Feature

20 พ.ย.2022 - 107 ปีฟุตบอลไทย หลากรสชาติ ผ่านร้อนหนาว จนถึงวันนี้ | Ball Thai Stand

 
ทีมฟุตบอล “ทีมชาติไทย” ก่อตั้งและเดินทางมาถึงปีที่ 107 แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดเรื่องราวมากมาย จนถึงวันก่อตั้งทีมชาติไทยอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 

 
เนื่องในวันครบรอบก่อตั้งทีมชาติไทยในปีนี้  #BallThaiStand  ขอสรุปเรื่องราวสำคัญๆที่เกิดขึ้น โดยมี จิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้แทนสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรบริหาร “พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม” ที่ได้รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆมาช่วยเป็นผู้เล่าเรื่อง
 

“จุดเริ่มต้น”และ “ตรามหามงกุฏ”

 
ปฐมบทการเดินทางเข้ามาของฟุตบอลในไทยต้องย้อนไปสมัย  “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือครูเทพ  ที่เป็นคนนำเอาฟุตบอลเข้ามาเผยแพร่ในสยามเมื่อพ.ศ. 2440 
 
การเข้ามาของฟุตบอลในช่วงแรกโดนวิจารณ์ว่าไม่เหมาะกับเมืองสยามที่เป็นเขตร้อน แต่หลังจากที่ รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นฟุตบอลว่ามีความนิยมในหมู่ข้าราชการ ครู ตลอดจนชาวอังกฤษที่อยู่ในไทย จึงมีความสนใจ
 
ปี พ.ศ. 2443 (รศ. 119)  เกิดการแข่งขันครั้งแรก ที่สนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ฟุตบอลคู่แรกประวัติศาสตร์ไทย  “ชุดบางกอก” กับ “ชุดกรมศึกษาธิการ” สมัยก่อนเรียกว่า “แอสโซซิเอชั่นฟุตบอล” (ASSOCIATIONS FOOTBALL) หรืออาจเรียกได้ว่า “การแข่งขันฟุตบอลของสมาคม”ผลการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษดังกล่าวเสมอกัน 2-2  หลังจากนั้นฟุตบอลในไทย ก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา
 
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงสนพระทัยกีฬาฟุตบอลอย่างมากจึงมีทีมส่วนพระองค์ที่ชื่อว่า “เสือป่า” 

 

ถ้วยทองของหลวง สู่ “ทีมชาติสยาม”


“ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม”
เกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯจัดการแข่งขันพระราชทาน “ถ้วยทองของหลวง” หรือ ถ้วยพระราชทานใบแรกของวงการลูกหนังไทย เมื่อพุทธศักราช 2458 โดยทีมส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ เสือป่าและข้าราชบริพาร
 
วันที่ 11 กันยายน - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการ ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรหรือทัวร์นาเมนต์ (TOUR NAMENT) แรกของสยาม พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ จึงเรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอล สำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง" ณ สนามฟุตบอลสโมสรเสือป่าหรือสนามม้าสวนดุสิต ถนนหน้าพระลาน (กรป.กลาง) มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันแบบพบกันหมด จำนวน 12 ทีม
 
ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงให้มีการจัดตั้งทีมชาติชุดแรกของสยาม ในนาม “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” ขึ้นครึ่งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ย. 2458 ที่สนามสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พร้อมทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน“ตราพระมหามงกุฎ” ให้แก่นักเลงฟุตบอลทีมชาติสยามเพื่อเป็นเกียรติยศการรักชาติ 


 
ดังนั้น วันที่ 20 พฤศจิกายน 2458 จึงถือเป็นวันก่อตั้งทีมชาติไทย (ทีมชาติสยาม) ขึ้นอย่างเป็นทางการ 
 
