Feature

เหยา หมิง : ยอดนักบาสฯ ที่เป็นผลผลิตจากคำสั่งของรัฐบาลจีน | Main Stand

"เหยาเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของความก้าวหน้าและทันสมัยของจีน เป็นไอคอนการค้าที่สามารถก้าวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก" บรูค ลาเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ Operation Yao Ming อธิบาย 

 


"แต่เขาก็ยังเป็นผลผลิตภายใต้ระบบนี้ เป็นหนึ่งในปราการด่านสุดท้ายของระบอบสังคมนิยมในจีน" 

หากพูดถึงนักบาสเกตบอลของเอเชีย คงจะไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่า เหยา หมิง อดีตยอดเซ็นเตอร์ของ ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ ที่เคยติดทีมออลสตาร์ NBA ถึง 8 สมัย รวมถึงอันดับ 2 ของรางวัลรุกกี้แห่งปี 

อย่างไรก็ดีการมาถึงของเหยาไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถหรือส่วนสูงในระดับ 228 เซนติเมตร ซึ่งต่างผ่านการวางแผนของรัฐบาลจีนมาหลายสิบปี 

พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand 

 

การจับคู่ทางพันธุกรรม 

จีนคือประเทศมหาอำนาจด้านกีฬาของโลก พวกเขาคือเจ้าเหรียญทองโอลิมปิกหลายสมัย และมีนักกีฬาชั้นนำอยู่หลายวงการ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีจุดกำเนิดมาจากการก่อตั้งคณะกรรมาธิการกีฬาแห่งชาติในปี 1952 

มันคือองค์กรที่จะเฟ้นหาดาวรุ่งฝีมือดีเข้ามาฝึกฝนในโครงการพิเศษของรัฐบาลที่จะรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ ให้การศึกษา ไปจนถึงหางานให้หลังจากเรียนจบหรือเลิกเล่น 

แต่สิ่งที่นักกีฬาต้องแลกมาคือพวกเขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดทั้งปีเพื่อรีดเค้นศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด และก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดในโลก ภายใต้เป้าหมายการสร้างความภาคภูมิใจในชาติผ่านกีฬา

เหยา หมิง ก็เป็นผลผลิตมาจากโครงการนี้ แต่ที่พิเศษคือการถือกำเนิดของเขาผ่านการวางแผนอย่างตั้งใจ 

ในตอนนั้นจีนได้นำวิทยาการทางการแพทย์มาใช้กับกีฬา พวกเขามีเทคโนโลยีพิเศษที่ใช้ในการวัดกระดูกและขนหัวหน่าว เพื่อทำนายการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต 

สิ่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือคัดเลือกว่าสรีระแบบไหนจะเหมาะกับการเป็นนักกีฬาประเภทใด เช่นนักยกน้ำหนักจะต้องมีลักษณะเตี้ยล่ำแต่มีส่วนลำตัวที่แข็งแรง นักกระโดดน้ำจะต้องมีสะโพกเล็กเพื่อไม่ให้น้ำกระเซ็นตอนถึงผิวน้ำ และแน่นอนสำหรับนักบาสเกตบอลจะต้องมีส่วนสูงที่โดดเด่น 

อันที่จริงรัฐจีนติดตามครอบครัวของเหยามานานแล้ว เนื่องจากปู่ของ เหยา หมิง เคยเป็นชายที่สูงที่สุดในเซี่ยงไฮ้ แต่กว่าจะค้นพบก็ไม่ทัน จนมาสมหวังกับ เหยา จื้อหยวน ลูกชาย ที่มีส่วนสูงถึง 205 เซนติเมตร 

อย่างไรก็ดีนอกจากจื้อหยวนจะถูกพาเข้ามาฝึกฝนเพื่อเป็นนักบาสเกตบอลในโครงการของรัฐแล้ว เขายังถูกจับคู่กับ ฟาง เฟิงตี้ นักบาสฯ หญิง อดีตเรดการ์ด ที่สูง 182 เซนติเมตร ก่อนจะบังคับให้แต่งงานกัน เพื่อให้กำเนิดมนุษย์ที่มีส่วนสูงระดับ 2 เมตร 

"มันไม่ได้เป็นโครงการเพาะพันธุ์แห่งชาติ แต่มันเป็นความปรารถนาของเจ้าหน้าที่เซี่ยงไฮ้ที่อยากให้พวกเขาแต่งงานกัน" บรูค ลาเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ Operation Yao Ming กล่าวกับ AFP 

และพวกเขาก็สมหวัง 

 

เด็กยักษ์ 

"ตอนที่เหยาเกิดมา ทุกคนในชุมชนกีฬาที่เซี่ยงไฮ้ รวมถึงระดับชาติก็รู้ว่าเขาคือสิ่งพิเศษ" ลาเมอร์ กล่าวต่อ 

ในวันที่ เหยา หมิง ลืมตาดูโลกในปี 1980 เขาคือทารกยักษ์ที่มีส่วนสูง 58 เซนติเมตร หรือเกือบ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทารกแรกเกิดของจีน และตอน 8 ขวบเขาก็มีส่วนสูงขึ้นไปถึง 171 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของผู้ชายชาวจีน 

แน่นอนว่าด้วยส่วนสูงที่โดดเด่น ทำให้เหยาถูกจับไปเล่นบาสเกตบอล กีฬาที่เขาไม่ได้ชอบมันเลยสักนิดตั้งแต่เด็ก ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพ่อแม่ แต่พวกเขาก็ต้านอำนาจรัฐไม่ไหว 

"แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะต่อต้านในตอนแรก เนื่องจากไม่อยากให้เขาอยู่ในระบบที่ทุกข์ทรมานและขมขื่นเหมือนกับที่พวกเขาเคยเจอ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่มีทางเลือก" ลาเมอร์ อธิบาย 

"เขา (เหยา) เกลียดมันอยู่เป็น 10 ปี เขาไม่ชอบมันเลย เขาเล่นได้ไม่เก่งเลย"

เหยาต้องเข้ามาอยู่ในโครงการพิเศษตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยถูกส่งไปยังโรงเรียนกีฬาในเขตซูฮุ่ย ของเซี่ยงไฮ้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ที่เดียวกับที่พ่อแม่ของเขาเคยเรียน แต่ความเข้มงวดก็ไม่ต่างกัน ภายใต้คำสั่ง 3 ข้อคือ กิน นอน และฝึกฝนวันละ 6 ชั่วโมงต่อวัน 

ทั้งนี้เขายังถูกห้ามมีแฟน เนื่องจากผู้เล่นที่อยู่ในโครงการนี้จะแต่งงานได้ก็ต่อเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปสำหรับผู้ชาย และ 28 ปีสำหรับผู้หญิง เพื่อให้พวกเขามีสมาธิในการซ้อมอย่างเต็มที่ 

ชีวิตของเหยาจึงมีแค่การฝึกบาสฯ ซ้ำ ๆ ท่ามกลางการเคี่ยวกรำสุดโหดจากโค้ช นอกจากนี้เขายังได้รับอาหารเสริมสูตรพิเศษ ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้เขาสูงขึ้น และทำให้เหยามีส่วนสูงถึง 187 เซนติเมตรตอนอายุ 12 ปี 

"ในกรณีของเหยาผมไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ในช่วงเวลานั้นในช่วงทศวรรษ 1990s พวกเขามีการทดลองเพื่อให้ผู้เล่นมีความแข็งแกร่งและความอึดมากขึ้น" ลาเมอร์ กล่าว 

"ใครก็คิดว่าในขณะที่จีนสามารถเบ่งกล้ามในด้านเศรษฐกิจ การทหาร การทูต พวกเขาจึงไม่ต้องการให้กีฬาเป็นตัวถ่วง" 

และสิ่งเหล่านี้ก็ได้พาเหยาไปสู่ความเป็นมืออาชีพ 

 

ดาวเด่นที่ถูกสองชาติแย่งตัว 

ชีวิตในโรงเรียนกีฬาของเหยามีอันต้องสิ้นสุดเมื่ออายุเพียง 13 เมื่อเขาต้องลาออกเพื่อไปร่วมทีมเซี่ยงไฮ้ ชาร์คส สโมสรอาชีพในลีกบาสเกตบอลของจีน (Chinese Basketball Association) หรือ CBA 

