เสียงนกหวีดยาวดังขึ้นที่สนามเทศบาลเมืองชุนชอน (Chuncheon Civic Stadium) จังหวัดคังวอน (Gangwon-do) ประเทศเกาหลีใต้ การแข่งขันเคลีก 1 (K League 1) แมตช์ที่ 37 ระหว่าง คังวอน เอฟซี (Gangwon FC) ปะทะ อุลซาน ฮุนได (Ulsan Hyundai) จบลงด้วยชัยชนะของผู้มาเยือนแบบเฉือนท้ายเกม 1-2
ชัยชนะแมตช์นี้ส่งผลให้พลพรรค "โฮรังงี" (호랑이) ก้าวขึ้นเถลิงบัลลังก์แชมป์เคลีกสุดยิ่งใหญ่อีกครั้งในรอบ 17 ปี ทั้งยังเป็นการกระชากถ้วยจากอ้อมอกของ ชอนบุก ฮุนได มอเตอร์ส ยอดทีมยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดแชมป์เคลีกมา 5 ฤดูกาลติดต่อกันได้เป็นผลสำเร็จ
นับเป็นการเกิดขึ้นของผู้ท้าชิงรายใหม่ที่เข้ามาขับเคี่ยวกับชอนบุกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ชนิดที่อาจจะสามารถเทียบรัศมีได้ในอนาคตอันใกล้เลยด้วยซ้ำ
ซึ่งเมื่อลองมองย้อนไป อุลซาน ฮุนได เองก็เป็นสโมสรที่มักจะเป็นตัวแสบมาช้านาน ไม่เพียงแต่การแข่งขันภายในประเทศ หากแต่ยังไปเปรี้ยวระบือลือไกลถึงฟุตบอลระดับเอเชียอีกด้วย
ร่วมติดตามการทำตัวแบบสุดจัดในการเดินทางบนถนนสายฟุตบอลของยอดทีมจากแดนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเกาหลีทีมนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
ความหาญกล้าคือดีเอ็นเอ
อุลซาน ฮุนได ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 ปีเดียวกันกับที่มีการก่อตั้ง โคเรียน ซูเปอร์ ลีก (Korean Super League) ลีกอาชีพสูงสุดของเกาหลีใต้ หรือก็คือ เคลีก 1 ในปัจจุบัน โดยใช้ชื่อว่า ฮุนได โฮรังงี (Hyundai Horang-i : 현대 호랑이)
โดยชื่อฮุนไดนั้นมาจากการซื้อสิทธิแฟรนไชส์ทำทีมฟุตบอลจากส่วนกลางโดยบริษัทอุตสาหกรรมหนักฮุนได (Hyundai Heavy Industries) หนึ่งในบริษัทในเครือ "แชโบล" (Chaebol) กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองเศรษฐกิจมหภาคของเกาหลีใต้ ซึ่งบริษัทดังกล่าวแทบจะเป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมหนักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงยุค 80s ที่สามารถทำให้เกาหลีผงาดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย
ส่วนโฮรังงีนั้นในภาษาเกาหลีแปลว่า "เสือ" ซึ่งเสือเป็นสัตว์ในตำนานของดินแดนคาบสมุทรมาช้านาน จากประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรโบราณ จุดอ้างอิงในการ "สร้างชาติ" เกาหลี โดยเสือนั้นเป็นหนึ่งในตัวแทนของ "ความน่ายำเกรง เปี่ยมพลานุภาพ และอำนาจบารมี" ในฐานะชาวฮั่นอันยิ่งใหญ่ ไม่มีสิ่งใดเหมาะสมกับการสร้างภาพแทนของประชาชนได้มากเท่ากับเสืออีกแล้ว อีกทั้งดินแดนคาบสมุทรยังมีรูปร่างที่จินตนาการได้ว่า "คล้าย ๆ" เสือคำราม เตรียมตะปบเหยื่ออีกด้วย
ซึ่งส่วนมากการนำเสือมาใช้งานจะอยู่ในรูปแบบของภาพแทนระดับชาติเป็นหลัก เพราะเสือสื่อถึงคาบสมุทรเกาหลีทั้งยวง มิหนำซ้ำเสือยังเป็นที่นิยมนำไปออกแบบเครื่องทรง เครื่องใช้ต่าง ๆ ของราชสำนัก อีกด้วย เรียกได้ว่าเสือเป็นสิ่งที่สูงส่งและเป็นสัตว์เจ้านายประการหนึ่ง
