Feature

เดินผิดต้องรีบรู้ตัว : การเปลี่ยนฟุตบอลสิงคโปร์ จากโอนสัญชาติสู่อคาเดมีแห่งชาติ | Main Stand

สิงคโปร์ คือชาติที่เป็นแชมป์ ซูซูกิ คัพ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากไทย และในยุคที่พวกเขาครองแชมป์มาได้นั้น มีถึง 3 ครั้งที่มาจากทีมชุด “โอนสัญชาติค่อนทีม” 


 

แม้จะโดนวิจารณ์จากเพื่อนบ้านแต่ใครจะสน เพราะมันทำให้พวกเขาชนะในอาเซียนเป็นว่าเล่น… 

ฟังแล้วมันควรจะดูดีและน่าไปต่อ แต่อยู่ดี ๆ ทำไมสิงคโปร์ก็ทิ้งโครงการโอนสัญชาติและกลับสู่สามัญในแบบที่พวกเขาไม่ได้แชมป์อะไรเลยจนถึงทุกวันนี้ ?

ติดตามเรื่องทั้งหมดได้ที่ Main Stand 

 

สำเร็จรูป ... ที่ไม่ประสบความสำเร็จ

สิงค์โปร์ คือประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในอาเซียน จุดนี้เราสามารถยืนยันได้จากข้อมูลในปี 2020 ที่ว่าด้วยเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในประเทศที่อยู่เดือนละ 5,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 125,000 บาท หรือหากเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ราว 4,600 บาทเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน (ยกเว้นบรูไนที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ) ที่ประชากรจะมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่วันละราว ๆ 200-300 บาทเท่านั้น 

ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจมาพร้อมกับเรื่องของนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้าง ทำให้ สิงคโปร์ มีนักธุรกิจเข้าไปก่อตั้งบริษัทเทรดดิ้งและโฮลดิ้งคอมพานีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องการพนักงานที่มีคุณภาพ จึงมีการกำหนดค่าจ้างที่สูงเป็นเงาตามตัว และมันยังส่งผลไปยังระบบการศึกษาที่ต้องผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตามการพุ่งทะยานทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษาก็ได้ทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลัง หนึ่งในนั้นคือกีฬาฟุตบอล ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศสิงคโปร์ แต่สาเหตุที่สิงคโปร์ไม่สามารถผลิตนักฟุตบอลได้ดีและมากเท่าที่ต้องการ เนื่องจากผลตอบแทนและความเสี่ยงในอาชีพนั้นแตกต่างกับอาชีพอื่น ๆ มากพอสมควร 

"สำหรับผม คนสิงคโปร์จำนวนมากหมดความหวังที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ พวกเขาเจอสิ่งรุมเร้ามากมายที่ทำให้ต้องทิ้งความฝัน เรื่องงาน เรื่องเงิน แรงกดดันจากครอบครัว" อิรฟาน ฟานดี กองหลังชาวสิงคโปร์ ของสโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กล่าวกับ Main Stand ไว้เมื่อปี 2019 

ในการสัมภาษณ์กับ Main Stand ในคราวนั้น อิรฟาน บอกเล่าถึงความยากในการเป็นนักกีฬาอาชีพในสิงคโปร์ที่ไม่ใช่แค่กับนักฟุตบอลเท่านั้น แต่กีฬาไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนในประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าอยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพที่ทำเงินได้ พวกเขาต้องพยายามหนักมากและต้องช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

"ไม่มีใครคอยช่วยเรา เราต้องช่วยตัวเอง เราจะรอการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ได้หรอก เราต้องทำเต็มที่เพื่อตัวเอง" อิรฟาน ว่าต่อ 

จริง ๆ แล้วโครงการของรัฐบาลสิงคโปร์เกี่ยวกับฟุตบอลทีมชาตินั้นใช่ว่าจะไม่มีเลยเสียทีเดียว เพียงแต่ว่าพวกเขาโฟกัสไปที่ปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ กล่าวคือในเมื่อคนสิงคโปร์ไม่นิยมเป็นนักฟุตบอลอาชีพแต่กลับชอบดูฟุตบอล ดังนั้นมันจึงง่ายกว่าถ้าจะทำให้ทีมชาติสิงคโปร์เก่งขึ้นโดยใช้ทางลัดอย่างการโอนสัญชาตินักเตะ

