ชาวอิตาเลียนมีความภาคภูมิใจในทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศอิตาลี และ ฟรานเชสโก้ บัญญาย่า คือแชมป์โลก MotoGP ที่ประเทศอิตาลีรอคอย เมื่อนักบิดชาวอิตาเลียน คว้าแชมป์โลกด้วยรถสัญชาติอิตาเลียนอย่าง Ducati ที่สำคัญ เขายังเป็นลูกศิษย์ของ วาเลนติโน่ รอสซี่ ตำนานนักบิดชาวอิตาเลียนที่เปรียบเสมือนศาสดาของสายซิ่งสองล้ออีกด้วย
Main Stand ขอนำเสนอเรื่องราวของ "เปกโก้" กับที่มาของชื่อเล่นและ "Go Free" คติในการใช้ชีวิต, การเป็นแฟนคลับของ วาเลนติโน่ รอสซี่ และสาวก Ducati จนกระทั่งวันนี้ วันที่เขาสามารถดำเนินตามรอยไอดอล กับการคว้าแชมป์โลกประเภทนักแข่ง รวมถึงนำรถสีแดงแห่งเมืองโบโลญญ่า สู่ความสำเร็จที่รอคอยมาแสนนานได้เสียที
Pecco Go Free
ฟรานเชสโก้ บัญญาย่า (Francesco Bagnaia) คือชื่อจริง นามสกุลจริง ของนักบิดคนนี้ แต่หากคุณฟังการถ่ายทอดสดด้วยเสียงภาษาอังกฤษ ชื่อที่คุณได้ยินบ่อยไม่แพ้นามสกุล คงหนีไม่พ้น "เปกโก้" (Pecco)
และชื่อนี้ มีที่มาจากหนึ่งในคนที่สนิทกับเขามากที่สุดในชีวิต และปัจจุบันอยู่เคียงข้างเขาเสมอในทุกสนาม ... คาโรล่า พี่สาวของเขานั่นเอง
"ผมกับพี่สาวสนิทกันมาก อายุก็ไม่ห่างกันเท่าไหร่ด้วย เธอแก่กว่าผมแค่ 20 เดือน (1 ปี 8 เดือน) แค่นั้นเอง ตอนผมเด็ก ๆ การเรียก 'ฟรานเชสโก้' ชื่อจริงของผมมันยากสำหรับพี่ผมมาก เธอก็เลยเรียก 'เปกโก้ เปกโก้ เปกโก้' อยู่ทุกวัน ซึ่งผมชอบนะ กลายเป็นชื่อเล่นของผมไปเลย" เปกโก้เผย
นอกจากนี้ ยังมีอีกคำที่มักอยู่คู่กับเขาเสมอ ถึงขนาดที่เจ้าตัวนำไปปักเสมือนเป็นชื่อตัวเองบนชุดแข่ง นั่นคือคำว่า "Go Free" ที่เปกโก้ยึดถือเป็นคติในการใช้ชีวิต ซึ่งเขาให้คำจำกัดความไว้ว่า
"'Go Free' สำหรับผมนั้น หมายถึงการใช้ชีวิตแบบไร้กรอบความคิดและเป็นอิสระ สนุกไปกับมัน และให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณรักเหนือสิ่งอื่นใด"
ส่วนที่มาของคำนี้ เจ้าตัวได้มาจากแฟนมอเตอร์สปอร์ตหญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่บอกกับเจ้าตัวระหว่างเจอกันในช่วงการแข่งขัน MotoGP ที่โมเตงิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2016 และถูกใจจนเอามาใช้เป็นคติประจำตัว
ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับมนุษย์เราที่จะมีกีฬาที่ชื่นชอบหลากหลาย เพราะเปกโก้ก็เช่นกัน ในวัยเด็กเขาเล่นทั้ง ฟุตบอล, บาสเกตบอล, กรีฑา, สกี, สโนว์บอร์ด และตกปลา แถมการที่เจ้าตัวเป็นชาวเมืองตูรินโดยกำเนิด ทำให้เขาเป็นหนึ่งในสาวกของ ยูเวนตุส ทีมดังแห่ง เซเรียอา อิตาลี อีกด้วย
ทว่างานอดิเรกของ ปิเอโตร คุณพ่อ และคุณลุง กลับเป็นสิ่งที่เขาซึมซับ จนกลายเป็นอาชีพและสร้างชื่อให้เขาจนถึงทุกวันนี้
ลูกศิษย์รอสซี่
"คุณลุงกับคุณพ่อของผมเป็นแฟนตัวยงของ วาเลนติโน่ รอสซี่ เลย พวกเขามักจะเอามอเตอร์ไซค์ไปที่สนามแข่งประจำ แต่แค่ไปขี่เอามัน ไม่ได้เป็นนักแข่งอาชีพนะ ผมก็ตามพวกเขาไปดูพวกเขาซิ่งตลอดแหละ"
"ทีนี้ที่บ้านของลุงผมมี Ducati อยู่ เป็นรุ่น 996 สีแดง ไปเมื่อไหร่ก็ได้เห็นเมื่อนั้น แล้วค่ายนี้ทำรถมอเตอร์ไซค์เป็นเอกลักษณ์เสียด้วย คลัทช์แห้ง เครื่องสองสูบ เสียงมันต่างจากรถค่ายอื่น ๆ นานวันเข้า ผมก็ยิ่งสนใจ และกลายเป็นสาวกของ Ducati ไปโดยปริยาย"
ด้วยความหลงใหลในโลกสองล้อ จึงไม่แปลกที่เปกโก้จะกระโจนสู่วงการความเร็วในการเป็นนักแข่ง ซึ่งครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ พี่สาว และญาติ ๆ ต่างให้การสนับสนุนเต็มที่ เริ่มจากรถขนาดเล็กอย่าง Minimoto ที่เขาคว้าแชมป์ยุโรปในปี 2009 สู่รถฟูลไซซ์ในเวลาต่อมา ที่ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิต ฝึกซ้อม และลงแข่งในประเทศสเปน
ปี 2011 เปกโก้ร่วมการแข่งขันชิงแชมป์สเปนในรุ่น 125 ซีซี ซึ่งเขาสามารถชนะการแข่งขัน และจบอันดับ 3 ในตารางคะแนนสะสม ก่อนที่จะชนะการแข่งขัน และคว้าอันดับ 3 ในรายการ CEV Moto3 (Junior GP ปัจจุบัน) ปี 2012
ผลงานที่เข้าตา อีกทั้งยังเป็นนักบิดสัญชาติอิตาเลียน ที่สุดแล้ว เจ้าตัวก็ถูกทาบทามเข้าสู่ VR46 Riders Academy โรงเรียนปั้นนักแข่งของ วาเลนติโน่ รอสซี่ (Valentino Rossi) ตำนานนักบิดดีกรีแชมป์โลก 9 สมัยจนได้
"ทุกวันนี้ผมยังจำครั้งแรกที่ผมพบกับเขาได้ขึ้นใจเลย วันนั้นเรากำลังกินข้าวเย็น แล้ววาเล่ (วาเลนติโน่ รอสซี่) ก็เข้ามาพร้อมกับเทรนเนอร์ของพวกเขา ตอนนั้นผมประหม่ามาก แล้วก็รู้สึกแปลก ๆ ที่อยู่ ๆ ไอดอลของผมก็อยู่ตรงหน้า แถมยังได้จับมือกันอีกด้วย"
ปี 2013 เปกโก้เข้าสู่เวทีมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรกในรุ่น Moto3 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หลังไม่สามารถเก็บได้เลยแม้แต่คะแนนเดียว แต่หลังจากนั้นกราฟก็มีแต่พุ่งขึ้น
ปี 2014 เปกโก้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับ วาเลนติโน่ รอสซี่ ผู้เป็นอาจารย์ ด้วยการเป็นนักบิดชุดแรกของทีม VR46 คู่กับ โรมาโน่ เฟนาติ ก่อนจบอันดับ 16 ในตารางคะแนนสะสม และย้ายสู่ทีม Mahindra ในปี 2015 จบฤดูกาลในอันดับ 14 และเข้าป้ายอันดับ 4 ในปี 2016
ปี 2017 เปกโก้ได้เลื่อนชั้นสู่รุ่น Moto2 กับทีม VR46 จบฤดูกาลในอันดับ 5 ก่อนจะประสบความสำเร็จในปี 2018 ด้วยการคว้าแชมป์โลกรุ่นรอง กลายเป็นนักบิดจาก VR46 Riders Academy คนที่ 2 ที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ ต่อจาก ฟรังโก้ โมบิเดลลี่ รุ่นพี่ร่วมชาติ เจ้าของแชมป์โลก Moto2 ปี 2017
ด้วยดีกรีแชมป์โลก Moto2 จึงไม่แปลกที่สถานีต่อไปจะเป็นรุ่นใหญ่สุดอย่าง MotoGP และเหมือนฝันอีกครั้ง เมื่อเปกโก้ได้ลงแข่งให้กับ Ducati ค่ายรถที่เขาชอบมาแต่เด็ก แม้จะต้องเริ่มจากทีมรองอย่าง Pramac ก่อนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การเลื่อนสู่รุ่นใหญ่ในปี 2019 ทำให้เปกโก้ต้องเปลี่ยนหมายเลขที่ใช้ลงแข่งอีกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวมีประสบการณ์เรื่องนี้บ่อยเสียด้วย เพราะจากสมัยเด็กที่เขาใช้เบอร์ 41 ตาม โนริยูกิ ฮากะ หนึ่งในไอดอลวัยเด็ก เข้าสู่เวที Moto3 เขาเปลี่ยนมาใช้เบอร์ 21 ตาม ทรอย เบย์ลิส อีกหนึ่งฮีโร่ ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อขึ้นสู่รุ่น Moto2 ด้วยการนำ 21 คูณ 2 เป็น 42 และนำ 21 กับ 42 บวกกัน จนกลายเป็นหมายเลข 63 ที่ใช้ใน MotoGP
2 ปีแรกใน MotoGP กับทีม Pramac เจ้าตัวอาจทำผลงานได้ไม่สม่ำเสมอนัก กับการล้มพอ ๆ กับจบการแข่งขัน จบฤดูกาล 2019 และ 2020 ในอันดับ 15 และ 16 บนตารางคะแนนสะสมตามลำดับ แต่โพเดียมอันดับ 2 ที่ มิซาโน่ ประเทศอิตาลี สนามหลังบ้านของ VR46 Riders Academy ตามหลัง ฟรังโก้ โมบิเดลลี่ ในปี 2020 (เปกโก้และโมบิเดลลี่ คือ 2 คนแรกจากอคาเดมี่ของรอสซี่ที่ขึ้นโพเดียมในรุ่น MotoGP อีกด้วย) คือบทพิสูจน์ศักยภาพว่าเขามีดีพอในการเติบโตสู่การเป็นนักบิดหัวแถว
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Ducati ผลักดันเปกโก้จากทีมรองสู่ทีมโรงงานในปี 2021 ก่อนจะคว้าชัยชนะครั้งแรกได้สำเร็จที่ อรากอน ประเทศสเปน ซึ่งเขาให้เครดิต VR46 Riders Academy เป็นอย่างมากกับชัยชนะครั้งนี้
"ชัยชนะครั้งนี้ยกให้อคาเดมี่อย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ เพราะที่นี่ทำให้พวกเราพยายามพัฒนาตัวเองในทุกวัน ทุกวันพวกเขาจะถามว่า มีจุดไหนที่เราคิดว่าสามารถพัฒนาได้อีกบ้าง และพวกเขาจะทำร่วมกับเรา พวกเขาช่วยเราได้มากจริง ๆ ครับ"
แชมป์โลกที่ Ducati รอคอย
กล่าวถึงความฝันสูงสุดของ Ducati แบรนด์มอเตอร์ไซค์ชื่อดังของประเทศอิตาลี ที่เข้าสู่การแข่งขัน MotoGP เมื่อปี 2003 คงหนีไม่พ้น "การคว้าแชมป์โลก" ยิ่งหากเป็นแชมป์โลกโดยนักบิดอิตาเลียนยิ่งดีต่อใจ เพราะมันคือบทพิสูจน์ว่า อิตาลีก็สร้างรถและนักแข่งที่สุดยอดได้
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีนักแข่งเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้กับ Ducati นั่นคือ เคซี่ย์ สโตเนอร์ (Casey Stoner) นักบิดชาวออสเตรเลียเมื่อปี 2007
แม้ Ducati จะพยายามอย่างหนักในการคว้าแชมป์โลกกับนักบิดอิตาลี เพราะแทบทุกซีซั่นจะต้องมีนักแข่งอิตาลีอย่างน้อย 1 คนอยู่ในทีมโรงงานเสมอ แต่ก็ทำได้แค่ "เกือบ" โดย อันเดรีย โดวิซิโอโซ่ (Andrea Dovizioso) คือคนที่ทำผลงานได้ดีที่สุด กับการคว้ารองแชมป์โลก MotoGP 3 ปีติด ระหว่างปี 2017-2019
ขณะที่ วาเลนติโน่ รอสซี่ เคยลงแข่ง MotoGP ให้ Ducati 2 ซีซั่น คือในปี 2011 และ 2012 แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือฝันร้าย เพราะ "The Doctor" ขึ้นโพเดียมด้วยรถแข่งสีแดงเพียง 3 ครั้งเท่านั้น
สำหรับเปกโก้ ฤดูกาล 2021 ปีแรกที่ขึ้นมาขี่กับ Ducati ทีมโรงงาน แม้จะคว้าชัยได้ 4 สนาม แต่ชัยชนะนั้นดูจะมาช้าเกินไป เพราะกว่าจะมาก็ปาเข้าไปสนามที่ 13 ของซีซั่นดังกล่าว อีกทั้งยังมีบางสนามที่ไม่สามารถจบการแข่งขันในอันดับต้น ๆ ได้ ทำให้ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร่ (Fabio Quartararo) จากทีม Yamaha ที่ขึ้นสู่รุ่น MotoGP ในปีเดียวกัน และทำผลงานได้สม่ำเสมอกว่า คว้าแชมป์โลกไปครอง
ขณะที่ปี 2022 เปกโก้ออกสตาร์ทไม่ดีเลย เมื่อล้มในสนามแรก แถมไม่จบการแข่งขันถึง 4 สนามใน 10 สนามแรกของฤดูกาล แม้จะคว้าแชมป์ได้ที่ เฆเรซ ประเทศสเปน และ มูเจลโล่ ประเทศอิตาลี สนามบ้านเกิด ทำให้โดนกวาร์ตาราโร่ทิ้งห่างด้วยช่องว่างถึง 91 คะแนน
"ช่วงต้นซีซั่น รถของพวกเรายังหาเซตติ้งที่ลงตัวไม่ได้ แต่เมื่อเข้าสู่ทวีปยุโรป รถของเราก็ลงตัวมากขึ้น ถึงกระนั้น ผมก็ทำผิดพลาดจนเสียแต้มเยอะเกินไป ตรงนี้ผมคิดว่าผมอาจจะคิดอะไรผิดที่ผิดทางไปหน่อย คือเมื่อไหร่ที่คิดว่า 'โอเค ผ่อนได้บ้างแล้ว' ผมก็จะล้มไปทุกที"
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มต้นขึ้นที่ แอสเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเปกโก้ชนะ ส่วนกวาร์ตาราโร่ล้ม ทำให้ลดช่องว่างลงเหลือ 66 คะแนนก่อนเบรกซัมเมอร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการคว้าชัย 4 สนามติดต่อกัน เพราะหลังกลับมาจากเบรกซัมเมอร์ เปกโก้ก็ชนะต่อเนื่องที่ ซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ, สปีลเบิร์ก ประเทศออสเตรีย และ มิซาโน่ ประเทศอิตาลี สนามหลังแคมป์ VR46 ทำให้ช่องว่างค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ
แม้เปกโก้จะพลาดล้มเป็นสนามที่ 5 ของซีซั่นที่ โมเตงิ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ช่องว่างคะแนนถูกถ่างออกอีกครั้ง แต่สถานการณ์มาพลิกผันอีกหนที่ บุรีรัมย์ ประเทศไทย และ ฟิลลิปไอส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเปกโก้จบอันดับ 3 ส่วนกวาร์ตาราโร่ไม่มีแต้มทั้งสองสนาม ทำให้นักบิดอิตาเลียนแซงขึ้นนำคะแนนสะสมจนได้
สองสนามสุดท้าย เปกโก้สามารถเก็บชัยชนะครั้งที่ 7 ของซีซั่นได้ที่ เซปัง ประเทศมาเลเซีย ก่อนปิดฉากด้วยอันดับ 9 ที่บาเลนเซีย ประเทศสเปน ทำให้ ฟรานเชสโก้ บัญญาย่า คว้าแชมป์โลก MotoGP ปี 2022 มาครองได้สำเร็จ ด้วยผลงาน 7 ชัยชนะ 10 โพเดียม เก็บได้ 265 คะแนน ถือเป็นแชมป์โลกชาวอิตาลีคนแรกในรอบ 13 ปี ต่อจาก วาเลนติโน่ รอสซี่ ที่ทำไว้เมื่อปี 2009, เป็นแชมป์โลกจาก Ducati คนแรกในรอบ 15 ปี ต่อจาก เคซี่ย์ สโตเนอร์ ที่สำคัญที่สุด เขาคือแชมป์โลกชาวอิตาเลียนที่คว้าแชมป์โลกด้วยรถสัญชาติอิตาลีคนแรกในรอบ 50 ปี ถัดจาก จาโคโม อกอสตินี่ ที่ขี่ MV Agusta คว้าแชมป์โลกเมื่อปี 1972
แม้มีเสียงวิจารณ์ว่า เปกโก้คว้าแชมป์โลกได้เพราะ Ducati ช่วยไว้เยอะ ทั้งการที่ค่ายรถจากเมืองโบโลญญ่า มีรถแข่งในรุ่น MotoGP มากที่สุดถึง 8 คันในฤดูกาล 2022 รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า "ทีมออเดอร์" คำสั่งของทีมที่เชื่อกันว่า Ducati ทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า นักแข่งชาวอิตาเลียนจะได้เป็นแชมป์โลก แต่เจ้าตัวเองมองว่า ผลงานของเขาตลอดฤดูกาล คือบทพิสูจน์ว่า เขาดีพอที่จะได้เป็นแชมป์โลก
"ผมรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง และผมรู้ดีว่าสามารถเอาชนะได้โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือของใคร จริงอยู่ที่หากพูดในแง่ของการชิงแชมป์โลก ทีมออเดอร์ก็เป็นสิ่งที่ดี มันช่วยให้งานของคุณง่ายขึ้น แต่ผมคว้าชัยชนะได้ถึง 7 สนาม เพราะผมแกร่งที่สุด ไม่ใช่เพราะคนอื่นปล่อยให้ผมแซงแต่อย่างใด"
จากตาม 91 คะแนนหลังจบสนามที่ 10 สู่ชนะ 17 คะแนนหลังจบสนามที่ 20 ... นี่คือการพลิกสถานการณ์ด้วยช่องว่างคะแนนมากที่สุดในเวทีมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ฟรานเชสโก้ บัญญาย่า คู่ควรกับการเป็นแชมป์โลก MotoGP ประจำฤดูกาล 2022 อย่างแท้จริง
ล้างอาถรรพ์เบอร์ 1
"การได้แชมป์เป็นเรื่องยาก แต่การรักษาแชมป์ยากยิ่งกว่า" คือประโยคสุดคลาสสิกของวงการกีฬา ยิ่งเป็นวงการมอเตอร์สปอร์ตอย่าง MotoGP ด้วยแล้ว มันยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อมีอีกภาระติดมาด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า แชมป์รายการ มักมีสิทธิ์เลือกใช้ "หมายเลข 1" ในการป้องกันแชมป์ และ MotoGP ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลกรีแบรนด์สู่ยุค MotoGP เมื่อปี 2002 ไม่เคยมีแชมป์โลกที่เลือกใช้เบอร์ 1 ในฤดูกาลต่อมา ป้องกันแชมป์ได้เลยแม้แต่คนเดียว ส่วนคนที่ป้องกันแชมป์ได้อย่าง วาเลนติโน่ รอสซี่ กับ มาร์ก มาร์เกซ ต่างใช้เบอร์เดิมที่เคยใช้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม Ducati นั้นต้องการพิสูจน์ว่า พวกเขาคือเบอร์ 1 ของวงการความเร็วสองล้อในยุค 2020s อีกทั้งนี่คือเบอร์ที่คนเป็นแชมป์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ได้ใช้ และนั่นทำให้บัญญาย่าตัดสินใจเปลี่ยนเบอร์แข่งในฤดูกาล 2023 จาก 63 เป็น 1
แม้ MotoGP ในฤดูกาล 2023 จะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเพิ่ม สปรินท์เรซ การแข่งระยะสั้น ระยะทางครึ่งหนึ่ง พร้อมมีคะแนนสะสมให้ครึ่งหนึ่งของการแข่งขันจริงวันอาทิตย์ อันเป็นโอกาสให้ทุกคนทำแต้มเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนว่า เปกโก้เวอร์ชั่นปี 2023 จะพัฒนาไปอีกขั้น
จริงอยู่ Desmosedici GP ตัวแข่งของ Ducati ยังคงแข็งแกร่งที่สุดในยุค 2020s แต่คู่แข่งในการแย่งแชมป์ของเปกโก้เปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่ใช้รถแข่งยี่ห้อเดียวกับเขา ทั้ง ฆอร์เก มาร์ติน นักบิดสเปนจากทีม Pramac ที่ได้ขี่รถเวอร์ชั่นปี 2023 เหมือนกัน และ มาร์โก เบซเซคคี่ รุ่นน้องร่วมชาติและ VR46 Riders Academy ที่ขี่รถเวอร์ชั่นปี 2022
ถึงกระนั้น ผลงานในปี 2023 กลับยังคงเป็นเปกโก้ที่คงเส้นคงวามากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ที่เป็นเรซจริง กับการชนะถึง 7 สนาม มากกว่าใครในฤดูกาลดังกล่าว แม้การลุ้นแชมป์จะสูสีถึงสนามสุดท้าย เมื่อมาร์ตินคว้าชัยในสปรินท์เรซถึง 9 สนาม แต่ที่สุดแล้ว ก็ยังเป็นเปกโก้ที่คว้าแชมป์โลกไปครอง
ไม่เพียงแต่จะเป็นการล้างอาถรรพ์หมายเลข 1 ของ MotoGP เท่านั้น แต่แชมป์โลก MotoGP 2 สมัยซ้อน และเป็นแชมป์โลกสมัย 3 รวมทุกรุ่น คือหลักฐานการเติบโตของเปกโก้ ที่ครบเครื่องไปอีกขั้น
มองไปยังกริด MotoGP จากนี้ ที่มีทั้ง ฟรานเชสโก้ บัญญาย่า แชมป์โลก 3 สมัย, ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร่ แชมป์โลกปี 2021, มาร์ก มาร์เกซ แชมป์โลก 8 สมัย รวมถึงนักแข่งรุ่นใหม่คนอื่น ๆ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลกอีกครั้ง
ถึงกระนั้น ความครบเครื่องของเจ้าตัวนั้นก็อาจเป็นสัญญาณแห่งการครองความยิ่งใหญ่ของเปกโก้แต่เพียงผู้เดียวก็เป็นได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
VR46 Riders Academy : ร.ร. ฝึกสิงห์นักบิดจากความสัมพันธ์ของ วาเลนติโน่ รอสซี่ กับน้องผู้ล่วงลับ
แหล่งอ้างอิง
https://www.ducati.com/ww/en/bikes/panigale/panigale-v2/a-day-in-misano-bagnaia
https://www.motogp.com/en/news/2022/02/16/10-things-you-probably-didn-t-know-about-francesco-bagnaia/406958
https://www.motogp.com/en/videos/2022/10/07/in-conversation-with-francesco-bagnaia/439879
https://www.motogp.com/en/news/2022/10/17/comeback-king-bagnaia-creates-premier-class-history/441353
https://www.motorcyclesports.net/index.php/articles/valentino-rossi-told-me-that-this-sunday-would-be-my-day-bagnaia-dedicates-victory-to-vr46-academy
https://www.motorcyclesports.net/articles/francesco-bagnaia-and-the-first-time-he-met-valentino-rossi-i-was-nervous-about-meeting-my-idol
https://the-race.com/motogp/ducatis-franchise-motogp-star-has-the-back-story-to-match/