คุณเคยรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ หรือไม่พอใจหรือไม่ ยามต้องเห็นข่าวสโมสรฟุตบอลไทยยุบทีม หรือย้ายถิ่นฐาน เพียงไม่เพราะไม่มีใครมาทำทีมต่อ?
นี่คือปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในวงการลูกหนังบ้านเรามานานหลายปี มีหลายทีมที่เข้ามาพร้อมกับเจ้าของสโมสรที่ทะเยอทะยาน ทุ่มเงินมหาศาล ก่อนจะหมดไฟหายไปอย่างรวดเร็วในช่วงพริบตา ทิ้งไว้แต่ความผิดหวังของแฟนบอลที่ถูกหลอกขายฝัน
บางคนต้องเจอกับทีมที่ไร้อนาคต บางคนต้องเห็นทีมรักย้ายถิ่นฐาน หรือบางคนต้องเห็นทีมรักตายไปต่อหน้าต่อตา
ปัญหาความยั่งยืนของสโมสรฟุตบอลไทย ไม่ใช่สิ่งที่แก้กันง่าย ๆ เพราะโมเดลของทีมฟุตบอลบ้านเราอำนาจอยู่ในมือของเจ้าของทีม ซึ่งหากมีผู้นำที่ดีก็ถือเป็นโชคดีของคนในท้องถิ่น แต่ถ้าไม่แฟนบอลก็ทำได้แค่ก้มหน้าก้มตาเชียร์กันไป เพราะสุดท้ายแฟนบอลก็ไม่ได้มีอำนาจ มีสิทธิ์มีเสียงชี้ขาดความเป็นไปของสโมสร
แต่การสร้างสโมสรฟุตบอลให้ยั่งยืน อยู่คู่กับคนท้องถิ่นตลอดไปสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ผ่านโมเดลระบบผู้ถือหุ้นที่ให้แฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสร
ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของการมีสโมสรฟุตบอลที่ยั่งยืน และตัดสินใจลงมือทำเพื่อหวังเป็นแม่แบบของฟุตบอลไทย เพื่อการเติบโตแบบลงหลักปักฐาน ผ่านการให้แฟนบอลผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ เพื่อให้เป็นทีมฟุตบอลของแฟนบอลจริง ๆ
“ยูเนี่ยน โคราช” คือทีมที่เรากล่าวถึง สโมสรเล็ก ๆ จากจังหวัดนครราชสีมา แต่มีอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ อยากให้สโมสรแห่งนี้เป็นต้นแบบของความยั่งยืน และเปลี่ยนให้วงการลูกหนังไทย หันมาให้ความสำคัญกับการทำทีมฟุตบอลที่แฟนบอลมีส่วนร่วมมากขึ้น
Main Stand จะพาทุกท่านไปคุยกับ กฤษดา เสริฐกระโทก หรือที่แฟนบอลในจังหวัดนครราชสีมา รู้จักในนาม “กบ สกินเฮด” ประธานสโมสร และผู้ก่อตั้งคนสำคัญของ ยูเนี่ยน โคราช ถึงเหตุผลของการกำเนิดสโมสรที่อยากอยู่คู่กับแฟนบอลทุกคน และเปิดโอกาสให้แฟนบอลได้ภูมิใจกับการมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเองจริง ๆ
บทเรียนของสโมสรฟุตบอลไทย
“จุดเริ่มต้นของทีมยูเนี่ยน โคราช คือวันหนึ่งเรารู้สึกว่า เราอยากทำทีมฟุตบอลที่เป็นของคนโคราชจริง ๆ ทีมที่ทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ” กฤษดาเริ่มกล่าว