ในปี 1998 รัฐบาลสิงคโปร์นำโดยนายกรัฐมนตรี Goh Chok Tong ได้สร้างนโยบายที่มีชื่อว่า Goal 2010 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลกให้ได้ พวกเขาจึงพยายามดึงดูดนักเตะต่างชาติที่มาค้าแข้งในลีกสิงคโปร์ ด้วยการมอบสัญชาติและจ่ายค่าจ้างในราคางาม เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจเล่นให้ทีมชาติสิงคโปร์

"ผู้เล่นที่ได้รับสัญชาติสิงคโปร์จะเป็นกุญแจในความสำเร็จครั้งนี้" Goh Chok Tong กล่าวในวันเปิดโครงการ และหลังจากนั้นเราจึงได้เห็นนักเตะทีมชาติสิงคโปร์ที่เป็นนักเตะโอนสัญชาติมากมาย โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา สิงคโปร์ เคยใช้งานนักเตะโอนสัญชาติถึง 8 คนในการแข่งขันเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ในปี 2007 

โครงการนี้ไม่ได้แย่ไปเสียหมด ถึงแม้สิงคโปร์จะไม่เคยใกล้เคียงกับการเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลกเลย จนกระทั่งปี 2010 ตามที่โครงการตั้งไว้ แต่อย่างน้อย ๆ การโอนสัญชาติช่วยให้พวกเขากลายเป็นทีมชั้นนำของอาเซียนได้ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาได้แชมป์ถึง 3 สมัยในช่วงปี 2004, 2007 และ 2012 

นอกจากนี้พวกเขายังได้นักเตะโอนสัญชาติที่กลายเป็นไอคอนของวงการอย่าง อเล็กซานเดอร์ ดูริช กองหน้าชาวเซอร์เบียที่โอนสัญชาติมาเล่นให้กับสิงคโปร์ในปี 2007 ซึ่งตอนนั้น ดูริช อายุ 37 ปีแล้ว แต่ก็ยังยิงประตูมากมายจนทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย 


นั่นคือข้อดีที่เกิดขึ้น แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน การพูดว่า "นักเตะต่างชาติคือกุญแจสำคัญ" เหมือนเป็นการทิ้งนักเตะท้องถิ่นไว้ข้างหลัง นักเตะสิงคโปร์ไม่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อไปเป็นนักเตะอาชีพก็มีค่าจ้างที่ไม่คุ้มเหนื่อย สู้ตั้งใจเรียนแล้วไปเป็นพนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ และเป็นนักธุรกิจไม่ได้ 

นอกจากนี้การโอนสัญชาติก็ทำให้คุณเก่งได้แค่ในอาเซียนเท่านั้น ไม่ใช่การพัฒนาในระยะยาวแบบที่ควรจะเป็น เพราะนักเตะที่โอนสัญชาติมาแต่ละคนนั้นมีอายุการใช้งานสั้น ผ่านไป 2-3 ทัวร์นาเมนต์ก็ต้องเริ่มมองหานักเตะมาแทนที่แล้ว เหตุผลเหล่านี้นำมาซึ่งความไม่ต่อเนื่องและเป็นเหมือนการเสี่ยงดวงที่ได้ไม่คุ้มเสีย

ดังนั้นหลังจากหมดนักเตะชุดแชมป์อาเซียนไป สิงคโปร์ ก็วนกลับเข้าอีหรอบเดิม นั่นคือการขาดการพัฒนาและการต่อยอดจากรากฐานจริง ๆ แม้พวกเขาจะพยายามหานักเตะอย่างดูริชคนใหม่ แต่สิ่งนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย 

 