จากนั้นในวันอังคารที่ 23 พ.ย. 2458 ที่สนามราชกีฑาสโมสรมีการแข่งขันต่อหน้าพระที่นั่งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทีมชาติไทยในชื่อ  คณะฟุตบอลสยาม กับ สปอร์ตคลับฝ่ายยุโรป (ใช้ผู้เล่นอังกฤษทั้งหมด) โดยมี “มร.ดักลาส โรเบิร์ตสัน” เป็นผู้ตัดสิน ผลเป็น คณะฟุตบอลแห่งสยาม  ชนะ 2-1 
 
จากนั้นทรงสถาปนา คณะฟุตบอลแห่งสยาม หรือ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในปัจจุบัน ขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2459 แล้วทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ถ้วยใหญ่” และ “ถ้วยน้อย” ให้แก่สมาคมฯ เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรชิงถ้วยพระราชทานประจำปี ณ สนามเสือป่า สวนดุสิตโดยทีมชนะเลิศจะได้นำไปครอบครองเป็นเวลา 1 ปี
 

ฟัด“อินโดจีน”เปลี่ยน “สยาม”เป็น “ไทย”

 
 จากเหตุสงครามโลก ครั้งที่ 1 "ธงไตรรงค์" โบกสะบัดแสดงความเป็นประเทศสยาม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รัชกาลที่6 ทรงประกาศให้ธงไตรรงค์ คือธงชาติสยามประเทศ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2460 และกลายเป็นสัญญลักษณ์ติดหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอลทีมชาติไทย


 
จากนั้น พ.ศ. 2468 สมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม สมัครเป็นสมาชิก สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FEDERATION INTERNAIONAL OF FOOTBALL ASSOCIATION) หรือ “ฟีฟ่า” 
 
ทีมชาติสยามได้ลงแข่งขันในเกมระหว่างประเทศครั้งแรกในพ.ศ. 2473 พบทีมชาติอินโดจีน ซึ่งผู้เล่นเป็นเวียดนามใต้ และ ฝรั่งเศส เพื่อต้อนรับการเสด็จประพาสอินโดจีนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
โดยต่อมาชื่อของทีมชาติและชื่อของสมาคมได้ถูกเปลี่ยนชื่อในปี 2482 เมื่อรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศนโยบาย “รัฐนิยม” ฉบับแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2481ให้เปลี่ยนชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ จาก “สยาม” เป็น “ไทย” จึงเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จนถึงปัจจุบัน
 

เกียรติยศ “โอลิมปิก” ที่เมลเบิร์น

 
 ปี พ.ศ.2497 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯมีหนังสือไปยังคณะกรรมการโอลิมปิกเพื่อขอสมัครเข้าร่วมแข่งขันปรี-โอลิมปิก ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) โดยทีมชาติไทยลงเล่นเป็นทีมเหย้าในบ้านก่อนสองแมตช์ เสมอ ทีมชาติพม่า 2 - 2 และ  เสมอ ทีมชาติฮ่องกง 4 - 4 แต่ ปรากฎว่าพม่าที่ในยุคนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเครือจักรภพอังกฤษ พอจะเตะเป็นทีมเยือน กลับเกิดเหตุปฎิวัติภายในประเทศ ขณะที่สมาคมฟุตบอลของไต้หวัน มีคำสั่งห้ามผู้เล่นเดินทางไปแข่งในนาม “ทีมชาติฮ่องกง” ทำให้ทีมไทยจึงชนะผ่านและก้าวเข้าสู่รอบสุดท้าย กีฬาโอลิมปิก ทันที
 
กีฬาโอลิมปิก1956 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นครั้งแรกของทีมชาติไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมมหกรรมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้ โดยทีมชาติไทยเป็น 1 ใน 6 ทีมตัวแทนของทวีปเอเชีย (ญี่ปุ่น, เวียดนามใต้, อินเดีย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย)
 
ครั้งนั้นเป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ทีมไทยมี บุญชู สมุทรโคจร เป็นผู้ฝึกสอนคนแรก จับฉลากพบกับทีมสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน แล้วไทยแพ้ไป 0–9 (นับเป็นความพ่ายแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์) และตกรอบทันที 