“ส่วนตัวเราก็เป็นแฟนบอลมานาน มากกว่า 10 ปี เป็นแฟนบอลมาตั้งแต่ยุค นครราชสีมา สตริงเรย์ สมัยเป็นทีมฟุตบอลในยุคโปรวิเชี่ยล ลีก ตั้งแต่ยุคนั้นที่ไม่มีคนดูเลย แต่เราอยากให้ฟุตบอลของทีมนครราชสีมามีคนดูเยอะ ๆ เพราะนี่คือทีมของคนโคราช อยากให้มาเชียร์ทีมจังหวัดของเรา”
“จากสมัยก่อนที่ไม่มีใครสนใจเลยนะ คนจะดูแต่พรีเมียร์ลีก จะดูแต่บอลต่างประเทศ เราก็ไปยืนแจกใบปลิวทุกวันที่มีการแข่งขัน พูดคุยกับคนนู้นคนนี้บ้าง ทำกิจกรรมอยากให้แฟนบอลเข้าสนาม อย่างน้อยให้แฟนเข้าสนามเพิ่มขึ้นมาสักคนก็ดีใจแล้ว”
“เราทำแบบนี้มาตลอด กระตุ้นให้คนเข้าสนามฟุตบอล จนกระทั่งได้เห็นคนดูจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเราได้เห็นแฟนบอลเข้าสนามโคราชระดับสามหมื่นคน ตอนขึ้นไทยลีก ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพราะว่า ตอนนั้นทุกอย่างที่เราทำ เพราะทำแล้วมีความสุข ด้วยความรู้สึกว่า นี่คือทีมของคนโคราช นี่คือทีมของเรา”
หากว่าวงการฟุตบอลไทยเดินหน้าเติบโตอย่างมั่นคง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอาชีพที่มีเงินหลายร้อยล้านบาทหมุนเวียน เราคงไม่ได้เห็น กฤษดา เสริฐกระโทก ออกมาตั้งสโมสรแห่งนี้ และเขาคงเป็นแฟนบอลคนหนึ่งต่อไป
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ตัวของกฤษดา และแฟนบอลกลุ่มหนึ่งของทีมนครราชสีมา ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการลูกหนังบ้านเรา กับปัญหาความไม่ยั่งยืนของสโมสร อนาคตของทีมขึ้นอยู่กับเจ้าของทีมแต่เพียงผู้เดียว นโยบายของทีมก็ขึ้นอยู่กับว่าคนทำทีมจะเข้ามาทำจริงจัง หรือทำเล่น ๆ ไม่มีอะไรมารับประกันอนาคตของสโมสร และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา แฟนบอลก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย
“เรากับเพื่อน ๆ พี่น้องที่เป็นกลุ่มแฟนบอลด้วยกัน ก็คุยกันตลอดนะว่า อะไรคือสิ่งที่แฟนบอลอย่างพวกเราต้องการมากที่สุด คำตอบก็คือ การทำทีมฟุตบอลด้วยความยั่งยืน ทีมต้องเป็นสมบัติของคนในเมือง และทีมต้องอยู่ได้ด้วยแฟนบอล”
“มันก็เป็นความคิดที่ต้องใช้เวลาหลายปีนะ กว่าจะตกผลึกจนคิดถึงมุมมองตรงนี้ได้ ซึ่งก็เป็นเรามานั่งคิดดูว่า เชียร์ฟุตบอลไทยมาสิบกว่าปี นายทุนทำทีมฟุตบอลถอนทุนกันไปเท่าไหร่? นักการเมืองเลิกทำกันไปกี่คน? ถามกลับว่าได้เห็นทีมฟุตบอลล้มหายตายจากไปกี่ทีมแล้ว?”
“ผมไม่โทษพวกเขาเลยนะ เพราะทำฟุตบอลมันใช้เงินเยอะ ลงทุนกันเป็นสิบล้าน ถามว่าเขาได้อะไรกลับมาบ้าง ดังนั้นถ้าเขาจะถอนทุนมันก็ไปแปลก”
“แต่เราไปนั่งศึกษาทีมฟุตบอลต่างประเทศ ทำไมเขาอยู่ได้เป็นร้อย ๆ ปี แต่ละทีมก็มีรากเหง้า มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง พอไปหาข้อมูลก็พบว่า ทีมฟุตบอลทั้งในอังกฤษ หรือเยอรมัน จุดเริ่มต้นของเขามาจากคนที่รักในฟุตบอลเหมือนกัน มารวมกลุ่มกัน สร้างตัวเป็นสโมสรขึ้นมา ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น”
“ในความคิดของเรา เราไม่อยากได้ทีมฟุตบอลที่ทำแบบปีต่อปี เราอยากได้ทีมที่วางรากฐานในระยะยาว พัฒนาเป็น 10 ปี มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า 10 ปีข้างหน้า ทีมของเราจะพัฒนาไปทิศทางไหน ไม่ใช่แค่ว่าทุ่มเงินลงมาก้อนใหญ่ แต่ไม่พัฒนาโครงสร้างของสโมสร ไม่วางรากฐานของทีมในระยะยาว”
กำเนิด ยูเนี่ยน โคราช
จากปัญหามากมายของวงการฟุตบอลไทย คือสิ่งที่ผลักดันให้ กฤษดา เสริฐกระโทก และเพื่อน ๆ แฟนบอลชาวนครราชสีมา มองหาทางออกของปัญหา ด้วยการลองตามหาโมเดลของสโมสรฟุตบอลที่ไม่ต้องพึ่งเงินของนายทุนใหญ่ หรือนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่วงการลูกหนังบ้านเราจะให้ความสนใจเท่าไหร่นัก
“ตอนนั้นเราก็ไปศึกษาโมเดลในฟุตบอลยุโรปนะ ทั้งอังกฤษ หรือสเปน ได้เห็นทั้งข้อดี ได้เห็นทั้งปัญหา จนกระทั่งเรามาเจอกฎ 50+1 ของฟุตบอลเยอรมัน ที่แฟนบอลต้องถือหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นผู้ที่หุ้นใหญ่ของสโมสร เราเจอก็รู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ”
“พอไปหาข้อมูลเชิงลึก เราก็ได้พบกับเรื่องราวของทีม ยูเนี่ยน เบอร์ลิน (อูนิโอน เบอร์ลิน) ซึ่งเป็นทีมของคนชนชั้นแรงงาน เป็นทีมของคนรากหญ้าที่รวมใจกันเป็นเจ้าของทีม เรารู้สึกว่านี่แหละใช่เลย นี่คือตัวตนของทีมเรา มันคือความรู้สึกเดียวกัน เราก็เป็นชนชั้นรากหญ้า ความคิดของเราตรงกันกับพวกเขา”
“ซึ่งคนกลุ่มของเรา ก็เป็นคนธรรมดา บางคนเป็นกรรมกร เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนก็เป็นผู้สูงอายุ เป็นข้าราชการก็มี เราอยากให้ความรู้สึกว่า นี่คือทีมที่ทุกคนเข้าถึงได้”
“เราก็ยืมชื่อมาจาก ยูเนี่ยน เบอร์ลิน มาตั้งเป็น ยูเนี่ยน โคราช แล้วนำโมเดลของกฎ 50+1 มาเป็นตัวต้นแบบ ปรับใช้ในการเดินหน้าสร้างสโมสรของเรา”
“กว่าเราจะตัดสินใจลงมือทำจริง ๆ มันก็ใช้เวลาหลายปีนะ จนมาถึงในจุดที่คิดว่าต้องทำแล้วล่ะ เพราะเราก็อยากรู้เหมือนกันว่า โมเดลแบบนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ไหมในประเทศไทย เราจะเป็นทีมแรกที่อยู่รอดได้ไหม ด้วยแนวทางแบบนี้”
“เราเชื่อนะว่า นี่คือแนวทางฟุตบอลที่ถูกต้อง ทีมในเยอรมันก็อยู่กันมาได้เป็นร้อยปี และไม่ว่ากระแสฟุตบอลจะไปทางไหน ถ้าเราใช้โมเดลนี้ แฟนบอลจะไม่มีทางทิ้งทีมไป เพราะพวกเขาคือผู้ถือหุ้นของสโมสร นี่คือทีมที่พวกเขาเป็นเจ้าของ”
“เราอยากมีทีมฟุตบอลที่ยืนยาว ลงหลักปักฐานมีความยั่งยืนจริง ๆ ซึ่งเรามาว่ามันต้องมาจากการที่แฟนบอลทุกคนมีเจ้าของ แฟนบอลต้องถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้กำหนดนโยบาย และทิศทางการเดินหน้าของสโมสร”
การเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลา
ช่วงต้นปี 2020 สโมสรยูเนี่ยน โคราช ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ด้วยวิธีระบบขายหุ้นสโมสร 1 หุ้นในราคา 500 บาท เพื่อใช้เงินในการขายหุ้นเป็นรายได้หลักของทีม ในการบริหารทีมให้คงอยู่ไปได้
แต่ไม่มีอะไรสวยหรู กับการเริ่มต้นความฝันในวงการฟุตบอลไทย เพราะยูเนี่ยน โคราช ขายหุ้นได้เพียงไม่กี่หุ้น และแค่ก้าวแรกก็เหมือนจะไม่มีทางให้ไปต่อแล้ว สำหรับทีมฟุตบอลหน้าใหม่ทีมนี้
“ตอนแรกก็คิดนะว่ามันคงจะไปไม่รอด” กฤษดา กล่าวแบบตรงไปตรงมา “แต่เราก็ต้องขายความคิด ที่อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม อยากให้ทีมยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีผู้ถือหุ้น”
“เราพูดกับทุกคน เหมือนกับที่เล่าเรื่องให้ฟังอยู่ตอนนี้แหละครับ เราเล่าทุกอย่างออกมาจากใจ ถ้าเรามีความสุขในการทำ ตั้งใจกับมันจริง ๆ ผมว่าเราจะไม่กลัวที่จะทำมันออกมา”
โชคดีที่ กฤษดา และกลุ่มเพื่อแฟนบอล เคยเป็นกลุ่มกองเชียร์หลักของสโมสรนครราชสีมา เอฟซี ที่ทำกิจกรรมการเชียร์ต่าง ๆ มามากมาย ทำให้มีหลายคนที่รู้จักเริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดแนวความคิด และมีหลายคนเชื่อจริง ๆ ว่า วิถีฟุตบอลฉบับยั่งยืนแบบ ยูเนี่ยน โคราช จะเป็นอนาคตของวงการฟุตบอลไทย
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีคนให้การตอบรับ แต่คำถามที่ ยูเนียน โคราช ต้องพบเจอตลอดนั่นคือ “ไม่มีเงินจะอยู่รอดได้สักกี่น้ำ?” ไม่นับกับความจริงที่ว่า พวกเขายังเป็นแค่ทีมสมัครเล่น ไม่มีสนามเหย้า หรือสนามซ้อมเป็นของตัวเอง ห่างไกลกับการเป็นสโมสรชั้นนำระดับประเทศ
“มันไม่มีทางที่ทีมนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องใช้เวลาในการสร้าง ค่อย ๆ วางรากฐานทีละอย่าง เพราะต้องยอมรับว่า เราไม่มีเงิน”
“ถามว่าทำทีมตรงนี้ยากไหม ตอบเลยว่ายาก ทำทีมฟุตบอลต้องใช้เงินอยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่ามันอยู่รอดได้ เพราะมีคนทำแล้ว เราเคยเห็นแล้ว”
“อย่างในเยอรมันก่อนหน้านี้ ยูเนี่ยน เบอร์ลิน เป็นทีมเล็ก ๆ ไม่เคยขึ้นลีกสูงสุดเลยนะ แต่ทำไมคนดูในสนามเป็นหมื่น ทำไมทีมอยู่ได้มาตลอด ก็เพราะแฟนบอลเป็นเจ้าของทีม นี่คือทีมของเขา เขาก็สนับสนุนทีมไปเรื่อย ๆ”
“สโมสรของเราจึงวางรากฐานไปถึง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายของเราใน 10 ปี ไม่ใช่การไปเล่นในไทยลีก แต่เป็นการสร้างยูเนี่ยน โคราช ให้เป็นทีมฟุตบอลอาชีพ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อม มีการตลาดที่ดี มีระบบอคาเดมีมารองรับ”
“เราเชื่อจริง ๆ ว่าโมเดลนี้มันไปต่อได้ ตอนนี้มันอาจจะยาก เราแค่ต้องทำต่อไป ทำให้เห็น พิสูจน์ให้คนเห็น เชื่อเถอะว่า ถ้าเราทำให้คนได้เห็นจริง ๆ ก้าวทีละก้าว แสดงให้เห็นการเดินหน้า คนจะเชื่อในสิ่งที่เราทำ”
สโมสรของแฟนบอลทุกคน
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยูเนี่ยน โคราช พิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางทำทีมฟุตบอล โดยไม่ต้องพึ่งทุนหนาสามารถอยู่รอดได้จริง