เดินผิดทาง ต้องรีบกลับตัว

สิงคโปร์ หลงทางอยู่พักหนึ่งในช่วงเวลา 2-3 ปี หลังจากคว้าแชมป์ ซูซูกิ คัพ 2012 พวกเขาตกรอบแบบไม่ได้ลุ้นทุกรายการ นักเตะโอนสัญชาติก็มีน้อยลง คนที่มีก็มีคุณภาพไม่ต่างจากนักเตะท้องถิ่นเท่าไหร่ มันคือเหตุผลที่ทำให้แข่งในรายการไหนก็ตกรอบ 

โชคยังดีที่ผู้หลักผู้ใหญ่เรียนรู้จากความผิดพลาดในเวลาอันสั้น พวกเขาพอจะเข้าใจภาพรวมของความล้มเหลวในโครงการ Goal 2010 แล้ว พวกเขาจึงโละโครงการนี้ทิ้งแล้วสร้างโครงการใหม่ที่จะสามารถใช้งานในระยะยาวได้ดีกว่า นั่นคือการพยายามสร้างอคาเดมีภายในประเทศ ด้วยการเชิญคนมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้อย่าง มิเชล ซาบล็อง อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของทีมชาติเบลเยียม ที่พาทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปเข้าสู่ยุคโกลเด้น เจเนอเรชั่น นำโดยนักเตะอย่าง โรเมลู ลูกากู, เควิน เดอบรอยน์ และ เอเด็น อาซาร์ เป็นต้น

ซาบล็อง เข้ามาพร้อมกับพิมพ์เขียวของเขาเหมือนกับที่เคยทำที่เบลเยียม เนื้อหาใจความแบบไม่ต้องลงลึกคือเด็ก ๆ จะต้องมีพื้นที่ให้เล่นฟุตบอล เริ่มต้นด้วยการสร้างอคาเดมีฟุตบอลแห่งชาติเพื่อการจัดการที่ง่ายและเป็นระบบระเบียบที่สุด 

ต้องมีคนที่มีความรู้ระดับที่ได้รับการรับรองมาเป็นผู้ฝึกสอนเพื่อความถูกต้อง นำมาซึ่งการจ้างโค้ชระดับโปรไลเซนส์เข้ามามากมาย เพื่อตอบสนองนโยบายของซาบล็องที่เป็นการพัฒนาการฝึกตามลำดับอายุ อายุเท่าไหนเหมาะกับการฝึกอะไร 

เช่น ช่วงอายุ 6-10 ปี ควรเน้นที่ความคล่องตัวและการประสานงานอย่างเป็นธรรมชาติ, 10-14 คือยุคทองของความสามารถทางเทคนิค, 14-18 เป็นเวลาทำงานเกี่ยวกับแทคติก เช่น การทำงานเป็นทีมและการวางตำแหน่ง ในขณะที่ 18-22 เป็นการก้าวจากผู้เล่นเยาวชนสู่การเป็นมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ ประเทศที่รัฐบาลยังคงไม่สนใจฟุตบอลมากนัก พวกเขาโฟกัสอยู่กับตัวเลข GDP หรืออะไรเทือกนั้นมากกว่า 

งานของ ซาบล็อง จึงยากกว่าตอนทำทีมชาติเบลเยียมขึ้นเยอะ ตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลคือคนที่กำหนดแนวทางและต้องสื่อสารกับบอสใหญ่อย่างผู้บริหารอยู่เสมอ และด้วยความเป็นมืออาชีพของ ซาบล็อง เองที่มีข้อเรียกร้องอะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย แต่กำแพงของวัฒนธรรมนั้นสูงเกินไป สิ่งที่ ซาบล็อง เรียกร้องจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ตัวอย่างสิ่งที่ ซาบล็อง ร้องขอก็เช่นการเพิ่มสนามฟุตบอลเพื่อรองรับเด็ก ๆ ที่มีความสนใจในฟุตบอล, การนำหลักสูตรฟุตบอลของเขาไปใส่ไว้ในระบบการศึกษาภาคบังคับให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพละศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าก็ไม่ได้อีก เพราะที่สิงคโปร์นั้นเรื่องเรียนมาเป็นอันดับ 1 

