Feature

CONIFA: สหพันธ์อิสระที่ทำให้รู้ว่ากลุ่มชนต่าง ๆ ก็สามารถแข่ง ‘เวิลด์’ ฟุตบอล คัพ ได้ | Main Stand

หากเอ่ยถึงมหกรรมลูกหนังระดับนานาชาติ “ฟุตบอลโลก” มักเป็นทัวร์นาเมนต์แรก ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง ด้วยการชิงชัยในรอบสุดท้าย เพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นหนึ่ง และการได้ลงเล่นต่อหน้ามวลชนทั้งแบบเกาะขอบสนาม ตลอดจนหน้าสื่อ ยิ่งทำให้แข้งอาชีพทุกคนปรารถนาที่จะได้มาสัมผัสรายการแข่งขันนี้ให้ได้สักครั้ง 

 


อีกมุมหนึ่งหากเป็นนักฟุตบอลกลุ่มชนต่าง ๆ ที่มีฝันในแบบเดียวกัน แต่นานาชาติไม่ได้ให้การรองรับสถานะจากการที่พวกเขาเป็นคนของรัฐอิสระ หรือแม้แต่การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างไปจากคนหมู่มากในดินแดนของตัวเอง ก็ยากที่จะได้เห็นแข้งกลุ่มชนต่าง ๆ ปรากฏตัวในเวทีระดับนานาชาติ

เมื่อพื้นที่ในการพิสูจน์ฝีเท้าและการสร้างความภูมิใจให้ชนร่วมกลุ่มผ่านเกมลูกหนังมีไม่มาก ทว่าการเกิดขึ้นมาของสหพันธ์แห่งสมาคมฟุตบอลอิสระ หรือ CONIFA นี้ได้เข้ามาเป็นพื้นที่ให้กลุ่มชนต่าง ๆ มีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกเป็นของตัวเอง 

หน้าที่ของ CONIFA เป็นแบบไหน และอะไรคือความท้าทายที่รอองค์กรนี้อยู่ หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand

 

ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ & เวิลด์ ฟุตบอล คัพ

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือ ฟีฟ่า เป็นองค์กรลูกหนังระดับนานาชาติที่ให้การรองรับชาติสมาชิกร่วมสังกัด ก่อให้เกิดเป็นทีมชาติจากทั่วมุมโลก ทั้งยังมีสหพันธ์ฟุตบอลย่อยจากแต่ละภูมิภาค เช่น สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) หรือ ยูฟ่า สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) หรือ เอเอฟซี ฯลฯ เพื่อรับรองการแข่งขันในแต่ละทวีป แน่นอนว่าแทบทุกทีมชาติที่ได้ลงเล่นในเวทีลูกหนังนานาชาติเป็นประเทศ ตลอดจนดินแดนที่ได้รับการรับรองในระดับสากล

ส่วนนักฟุตบอลจากแต่ละทีมชาติหากไม่นับนักเตะที่มีเชื้อชาตินั้น ๆ อยู่แล้ว กลุ่มนักเตะที่มีพื้นเพจากรัฐอื่นซึ่งเราเห็นได้ถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ตลอดจนนักเตะลูกครึ่ง เมื่อผ่านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในกระบวนการรับรองสัญชาติ รวมถึงการที่บรรพบุรุษมาตั้งรกรากแต่อดีต ก็ย่อมได้รับการยืนยันสถานะของการเป็นพลเมืองในแต่ละประเทศ และมีโอกาสติดธงได้หากยกระดับฝีเท้าจนโดดเด่น

ยกตัวอย่าง ฝรั่งเศส แชมป์ฟุตบอลโลกหนล่าสุด (2018) เป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ตลอดจนวัฒนธรรมมากที่สุดชาติหนึ่ง เห็นได้จากนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดใหญ่ที่นอกจะเป็นคนยุโรปแล้วยังมีนักเตะตราไก่ที่มีพื้นเพมาจากอดีตชาติใต้อาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นประเทศโพ้นทะเล แถบแคริบเบียน กลุ่มนักฟุตบอลผิวดำจากทวีปแอฟริกา ไปจนถึงกลุ่มแข้งจากแอฟริกาเหนือที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดนี้ครอบครัวอพยพมาอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่อดีต แน่นอนว่าสถานะปัจจุบันของทุกคนคือชาวฝรั่งเศสที่สามารถลงเล่นให้ทัพเลอ เบลอส์ ได้เต็มอัตราศึก

ทว่าหากมองไปยังดินแดนที่อยู่ติดกับฝรั่งเศสทั้งยังมีสโมสรฟุตบอลที่โลดแล่นในลีกอาชีพแดนน้ำหอม อย่าง ‘ราชรัฐโมนาโก’ และ ‘อาแอส โมนาโก’ ตามลำดับ สำหรับราชรัฐโมนาโกแต่เดิมเคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ก่อนจะมีสถานะเป็นรัฐเอกราชที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสจากการแก้ไข สนธิสัญญาไมตรีอารักขา ที่มีผลบังคับใช้ในปลายปี 2005 

เมื่อมีสถานะเป็นรัฐเอกราช กอปรกับมีขนาดเล็กเพียง 2.1 ตารางกิโลเมตร เล็กเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากนครรัฐวาติกัน ถึงโมนาโกจะมีสมาคมฟุตบอลและมีทีมชาติของตัวเองก็จริง ทว่าพวกเขาเลือกที่จะไม่สังกัดฟีฟ่า เนื่องจากจำนวนประชากรกว่า 38,000 คนไม่ได้เล่นฟุตบอลเป็นอาชีพหลัก ทำให้โมนาโกเลือกที่จะไปสังกัดกับสหพันธ์ที่จัดแข่งขันฟุตบอลร่วมกับกลุ่มชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่าด้วยกันเท่านั้น และพวกเขาเคยก้าวไปถึงรองแชมป์ ‘วีว่า เวิลด์ คัพ (VIVA World Cup)’ หรือทัวร์นาเมนต์สำหรับกลุ่มชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่าเมื่อปี 2006 มาแล้ว

ชื่อของ วีว่า เวิลด์ คัพ นี้เองภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อทัวร์นาเมนต์การแข่งขันใหม่ภายใต้องค์กรใหม่ที่เข้ามารับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันในนาม CONIFA (โคนิฟ่า) เปลี่ยนจากทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพสำหรับทีมกลุ่มชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่ามาเป็น ‘CONIFA World Football Cup’ ในปี 2014 และยังคงจัดแข่งขันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ทุกกลุ่มชนมีสิทธิ์ลงแข่ง

“คุณคิดอย่างไรถ้ามีเด็กอายุ 15 ปีไม่สามารถเล่นฟุตบอลระดับท็อปได้เพราะเรื่องการเมือง ?” Bülent Aytaç ผู้จัดการทีมนอร์ทเทิร์น ไซปรัส ชุดโคนิฟ่า เวิลด์ ฟุตบอล คัพ 2018 เผย 

“เราอยากเล่นในนามฟีฟ่า เราเป็นทีมจากเกาะ เป็นหมู่เกาะ ดังนั้นเรื่องฟุตบอลสำหรับที่นี่เป็นเหมือนสระน้ำเล็ก ๆ นักเตะกลุ่มนี้เป็นเหมือนฉลามว่ายอยู่ในสระเล็ก ๆ แห่งนี้ เราต้องได้รับอนุญาตเพื่อลงเล่น ฟีฟ่าไม่ได้รองรับเรา ดังนั้นนี่คือวิธีที่ทำให้เราได้ทำการแข่งขัน”

โคนิฟ่า (Confederation of Independent Football Associations) หรือสหพันธ์แห่งสมาคมฟุตบอลอิสระก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ในเดือนมิถุนายน 2013 โคนิฟ่าเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงผลกำไร และเป็นพื้นที่ให้กับทีมจากรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่า กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนพลัดถิ่น ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้มีโอกาสมาแข่งฟุตบอลกันทั้งในรูปแบบของเกมกระชับมิตรไปจนถึงทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ คอยแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน สร้างพื้นที่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมโลก และเก็บเรื่องการเมืองระหว่างประเทศไว้ข้างหลัง 

โดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ว่า “ความสุขในการแข่งฟุตบอลระดับนานาชาติ โคนิฟ่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับโลกและความเข้าใจเรื่องระหว่างประเทศ” โดยเข้ามาเป็นตัวแทนสนับสนุนกลุ่มชนดังกล่าวที่มีกว่า 330 ล้านคน หรือเกือบ 5% ของประชากรโลก

“เราไม่ได้เรียกทีมเหล่านี้ว่าเป็นประเทศ เราเรียกพวกเขาว่าเป็นสมาชิก (ของโคนิฟ่า) สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาคือตัวตนที่พวกเขาแสดงออกมาในนามตัวเองไม่ใช่ประเทศที่อาศัยอยู่” พอล วัตสัน ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาฯ ยืนยัน

การจะเข้ามาเป็นสมาชิกของโคนิฟ่านั้นมีเกณฑ์ที่เข้าใจโดยง่าย กล่าวคือต้องไม่เป็นรัฐหรือกลุ่มชนที่ได้รับการรับรองคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกฟีฟ่า รวมถึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฟุตบอลในรัฐหรือดินแดนนั้น ๆ ปัจจุบันโคนิฟ่ามีกลุ่มชนเป็นทีมสมาชิกทั้งสิ้น 54 ทีมสมาชิกทั้งทีมชายและทีมหญิง ครอบคลุมไปทั่วภูมิภาคโลก มีเวทีแข่งขันทั้งทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพของตัวเอง ไปจนถึงศึกชิงแชมป์ของแต่ละทวีป 

 

เอกภาพในวงการฟุตบอลอิสระ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ร่วมกันของประชากรโลกภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ วัฒนธรรม ไปจนถึงการมีสถานะพลเมือง 

หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐเอกราชของแต่ละกลุ่มเผ่าพันธุ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กลุ่มชนบางส่วนในสังคมนั้น ๆ ถูกผลักออกสู่ความเป็นอื่น ซ้ำยังมีภาพลักษณ์โดนกดทับสถานะ เช่น การนำเสนอผ่านสื่อจนกลายมาเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมียนมา เป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่รวมกันกว่า 135 กลุ่มทั่วประเทศ โดย กะเหรี่ยง ถือเป็น 1 ในกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ในฉากสำคัญของประเทศมาช้านาน อย่างไรก็ดีจากปัญหาสงครามภายในประเทศ การปะทะกันระหว่างกะเหรี่ยงในสถานะของกลุ่มชายขอบของประเทศกับกองทัพทหารโดยรัฐด้วยเหตุผลเรื่องสิทธิ์ในการปกครองตนเองยังคงปรากฏให้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้ และมีส่วนไม่น้อยให้กลุ่มชนกะเหรี่ยงเลือกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อได้ก่อร่างสร้างตัวเป็นชุมชนใหญ่ในประเทศโลกใหม่ การเปลี่ยนผ่านรุ่นสู่รุ่นทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงแต่ละพื้นที่มีความเป็นปึกแผ่นขึ้น อย่างที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มชนกะเหรี่ยงได้มีการรวมกันก่อตั้งเป็นสมาคมฟุตบอลกะเหรี่ยง หรือ Karen Football Association (KFA) พันธกิจสำคัญคือการทำให้ฟุตบอลและชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้กลุ่มชนกะเหรี่ยงทั่วโลกเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนการเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิม โดยทีมกลุ่มชนกะเหรี่ยงได้เข้าร่วมโคนิฟ่าในช่วงปลายปี 2018 ในฐานะทีมตัวแทนจากทวีปเอเชีย 

หรือแม้แต่บทบาทของรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรร่วมระหว่างประเทศที่ไม่มีบทบาทบนเวทีโลกให้เห็นบ่อยครั้ง นอกเสียจากเรื่องสงครามและเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่าง ‘สาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ หรือ Turkish Republic of Northern Cyprus’ ซึ่งเป็นรัฐสากลที่ยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นรัฐเอกราช ยกเว้น ตุรกี เพราะพื้นที่ดังกล่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะไซปรัสเป็นถิ่นของชาวไซปรัสตุรกี ที่อพยพมาอยู่ดินแดนนี้ตั้งแต่เมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว 

ส่วนไซปรัสตอนใต้ หรือที่รู้จักในนาม ‘สาธารณรัฐไซปรัส หรือ Republic of Cyprus’ ได้รับการรับรองสถานะเป็นรัฐเอกราชโดยสหประชาชาติและสหภาพยุโรปไปแล้ว

เมื่อสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือไม่ได้รับสถานะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บวกกับสมาคมฟุตบอลของที่นี่ไม่ได้เป็นชาติสมาชิกฟีฟ่า แต่ก็ยังมีเวทีให้นักฟุตบอลได้แข่งขันในระดับนานาชาติภายใต้การเป็นสมาชิกโคนิฟ่า โดยการลงเล่นเวิลด์ ฟุตบอล คัพ สองครั้งหลังสุด (ปี 2016 และ 2018) พวกเขาจบด้วยการเป็นทีมอันดับสามและสอง 

ท่ามกลางข้อพิพาทของสองไซปรัสที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ทว่าทีมกลุ่มชนสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือยังคงมีบทบาทในวงการฟุตบอลอิสระอย่างเต็มที่ อย่างล่าสุดพวกเขากำลังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดศึก ‘CONIFA European Trophy 2023’ หรือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลอิสระชิงแชมป์ยุโรป 2023 

 

สถานการณ์โลกกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ

กับความท้าทายบนกระแสโลกที่ยังคงมีเหตุการณ์สำคัญเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ย่อมมีเรื่องให้โคนิฟ่าในฐานะสหพันธ์ที่สนับสนุนวงการฟุตบอลอิสระต้องรับมืออยู่ไม่น้อย 

กรณีตัวอย่างที่โคนิฟ่าเคยเผชิญเกิดขึ้นในสมัยที่จัดเวิลด์ ฟุตบอล คัพ 2018 - ครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดบนช่องทางออนไลน์ แถมยังจัดการแข่งขันในอังกฤษ หนึ่งในชาติที่กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยม อีกครั้งการแข่งขันนี้ยังจัดแข่งก่อนที่ฟุตบอลโลก 2018 จะอุบัติขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ 

เมื่อองค์กรฯ ถูกพูดถึงมากกว่าอดีต พวกเขาถูกตั้งคำถามจากรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งแสดงการต่อต้านการเข้าร่วมของทีมทมิฬ อีแลม กลุ่มชนตัวแทนจากเอเชีย ที่ได้สิทธิ์ลงเล่นรอบสุดท้าย หลังพบข้อความสื่อถึงการเป็นรัฐเอกราช ทางศรีลังกามองว่าโคนิฟ่าไปส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนความรุนแรงในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงศรีลังกาให้กลับมาระอุโดยทางอ้อม ทั้ง ๆ ที่ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) จบลงไปตั้งแต่ปี 2009 

หรือแม้แต่การแสดงสัญญะผ่านวัฒนธรรมจากชนชาวทิเบต ในระหว่างทีมกลุ่มชนทิเบตลงแข่งก็ถูกทางการจีนจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการเรียกร้องความสนใจต่อประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต

และยังไม่นับข้อพิพาททางภูมิรัฐศาสตร์จากอีกหลายกลุ่มสมาชิกที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติที่ลงตัว ดังกรณีของสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ ซึ่งหากเกิดกรณีโยงเข้าเรื่องที่เปราะบางเมื่อใดก็อาจกลายเป็นประเด็นได้ทันที เพราะในมุมของชาติร่วมกรณีพิพาท นี่คือการกระทำจากกลุ่มชนที่ไม่ได้เป็นรัฐที่ได้รับการรับรองโดยทั่วกันจากนานาชาติ 

หากฟีฟ่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมทีมชาติจากรัฐชาติสำหรับการแข่งขันเกมลูกหนังในทางสากล กลับกันโคนิฟ่าก็เปรียบเสมือน “ฟีฟ่า” ของทีมจากรัฐอิสระ กลุ่มคนพลัดถิ่น ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสกลุ่มชนเหล่านี้ได้สัมผัสทัวร์นาเมนต์รอบสุดท้าย ท่ามกลางสถานการณ์ท้าทายที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ CONIFA: Football for the Forgotten
https://www.conifa.org/en/faqs/ 
https://ngthai.com/cultures/13316/the-conifa-world-cup/ 
https://youtu.be/sG1VZp7TE_4 
https://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=6&sj_id=53  
https://www.blockdit.com/posts/610a646c9a55ff0c92c37c60 
https://www.theguardian.com/football/2018/jun/01/world-football-cup-alternative-fifa-lesson-geopolitics 
https://theglobalobservatory.org/2018/07/geopolitics-conifa-world-cup/ 

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