 
ภายหลังจบการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งถึงสมาคมฟุตบอลฯ ให้ส่ง พล.ต.ดร.สำเริง ไชยยงค์ หนึ่งในนักฟุตบอลชุดโอลิมปิกไปศึกษาพื้นฐานการเล่นฟุตบอลจากประเทศเยอรมนี เพื่อให้กลับมาสอนการเล่นฟุตบอลให้แก่ทีมไทย


แชมป์ซีเกมส์, ลุยโอลิมปิกครั้งที่2


 พัฒนาการของฟุตบอลไทยก้าวเดินมาเรื่อยๆ ในยุคหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของฟุตบอลทีมชาติไทย  ภายใต้การบริหารของ“ลุงต่อ” พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ในฐานะนายกสมาคมฯ และควบตำแหน่ง “รองประธานฟีฟ่า ฝ่ายกิจการเอเชีย” 
 
ทีมเยาวชนไทยชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งเอเชีย 2 สมัย (ครั้งที่ 4 พ.ศ.2505, ครั้งที่ 12 พ.ศ.2512), คว้าแชมป์ฟุตบอลกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) ครั้งที่ 3 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย  (พ.ศ.2508) และจากวันนั้นถึงวันนี้ ไทยเป็นเจ้าเหรียญทองถึง 16สมัยจากซีเกมส์ 31 ครั้ง
 
อีกความสำเร็จในรอบ 12 ปี  ทีมชาติไทยผ่านรอบคัดเลือกที่กรุงเทพมหานครเป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในกีฬาโอลิมปิก1968 ณ นครเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 12 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2511 แม้ว่าทีมไทยจะตกรอบแรก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ และนำมาซึ่ง ความภูมิใจของชาวไทยทั้งชาติ
 

อันดับ 3 เอเชียนคัพ, แชมป์ “คิงส์คัพ” สมัยแรก 


 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอล “เอเชียนคัพ 1972”  ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งที่ 5 ของทัวนเมนต์นี้ โดยทีมชาติไทยคว้าอันดับที่ 3 หลังยิงลูกโทษตัดสินเอาชนะกัมพูชา 5–3 (เสมอกัน 2–2) นี่คือผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทยในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียรายการ “เอเชียนคัพ” 
 
สำหรับฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ถือกำหนดขึ้นในพ.ศ.2511 แต่กว่านักเตะไทยจะคว้าแชมป์สมัยแรกได้สำเร็จต้องรอถึง พ.ศ.2519 โดยเป็นแชมป์ร่วมกับทีมชาติมาเลเซีย หลังจากนั้นทีมชาติไทยเป็นแชมป์คิงส์คัพรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง

จากอาเซียนสู่ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 


 ยุค “ดรีมทีม” เป็นอีกหนึ่งยุคที่สร้างความสุขให้กับแฟนบอลไทยจากจุดเริ่มที่เกิดขึ้นในสมัยทีมชาติไทยชุดปรีโอลิมปิก แม้ทีมจะไม่ประสบความสำเร็จได้ไปเล่นรอบสุดท้ายแต่มีนักเตะที่สร้างชื่อมากมายจนเป็นตำนานของทีมชาติไทยในเวลาต่อมา อาทิ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน 
 
ช่วงทศวรรษที่ 90 ต่อเนื่องถึงปี 2000 ในช่วงต้นๆนักเตะไทยถือว่าทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเป็น “ราชันอาเซียน” คว้าแชมป์ในระดับซีเกมส์และทัวนาเมนต์อาเซียนคัพ “ไทเกอร์คัพ” อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าสู่ “ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก รอบ 10 ทีมสุดท้าย โซนเอเชีย” ได้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลก 2002 
 
สำหรับผลงานในมหกรรมกีฬาของชาวเอเชียอย่าง เอเชียนเกมส์ นักเตะไทยทำผลงานได้ดีที่สุดคือคว้าอันดับ 4 มา 3 สมัย ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 11 ที่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี 2533 เเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ กรุงเทพมหานครปี 2541 และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 ที่ ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2545 
 