นอกจากนี้การมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกับผู้บริหาร โดยเฉพาะขั้นตอนที่ยากที่สุดคือเมื่อถึงช่วงอายุ 18 ผู้ชายสิงคโปร์จะต้องเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น และต้องเข้าประจำการเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งนั่นคือส่วนที่เข้มข้นที่สุดแล้วในการเปลี่ยนนักเตะเยาวชนให้กลายเป็นนักเตะที่ดี

ซาบล็อง ตำหนิเรื่องการเกณฑ์ทหารแบบสุด ๆ แต่แน่นอนว่าฟุตบอลไม่สามารถงัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศได้ และสมาคมฟุตบอลก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ในเรื่องนี้ ดังนั้น ซาบล็อง จึงทิ้งไว้เพียงพิมพ์เขียว ส่วนตัวของเขาและทีมงานลาออกไปในปี 2015

"ผมไม่พอใจอย่างยิ่งกับความก้าวหน้าของสิ่งที่เราทำในช่วงเวลานี้ มันช้ากว่าที่ผมคาดหวังเอาไว้เยอะมาก" 

"นักเตะของสิงคโปร์มักจะ ... หายตัวไปจากวงการฟุตบอล หลังจากพวกเขาได้เข้ามาเป็นรั้วของชาติในกองทัพ" ซาบล็อง กล่าวกับ The Straits Times

การแยกทางของ ซาบล็อง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะวัฒนธรรมของแต่ละฝั่งนั้นต่างกันเกินไป ฟุตบอลไม่ใช่ทุกอย่างในมุมมองของฝั่งผู้บริหารของสิงคโปร์ ขณะที่มุมของ ซาบล็อง เขาก็เชื่อว่าความสำเร็จไม่มีทางลัด ต้องสร้างกันทีละสเตป ๆ จากเด็กจนโต หากโดนขัดระหว่างทางที่ทำมาก็สูญเปล่า 

เมื่อ ซาบล็อง จากไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องมานั่งเคลียร์กันยกใหญ่เพื่อหาทางออกในการพัฒนาเยาวชนที่เป็นรากฐานของความสำเร็จจริง ๆ พวกเขาหยิบโปรเจ็กต์ของซาบล็องมาปัดฝุ่นแล้วพยายามทำเท่าที่ทำได้ ด้วยการทำทีมฟุตบอลที่มีชื่อว่า ยัง ไลอ้อนส์ เพื่อเป็นสโมสรที่ผลักดันนักเตะเยาวชนท้องถิ่นและส่งตัวออกไปเก็บตัวและฝึกวิชาที่ต่างประเทศ 

พวกเขารู้วิธีทำแบบคร่าว ๆ แล้ว แต่ก็ยังต้องพยายามอีกมากในการเปลี่ยนแนวคิดของคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าฟุตบอลอาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศมี GDP ที่สูงขึ้น แต่มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนในประเทศภาคภูมิใจเมื่อได้เป็นผู้ชนะ ... ดังนั้นไม่ว่าจะรายการไหน สิงคโปร์ ก็เริ่มจะใช้นักเตะอายุน้อย ๆ นำทัพเสมอ จนกระทั่งเริ่มมีการวาดโครงการใหม่ขึ้นมา ... โดยโครงการนี้เป็นการเอาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาหาคำตอบกันใหม่ว่า "ต้องทำยังไง" เราถึงจะได้ทีมฟุตบอลที่ดีในระยะยาวจริง ๆ 

 

Unleash the Roar 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วงการฟุตบอลสิงคโปร์เกิดโปรเจ็กต์ใหญ่ขึ้นจากการจับมือกันของ SportSG บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างและผลักดันนักกีฬา, SG Football Academy ที่มีผู้บริหารเป็นคนใกล้ตัวอย่าง อเล็กซานเดอร์ ดูริช โดยจับมือกับ สมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ โครงการนี้มีชื่อว่า Unleash the Roar โดยมีเป้าหมายคือการเล็งไปที่ฟุตบอลโลกปี 2034 ที่พวกเขาต้องการเข้าไปแข่งขันให้ได้ 