จากก้าวแรกที่เกือบจะไปไม่รอด ปัจจุบัน ยูเนี่ยน โคราช มีผู้ถือหุ้นเกือบสองร้อยคน และมีสมาชิก ไม่ใช่แค่ในจังหวัดนครราชสีมา แต่มีผู้ถือหุ้นจากจังหวัดอื่นด้วยเช่นกัน ทั้ง กรุงเทพมหานคร, นครพนม, มุกดาหาร, หนองคาย, ชลบุรี รวมถึงสมุทรสงคราม
ถึงจะไม่ใช่การเติบโตที่ก้าวกระโดด แต่การเดินอย่างมั่นคงก้าวทีละก้าว คือสิ่งที่ยูเนี่ยน โคราช ต้องการมาตลอด เพราะทุกก้าวที่เดินคือประสบการณ์ที่ทำให้ทีมนี้ได้เติบโตมากยิ่งขึ้น และมีความมั่นคงพร้อมที่จะยืนหยัดต่อไปในโลกฟุตบอล
“มีคนมากมายที่ชอบในแนวคิดนี้ และเขาไม่เคยเห็นใครกล้าทำมาก่อน เขาอยากมาเข้าร่วมกับเรา ดีใจนะ รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันออกดอกออกผล”
“ผมเชื่อว่าคนที่เชื่อในแนวทางนี้ รู้ว่ามันไม่ได้ใช้เวลาแค่ปี หรือสองปี แต่ก็อยากให้คนที่มีจุดยืนแนวนี้ หรือใครก็ตามที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ให้มาร่วมกับเรา”
“ทุกวันนี้ ก็พยายามนั่งคุยกับทุกคนนะ คุยทุกวัน เหมือนเป็นงานอย่างหนึ่งในชีวิต สร้างความเข้าใจให้กับผู้คน เพราะเชื่อว่าสักวันมันจะดีขึ้น อีก 10 ปีทุกอย่างจะดีขึ้น”
“ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งเรามีผู้ถือหุ้นเป็นพันเป็นหมื่นคน สโมสรก็จะมีรายได้ในการทำทีม เพราะผู้ถือหุ้นก็คือคนที่ซื้อสินค้าสโมสร ทุกวันนี้คนซื้อเสื้อแข่งของทีม ก็เป็นผู้ถือหุ้นกันทั้งนั้น เราถึงเชื่อว่าแนวทางนี้มันไปต่อได้ แค่ต้องใช้เวลา ค่อย ๆ สร้างในระยะยาว”
แม้จะอยู่ในก้าวเริ่มต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ ยูเนี่ยน โคราชได้พิสูจน์ให้เห็นคือ ฟุตบอลเพื่อแฟนบอลยังคงมีที่ยืนอยู่ได้ในวงการฟุตบอลไทย ถึงจะไม่ใช่สโมสรใหญ่ลุ้นแชมป์ไทยลีก แต่อย่างน้อยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับสโมสรฟุตบอลได้จริง ๆ และทุกคนสามารถมีความสุขกับการเป็นแฟนฟุตบอลได้อีกครั้ง ไม่ว่าผลงานของทีมจะดีหรือเลวร้าย เพราะสุดท้ายนี่คือทีมของแฟนบอล ทีมที่พวกเขาทุกคนเป็นเจ้าของ
“ทุกวันนี้ฟุตบอลไทย ยังมีช่องว่างระหว่างทีมกับแฟนบอลอยู่ ถ้าผลงานดีเราก็เชียร์ ผลงานไม่ดีก็หายไป แต่การได้เป็นเจ้าของทีม คือการดึงแฟนบอลมาร่วมมือกัน มายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะสู้ด้วยกันไปกับทีม”
“เราแค่อยากทำทีมที่เป็นของคนโคราชจริง ๆ เป็นทีมของทุกคนในเมือง ทีมที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ มันสร้างความภูมิใจให้กับแฟนบอลที่พวกเขากล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า ‘ผมเป็นเจ้าของทีมนี้’” กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย
สามารถติดตามเรื่องราวของสโมสรยูเนี่ยน โคราช ได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/unionkorat2020
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ยูนิโอน เบอร์ลิน : ทีมรากหญ้าขวัญใจแรงงานเยอรมัน
เข้าใจกฎ 50+1 ของเยอรมัน และความเป็นไปได้ ที่จะนำมาปรับใช้ในฟุตบอลอังกฤษ
ภาพประกอบบทความ :