Feature

ขี่ลา : กีฬาสายแหวกมากความหมายที่นิยมตั้งแต่อเมริกายันเอเชีย | Main Stand

โลกใบนี้ยังมีอะไรอีกมากให้เราค้นหา กีฬาก็เช่นกัน ยังมีการแข่งขันมากมายที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ในบางพื้นที่เป็นวัฒนธรรมอันลึกซึ้งที่สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง


 

หนึ่งในการแข่งขันที่ได้รับความนิยมในหลายพื้นที่อย่างไม่น่าเชื่อนั่นคือ การขี่ลา เจ้าสัตว์ตัวน้อยที่มักถูกนิยามให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความโง่เขลา ในหลายพื้นที่กลับได้รับความรักอย่างมากและเป็นเหมือนเพื่อนแท้ของมนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น

Main Stand จะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับกีฬาขี่ลา กีฬาที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับหลายพื้นที่ทั่วโลก และสะท้อนถึงความรักระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกได้เป็นอย่างดี

 

ประวัติศาสตร์ของการขี่ลา

ปกติแล้วการแข่งขันกีฬาชื่อดังส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดีมักจะมีต้นกำเนิดมาจากทวีปยุโรป, อเมริกาเหนือ หรือไม่ก็เอเชีย แต่ไม่ใช่กับการแข่งขันขี่ลาที่มีรากฐานจุดเริ่มต้นจากทวีปแอฟริกา

จากหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ การแข่งขันขี่ลาเริ่มต้นในประเทศเคนยา เมื่อช่วง 700 ปีที่แล้ว หรือต้นศตวรรษที่ 14 เนื่องจากลาถือเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญมากในดินแดนแห่งนี้

ในขณะที่หลายพื้นที่ใช้ม้าหรืออูฐในการขนสินค้าไปค้าขายในดินแดนต่าง ๆ ชนพื้นเมืองบนดินแดนเคนยากลับใช้ลาเป็นสัตว์ในการขนสินค้า ดังนั้นพวกเขาจึงมีความผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้มาก แล้วจึงพัฒนาต่อเป็นการแข่งขันขี่ลาเพื่อความบันเทิง

การแข่งขันขี่ลาไม่ได้มีความแตกต่างจากการแข่งขันขี่ม้าแม้แต่น้อย นั่นคือการต้องควบเจ้าสัตว์คู่ใจผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง ท่ามกลางภูมิศาสตร์และอุปสรรคที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งใครเข้าเส้นชัยได้ก่อนก็จะคว้าชัยชนะไปครอง 

แต่ว่าลาไม่ใช่สัตว์ที่มีอยู่ที่แอฟริกาเพียงอย่างเดียว แต่ลามีถิ่นอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งทุกที่ที่ลาเป็นส่วนสำคัญของชุมชนก็จะมีการแข่งขันขี่ลาอยู่คู่กันเสมอ

ที่อิตาลี ที่เมืองดังทางตอนใต้อย่างนาโปลีจะมีเทศกาลการแข่งขันขี่ลากันทุกปี เนื่องจากลาถือเป็นสัตว์คู่เมืองนาโปลี ในขณะที่ชาวอิตาเลียนแดนเหนือมักดูถูกลาว่าเป็นสัตว์ที่โง่เขลา แต่ชาวนาโปลีกลับรักลาเป็นอย่างมาก โดยมองพวกมันเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา และทำอะไรได้มากกว่าที่หลายคนคิด 

"ลาเป็นสัตว์ที่มีความบ้าอยู่ในตัวมากกว่าที่ใครคาดถึง คุณอาจจะขี่มันได้ง่าย ๆ แต่บางทีมันก็จะสลัดคุณให้ตกจากหลังของมัน จนคุณน็อกไปเลย" ดาวิด ร็อกโก้ นักเดินทางที่มีโอกาสได้ร่วมการแข่งขันขี่ลาที่นาโปลี กล่าว 

ที่สหรัฐอเมริกา การแข่งขันขี่ลามีบทบาทอย่างมากในรัฐโคโลราโด เนื่องจากในอดีตขณะที่ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมขุดเหมือง ลากลายเป็นสัตว์ที่คนงานนำมาใช้งานทั้งการขนของหรือใช้เป็นพาหนะเดินทาง และถึงเวลาจะผ่านไปนาน ลาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรุ่นใหม่เหมือนเดิม

ปัจจุบันการแข่งขันขี่ลาที่รัฐโคโลราโดคือการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการแข่งขันในหลายเมือง หลายวัน และหลายด่าน นอกจากนี้คนที่ชนะการแข่งขันที่โคโลราโดจะได้รับการขนานนามว่าเป็น "แชมป์โลกของกีฬาขี่ลา" อีกด้วย (เพราะชาวอเมริกันมีการแข่งขันอะไรก็จะตั้งให้เป็นแชมป์โลกหมด แม้จะแข่งกันแค่คนอเมริกันเองก็ตาม)