"คำถามเดียวที่เกิดขึ้นมาตลอดในประเทศสิงคโปร์ แม้เราจะชอบดูฟุตบอลและอยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ แต่เราพยายามเต็มที่เพื่อให้ได้มันมาแล้วหรือยัง" เบอร์นาร์ด ตัน นายกสมาคมฟุตบอลสิงคโปร์กล่าว 

"ตั้งแต่อดีตประเทศเรามีกฎหมายเรื่องการห้ามเตะฟุตบอลในชุมชน และผมว่ามันไม่ใช่แล้ว เราทำได้ดีกว่านั้นเยอะ เราจะต้องเรียนรู้จากอดีต เอาบทเรียนของมันมาใช้ในการก้าวไปข้างหน้า เราจะยอมแพ้ในวันที่ล้มเพียงแค่ครั้งเดียวไม่ได้ โครงการนี้น่าจะเป็นหนึ่งในโครงการที่ดีที่สุดที่ผมเคยเห็นจาก FAS ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา"

"พวกเราได้รับรู้กันอย่างมากว่าแท้จริงแล้วฟุตบอลจะสำเร็จได้คุณไม่สามารถให้ความสำคัญแค่กับทีมชาติชุดใหญ่หรือทีมชุดยู-23 ที่ไปเตะซีเกมส์ เราต้องเริ่มสร้างกันตั้งแต่ที่ความคิดของเด็ก ๆ เราอยากจะเริ่มให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลที่โรงเรียน และเปลี่ยนให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการเป็นนักฟุตบอลก็สามารถทำทั้งรายได้ ชื่อเสียง และความภาคภูมิใจได้เหมือนกัน"

ทาง สมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ เชื่อมั่นอย่างมากว่านี่จะไม่ใช่โครงการอย่าง Goal 2010 ที่วาดหวังไว้ไกลถึงบอลโลกแต่สุดท้ายพวกเขากลับไม่สามารถก้าวข้ามออกจากรั้วของอาเซียนได้ แม้จะได้เป็นแชมป์ซูซูกิ คัพ แต่หลังจากนั้นก็เหมือนน้ำซึมบ่อทราย ทุกอย่างหายไปหมดในเวลาแค่อึดใจเดียว 

แต่ Unleash the Roar จะเป็นการลงทุนที่แตกต่างไปจากเดิม พวกเขามี Know How หรือวิธีการทำจากพิมพ์เขียวของซาบล็องในอดีต และเข้าใจภาพรวมแล้วว่าการชนะในอาเซียนไม่ได้ทำให้โลกหันมามองพวกเขาแม้แต่น้อย สิ่งที่ควรทำคือการสร้างนักเตะที่สามารถเล่นในลีกที่ดีที่สุดในโลกให้ได้ เมื่อนั้นโลกฟุตบอลก็จะมองกลับมาที่สิงคโปร์เอง 

นี่เหมือนกับสิ่งที่เบลเยียมทำในอดีตชัด ๆ ในเวลานั้นเบลเยียมที่มี ซาบล็อง คุมฝ่ายบริหารด้านฟุตบอล มีการใส่หลักสูตรและติดตามผลงานเด็ก ๆ โดยเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ให้โอกาสพวกเขาได้ลงเล่นในเกมลีกในประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อถึงอายุสัก 19-21 ปี ก็ได้เวลาปล่อยนกน้อยบินออกไปจากรังเพื่อยกระดับขึ้นไปอีกขั้น 

"ไอซ์แลนด์ไปฟุตบอลโลกได้เพราะนักเตะของพวกเขาได้เล่นในลีกใหญ่ ๆ ทั่วยุโรป ทีมชาติบราซิลก็แบกทีมด้วยนักเตะที่ค้าแข้งในยุโรปทั้งนั้น ยุโรปคือระบบนิเวศของฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราหวังไปที่ตรงนั้น เราค่อย ๆ เริ่มไต่ไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นในลีกเอเชียอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก่อน ซึ่งก็เป็นขั้นบันไดที่ไม่เลวเลยทีเดียว" 

โครงการนี้อาจจะเพิ่งเริ่ม แต่ในงานแถลงข่าวของผู้บริหารทุกฝ่ายมีการเปิดเผยข้อมูลมาชุดใหญ่ และสิ่งที่พวกเขาบอกส่วนใหญ่ล้วนเป็นสิ่งที่ มิเชล ซาบล็อง เคยเรียกร้องมาแล้วในอดีตทั้งนั้น ตอนนี้มีการพยายามสร้างสนามฟุตบอล มีการอัดหลักสูตรฟุตบอลเข้าสู่โรงเรียนทุกระดับในประเทศ และเหนือสิ่งอื่นใด งานยากระดับ มิชชั่นอิมพอสซิเบิล อย่างการเจรจากับกองทัพสิงคโปร์ เพื่อขอความเห็นใจและความเข้าใจให้กับนักฟุตบอลก็เกิดขึ้น แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแต่นี่คือการเริ่มต้น "ลองคุย" ที่ดีกว่าอยู่เฉย ๆ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเหมือนในอดีต 

"ถ้าคุณเป็นนักกีฬาสายต่อสู้ การเข้าไปอยู่ในกองทัพจะช่วยให้คุณได้ฝึกฝนต่อยอดและอาจจะไปถึงระดับอาชีพได้ ส่วนเรื่องของนักฟุตบอล การจะให้พวกเขาหยุดสุดสัปดาห์เพื่อไปซ้อมฟุตบอลนั้น ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่เราต้องพยายามและสร้างความมั่นใจให้คนอื่นเห็นมากกว่านี้" เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพสิงคโปร์ กล่าวกับเว็บไซต์ hemonitor.sg

สำหรับใครบางคนนี่อาจจะมองดูเป็นการเริ่มต้นแล้วเริ่มต้นอีก แต่การเริ่มต้นของสิงคโปร์ครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า เขาเห็นความผิดพลาดมามากพอแล้วจนไม่อยากจะผิดซ้ำ ตอนนี้นักเตะในทีมชาติล้วนเป็นแข้งอายุน้อยทั้งนั้น เหนือสิ่งอื่นใดคือต่อให้โครงการ Unleash the Roar จะไม่สำเร็จจนสิงคโปร์ไม่สามารถเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกปี 2034 ได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เริ่มสร้างค่านิยมใหม่ไปแล้ว 

เด็ก ๆ จะมีพื้นที่เตะฟุตบอล จากที่แต่ก่อนการเตะฟุตบอลในชุมชนถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย วิชาพละมีการเรียนฟุตบอลที่จะช่วยให้กีฬาชนิดนี้เข้าถึงเด็ก ๆ ทุกคน ... นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ถ้าพวกเขาหาเด็กสักคนที่รักในฟุตบอลและโฟกัสกับการเป็นนักเตะอาชีพจริง ๆ Unleash the Roar ก็อาจจะพบนักเตะสิงคโปร์ที่ลงเล่นในลีกระดับสูงของยุโรปตามที่พวกเขาหวังก็เป็นได้ 

ฟุตบอลโลกจะไปถึงจริงหรือไม่มีใครรู้ แต่พวกเขาก็กำลังพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่กับประเทศนี้มานานกว่า 100 ปี ... พวกเขากำลังมือทำอยู่ 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

"อิรฟาน ฟานดี" กับคำบอกเล่าถึงขวากหนามของวงการกีฬาสิงคโปร์

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.straitstimes.com/sport/football/football-fas-technical-director-michel-sablon-to-leave-post-on-dec-31
https://tnp.straitstimes.com/sports/singapore-football/belgian-guru-michel-sablon-lauds-singapores-2034-world-cup-target
https://themonitor.sg/2021/03/11/former-singapore-technical-director-michel-sablon-says-players-in-singapore-disappear-after-ns/
https://tnp.straitstimes.com/sports/singapore-football/unleash-roar-project-local-core-foreigners-add-more
https://www.channelnewsasia.com/sport/the-big-read-football-goal-2034-hard-hitting-questions-269386
https://d.dailynews.co.th/foreign/554209/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