ช่วงเวลาที่ย่ำแย่ของนักเตะไทย 

 
พ.ศ. 2547 ไทยทำผลงานย่ำแย่ใน “เอเชียนคัพ 2004” ที่ประเทศจีน โดยตกรอบแบ่งกลุ่ม และแพ้รวด 3 นัดที่พบ ญี่ปุ่น อิหร่าน และโอมาน ถือเป็นผลงานในเอเชียนคัพที่ย่ำแย่ที่สุดของทีม ก่อนจะทำผลงานดีขึ้นในการแข่งขันปี 2007 ในฐานะ “เจ้าภาพร่วม” แบบมีลุ้นเข้ารอบจนถึงนัดสุดท้าย ด้วยการเสมออิรัก ชนะโอมาน ก่อนจะแพ้ออสเตรเลีย 
 
พ.ศ. 2551 ไทยตกรอบ ฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือกในรอบ 20 ทีมสุดท้าย โดยได้อยู่สายเดียวกับญี่ปุ่น โอมาน บาห์เรน โดยมีผลงานคือเสมอ 1 นัด และแพ้ไปถึง 5 นัด  จากผลงานที่ตกต่ำ ทำให้ชาญวิทย์ ผลชีวิน เฮดโค้ชทีมชาติไทย ลาออก
 
หลังจากนั้น ปีเตอร์ รีด เข้ามาสานต่อ แต่ทีมชาติไทยพลาดแชมป์สำคัญในรายการ “อาเซียนฟุตบอลแชมเปียนชิพ 2007”พลาดแชมป์คิงส์คัพโดยดวลจุดโทษแพ้ทีมชาติเดนมาร์ก ก่อนที่ ปีเตอร์ รีด จะแยกทางกับทีมชาติไทยในเวลาต่อมา 
 
จากนั้นในยุคของ ไบรอัน ร็อบสัน เข้ามาเป็นเฮดโค้ช ทีมชาติไทยทำผลงานน่าผิดหวังตกรอบแบ่งรอบแรก “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2010” โดยเสมอ 2 นัดกับลาว และ มาเลเซีย และ แพ้อินโดนีเซีย 
 
ในยุค ของ วินฟรีด เชเฟอร์ ผลงานก็ยังไม่เป็นอย่างที่หวัง ใน “ฟุตบอลโลก 2014” รอบคัดเลือก ยุติเส้นทางที่รอบคัดเลือกรอบที่ 3 ก่อนที่ใน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2012”  ทีมชาติไทยจะแพ้ สิงคโปร์ ด้วยผลประตูรวมสอง 2–3 ได้แค่รองแชมป์ และ “เอเชียนคัพ 2015” 
 

“ซิโก้” สร้างกระแสกลับมาคึกคัก


หลังจากนั้นทีมชาติไทยหันมาใช้บริการ เกียรติศักดิ์  เสนาเมือง ที่รับช่วงต่อจาก สุรชัย จตุรภัทรพงษ์ ที่ขัดตาทัพคุมทีมชาติไทยในเวลาสั้นๆ ผลงานของ “ซิโก้” ถือว่ายอดเยี่ยมคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014” มาครองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกหลังทีมชาติไทยไม่ได้แชมป์มา 12 ปี ตามด้วยการคว้ารองแชมป์ “คิงส์คัพ” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
 
ถัดมาปี 2559 ทีมชาติไทยผ่านเข้าไปเล่น “ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รอบ 12 ทีมสุดท้าย โซนเอเชีย” ผ่านเข้าไปเล่น “เอเชียนคัพ 2019” และยังคว้าแชมป์ “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 44 และ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2016”  
 
แต่ใน ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รอบ 12 ทีมสุดท้าย โซนเอเชีย ทีมชาติไทยไทยทำผลงานย่ำแย่ นับจนถึงเดือนมีนาคม 2560 ทำได้เพียงเสมอ 1 นัด และแพ้รวดในนัดที่เหลือ  โดยเฉพาะการแพ้ ญี่ปุ่น 0-4 และมีวลีเด็ดตามมาจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯว่า “ใครไม่อายผมอาย” กระทั่งสุดท้าย “ซิโก้” ได้ลาออกไป 
 

เปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่นผลงานยังต้องลุ้น


ทีมชาติไทยเข้าสู่ยุคของ มิโลวาน ราเยวัช ที่มารับงานต่อ แต่ผลงานโดยรวมไม่ดีเลย แม้จะพาไทยคว้าแชมป์ “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 45 และรองแชมป์ ครั้งที่ 46 แต่มาตกรอบรองชนะเลิศ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018” ก่อนจะไปแข่งขัน “เอเชียนคัพ 2019” ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นัดแรกพาไทยถูก อินเดียถล่ม 1-4 ทำให้ “มิโล” ถูกปลดทันที
 
จากนั้นทีมชาติไทยให้ ศิริศักดิ์  ยอดญาติไทย เป็นกุนซือขัดตาทัพพาทีมเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย “เอเชียนคัพ 2019” ได้สำเร็จ ก่อนไปแพ้จีน 1-2 แต่ “โค้ชโต่ย” มาพาทีมชาติไทยแพ้ เวียดนาม และ อินเดีย ได้อันดับ 4 ใน “คิงส์คัพ” จึงยุติเส้นทางกับทีมชาติไทยในที่สุด
 
จากนั้น ในปี 2562  มีการแต่งตั้ง อากิระ นิชิโนะ ทำหน้าที่คุม “ช้างศึก” ทั้งชุดใหญ่และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เหมือนว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผลงานที่ออกมาสวนทาง ไทยร่วงรอบแรก “ซีเกมส์ 2019” ถือเป็นการตกรอบแรกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี  แม้จะแก้ตัวด้วยการพาทีมชาติไทยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ​ “ยู23 ชิงแชมป์เอเชีย 2020” แต่การตกรอบ “ฟุตบอลโลก2022” รอบคัดเลือก ทำให้มีการยกเลิกสัญญากันไป 
 

เหมือนถูกตบหน้าผลงานยังต้องพิสูจน์


วันที่ 29 กันยายน 2564 สมาคมฯแต่งตั้ง มาโน โพลกิง เป็นกุนซือทีมชาติไทยคนใหม่  งานแรกของคือการพาทีมชาติไทยไปคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” ได้สำเร็จทำสถิติคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 6 แต่บทพิสูจน์ของ “มาโน” ยังรออยู่ในการป้องกันแชมป์ปี 2022 ที่กำลังจะมาถึง 


 
นอกจากนี้สมาคมฯต้องลุ้นผลงานของทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปีภายใต้การคุมทีมของ อิสสระ ศรีทะโร ที่มองไกลไปถึงกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย แต่ก่อนหน้านั้นจะมี “ซีเกมส์ 2023” ที่ประเทศกัมพูชา มาเป็นทัวนาเมนต์ดราม่าขวางหน้าอยู่ 
 
ฟุตบอลทีมชาติไทยผ่านมาแล้ว 107 ปีที่มีเรื่องราวทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตาตลอดระหว่างทาง หลังจากนี้ผลงานของนักเตะจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะดีกว่าเดิมหรือไม่อย่างไร พี่น้องชาวไทยต้องส่งใจเชียร์กัน 
 

 

ปล.ขอขอบคุณข้อมูล จากสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลสยาม , วิกิพีเดีย , การกีฬาแห่งประเทศไทย , สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 
 

อนุสรณ์  ไชยสุข  เรียบเรียง  


 
อ้างอิง
 
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2#cite_note-11
 
ประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งสยาม - ประวัติศาสตร์ฟุตบอลสยาม 2443 - 2480
http://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-18-24/16-2017-07-18-10-53-55
 
http://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-23-04/98-2017-08-02-07-37-30
 
http://www.thaigoodview.com/node/81828
https://stadiumth.com/columns/detail?id=59&tab=changsuek

 

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน