ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 18-19 เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนยุโรปกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งรวมถึงชาวเยอรมัน
มีเหตุผลหลายประการสำหรับการตัดสินใจย้ายถิ่นฐานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเยอรมนีอันเกิดจากการปฏิวัติที่ล้มเหลวในปี 1848 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุโรป อย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กระทบต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง นั่นทำให้กลุ่มคนบางส่วนเริ่มมองหาถิ่นฐานใหม่และพร้อมใจกันคิดถึงชีวิตใหม่
หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์นี้คือประเทศบราซิล ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ แถมยังเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จนกลายเป็นว่าคนเยอรมันอพยพมาตั้งรกรากใหม่บนดินแดนท้องฟ้าสีครามแบบหลายต่อหลายรุ่นเข้าไปแล้ว
โดยการย้ายมาอยู่ในประเทศที่อุตสาหกรรมฟุตบอลอยู่ในระดับชั้นนำ ผลิตและส่งออกนักเตะสู่ระดับโลกมานักต่อนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีนักเตะบราซิเลียน-เยอรมัน รวมอยู่ด้วย
ชื่อของ คาร์ลอส ดุงก้า, อลีสซง เบคเกอร์ ไปจนถึงกุนซือทีมชาติไทยอย่าง มาโน่ โพลกิ้ง ล้วนแต่เป็นคนลูกหนังแซมบ้าที่มีเชื้อสายเยอรมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
Main Stand ชวนมาติดตามเรื่องราวของกลุ่มคนสองเชื้อชาตินี้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศบราซิล รวมถึงกีฬาลูกหนัง ทั้งยังคงอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างเป็นปึกแผ่น
เยอรมันอพยพ
ปี 1824 เป็นปีแรก ๆ ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นช่วงเวลาที่คลื่นมวลชนเยอรมันตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมายังประเทศบราซิลด้วยเหตุผลหลายประการที่บ่งบอกว่าประเทศของพวกเขาไม่ได้น่าอยู่อีกต่อไปแล้ว ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองจากการปฏิวัติที่ล้มเหลวของกลุ่มชนชั้นกลางและสหภาพแรงงาน ในปี 1848
ตลอดจนระบบทุนนิยมสมัยใหม่ที่ได้ก่อตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตทางอุตสาหกรรมทำให้บทบาทของแรงงานถูกลดทอนลงไป เช่นเดียวกับกระแสการย้ายดินแดนใหม่โดยเฉพาะกับพื้นที่ต่างภูมิภาคที่กำลังเติบโต เช่น บราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งเพาะปลูก
นำมาซึ่งการอพยพขนานใหญ่ โดยพื้นที่ เซา เลโอโพลโด (Sao Leopoldo) บริเวณตอนใต้ของประเทศ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐริโอ กรานเด โด ซูล (Rio Grande do Sul) นับเป็นพื้นที่ที่ชุมชนคนเยอรมันกลุ่มแรก ๆ เดินทางเข้ามา
“การเพิ่มขึ้นของประชากรชาวเยอรมันทางตอนใต้ของบราซิลเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก” ทีบี เอ็ดกิงตัน (TB Edgington) ผู้ที่เคยศึกษาประเด็นดังกล่าว ระบุ “บราซิลทางตอนใต้ถูกเรียกว่า Greater Germany (มหานครเยอรมนี) และที่นั่นคนเยอรมันก็มีอำนาจสูงสุดทางการค้าและการเงิน”
สาเหตุที่เป็นดินแดนตอนใต้ของประเทศเนื่องด้วยอัตราความหนาแน่นของประชากรเดิมต่อพื้นที่ที่ต่ำ กอปรกับการกลัวถูกรุกรานจากชาติอื่น ทำให้การเกาะกลุ่มรวมกันจะช่วยให้บราซิลมีความเป็นปึกแผ่น ดังแนวคิดของกลุ่มผู้นำประเทศในเวลานั้น
เมื่อเข้ามาแล้วชาวเยอรมันอพยพมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศบราซิลโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากบราซิลเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งคนเยอรมันก็เข้ามาเป็นแรงงานทำการเพาะปลูก ตลอดจนนำวิทยาการความรู้จากถิ่นเดิมมาปรับใช้กับถิ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มคนบางส่วนก็ทำงานร่วมกับกองทัพบราซิลในช่วงได้รับอิสรภาพจากโปรตุเกส
สถาบันภูมิศาสตร์และสถิติแห่งบราซิล (IBGE) รายงานว่าจำนวนคนเยอรมันที่อพยพมายังบราซิลในช่วงระหว่างปี 1924 - 1972 มีสูงถึง 260,000 คน และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือชาวเยอรมันราว 30% เลือกอพยพมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่ผลการสำรวจประชากรบราซิลเชื้อสายเยอรมันในช่วง 30 ปีต่อมาพบว่ามีจำนวนสูงถึง 12 ล้านคน และเริ่มกระจายตัวไปสู่พื้นที่หลาย ๆ ภูมิภาคของบราซิลมากขึ้น โดยไม่ได้รวมอยู่แค่พื้นที่ตอนใต้สุดของประเทศเพียงอย่างเดียว
ด้วยศักยภาพที่เข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ และรับรู้ถึงกระแสเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมจากยุโรป ตลอดจนความเป็นปึกแผ่นของตัวเอง การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาทำให้ผู้อพยพชาวเยอรมันยังคงใช้อัตลักษณ์เดิมของตัวเอง (คนบราซิลใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากภาษาโปรตุกีส)
“ในภูมิภาคของผม (รัฐริโอ กราเด โด ซูล) มีการย้ำเตือนเพื่อให้นึกถึงความเป็นเยอรมนีมากมาย ทั้งสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วันหยุด - เรามีเทศกาลใหญ่อย่างอ็อกโทเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest - เทศกาลเบียร์ชื่อดังในเยอรมนี) ด้วย” อลีสซง เบคเกอร์ ผู้รักษาประตูมือหนึ่งทีมชาติบราซิล กล่าว
ขณะเดียวกันชาวเยอรมัน-บราซิล ก็พร้อมจะเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ บนดินแดนแห่งใหม่ด้วยเช่นกัน นานวันเข้า คนเจเนอเรชั่นหลัง ๆ ก็เริ่มมีเลือดผสมจากสองเชื้อชาติ และกลายเป็นพลเมืองบราซิลเต็มตัว
ศาสตร์ลูกหนังเมืองเบียร์แห่งดินแดนเซเลเซา
แม้ประวัติศาสตร์จะบอกว่าผู้อพยพจากสกอตแลนด์เป็นกลุ่มแรกที่นำศาสตร์ฟุตบอลเข้ามาสู่ดินแดนแซมบ้าโดยผู้อพยพชาวสกอตแลนด์อย่าง โธมัส โดโนโฮล (Thomas Donohoe) ที่มีส่วนกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลครั้งแรกในปี 1894
แต่สำหรับฟุตบอลเยอรมันกับประเทศบราซิลก็มีประวัติศาสตร์น่าสนใจในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน เมื่อปี 1897 ฮันส์ โนบลิง (Hans Nobiling) ชาวฮัมบูร์ก (Hamburg) ในฐานะผู้อพยพชาวเยอรมัน ได้นำตำราฟุตบอลและกฎเกณฑ์เกมลูกหนังจากเยอรมันมายังบราซิลด้วย
โนบลิงถือเป็นบุคคลสำคัญของแวดวงลูกหนังเมืองเบียร์บนดินแดนบราซิล จากคำกล่าวของ เดวิด โกลด์แบลตต์ (David Goldblatt) นักประวัติศาสตร์ ระบุว่าชายเลือดเยอรมันผู้นี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสโมสรเอสซี เยอมาเนีย (SC Germania) ซึ่งเป็นสโมสรสำหรับชาวเยอรมันโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในรัฐเซา เปาโล (ภายหลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สโมสรเปลี่ยนชื่อเป็น ปินเฮย์รอส) และในปัจจุบันสโมสรแห่งนี้ก็ยังคงมีอยู่
ซึ่ง เอสซี เยอมาเนีย เป็นฐานฝึกฟุตบอลชั้นดีสำหรับผู้อพยพชาวเยอรมันในช่วงแรก ๆ ของการอพยพเข้ามา โดยเฉพาะการปลุกปั้น อาเธอร์ ฟรีเดนริช (Arthur Friedenreich) แข้งลูกครึ่งที่มีคุณแม่เป็นคนบราซิลส่วนคุณพ่อเป็นคนเยอรมัน และภายหลังฟรีเดนริชมีโอกาสลงเล่นให้ทีมดังของประเทศอย่าง เซา เปาโล และก้าวขึ้นไปติดทีมชาติบราซิลอีกด้วย
และการที่ฟรีเดนริชเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติบราซิลชุดแชมป์เซาท์ อเมริกัน แชมเปี้ยนชิพ (โคปา อเมริกา ในปัจจุบัน) เมื่อปี 1919 และ 1922 และมีส่วนอย่างยิ่งกับการเป็นแรงผลักดันเรื่องการยอมรับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติที่แตกต่างในบราซิล
เวลาต่อมาเมื่อวงการลูกหนังแดนกาแฟก้าวสู่ความเป็นฟุตบอลสมัยใหม่มากขึ้น มีลีกอาชีพไปจนถึงลีกระดับท้องถิ่น มีอคาเดมี่ฟุตบอล มีการจัดการต่าง ๆ เป็นระบบกว่าก่อน ก็ได้ก่อให้เกิดนักฟุตบอลอาชีพที่มีเชื้อสายเยอรมันก้าวขึ้นมาเป็นดาวดังของประเทศมากมาย และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเติบโตมาจากสโมสรพื้นเพของคนเยอรมันอพยพเพียงอย่างเดียว หลายคนเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัย
ชื่อของ คาร์ลอส ดุงก้า (มีเชื้อสายบราซิเลียน-เยอรมัน-อิตาเลียน) เป็นกัปตันทัพเซเลเซาชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1994 ทั้งยังเคยเป็นกุนซือทีมชาติชุดใหญ่ เช่นเดียวกับ โรเจริโอ เซนี อดีตผู้รักษาประตูชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2002 ล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญในวงการลูกหนังของประเทศที่มีเชื้อชาติเยอรมันอยู่ในตัว
เช่นเดียวกับนักเตะชื่อก้องในยุคปัจจุบันอย่าง อลีสซง เบคเกอร์ ผู้รักษาประตูลิเวอร์พูล หรือแม้แต่ชื่อของ มาโน่ โพลกิ้ง เฮดโค้ชทีมชาติไทย ก็มีเชื้อสายเยอรมัน เนื่องจากบรรพบุรุษเป็นคนเยอรมันอพยพมายังบราซิลนั่นเอง
ออกไปเติบโตในต่างแดน
คนลูกหนังเยอรมัน-บราซิเลียน หลายคนเติบโตบนเส้นทางลูกหนังที่ต่างกันไป บ้างก็ตัดสินใจไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในต่างแดน ทั้งยุโรปหรือเอเชียตั้งแต่อายุยังน้อย บ้างก็ก้าวขึ้นมาเล่นอาชีพในบราซิลจนโด่งดัง ก่อนจะได้โอกาสครั้งสำคัญในการไปเล่นให้ทีมชั้นนำในยุโรป
เมื่อออกไปเติบโตบนเส้นทางของตัวเอง หลายคนก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลกก็ล้วนแต่ทำให้ประชาชนเยอรมันเชื้อสายบราซิลเยอรมันรู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนลูกหนังจากท้องถิ่น
ในกรณีของ มาโน่ โพลกิ้ง ซึ่งมีปู่และพ่อเป็นคนเยอรมันและมีแม่เป็นคนบราซิล ก็มีโอกาสย้ายไปหาประสบการณ์ฟุตบอลบนแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษ ก่อนก้าวขึ้นมาจับงานโค้ชในประเทศไทย และประสบความสำเร็จในฐานะเฮดโค้ชทีมชาติไทย
สมัยที่ มาโน่ โพลกิ้ง พาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 ซึ่งแข่งขันเมื่อช่วงปลายปี 2021 - ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา สื่อในบราซิลเคยลงข่าวยกย่องในฐานะบุคคลผู้สร้างชื่อเสียงให้ท้องถิ่นของเทศบาลมอนเตเนโกร (Montenegro) ในรัฐริโอ กราเด โด ซูล มาแล้ว
ขณะที่นักเตะชื่อดังในปัจจุบันอย่าง อลีสซง เบคเกอร์ การย้ายไปเฝ้าเสาให้สโมสรโรม่าซึ่งเป็นทีมยุโรปทีมแรกของเจ้าตัวก็เคยทำให้เขาได้รับฉายาว่า “The German” จากอัตลักษณ์ความเป็นคนบราซิลเชื้อสายเยอรมัน และตัวอลีสซงเองที่พูดเยอรมันได้ ก่อนที่จอมหนึบมือหนึ่งทีมชาติยุคปัจจุบันจะไปประสบความสำเร็จกับลิเวอร์พูลในเวลาต่อมา
แน่นอนว่านอกจากสื่อหัวใหญ่ ๆ ในบราซิลจะนำเสนอข่าวอลีสซงในฐานะผู้เล่นทีมชาติชุดใหญ่อยู่แล้ว หลาย ๆ ครั้งเทศบาลโนโว ฮัมบูร์โก (Novo Hamburgo) อันเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าตัวก็ได้รับอานิสงส์ถูกพูดถึงไปด้วย
จากการอพยพย้ายถิ่นฐานในอดีตของคนเยอรมันมายังดินแดนใหม่อย่างบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ กาลเวลาเปลี่ยนผ่านจากเลือดเนื้อเชื้อไขยุโรปเดิมสู่การเป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในการพัฒนาประเทศระหว่างศตวรรษที่ 18-19
มาถึงวันนี้คนส่วนใหญ่แปรเปลี่ยนมาเป็นประชาชนชาวบราซิลเต็มตัว และได้สร้างชื่อเสียงในวงการฟุตบอล ไม่ต่างไปจากกลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ ในประเทศ
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/German_Brazilians
https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/12833.pdf
https://www.espn.com/soccer/blog/name/96/post/1937940/headline
https://scottishfootballmuseum.org.uk/resources/news/how-scotland-brought-football-to-brazil/
https://en.wikipedia.org/wiki/Esporte_Clube_Pinheiros
https://www.uefa.com/uefachampionsleague/news/0247-0e98eb3bc76f-cd85413b7895-1000--how-big-a-deal-is-new-liverpool-goalkeeper-alisson-becker/
https://fatonovo.com.br/cidades/montenegro/mano-polking-e-campeao-como-tecnico-da-tailandia/