Feature

โอลิมปิก 2012 : เบื้องหลังฉากกระโดดร่มของ "ควีน เอลิซาเบธ" ที่ทำคนทั่วโลกอ้าปากค้าง | Main Stand

วันที่ 8 กันยายน 2022 สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ประกาศแจ้งว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา ณ ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะที่ประชาชนในสหราชอาณาจักรและผู้คนทั่วโลก ร่วมกันแสดงความระลึกถึงและอาลัยแก่ควีนผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร ที่ครองราชย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1952

 

ตลอดช่วงเวลาแห่งการครองราชย์ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย แต่หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สร้างความประทับใจแก่คนทั่วโลกมากที่สุดคือการทรงตอบรับคำเชิญของฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2012 มาร่วมสร้างสีสันในพิธีเปิดการแข่งขัน ในฐานะแขกรับเชิญที่ทำให้ผู้ชมใน โอลิมปิก สเตเดียม กรุงลอนดอน และผู้ชมการถ่ายทอดสดราว 1 ล้านครัวเรือนอ้าปากค้าง ด้วยการกระโดดร่มลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ร่วมกับสายลับ เจมส์ บอนด์ !

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของซีนกระโดดร่มสุดคลาสสิคที่เป็นตำนานแห่ง "ลอนดอน เกมส์" ที่แม้แต่คนในราชวงศ์ก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่า ควีน เอลิซาเบธ จะตัดสินพระทัยทำสิ่งที่ฮือฮาเช่นนี้

 

ฉากกระโดดร่มที่โลกไม่ลืม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2012 ที่ โอลิมปิก สเตเดียม กรุงลอนดอน (ปัจจุบันคือ ลอนดอน สเตเดียม ที่เวสต์แฮม เช่าใช้เป็นรังเหย้าของทีม) ได้มีพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก ครั้งที่ 30 โดยมีการแสดง แสง สี เสียง มากมาย ภายใต้การดูแลและควบคุมการผลิตของ แดนนี บอยล์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ ที่มีผลงานกำกับภาพยนตร์ดังมากมายอย่าง Trainspotting, The Beach, 28 Days Later, Slumdog Millionaire ที่ส่งให้เขาได้รางวัลออสการ์ถึง 7 สาขา เมื่อปี 2009

ด้วยวิสัยทัศน์สไตล์ผู้กำกับภาพยนตร์ ทำให้พิธีเปิด "ลอนดอน เกมส์" มาพร้อมรูปแบบของโปรดักชั่นสุดอลังการ พิธีเปิดภายใต้การดูแลของเขาจึงถูกถ่ายทอดออกมาในเชิง Cinematic ราวกับกำลังนั่งดูภาพยนตร์ขนาดสั้นอยู่ โชว์ของเขามีหลายซีนที่น่าจดจำเช่นฉากที่ โรแวน แอตกินสัน หรือที่เรารู้จักกันในนาม "มิสเตอร์บีน" มาสร้างสีสันในฉากวิ่งบนหาดทรายที่ล้อจากภาพยนตร์กีฬา-ดราม่า ระดับตำนานของอังกฤษเรื่อง Chariots of Fire เมื่อปี 1981 เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมทั่วโลกได้ดี

อีกหนึ่งซีนที่ประทับใจผู้ชมคือฉากที่ เจด เบลลี นักฟุตบอลเยาวชนหญิงจากลอนดอน นำคบเพลิงโอลิมปิกเดินทางมาทางเรือบนแม่น้ำเธมส์ โดยมี เดวิด เบ็คแฮม สุดยอดนักเตะตลอดกาลทีมชาติอังกฤษ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รับหน้าที่เป็นคนขับเรือ ซีนนี้กำกับโดย สตีเฟน ดัลดรี อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ระดับคุณภาพชาวอังกฤษ ที่สร้างผลงานไว้จากเรื่อง Billy Elliot, The Hours และ The Reader

แต่แน่นอนว่าซีนที่ฮือฮาที่สุดประจำค่ำคืนนั้นคือฉาก "Happy and Glorious" ที่ แดนนี บอยล์ ลงมือกำกับเอง ฉากนี้เริ่มต้นด้วยการเดินทางมายังพระราชวังบักกิงแฮมของ เจมส์ บอนด์ สายลับรหัส 007 ตัวละครมือสังหารสุดคลาสสิคจากนิยายของ เอียน เฟลมมิ่ง เพื่อมารับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยสารเฮลิคอปเตอร์ไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิก 2012 ที่ โอลิมปิก สเตเดียม ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์แห่งสหราชอาณาจักร

แต่แทนที่จะเดินลงจากเครื่องบินไปร่วมพิธีแบบปกติ ควีน เอลิซาเบธ ทรงเลือกกระโดดร่มลงมาจากเฮลิคอปเตอร์พร้อมกับสายลับ "ดับเบิลโอเซเว่น" ทำเอาผู้ชมในสนามกว่า 60,000 คน รวมถึงนักกีฬาจาก 204 ประเทศที่เข้าร่วม และบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่มาร่วมงานถึงกับตกตะลึง ทว่าสุดท้ายก็มีการเฉลยว่า ควีน และ 007 ที่กระโดดลงมานั้นคือทีมนักแสดงสตั๊นท์ที่แต่งตัวเลียนแบบทั้งคู่ ส่วนควีนตัวจริงก็รอจังหวะที่โชว์จบลงแล้วทรงเดินเข้ามาที่รอยัลบ็อกซ์ มาทักทายทุกคนในสนามพร้อมกับ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี

ฉากกระโดดเฮลิคอปเตอร์ของ ควีน เอลิซาเบธ ร่วมกับ เจมส์ บอนด์ ถูกนำไปอัปโหลดลง YouTube ของทาง Olympics ซึ่งปัจจุบันมียอดวิวกว่า 50 ล้านวิว ซึ่งหลายคนยังคงกลับมาดูฉากนี้ซ้ำด้วยความประทับใจจนถึงทุกวันนี้

 

การตอบรับที่ไม่คาดฝันจาก "ควีน"

เรื่องราวของฉากกระโดดร่มในตำนานของ ควีน เอลิซาเบธ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่วันหนึ่ง แดนนี บอยล์ ผู้กำกับพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ได้แจ้งความประสงค์ไปยังสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเชิญ ควีน เอลิซาเบธ มาร่วมเป็นนักแสดงรับเชิญในฉาก "Happy and Glorious" พร้อมกับนำเสนอรายละเอียดว่าควีนจะได้ทำกิจกรรมอันใดบ้างร่วมกับ แดเนียล เคร็ก นักแสดงผู้รับบท เจมส์ บอนด์ ซึ่งหลังจากนั้นทางสำนักพระราชวังก็ได้ตอบกลับไปว่า ควีนทรงมีความยินดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้

"ทีมงานไม่ได้คาดคิดเลยว่าจะมีโอกาสได้ถ่ายทำเรื่องของพระราชินี มันเป็นแค่ความคิดที่เราส่งผ่านไปยังทีมราชสำนักของพระองค์โดยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก" เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประสานงาน เล่าว่าทีแรก แดนนี บอยล์ กับทีมงานคาดหวังว่าถ้าพระองค์ปฏิเสธการปรากฏตัวในหนังสั้นก็อาจจะทำเรื่องขออนุญาตถ่ายทำพื้นที่รอบพระราชวังบักกิงแฮมเท่านั้น แต่สุดท้าย ควีน เอลิซาเบธ ทรงตอบกลับมาว่ายินดีมาร่วมงาน ทำให้ แดนนี บอยล์ และทีมงานตื่นเต้นมากที่จะได้ทำงานสำคัญชิ้นนี้

มีการเปิดเผยว่า ควีน เอลิซาเบธ ทรงรู้จักตัวละคร เจมส์ บอนด์ เวอร์ชั่นของ แดเนียล เคร็ก เป็นอย่างดี ซึ่งครั้งหนึ่ง ควีน เอลิซาเบธ ได้ทรงเดินทางไปร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาค Casino Royale ที่ลอนดอน เมื่อปี 2006 โดยพระองค์ได้มีโอกาสพบกับ แดเนียล เคร็ก และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

นอกจากทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมการถ่ายทำและอนุญาตให้ทีมงานของ แดนนี บอยล์ เข้ามาถ่ายทำในพระราชวังบักกิงแฮมได้แล้ว แดนนี บอยล์ ยังเล่าด้วยว่า ควีน เอลิซาเบธ ได้เสนอไอเดียการปรากฏตัวของพระองค์และบทพูดหนึ่งประโยคที่จะตรัสกับ เจมส์ บอนด์ ในหนังสั้นเรื่องนี้ว่า "Good evening, Mr. Bond" ตามแบบฉบับการทักทายอันเป็นเอกลักษณ์ของ เจมส์ บอนด์ ที่แฟนหนังคุ้นเคยเป็นอย่างดี

การถ่ายทำซีน "Happy and Glorious" ดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่เป็นตัวของ แดเนียล เคร็ก ผู้รับบท เจมส์ บอนด์ ที่ยอมรับว่าเขารู้สึกประหม่าไม่น้อยที่ต้องร่วมแสดงกับนักแสดงกิตติมศักดิ์อย่าง ควีน เอลิซาเบธ อย่างไรก็ตามพระอารมณ์ขันและความไม่ถือพระองค์ของควีนก็ทำให้เจ้าของบทสายลับ 007 คนล่าสุด รู้สึกผ่อนคลายและสามารถถ่ายทำต่อไปได้

"พระองค์เป็นคนตลกมาก พระองค์พยายามแหย่ผม มีช่วงหนึ่งเรากำลังถ่ายรูปกัน แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า โอ้ไม่นะ ผู้ชายคนนี้ไม่ยิ้มเลย" แดเนียล เคร็ก ชายผู้สวมบท เจมส์ บอนด์ คนที่ 6 ฉบับภาพยนตร์ ระลึกความหลัง

 

อย่าบอกใครว่า "ควีน" มากระโดดเฮลิคอปเตอร์

หลังซีนกระโดดร่มอันฮือฮาของ ควีน เอลิซาเบธ และ เจมส์ บอนด์ ปรากฏตัวสู่สายตาชาวโลกมานาน 10 ปี แซม ฮันเตอร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายจัดการพิธีเปิดการแข่งขัน "ลอนดอน เกมส์" มีโอกาสออกมาเล่าเรื่องราวของฉากในตำนานผ่านทาง BBC4 โดยบอกว่า ควีน เอลิซาเบธ มีเงื่อนไขอยู่หนึ่งข้อที่พระองค์แจ้งให้ แดนนี บอยล์ และทีมงานรับรู้โดยทั่วกันว่า "จงปกปิดการปรากฏตัวของพระองค์ให้เป็นความลับ" ซึ่งหมายความว่านอกจากทีมงานถ่ายทำ รวมถึง เจ้าชายฟิลิป พระสวามี ต้องไม่มีใครรู้ว่าพระองค์จะมาร่วมแสดงในฉากนี้เด็ดขาด

แซม ฮันเตอร์ เล่าว่า "พระราชินีไม่เคยแจ้งให้ครอบครัวรู้ว่าพระองค์กำลังทำสิ่งนี้อยู่ นั่นคือหนึ่งในข้อกำหนดที่พระองค์แจ้งไว้แก่พวกเราในการร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าหากคุณเห็นว่าพระองค์มาร่วมฉากเมื่อไหร่ คุณก็จะเห็นครอบครัวของพระองค์อยู่บริเวณนั้นด้วย"

ด้านของ สตีเฟน ดัลดรี หนึ่งในผู้กำกับเพื่อนร่วมงานของ แดนนี บอยล์ ก็เผยเรื่องนี้เช่นกันว่า "สิ่งที่ยากที่สุดคือคุณต้องไม่พูดอะไรกับคณะรัฐมนตรีมากนัก เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาเก็บความลับได้ดีแค่ไหน"

ตลอดเวลาของการถ่ายทำ แดนนี บอยล์ และทีมงานผู้จัดโอลิมปิก 2012 ต่างก็เก็บความลับเรื่องการปรากฏตัวของ ควีน เอลิซาเบธ ได้แบบอยู่หมัด ไม่มีบุคคลภายนอกคนใดรับรู้ว่าพระองค์มาร่วมแสดงหนังสั้นเรื่องนี้ แม้แต่คนในเชื้อพระวงศ์เองก็ไม่รู้ จนกระทั่งค่ำคืนพิธีเปิด วันที่ 27 กรกฏาคม 2012 ก็ถึงคราวที่ ควีน เอลิซาเบธ ทรงทำเซอร์ไพรส์แก่ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดทุกคนแบบที่เห็นกัน แม้แต่เหล่าเชื้อพระวงศ์ที่มาร่วมงานก็ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นควีนทำสิ่งนี้


เจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาของ ควีน เอลิซาเบธ ทรงเล่าถึงวันที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นฉากที่ควีนกระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ โดยไม่ล่วงรู้มาก่อนว่า "ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้สบถคำหยาบออกมาเมื่อเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น มันคือความลับที่ถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่าความลับของรัฐบาล หรือพวกข่าวกรองใด ๆ ไม่มีใครบอกเราเรื่องนี้เลย เพราะชัดเจนเลยว่าลูกหลานบางคนจะต้องเอาเรื่องนี้ไปบอกคนอื่นแน่ ๆ"

 

ราชินีผู้รักฟุตบอล

นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิก 2012 หากสืบค้นเพิ่มเติมก็จะพบเรื่องน่าสนใจว่า ควีน เอลิซาเบธ ยังมีส่วนร่วมในอีเวนต์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลอังกฤษมากมาย โดยเฉพาะวันที่นักเตะทีมชาติอังกฤษ เถลิงแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 1966

หลังจบเกมนัดชิงชนะเลิศ เวิลด์ คัพ 1966 ที่อังกฤษ เอาชนะเยอรมันตะวันตก 4-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ จากการยิงแฮตทริคของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ และอีกลูกจาก มาร์ติน ปีเตอร์ส ทำให้พลพรรค "สิงโตคำราม" ได้เถลิงแชมป์โลกครั้งแรกต่อหน้าแฟนบอลที่สนามเวมบลีย์ และต่อหน้าพระพักตร์ของ ควีน เอลิซาเบธ ที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ

วันที่อังกฤษคว้าแชมป์โลก ควีน เอลิซาเบธ ที่ครองราชย์มาแล้ว 13 ปี ได้ทรงเป็นผู้มอบถ้วยรางวัล จูลส์ ริเมต์ ถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกในเวลานั้นให้แก่ บ็อบบี้ มัวร์ กองหลังกัปตันทีมชาติอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่วงการฟุตบอลอังกฤษจารึกไว้ตลอดกาล

ขณะที่ปี 2021 ตอนที่ทีมฟุตบอลชายอังกฤษ ของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ได้เข้าชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 กับทีมชาติอิตาลี ที่สังเวียนเวมบลีย์ ควีน เอลิซาเบธ ก็ได้ทรงพระราชทานพรแก่เหล่า "สิงโตคำราม" ให้โชคดีและประสบความสำเร็จในการพิชิตถ้วยยุโรปสมัยแรกในประวัติศาสตร์

"เมื่อ 55 ปีก่อน ข้าพเจ้าได้มอบถ้วยฟุตบอลโลกให้แก่ บ็อบบี้ มัวร์ และได้เห็นว่ามันมีความหมายยิ่งสำหรับนักเตะ ทีมงาน และเจ้าหน้าที่ทุกคนในทีมมากแค่ไหนที่ได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในรายการฟุตบอลระดับนานาชาติ ข้าพเจ้าและครอบครัวขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่สามารถเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และขออวยพรในการแข่งขันวันพรุ่งนี้ด้วยความหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ได้บันทึกเพียงแค่ความสำเร็จของทุกคน แต่รวมถึงสปิริต ความมุ่งมั่น และความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทุกคนลงมือทำ"

อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ ควีน เอลิซาเบธ ทรงไม่ได้เห็นทีมชาติอังกฤษ คว้าแชมป์ยูโร 2020 ตามที่ทุกคนคาดหวังเนื่องจากทีมของ แกเร็ธ เซาธ์เกต แพ้การดวลจุดโทษตัดสินกับอิตาลี 2-3 หลังเสมอกัน 1-1 ในเวลา 120 นาที จึงได้เพียงรองแชมป์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีข่าวลือต่าง ๆ นา ๆ ว่า ราชินีเอลิซาเบธ มีทีมฟุตบอลทีมโปรดที่ทรงติดตามเชียร์อยู่ เช่นปี 2009 มีการเปิดเผยว่าควีนทรงติดตามเชียร์ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมแกร่งแห่งกรุงลอนดอน แต่ไม่มีการยืนยันว่าจริงหรือไม่เนื่องจากราชินีต้องการปกปิดเป็นความลับ และต้องการวางพระองค์ว่า "เป็นกลาง" ในการดูกีฬา

หรือกระทั่งวันที่ ควีน เอลิซาเบธ ไม่สามารถเดินทางมาร่วมพิธีเปิดสนาม เอมิเรตส์ สเตเดียม รังเหย้าใหม่ของ อาร์เซนอล เมื่อปี 2007 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้เชิญทีม "ปืนใหญ่" ทั้งตัว อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือในเวลานั้น และทีมนักเตะมาร่วมจิบน้ำชากับพระองค์ที่พระราชวังบักกิงแฮมแทน โดย เธียร์รี อองรี ตำนานศูนย์หน้าขวัญใจ "กันเนอร์ส" เผยว่า "ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรเลยกับประสบการณ์ที่พระราชินีทรงมอบให้แก่พวกเรา"

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญที่แฟนบอลอังกฤษได้เห็นกันบ่อย ๆ คือการมอบยศอัศวินให้แก่นักฟุตบอลที่สร้างคุณงามความดีแก่สหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมา ควีน เอลิซาเบธ ได้ทำพิธีประดับยศอัศวินให้แก่นักฟุตบอลคนสำคัญของชาติมากมาย ไล่ตั้งแต่ เซอร์ สแตนลีย์ แม็ทธิวส์ ตำนานแนวรุกของอังกฤษ, เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์, เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน, เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์, เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน, เซอร์ เทรเวอร์ บรูคกิ้ง และ เซอร์ เคนนี่ ดัลกลิช

และล่าสุดเมื่อทีมฟุตบอลหญิงของอังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ยุโรป วีเมนส์ ยูโร 2022 สมัยแรกในประวัติศาสตร์ด้วยการเอาชนะ เยอรมนี 2-1 จากประตูของ เอลลา ทูน กับ โคลอี เคลลี ทาง ควีน เอลิซาเบธ ก็ได้พระราชทานข้อความแสดงความยินดีไปยังเหล่า "สิงโตหญิง" ทุกคนสำหรับความสำเร็จครั้งนี้ว่า

"ขอแสดงความยินดีจากใจของข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า ขอส่งถึงพวกคุณทุกคนที่คว้าชัยชนะในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์ยุโรป ถือเป็นความสำเร็จสำหรับทั้งทีมรวมถึงทีมสตาฟ ผลงานของคุณสมควรแก่การได้รับความชื่นชม อย่างไรก็ตามความสำเร็จของพวกคุณมีคุณค่ามากกว่าถ้วยรางวัลที่ได้รับ ทุกคนเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง รวมถึงผู้หญิงทุกคน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต"

ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ นอกเหนือจากงานพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์แล้ว จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญของวงการกีฬาในสหราชอาณาจักรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟุตบอล หรือการเข้าร่วมพิธีเปิด โอลิมปิก 2012 อันเป็นตำนานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

แน่นอนว่าผู้คนทั่วโลกแต่ละคนย่อมมีภาพจำของ "ควีน เอลิซาเบธ" ที่ต่างกันไปในแบบของตัวเอง แต่สำหรับวงการกีฬาโลก การกระโดดร่มจากเฮลิคอปเตอร์พร้อมกับ เจมส์ บอนด์ ในลอนดอน เกมส์ 2012 คือโมเมนต์อันยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนทั่วโลกจดจำพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรผู้ล่วงลับพระองค์นี้อย่างไม่มีวันลืม ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.newsweek.com/how-queen-elizabeth-enured-famous-james-bond-daniel-craig-scene-was-authentic-1685801
https://aleteia.org/2021/11/29/the-sweet-story-behind-the-queens-acting-role-with-james-bond/
https://www.ladbible.com/news/queen-elizabeth-james-bond-daniel-craig-olympic-ceremony-20220417
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/tv/news/queen-elizabeth-olympics-james-bond-b2162897.html
https://www.youtube.com/watch?v=6eNT3GjlG_c
https://www.goal.com/en/lists/queen-elizabeth-ii-relationship-with-football-arsenal-west-ham-and-love-for-lionesses/blt19c0ec340cb1a671?

 

Author

วัลลภ สวัสดี

ฟังไปเรื่อย ดูไปเรื่อย เขียนไปเรื่อย

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