ขณะที่ฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้า เพราะในประเทศปากีสถานก็มีการแข่งขันขี่ลาเช่นกัน ณ เมืองการาจี เมืองใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ซึ่งที่นี่มีความรักและเคารพอย่างลึกซึ้งให้กับสัตว์ประเภทนี้

ด้วยสถานะความเป็นเมืองท่าของปากีสถาน ลาจะมีหน้าที่สำคัญในการาจีไม่ต่างจากพื้นที่อื่นคือเป็นพาหนะขนสินค้า จนเมื่อความผูกพันระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้น มนุษย์จึงเริ่มหันมาใช้ลาแข่งขันเป็นกีฬาเหมือนกับพื้นที่อื่น 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่มีกีฬาขี่ลาเป็นกิจกรรมสำคัญในสังคม ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, โครเอเชีย หรือ จีน ซึ่งล้วนเป็นการแข่งขันที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นการได้รับอิทธิพลจากต่างแดนเหมือนกีฬาประเภทอื่น ๆ

 

ไปขี่ลากันเถอะ 

เนื่องจากการแข่งขันขี่ลาไม่ได้รับอิทธิพลมาจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนกับฟุตบอล, รักบี้ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ หรือ บาสเกตบอล, อเมริกันฟุตบอล ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐฯ แต่สำหรับกีฬาขี่ลาในแต่ละพื้นที่ต่างได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้ในแต่ล่ะพื้นที่จะมีลักษณะการแข่งขันที่ต่างกันออกไป

สำหรับในประเทศเคนยาพวกเขาอนุญาตให้เด็กเท่านั้นเข้าร่วมการแข่งขันขี่ลา ยกเว้นแค่ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยถึงจะเข้าร่วมได้ นั่นก็เพราะเพื่อลดภาระของลาในการแบกน้ำหนักคนที่หนักเกินไป ซึ่งการแข่งขันที่เคนยาไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการแข่งขันตามเส้นทางที่กำหนดไว้เพื่อเข้าเส้นชัยจึงได้รับชัยชนะ

ขณะที่เทศกาลแข่งลาในนาโปลีจะแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาจะอนุญาตให้ใครก็ได้ที่อยากเข้าร่วมการแข่งขันได้เข้าร่วม ซึ่งใครก็ได้นี้หมายถึงใครก็ได้จริง ๆ จะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าแข่งจากต่างแดนก็ได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขัน เพราะที่นาโปลีมีลามากพอที่จะให้ทุกคนเข้าร่วมการแข่งขันได้

สำหรับคนที่ไม่มีลาเป็นของตัวเอง พวกเขาก็จะสุ่มลาของชาวบ้านมาให้ใช้ในการแข่ง โดยเลือกจากตัวที่ถูกชะตามากที่สุดสำหรับแต่ล่ะคน อย่างไรก็ตามถึงแม้ทุกคนจะเข้าร่วมแข่งขันได้แต่ก็ไม่ค่อยมีคนนอกเข้าแข่งเท่าไหร่นัก ยกเว้นนักขี่ลามืออาชีพ เพราะถ้าคุณขี่ลาไม่เป็น การตกจากหลังลาร่วงลงมากระแทกพื้นดินก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ

ส่วนการแข่งขันที่รัฐโคโลราโดกลับมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนี่คือการแข่งขันระยะทางไกลที่มีความเก่าแก่ในสหรัฐฯ เป็นอันดับสองของประเทศ รองแค่การแข่งขันบอสตัน มาราธอน อันโด่งดังเท่านั้น

ปัจจุบันการแข่งขันที่โคโลราโดยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมีการแข่งขันถึง 8 สนามทั่วรัฐ แต่ละด่านก็จะแตกต่างกันออกไป บ้างก็เป็นการวิ่งระยะทางไกล หรือจะเป็นการวิ่งขึ้นเขาที่มีความสูงถึง 13,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเลก็มีเหมือนกัน

ลักษณะพิเศษของการแข่งขันขี่ลาคือ ใคร ๆ ก็สามารถแข่งขันได้ ขอแค่คุณสามารถขี่ลาได้ก็พอ ดังนั้นการแข่งขันที่โคโลราโดจึงมีผู้เข้าร่วมตั้งแต่เด็กอายุ 15 ปีไปจนถึงคุณปู่วัย 70 ปีร่วมชิงชัย

ข้ามมาที่ปากีสถานที่การแข่งขันที่นี่จะมีความพิเศษต่างจากที่อื่น เพราะในขณะที่ทุกที่จะแข่งขันด้วยการขี่บนหลังลา แต่ที่ปากีสถานพวกเขาจะสวนเกวียนให้ลาและนั่งอยู่ด้านหลังคอยบังคับให้ลาวิ่งลากพวกเขาไปสู่เส้นชัย 

ขณะที่ในโครเอเชีย การแข่งขันจะถูกสงวนเฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้น เพราะพวกเขาใช้การแข่งขันลาเป็นภาพสะท้อนถึงความผูกพันภายในท้องถิ่นต่อสัตว์ประเภทนี้ที่เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนานเกือบร้อยปี 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะแข่งขันที่ไหนการขี่ลาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ต่างจากการขี่ม้าที่หากไม่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีก็จะไม่มีทางขี่มันได้เลย เพราะถึงจะเป็นลาก็เป็นสัตว์ที่มีความรวดเร็วอย่างมาก และพวกมันสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ในระดับเดียวกับสิงโตเลยทีเดียว

โชคดีที่กีฬาขี่ลาส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันที่คนในท้องถิ่นมีลาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันจึงมักเป็นคนที่ขี่ลาได้อย่างเชี่ยวชาญ เพราะลาที่พวกเขาใช้แข่งขันก็คือลาที่พวกเขาเป็นเจ้าของ

 

เป็นมากกว่าการแข่งขัน

ถึงแต่ล่ะพื้นที่จะมีการขี่ลาในรูปแบบที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือพวกเขาไม่ได้จัดการแข่งขันกีฬานี้เพื่อหวังคว้าชัยชนะ หรือต้องการเป็นนักขี่ลาที่ดีที่สุดในโลก ทว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อแสดงถึงความรักของมนุษย์ที่มีต่อลาสัตว์เลี้ยงเพื่อนคู่ใจของพวกเขา

ในหมู่บ้านตรีบูนจ์ที่โครเอเชีย การแข่งขันขี่ลาเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนในฐานะมหกรรมเฉลิมฉลองความสำคัญของลาที่มีต่อชุมชน เทศกาลจึงถูกจัดในรูปแบบย้อนยุค ผู้เข้าแข่งขันต้องสวมเสื้อประจำถิ่นเพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของลาที่มีต่อหมู่บ้าน

นอกจากนี้รายได้จากการแข่งขันขี่ลาในหลายพื้นที่ของโครเอเชียจะถูกรวบรวมไปช่วยเหลือลาที่ไม่มีมีเจ้าของและเป็นทุนรักษาลาที่มีอาการป่วย เพื่อให้เพื่อนร่วมโลกเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น

เช่นเดียวกันกับที่โคโลราโด การแข่งขันขี่ลาคืองานเฉลิมฉลองที่เปิดโอกาสให้ลาและเจ้าของได้แสดงความรักต่อกัน ด้วยการใช้เวลาร่วมกันในการแข่งขัน ผจญภัยไปด้วยกันในเส้นทางที่แตกต่างที่แสดงถึงมิตรภาพอันแท้จริง

"พวกลาสอนอะไรเราเยอะมาก พวกมันสอนความเป็นมนุษย์ให้กับเรา พวกมันทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เจ้าลาพวกนี้มีความสามารถที่จะเข้าถึงจิตวิญญาณของมนุษย์" 

"ถ้าจะแข่งขันขี่ลา (ที่โคโลราโด) คุณต้องมีจิตใจที่กล้าหาญนะ เพราะคุณต้องนำทางพวกมันไปยังเส้นทางที่โหดหินที่สุดของโลก คุณจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพวกมันให้ได้" แบรด วาน ฝ่ายจัดการแข่งขันที่โคโลราโดในปี 2018 กล่าว

ด้านปากีสถานเทศกาลแข่งขันขี่ลาคืองานที่จะได้พาลามาพักผ่อนจากการทำงานหนักตลอดทั้งปี และเป็นโอกาสที่เจ้าของจะได้มอบอาหารดี ๆ ชั้นเลิศเพื่อตอบแทนความจงรักภักดีของพวกมัน 

ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหน การแข่งขันขี่ลาคือการแสดงความรักต่อพวกมัน แสดงให้เห็นว่าถึงแม้คนบางกลุ่มจะไม่เห็นค่าแต่ลาก็ไม่ต่างจากสัตว์ทุกประเภทนั่นคือมีคุณค่า มีความสวยงาม ในรูปแบบของตัวเอง 

การแข่งขันกีฬาขี่ลาอาจจะเป็นการแข่งขันเฉพาะกลุ่มและไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่เชื่อได้เลยว่า นี่คือกิจกรรมที่มีความหมายต่อคนจำนวนหนึ่ง และพวกเขาก็อยากจะรักษามันไว้ต่อไปตราบนานเท่านาน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.cultureshock-adventure.com/blog/real-commonwealth-games-lamu-kenya-donkey-racing/
https://www.youtube.com/watch?v=CVyo-papFdc
https://www.aljazeera.com/gallery/2014/2/8/pakistans-donkey-derby
https://theprint.in/go-to-pakistan/pakistans-economic-survey-shows-donkey-boom-and-china-really-needs-them/992363/
https://edition.cnn.com/2018/09/15/health/pack-burro-donkey-sport-fit-nation/index.html
https://artsandculture.google.com/story/as-fast-as-a-donkey/fwJyYJfFEjpgLg

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา