การตกชั้นถือเป็นฝันร้ายของทุกสโมสรฟุตบอล มันคือความล้มเหลวสูงสุดที่ไม่มีใครหรือทีมใดอยากพบเจอ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความตกต่ำในทุก ๆ ด้าน ทั้งการแสดงถึงศักยภาพของทีมฟุตบอลที่ย่ำแย่ การบริหารทีมที่ล้มเหลว ไปจนถึงวิกฤตทางการเงินที่อาจจะตามมาในอนาคต
แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเริ่มแปรเปลี่ยนความหมายของการตกชั้น บางทีมโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารไม่ได้มองการตกชั้นเป็นจุดจบของโลกเหมือนเช่นในอดีต แต่กลับเป็นการก้าวถอยหลังที่เปิดโอกาสให้ทีมได้เดินหน้าต่อ
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อความเป็นธุรกิจอันมั่งคั่งของลีกฟุตบอลสูงสุดแดนผู้ดี มั่นคง และมีรากฐานที่แข็งแกร่งมากพอ การตกชั้นจึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจฟุตบอลที่ผู้บริหารทีมเลือกอ้าแขนยอมรับมันไว้ แทนที่จะทุ่มเงินจนหมดตัวเพื่อให้อยู่รอดต่อไป
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่
ฝันร้ายจากการตกชั้น
ย้อนไปในอดีต ช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยของพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 1992 ที่เป็นการสร้างลีกสูงสุดของอังกฤษใหม่แบบที่มีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มหาศาล กลายเป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้ทีมในอังกฤษอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างทีมให้เป็นมหาอำนาจของวงการลูกหนัง
บางทีมปรับตัวได้ดี บริหารได้ถูกต้อง และก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับแถวหน้าของโลกอย่างรวดเร็ว ทั้ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอาร์เซน่อล
แต่ความหวานหอมของพรีเมียร์ลีกก็อาบไปด้วยยาพิษ เพราะหากบริหารผิดพลาดใช้เงินจนเกินตัวในลีกสูงสุด ความล้มเหลวจะถีบให้หลายทีมเจอกับความพินาศแบบที่ไม่มีทางกลับมาได้อีก
สามทีมแรกที่ต้องประสบปัญหาเข้าอย่างจัง เกิดขึ้นในช่วงยุค 90s เริ่มต้นจากอดีตแชมป์ลีกอย่าง แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ที่ทุ่มหมดหน้าตักจนทำให้ทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 1994-95 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีด้วยการบริหารที่ผิดพลาด ทุนเริ่มหายกำไรเริ่มหด จนทีมต้องขายนักเตะออกไปจนหมด แบล็กเบิร์นจึงตกชั้นอย่างรวดเร็วในฤดูกาล 1998-99 และกลับมาเป็นทีมใหญ่ไม่ได้อีกเลย
เช่นเดียวกันกับ นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ในฤดูกาล 1999-2000 ที่ฟอร์เรสต์ยอมทุ่มเงิน 14 ล้านปอนด์ทั้งที่อยู่ในลีกรองเพื่อซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้ามาหวังเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก
แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาคือทีมไม่ได้เลื่อนชั้น และมันยังส่งผลให้ฟอร์เรสต์ขาดทุนอย่างหนักจากการทุ่มทุนไปก่อน แต่ไม่ได้รายได้ก้อนโตจากการขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกมาชดเชย จนสุดท้ายในฤดูกาล 2004-05 ฟอร์เรสต์ตกชั้นสู่ ลีกวัน ลีกระดับสามของประเทศอังกฤษ และเป็นแชมป์ยุโรปทีมแรกในประวัติศาสตร์แดนผู้ดีที่ต้องไปเล่นในลีกระดับสาม
รวมถึง บาร์นสลีย์ ที่เคยได้ขึ้นไปสูดอากาศบนลีกสูงสุดจนกระทั่งตกชั้นในปี 1997–98 ก่อนจะพยายามทุมแหลกเช่นกันเพื่อกลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีก แต่สุดท้ายในฤดูกาล 2001-02 สโมสรกลับต้องร่วงหล่นสู่ลีกระดับสามของประเทศอังกฤษเช่นกัน
ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอีกหลายทีมที่เดินรอยตาม ทั้ง ลีดส์ ยูไนเต็ด, เลสเตอร์ ซิตี้, นอริช ซิตี้, วูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส, ชาร์ลตัน แอธเลติก, ซันเดอร์แลนด์ ที่ต่างก็เป็นทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกแล้วกระเด็นปลิวไกลไปอยู่ถึงลีกระดับสามของอังกฤษ เรียกได้ว่าตกชั้นครั้งเดียวได้ความซวยสองชั้น หล่นไปไกลเกินกว่าจะกลับขึ้นมาได้ใหม่
ด้วยเหตุนี้การตกชั้นของพรีเมียร์ลีกจึงเคยเป็นฝันร้ายของทุกทีม ทำให้พวกเขาพร้อมจะสู้ตายเพื่อไม่ให้ทีมตกชั้น แต่ในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันความหมายของการตกชั้นในพรีเมียร์ลีกได้เปลี่ยนไป แถมกลายเป็นฝันดีเสียมากกว่าสำหรับหลายสโมสร
เงินชูชีพเปลี่ยนทุกสิ่ง
ด้วยความพินาศของสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษต้องหาวิธีการช่วยเหลือทีมเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การตกชั้นกลายเป็นสุดยอดฝันร้ายที่ทำคนร้องไห้กันทั่วเมืองและกลายเป็นสิ่งที่ทำลายทีมฟุตบอล ทั้งที่การตกชั้นก็เป็นแค่เรื่องปกติในโลกฟุตบอล
สุดท้ายจึงมาจบที่กฎชูชีพ หรือ Parachute Payment หรือเงินก้อนที่จะแบ่งจ่ายให้กับสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกอย่างน้อย 2 ฤดูกาล เพื่อช่วยพยุงสถานะของทีมที่หล่นจากลีกสูงสุดให้ไม่ต้องเจอปัญหาทางการเงินหลังจากไม่มีรายได้ก้อนโตมาสนับสนุน เพราะการไม่ได้เล่นในพรีเมียร์ลีกอีกต่อไป
แถมเงินที่ได้จากกฎชูชีพก็ไม่ใช่เงินธรรมดา แต่เป็นเงินก้อนโตถึง 77.5 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน หรือประมาณ 3,286 ล้านบาท ด้วยระบบเงินชดเชยนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถช่วยเป็นเงินก้อนที่คอยสนับสนุนทีมต่าง ๆ ที่ตกชั้นให้สามารถปรับโครงสร้างสโมสรใหม่ได้แบบสบาย ๆ
พูดถึงในแง่ประสิทธิภาพ ต้องบอกว่ากฎเงินชูชีพได้ประสิทธิผลจริงกับการช่วยเหลือไม่ให้ทีมตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกต้องเจอปัญหาทางการเงิน อย่างน้อยทุกทีมก็สามารถปรับตัวเพื่อเล่นในลีกรองต่อไปได้แบบสบาย ๆ
แต่ในอีกมุมหนึ่งเงินหลายสิบล้านปอนด์ที่ได้รับคือเงินมหาศาลถ้าพูดในสเกลของลีกพระรองอังกฤษอย่าง เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ที่สามารถใช้สร้างทีมเพื่อกลับมาสู่ลีกสูงสุดได้แบบสบาย ๆ หากว่าบริหารได้อย่างถูกต้อง
เงินจำนวนนี้จึงกลายเป็นฟูกที่รองรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกให้กลับมาลุกขึ้นสู่ใหม่ และใช้เวลาไม่กี่ปีในการกลับสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ฟูแล่ม, แอสตัน วิลล่า หรือ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน
เทรนด์ของฟุตบอลในอังกฤษจึงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน อย่างน้อยก็สำหรับผู้บริหารทีม ไม่มีใครต้องกังวลกับการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกว่าจะเป็นจุดจบของทีม แต่มันเปรียบเสมือนการถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อให้ทีมได้เดินหน้าใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วจากยุคเริ่มแรกนับตั้งแต่การมีกฎชูชีพ ทีมที่ตกชั้นส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินชูชีพมาก็ไม่ได้ใช้เงินก้อนโตไปทุ่มซื้อนักเตะเพื่อหวังเลื่อนชั้น แต่ทุกทีมสามารถปรับตัวเลือกที่จะรัดเข็มขัดหมุนเวียนเม็ดเงินจากการขายนักเตะเก่าออกจากทีม เพื่อซื้อนักเตะใหม่มาพาทีมเลื่อนชั้นแทน
ดังนั้นเงินจากกฎชูชีพจึงเปรียบเสมือนโบนัสกินเปล่าของแต่ล่ะสโมสรที่จะได้รับเข้ากระเป๋าของเจ้าของสโมสรเป็นจำนวนหลายสิบล้านปอนด์ และกลายเป็นเหมือนกำไรของทีมที่ได้รับจากการตกชั้นจากลีกสูงสุดไปโดยปริยาย
ตกชั้นคือเป้าหมาย ?
แน่นอนว่าสำหรับนักฟุตบอล โค้ช ทีมงาน และแฟนบอลทุกคน ไม่มีใครชอบการตกชั้น แต่สำหรับผู้บริหารทีมฟุตบอลที่ไม่ใช่ทีมชั้นนำระดับลุ้นไปเล่นบอลยุโรปของอังกฤษ การตกชั้นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอีกต่อไป แถมยังช่วยให้ทำให้ธุรกิจฟุตบอลเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น
สโมสรที่ปรับตัวได้ดีและใช้การตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกให้เป็นประโยชน์คือ ฟูแล่ม กับ นอริช ซิตี้ ซึ่งจากการเลื่อนชั้นและตกชั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งฟูแล่มและนอริชได้เงินกินเปล่าจากโครงการเงินชูชีพมากกว่า 100 ล้านปอนด์ไปแล้วเรียบร้อย
ดังนั้นเงินชูชีพจึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของสโมสรระดับล่างในอังกฤษที่จะสร้างรายได้มหาศาลให้กับสโมสร เพราะข้อเท็จจริงคือเงินที่ได้รับจากโครงการนี้มีมูลค่ามากกว่าการตีตั๋วไปเล่นในฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่อย่างยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ด้วยซ้ำ
สิ่งเดียวที่สโมสรเหล่านี้ต้องทำคือพยายามเลื่อนชั้นให้ได้ทันทีหลังจากตกชั้นลงมา ซึ่งหลาย ๆ สโมสรก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็น ฟูแล่ม, นอริช, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ไปจนถึงบอร์นมัธ
เพราะด้วยเงินชูชีพที่พวกเขาได้รับจะกลายเป็นเงินหนุนหลังที่ทำให้แต่ละสโมสรมีอำนาจทางการเงินในการใช้จ่ายมากขึ้น และแม้จะตกชั้นหลายสโมสรก็ยังคงสามารถเก็บนักเตะตัวหลักให้ค้าแข้งกับทีมต่อไปได้แม้ต้องไปเล่นในลีกพระรอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช กับ ฟูแล่ม รวมถึง แม็กซ์ อารอนส์, ตีมู ปุ๊กกี้, ทิม ครูล กับนอริช ซิตี้
ดังนั้นถึงจะร่วงตกชั้นลงมาสโมสรเหล่านี้ก็ยังกุมความได้เปรียบจำนวนมากที่จะเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อย่างง่ายดาย และเมื่อเลื่อนชั้นขึ้นไปจากที่ในอดีตหลายสโมสรจะทุ่มเงินเพื่อให้ทีมอยู่รอดต่อไป แต่หลายสโมสรก็เลือกทำทีมไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีการซื้อนักเตะมาเสริมทัพอะไร เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ตกชั้นในแง่ธุรกิจก็ไม่ได้เสียหายเนื่องจากมีรายได้เข้ามาจากเงินชูชีพ
ด้วยเหตุนี้เทรนด์ของ "โยโย่ทีม" ในพรีเมียร์ลีกที่เลื่อนชั้นสลับตกชั้นจึงมีมากขึ้นในยุคหลัง จากที่เคยหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกเราจึงได้เห็นแต่ทีมเดิม ๆ วนขึ้นลงระหว่างลีกสูงสุดกับลีกรองและทำทีมแบบไม่ทะเยอะทะยานตามความต้องการของแฟนบอล ซึ่งก็เป็นเพราะผลประโยชน์จากเงินชูชีพที่กฎได้วางไว้
ปัจจุบันจุดบอดของกฎชูชีพถูกพูดถึงมากเรื่อย ๆ กับการสร้างความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันในลีกรองที่ทำให้ทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกได้เปรียบเรื่องเงินทุนมากกว่าทีมดั้งเดิมที่อยู่ในลีกรอง รวมถึงจากแฟนบอลที่เริ่มบ่นว่าสปิริตในการสู้จนตัวตายเพื่อหนีตกชั้นเริ่มหายไป นักเตะหลายทีมยอมตกชั้นเพราะสุดท้ายแล้วสโมสรก็จ่ายเงินเดือนให้พวกเขาเท่าเดิม บางคนได้เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำจากรายได้ก้อนโตที่สโมสรได้มา
ทว่าพรีเมียร์ลีกก็ยังคงนิ่งติงกับเรื่องนี้ เพราะฟุตบอลอังกฤษยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดถึงโครงสร้างที่ไม่เอื้อกับการทำลีกฟุตบอลที่ยั่งยืน และมีกรณีการถูกควบคุมทางการเงินของทีมอาชีพในอังกฤษอยู่แทบทุกปี ดังนั้นแล้วกฎเงินชูชีพคงไม่หายไปง่าย ๆ เพราะสุดท้ายพรีเมียร์ลีกคงไม่ยอมเสี่ยงให้วงการฟุตบอลอังกฤษกลับไปอยู่ในโลกที่ทีมตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกจะต้องพังพินาศ เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนแน่นอน
สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงในยุคที่ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว แฟนบอลของทีมหนีตกชั้นในพรีเมียร์ลีกก็ต้องทำใจรับสภาพ เพราะแม้จะต้องเห็นหลายทีมไม่ได้สู้สุดใจแบบในยุคอดีต แต่อย่างน้อยการตกชั้นก็ทำให้สโมสรอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมเกมเพลย์ออฟ แชมเปี้ยนชิพ ถึงเงินรางวัลเยอะกว่า ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ? | MAIN STAND
แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส : ภารกิจทุ่มแหลกจนเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก และตกต่ำไปอีก 25 ปี | MAIN STAND
แหล่งอ้างอิง
https://www.independent.co.uk/sport/football-platt-hires-italians-as-goldbaek-balks-1110481.html
https://archive.seattletimes.com/archive/?date=20011205&slug=chat05#_ga=1.24308991.439502902.1421603385
https://www.premierleague.com/news/102376#:~:text=Parachute%20payments%20are%20made%20to,to%20re%2Dadjust%20their%20finances.