Feature

มันจบแล้วครับนาย: จุดเปลี่ยน เนวิน ชิดชอบ จากนักการเมือง สู่เจ้าของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้มากบารมีในวงการกีฬาไทย | Main Stand

หากย้อนไปในช่วง 10 กว่าปีก่อน การเมืองไทย ณ ขณะนั้นถือว่ามีความเดือดพล่านเป็นอย่างมาก ทั้งจากภาคประชาชนอย่างสงครามเสื้อสี สมัชชาคนจน กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ ไปจนถึงการเมืองระดับประเทศที่มีการ “แบ่งขั้ว” อย่างชัดเจน ตลอดจนการแยกตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในพรรคใหญ่ไปตั้งพรรคใหม่และเปลี่ยนขั้วสนับสนุนกันให้ควัก โดยหนึ่งในบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญ นั่นคือ “เนวิน ชิดชอบ”

 

โดยเนวินที่ก่อนหน้านี้อยู่พรรคไทยรักไทยร่วมกับ ทักษิณ ชินวัตร และพร้อมปกป้องทักษิณจากการถูกโจมตีมาโดยตลอด แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน ภายหลังจากเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนวินและพรรคพวกจึงตัดสินใจหักกับนายเดิมไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลขึ้น พร้อมทิ้งวลีเด็ด “มันจบแล้วครับนาย” ซึ่งเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ใครจะไปคิดว่าภายหลังจากการลั่นวาจานั้นไป ชีวิตทางการเมืองของ เนวิน ชิดชอบ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขาได้เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นอดีตเป็นนักการเมืองที่มีความเป็นเจ้าพ่อที่เล่นการเมืองเน้น ปะ ฉะ ดะ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างถึงพริกถึงขิง และใช้ข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สู่การเฟดไปเป็นคนเบื้องหลัง คอยเป็นฝ่ายสนับสนุนลูกพรรค เหมือน “ครูใหญ่” ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และท้ายที่สุดก็หันไปมุ่ง “ด้านการกีฬา” อย่างเต็มตัว

เนื่องจากเป็นเดือนเกิดของ เนวิน ชิดชอบ Main Stand จึงชวนไปย้อนดู “การเปลี่ยนผ่าน” ที่น่าสนใจของเขา จากนักการเมืองตัวชนที่ใคร ๆ ก็ร้องยี้ สู่การเป็นผู้มากบารมีที่เป็นทุกอย่างให้บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และเป็นพลังผลักดันยกระดับให้วงการกีฬาไทยไปอีกขั้นหนึ่ง

 

ตำนานยี้ห้อยร้อยยี่สิบ

ในปัจจุบันภาพที่ติดตาแฟนฟุตบอล แฟนกีฬา หรือประชาชนทั่ว ๆ ไปของ เนวิน ชิดชอบ จะดูมีความ “เป็นผู้หลักผู้ใหญ่” ที่มีความอบอุ่น เป็นมิตร ใจดี ที่คอยชี้แนะแนวทางให้ลูกหลานจากความเก๋าและประสบการณ์โชกโชน เหมือน “ลุง” (ที่ไม่ใช่มนุษย์ลุง) เวลาเราไปเยี่ยมเยียนตามต่างจังหวัด แต่หารู้ไม่ว่าสมัยก่อนภาพจำของเนวินไม่ใช่แบบนี้ 

ฉายา “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ของเนวินสมัยหนุ่ม ๆ ใช่ว่าจะได้รับมาเล่น ๆ นั่นเป็นเพราะเมื่อครั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตำรวจได้เข้าตรวจค้นแล้วพบธนบัตรใบละ 20 และ 100 บาท เย็บติดกันเป็นปึกใหญ่มัดรวมกับใบแนะนำตัวของเขา 

จริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่เนวิน แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวมีให้เห็นอย่างดาษดื่น ณ ตอนนั้น เพียงแต่เนวินดัน “เกม” เท่านั้นเอง นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส. เปิดกว้างไปสู่ “ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น” ที่มีลักษณะเป็น “เจ้าพ่อ” เข้ามามีที่ทางในสภา และเป็นตัวแทนของคนในท้องที่ 

บรรดา “นักการเมืองภูธร” ได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รองนายกรัฐมนตรี หรือถึงขั้นระดับผู้นำประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาดึงเม็ดเงินกลับเข้าสู่ชนบท และใช้การบริหารจัดการมาพัฒนาเมืองให้ทันสมัยและมีความเจริญไม่น้อยไปกว่าเมืองใหญ่ ๆ และเมืองหลวง

นักการเมืองประเภทนี้ที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีก็เห็นจะเป็น บรรหาร ศิลปอาชา แห่งสุพรรณบุรี, สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ แห่งชลบุรี, วัฒนา อัศวเหม แห่งสมุทรปราการ รวมถึง ชัย ชิดชอบ แห่งบุรีรัมย์และอีสานใต้ ผู้เป็นบิดาของเนวินก็เช่นกัน

ศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งชื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้ว่า “ระบอบยียาธิปไตย” ที่มาจากคำว่า “ยี้” และเรียกบรรดานักการเมืองเหล่านั้นว่า “เผ่ายี้” นั่นเอง

“นักการเมืองเผ่ายี้อาศัยธนานุภาพในการถีบตัวขึ้นสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้เป็นนายทุนภูธร ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่มีฐานผลประโยชน์ในระบบสัมปทาน การประกอบกิจกรรมอันเนื่องด้วยอบายมุข การลักลอบประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่นการตัดไม้ทำลายป่าและการลักลอบขุดแร่ ประกอบกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ดังเช่นการลักลอบนำสินค้าเข้า การประกอบธุรกิจนํ้ามันเถื่อน และการค้ายาเสพติด แต่เป็นเพราะนักเลือกตั้งเผ่ายี้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และอาศัยพลังเงินตราในการซื้อเสียงจึงสามารถตบเท้าสู่รัฐสภาได้โดยไม่ยาก การขยายตัวของขบวนการยียานุวัตรทำให้นักเลือกตั้งเผ่ายี้สามารถยึดพื้นที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้มากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการคืบคลานเข้าไปยึดอำนาจรัฐ” รังสรรค์ อธิบาย

เนวินเองก็เป็นหนึ่งในองคาพยพนี้ในฐานะ “ยี้รุ่นที่ 2” ที่ ชัย ชิดชอบ พ่อของเขากรุยทางการลงเล่นการเมืองไว้ให้ การส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเข้าเมืองกรุง ไปเรียน มศ. 1-5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยก็เพื่อคุณภาพทางการศึกษาที่ดีกว่าในพื้นที่ และเผื่อจับพลัดจับผลูได้ “คอนเน็กชั่น” ทางการเมืองจากบรรดาลูกหลานผู้ทรงอิทธิพล นักการเมือง นักธุรกิจ นายทุน ที่ก็ส่งลูกหลานเข้าเรียนที่นี่เช่นกัน 

ประกอบกับรอยทางที่พ่อสร้างไว้ คอนเน็กชั่นในท้องถิ่นบุรีรัมย์ต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งผู้แทนระดับล่าง ๆ จนกระทั่งชนะเลือกตั้ง เป็นผู้แทนบุรีรัมย์เขต 1 ในปี 2531 พร้อมกับการเรียนปริญญาตรีเพิ่มดีกรีให้ตนเองในหลักสูตร กศ.บป. สาขาวิชาพัฒนาชุมชน วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือการได้คอนเน็กชั่นกับพวก “ข้าราชการในพื้นที่” และยังถือว่ามองการณ์ไกล เพราะในกาลต่อมา รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้บังคับให้ ส.ส. ทุกคนต้องจบปริญญาตรี แต่เนวินนอนกอดใบปริญญามาก่อนหน้านั้นจึงไม่เป็นปัญหาในการปรับตัวแบบท่านอื่น ๆ

และเวทีที่เรียกว่ารัฐสภานี่แหละที่ทำให้เขาเจิดจรัสแสงอย่างมาก!

 

จากสายแทงก์ สู่สายซัป

นับตั้งแต่เล่นการเมือง เนวินเป็นนักการเมืองสไตล์ “สายแทงก์” ตามสไตล์ “ลูกชายเจ้าพ่อ” ที่มีความห่าม ความดิบ ไม่เกรงกลัวผู้ใด ถ้ามีเรื่องเขาก็จะเปิดก่อนตลอด โดยเขาได้ตั้งกลุ่ม “สิงห์ทอง” และเป็นผู้นำในการทำตัวเป็น “ผู้คุ้มครอง” พื้นที่ คอยดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ใครมีปัญหาก็สามารถเรียกใช้บริการได้หมด เรียกได้ว่าทำงานกันจนตำรวจยังอายเลยทีเดียว

แม้ลักษณะนิสัยดังกล่าวจะเป็นแบบที่คนกรุงผู้เป็นผู้ดีและมีความสุขุมนุ่มลึกจะเกลียดเข้าไส้ แต่กับ “ชาวต่างจังหวัด” แล้ว ลักษณะแบบนี้เห็นแล้วจะชอบมากและได้ใจคนภูธรไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มิหนำซ้ำเขายังมีความ “ใจใหญ่” ที่จะช่วยเหลือเพื่อน ๆ และคนในพื้นที่ หากใครมีเรื่องเดือดร้อนก็จะพุ่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที อย่างนี้คนในพื้นที่จะไม่รักได้อย่างไร จริงไหม ?

แต่ความห่ามสไตล์ “นักเลงบ้านนอก” เมื่อเข้าสู่รัฐสภานั้นกลับกลายเป็นพวกที่ถูกมองว่ามีนิสัยก้าวร้าว ไม่มีมารยาท ไม่มีสมบัติผู้ดีไปในทันที ซึ่งเนวินเองก็ได้เปลี่ยนไปใช้ “กลยุทธ์ทางการเมือง” อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการอภิปรายด้วย “ข้อมูลเชิงลึก” ชนิดที่ฝ่ายที่ปะทะด้วยถึงกับเหวอจนดิ้นไม่หลุด แต่เขาก็ยังคงความเป็นสายแทงก์ที่มีลูกล่อลูกชนและลูกกระแทกแดกดันพอให้เจ็บจี๊ด หรือแม้กระทั่ง “การแซะ” แบบที่คนปัจจุบันชอบเรียกกัน 

หรือก็คือเนวินได้ปรับเปลี่ยน “ภาพจำ” ของตนเองให้เป็นนักการเมืองสายแทงก์ที่ “มีอารยะ” เหมาะสมกับสภาอันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

โดยการแทงก์แบบถึงลูกถึงคนนี้ก็ได้ส่งผลต่อ “ภาวะการเป็นผู้นำ” ของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย บรรดานักการเมืองหลายคนยอมให้เขาเป็นผู้นำกลุ่มผลประโยชน์ ทั้ง “กลุ่ม 16” และ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ก็ให้ความสำคัญกับเขา

หรือแม้กระทั่ง “การเป็นผู้ตาม” ก็ยิ่งดี โดยเฉพาะการได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เขารับหน้าเสื่อจัดการปัญหาให้หมด และหากเกิดปัญหาก็พร้อมจะ “ท้าชน” ให้เต็มที่

สำนวน “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” ยังใช้ได้เสมอ การแทงก์แบบทุ่มเทของเขาย่อมเป็นเป้าของการโจมตีได้ง่าย ถูกจุด และมีประสิทธิภาพ คำวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ได้ซัดสาดเข้าหาเขา โดยเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเป็นเวลา 5 ปี หรือที่นักข่าวเรียกกันว่า “บ้านเลขที่ 111” และทำให้เนวินถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปโดยปริยาย

เมื่อเห็นสภาพความเป็นจริงแบบนี้ วลีเด็ดในตำนานอย่าง “มันจบแล้วครับนาย” จึงลั่นขึ้นจากปากของเขา โดยเนวินหันไปร่วมกับ “กลุ่มมัชฌิมา” ก่อตั้งพรรค “ภูมิใจไทย” ขึ้น และเข้าร่วมรัฐบาลกับ พรรคประชาธิปัตย์ ยกมือให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยพันธะบ้านเลขที่ 111 ทำให้เขาไม่สามารถกลับมาแทงก์ได้ดังเดิม นั่นทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนบทบาทไปเป็น “สายซัป” ที่คอยสนับสนุนและปลุกปั้นนักการเมืองน้ำดีขึ้นมาแทงก์แทนเขา และในบางโอกาสเขาก็รับบทบาท “สายแครี่” ที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงเถียงให้กับคนในพรรคอยู่ห่าง ๆ จากการให้สัมภาษณ์หรือออกสื่อด้วยตนเอง

แต่ต่อมาเมื่อฟุตบอลได้เข้ามาครอบครองใจของ เนวิน ชิดชอบ เขาก็เลือกที่จะทิ้งการเมืองไปแบบไม่หวนกลับ ทั้งที่การตัดสิทธิทางการเมืองใกล้จะครบกำหนดอยู่รอมร่ออย่างน่าเหลือเชื่อ!

 

การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งสู่ฟุตบอล

ในวันเกิดครบรอบ 54 ปี ของ เนวิน ชิดชอบ เมื่อปี 2555 เขาประกาศกร้าวกลางงานเลี้ยง ณ บ้านพักที่จังหวัดบุรีรัมย์ อย่างหนักแน่นว่า “จะเลิกเล่นการเมืองและจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ในทุกระดับ” ซึ่งสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ประชาชนอย่างมาก เพราะอีกประเดี๋ยวก็จะครบกำหนด “ปลดแบน” บ้านเลขที่ 111 แล้ว ทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนี้ ?

“จากนี้ไปก็จะขอมีความสุขอยู่กับครอบครัว การทำทีมฟุตบอล และสนุกอยู่กับการขี่รถจักรยานยนต์ที่ชื่นชอบ” คือคำที่เขาได้กล่าวทิ้งท้ายกับสื่อมวลชน

แม้ติ้นลึกหนาบางทางความคิดจะเป็นอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คืออีก 10 ปีให้หลัง เขาจะได้กลายเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทยอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และก่อตั้งสนามแข่งขันมอเตอร์ไซด์ทางเรียบระดับโลกอย่าง ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต รวมทั้งความสำเร็จอื่น ๆ อย่างการเปิดฟุตบอลอคาเดมี, การทำทีมอีสปอร์ต รวมไปถึงการขายสินค้าที่ระลึกได้มากมายมหาศาล

เรียกได้ว่า เนวิน ชิดชอบ กลายเป็น “เจ้าพ่อแห่งบุรีรัมย์” โดยที่ไม่ต้องใช้อำนาจบาตรใหญ่ บังคับให้คนมาเชิดชู เพราะชาวบุรีรัมย์พร้อมใจกันสรรเสริญเขาที่ทำให้จังหวัดเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก สร้างเม็ดเงิน สร้างงาน และสร้างอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ได้เหลือคณานับ

ตรงนี้ก็อาจจะบอกได้ว่าเขานั้นได้ค้นพบ “เส้นทางแห่งการแทงก์รูปแบบใหม่” ก็ว่าได้ เพราะนับตั้งแต่ซื้อสิทธิทำทีมจากการไฟฟ้ามา เขาก็แทงก์กับการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมาตลอดชนิดยอมหักไม่ยอมงอ เช่นเรื่องการเก็บตัวทีมชาติที่ไม่เป็นไปตามฟีฟ่า เดย์ ก็ได้เนวินนี่แหละที่แทงก์เรื่องนี้ให้ยอมทำตามหลักสากลที่ไม่ส่งนักเตะให้กับแคมป์ทีมชาติ รวมถึงรูปแบบการเล่นฟุตบอล การสร้างระเบียบวินัย ก็ได้เขาเป็นคนแทงก์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

หรือแม้กระทั่งการซื้อขายตัวผู้เล่นในตลาดนักเตะ เขาก็เป็นคนแทงก์ในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งประเด็นการยกเลิกสัญญาหากฟอร์มไม่เข้าตา การปล่อยพ่อค้าแข้งไปเล่นต่างแดนแบบตอนที่พร้อมจริง ๆ หรือกระทั่งการขายนักเตะอันเป็นที่รักของแฟนบอล ซึ่งมาพร้อมกับวลี “ผมกินข้าว ไม่ได้กินหญ้า” นั่นเอง

ซึ่งต้องยอมรับว่าหลาย ๆ อย่างที่เนวินแทงก์มาให้นั้น ได้กลายเป็นมาตรฐานและยกระดับวงการฟุตบอล รวมถึงวงการกีฬาไทยไปอีกขั้นหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

วลี “มันจบแล้วครับนาย” อาจจะทำให้เนวินจบชีวิตทางการเมืองไป แต่นั่นก็อาจจะหมายถึง “การจบเพื่อเริ่มต้นใหม่” กับวงการฟุตบอลและกีฬา ก็เป็นได้

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น