ดังนั้นความหาญกล้ามากพอที่จะใช้เสือเพื่อเป็นการก่อรูปอัตลักษณ์ของสโมสรจึงหมายถึงการประกาศศักดาว่า สโมสรแห่งนี้แม้จะเกิดขึ้นมาใหม่แต่ก็เป็นน้องใหม่ที่กล้าทำตัวองอาจ ยิ่งใหญ่ อาจหาญพอจะวัดรอยเท้ากับสโมสรอื่น ๆ ที่อยู่มานาน โดยไม่เกรงกลัวบารมีใด ๆ ทั้งสิ้น
ผลงานในสนามก็เป็นเช่นนั้น แค่เพียงฤดูกาลแรกที่ลงแข่งขันบนลีกสูงสุด (1984) ทีมก็สามารถจบรองแชมป์ในตารางคะแนนรวมได้แบบช็อกวงการ อีกทั้ง แพค จง ชอล (Baek Jong-Chul : 백종철) กองหน้าโนเนมในขณะนั้น สามารถคว้ารางวัลดาวซัลโวเคลีกไปได้ ด้วยจำนวน 17 ประตู
มิหนำซ้ำในฤดูกาลเดียวกันด้วยพลังเม็ดเงินที่หนา มีแบ็กอัพดี พร้อมทุ่มไม่อั้น ทีมจึงได้ทำการเสริมผู้เล่นต่างชาติที่มีดีกรีสูงกว่าทีมอื่น ๆ ในลีกในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ยอร์ช อัลฮัซซัน (George Alhassan) กลางรุกระดับตำนานของทีมอักรา เกรต โอลิมปิก (Accra Great Olympics) สโมสรชั้นนำของประเทศกานา ทั้งเจ้าตัวยังได้รับฉายาว่า "แจร์ซินโญกาน่า" เนื่องจากลีลาการเล่นคล้าย แจร์ซินโญ สตาร์บราซิล
รวมไปถึง ร็อบ ลันด์สเบอร์เกน (Rob Landsbergen) กองหน้าส่วนเกินจากพีเอสวี โรดีเชียใต้ (Southern Rhodesia) หรือในปัจจุบันคือ ซิมบับเว ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ทำผลงานระดับสุดยอด คอยสนับสนุน จง ชอล และทำได้ถึง 9 ประตู ครองตำแหน่งดาวซัลโวอันดับที่ 5 ร่วม
แม้ทีมอื่น ๆ ร่วมลีกจะไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่แตกต่างไปจาก อุลซาน ฮุนได มากเท่าไร (เพราะเจ้าของทีมมีแต่บริษัทกลุ่มแชโบลทั้งนั้น) แต่สิ่งที่ทีมทำนั้นคือการกล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ โดยการเล่นแหวกแนวแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยเฉพาะในรายการฟุตบอลเอเชียที่โดยส่วนมากสโมสรฟุตบอลจากเกาหลีใต้มักจะเล่นฟอร์เมชั่นแบบตีหัวเข้าบ้าน คือเน้นคุมโซน เปิดช่องให้คู่แข่งครองบอลทำเกม แล้วพอได้จังหวะก็จะชิงเหลี่ยมใช้จังหวะให้น้อยที่สุดเพื่อทำประตู และก็กลับไปเล่นแบบเดิม แต่ อุลซาน ฮุนได ไม่ทำแบบนั้น ไม่ว่าจะทีมเล็ก ทีมใหญ่ พยัคฆ์คำรนทีมนี้ก็พร้อมเดินหน้าฆ่าฟันแบบใส่ไม่ยั้ง จัดเกมรุกเต็มสตรีม กระหายยิงประตูเรื่อย ๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรายการ เอทรี (A3 Champions Cup) ซึ่งเป็นการแข่งขันของ 4 สโมสรจาก 3 ชาติมหาอำนาจลูกหนังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ปี 2006 ที่อุลซาน ฮุนได ไล่ถล่มทั้ง กัมบะ โอซากา ไป 6-0 และ ต้าเหลียน ชีเตอะ ไป 4-0 คว้าแชมป์ไปแบบท่วมท้น
หรืออย่างใน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก (สมัยนั้นใช้ชื่อ ฟุตบอลสโมสรชิงแชมป์เอเชีย) ปีเดียวกัน พลพรรคโฮรังงีก็ได้จัดชุดใหญ่ให้ผู้มาเยือนจากซาอุดีอาระเบียอย่าง อัล ชาบาบ (Al Shabab) ไปแบบไม่ไว้หน้า 6-0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และเข้ารอบไปด้วยสกอร์รวม 7-0
ผลงานเกมรุกสุดสะเด่าในปีนั้นส่งผลให้สื่อต่างประเทศขนานนามอุลซาน ฮุนได ว่าเป็น "แก๊งสเตอร์แห่งเอเชีย" (아시아 깡패) เลยทีเดียว
แต่เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด ความเปรี้ยวจะค่อย ๆ โดนกลบด้วยความสำเร็จรูปไปอย่างน่าเจ็บใจ
เป็นรองนั้นช้ำ ที่เดิมซ้ำ ๆ โดนเหยียบโดนย่ำอยู่ที่ส้นบาทา
แม้ว่าความเปรี้ยวจะเป็นเหมือนจิตวิญญาณ อัตลักษณ์ และสิ่งที่หล่อหลอมยอดทีมจากเมืองอุลซานทีมนี้
แต่เมื่อพิจารณาไปที่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมก็ยังถือว่าห่างชั้นกับทีมใหญ่และทีมระดับประวัติศาสตร์ยาวนานในลีกอยู่มากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่แล้ว อุลซาน ฮุนได มักจะประสบกับการเป็น "รองช้ำ" อยู่เสมอ
เคลีก แข่งขันมาทั้งหมด 39 ฤดูกาล (1983-2021) อุลซาน ฮุนได มีโอกาสเข้าใกล้แชมป์ 13 ครั้ง แต่สามารถเปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ชนะได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น (1996, 2005) นั่นหมายความว่า พลพรรคพยัคฆ์คำรนทีมนี้จบด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศมากถึง 11 ครั้งเลยทีเดียว
โดยเฉพาะในยุคที่ทีมกลับมาผงาดในเวทีฟุตบอลสโมสรเอเชียอีกครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2010 โดยสามารถเถลิงบัลลังก์แชมป์ได้ในปี 2012 และ 2020 แบบ "ไร้พ่าย" ตั้งแต่รอบแรกยันชูถ้วย เพียงแต่ในการแข่งขันเคลีกนั้น ทีมไม่เคยไปถึงฝั่งฝันได้เลย
นับตั้งแต่หมดยุคแก๊งสเตอร์แห่งเอเชียที่พาทีมคว้าแชมป์เคลีกในปี 2005 ประหนึ่งความสำเร็จที่กลุ่มนี้สรรสร้างก็ได้มลายหายไปด้วย และปล่อยให้ทีมอื่น ๆ ขึ้นมาเป็นเต้ยของลีกแทนตนเอง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันครองบัลลังก์ด้วยทีมอย่าง ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์, ซองนัม เอฟซี (ซองนัม อิลฮวา ชุนมา ในอดีต), เอฟซี โซล หรือที่เป็นประเด็นมากที่สุดคือ ชอนบุค ฮุนได มอเตอร์ส (Jeonbuk Hyundai Motors)
พลพรรค "นักรบแดนใต้" ก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ โดยสามารถคว้าแชมป์เคลีกได้ 9 สมัยจาก 13 ฤดูกาล (โดน เอฟซี โซล แบ่งไป 3 สมัย) มิหนำซ้ำยังเป็นการคว้าแชมป์ 5 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ฤดูกาล 2017-2021
โดยที่แชมป์ 5 สมัยติดดังกล่าวนั้น อุลซาน ฮุนได จบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ไปถึง 3 สมัยติดต่อกัน ในฤดูกาล 2019 -2021
ซึ่งการเป็น "ทริปเปิลรองแชมป์" ของอุลซาน ฮุนได นั้นในรายละเอียดก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ อย่างในฤดูกาล 2019 ทีมสามารถจบด้วยคะแนนที่เท่ากันกับชอนบุค มอเตอร์ส ที่ 79 คะแนน เพียงแต่แพ้กฎเฮดทูเฮด เพราะแมตช์สุดท้ายดันไปพลาดท่าแพ้ โปฮัง สตีลเลอร์ส 1-4 ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่นำเป็นจ่าฝูงมาร่วมเดือน
หรือในฤดูกาล 2020 ก็เหมือนฉายภาพยนตร์ม้วนเดิมซ้ำ เพราะพวกเขานำเป็นจ่าฝูงมาร่วมครึ่งฤดูกาล แต่ไปพลาดท่าแพ้ ชอนบุค มอเตอร์ส ในแมตช์รองสุดท้าย จบด้สยการเป็นรองแชมป์ไปแบบสุดช้ำ ทั้งที่ จูเนียร์ เนเกรา (Júnior Negrão) คว้ารางวัลดาวซัลโวที่ 26 ประตูก็ตาม (ซึ่งเนเกราคนนี้คือคนเดียวกับที่เคยมาค้าแข้งในเมืองไทยกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อฤดูกาล 2016)
และฤดูกาล 2021 จากที่นำจ่าฝูงอยู่ดี ๆ ก็ไปพลาดท่าสะดุดเสมอ ทำให้แต้มน้อยกว่าชอนบุค มอเตอร์ส ไปเพียง 2 คะแนน พลาดแชมป์ในปีนั้นไป แม้สถิติการถล่มประตูจะไม่เป็นรองทีมแชมป์ก็ตาม แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีที่ทีมสามารถแจ้งเกิดให้ดาวรุ่งอย่าง อี ดง จุน (Lee Dong-jun : 이동준) ปีกความเร็วสูง ให้ไปโลดแล่นกับ แฮร์ธา เบอร์ลิน ได้
แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล 2022 ทุกสิ่งทุกอย่างที่พยายามทำมาก็ได้มาผลิดอกออกผลในที่สุด
เทพบุตรแซ่ฮง มงลง ทรงผงาด
ในวงการฟุตบอล ความคาดหวังสูงสุดของทุกชาติคือการได้เห็นนักฟุตบอลระดับตำนานของทีมชาติตนก้าวขึ้นมาเป็นโค้ชที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ตอนบรรเลงเพลงแข้งในสนาม
ซึ่งก็เป็นเรื่องดีสำหรับเกาหลีใต้ที่ได้มีตำนานแจ้งเกิดในวงการผู้ฝึกสอนสุดยิ่งใหญ่ เขาผู้นั้นมีชื่อว่า ฮง มยอง โบ (Hong Myung-bo : 홍명보)
โดยฮงนั้นเป็นกองหลังระดับตำนานของทัพพลังโสม ติดทีมชาติมากที่สุดร่วมกับ ชา บอม กึน (Cha Bum-kun : 차범근) กองหน้าระดับปรากฏการณ์เอเชียอีกคนที่ 136 แมตช์
แม้แต่ในระดับสโมสรก็เรียกได้ว่า ไม่ว่าฮงจะไปค้าแข้งที่ไหนก็มักจะทำผลงานได้ในระดับพระกาฬเสมอ โดยเฉพาะการที่เขานั้นได้บินลัดฟ้าไปค้าแข้งที่เจลีกของญี่ปุ่นทั้งกับ โชนัน เบลมาเร และ คาชิวา เรย์โซล ก็ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ฮงฟีเวอร์" ที่บรรดากองหลังในเจลีกเลียนแบบการเล่นของเขาแบบเป๊ะ ๆ มาแล้ว
โดยงานโค้ชของฮงถือว่าทำผลงานได้เข้าตาอย่างมาก กับการคุมทัพพลังโสมหนุ่ม ชุด U-20 และได้เลื่อนไปคุมชุด U-23 ลุยศึกฟุตบอลชายโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน
ทีมชาติเกาหลีใต้จบด้วยรองแชมป์กลุ่ม บี โดยที่ไม่แพ้ใคร (ชนะ 1 เสมอ 2) ก่อนจะไปปราบพยศ สหราชอาณาจักร เจ้าภาพที่มีทั้ง เคร็ก เบลลามี, ไมกาห์ ริชาร์ดส และ ไรอัน กิกส์ ในช่วงดวลจุดโทษ 5-4 (เสมอในเวลา 1-1) เพียงแต่รอบต่อมาดันไปแพ้ บราซิล 0-3 แต่ก็กลับมาชนะ ญี่ปุ่น คู่แค้นตลอดกาลไปแบบสบายเท้า 2-0 คว้าเหรียญทองแดงกลับบ้านสุดยิ่งใหญ่
แน่นอนว่าผลงานขนาดนี้ ปีต่อมาฮงจึงได้เลื่อนขึ้นมาทำทีมชุดใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าบารมีความเป็นตำนาน จะทำให้การจับงานโค้ชของเขาราบรื่นไปเสียทั้งหมด
เพราะภายใต้การกุมบังเหียนของเขาทีมชาติมีผลงานที่ย่ำแย่มาก ๆ โดยจบเพียงอันดับที่ 3 ใน อีเอเอฟเอฟ คัพ 2013 นั่งตาละห้อยมองญี่ปุ่นคว้าแชมป์ รวมถึงการตกรอบแรก ฟุตบอลโลก 2014 ไปแบบหมดลุ้นเข้ารอบตั้งแต่ไก่โห่
เรียกได้ว่าผลงานกับทีมชาติทำให้ฮงเป๋ไปพอสมควร จนเขาต้องหนีไปพักใจ คุมทีมระดับความคาดหวังไม่สูงอย่าง หางโจว กรีนทาว์น ในลีกจีน
แต่เพชรอย่างไรก็คือเพชร เมื่อ อุลซาน ฮุนได ข้ามน้ำข้ามทะเลมาตามตัวเขาให้ไปปลุกใจเสือป่า เพื่อกลับมาผงาดอีกครั้งในปี 2021
โดยเข้ามาปีแรก อาจจะด้วยความเป็นตำนานหรือความทะเยอทะยานที่จะพาตนเองกลับมาให้ได้อีกครั้งทั้งเขาและทีม สิ่งนี้ได้ส่งผลมายังรูปแบบและผลงานในสนาม สไตล์เดินหน้าฆ่าไม่ยั้งกลับมาอีกครั้ง ทีมชนะเรื่อย ๆ นำจ่าฝูงของลีกได้หลายสัปดาห์ และก็ผ่านเข้ารอบลึก ๆ ฟุตบอลถ้วยทั้งในประเทศและระดับเอเชีย
แต่จะด้วยความไม่ลงตัวหรือการจูนกันยังไม่สนิทดี อุลซาน ฮุนได กลับมาแหกโค้งในช่วงท้ายทุกรายการ โดยเป็นการแพ้แบบน่าเจ็บใจทั้งหมดเสียด้วย ในลีกโดน ชอนบุค มอเตอร์ส ปาดหน้า ในเอฟเอคัพ โดนม้ามืดจากลีกรองอย่าง ชอนนัม ดรากอนส์ เฉือนหวิว 1-2 ในรอบรองชนะเลิศ และในเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ก็ไปแพ้จุดโทษ โปฮัง สตีลเลอร์ส 4-5 (เสมอในเวลา 1-1) ในรอบรองชนะเลิศอีกเช่นกัน
ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาจะมาฉายแสงในฤดูกาล 2022
พลพรรคโฮรังงีเน้นหนักไปที่ผลงานในลีกเพียงอย่างเดียว รายการอื่น ๆ ถ้าเข้ารอบก็ถือเป็นผลพลอยได้ โดยในฟุตบอลเอเชียทีมส่งผู้เล่นสำรองลงยกชุดและตกรอบแรกไปตามระเบียบ
ประกอบกับผลงานของ ชอนบุค มอเตอร์ส เริ่มถดถอยลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะมาจากการ "อิ่มความสำเร็จ" ที่ได้มาตลอด 5 ปีหรือไม่ก็ตาม แต่นั่นเป็นโอกาสทองที่ อุลซาน ฮุนได จะคว้าไว้ติดมือ
อุลซาน ฮุนได เร่งทำผลงานในลีกให้ดีที่สุด แมตช์ใดควรชนะ ก็ชนะ แมตช์เจอทีมระดับใกล้เคียงกันก็สามารถแบ่งแต้มหรือไม่ก็คว้าชัยกลับมาได้ และก็เห็นผลโดยขึ้นจ่าฝูงตั้งแต่แมตช์ที่ 3 และก็นำยาว ๆ ไปจนถึงแมตช์ชี้ชะตาที่ 37
อย่างที่ทราบในท้ายที่สุด อุลซาน ฮุนได ก็ผงาดคว้าแชมป์เคลีกได้ในบั้นปลาย โดยไม่ต้องรอให้ลีกแข่งขันจบเลย
นับเป็นการกลับมาเฉิดฉายสุดยิ่งใหญ่ของยอดทีมพยัคฆ์คำรนแห่งอุลซาน และยังเป็นการคืนสังเวียนยอดกุนซือของ ฮง มย็อง โบ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
นับแต่นี้ต่อไปเคลีกอาจจะทวีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น เพราะทีมที่ผูกขาดความสำเร็จมาตลอดต้องประสบกับงานยากที่จะสืบทอดอำนาจและบัลลังก์ต่อไปด้วยน้ำมือของ อุลซาน ฮุนได อย่างแน่นอนทีเดียว
แหล่งอ้างอิง
http://www.kleagueunited.com/2022/10/breaking-ulsan-hyundai-are-2022-k.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-32811866
https://sports.news.naver.com/news?oid=076&aid=0002262256
http://www.san-shin.org/Dan-gun_Myth.html
https://overseas.mofa.go.kr/no-en/brd/m_21237/view.do?seq=133
https://sports.news.naver.com/news?oid=076&aid=0002262256
https://jleagueregista.wordpress.com/2020/06/14/jlegacy-southkorea-ep05/
https://en.yna.co.kr/view/AEN20221016001700315?section=news