เหยาเริ่มต้นฝึกปรือฝีมือจากระดับเยาวชน และ 4 ปีต่อมาเขาก็ได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ ก่อนจะทำผลงานเฉลี่ย 10 คะแนน 10 รีบาวด์ต่อเกม จนได้รับรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปีของ CBA ในฤดูกาล 1997-98 

แม้ว่าในฤดูกาลต่อมาเขาจะต้องพักยาวหลังได้รับบาดเจ็บข้อเท้าหัก แต่เขาก็กลับมาเฉิดฉายในช่วงปี 1999-2001 ด้วยการพา ชาร์คส ผ่านเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศ CBA ฤดูกาล 1999-2000 และอีกครั้งในฤดูกาลต่อมา แต่ต้องพ่ายต่อ บายี ร็อคเก็ตส์ ไปอย่างน่าเสียดายทั้งสองครั้ง 

อย่างไรก็ดีในปีดังกล่าวก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเหยา เมื่อเขาเริ่มจะคิดไปเล่นใน NBA อย่างจริงจัง 

อันที่จริง เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ก็พร้อมที่จะปล่อยเหยาอยู่แล้ว แต่พวกเขายืนยันว่าต้องเป็น “ช่วงเวลาที่เหมาะสม และทีมที่เหมาะสม รวมทั้งภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม" 

แถมก่อนหน้านี้ หลี่ เหยาหมิน รองผู้จัดการทั่วไปของเซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ยังเคยพยายามให้เหยาเข้าดราฟต์ NBA ในปี 1999 หลังหลี่ให้เขาเซ็นสัญญากับบริษัท Evergreen Sports Inc. ที่จะกินส่วนแบ่งถึง 1 ใน 3 ของรายได้ (และคาดว่าหลี่อาจจะได้เปอร์เซ็นต์จากดีลนี้) 

ทว่าสุดท้ายทุกอย่างก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อสัญญาระหว่าง เหยา และ Evergreen ถือเป็นโมฆะ เนื่องจากพบว่าเป็นการเซ็นโดยการบีบบังคับ ก่อนที่เขาจะได้เอเยนต์คนใหม่คือ บิล ดัฟฟี่ เอเยนต์นักบาสฯ NBA ชื่อดัง ผ่านความช่วยเหลือของ ไนกี้ ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์รองเท้า

ทำให้เมื่อเหยามีความตั้งใจว่าจะไป NBA จึงถูกขัดขวางโดยหลี่ หลี่อ้างว่ามีทีมจาก NBA เสนอเงินให้ชาร์คสมากถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36 ล้านบาท) เพื่อให้ปล่อยตัวเหยา แต่พวกเขาประเมินราคาดาราของลีกจีนไว้สูงกว่านั้น  

"เหยา หมิง คือ ไมเคิล จอร์แดน แห่งจีน เราปลูกฝังเขามาตั้งแต่เด็กจนทำให้เขาเป็นเขาในทุกวันนี้ ถ้าเราถูกขอให้ยกเลิกสัญญากับเขา คุณไม่คิดว่าเราควรได้เงินกลับมาในราคาที่สูงเหรอ ?" หลี่ กล่าว

นอกจากเรื่องเงิน เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ยังต้องการทั้งสิทธิพิเศษในการถ่ายทอดสดเกม NBA ที่ประเทศจีน และให้ NBA มาเปิดคลินิกสอนบาสเกตบอลที่จีน เปิดโรงเรียนสอนบาสเกตบอลเพิ่ม ไปจนถึงเงินช่วยเหลือในการสร้างสนามบาสฯ แห่งใหม่

ในตอนนั้นเดดไลน์ของ NBA ดราฟต์ปี 2001 คือวันที่ 13 พฤษภาคม 2001 และเมื่อเวลาใกล้มาถึง NBA ก็พยายามต่อรองว่าหากสถานการณ์ยังคลุุมเครือโดยไม่รู้ว่า เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส จะปล่อยตัว เหยา หรือไม่ ทีมใน NBA อาจจะไม่สนใจที่จะดราฟต์เหยาไป และลงเอยด้วยการเป็นผู้เล่นแบบสัญญาอันดราฟต์ หรือสัญญาอื่น ๆ ที่ค่าเหนื่อยน้อยกว่าแบบดราฟต์ และจะทำให้ชาร์คสได้ส่วนแบ่งที่น้อยลง

แต่ทางด้านชาร์คสก็ยังยืนยันคำเดิม พวกเขาต้องการอย่างที่บอกเอาไว้ ทำให้แม้ว่า ต้า ฟาง แม่ของเหยา จะเสนอควักเงินส่วนตัวให้ เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ถึง 1 ล้านเหรียญ แต่ก็ไม่เป็นผล 

ท้ายที่สุดเหยาก็ฝันสลาย เมื่อ 2 วันก่อนเดดไลน์ เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ออกแถลงการณ์ว่าเหยาจะไม่เข้าดราฟต์ NBA 2001 โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา ทั้ง CBA ยังไม่พร้อมที่จะเสียสตาร์ไป, เหยาเด็กเกินไปที่จะเล่นใน NBA ไปจนถึงอยากให้ เหยาช่วยให้ชาร์คสคว้าแชมป์เป็นครั้งแรกให้ได้ก่อน 

"มันเหมือนกับหัวใจสลาย มันเหมือนกับความฝันผ่านหน้าไป มันทำให้เติบโตได้จริง ๆ สำหรับช่วงเวลานั้น ผมรู้สึกหดหู่มาก ตอนที่ผมเจอกล้องโทรทัศน์ผมยิ้ม แต่มันคือการปิดบังความรู้สึกที่แท้จริง" เหยา ย้อนความหลัง 

และมันก็ทำให้เขายอมไม่ได้อีกแล้ว 

 

ประท้วงเงียบ 

เหยาลงเล่นในฤดูกาล 2001-2002 ด้วยความเจ็บช้ำ และมันก็ยิ่งมาย้ำรอยเก่าเมื่อเหล่าผู้เล่นที่สร้างชื่อขึ้นมาพร้อมกับเขา ทั้ง หวัง จือจื้อ ตัวเก่งของบายี และ เหมิงเค่อ บาเทียร์ ต่างได้เซ็นสัญญากับทีมใน NBA 

แต่เหยาก็ยังคงมีความเป็นมืออาชีพ เขาเต็มที่ทุกครั้งเมื่อได้ลงสนาม และทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยสถิติเฉลี่ย 29.5 คะแนน 18.5 รีบาวด์ และ 5 บล็อกต่อเกม จนสามารถพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในนัดชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง 

นี่คือการแสดงออกในสไตล์ของเขา ทำผลงานให้ดีที่สุดในการผลักดันตัวเองออกไป NBA และมันไม่ใช่แค่นั้น เมื่อในนัดชิงฯ เหยายังโชว์ฟอร์มโหดด้วยการทำไปถึง 45 คะแนน 22 รีบาวด์ ช่วยให้ เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส คว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

หลังเกมดังกล่าวเหยายังได้รับข่าวดี เมื่อหลี่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาจะไม่รั้งตัวเหยาอีกแล้ว เพราะเหยาได้ตอบแทนสโมสรได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงไม่มีอะไรติดค้างกันอีก 

"ตอนนี้ผมมีข่าวดีมาบอก สโมสรตัดสินใจว่าจะไม่ขัดขวาง เหยา หมิง ในการไป NBA แล้ว เหยาเปิดประตูสู่ NBA ด้วยตัวเองจากการทำงานหนัก" หลี่ แถลงผ่านการถ่ายทอดสดของ Shanghai TV

อย่างไรก็ดีความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น ขณะที่เหยากำลังฝันหวานและเดินทางไปสหรัฐฯ เขาก็เหมือนฟ้าผ่ากลางหัว เมื่อรัฐบาลจีนพยายามขัดขวางด้วยการออกกฎว่า จากนี้ผู้เล่นชาวจีนที่เข้าไปเล่นที่ NBA จะต้องส่งรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์กลับมาให้รัฐ 

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเจรจาแต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ทำให้ตอนที่ใกล้จะถึงเดดไลน์ของ NBA ดราฟต์ปี 2002 แม่ของเหยาออกมาขู่ว่าถ้ายังตกลงกันไม่ได้จะไม่มี เหยา หมิง ในวงการบาสเกตบอลของจีนอีกต่อไป 

