วงก่อนเป็น ‘กุนซือให้ทีมชาติอิตาลี’
‘วิตโตริโอ ปอซโซ’ (Vittorio Pozzo) เกิดวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1886 ในเมืองตูริน (Turin) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เขาเข้าศึกษาที่ ‘ลิเซโอ กาวัวร์’ (Liceo Cavour) ในเมืองตูรินบ้านเกิดของเขา พร้อมกับฝึกหัดฟุตบอลไปด้วย
เขาเคยเล่นในระดับอาชีพให้กับ ‘กราสฮอปเปอร์ คลับ ซูริก’ (Grasshopper Club Zürich) ในลีกสวิตเซอร์แลนด์ เล่นในฝรั่งเศส และลีกอังกฤษให้กับทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนย้ายกลับไปเล่นให้กับทีม ‘โตริโน เอฟซี’ (Torino F.C.) ในบ้านเกิดของเขาเอง
ปอซโซเล่นให้กับโตริโนมากถึง 5 ฤดูกาลด้วยกัน จนกระทั้งแขวนสตั๊ดในปี 1911 และได้รับเกียรติให้เป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคของโตริโนตั้งแต่ปี 1912 ถึง 1922 ก่อนจะได้รับการทาบทามให้มาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้กับทีมชาติอิตาลี
ผู้ให้กำเนิดระบบการเล่นแบบ ‘เมโทโด’
ขณะที่ยังค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปอซโซมีโอกาสได้เล่นร่วมกับ ‘ชาร์ลี โรเบิร์ตส์’ (Charlie Roberts) เซ็นเตอร์ฮาล์ฟผู้เต็มไปด้วยทักษะอันรวดเร็ว และมีความสำคัญต่อระบบการเล่นของแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้นมาก เพราะเขาคือส่วนสำคัญในระบบแบบมีแบ็กสองคนและมีเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่สามารถสร้างสรรค์เกมได้
ในปี 1930 ขณะที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้กับทีมชาติอิตาลี ปอซโซได้พัฒนาระบบดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นที่เรียกว่า ‘เมโทโด’ หรือระบบสามเหลี่ยม โดยจะเล่นในแผน 2–3–5 ซึ่งมีฮาล์ฟแบ็กคอยช่วยดึงตัวประกบผู้เล่นกองกลางฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นแผนการเล่นแบบ 2–3–2–3 ที่ช่วยสร้างเกมรับที่แข็งแกร่งมากกว่าการเล่นแบบเดิมหรือที่เรียกว่าการตั้งรับแล้วรอสวนกลับ (Counter-attacks) ซึ่งเป็นแผนที่ทำให้ทีมชาติอิตาลีได้แชมป์โลกในปี 1934 และ 1938 อย่างยิ่งใหญ่
ปัจจุบันนี้แผนการเล่นดังกล่าวได้ถูกนำมาปรับใช้ใหม่โดย ‘เป๊ป กวาร์ดิโอลา’ ที่ใช้กับบาร์เซโลน่า และ บาเยิร์น มิวนิค ที่จะใช้กองหลัง 2 คน กองกลาง 5 คน และกองหน้า 3 คน
คว้าแชมป์ยิ่งใหญ่ … ใต้เงาฟาสซิสต์
หลังจากอุรุกวัยประสบความสำเร็จในการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 อิตาลีภายใต้การนำของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ (Benito Amilcare Andrea Mussolini) จึงอยากเห็นมหกรรมลูกหนังนี้จัดขึ้นในดินแดนมะกะโรนีให้ยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรก
อิตาลีเดินหน้าในการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ด้วยการทุ่มเงินก้อนโต สำหรับฟุตบอลโลกครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นภาพโปสเตอร์, แสตมป์, ของกระจุกกระจิกต่าง ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง ซึ่งก็เรียกความสนใจจากแฟนบอลได้เป็นอย่างดี
ด้วยบารมีของมุสโสลินีที่กดดันไปยังคนระดับบิ๊กในสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ให้ช่วยผลักดันโปรเจ็กต์นี้ให้สำเร็จ จนที่ในสุดการประชุมใหญ่ของฟีฟ่าที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน อิตาลีก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นชาติที่มีความพร้อมมากกว่าชาติอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่าในขณะนั้น
ความกดดันทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่ปอซโซอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากมุสโสลินี มีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าที่จะคว้าแชมป์โลกมาครองให้ได้เพื่อความเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
ปอซโซจึงทุ่มสุดตัวด้วยการเสี่ยงใช้ระบบ ‘เมโทโด’ เพื่อห้ำหั่นกับทีมระดับบิ๊กในฟุตบอลโลกในขณะนั้นด้วยความกล้าและเด็ดเดี่ยว เขาต้องแบกความหวังของคนอิตาลีทั้งชาติที่เข้ามาเชียร์ขุนพลอัซซูรีในสนามอย่างล้นหลาม ซึ่งเริ่มเปิดฉากดวลแข้งกันตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่กรุงโรม, เจนัว, เนเปิลส์, ตูริน, ฟลอเรนซ์, โบโลญญ่า, มิลาน และ ตริเอสเต้
แต่ละเกมผ่านไปอย่างลุ้นระทึก อิตาลีเจ้าภาพลงประเดิมสนามด้วยฟอร์มอันร้อนแรงบดขยี้ สหรัฐอเมริกา ยับเยินถึง 7-1 และในรอบ 8 ทีมสุดท้ายก็เอาชนะ สเปน อย่างหืดจับ ก่อนจะเวียนมาพบศึกหนักอย่างแท้จริงกับ ออสเตรีย ในรอบตัดเชือก
เนื่องจากขุนพลนักเตะเวียนนาเป็นทีมที่จัดว่ามีสไตล์การเล่นที่สวยงามที่สุดในยุคนั้น ขณะที่ทีมอัซซูรีก็มีกำลังใจดีเยี่ยมและมีความฮึกเหิมจากการได้ลงเล่นในถิ่นของตนเองท่ามกลางผู้ชมกว่า 60,000 คนในสนาม ‘ซาน ซิโร่’ ซึ่งท้ายที่สุดอิตาลีก็เอาชนะออสเตรียมาได้ 1-0 จากประตูชัยของ ‘กัวอิต้า’ ในนาทีที่ 19 ของเกม
อิตาลีเข้ามาชิงชนะเลิศกับ เชโกสโลวะเกีย ที่สนาม ‘พีเอ็นเอฟ สเตเดียม’ ในกรุงโรม มีแฟนบอลเข้าไปเชียร์ถึงขอบสนามประมาณ 55,000 คน ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ นักเตะเช็กจึงลงเล่นโดยไร้ความกดดันและเป็นฝ่ายเปิดเกมรุกอย่างหนัก ทำเอากองเชียร์อัซซูรีต้องลุ้นจนนั่งไม่ติดโดยเฉพาะท่านผู้นำมุสโสลินีที่ถึงกับหน้าเครียด
แต่ท้ายที่สุดแล้วขุนพลอัซซูรีก็สามารถเฉือนเอาชนะเชโกสโลวะเกียไปได้ด้วยสกอร์ 2-1 พร้อมกับคว้าแชมป์โลกในถิ่นของตนเองได้สำเร็จ
ท่ามกลางความสมหวังของคนอิตาลีทั้งประเทศ รวมทั้งมุสโสลินีผู้อยู่เบื้องหลังการจัดศึกฟุตบอลโลกบนดินแดนมะกะโรนีครั้งนี้ด้วย
ปอซโซ … ผู้ถูกลืม
ทว่าชัยชนะของทัพอัซซูรีที่มีปอซโซกุมบังเหียนกลับถูกสงสัยในความใสสะอาดของเกมอย่างมาก อีกทั้งทัพอัซซูรีมีความได้เปรียบในทุกด้านเพราะอย่างน้อยที่สุดก็ได้เปรียบที่ได้ลงเล่นในบ้านของตัวเอง และยังมีบารมีของท่านผู้นำจอมเผด็จการอย่างมุสโสลินีคอยหนุนหลังอีก รวมทั้งในทีมยังมีนักเตะฝีเท้าดีหลายคน เช่น ยอดนายทวาร ‘เจียมเปียโร คอมบิ’ และ 2 ดาวยิงตัวเก่ง ‘จูเซ็ปเป้ เมียซซ่า’ กับ ‘แองเจโล สเคียวิโอ’
ปอซโซได้แต่เก็บคำครหาไว้ในใจโดยไม่คิดออกมาตอบโต้ จนกระทั่งสามารถนำพาทัพอิตาลีได้แชมป์โลกอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1938 อย่างยิ่งใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนแรกและคนเดียวที่ทำได้ในฟุตบอลโลก
ผู้คนจึงหยุดตั้งข้อสงสัยในความสามารถของปอซโซว่าเขาคือสุดยอดโค้ชผู้เต็มไปด้วยความสามารถเก่งกาจจริงหรือไม่
ถึงกระนั้นเรื่องราวของปอซโซกลับเป็นที่ถูกพูดถึงไม่มากนักจนถึงปัจจุบันนี้ ทุกคนอาจจะรู้จักและจดจำ มาเชลโล ลิปปี กุนซือที่เคยพาอิตาลีคว้าแชมป์โลกปี 2006 แล้วกลับมาคุมทีมคำรบสอง ก่อนพาอิตาลีล้มเหลวตกรอบแรกในฟุตบอลโลกปี 2010 ได้มากกว่าเสียอีก
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องราวของ วิตโตรีโอ ปอซโซ จะจางหายไปหมดเสียทีเดียว เพราะในหลาย ๆ โอกาสสำคัญทีมชาติอิตาลีก็มักจะมีการทำเสื้อเพื่อรำลึกถึงปอซโซ เพียงแต่ความสำเร็จของเขากลับถูกพูดถึงไม่บ่อยนัก แถมในปีนี้อิตาลีก็ยังถูกพูดถึงในแง่ของความผิดหวังเสียมากกว่า หลังคว้าแชมป์ยูโร 2020 มาได้แต่กลับไม่สามารถเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเพราะตกรอบคัดเลือก
แหล่งอ้างอิง
HISTORY OF SOCCER.(2022). Vittorio Pozzo: The Master That Made Italian Soccer Great. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://historyofsoccer.info/vittorio-pozzo
Jack Gallagher .(2019). Vittorio Pozzo: Metodo, Mussolini, Meazza & the Difficult Memory of a Two-Time World Cup Winner. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.90min.com/posts/6409070-vittorio-pozzo-metodo-mussolini-meazza-the-difficult-memory-of-a-two-time-world-cup-winner
peoplepill.com.(2011). ITALIAN FOOTBALLER AND MANAGER VITTORIO POZZO. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://peoplepill.com/people/vittorio-pozzo
https://footballmakeshistory.eu/vittorio-pozzo-coach-of-mussolinis-team/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99_(%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5)
https://sites.google.com/site/wcstorykabot/home/futbxl-lok-khrang-thi2