"ถ้าเรายังไม่บรรลุข้อตกลง เหยา หมิง จะไม่เล่นบาสเกตบอลอีกแล้ว เขาจะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และจบเส้นทางนักบาสเกตบอล มันโอเค เพราะนั่นคือสิ่งที่เราต้องการมาตั้งแต่แต่ต้น" ต้า ฟาง กล่าว

แต่ฝ่ายรัฐที่นำโดย CBA ก็ตอบโต้ด้วยการไม่อนุญาตให้เหยาเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าดราฟต์ ฝั่งตัวแทนของเหยาก็แก้ลำด้วยการบอกบอกว่า พวกเขาจะแถลงข่าวและเอาความจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณะ 

สุดท้ายกลายเป็น เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส ที่ต้องยอม และทำให้เหยาได้เข้าไปร่วมทีมฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ ในฐานะ "ดราฟต์เบอร์ 1" พร้อมทั้งสร้างปรากฏการณ์อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งตำแหน่งอันดับ 2 ผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในปี 2003 (แพ้ อมาเร สเตาเดอไมร์), ติดทีมออลสตาร์ 8 สมัย ไปจนถึงขั้นได้รับการรีไทร์เบอร์ 11 ของฮิวส์ตันอีกด้วย 

ผลงานที่โดดเด่นตลอด 9 ปีใน NBA ยังทำให้เหยาได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศ Naismith Memorial Basketball Hall of Fame ในปี 2016 รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักบาสเกตบอลทั้งชาวจีนและเชื้อสายเอเชียหลายคนพยายามตามรอย และได้เข้าไปเล่นใน NBA  ในเวลาต่อมา 

แต่เหมือนดูว่ารัฐจีนกับเหยาจะตัดกันไม่ขาด 

 

สมบัติของรัฐบาล 

หลังจากเลิกเล่นเมื่อปี 2011 เหยาก็กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี และบริหารสโมสร เซี่ยงไฮ้ ชาร์คส อดีตทีมเก่าของเขาที่ซื้อตัวเขามาตั้งแต่ปี 2009 หลังประสบปัญหาการเงิน และรวมถึงทำกิจกรรมการกุศลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนหลายต่อหลายครั้ง 

ในปี 2013 เขายังได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (Chinese People's Political Consultative Conference : CPPCC) และกลายเป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์แบบสังคมนิยม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม 

มันคือภาพสะท้อนอย่างชัดเจนต่อระบอบการปกครองของจีน ที่รัฐจะมีอิทธิพลต่อประชาชนในทุกมิติ แถมหากเป็นคนดังพวกเขาจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ และถูกใช้งานในฐานะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากสามารถเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศได้ เหมือนกับสิ่งที่เหยาต้องเผชิญ 

อันที่จริงสำหรับ เหยา หมิง อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากตำแหน่งในปัจจุบันของเขาก็ข้องเกี่ยวกับรัฐโดยตรง ในฐานะประธานสมาคมบาสเกตบอลของจีน 

และอาจทำให้เขาเป็นคนของรัฐบาลไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม 


"เหยาเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของความก้าวหน้าและทันสมัยของจีน เป็นไอคอนการค้าที่สามารถก้าวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก" ลาเมอร์ ให้ความเห็น

"แต่เขาก็ยังเป็นผลผลิตภายใต้ระบบนี้ เป็นหนึ่งในปราการด่านสุดท้ายของระบอบสังคมนิยมในจีน" 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.smh.com.au/sport/basketball/yao-ming-the-basketball-giant-made-in-china-by-order-of-the-state-20060119-gdmsz0.html 
https://www.sidbreakball.com/how-yao-ming-scaled-the-great-wall-of-chinese-bureaucracy-to-get-to-the-nba/ 
https://www.dailymail.co.uk/news/article-3282092/JANE-FRYER-William-s-7ft-6in-giant-specially-bred-belittle-West-prove-Chinese-aren-t-tiny.html
https://bleacherreport.com/articles/209128-yao-ming-chinese-government-killed-his-career 
https://www.wired.co.uk/article/breeding-athletes 

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น